มุมมองกล้วยหอมทองไทยจากญี่ปุ่น(ตอนที่3 )


กล้วยหอมทอง ส่งออกญี่ปุ่น บนพื้นฐานการเรียนรู้ร่วมกัน

       มุมมองจากสหกรณ์ผู้บริโภคที่บริโภคกล้วยหอมทองละแม จังหวัดชุมพร มาเป็นเวลา 16 ปี  เมื่อวานเขียนค้างไว้เพื่อยั่วน้ำลายนักการตลาด   วันนี้ขอนำเสนอตอนที่ 3   ปัจจัยที่ทำให้กล้วยหอมทองไทย ส่งออกไปยังญี่ปุ่นได้ถึงปัจจุบัน  ครับก็เป็นการเสนอเรื่องราวที่สหกณ์ผู้บริโภคโยโดงาว่า เสนอไว้ เมื่อ 27 กพ.2553 ที่ผ่านมา  

         คุณคาซึมาซะ โอนิชิ  กล่าวไว้ว่า กล้วยหอมทองละแม กว่าจะส่งออกไปได้จริงๆ สมาชิกผู้ปลูกต้องเจออุปสรรคมากมาย  ที่ส่งออกไปได้ในตอนแรกๆนั้น  คุณภาพผลผลิตถือว่ายังไม่ดี  ผลกล้วยมีขนาดเล็กมาก ผิวช้ำจนดำทั้งลูก หัวขั้วมีเชื้อราเต็มไปหมด  โรงบ่มกล้วย ก็ยังเป็นโรงบ่มมือใหม่ บ่มแล้วที่ไม่สุกก็มี   ถ้าเป็นการค้าทั่วไป ก็คงพับฐานเพียงแค่นั้น เพราะลูกค้าคงไม่มีใครสั่งซื้ออีกต่อไปแล้ว   แต่กล้วยของเราไม่เป็นเช่นนั้น ถึงจะเป็นกล้วย เน่าๆ เสียๆ ลูกค้าไม่ยอมเลิกซื้อ และสั่งซื้อต่อมาเรื่อยๆ  และถ้านับเวลาถึง ณ วันนี้ ครบรอบ 16 ปีแล้ว   มีอะไรหรือ  และทำไม ถึงเป็นเช่นนั้น  คุณโอนิชิ  สรุปว่า มีเหตุผลอยู่ 3 ประการ คือ

     1. ความพยายามในการปรับปรุงคุณภาพผลผลิตอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

         ช่วงแรกที่กล้วยส่งไปถึงมือผู้บริโภค กล้วยไม่ค่อยมีคุณภาพ  สิ่งทีแน่นอนที่เกิดขึ้น ก็คือ คำตำหนิย้อนกลับมายังสำนักงานอย่างมากมาย  ขณะเดียวกัน ก็มีสมาชิกหลายคนบอกว่า"ต้องอดทนสักนิด เพราะมันเป็นกล้วยที่พวกเราช่วยกันปั้นขึ้นมากับมือ เราต้องร่วมมือกันช่วยเกษตรกรต่อไป"  และขณะนั้นแม้ว่าคุณภาพกล้วยจะไม่ดี แต่ปริมาณสั่งซื้อกล้วยจากสมาชิก ก็ไม่ได้ลดลง แสดงให้เห็นว่า  สมาชิกสหกรณ์ผู้บริโภค มีความคาดหวังอย่างมาก ต่อกล้วยหอมทองละแม ในอนาคตข้างหน้า

          คุณคาโต้เจ้าหน้าที่สหกรณ์ผู้รับผิดชอบดูแลกล้วยหอมทองละแมตั้งแต่ช่วงเริ่มต้น  เดินทางไปประเทศไทยหลายครั้งเพื่อที่จะหารือกับกลุ่ม  เกี่ยวกับแนวทางแก้ไขปัญหาคุณภาพ   ที่ญี่ปุ่นโรงบ่มกล้วยของสหกรณ์คีโนกาว่า   เริ่มชำนาญการบ่มกล้วยมากขึ้น   ทำให้คุณภาพผลผลิตเมื่อถึงมือผู้บริโภค ได้รับการปรับปรุงดีขึ้นตามลำดับ    การก่อสร้างโรงงานบรรจุกล่อง ที่ละแม การจัดซื้อและติดตั้งตู้ควบคุมอุณหภูมิ  สหกรณ์ผู้บริโภคเองก็มีส่วนร่วมในการจัดซื้อ      สิ่งเหล่านี้ ทำให้ผลผลิตได้รับการปรับปรุง เป็นอย่างดีทีเดียว   และที่สำคัญมากๆคือกลุ่มและสมาชิกมีความพยายามที่จะพัฒนาคุณภาพผลผลิตในแปลงของตนเองอย่างต่อเนื่อง ตลอดมา   ไม่ว่าจะเป็นการจัดการระบบน้ำ ในแปลง  การจัดซื้อ  จัดทำปุ๋ยหมักร่วมกัน  การจัดอบรมสัมมนาด้านวิชาการต่างๆ  ความพยายามทั้งหมดที่ได้ทำ เป็นเหตุให้ผลผลิต มีคุณภาพดีขึ้น   และ ข้อมูล   จากสมาชิกผู้บริโภค ได้สะท้อนย้อนกลับมายังสหกรณ์ในช่วง 16 ปีที่ผ่านมา  คือ กล้วยหอมทองไทย มีขนาดใหญ่ขึ้น ผิวสวยขึ้น ฯลฯ  ถึงแม้ปัญหาคุณภาพผลผลิตจะไม่หมดสิ้น   แต่ความพยายามในการปรับปรุงคุณภาพผลผลิต  ของเกษตรกรรวมถึงผู้เกี่ยวข้อง ได้ทำงานกันอย่างจริงจัง   ซึ่งผู้บริโภคเองได้ทราบข้อมูลตลอดเวลา  เชื่อได้ว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภค รู้สึกยอมรับ   และสั่งซื้อกล้วย อย่างต่อเนื่องจวบจนถึงทุกวันนี้

    2. การสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน ด้วยการเสริมสร้างมิตรสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอ

      กิจกรรมเสริมสร้างมิตรสัมพันธ์ ระหว่างไทย-ญี่ปุ่น เป็นสิ่งที่สหกรณ์เน้นมากเป็นพิเศษ ตั้งแต่เริ่มต้น  สหกรณ์โยโดงาว่า ได้ส่งตัวแทนมาเยี่ยมกลุ่มทั้งหมด 23 ครั้ง ในจำนวนนี้มีสมาชิกผู้บริโภคเข้าร่วมด้วย "ในคณะประเพณี" ทั้งหมด 15 ครั้ง นอกจากนี้แล้ว ก็ยังมีเจ้าหน้าที่สหกรณ์ เดินทางมาดูงานที่กลุ่มฯ หลายคน  ทุกคนที่มาต่างประทับใจกับสิ่งที่เขาได้เห็นและได้สัมผัส  ความประทับใจต่างๆ แม้จะผ่านไปกี่ปี ก็ยังคงอยู่ในความทรงจำชนิดที่ลืมไม่ลง

      ส่วนสมาชิกผู้ปลูกกล้วย ก็เดินทางไปญี่ปุ่นไม่น้อยเช่นกัน  เฉพาะที่ไปสหกรณ์โยโดงาว่า   มีจำนวน 20 กว่าคณะแล้ว   ครั้งล่าสุดเมื่อเดือนตุลาคม 2552 ที่ผ่านมา  ก็มีสมาชิก 3 ท่าน  ไปร่วมกิจกรรมกับสมาชิกสหกรณที่ญี่ปุ่น  ดูโรงบ่มกล้วย ดูศูนย์กระจายสินค้า และเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการตรวจสารตกค้างของสหกรณ์   การไปดุงานที่ญี่ปุ่นเชื่อว่า ทำให้สมาชิกผู้ปลูก เข้าใจคนญี่ปุ่น  และความต้องการของผู้บริโภคญี่ปุ่นได้ชัดเจนมากขึ้น   ซึ่งเป็นการนำไปสู่การปรับปรุงคุณภาพผลผลิต และสร้างความมั่นใจระหว่างสองฝ่ายในช่วงต่อไป   และทุกท่านที่ได้เดินทางไปญี่ปุ่น ต่างก็บอกตรงกันว่าประทับใจกับการต้อนรับของคนญี่ปุ่น และเชื่อได้เหมือนกันว่า ผู้บริโภคที่มาสัมผัสการต้อนรับของคนไทยที่นี่ ก็มีความรู้สึกเช่นเดียวกัน  และก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกษตรกรมีกำลังใจในการปลูกกล้วยถึงทุกวันนี้

 3. การขยายเครือข่ายการจำหน่ายกล้วย ในบรรดาสหกรณ์ผู้บริโภคญี่ปุ่น  

        หลังจากที่มีการส่งออกกล้วยหอมทองละแม ให้สหกรณ์โยโดงาว่า ก็มีสหกรณ์ผู้บริโภคอื่นๆ เข้ามาติดต่อเพื่อซื้อกล้วยหอมทองละแมหลายราย  เริ่มตั้งแต่สหกรณ์ โตกุชิม่า (ปี2537เวลาต่อมาก็ ขยายไปสู่สหกรณ์ไกล้เคียงอีกสองสหกรณ์ ภายใต้ชื่อชุมนุมสหกรณ์ชิโกกุ)   สหกรณ์ โต้ดโตริ (ปี2538)  ชุมนุมสหกรณ์พาล ซิสเต็ม (2542) สหกรณ์โตยาม่า (ปี2543) และล่าสุด มีชุมนุมสหกรณ์ โฮกุริกุ (ปี2553)เข้ามาซื้อด้วย  โดยเฉพาะกลุ่มสหกรณ์ที่อยู่ทางภาคตะวันตกของญี่ปุ่น ซึ่งมี โยโดงาว่า ชิโกกุ โต้ดโตริ ได้จัดให้มีการประชุมร่วมระหว่างเจ้าหน้าที่เป็นประจำ   เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล และความคิดเห็น เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ  และพัฒนาคุณภาพผลผลิตกล้วยหอมทองไทยอย่างสม่ำเสมอ 

        ดังที่ได้กล่าวไว้ในตอนต้นว่ากล้วยหอมทองไทย มียอดสั่งซื้อจากสมาชิกของสหกรณ์โยโดงาว่า เพียงสหกรณ์เดียว มีจำนวน  1 ใน 4 ของสมาชิกที่สั่งซื้อสินค้าสหกรณ์ทั้งหมด    หรือประมาณ  10,000 ครอบครัวต่อสัปดาห์  ถ้าเป็นคนในวงการค้าปลีก ฟังแล้วก็ต้องทึ่ง  เป็นตัวเลขที่สูงมากทีเดียว ขณะที่ราคากล้วยหอมทองจากไทย แพงกว่ากล้วยจากประเทศอื่น 2-3 เท่า  สาเหตุก็เกิดจาก 16 ปี แห่งความพยายาม และความร่วมมือของทั้งสองฝ่าย  

        แน่นอนว่าการซื้อขายสินค้าเกษตรระหว่างประเทศนั้น  มีปัญหาอุปสรรคมากมาย  ภาษาที่พุดก็แตกต่างกัน ตามธรรมชาติของผู้ผลิตกับผู้บริโภค บางครั้งก็ขัดแย้งกันในเรื่องของผลประโยชน์  แต่มันมีบางอย่างที่สามารถรวมกันได้ เช่น ความห่วงใยต่อสุขภาพของลูกหลาน ในวันข้างหน้า เรื่องของการอนุรักษ์ การดูแลสภาพแวดล้อม ฯลฯ สิ่งต่างๆเหล่านี้ มันเป็นพื้นฐานในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนสองฝ่าย ซึ่งหากใช้คำว่า "คู่ค้า" เพียงอย่างเดียว อาจจะไม่เหมาะสม

         ความยากลำบากในการผลิตการเกษตรปลอดสารพิษ โดยเฉพาะการปลูกกล้วยนั้น  บางทีไม่จำเป็นต้องอธิบายให้มาก  เพราะผู้บริโภคเขาก็เข้าใจเหมือนกัน  การที่สมาชิกผู้บริโภคให้การสนับสนุนบริจาคปัจจัย ช่วยเหลือฟื้นฟูการผลิตกล้วยที่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติ   หลายต่อหลายครั้ง นั่นคือการแสดงความรู้สึกของผู้บริโภคที่มีต่อผู้ผลิต  ส่วนผู้บริโภคและครอบครัวเพียงเขาได้รับประทานกล้วยแล้วรู้สึกว่ารสชาดดีเขาก็มีความสุขแล้ว  เช่นเดียวกันผู้ผลิตเมื่อได้รับคำชมจากผู้บริโภคว่า กล้วยของท่านอร่อยมาก ก็รู้สึกเป็นสุขเช่นกัน   ความเข้าใจในความรู้สึกที่มีต่อกัน เป็นพื้นฐานแห่งการสร้างความเข้าใจ ซึ่งกันและกันของคนทั้งสองฝ่ายในระยะยาว และเราจะให้ความสำคัญกับ ความเข้าใจและความมั่นใจลักษณะนี้ต่อไป

       กล่าวโดยสรุปแล้ว  ปัจจัยสำคัญที่กล้วยหอมทองไทย ได้รับความนิยมอย่างเหนียวแน่นที่ผ่านมานั้น  อยู่ที่ความพยายามในการแก้ไขปัญหา และปรับปรุงคุณภาพของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง บนพื้นฐานการเรียนรู้ร่วมกัน นำไปสู่การสร้างความเข้าใจและมั่นใจต่อกัน ระหว่างสองฝ่าย  เป็นแรงขับเคลื่อนสำหรับความก้าวหน้าของธุรกิจกล้วยหอมทองทั้งที่ผ่านมา และต่อไปในอนาคตอีกด้วย

      นั่งพิมพ์เพลินๆ หันไปดูเวลา โอ๋ 5 ทุ่มครึ่ง แล้ว  ยังไงก็แล้วแต่ พรุ่งนี้จะ พิมพ์ต่อให้เสร็จ ในสาระสุดท้ายที่ญี่ปุ่น นำเสนอไว้ น่าสนใจ มาก ทีเดียวคือ  สถานการณ์สหกรณ์ผู้บริโภค และตลาดญี่ปุ่นปัจจุบัน ในมุมมองของ ผู้บริหารสหกรณ์ 

     

       

  

หมายเลขบันทึก: 341023เขียนเมื่อ 1 มีนาคม 2010 23:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 17:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท