การอบรม"การบริหารจัดการกองทุนสวัสดิการชุมชน" (ต่อ)


กลุ่มออมทรัพย์นี้ไม่ได้เป็นของผม แต่เป็นของกรรมการ เป็นของสมาชิกทุกคน องค์กรของเราจะเจริญหรือไม่เจริญก็ขึ้นอยู่กับสมาชิกและกรรมการ หัวใจอยู่ที่กรรมการว่าจะนำพาองค์กรไปในทิศทางไหน ลำพังผมคนเดียวคงจะไม่สามารถที่จะกำหนดทิศทางได้ ต้องอาศัยกรรมการทุกคน ให้เอาเรื่องต่างๆมาคุยกันในที่ประชุม สิ่งไหนที่ผมทำไม่ถูกก็สามารถว่ากล่าวตักเตือนได้ ทุกคนสามารถพูดได้เต็มที่

              คุณอุทัย ใจเชื้อ ในฐานะเป็นประธานองค์กรออมทรัพย์ชุมชนบ้านป่าตัน และเป็นรองประธานเครือข่ายฯรับหน้าที่เป็นวิทยากรในช่วงของการอบรมให้ความรู้เรื่อง “การบริหารจัดการกองทุนสวัสดิการชุมชน” โดยเริ่มต้นอธิบายให้คณะกรรมการฟังว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมาองค์กรใช้ระบบมือในการจัดเก็บข้อมูลของสมาชิกและทำบัญชีมาโดยตลอด เงินออมต่างๆก็รวมเป็นก้อนเดียวกัน

             ต่อมา มีการพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ขึ้นมาใช้ในการจัดเก็บข้อมูลของสมาชิกและทำบัญชีด้วย    รวมทั้งมีการแยกกองทุนต่างๆออกเป็น 8 กองทุน ซึ่งในขณะนี้ทางฝ่ายข้อมูลได้ทำการบันทึกข้อมูลและแยกเงินในกองทุนต่างๆเสร็จสิ้นแล้ว ดังนั้น ในวันนี้จึงต้องมีการมาคุยกันในเรื่องนี้เพื่อที่คณะกรรมการที่ดูแลกองทุนต่างๆจะได้นำบัญชีและหลักฐานไปตรวจเช็คให้เรียบร้อย (ซึ่งมีการตรวจเช็คมาครั้งหนึ่งแล้ว) ในเดือนต่อๆไปคณะกรรมการแต่ละกองทุนจะต้องเข้ามารับผิดชอบในการรับ-จ่ายเงินในกองทุนของตนเอง

              อธิบายง่ายๆก็คือ เมื่อคณะกรรมการเก็บเงินกองทุนสวัสดิการ (วันละ 1 บาท) จากสมาชิกมาได้แล้วจะแบ่งออกเป็นสัดส่วน ดังนี้

              1.เงิน 50% เรียกว่า กองทุนสวัสดิการครบวงจรชีวิต จะนำมาจัดสวัสดิการในเรื่องเกิด แก่ เจ็บ ตาย โดยเงิน 50% นี้ จะแบ่งออกเป็นส่วนๆอีก คือ 5% เข้ากองทุนเพื่อการศึกษา อีก 5% เข้ากองทุนเพื่อการชราภาพ ซึ่งต้องส่งไปที่เครือข่ายฯ อีก 40% นำมาจัดสวัสดิการในกลุ่ม แต่จะมีอีกส่วนหนึ่งที่จะต้องใช้จ่ายเป็นค่าเฉลี่ยศพ ซึ่งต้องส่งไปที่เครือข่ายฯ

               2.เงิน 30% เรียกว่า กองทุนธุรกิจชุมชน เก็บไว้ที่กลุ่มสำหรับนำไปลงทุน

               3.เงิน 20% เรียกว่า กองทุนกลาง ส่งไปที่เครือข่ายฯสำหรับเก็บไว้สำรองเมื่อเงินจ่ายสวัสดิการไม่เพียงพอ

               ดังนั้น จะเห็นได้ว่าเงิน 3 ส่วน คือ เงินในกองทุนชราภาพ กองทุนเพื่อการศึกษา และกองทุนกลาง คณะกรรมการที่ดูแลกองทุนเหล่านี้จะไม่มีเงินเหลืออยู่ในการครอบครองเลย เพราะ เมื่อจัดสรรภายในกลุ่มแล้วจะต้องส่งต่อไปที่เครือข่ายฯทุกเดือน

              ปัญหาในขณะนี้ก็คือ เงินกองทุนสวัสดิการครบวงจรชีวิตนั้นมีไม่พอที่จะจ่ายสวัสดิการ  ที่ผ่านมากลุ่มจึงจำเป็นต้องยืมเงินจากกองทุนธุรกิจชุมชนและกองทุนหมุนเวียน (เป็นอีกกองทุนหนึ่งแยกต่างหาก) มาจ่ายเป็นค่าสวัสดิการไปก่อน สวัสดิการที่เราต้องจ่ายเป็นจำนวนมาก คือ ค่าเฉลี่ยศพ ซึ่งต้องส่งไปที่เครือข่ายฯ กลุ่มอื่นๆก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน ดังนั้น ในตอนนี้เครือข่ายฯจึงคิดหาทางแก้ไขปัญหานี้ คือ ทางเครือข่ายฯจะคิดย้อนหลังตั้งแต่ศพที่ 1 ถึงปัจจุบัน หากเดือนไหนที่กลุ่มจะต้องส่งเงินค่าเฉลี่ยศพเกิน 12 บาท/คน เช่น เดือนมิถุนายน ต้องจ่ายค่าเฉลี่ยศพคนละ 30 บาท ก็ให้กลุ่มส่งมาที่เครือข่ายฯแค่ 12 บาท ที่เหลือเครือข่ายฯจะนำเงินในกองทุนกลางมาจ่ายแทน เป็นต้น (12 บาท มาจาก 40% ของเงิน 30 บาท) แต่มีข้อแม้ว่าทุกกลุ่มจะต้องส่งรายงานฐานะการเงินให้เรียบร้อยและต้องส่งเงินกองทุนกลางเข้ามาที่เครือข่ายฯให้ครบจึงจะสามารถมาเคลียร์เงินในส่วนนี้ย้อนหลังได้ ตอนนี้เงินกองทุนกลาง 20% กลุ่มของเราจ่ายไปที่เครือข่ายฯใกล้จะครบแล้ว ค้างเครือข่ายฯอยู่ 3,239 บาท เพราะฉะนั้น ในวันที่ 25 มิถุนายน 2549 ซึ่งจะมีการประชุมเครือข่ายฯสัญจรที่บ้านเอื้อม คณะกรรมการที่ดูแลกองทุนกลางจะต้องแทงจ่ายเงินในกองทุนกลาง 3,239 บาท ออกมาเพื่อที่จะนำไปจ่ายให้เครือข่ายฯ

              ก่อนที่จะอธิบายถึงกองทุนอื่นๆ คุณอุทัย ได้แจ้งให้ผู้เข้าร่วมการอบรมว่า ตอนนี้เครือข่ายกำลังจะตั้งกองทุนขึ้นมาอีกกองทุนหนึ่งมีชื่อว่า
กองทุนสวัสดิการผู้ประสบภัยธรรมชาติ” ขณะนี้ยังไม่ได้เอาเข้าที่ประชุม แต่คาดว่าน่าจะเอาเข้าที่ประชุมในวันที่ 25 มิถุนายน 2549 นี้ ถ้ามีการตั้งกองทุนนี้ที่เครือข่ายฯ กลุ่มของเราก็จะต้องมีการตั้งกองทุนนี้ขึ้นมาด้วย รายละเอียดคงต้องคุยกันอีกครั้งหนึ่ง ขณะนี้มีคณะกรรมการภาค และ คณะกรรมการจังหวัดที่จัดการในเรื่องนี้แล้ว ต่อไปคงต้องลงมาที่กลุ่มด้วย ส่วนระเบียบจะเป็นอย่างไร คงต้องคุยกันอีก ตอนนี้ภาคเหนือก็ได้รับงบประมาณจาก ศตจ.ปชช. มา 1,500,000 บาท เพื่อเอามาช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม ในส่วนของภาคเหนือมุ่งไปที่จังหวัดสุโขทัยเพียงที่เดียว ซึ่งตรงนี้ก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมจึงเป็นอย่างนี้ เงินที่ได้มาจะเอาไปสร้างบ้านชั่วคราว ในการประชุมเรื่องนี้ ไม่มีตัวแทนจากจังหวัดอุตรดิตถ์เข้ามาประชุมเลย มีแต่ตัวทนจากจังหวัดสุโขทัย ตรงนี้เราจะเห็นได้ว่าถ้าหากเราขาดประชุมเครือข่ายฯ เราจะไม่รู้เรื่องอะไรเลย กรรมการที่ผมชวนให้ประชุมที่เครือข่ายฯ 5 คน อยากให้ทุกคนไปประชุม เราจะได้รู้เรื่องราว แล้วเอามาคุยกัน กลุ่มอื่นๆก็เช่นเดียวกัน ไม่อยากให้ขาดประชุมเลย

              ในการทำงาน ถ้าใครไม่เข้าใจตรงไหนอยากให้ถาม ตอนนี้อาจยังไม่เข้าใจ เพราะ พวกเราไม่เคยทำ ถ้าคนที่เคยทำจะเข้าใจ ผมก็ไม่ได้รู้หมด ผมก็อาศัยไปเรียนรู้การทำงานจากเครือข่ายฯ จากเพื่อนกลุ่มอื่นๆ เพราะฉะนั้น ในการทำงานอยากให้ทุกคนเสียสละ เพราะ เราเดินทางมาร่วมกันแล้ว อุดมการณ์ของพวกเรา คือ ทำเพื่อคนบ้านเรา เราเห็นคนบ้านอื่นได้อะไร เราก็อยากให้คนบ้านเราได้อย่างนั้นบ้าง อย่างผมมีคนเคยตั้งคำถามว่ามาทำงานนี้ได้เงินเดือนเท่าไหร่? พอผมตอบว่าไม่ได้ ไม่มีคนเชื่อ ผมต้องขี่รถไปประชุมที่จังหวัดไม่รู้กี่ครั้ง ไปประชุมทุกอาทิตย์ ยังดีที่พ่อแม่ผมเสียชีวิตหมดแล้ว ถ้าพ่อแม่ผมยังอยู่ ผมก็คงพะวักพะวนเหมือนกัน ตอนนี้เหลือพี่สาวคนเดียว ซึ่งยังสามารถหาเงินเลี้ยงตัวเองได้อยู่ ผมจึงสามารถที่จะมาทุ่มเทตรงนี้ได้ ผมไม่ได้เป็นประธานตลอด กลุ่มออมทรัพย์นี้ไม่ได้เป็นของผม แต่เป็นของกรรมการ เป็นของสมาชิกทุกคน องค์กรของเราจะเจริญหรือไม่เจริญก็ขึ้นอยู่กับสมาชิกและกรรมการ หัวใจอยู่ที่กรรมการว่าจะนำพาองค์กรไปในทิศทางไหน ลำพังผมคนเดียวคงจะไม่สามารถที่จะกำหนดทิศทางได้ ต้องอาศัยกรรมการทุกคน ให้เอาเรื่องต่างๆมาคุยกันในที่ประชุม สิ่งไหนที่ผมทำไม่ถูกก็สามารถว่ากล่าวตักเตือนได้ ทุกคนสามารถพูดได้เต็มที่

              นอกเหนือจากกองทุนสวัสดิการชุมชนแล้ว ยังมีกองทุนทดแทนด้วย เงินในกองทุนทดแทนนำมาจากการเก็บค่าธรรมเนียมแรกเข้าจากสมาชิก โดยในตอนนี้เรามีทั้งกองทุนสวัสดิการและกองทุนหมุนเวียน ค่าธรรมเนียมของทั้งสองกองทุนนี้จะเรียกเก็บดังนี้ คือ

              1.ถ้าสมัครกองทุนสวัสดิการเพียงกองทุนเดียว เสียค่าธรรมเนียมแรกเข้า 80 บาท

              2.ถ้าสมัคร 2 กองทุน คือ กองทุนหมุนเวียน กับ กองทุนสวัสดิการ เสียค่าธรรมเนียมแรกเข้า 100 บาท

              เงินที่อยู่ในกองทุนทดแทนนี้จะนำมาใช้จ่ายเป็นค่าเอกสาร ตอนนี้เงินยังติดลบอยู่ 18,820 บาท ซึ่งไปยืมเงินในกองทุนหมุนเวียนมาจ่ายก่อน ความจริงเงินในส่วนนี้นอกจากจะจ่ายเป็นค่าเอกสารแล้ว ทางเครือข่ายฯยังวกำหนดว่าต้องเอาเงินในกองทุนนี้มาจ่ายเป็นค่าสวัสดิการคนทำงานด้วย แต่กลุ่มของเราเงินไม่พอ ดังนั้น ในบางเดือนค่าตอบแทนคนทำงานก็จะใช้เงินในกองทุนนี้ แต่บางเดือนก็เอาเงินดอกเบี้ยของกองทุนหมุนเวียนมาจ่ายเป็นค่าตอบแทนคนทำงาน เพราะฉะนั้น คนที่รับผิดชอบกองทุนนี้จะต้องแทงจ่าย (เงิน) เพื่อค่าใช้จ่ายที่กล่าวมาแล้ว ตอนนี้ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เราต้องระวังให้ดี เพราะ เงินติดลบอยู่ การที่ต้องเก็บค่าธรรมเนียมแรกเข้าสำหรับสมาชิกที่สมัครกองทุนสวัสดิการเพียงกองทุนเดียวจำนวน 80 บาท แทนที่จะเป็น 50 บาทตามที่เครือข่ายฯกำหนดก็เพราะว่า ทางกลุ่มเห็นว่ามีค่าใช้จ่ายในส่วนของเอกสารมาก ถ้าเก็บ 50 บาทก็จะไม่พอเป็นค่าใช้จ่าย ต่อไปเมื่อเราต้องปริ๊นส์ใบเสร็จ ค่าใช้จ่ายก็ต้องเพิ่มมากขึ้น ใบเสร็จ 1 ใบ ราคา 0.25 บาท การที่ต้องเก็บค่าธรรมเนียมสูงถ้าออมเพียงกองทุนเดียวก็เพราะว่า ค่าใช้จ่ายสูง และคนบ้านเราชอบเอาคนแก่มาเป็นสมาชิก เราไม่ได้กำหนดอายุ ไม่เหมือนทางแม่พริก ที่กำหนดอายุและต้องมีคนมาพ่วงเป็นสมาชิกด้วย ถ้าอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป

              อีกส่วนหนึ่งเรียกว่า กองทุนสวัสดิการคนทำงาน จะเรียกเก็บจากสมาชิกทุกปี โดยแต่ก่อนจะเก็บเป็นปีๆละ 50 บาท/คน แต่เดี๋ยวนี้สามารถผ่อนจ่ายเป็นเดือนได้เดือนละ 5 บาท 1 ปี เป็นเงิน 60 บาท ซึ่งจะมากกว่าคนที่จ่ายเป็นปี (จ่ายครั้งเดียว) 10 บาท ต่อไปมีแนวโน้มว่าคนที่จ่ายเป็นปีก็ต้องจ่าย 60 บาทเช่นกัน การแบ่งจ่ายเป็นเดือนมีข้อดี คือ ช่วยแบ่งเบาภาระ โดยเฉพาะครัวเรือนที่สมัครเป็นสมาชิกทุกคนถ้าต้องจ่ายครั้งเดียวจะเป็นเงินจำนวนมาก เป็นภาระมากด้วย การแบ่งจ่ายเป็นรายเดือนเป็นแนวคิดของเครือข่ายฯ

             การบริหารจัดการเงินในกองทุนสวัสดิการคนทำงานนั้น ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเมื่อเก็บเงินมาได้คนละ 50 บาท/ปี ก็จะแบ่งเงินนี้ออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรกเก็บไว้ที่กลุ่มเป็นจำนวนเงิน 10 บาท/คน/ปี เพื่อให้คณะกรรมการเอาไปลงทุนในโครงการชีวิตสาธารณะ ห้ามเอาไปปล่อยกู้ ตอนนี้กลุ่มป่าตันมีเงินในส่วนนี้อยู่ประมาณ 10,425 บาท ยังไม่ได้เอาไปทำอะไร หากคณะกรรมการต้องการที่จะเอาไปลงทุนทำอะไรที่จะก่อดอกออกผลก็ขอให้บอกมาได้ นอกเหนือจากการทำน้ำส้ม หากเงินไม่พอก็สามารถนำเงินในกองทุนธุรกิจชุมชนมาลงทุนร่วมด้วยก็ได้ ดังนั้น จึงอยากฝากข้อคิดให้กรรมการกลับไปคิดดูว่ามีช่องทางจะเอาไปทำอะไรได้บ้าง หากนำไปลงทุนแล้วได้ดอกผลก็ต้องเอามาจ่ายเป็นค่าเบี้ยเลี้ยงให้คนทำงาน ตอนนี้กลุ่มยังไม่ได้เอาไปลงทุนทำอะไร ก็เลยต้องเอาเงินในกองทุนทดแทนหรือดอกเบี้ยจากกองทุนหมุนเวียนมาจ่ายเป็นค่าตอบแทนคนทำงานไปก่อน ส่วนที่สอง 40 บาท/คน/ปี ต้องส่งไปที่เครือข่ายฯ ซึ่งเครือข่ายฯจะต้องเอาไปลงทุน แต่ถึงขณะนี้ก็ยังไม่ได้เอาไปทำอะไร เดิมพี่นก (ยุพิน) เคยเสนอว่าน่าจะทำน้ำดื่ม แต่ก็มีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ในที่สุดประธานเครือข่ายฯก็เอาไปลงทุนทำขยะที่ข้างบ้านระยะหนึ่ง ก็เลยยกให้เป็นของกลุ่มนาก่วมไปเลย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กำลังมี แนวความคิดที่จะปรับเปลี่ยนสูตรในการบริหารจัดการเงินใหม่ คือ แบ่งเป็น 2 ส่วนเท่าๆกัน นั่นคือ เก็บไว้ที่กลุ่ม 25 บาท และส่งไปที่เครือข่ายฯ 25 บาท

              ผมในฐานะที่เป็นรองประธานเครือข่ายฯ รับผิดชอบดูแลกองทุนสวัสดิการคนทำงานของจังหวัด ก็พยายามเรียกเงินคืนมา แต่ก็ยังไม่ได้คืนมาทั้งหมด ความจริงในบัญชีต้องมีเงินประมาณ 2,500,000 บาท แต่ขณะนี้มีอยู่ในบัญชีประมาณ 500,000-600,000 บาท

            เมื่อคุณอุทัย อธิบายในส่วนนี้จบ ก็ได้ถามคณะกรรมการและผู้เข้าร่วมเวทีว่ามีอะไรสงสัยหรือไม่? เพราะ ได้อธิบายเสร็จแล้ว ในช่วงนี้มีการซักถามและพูดคุยเพิ่มเติม ทำให้ผู้วิจัยกับอาจารย์พิมพ์ทราบข้อมูลเพิ่มเติมพอสมควร ได้แก่

            1.ในการทำบัญชีแต่ละเดือนนั้น จะคิดยอดเงินตามความเป็นจริงที่สมาชิกมาออม ส่วนสมาชิกที่ไม่มาออมจะไม่ถูกนำมาคิดด้วย

           2.ตามกติกาของกลุ่มและเครือข่ายฯ หากสมาชิกคนใดขาดการออมเงินเกิน 3 เดือน จะถูกตัดออกจากการเป็นสมาชิก ดังนั้น ในกรณีของสมาชิกกลุ่มป่าตัน หากใครที่ขาดการออมติดต่อกัน 2 เดือน ทางเลขานุการของกลุ่มจะทำจดหมายเตือนไปยังสมาชิกผู้นั้น นอกจากนี้แล้วก็ยังใช้วิธีการโทรศัพท์เตือน

              3.สมาชิกส่วนใหญ่ของกลุ่มจะสมัครทั้งกองทุนสวัสดิการและกองทุนหมุนเวียน

              4.ตามปกติกลุ่มจะมีการออมทุกวันอาทิตย์แรกของเดือน หากสมาชิกคนใดที่มาออมไม่ทัน ก็สามารถมาออมในวันอื่นได้ แต่ต้องมาออมไม่เกินวันที่ 15 ของทุกเดือน โดยต้องไปจ่ายเงินออมที่บ้านของเลขานุการ

              5.การทำบัญชีด้วยมือควบคู่กับการทำบัญชีด้วยคอมพิวเตอร์มีความสำคัญมาก แม้ว่าจะมีการพัฒนาโปรแกรมขึ้นมาแต่ก็ต้องทำบัญชีด้วยมือไปด้วย ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า หากในความเป็นจริงเงินในกองทุนใดติดลบ เมื่อคีย์ข้อมูลลงไป โปรแกรมจะไม่รับ จะแก้ไขยากมาก ดังนั้น ต้องทำบัญชีด้วยมือก่อน เพื่อที่จะดูว่ามีกองทุนไหนที่เงินติดลบหรือไม่ หากเงินในกองทุนไหนติดลบ กรรมการจะต้องไปยืมเงินในกองทุนอื่นมาใส่ไว้ก่อน เพื่อไม่ให้เงินในกองทุนนั้นติดลบ จากนั้นจึงจะนำไปคีย์ลงโปรแกรมได้

              6.เนื่องจากในปัจจุบันเครือข่ายฯเพิ่งเอาโปรแกรมเข้ามาจัดการกับข้อมูลและระบบบัญชี ซึ่งเป็นการทำงานย้อนหลัง ดังนั้น เพื่อไม่ก่อให้เกิดปัญหา คณะกรรมการที่ทำมาตั้งแต่ต้นและรู้เรื่อง จะต้องจัดการข้อมูลและบัญชีทั้งในระบบมือและระบบคอมพิวเตอร์ให้เรียบร้อยก่อน จากนั้นค่อยแจกจ่ายความรับผิดชอบไปให้คณะกรรมการกองทุนต่างๆ ถ้าหากยังทำไม่เรียบร้อยแล้วรีบแจกจ่ายงานออกไปจะยิ่งมีปัญหา เพราะ คณะกรรมการก็จะไม่รู้เรื่อง ไม่รู้ที่มาที่ไป

              จากนั้น คุณอุทัย ได้สรุปว่า ตอนนี้คณะกรรมการที่ทำในเรื่องบัญชีได้จัดการลงข้อมูลในโปรแกรมคอมพิวเตอร์เสร็จแล้ว และได้ปริ๊นส์ข้อมูลของแต่ละกองทุนออกมาแล้ว ดังนั้น ในวันนี้ก่อนที่จะพักเที่ยง จะแจกจ่ายข้อมูลให้กับคณะกรรมการที่ดูแลแต่ละกองทุน เพื่อให้คณะกรรมการนำไปศึกษา และตรวจเช็คอีกครั้งหนึ่งว่าข้อมูลตามโปรแกรมกับบิลรายรับ-รายจ่ายตรงกันหรือไม่ (ความจริงก็มีการตรวจเช็คมาแล้วค่ะ แต่ก็อยากให้กรรมการไปตรวจเช็คอีกครั้งหนึ่ง จะได้เป็นการฝึกคณะกรรมการไปในตัวด้วย)

              เริ่มต้นในช่วงบ่ายด้วยเรื่องการบริหารจัดการกองทุนฯ (ความจริงเรื่องนี้จบตั้งแต่ช่วงเช้าแล้วค่ะ แต่ระหว่างการทานอาหารกลางวัน คุยไปคุยมา ผู้วิจัยก็นึกประเด็นอื่นออกอีก ก็เลยตั้งเป็นประเด็นคำถามขึ้นมาค่ะ) ในส่วนของการคีย์ข้อมูลลงโปรแกรมและการแยกกองทุน โดยมีรายละเอียด คือ ตอนนี้โปรแกรมใหม่ได้ถูกพัฒนาจนเสร็จแล้ว (คงจะได้นำมาใช้ในเร็วๆนี้ค่ะ) ซึ่งถ้านำโปรแกรมฯนี้มาใช้กลุ่มจะสามารถคีย์ข้อมูลได้ถึงวันที่ 15 ตอนเที่ยงคืนของทุกเดือน หากเลยเที่ยงคืนของวันที่ 15 ไปแล้ว จะคีย์ข้อมูลไม่เข้า ต้องนำไปคีย์ในวันที่ 1 ของเดือนใหม่ อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะคีย์ข้อมูลและแยกกองทุนต่างๆออกมาได้ จะต้องทำบัญชีมือก่อน ที่ผ่านมากลุ่มต่างๆจะทำบัญชีย้อนหลัง เพราะ โปรแกรมเพิ่งถูกนำมาใช้ แต่ต่อไปจะเป็นการทำงานกับปัจจุบัน ประเด็นก็คือ หากแยกบัญชีให้เสร็จสิ้นในวันออม (อาทิตย์แรกของเดือน) แล้วถ้าหากมีสมาชิกมาออมในวันอื่นๆ ซึ่งยังอยู่ในกำหนด คือ วันที่ 15 ของทุกเดือน กรรมการแต่ละกองทุนจะทำอย่างไร?

              คณะกรรมการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างกว้างขวางในประเด็นนี้ บางคนก็บอกว่าให้ลดกำหนดวันออมวันสุดท้ายลงมาจากวันที่ 15 เป็นวันที่ 12 หรือ 13 บางคนก็บอกว่าให้ไปเลื่อนวันกับ เครือข่ายฯ ผู้วิจัยได้ร่วมแลกเปลี่ยนในประเด็นนี้ว่า ได้เคยไปที่กลุ่มกองทุนหมู่บ้านที่ ต.ในคลองบางปลากด บางหมู่บ้านเขาจะกำหนดวันทำงานออกมาเลยว่าในแต่ละเดือนจะทำงานวันไหนบ้าง ดังนั้น สมาชิกจะต้องมาออมเงินหรือมาจ่ายเงินในวันนั้นๆ จะไม่รับเงินในวันที่ไม่ได้กำหนด คุณอุทัย บอกว่า กลุ่มของเรายืดหยุ่น เพราะ บางทีสมาชิกก็มีธุระ บางทีก็ลืม หลังจากแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอยู่ครู่ใหญ่แล้ว ในที่สุดก็ได้ข้อสรุปว่า ทางกลุ่มจะเปลี่ยนวันสุดท้ายของการรับเงินใหม่จากวันที่ 15 เป็นวันที่ 13 ดังนั้น คณะกรรมการจะต้องมาทำงานเพิ่มขึ้นอีก 1 วัน คือ วันที่ 13 เพราะจะต้องมาแยกกองทุนต่างๆให้เรียบร้อย ส่วนวันออมประจำเดือนยังคงเหมือนเดิม คือ วันอาทิตย์แรกของเดือน แต่ในวันนี้จะยังไม่มีการแยกกองทุน จะทำเพียงลงบัญชีต่างๆให้เรียบร้อยเท่านั้น (หากวันที่ 13 ติดธุระจริงๆ ก็ยืดหยุ่นเป็นวันที่ 12 หรือ วันที่ 14 ก็ได้ค่ะ)

              ปัญหาต่อไปก็คือ การที่จะแจ้งให้สมาชิกทราบเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงวันสุดท้ายของการออม คุณอุทัย บอกว่า กลุ่มนี้เรียกประชุมสมาชิกยากมาก น้องเกศินี เสนอว่า ให้พิมพ์รายละเอียดลงในกระดาษแผ่นเล็กๆ แจ้งให้ทราบแบบสั้นๆ จะได้เป็นการชักจูงใจให้อ่าน ใครไม่เข้าใจก็ให้มาถาม ถ้าพิมพ์รายละเอียดมากๆ คนก็จะไม่อ่าน

             การอบรมในเรื่อง “การบริหารจัดการกองทุนสวัสดิการชุมชน” ก็จบลงแต่เพียงแค่นี้ค่ะ ผู้วิจัยรู้สึกว่าได้ความกระจ่างเพิ่มขึ้นในหลายเรื่อง ในขณะที่อีกหลายเรื่องก็ต้องไปหาข้อมูล/ความรู้เพิ่มเติมค่ะ

หมายเลขบันทึก: 34015เขียนเมื่อ 13 มิถุนายน 2006 16:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 13:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท