รายงานการวิจัยบทเรียน e-Learning ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต


บทเรียน e-Learning

การสร้างและพัฒนาบทเรียน e-Learning ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต

วิชา การติดตั้งไฟฟ้านอกอาคาร 

Creation and Development of e-Learning via the Internet

in Electrical Installation for Exterior. 

 


 

 

ผู้วิจัย                            นางสาวดวงจันทร์   ธนิกกุล          

ตำแหน่ง/สังกัด              ครู   วิทยฐานะชำนาญการ  วิทยาลัยเทคนิคพิจิตร

วุฒิการศึกษา                คุรุศาสตร์อุตสาหกรรมมหาบัณฑิต  สาขาวิชาเอก  วิศวกรรมไฟฟ้า

ปีที่ทำวิจัยสำเร็จ            2551

แหล่งทุนวิจัย                ทุนสนับสนุนจาก วิทยาลัยเทคนิคพิจิตร

 


 

ความเป็นมาของการวิจัย

ตามที่พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542  เป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการศึกษาของชาติ หมวดที่ 4  ว่าด้วยแนวการจัดการศึกษา  มาตรา 22 การจัดการศึกษาต้องยึดหลักว่าผู้เรียนทุกคนมีความสามารถในการเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุดกระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ  หมวดที่ 9  ว่าด้วยเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา  มาตรา 66  ผู้เรียนมีสิทธิได้รับการพัฒนาขีดความสามารถในการใช้เทคโนโลยี  เพื่อการศึกษาในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเองได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต เป็นการเปลี่ยนแปลงการจัดกระบวน การเรียนรู้  ซึ่งต้องพัฒนาตัวครูผู้สอน เพื่อให้เป็นครูในยุคปฏิรูปการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การนำเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรมทาง การศึกษาใหม่ ๆ มาใช้ในการจัดการเรียนการสอน (ครรชิต มาลัยวงศ์, 2544:1)

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการพัฒนาระบบการเรียนการสอนผ่านระบบเครือข่าย หรือที่เรียกว่า           e-Learning จึงมีความสำคัญต่อการจัดการศึกษา ที่จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาผู้เรียน และจำเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ อีกทั้งการจัดการเรียนการสอนผ่านบนเครือข่ายเวิลด์ไวด์เว็บ  เป็นการเสริมสร้างสิ่งแวดล้อมแห่งการเรียนรู้ในมิติที่ไม่มีขอบเขตจำกัดด้วยระยะทาง และเวลาที่แตกต่างกันของผู้เรียน กล่าวคือ ผู้เรียนสามารถเลือกสรรเนื้อหาบทเรียนที่เกี่ยวข้องได้อย่างเหมาะสมทั้งที่บ้านและสถานที่อื่น ๆ ได้ทุกโอกาส เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนควบคุมการเรียนรู้ด้วยตนเอง  ตามความต้องการและเรียนตามเวลาที่สะดวก เหมาะสมกับตัวเอง

ผู้วิจัยได้ทำการสอนในรายวิชาการติดตั้งไฟฟ้านอกอาคาร รหัสวิชา 2104-2121 ตามหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ พุทธศักราช 2545 (ปรับปรุง พ.ศ. 2546) ประเภทวิชาช่างอุตสาหกรรม สาชาวิชาไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ การสอนจึงมุ่งเน้นการเรียนทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ การเรียนการสอนในวิชานี้จำเป็นต้องให้ผู้เรียนได้เรียนรู้เนื้อหาในภาคทฤษฎีเสียก่อนเพื่อความเข้าใจในเนื้อหาตามจุดประสงค์การเรียน และเป็นพื้นฐานที่จะใช้ในการปฏิบัติต่อไป ซึ่งเนื้อหารายวิชาในเชิงลึกนั้นค่อนข้าง  มีมาก อีกทั้งในการสอนในภาคปฏิบัติผู้สอนต้องเน้นให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง ใช้เวลาส่วนใหญ่ในการฝึกปฏิบัติ เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ความเข้าใจ มีทักษะและประสบการณ์ ที่จะนำไปประกอบการอาชีพในอนาคตได้ และผู้เรียนจำเป็นต้องได้รับการติดตามการปฏิบัติงานจริงอย่างใกล้ชิดจากผู้สอน เพื่อความถูกต้องและความปลอดภัยในการปฏิบัติงานอีกด้วย ดังนั้นการเรียนการสอนรายวิชาการติดตั้งไฟฟ้านอกอาคาร ที่ใช้เวลาเรียนทั้งหมด 4 คาบ/สัปดาห์นั้น ผู้สอนจึงไม่สามารถสอนเนื้อหาเชิงลึกในแต่ละหน่วยการเรียน ในรายวิชาการติดตั้งไฟฟ้านอกอาคาร ซึ่งมีเนื้อหาอยู่มากได้  อันเนื่องมาจากข้อจำกัดทางด้านเวลา ดังนั้นในการสอนภาคทฤษฎี ผู้สอนจึงมุ่งเน้นการสอนในเนื้อหาที่กระชับและเพียงพอต่อการนำไปปฏิบัติงานได้จริงและปลอดภัย ส่วนความรู้ด้านทฤษฎีในเชิงลึก ผู้เรียนจำเป็นต้องทำการค้นคว้าข้อมูลบางส่วนด้วยตนเองเพื่อให้ได้ความรู้ครบถ้วนตามจุดประสงค์รายวิชาและมาตรฐานรายวิชาได้กำหนดไว้ ด้วยเหตุนี้การค้นคว้าหาความรู้นอกห้องเรียนจากแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย เช่น เอกสารประกอบการเรียน ห้องสมุด คู่มือ หรือเว็บไซต์ จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากของผู้เรียนวิชา         การติดตั้งไฟฟ้านอกอาคาร

เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการศึกษาค้นคว้านอกห้องเรียน และการเพิ่มโอกาสในการเรียนรู้ของผู้เรียน ผู้วิจัยได้เล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาที่มีการใช้เทคโนโลยีด้านระบบคอมพิวเตอร์มาช่วยในการเรียนการสอน และจัดกระบวนการเรียนรู้ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต จึงได้สร้างและพัฒนาบทเรียน  e-Learning ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต วิชาการติดตั้งไฟฟ้านอกอาคาร  จำนวน 10 หน่วยการเรียน โดยใช้โปรแกรม Moodle ซึ่งเป็นโปรแกรมฟรีแวร์ ประเภท LMS ที่มีระบบการจัดการเรียนการสอนผ่านเว็บหรือการจัดการเรียนการสอนแบบ e-Learning และอัพโหลดไว้ที่ http://www.elearningvec.net/ lms2/course/  เลือกรายวิชา การติดตั้งไฟฟ้านอกอาคาร  โดยนักเรียนสามารถเข้าศึกษาบทเรียนด้วยตนเอง เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน นอกจากจะทำให้ได้สื่อการสอนในวิชาช่างอุตสาหกรรมเป็นตัวอย่างของการพัฒนาสื่อวิชาชีพแล้ว ผลการวิจัยยังก่อให้เกิดความรู้ใหม่ที่เป็นประโยชน์ต่อการจัดการเรียนการสอน ซึ่งผู้สอนทั่วไปสามารถนำไปใช้ให้เกิดประสิทธิภาพได้ อันจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาการเรียนการสอนของสถาบันการศึกษาช่างอุตสาหกรรม ในรูปแบบของการเรียนผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตต่อไปในอนาคต

 

แนวคิด ทฤษฎี

บทเรียน e-Learning ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต วิชาการติดตั้งไฟฟ้านอกอาคาร เป็นบทเรียนที่ใช้โปรแกรม Moodle ในการสร้างและติดตั้งลงในเครื่องแม่ข่ายที่มีการให้บริการเว็บ(Web Server) ในโครงการ การพัฒนาการจัดการเรียนการสอนทางด้านอาชีวศึกษาผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่ http://www.elearningvec.net/lms2 เลือกรายวิชาการติดตั้งไฟฟ้านอกอาคาร โดยใช้เครือข่ายที่เป็นไฮเปอร์เท็กซ์ทรานสเฟอร์โปรโตคอล (HTTP Protocol) ในการเชื่อมต่อ โดยเครื่องคอมพิวเตอร์ ที่สามารถเข้าสู่ระบบอินเทอร์เน็ตได้

 

 

รูปที่ 1 แสดงแผนผังโครงสร้างบทเรียน e-Learning ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต วิชาการติดตั้งไฟฟ้า

          นอกอาคาร

 

บทเรียน e-Learning ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่มีการจัดองค์ประกอบต่างๆ ของบทเรียนให้ เหมาะสมเช่น  ตัวอักษร,สี,  รูปภาพ, ภาพเคลื่อนไหว(Animation)ในบทเรียน, แบบฝึกหัดที่ให้ผลย้อนกลับ สิ่งเหล่านี้ทำให้นักเรียนเกิดความสนใจ อยากที่จะเรียนรู้เนื้อหาภายในบทเรียน และการเรียนบทเรียนบนระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต นักเรียนมีการติดต่อสื่อสารระหว่างผู้เรียนภายในกลุ่มและนอกกลุ่ม มีการแลกเปลี่ยนความรู้โดยใช้กระดานข่าวทำให้ไม่ขาดปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น การเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านการศึกษาจากบทเรียน e-Learning ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ดังแสดงเป็นแผนผังโครงสร้างในรูปที่ 1 จึงเป็นวิธีการที่สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ที่ต้องการส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้โดยผู้เรียนสำคัญที่สุดหรือการเรียนแบบใช้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Child Centered) ซึ่งนักเรียนนักศึกษาสามารถเรียนรู้ได้จากแหล่งการเรียนรู้อันหลากหลายนอกจากการสอนปกติของครูในชั้นเรียน

 

วัตถุประสงค์ของการวิจัย

1.  เพื่อพัฒนาและหาประสิทธิภาพของบทเรียน e-Learning ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต วิชา การติดตั้งไฟฟ้านอกอาคาร

2.  เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียน ด้วยบทเรียน         e-learning ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตวิชา การติดตั้งไฟฟ้านอกอาคาร จำนวน 10 หน่วยการเรียนของนักเรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ชั้นปีที่ 2  แผนกวิชาช่างไฟฟ้ากำลัง วิทยาลัยเทคนิคพิจิตร

3.  เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อบทเรียน e-Learning ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตวิชา การติดตั้งไฟฟ้านอกอาคาร

สมมุติฐานของการวิจัย 

1.  บทเรียน e-Learning ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตวิชา การติดตั้งไฟฟ้านอกอาคารเป็นบทเรียนที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์มาตรฐาน 80/80

2.  บทเรียน e-Learning ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตวิชา การติดตั้งไฟฟ้านอกอาคารที่พัฒนาขึ้นทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนเพิ่มขึ้น

3.  นักเรียนมีความพึงพอใจต่อบทเรียน e-Learning ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต  วิชา การติดตั้งไฟฟ้านอกอาคาร ในระดับมาก

 

วิธีการดำเนินการวิจัย

1.  ประชากร คือนักเรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ชั้นปีที่ 2 แผนกวิชาช่างไฟฟ้ากำลัง วิทยาลัยเทคนิคพิจิตร จำนวน 105 คน

  1. 2.    กลุ่มตัวอย่าง

2.1  กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการหาคุณภาพของเครื่องมือวัดผล ซึ่งเป็นข้อสอบแบบเลือกตอบคือ นักเรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ชั้นปีที่ 3  แผนกวิชาช่างไฟฟ้ากำลัง วิทยาลัยเทคนิคพิจิตร ที่ผ่านการลงทะเบียนเรียนวิชาการติดตั้งไฟฟ้านอกอาคาร มาแล้วจำนวน 30  คน

2.2  กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการหาประสิทธิภาพของบทเรียน ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความพึงพอใจต่อบทเรียน e-Learning คือ นักเรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ชั้นปีที่ 2 แผนกวิชาช่างไฟฟ้ากำลัง วิทยาลัยเทคนิคพิจิตร ที่ลงทะเบียนเรียนวิชา การติดตั้งไฟฟ้านอกอาคาร จำนวน 50 คน ได้มาโดยการสุ่มแบบง่าย (Simple Random Sampling)

  1. 3.    ตัวแปร

3.1    ตัวแปรต้น คือ บทเรียน e-Learning ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตวิชา การติดตั้งไฟฟ้านอกอาคาร  

3.2    ตัวแปรตาม ได้แก่ 

3.1  ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ชั้นปีที่  2 ก่อน และหลังเรียนด้วยบทเรียน e-Learning ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตวิชา การติดตั้งไฟฟ้านอกอาคาร

3.2  ความพึงพอใจของนักเรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ชั้นปีที่ 2  หลังเรียนด้วยบทเรียน e-Learning ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตวิชา การติดตั้งไฟฟ้านอกอาคาร

 

 

 

 

 

 

 

4.  เครื่องมือ

งานวิจัยนี้ประกอบด้วยเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย  3  ชนิดคือ

1. บทเรียน e-Learning ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตวิชา การติดตั้งไฟฟ้านอกอาคาร จำนวน 10 หน่วยการเรียน

2. แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่เรียนจากบทเรียน e-Learning ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตวิชา การติดตั้งไฟฟ้านอกอาคาร โดยใช้แบบทดสอบเลือกตอบชนิด 4  ตัวเลือก จำนวน 80 ข้อ

3. แบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อบทเรียน e-Learning ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตวิชา การติดตั้งไฟฟ้านอกอาคาร แบ่งออกเป็น 5  ด้านคือ ด้านส่วนประกอบโดยทั่วไปของบทเรียน e-Learning ด้านตัวอักษร ด้านรูปภาพและ e-book  ด้านเนื้อหาและด้านกิจกรรมการเรียนการสอน ประกอบด้วยข้อคำถาม 27 ข้อ แบ่งระดับความพึงพอใจเป็น 5 ระดับ จัดเรียงความ   พึงพอใจจาก  มากที่สุด  มาก  ปานกลาง น้อย และน้อยที่สุด  โดยแทนด้วยคะแนน 5, 4, 3, 2  และ 1  ตามลำดับ

 

การเก็บรวบรวมข้อมูล

ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างวันที่ 18 พฤษภาคม 2551 ถึงวันที่ 1 ตุลาคม 2551 เก็บข้อมูลผลการวิจัยด้วยการทดสอบก่อนเรียน, ระหว่างเรียนและหลังเรียนกับกลุ่มตัวอย่างด้วยแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน แล้วนำคะแนนมาวิเคราะห์เพื่อหาประสิทธิภาพของบทเรียน และเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน นอกจากนั้นยังศึกษาความพึงพอใจและปัญหาที่เกิดขึ้นของนักเรียนขณะเรียนด้วยบทเรียน e-learning ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตวิชา การติดตั้งไฟฟ้านอกอาคาร ด้วยแบบสอบถามชนิดมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale)

 

การวิเคราะห์ข้อมูล 

สถิติในการวิจัย ดังนี้ คือ

สถิติพื้นฐาน

1.  ค่าเฉลี่ย (Arithmetic Mean, X)

 

 

2.  ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation, S.D )

 

 

 

สถิติที่ใช้ในการหาคุณภาพของเครื่องมือ

  1. ดัชนีความสอดคล้องระหว่างข้อสอบกับจุดประสงค์  (IOC = Index of tem-Objective Congruence)

 

 

 

  1. ค่าดัชนีจำแนก B (B-Index) ของแบบทดสอบเป็นรายข้อโดยใช้โปรแกรมวิเคราะห์ข้อสอบ   B-Index ซึ่งพัฒนาโดยสาคร แสงผึ้ง โดยเลือกใช้วิธีของ Brennan ดังนี้

 

 

 

  1. ความเชื่อมั่นของแบบประเมินผลทั้งฉบับ  โดยใช้โปรแกรมวิเคราะห์ข้อสอบ  B-Index  ซึ่งพัฒนาโดยสาคร แสงผึ้ง โดยเลือกใช้วิธี Livingston ดังนี้       

 

 

                                   

สถิติที่ใช้วิเคราะห์เพื่อทดสอบนัยสำคัญ

สถิติที่ใช้หาความแตกต่างของผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียนด้วยบทเรียนคือ   ค่า t-test

สถิติที่ใช้ในการหาประสิทธิภาพของบทเรียน

E1/E2 เกณฑ์ 80/80

 

สรุปผลการวิจัย

ผลการพัฒนาบทเรียน e-Learning ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตวิชา การติดตั้งไฟฟ้านอกอาคาร ใช้หลักการสร้างบทเรียน e-Learning แบบมีปฏิสัมพันธ์ (Interaction) โดยได้ทำการวิเคราะห์เนื้อหาแล้วพัฒนาบทเรียนตามลำดับความสำคัญ  จำนวน 10  หน่วยการเรียน  คือ 1. เครื่องมือที่ใช้สำหรับงานติดตั้งไฟฟ้านอกอาคาร  2. วัสดุอุปกรณ์สำหรับงานติดตั้งไฟฟ้านอกอาคาร 3. การปักเสาและพาดสาย 4. การยึดโยง  5. การติดตั้งโคมไฟถนน 6. กิโลวัตต์อาวร์มิเตอร์  7. อุปกรณ์ตัดตอนและอุปกรณ์ป้องกันระบบไฟฟ้า 8. หม้อแปลงไฟฟ้า  9. การต่อลงดิน 10. การเดินสายใต้ดิน

การพัฒนาบทเรียน e-Learning ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตวิชา การติดตั้งไฟฟ้านอกอาคาร ผู้วิจัยได้สร้างลำดับเนื้อหาแต่ละหน่วยการเรียนรู้ ออกแบบหน้าเว็บเพจ และเลือกใช้โปรแกรมระบบจัดการเรียนการสอน (LMS) ที่ช่วยในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในระบบการเรียนแบบออนไลน์ให้มีบรรยากาศเหมือนเรียนในห้องเรียนผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต โปรแกรมที่ใช้คือ Moodle ซึ่งเป็นซอร์ฟแวร์ที่มีพื้นฐานมาจาก software open source ได้แก่ php java  และ mysql  ดังนั้น ในการนำระบบไปใช้งานจึงไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ  บทเรียนที่พัฒนาได้ผ่านการประเมินคุณภาพด้านเนื้อหาของบทเรียน และประเมินคุณภาพด้านมัลติมีเดียของบทเรียน โดยผู้เชี่ยวชาญด้านมัลติมีเดียมีความคิดเห็นเกี่ยวกับบทเรียนที่สร้างขึ้นอยู่ในระดับดีมาก ได้ค่าเฉลี่ย   =  83.33   และผู้วิจัยได้รับคำแนะนำพร้อมทั้งข้อเสนอแนะเพิ่มเติม เพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไขในส่วนที่บกพร่อง  จากนั้นได้มีการนำบทเรียนที่พัฒนาขึ้นไปทดลองกับกลุ่มตัวอย่างขนาดเล็กจำนวน  3 คน และ 5 คน เพื่อหาจุดบกพร่องของบทเรียนและปรับปรุงแก้ไข ก่อนที่อัพโหลดเว็บเพจบทเรียน e-Learning    วิชา การติดตั้งไฟฟ้านอกอาคาร ไปเก็บไว้ที่คอมพิวเตอร์ Serverโดยประสานกับผู้ดูแลระบบขอกำหนดรายวิชา กำหนดสิทธิ์เป็นครูผู้สอน และให้นักเรียนสามารถเข้าเรียนได้ที่  http://www.elearningvec.net/lms2  เลือกรายวิชาการติดตั้งไฟฟ้านอกอาคาร

การสร้างแบบทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียน ผู้วิจัยได้ออกแบบทดสอบให้ครอบคลุมวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรมและเนื้อหาของรายวิชาการติดตั้งไฟฟ้านอกอาคาร นำแบบทดสอบไปให้ผู้เชี่ยวชาญจำนวน  3 ท่าน ตรวจสอบความสอดคล้องของแบบทดสอบกับวัตถุประสงค์ (IOC) ซึ่งผลการวิเคราะห์ข้อสอบจำนวน 80 ข้อทุกข้อมีค่า IOC > 0.5 แสดงว่าข้อสอบทั้งหมดจำนวน 80 ข้อใช้ได้ ปรับปรุงแบบทดสอบตามคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น นำแบบทดสอบไปทดลองสอบ (Try out) กับนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ชั้นปีที่3  แผนกช่างไฟฟ้ากำลัง วิทยาลัยเทคนิคพิจิตรที่ผ่านการเรียนวิชาการติดตั้งไฟฟ้านอกอาคาร มาแล้วจำนวน  30  คนทำการวิเคราะห์หาคุณภาพของแบบทดสอบ โดยหาค่าความยากและค่าอำนาจจำแนก โดยแบบทดสอบทั้ง 80 ข้อมีค่าความยากและค่าอำนาจจำแนกอยู่ในเกณฑ์ทั้งหมด และนำแบบทดสอบที่ได้มาหาค่าความเชื่อมั่นของแบบทดสอบทั้งฉบับ ได้ค่าความเชื่อมั่น (rcc) 0.99

ผลการหาประสิทธิภาพของบทเรียน e-Learning ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตวิชา การติดตั้งไฟฟ้านอกอาคาร  E1/E2  เท่ากับ 84.59/81.08  ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน 80/80 แสดงว่าบทเรียนมีประสิทธิภาพสูง

ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่เรียนบทเรียน e-Learning ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตวิชา การติดตั้งไฟฟ้านอกอาคาร จากการเปรียบเทียบคะแนนแบบทดสอบก่อนเรียน (Pre-test) และหลังเรียน (Post-test) จำนวน 80 ข้อ  วิเคราะห์ด้วย t-test ได้ค่า t =  35.0027 แสดงให้เห็นว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนหลังเรียนมีค่าสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ  0.01 แสดงว่าบทเรียน e-Learning ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตวิชา การติดตั้งไฟฟ้านอกอาคาร มีประสิทธิภาพในการเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนให้กับนักเรียน

ผลการศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อบทเรียน e-Learning ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตวิชา การติดตั้งไฟฟ้านอกอาคาร จากการตอบแบบสอบถามเมื่อสิ้นสุดการเรียนในสัปดาห์สุดท้าย พบว่านักเรียนมีความพอใจในตัวบทเรียนโดยรวมทั้งหมดมีค่าคะแนนเฉลี่ย =  4.19  ความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก โดยข้อคำถามในภาพรวมท่านพอใจบทเรียน e-learning วิชาการติดตั้งไฟฟ้านอกอาคารเพียงใด มีค่าคะแนนเฉลี่ยสูงสุดที่  4.40 ความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก และข้อคำถามมีความสนุกสนานกับการร่วมกิจกรรมในขณะออนไลน์มีค่าคะแนนเฉลี่ยต่ำสุดที่ค่าคะแนนเฉลี่ย 3.96 ความคิดเห็นอยู่ในระดับมาก

 

ข้อเสนอแนะ

1.  ก่อนที่ผู้เรียนจะเรียนด้วยบทเรียน e-learning ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตผู้เรียนควรมีความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการใช้งานอินเทอร์เน็ต และทำความคุ้นเคยกับการใช้คอมพิวเตอร์ก่อน เพื่อความคล่องตัวในการศึกษาด้วยบทเรียน e-learning ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต

2.  การเรียนบนเว็บจะประสบความสำเร็จได้ต้องอาศัยผู้เรียนที่มีความรับผิดชอบ รู้จักการ ควบคุมและตรวจสอบการเรียนของตน (Self-monitoring) นอกจากนี้การสร้างแรงจูงใจในการเรียน ก็เป็นสิ่งสำคัญ คือ ถ้าผู้เรียนขาดแรงจูงใจในการเรียนซึ่งเกิดได้จากลักษณะของผู้เรียนเอง หรือเกิดจากการที่ผู้สอนออกแบบการสอนที่ไม่มีประสิทธิภาพ การสอนบนเว็บก็จะไม่ให้ผลตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ ดังนั้นจึงควรมีการสร้างวินัย ความรับผิดชอบและความซื่อสัตย์ต่อตนเองให้กับนักเรียน เพื่อนักเรียนจะสามารถใช้ e-learning ให้ได้ประโยชน์สูงสุด

3.  ผู้บริหารสถานศึกษาควรตระหนักและควรส่งเสริมรวมทั้งสนับสนุนด้านครุภัณฑ์ สถานที่ ที่ใช้ประกอบในการเรียนเช่น ห้องเรียนที่มีคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง อินเทอร์เน็ตไร้สาย (wireless) ที่เพียงพอเพื่อที่จะสามารถรองรับกับจำนวนนักเรียนนักศึกษาที่เข้ามาใช้งานในบทเรียนได้

 

ประโยชน์ของการวิจัย

  1. ได้บทเรียน e-Learning ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต วิชาการติดตั้งไฟฟ้านอกอาคารจำนวน 10 หน่วยการเรียน
  2. ทำให้ทราบถึงผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน เมื่อเรียนบทเรียน  e-Learning ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต วิชา การติดตั้งไฟฟ้านอกอาคาร
  3. ทราบถึงความคิดเห็นและความพึงพอใจของนักเรียน ที่มีต่อบทเรียน  e-Learning ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต วิชา การติดตั้งไฟฟ้านอกอาคาร
  4. เพื่อเป็นแนวทางในการส่งเสริมการเรียนรู้ในลักษณะการจัดการเรียนการสอน โดยใช้บทเรียน          e-Learning ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเป็นสื่อการสอน
  5. เพื่อนำผลที่ได้ไปใช้เป็นแนวทางให้ผู้สอนวิชาชีพช่างอุตสาหกรรมท่านอื่นๆ พิจารณาเลือกวิธีสอนที่เหมาะสมไปใช้ในการสอนด้านอาชีวศึกษาต่อไป
หมายเลขบันทึก: 341339เขียนเมื่อ 3 มีนาคม 2010 11:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 13:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอแสดงความชื่นชมและเป็นกำลังใจให้คุณครูได้พัฒนาสื่อดีๆ ให้กับนักเรียนและผู้สนใจได้ใช้ศึกษาค้นคว้าครับ

ผมในฐานะช่างไฟฟ้าด้วยกัน ขอใช้เว็บของคุณครูเป็นสื่ออ้างอิงด้วยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท