นิสิต ภาควิชาเทคโนฯ ม.ทักษิณ ผลิตสารคดีเชิงข่าว “แสงเทียนปลายด้ามขวาน “ชนะใจกรรมการชนะเลิศผลิตสกู๊ปข่าว เรื่องจริงผ่านจอ สิงห์สร้างสรรค์คนทีวี ปีที่ 4


นิสิต ภาควิชาเทคโนฯ ม.ทักษิณ ชนะเลิศผลิตสกู๊ปข่าว เรื่องจริงผ่านจอ สิงห์สร้างสรรค์คนทีวี ปีที่ 4ตีแผ่ชีวิตครูใต้ “แสงเทียนปลายด้ามขวาน “ชนะใจกรรมการ

นิสิต ภาควิชาเทคโนฯ ม.ทักษิณ  ชนะเลิศผลิตสกู๊ปข่าว เรื่องจริงผ่านจอ สิงห์สร้างสรรค์คนทีวี ปีที่ 4ตีแผ่ชีวิตครูใต้  “แสงเทียนปลายด้ามขวาน “ชนะใจกรรมการ

ภายหลังจากที่บริษัท สาระดี จำกัด  และ บริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด  ได้เปิดรับสมัครผลงานของนิสิต นักศึกษา ทั่วประเทศ   ในการผลิตสกู๊ปสารคดีเชิงข่าว  เข้าร่วมประกวด ในโครงการ “สิงห์ สร้างสรรค์ คนทีวีปี 4”  ปรากฏว่าในรอบปี 2552 มีผลงานจากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ทั่วประเทศกว่า 100 เรื่อง ส่งเข้าร่วมประกวด และขับเคี่ยวกันมาตลอดทั้งปี  และมีผลงาน 32 เรื่องที่ได้รับการคัดเลือกให้ผ่านรอบแรก  โดยได้ทยอยออกอากาศในรายการเรื่องจริงผ่านจอ  ในที่สุดคณะกรรมการได้พิจารณาตัดสินให้ ผลงานการผลิตสกู๊ปข่าว ของนิสิตทีม Smart Stately  ภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ เรื่อง “แสงเทียนปลายด้ามขวาน”  ออกอากาศเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2552 ได้รับรางวัลชนะเลิศ การประกวดสกู๊ปสารคดีเชิงข่าว โครงการ “สิงห์สร้างสรรค์คนทีวีปี 4” นิสิตทีม Smart Stately  ประกอบด้วย นายกีรติ  โชติรัตน์  นายเชี่ยววิทย์  พัฒนสุขพันธุ์  นายอภิชนม์  เพชรนุ่น   นางสาวนัฐฐา  พิทักษ์พลานนท์  และนางสาวหทัยรัตน์   เสนีย์   และยังได้รับรางวัลพิเศษอีก 3 รางวัล คือ รางวัลภาพยอดเยี่ยม   รางวัลเขียนบทยอดเยี่ยม  รางวัลลำดับภาพยอดเยี่ยม  ซึ่งทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจะได้รับทุนการศึกษา 100,000 บาท  พร้อมได้ไปทัศนศึกษาที่สถานีโทรทัศน์ KBS ประเทศเกาหลี พร้อมทั้งฝึกงานร่วมกับทีมงานรายการเรื่องจริงผ่านจอ เป็นเวลา 2 เดือน     ส่วนรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ยังคงเป็นของนิสิตมหาวิทยาลัยทักษิณ ทีม Smart Group จากผลงานเรื่อง จากกีฬาพื้นบ้านสู่การพนันพื้นเมือง”  ประกอบด้วย นายอนันต์  หมะจิ   นางสาวเบญจวรรณ  มีไชย   นางสาวรุจิราวรรณ จัตวากุล  นางสาวชญานุตม์  พรหมสวัสดิ์   และนางสาวอรรงค์  จินดาพันธ์ 

สำหรับผลงานของทีม Smart Stately เรื่อง “แสงเทียนปลายด้ามขวาน” มีความโดดเด่นในทุก ๆ ด้าน โดยเฉพาะในเรื่องของมุมมองและความมีคุณค่าต่อสังคม   สามารถสื่อความหมายเชื่อมโยงเรื่องราวได้ชัดเจน ภาพที่นำเสนอสื่ออารมณ์และเรื่องราวของชีวิตจริงได้ดี เขียนบทด้วยภาษาที่เรียบง่ายสละสลวยและร้อยเรียงสำนวนภาษาเชื่อมโยงเข้ากับเรื่องราวและเหตุการณ์ได้อย่างสมบูรณ์แบบ  ร้อยเรียงภาพได้สมบูรณ์มีความคมชัดในการจัดองค์ประกอบภาพ 

สมาชิกของทีม Smart Stately  ได้แสดงทัศนะคติต่อการเลือกที่จะผลิตผลงาน เรื่อง “แสงทองปลายด้ามขวาน”ว่า  สาเหตุที่ผลิตผลงานเรื่องนี้เพราะอยากจะสังคมได้รับรู้ถึงความสำคัญ  และความเสียสละของคุณครูที่จะต้องสอนนักเรียนในพื้นที่เสี่ยงภัย และเป็นพื้นที่ที่มีอันตรายด้วยจิตใจที่มุ่งมั่น  ทุ่มเท อดทนที่จะทำหน้าที่สอนหนังสือให้กับเด็ก ๆ นักเรียน ด้วยความรักและเอาใจใส่อย่างแท้จริง

นายกีรติ  โชติรัตน์  หรือน้องตั้ม ทำหน้าที่บันทึกภาพ กล่าวว่า “ปีที่ผ่านมา รุ่นพี่ ภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้รับรางวัลชนะเลิศจากการแข่งขันในเวทีนี้มาแล้ว กับผลงาน “ใครว่าผมบ้า” ผมดีใจกับรุ่นพี่มากๆ  และตั้งเป้าหมายไว้ว่าในปีต่อไป ผมจะต้องเจริญรอยตามรุ่นพี่ คือ คว้ารางวัลชนะเลิศในการแข่งขันรายการนี้ให้ได้  และรู้สึกดีใจมาก และภูมิใจอย่างยิ่งที่สามารถทำความฝันให้เป็นความจริงได้ ก็คือ ทีม Smart Stately  ได้รับรางวัลชนะเลิศในการแข่งขัน สิงห์สร้างสรรค์คนทีวีปี 4  ทีมของเรา มีการทำงานเป็นทีม และพยายามพัฒนาปรับปรุงผลงานตามที่ได้รับข้อเสนอแนะ และขอฝากถึงน้องๆ  เพื่อนๆ รุ่นต่อไปว่า อย่าท้อ ขอให้ตั้งใจและทำให้เต็มที่ในทุกๆ ด้านแล้วผลงานก็จะออกมาดี

นางสาวฤทัยรัตน์  เสนีย์  หรือน้องเปิ้ล  ผู้เขียนบท  กล่าวว่า “การผลิตสกู๊ปสารคดีเชิงข่าว เรื่อง “แสงทองปลายด้ามขวาน” จำเป็นต้องหาข้อมูลในเชิงลึก และทีมของเราจะประชุมวางแผนกันเป็นเดือนๆ  โดยลงพื้นที่จริง เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องมากที่สุด  เราต้องลงพื้นที่แบบเช้าไปเย็นกลับ เพราะจะต้องระวังเรื่องของการเดินทางและการทำงาน ซึ่งสถานที่นำเสนอก็คือ โรงเรียนบาโหย  อ.สะบ้าย้อย  จ.สงขลา  ห่างจากจังหวัดยะลา 200 เมตร จึงมีเด็กนักเรียนจากจังหวัดยะลาเข้ามาเรียนจำนวนมาก  และเด็ก ๆ ส่วนใหญ่จะพูดภาษาไทยไม่ชัดแต่คุณครูที่สอนที่โรงเรียนแห่งนี้ก็ให้ความรักและสอนด้วยจิตใจที่เต็มร้อยจริงๆ  ไม่หวาดหวั่นกับอันตรายที่จะมาถึงเมื่อไหร่ก็ไม่รู้”

อาจารย์ชัชวาล  ชุมรักษา  หัวหน้าภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ กล่าวว่า “นิสิต ที่เข้าร่วมการแข่งขันผลิตสกู๊ปสารคดีเชิงข่าว เรื่องจริงผ่านจอ ในปีนี้  ทุกทีมมีความมุ่งมั่น ตั้งใจ และมีความพยายามสูงมาก  ทุกทีมมีความใฝ่ฝัน และทางภาควิชาฯ ก็พยายามช่วยเหลือให้ความฝันของนิสิตได้เป็นจริง โดยให้การสนับสนุนในเรื่องของวัสดุ  อุปกรณ์ เครื่องมือ และอาจารย์ทุกคน รวมถึงเจ้าหน้าที่และบุคลากรทุกคนก็พร้อมที่จะให้คำแนะนำแก่นิสิต ขอแสดงความยินดีกับนิสิตที่สามารถได้รับรางวัลในปีนี้ และขอเป็นกำลังใจให้กับทีมที่พลาดโอกาส  ขอให้พยายามและต่อสู้ต่อไป”

ทางด้านอาจารย์คุณอานันท์  นิรมล อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ ในฐานะที่ปรึกษานิสิตทีม Smart Stately  กล่าวเพิ่มเติมว่า “ภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์  มีความพร้อมทั้งในเรื่องของบุคลากร เครื่องมือ และวัสดุ อุปกรณ์  ผนวกเข้ากับนิสิตมีความฝัน และเราสามารถที่จะสานฝันให้นิสิตให้เป็นความจริง ภาควิชาเทคโนโลยีฯ  พร้อมที่จะผลิตบัณฑิตให้มีความรู้ มีความสามารถ เสียสละ อดทน และมีความพยายาม ด้วยบุคลากรที่มุ่งมั่นและทุ่มเท”

และนี่คือเสียงสะท้อนของนิสิต มหาวิทยาลัยทักษิณ ที่มีความฝันและไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค์ ขวากหนามจนสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศ และรางวัลรองชนะเลิศ จากการประกวด สารคดีเชิงข่าว เรื่องจริงผ่านจอ มาครองได้สำเร็จ นับว่าเป็นอีกความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยทักษิณ

คำสำคัญ (Tags): #ไหม ม.ทักษิณ
หมายเลขบันทึก: 341464เขียนเมื่อ 3 มีนาคม 2010 17:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 19:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท