การบริหารโครงการวิจัยสถาบัน


การบริหารโครงการวิจัยสถาบัน

การบริหารโครงการวิจัยสถาบัน

                เพื่อความสำเร็จของโครงการวิจัยสถาบันให้สามารถเสนอผลงานวิจัยซึ่งอาจจะเป็นข้อมูลข้อสนเทศ  รูปแบบจำลอง  หรือทางเลือกนโยบายให้แก่ผู้บริหารได้ทันการ  จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีขั้นตอนการดำเนินงานที่ชัดเจน  ดังจะนำเสนอต่อไปนี้ (ศิรินาถ  ทัพแสง, 2535)

                ขั้นที่ 1 การกำหนดผู้รับผิดชอบโครงการ  เมื่อได้สร้างหัวข้อการวิจัยสถาบันขึ้นแล้ว  นักวิจัยสถาบันจะต้องพิจารณาตัวเองว่ามีความชำนาญในเรื่องที่จะทำนั้นหรือไม่  เพียงใดประมาณความสามารถของตนเองว่าสามารถจะทำการศึกษาวิจัยเรื่องนั้นได้หรือไม่  และหากทำด้วยตนเองผลของการศึกษานั้นได้รับการยอมรับนำไปใช้มากน้อยเพียงใด  ในกรณีที่พิจารณาเห็นว่าตนเองไม่ชำนาญพอหรือไม่เหมาะสมก็ต้องเชิญผู้รู้ทางด้านนั้นๆ มาเป็นผู้ดำเนินโครงการหลัก  โดยตัวเองเป็นผู้ประสานงาน  ในบางกรณีที่จำเป็นต้องใช้องค์ประกอบของคณะกรรมการ  นักวิจัยสถาบันจะต้องเป็นฝ่ายประสานงานและเลขานุการ

                ขันที่  2  การกำหนดรูปแบบการวิจัย (Research Design) เมื่อสามารถกำหนดผู้รับผิดชอบโครงการได้แล้ว  ผู้รับผิดชอบโครงการต้องมีการออกแบบการวิจัย  หรือกำหนดเค้าโครงของเรื่องที่จะใช้เป็นกรอบในการศึกษา  เนื้อหาสาระที่จะใช้ในการศึกษา  ตัวแปรต่างๆ และเทคนิควิธีที่จะได้ข้อมูลมาเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการวิจัย

                ขันที่  3  การจัดทำข้อเสนอโครงการวิจัย (Research proposal) เมื่อกรอบในการวิจัย  ชัดเจน  สิ่งต่อไปคือ  งบประมาณในการสนับสนุนงานวิจัย  บางโครงการอาจต้องใช้งบประมาณพิเศษ  แต่บางโครงการอาจใช้งบประมาณรวมกับการดำเนินงานในส่วนของงานประจำได้  ในกรณีที่จะต้องเสนอของบประมาณ  ผู้รับผิดชอบโครงการจะต้องทำข้อเสนอโครงการวิจัยที่ชัดเจนประกอบด้วย

                1) เหตุผลความจำเป็นในการเลือกหัวข้อที่ศึกษา  เป็นการอธิบายให้ผู้อ่านได้ทราบเหตุใดจึงศึกษาเรื่องนี้  ผลจากการศึกษาเรื่องนี้มีคุณค่าแก่สถาบันเพียงใด  ผู้อ่านจะได้ประเมินว่าเรื่องนี้สมควรทำหรือไม่  หรือคุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่

                 2) วัตถุประสงค์  หรือเป้าหมายของการวิจัย  เป็นการแสดงให้ทราบว่าเรื่องที่จะศึกษานี้คืออะไร  ต้องการศึกษาเพื่อให้ได้คำตอบอะไรบ้าง  ซึ่งนอกจากจะแสดงให้ผู้อ่านได้ทราบแล้วยังเป็นผลดีแก่ผู้ทำโครงการที่จะยึดเป็นหลักในการดำเนินการเพื่อให้ได้คำ

                3) วิธีดำเนินการวิจัย  เมื่อได้กำหนดวัตถุประสงค์แล้ว  ผู้รับผิดชอบโครงการ  จะต้องกำหนดวิธีดำเนินการศึกษา  กลุ่มประชากรเป้าหมาย  หรือหน่วยงานเป้าหมาย  ข้อมูลที่จะใช้แหล่งและวิธีเก็บข้อมูล  การเก็บรวบรวมข้อมูล  เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล  และวิธีการวิเคราะห์ข้อมูล

                 อย่างไรก็ตาม  ในการกำหนดเทคนิควิธีวิจัยในโครงการวิจัยสถาบันนั้น  ไม่จำเป็นที่จะต้องยึดอยู่กับวิธีการเดียว  กล่าวคือ  บ่อยครั้งที่จะเห็นว่ามีการเลือกใช้เทคนิคทางคอมพิวเตอร์  และสถิติในการจัดกระทำข้อมูล  แต่ในบางโอกาสหรือบางโครงการ  การเลือกใช้การสำรวจทางไปรษณีย์  การเจาะสัมภาษณ์เฉพาะกลุ่มเป้าหมาย  หรือการคุยกันทางโทรศัพท์  หรือแม้แต่การศึกษาจากเอกสารก็เป็นวิธีการที่เหมาะสมและที่ดีที่สุดในการรวบรวมข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการตัดสินใจ  และเป็นเทคนิคที่ทำให้โครงการวิจัยสถาบันนั้นมีคุณค่า  มีศักดิ์ศรี

                 4) การกำหนดเวลาดำเนินงาน  เป็นการกำหนดเวลาโดยประมาณที่จะใช้ในการโครงการวิจัยสถาบัน  บางเรื่องที่ผู้บริหารมีประเด็นสั่งการให้ศึกษาผู้บริหารมักจะกำหนดเวลามาด้วย  ซึ่งอาจจะเป็น  3  เดือน  6  เดือน  แล้วแต่กรณี  ซึ่งผู้ดำเนินการจะต้องพยายามรักษาเวลาให้แล้วเสร็จตามกำหนด  แต่ถ้าไม่ได้มีกำหนดเวลาไว้ชัดเจน  ผู้ดำเนินการจะต้องกำหนดเวลาโดยประมาณไว้ให้เหมาะสมกับความต้องการที่ใช้ข้อมูลหรือเสนอผลงานนั้น  เพื่อกิจกรรมอย่างใดย่างหนึ่ง  และให้เหมาะสมกับเรื่องที่จะศึกษาด้วย  ยิ่งไปกว่านั้นการคาดประมาณเวลาจะช่วยให้ผู้ดำเนินโครงการสามารถประมาณการค่าใช้จ่ายในการวิจัยได้

                  5) งบประมาณที่จะใช้ในโครงการ  เป็นงบประมาณทั้งหมดที่จะใช้เพื่อสนับสนุนให้โครงการแล้วเสร็จ  ซึ่งแล้วแต่ว่าสถาบันใดหรือมหาวิทยาลัยใดจะมีข้อบังคับหรือเกณฑ์สนับสนุนไว้อย่างไร  แต่โดยทั่วไปอาจจะแบ่งเป็นหมวดใหญ่  2  หมวด  คือ  หมวดสมนาคุณ  จัดเป็นค่าตอบแทนให้แก่ผู้รับชอบโครงการในกรณีที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ทางด้านนั้นโดยตรง  และหมวดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ  ซึ่งจะประกอบด้วย  รายการค่าจ้างผู้ช่วยวิจัย  ซึ่งปกติมักจ้างเงินเดือนตามวุฒิเต็มเวลา  รายการค่าใช้จ่ายในการจัดพิมพ์รายงานและแบบสอบถาม  และรายการค่าใช้จ่ายในการจ้างทำรูปเล่มแบบจำลองกายภาพ  เป็นต้น

                  6) ผู้รับผิดชอบหรือผู้ดำเนินโครงการหลัก  เป็นสิ่งที่แสดงถึงความน่าเชื่อถือของโครงการนอกเหนือไปจากคุณภาพของข้อเสนอโครงการที่ได้เขียนมาอย่างดีแล้ว  เพราะคุณสมบัติของผู้รับผิดชอบโครงการจะเป็นอีกข้อมูลหนึ่งที่จะใช้ประกอบการพิจารณาอนุมัติโครงการ  ซึ่งในบางครั้งมหาวิทยาลัยอาจจะพิจารณาให้เปลี่ยนแปลงผู้รับผิดชอบได้  เช่น  เปลี่ยนจากความรับผิดชอบของบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นกลุ่มบุคคลในรูปของคณะกรรมการ

                ขั้นที่  4 ขั้นปฏิบัติการวิจัย   ในขั้นปฏิบัติการวิจัยนั้นคงจะไม่แตกต่างไปจากกระบวนการวิจัยทางสังคมศาสตร์ทั่ว ๆ ไป  แต่สิ่งที่ค่อนข้างเป็นปัญหาที่สุดของขั้นนี้สำหรับโครงการวิจัยสถาบันคือ  ขั้นการเก็บรวบรวมข้อมูล  โดยเฉพาะกรณีที่ทำการศึกษากับกลุ่มเป้าหมายในองค์กร  หรือหน่วยงานองค์กรประกอบด้วยระบบข้อมูลพื้นฐานกลางที่ไม่พร้อม  ไม่สมบูรณ์  ทำให้ต้องมีการเก็บข้อมูลจากตัวบุคคลหรือหน่วยงาน  ซึ่งบางครั้งข้อคำถามอาจทำให้เกิดความไม่พึงพอใจ  เกิดความรู้สึกว่าถูกประเมิน  หรือเกิดความรู้สึกไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน  ในบางครั้งผู้ให้ข้อมูลอาจรู้สึกว่ารบกวนเวลา  ถูกเพิ่มงาน  สิ่งเหล่านี้มีผลทำให้เกิดความสมบูรณ์ของการได้ข้อมูลลดน้อยลงไปด้วย

                  ดังนั้น  ในการเก็บรวบรวมข้อมูลผู้ดำเนินการควรคำนึงถึงมนุษยสัมพันธ์  และการอ่อนน้อมถ่อมตน  และมีหนังสือขอความอนุเคราะห์  มิใช่ในรูปของการสั่งการ  และในกรณีที่มีผู้ช่วยวิจัยจะต้องมีการอบรมมารยาทในการออกงานภาคสนามเป็นอย่างดี  นอกจากนั้นผู้รับผิดชอบโครงการ  และผู้ร่วมงานทุกคนควรทำความเข้าใจกับโครงการที่จะศึกษานั้นเป็นอย่างดี  เพื่อทำความกระจ่างให้ผู้สงสัยทราบได้ว่าหน่วยงานหรือมหาวิทยาลัยกำลังทำอะไร ผลที่คาดว่าจะได้รับเป็นอย่างไร  และควรศึกษาระเบียบ  ประกาศ  และศึกษาเอกสารที่เกี่ยวกับเรื่องราวที่กำลังศึกษาอยู่ให้เข้าใจถ่องแท้ เพื่อความราบรื่นในการสื่อสารในช่วงของการเก็บรวบรวมข้อมูล  สิ่งที่สำคัญยิ่งอีกประการหนึ่งคือ  การทำความเข้าใจกับขอบเขตของข้อมูล(Data Dictionary) และวันสิ้นสุดข้อมูลให้ดีเพื่อที่จะไม่ทำให้ข้อมูลนั้นมาใช้ผิด  เป็นผลให้การวิจัยคลาดเคลื่อนและอาจเกิดข้อโต้แย้งได้

                ขั้นที่  5  ขั้นการเผยแพร่/การนำเสนอ   เมื่อผลงานเสร็จสมบูรณ์จะต้องมีการนำเสนอเพื่อให้มีการนำผลงานนั้นไปใช้ประโยชน์  ผลงานในเชิงวิจัยสถาบันจะแตกต่างไปจากผลงานทางวิชาการทั่วๆ ไปตรงการเผยแพร่  การวิจัยเชิงวิชาการเป็นเรื่องของการค้นพบข้อความรู้ใหม่ จึงมุ่งเผยแพร่โดยทั่วไปให้กว้างขวางที่สุด  แต่การวิจัยสถาบันเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับสถาบันและองค์ประกอบของสถาบัน  มุ่งนำผลไปใช้เพื่อการตัดสินใจ  การวางแผนและการบริหาร  การเผยแพร่ของโครงการวิจัยสถาบันจึงต้องคำนึงถึงนโยบาย  ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น  ในบางโครงการอาจจะมีข้อสนเทศบางอย่างเผยแพร่ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  หรือวงวิชาการที่เกี่ยวข้องได้  แต่ส่วนใหญ่แล้วการเผยแพร่มักจะเป็นลักษณะการนำเนอผู้บริหารหรือคณะกรรมการที่ทำหน้าที่พิจารณา  หรือทำหน้าที่ดูแลรับผิดชอบเรื่องราวนั้นๆ โดยตรงมากกว่าเป็นการรายงานที่เผยแพร่ได้ทั่วไป

                ดังนั้น  ผู้รับผิดชอบโครงการจึงต้องคำนึงถึงช่องทาง  บรรยากาศองค์การ  และเทคนิคการนำเสนอ  โดยเป้าหมายหลักทำอย่างไรผู้เกี่ยวข้องถึงจะทราบและนำผลการวิจัยไปใช้  และกรณีที่รายงานมีเนื้อหาสาระมากควรอย่างยิ่งที่จะมีบทสรุปสำหรับผู้บริหารประมาณ 2-3  หน้า  โดยชี้ประเด็นสำคัญๆ ที่ค้นพบ  และแยกข้อเสนอแนะหรือทางเลือกเพื่อพิจารณาสำหรับผู้บริหารได้ชัดเจน  อย่างไรก็ตาม  ควรคำนึงอยู่เสมอว่า  ผลงานวิจัยสถาบันที่มีคุณค่านั้น คือ  ผลงานที่มีการดำเนินการได้ทันเวลา  ด้วยเทคนิควิธีที่เชื่อถือได้  และมีผู้นำผลการวิจัยไปใช้  ในการนำเสนอจึงต้องเน้นให้ผู้รับเข้าใจได้ง่าย  กระชับ  เร้าใจ  สื่อให้ผู้รับตระหนักสภาวการณ์ที่เกิดขึ้น  เพื่อตัดสินใจดำเนินการได้ทันท่วงที

                กล่าวโดยสรุป  จะเห็นว่า  การบริหารโครงการวิจัยสถาบันนั้นเป็นกระบวนการบริหาจัดการที่มีขั้นตอนการดำเนินงานที่เป็นระบบ  โดยเริ่มจากขั้นการกำหนดผู้รับผิดชอบ  การกำหนดรูปแบบการวิจัย  การจัดทำข้อเสนอโครงการวิจัย  การปฏิบัติการ  และการเผยแพร่

หมายเลขบันทึก: 341716เขียนเมื่อ 4 มีนาคม 2010 14:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 12:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท