เมือเด็กสองขวบกลายเป็น “วัยรุ่น” อันน่าฉงน (บันทึกเจ้าโมกข์ 3 มี.ค. 2553)


สิ่งที่เราควรทำคือต้องเข้าใจ เห็นใจ และช่วยเหลือดูแลให้เขาสามารถเรียนรู้ เติบโต และผ่านพ้นขั้นตอนนี้ไปได้ ด้วยความรักและความอดทน

ถึงวันนี้เจ้าโมกข์ ลูกชายของผมก็มีอายุ 2 ขวบกับ 2 เดือนแล้ว (เข้าสู่เดือนที่ 27 ของชีวิต) การเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนมากในช่วงนี้คืออาการต่อต้าน ประเภทที่ว่าบอกซ้ายไปขวา บอกขวาไปซ้าย จะทำอะไร จะเอาอะไรก็ต้องทำให้ได้ พอไม่ได้ดังใจก็ร้องไห้โยเย จะเบี่ยงเบนให้ไปสนใจอย่างอื่นบางครั้งก็สำเร็จ บางทีก็ไม่ได้ผลยิ่งร้องหนักขึ้นไปอีก เล่นเอาคนในบ้านเหนื่อยกันไปหมด บางที่ก็เผลอเสียงแข็งกับเขาเพราะหงุดหงิดหัวเสียไปบ้าง แต่ก็รีบสำรวจจิตใจตัวเองให้เท่าทันอารมณ์และเตือนสติว่าเขาไม่ใช่ผู้ใหญ่ตัวเล็ก เขายังเป็นเด็กที่กำลังเติบโตขึ้นผ่านขั้นตอนของพัฒนาการอะไรสักอย่าง ซึ่งเราต้องทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้ดีที่สุด

วันนี้มีโอกาสเปิดค้นหาคำตอบในหนังสือ “คุณคือครูคนแรกของลูก” ที่คุณสุวรรณา โชคประจักษ์ชัด อุชุคตานนท์ แปลจาก ‘You Are Your Child’s First Teacher’ เขียนโดย Rihima Baldwin Dancy ซึ่งเป็นนักการศึกษาปฐมวัยแนววอลดอร์ฟ ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งกระบวนการของพัฒนาการช่วงสามปีแรกของสไตเนอร์ที่ราหิมาอธิบายไว้ทำให้เห็นภาพชัดขึ้น

พัฒนาการเด็กวัยนี้เริ่มขึ้นจาก ในขวบปีแรกภารกิจหลักของเขาคือการพัฒนาการควบคุมร่างกาย จนสามารถลุกขึ้นเดินได้ ขวบปีที่สองภารกิจหลักคือการพัฒนาความสามารถในการพูด และขวบปีที่สามภารกิจหลักคือการพัฒนาความสามารถในการคิดและความทรงจำ ซึ่งแต่ละขั้นจะเป็นฐานของการพัฒนาในขั้นต่อ ๆ ไป การพูดที่ดีมีพื้นฐานมาจากการเคลื่อนไหวที่สมดุลของแขนขา ส่วนความคิดที่ดีก็มีพื้นฐานมาจากพัฒนาการของภาษาและการพูด

เจ้าโมกข์พูดเก่งมากในช่วงขวบปีที่สอง เราได้ยินประโยคมากมายที่ทำให้เราฉงนว่าเด็กเล็กขนาดนี้คิดออกมาได้อย่างไรกัน แต่ก็พอมีคำตอบอยู่บ้างจากการที่ไม่ให้เขาดูทีวี (มาจนถึงปัจจุบัน) และทุกคนพยายามคุยกับเขาด้วยภาษาและสำเนียงแบบผู้ใหญ่ (ไม่พยายามทำเสียงล้อเลียนแบบเด็กหัดพูด) จึงคิดว่าพัฒนาการเรื่องการพูดคงไม่ได้มีปัญหาอะไร ทำให้คิดว่าพัฒนาการเรื่องการคิดก็ไม่น่าจะมีปัญหา (มั๊ง) แล้วเจ้าอาการ "ต่อต้าน" นี่เกิดจากอะไรกัน

ในหนังสือเล่มนี้อธิบายไว้ได้น่าสนใจว่า นอกจากการพัฒนาของความคิดที่ต่อเนื่องมากจากการพัฒนาการพูดแล้ว ในช่วงวัยนี้จะมีการพัฒนา "สำนึกแห่งตัวตน" ซึ่งอาการต่อต้านหรือการเป็น “นักปฏิเสธนิยม” ที่เหมือนจะพูดเป็นแต่คำว่า “ไม่” เป็นการแสดงออกของการเกิดขึ้นของสำนึกแห่งตัวตนนี้เอง ซึ่งสไตเนอร์อธิบายไว้ว่าเป็นสิ่งที่เกิดจากการที่เด็กมีประสบการณ์ต่อตัวเองอย่างเข้มข้นเพียงพอ จนทำให้เขาจดจ่อกับอำนาจและความเป็นตัวของตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลายช่วงของพัฒนาการสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์คือตอนอายุ 2-3 ปี, ช่วงประมาณ 9 ปี, ช่วงประมาณ 13 ปี และช่วงสุดท้ายคือตอนอายุ 21 ปี

พฤติกรรมการต่อต้านของเจ้าโมกข์นี้เกิดจากการพัฒนา “การคิด” และ "สำนึกแห่งตัวตน" ของเขา ที่เริ่มตื่นขึ้นและต้องการแสดงออกให้โลกรู้ว่า “ฉันอยู่ที่นี่”

ผมจึงได้คำตอบว่าการที่เด็กเล็กในช่วงวัยอย่างเจ้าโมกข์ในตอนนี้กลายเป็นคนดื้อและเจ้าอารมณ์อยู่ช่วงหนึ่ง (ในหนังสือบอกว่าอย่างน้อย 6-7 เดือน) เป็นธรรมชาติขั้นหนึ่งของพัฒนาการ คล้ายกับการเป็น “วัยรุ่น” ครั้งแรกของเขา สิ่งที่เราควรทำคือต้องเข้าใจ เห็นใจ และช่วยเหลือดูแลให้เขาสามารถเรียนรู้ เติบโต และผ่านพ้นขั้นตอนนี้ไปได้ ด้วยความรักและความอดทน

หมายเลขบันทึก: 341589เขียนเมื่อ 3 มีนาคม 2010 23:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 12:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท