แจ้งข่าวการไม่ปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่อำเภอ รวมถึงปลัดอำเภอปางมะผ้า


ปลัดอำเภอปางมะผ้าผิดป.อ. มาตรา 157 และมาตรา 9 (2) พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542

แจ้งข่าวการไม่ปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่อำเภอ รวมถึงปลัดอำเภอปางมะผ้า

 

            เมื่อวันที่ 18 และ 19 กุมภาพันธ์ 2553 ผมได้รับแจ้งจากน.ส.อาหมี่ซึ่งเป็นพี่สาวของอาซือมะ (ผู้ที่ร้องขอความช่วยเหลือด้านสถานะบุคคลมาที่รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) เรื่องของปลัดอำเภอปางมะผ้า ชื่อ นายธีรยุทธ  พุ่มนวน[1] ปฏิเสธสิทธิในการยื่นคำร้องขอแก้ไขทะเบียนประวัติของน.ส.อาหมี่

            เนื่องจากว่า ในทะเบียนประวัติได้บันทึกสถานที่เกิดของน.ส.อาหมี่ผิด จาก”ประเทศไทย”เป็น”ประเทศพม่า”  กล่าวคือ น.ส.อาหมี่ ซึ่งอ้างว่าเกิดในประเทศไทย แต่ถูกเจ้าหน้าที่บันทึกในทะเบียนประวัติผิดเป็นพม่า

            ดังนั้น ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2553 น.ส.อาหมี่จึงได้พยายามที่จะจัดการแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง โดยไปติดต่อที่อำเภอปางมะผ้า เพื่อขอแก้ไขสถานที่เกิดในทะเบียนประวัติ แต่ทางเจ้าหน้าอำเภอและปลัดอำเภอไม่รับคำร้อง แม้ว่าอาหมี่พยายามที่จะอธิบายเหตุผลในเรื่องของการขอแก้ไขทะเบียนประวัติ และได้พยายามที่จะแสดงพยานหลักฐานที่จะนำสืบพิสูจน์การเกิดในประเทศไทยของเขา แต่ปลัดอำเภอกลับมิได้สนใจ และอ้างว่าแก้ไขไม่ได้ตามหนังสือสั่งการเลขที่ มท 0310.1/ว1131 เรื่องการดำเนินงานตามโครงการกำหนดสถานะบุคคลบนพื้นที่สูง ลงวันที่ 7 พฤษภาคม 2545 จากนั้นอาหมี่จึงกลับบ้าน และในวันรุ่งขึ้น วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2553 อาหมี่จึงเดินทางไปที่ว่าการอำเภอปางมะผ้าอีก เพื่อที่จะดำเนินการแก้ไขสถานที่เกิดในทะเบียนประวัตของตนเอง แต่แล้วในวันนี้เขาก็โชคร้ายเหมือนเมื่อวาน คือ เจ้าหนาทุกคนต่างไม่สนใจ แล้วก็ได้พยายามที่จะขอแบบคำร้องทั่วไป ท.ร.31 ในการเขียนคำร้องขอแก้ไขทะเบียนประวัติอีก แต่ปลัดอำเภอรวมถึงเจ้าหน้าที่ฝ่ายทะเบียนกลับไม่ให้ อีกทั้งปลัดอำเภอกล่าวว่า “จะเอาไปลายเซ็นผมไปทำอะไร จะฟ้องผมเหรอ” จากนั้นอาหมี่ก็ตอบว่า “ไม่ใช่ค่ะ” แต่ที่อาหมี่ต้องการก็คือ ต้องการเหตุผลของการไม่รับคำร้อง และเหตุแห่งการแก้ไขทะเบียประวัติไม่ได้ ซึ่งอามหี่ก็ได้โต้แย้งกลับไปว่าแก้ไขได้ เพราะว่าอาจารย์ที่ธรรมศาสตร์บอกว่าแก้ไขได้ แต่ต้องมีพยานหลักฐาน ซึ่งปลัดอำเภอปางมะผ้าก็ได้ถามกลับมาว่า “แล้วไปปรึกษาอาจารย์ที่ธรรมศาสตร์ได้อย่างไร แล้วอาจารย์รู้หรือว่าที่ปางมะผ้ามีความเป็นอยู่อย่างไร เคยมาหรือ รู้จักกันที่ไหน รู้กฎหมายมากเลยหรือ” จ ากนั้นก็มีเจ้าหน้าที่ 3 คนมายืนห้อมล้อมอยู่ใกล้ ๆ เสมือนหนึ่งการข่มขู่ตนเอง ทำให้อาหมี่รู้สึกกลัว จึงเดินทางกลับมาบ้านพร้อมกับความผิดหวังอีกครั้ง

            จากกรณีข้างต้นสามารถที่จะพิเคราะห์ประเด็นได้ดังนี้

  1. การแก้ไขทะเบียนประวัติสามารถทำได้หรือไม่ ???

            ตอบ สามารถแก้ไขได้

เพราะสถานะทางกฎหมายของทะเบียนประวัตินั้น มีสถานะเป็นเอกสารทางราชการ และเป็นเอกสารการทะเบียนราษฎร ที่ออกโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งผู้มีอำนาจแก้ไขก็คือ เจ้าหน้าที่ของรัฐ ในที่นี้ก็คือ นายทะเบียน

การขอแก้ไขเอกสารการทะเบียนราษฎรนั้นเป็นไปตาม ข้อ 115 แห่งระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2535[2] ซึ่งบัญญัติไว้ว่า

การแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการในเอกสารการทะเบียนราษฎร  ให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการดังต่อไปนี้

            (1) ในกรณีที่ผู้ยื่นคำร้องขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการในเอกสารการทะเบียนราษฎรนำเอกสารราชการมาแสดงไม่ว่าเอกสารดังกล่าวจะจัดทำก่อนหรือหลังการจัดทำทะเบียนราษฎร ให้ผู้ยื่นคำร้องแสดงเอกสารดังกล่าวต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่น เมื่อนายทะเบียนพิจารณาเห็นว่าเอกสารดังกล่าวเชื่อถือได้ ให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการใน เอกสารการทะเบียนราษฎรให้

            (2) ในกรณีที่ผู้ยื่นคำร้องขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการในเอกสารการทะเบียนราษฎรไม่มีเอกสารราชการมาแสดง ให้นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นสอบสวนพยานหลักฐาน แล้วรวบรวมหลักฐานเสนอนายอำเภอพร้อมด้วยความเห็น เมื่อนายอำเภอพิจารณาเห็นว่าพยานหลักฐานดังกล่าวเชื่อถือได้ ให้นายอำเภอสั่งนายทะเบียนแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการในเอกสารการทะเบียนราษฎรให้

            (3) การแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการเกี่ยวกับสัญชาติในเอกสารการทะเบียนราษฎร ให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการดังต่อไปนี้

            ในกรณีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการจากสัญชาติอื่นหรือจากไม่มีสัญชาติเป็นสัญชาติไทย เนื่องจากเพราะลงรายการผิดพลาดหรือกรณีอื่น ๆ ให้นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นสอบสวนพยานหลักฐานแล้วรวบรวมหลักฐานเสนอนายอำเภอพร้อมด้วยความเห็น เมื่อนายอำเภอพิจารณาเห็นว่าพยานหลักฐานดังกล่าวเชื่อถือได้ ให้นายอำเภอสั่งนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการในเอกสารการทะเบียนราษฎรให้

         ในกรณีแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการจากสัญชาติไทยหรือจากไม่มีสัญชาติหรือจากสัญชาติอื่นเป็นสัญชาติอื่น เนื่องจากเพราะลงรายการผิดพลาดหรือกรณีอื่น ๆ ให้นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นสอบสวนพยานหลักฐาน และเมื่อพิจารณาเห็นว่าพยานหลักฐานดังกล่าวเชื่อถือได้ ก็ให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการในเอกสารการทะเบียนราษฎรให้

           

        เมื่อพิจารณาจากข้อ 115 ระเบียบ ฯ ข้างต้นนั้น แสดงให้เห็นว่า ปัจเจกชนสามารถยื่นคำร้องขอแก้ไขเอกสารการทะเบียนราษฎร ในที่นี้ คือ ทะเบียนประวัติได้ และนายทะเบียนอำเภอ กล่าวคือ ปลัดอำเภอมีหน้าที่ที่จะต้องรับคำร้อง และดำเนินการสอบสวนพยานหลักฐานต่าง ๆ ของบุคคลผู้นั้นด้วยนั้นด้วย

 

 2. การที่ปลัดอำเภอปางมะผ้าไม่รับคำร้องขอแก้ไขทะเบียนประวัติของน.ส.อาหมี่นั้นถูกต้องหรือไม่

ตอบ ไม่ถูกต้อง

เพราะปลัดอำเภอเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องอำนวยความสะดวกและช่วยเหลือประชาชนที่มาติดต่อ และดำเนินการต่าง ๆ ตามกฎหมายที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของตน

ซึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157[3] มีองค์ประกอบความผิด ดังนี้

(1) มีการกระทำ ซึ่งแยกการกระทำได้เป็น 2 ความผิด คือ

            (1.1) เจ้าพนักงานปฎิบัติหรือละเว้นการปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด       

            คำว่า “โดยมิชอบ” หมายความถึง โดยมิชอบด้วยหน้าที่ซึ่งเจ้าพนักงานมีอยู่ตามกฎหมาย

            (1.2) เจ้าพนักงานปฎิบัติหรือละเว้นการปฎิบัติหน้าที่โดยทุจริต

(2) การที่จะมีความผิดฐานละเว้นการปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 จะต้องประกอบด้วยเจตนาพิเศษ คือต้องเป็นการกระทำเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด (คำพิพากษาฎีกาที่ 3295/2534) ซึ่งรวมถึงความเสียหายในทุก ๆ ด้านโดยไม่จำกัดเฉพาะความเสียหายที่เป็นทรัพย์สินเท่านั้น

สรุปก็คือ การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต มีลักษณะคล้ายคลึงกับการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ แต่มีข้อแตกต่างอยู่ที่ว่าการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบที่จะเป็นความผิดได้นั้น จะต้องเป็นการกระทำเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ในขณะที่การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตไม่ต้องคำนึงถึงข้อเท็จจริงว่าการกระทำนั้นมีจุดมุ่งหมายที่จะให้ผู้อื่นเสียหายหรือไม่ แม้ไม่เกิดความเสียหายก็ยังคงถือว่าเป็นการกระทำความผิดได้
            ดังนั้น ในเมื่อปลัดอำเภอเป็นเจ้าพนักงาน ซึ่งมีหน้าที่กระทำการตามกฎหมายที่ให้อำนาจไว้ แต่ได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และยังถือได้อีกว่าปลัดอำเภอได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที๋โดยมิชอบด้วยหน้าที่ที่มีอยู่ตามกฎหมาย อันก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน คือ น.ส.อาหมี่ เช่นนี้ ปลัดอำเภอปางมะผ้าย่อมมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
            และตามกฎหมายปกครองแล้วนั้น ปลัดอำเภอซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง และการรับคำร้องขอแก้ไขทะเบียนประวัติ เป็นการกระทำการปกครอง เป็นอำนาจผูกพัน ไม่ใช่อำนาจดุลยพินิจ จึงก่อให้เกิดหน้าที่ที่ปลัดอำเภอจะต้องปฏิบัติ กล่าวคือ ต้องรับคำร้องขอแก้ไขทะเบียนประวัติ ดงันั้น เมื่อปลัดอำเภอปางมะผ้าไม่ยอมรับคำร้องขอแก้ไขทะเบียนประวัติของน.ส.อาหมี่ จึงเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ เมื่อไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ย่อมเท่ากับเป็นการละเลยต่อหน้าที่ เป็นคดีปกครองอยู่ในเขตอำนาจพิจารณาของศาลปกครองตามมาตรา 9 (2) ของพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542

           หากฝ่ายปกครองกระทำการโดยมิชอบด้วยกฎหมายย่อมถูกตรวจสอบได้โดยศาลปกครอง ซึ่งความเสียหายได้เกิดขึ้นแล้ว กล่าวคือ อาหมี่มิอาจใช้สิทธิอันเกิดจากการที่ตนเองเกิดในประเทศไทย นำไปสู่การขอลงรายการสัญชาติตามมาตรา 23 ดังนั้น น.ส.อาหมี่ ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการที่ปลัดอำเภอปางมะผ้าไม่ยอมรับคำร้องขอแก้ไขทะเบียนประวัติ ย่อมมีสิทธิฟ้องศาลปกครองได้ตาม มาตรา 42 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครอง

 


[1] เบอร์โทรศัพท์อำเภอปางมะผ้า 053-617-158, 053-617-256

[2] ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 8 (1) วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534

[3] “ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ”

หมายเลขบันทึก: 340004เขียนเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2010 22:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 01:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

แล้วผู้ร้องมีพยานหลักฐานที่ฟังขึ้นไหมคะว่า เกิดในประเทศไทย

อะไรคือพยานหลักฐานนั้นคะ ??

อำเภอน่าจะผิดที่ไม่รับคำร้อง

แต่ในฐานะที่โอ๊ตให้คำปรึกษาทางกฎหมาย ต้องดูในรายละเอียดนะคะ

อย่าลืมตอบคำถามของ อ.แหววนะคะ

 

   พยานหลักฐานของน.ส.อาหมี่ก็คือ พยานบุคคลผู้รู้เห็นการเกิดของอาหมี่ ซึ่งเขาจะอ้าง และจะนำสืบ พร้อมทั้งให้ทางอำเภอสอบสวนครับ

เท่าที่อ่านดูนั้นอำเภอมีความผิ ดที่ไม่รับคำร้องจ้า แต่...มีคำถามเพิ่มเติมค่ะ

๑. คุณอาหมี่อ้างพยานหลักฐานอะไรบ้างว่าตนเองเกิดในประเทศไทย? (?)

๒. หลังจากถูกปฏิเสธแล้วมีพยานที่สามารถยืนยันได้ว่าอาหมี่ถูกปฏิเสธการรับคำร้องมั๊ย (พยานเอกสาร/พยานบุคคล)

๓. หนังสือสั่งการเลขที่ มท 0310.1/ว1131 เรื่องการดำเนินงานตามโครงการกำหนดสถานะบุคคลบนพื้นที่สูง ลงวันที่ 7 พฤษภาคม 2545 --มีเนื้อหาที่ไม่อนุญาตให้แก้ไขเอกสารทะเบียนราษฎรตาที่อำเภอกล่าวอ้างจริงมั๊ย? เรามีหนังสือั่งการฉบับนี้มั๊ย? อยากรู้จังเลยว่าเนื้อหาเป็นอย่างไร?

ลองค้นๆมาช่วยดูกัน ว่ามีหนังสือสั่งการที่ห้ามแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการทะเบียนราษฎร ตามที่ทางอำเภอกล่าวอ้างจริงมั๊ย???

ขอชื่นชมเจ้าของปัญหาหน่อยนะ...ดูเค้าสนใจเรื่องของตัวเองดีจัง

 1. พยานหลักฐานนั้น คงจะต้องสอบถามกับเจ้าตัวอย่างละเอียดอีกครั้งครับ แต่เท่าที่ได้รับฟังมาในข้างต้น เขาอ้างว่ามีบุคคลเร้เห็นการเกิดของเขาประมาณ 4-5 คน ส่วนเอกสารก็กำลังขอเรียกดูครับ

2. พยานที่รู้การปฏิเสธก็คือ อาซือมะ ทีไปอำเภอด้วย แล้วก็ผมด้วยครับ เพราะว่าระหว่างนั้นได้คุกยับนายอำเภอด้วย

3. หนังสือสั่งการฉบับนั้น มีเนื้อหาประมาณว่าการแก้ไขนั้นทำได้เฉพาะจากเกิดไทยเป็นเกิดต่างประเทศ แต่จแก้จากต่างประเทศเป็นไทยไม่ได้ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่จากกรมการปกครองบางท่านได้แจ้งมาว่า หนังสือสั่งการตัวนั้นออกมาขัดกับกฎหมาย แล้วก็ปัจจุบันไม่มีใครใช้แล้ว แต่ว่าหนังสือฉบับนี้ยังมีผลอยู่ ไม่ได้ถูกยกเลิกครับ

 

(เท่านี้ก่อนนะครับ ส่วนถ้ายังสงสัยรบกวนเขียนประเด็นต่อครับ เพราะว่าผมจะได้เตรียมสอบปากคำ แล้วก็ขอเอกสารเพิ่มเติมครับ)

 นอกจากกรณีของอาหมี่แล้ว ยังมีกรณีของนายพรเพชร - พรพัตร อีกนะครับ ที่ปลัดอำเภอคลองใหญ่ไม่รับคำร้องขอแก้ไขทะเบียนประวัติอีก แต่เนื่องจากว่าขาดการติดต่อกับ เคสไป กะว่าขอให้พวกคณะทำงานว่างๆก่อนนะครับ จะหยิบยกขึ้นมาพิจารณาในที่ประชุมอีกครับ

โอ๊ต ทำการบ้านดีมากค่ะ

คำถามนิดนึงที่เสริมจากข้างบน ก็คือ โอ๊ตมีข้อเสนอว่าจะทำยังไงต่อป่าวคะ?

ข้อเสนอตอนนี้นะครับ

      พี่วีนัสแนะนำว่า ให้อาหมี่ ทำจดหมายถึงอธิบดีกรมการปกครอง และผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อหารือถึงเรื่องของ หนังสือสั่งการ "เจ้าปัญหา" ที่ยังไม่ได้ยกเลิก (ยังมีผลอยู่) แต่ออกมาขัดกับหลักกฎหมาย และไม่มีที่ไหนใช้กันแล้วครับ เพื่ออที่จะชี้แจงให้อำเภอปางมะผ้าเข้าใจถึงระเบียบ ฯ ปี 35 ครับผม

             ตามที่ประสบปัญหาเมื่อมีความประสงค์ที่จะแก้ไขเอกสารส่วนบุคคล เพื่อให้ถูกต้อง ตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 และที่เจ้าหน้าที่ผู้ร้องให้ข้อมูลว่า ปลัดอำเภอที่ไปพบอ้างว่า ไม่รับคำร้องและอ้างว่าแก้ไม่ได้ โดยอ้างหนังสือสั่งการ นั้น

             ผมไปค้นหาคู่มือการทะเบียนราษฎร 2549 มีหนังสือสั่งการสำคัญหลายฉบับ แต่ที่ค้นหามาเพื่อตอบคำถาม ที่ต้องการคำตอบว่า คุณปลัดอำเภอปางมะผ้า ตามที่ระบุชื่อ นาย ธ.พ. ปฏิเสธไม่รับคำร้องการขอแก้ไขรายการสถานที่เกิดของ น.ส.อาหมี่ฯ โดยอ้างว่าแก้ไขไม่ได้ตามหนังสือสั่งการที่ มท 0310.1/ว1131 เรื่องการดำเนินงานตามโครงการกำหนดสถานะบุคคลบนพื้นที่สูง ลงวันที่ 7 พฤษภาคม 2545 ความจริงจะเป็นอย่างไร เชิญศึกษาได้เลยที่ http://gotoknow.org/file/i_am_mana/view/541491 และแถมคำถามคำตอบหลายเรื่องที่น่าสนใจ เชิญร่วมหรรษาในทางวิชาการกันได้เลย

      นอกจากความจริงจากหนังสือสั่งการข้างต้น ที่ยืนยันว่าแก้ไขได้ ส่วนจะใช้หลักการจากข้อใด ก็ให้ดูข้อเท็จจริงเอามาวิเคราะห์ ให้เห็นกันจะๆ แล้วกรมการปกครองจะปล่อยเรื่องความไม่เข้าใจไว้ น่าจะเป็นจุดด่างนะ ผมเป็นห่วงจริงๆ ส่วนเรื่องอื่น ที่ผู้รับเรื่องร้องเรียน กล่าวถึงไว้ หากเกิดเหตุการณ์นั้นขึ้นจริง อาจจะเข้าข่ายการกระทำความผิดตามกฎหมายหลายเรื่อง

เป็นแบบนี้แหละอำเภอปางมะผ้า

เราก็เป็นอื่กคนหนึ่งที่เดืออร้อนเพราะเจ้าหน้าที่ไม่เอาใจใส่ในหน้าที่

วันๆเอาแต่นั่งคุยกันเช้ากวาจะมาทำงานก็ 9โมงครึ่ง 11โมงพักเทียง บ่าย 2เริ่มทำงาน 3โมงเลิกงาน

ถ้าได้รับความเดือดร้อนมาก ๆ จากการกระทำของเจ้าหน้าที่นะครับ

รบกวนนำเรื่องเข้าขอความช่วยเหลือกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติครับผม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท