สืบสาน “เพลงกล่อมเด็ก”ภาคใต้


เยาวชนรุ่นใหม่ ห่วงใย อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน “เพลงกล่อมเด็ก”ภาคใต้

เยาวชนรุ่นใหม่ ห่วงใย อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน “เพลงกล่อมเด็ก”ภาคใต้

ก่อนวิถีชีวิตสังคมเมืองบดบังจนเลือนหายจากความสังคมไทย

 

ภายหลังจากที่สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย  มหาวิทยาลัยมหิดล  ประกาศผลการแข่งขันประกวดขับร้องเพลงกล่อมลูก4 ภาค ปีที่ 21 ผลการแข่งขันปรากฏว่า นายสุทธิพงษ์  นิ่มนวล นิสิตชั้นปีที่ 1  สาขาวิชาภาษาไทย  คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ  ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 จากการแข่งขันครั้งนี้   ด้วยตระหนักถึงความสำคัญของเพลงกล่อมลูกซึ่งเป็นวัฒนธรรมพื้นบ้านที่มีลักษณะการดำรงชีวิตของชุมชนและมีคุณค่าสมควรได้รับการอนุรักษ์ฟื้นฟู และเพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ที่เป็นหนึ่งในกิจกรรมเนื่องในงาน “มหิดล-วันแม่”  ในปีนี้มีผู้เข้าร่วมประกวดประเภทประชาชนจำนวน 32 คน  ประเภทนักเรียน นักศึกษา จำนวน 98 คน และมีผู้ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ จำนวน 34 คน วารสารทักษิณสารฉบับประจำเดือนสิงหาคม จึงขอแนะนำให้ทุกท่านได้รู้จักกับนายสุทธิพงษ์   นิ่มนวล

นายสุทธิพงษ์  นิ่มนวล  หรือน้องบิ๊ก  พื้นเพเป็นคนตำบลตะแพน  อำเภอศรีบรรพต  จังหวัดพัทลุง ในขณะที่เรียนอยู่

ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ได้มีโอกาสในการฝึกประสบการณ์ด้านการร้องเพลงกล่อมเด็ก และการขับเสภา โดยได้รับแรงบันดาลใจจากครูสอนวิชาภาษาไทย คุณครูประวิชญา   เพชรรักษ์ ซึ่งฝึกหัดให้ร้องเพลงกล่อมเด็ก และเมื่อปี พ.ศ. 2548  ได้เข้าร่วมการแข่งขันเพลงกล่อมเด็กในระดับจังหวัด และได้รับวุฒิบัตรในวันแม่แห่งชาติ จากการแข่งขันในระดับจังหวัด และในปีเดียวกันได้เป็นตัวแทนจังหวัดพัทลุงเข้าร่วมแข่งขันเพลงกล่อมเด็กที่มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งในครั้งนั้นได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1  ยิ่งทำให้เกิดแรงบันดาลใจมากขึ้นเพราะได้รับรางวัลพระราชทาน จากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ในการแข่งขันเพลงกล่อมลูก 4 ภาค (ภาคใต้) และหลังจากนั้นได้ฝึกฝนตนเองตลอดเวลา  ต่อมาปี พ.ศ.2550 ได้มีโอกาสเข้าร่วมการแข่งขันเพลงกล่อมลูก ที่มหาวิทยาลัยมหิดล จัดขึ้นอีกครั้ง ซึ่งได้รับรางวัลรองชนะเลิศเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน

                นายสุทธิพงษ์  นิ่มนวล กล่าวว่า การร้องเพลงกล่อมเด็ก เป็นการใช้ภาษาที่มีความแตกต่างกันในแต่ท้องถิ่น เพลงกล่อมเด็กภาคใต้จะมีความละเอียดอ่อนทางด้านภาษา ช่วยสร้างความรักความผูกพันธุ์ให้แก่แม่และลูก  เพลงกล่อมเด็กแต่ละภาคมีการใช้ภาษาและมีวัฒนธรรมที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน โดยเฉพาะเพลงกล่อมลูกภาคใต้ให้ความรู้สึกที่ลึกซึ้งและแสดงออกถึงความรักที่บริสุทธิ์ ปัจจุบันเพลงกล่อมลูกหรือเพลงกล่อมเด็กหาฟังได้ยากมาก เพราะวัฒนธรรมและวิถีการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นในฐานะที่เราเป็นเยาวชนคนรุ่นใหม่ ถ้าไม่ร่วมกันอนุรักษ์ไว้ซึ่งเพลงกล่อมเด็ก แน่นอนวัฒนธรรมเหล่านี้ก็จะสูญหายไปอย่างแน่นอน  ในการเข้าร่วมการแข่งขันแต่ละครั้งจะได้รับฟังเพลงกล่อมเด็กของผู้เข้าแข่งขันซึ่งจากภูมิภาคต่าง ๆ แต่ละภาคจะมีจุดเด่นจุดด้อยไม่เหมือนกัน ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ ให้เข้ากับภูมิภาคของตนเองได้อย่างกลมกลืน

           

                นายสุทธิพงษ์  นิ่มนวล กล่าวเพิ่มเติมว่า การปลูกจิตสำนึกที่จะให้เยาวชนหันมาสนใจเกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรม โดยเฉพาะการขับร้องเพลงกล่อมเด็ก จำเป็นต้องเริ่มจากครอบครัวก่อน ถ้ามีการปลูกฝังจากครอบครัวและเด็กมีใจรักด้วยในศิลปวัฒนธรรมแขนงนี้แน่นอนว่าจะทำให้เกิดความชื่นชอบ ดังนั้นครอบครัวควรที่จะปลูกฝังและให้เด็กค่อยๆ ซึมซับเอาวัฒนธรรมที่ดีงามเหล่านี้เพื่อจะได้เกิดการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น เกิดเป็นคนไทย จงมีความภาคภูมิใจในศิลปวัฒนธรรมของคนไทย ภาษาและวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่จะจารึกไว้ในแผ่นดิน   วันนี้คุณได้ทำสิ่งดีๆ ฝากไว้ให้ผืนดินได้จารึกหรือยัง ผมมีความภาคภูมิใจที่เกิดเป็นคนใต้ และภาษาใต้เป็นภาษาที่แสดงออกถึงความจริงใจ จริงจัง ผูกพันกับการดำเนินชีวิตของชาวใต้มาช้านานดังนั้นในฐานะเยาวชนรุ่นใหม่ ต้องพยายามร่วมมือร่วมใจกันอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมโดยเฉพาะเพลงกล่อมเด็ก ซึ่งจะทำให้วัฒนธรรมที่ดีงามเหล่านี้ไม่สูญหายไปตามกาลเวลาและอยู่คู่กับสังคมไทยตลอดไป

คำสำคัญ (Tags): #ไหม ม.ทักษิณ
หมายเลขบันทึก: 341421เขียนเมื่อ 3 มีนาคม 2010 15:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 12:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท