การจัดการเครือข่าย (บันทึก คศน.2 มี.ค.53)


เป็นการพิสูจน์วิธีคิดสำคัญในการพัฒนาผู้นำ ก็คือ ผู้นำที่มีศักยภาพจะเกิดขึ้นได้จะต้องมีลักษณะที่สำคัญคือมี Collective leadership นั่นเอง

วันนี้ใช้เวลาเกือบทั้งวันกับการวางแผนการทำงานใน 3 เดือนข้างหน้าของ คศน. (มี.ค. – พ.ค. 2553) ทีแรกตั้งใจว่าจะวางแผนงานของเดือนมี.ค.เดือนเดียว แต่พอเริ่มคิดก็ต้องลากเส้นเวลาให้ยาวออกไปเป็นสามเดือน เพราะกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นมันเชื่อมโยงกันเป็นขั้นเป็นตอนส่งต่อกันเป็นทอด ๆ ทำให้ต้องคิดงานทั้งหมดพร้อมกันระหว่างกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นของคน 5 กลุ่มหลัก คือ
(1) กลุ่มผู้นำ คศน.
(2) กลุ่มกัลยาณมิตร (mentors)
(3) กลุ่มคณะกรรมการกำกับทิศทาง
(4) กลุ่มผู้ประสานงานองค์กรภาคี (node coordinators) และ
(5) กลุ่มทีมจัดการกลาง (core team)
ซึ่งในการวางแผนแทนที่จะขีดเส้นเวลา (timeline) เส้นเดียวอย่างที่เคยทำมาก่อน ต้องขีดถึง 5 เส้นขนานกัน แล้ว plot ว่าจะจัดกิจกรรมอะไรกับกลุ่มไหนในวันไหน และคิดว่าแต่ละกิจกรรมจะมีความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มอย่างไรบ้าง โดยกำหนดเป้าหมายและยุทธศาสตร์ของแต่ละกิจกรรมให้ชัดเจน

สิ่งที่ทำหน้าที่เชื่อมระหว่างคนทั้ง 5 กลุ่ม ก็คือกิจกรรมต่าง ๆ ที่ถูกออกแบบขึ้น ซึ่งอาจแบ่งได้เป็นสองแบบคือ กิจกรรมแบบจบในตอน กับกิจกรรมแบบต่อเนื่องเป็นเรื่องยาว

แบบแรก คือแบบจบในตอน เป็นกิจกรรมที่มีช่วงเวลากำหนดชัด แต่ละครั้งเหมือนหนังตอนที่จบในตัว ผลที่ได้ก็จะเกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นเลย แต่ก็ไม่ได้แยกกันขาดเสียทีเดียว ระหว่างตอนยังมีการเชื่อมโยงกันและมีพัฒนาการของความรู้ ความคิดรวมถึงอารมณ์ความรู้สึกไปด้วย ตัวอย่างเช่น core module, การประชุม/สัมมนา

แบบที่สอง คือ แบบต่อเนื่อง เป็นกิจกรรมที่ต้องมีการพัฒนาไปทีละขั้น ๆ ใช้เวลาต่อเนื่องยาวนาน ตัวอย่างเช่น การทำโครงการพิเศษ (special project) ที่ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงสิ้นสุดใช้เวลา 2 ปี อย่างไรก็ตามในปีนี้ ยังไม่สามารถกำหนดได้ล่วงหน้าชัด ๆ ว่า “ขั้นตอน” เป็นอย่างไร ด้วยความพยายาม “คิดใหม่” ทำให้ขั้นตอนต่าง ๆ ต้องมีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่เฉพาะการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสถานการณ์เท่านั้น แต่เปลี่ยนตามความรู้ที่ได้เพิ่ม รวมถึงความคิดใหม่ ๆ ที่มีอยู่ตลอดเวลาด้วย (เป็นลักษณะสำคัญของ คศน. ที่มีความเป็นนวัตกรรม และมีความยืดหยุ่นสูง)
 
กิจกรรมทั้งสองแบบนอกจากทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมโยงคนทั้ง 5 กลุ่มเข้าด้วยกันแล้ว ยังทำหน้าที่เชื่อมโยงกับคนหรือองค์กรอื่น ๆ ได้กว้างขวางอีกด้วย ทำให้ต้องมีการวางจังหวะของกิจกรรมให้เหมาะ โดยต้องเข้าใจธรรมชาติของคนแต่ละกลุ่ม และความเปลี่ยนแปลงของบริบท รวมถึงการเคลื่อนไหวเป็นพลวัตรของ “พลัง” ที่หมุนเวียนอยู่ในเครือข่าย คศน. ด้วย

สิ่งที่เกิดขึ้นใน คศน. รวมทั้งวิธีคิดและการทำงานของ ศูนย์ประสานงาน คศน. อาจเรียกได้ว่าเป็นกระบวนการ “การจัดการเครือข่าย (network management)” ซึ่งน่าจะเป็นภารกิจหลักของ คศน. และเป็นการพิสูจน์วิธีคิดสำคัญในการพัฒนาผู้นำ ก็คือ ผู้นำที่มีศักยภาพจะเกิดขึ้นได้จะต้องมีลักษณะที่สำคัญคือมี Collective leadership นั่นเอง

หมายเลขบันทึก: 341262เขียนเมื่อ 3 มีนาคม 2010 00:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 12:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท