สตง.กับการตรวจสอบการจัดเก็บภาษีอากร


บทความที่เขียนก่อนทักษิณถูกรัฐประหารประมาณ 1 เดือน

สตง.กับการตรวจสอบการจัดเก็บภาษีอากร

โดย ธัญศักดิ์ ณ นคร [email protected] มติชนรายวัน วันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2549 ปีที่ 29 ฉบับที่ 10392

ด้วยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ทำหนังสือลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2549 เชิญข้าราชการระดับสูงของกรมสรรพากร ให้ไปชี้แจงเกี่ยวกับการพิจารณาภาษี กรณีการขายหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) พร้อมทั้งให้จัดส่งสำเนาเอกสาร อันเกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการพิจารณาตรวจสอบ ตามอำนาจหน้าที่ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 มาตรา 42

แทนที่กรมสรรพากรจะให้ความร่วมมือ โดยจัดส่งเอกสาร และรีบไปชี้แจงตามหน้าที่ แต่กลับพยายามหาช่องทางที่จะไม่ไปชี้แจง หรือพยายามซื้อเวลา โดยกรมสรรพากรได้ทำหนังสือลงวันที่ 27 กรกฎาคม 2549 ถึงเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อปรึกษาหารือข้อกฎหมาย ในสามประเด็น ดังนี้

ข้อ 1.หารือว่า กรมสรรพากรมีอำนาจตอบข้อหารือของประชาชนผู้มีข้อสงสัยในการเสียภาษีอากร โดยมีอำนาจกระทำตามมาตรา 5 แห่งประมวลรัษฎากรหรือไม่?

ข้อ 2.หารือว่า สตง.มีอำนาจในการตรวจสอบและเชิญข้าราชการผู้เกี่ยวข้องไปสอบถามข้อมูล เกี่ยวกับการตอบข้อหารือของกรมสรรพากรตามข้อหาหรือไม่?

ข้อ 3.หารือว่า การตรวจสอบเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีอากร และการประเมินภาษีอากรของกรมสรรพากร ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน มีลักษณะการตรวจอย่างใดบ้าง มีขอบเขตการตรวจเป็นอย่างใด?

ข้อหารือข้อที่ 1 เป็นข้อหารือย้อนหลัง หรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็นข้อหารือเพื่อขอให้ช่วยยืนยันถึงอำนาจหน้าที่ของตน ไม่เข้าลักษณะการหารือข้อกฎหมายที่จะใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติราชการของกรมสรรพากร เพราะมิได้เกิดจากความสงสัย ในอำนาจหน้าที่ของตน ว่ากรมสรรพากรมีอำนาจตอบข้อหารือ ตามมาตรา 5 แห่งประมวลรัษฎากรหรือไม่

ดังจะเห็นได้ว่า กรมสรรพากรได้มีแนวทางปฏิบัติตามข้อกฎหมายนี้อยู่แล้ว โดยได้ตอบข้อหารือแก่ผู้สงสัย ในการเสียภาษีมาโดยตลอด รวมทั้งการตอบข้อหารือเห็นควรยกเว้นการจัดเก็บภาษี กรณีการขายหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ด้วย

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นเพียงที่ปรึกษากฎหมาย เมื่อส่วนราชการนั้นๆ ไม่มีข้อสงสัยว่าควรปฏิบัติราชการเช่นใด โดยมีแนวทางปฏิบัติราชการอยู่แล้ว สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาหาจำเป็นต้องตอบข้อหารือนี้แต่อย่างใดไม่

ข้อหารือข้อที่ 2 เป็นการตั้งข้อสงสัยว่า สตง.มีอำนาจตรวจสอบและเชิญข้าราชการผู้เกี่ยวข้อง ไปสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับการตอบข้อหารือของกรมสรรพากรหรือไม่?

ทั้งนี้ กรมสรรพากรเป็น "หน่วยรับตรวจ" ตามมาตรา 4 (1) โดยมีอธิบดีกรมสรรพากรเป็นหัวหน้าส่วนราชการเป็น "ผู้รับตรวจ" และมีข้าราชการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินซึ่งผู้ว่าการแต่งตั้งเป็น "เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ" ตามคำจำกัดความในมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542

กรมสรรพากรมีฐานะเป็นกรมในรัฐบาล จึงอยู่ภายใต้การตรวจสอบของ สตง.โดยไม่มีข้อยกเว้น

ส่วนที่กรมสรรพากรยังสงสัยต่อไปว่า สตง.มีอำนาจเชิญข้าราชการผู้เกี่ยวข้อง ในการตอบข้อหารือ ไปสอบถามข้อมูลได้หรือไม่นั้น

ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 มาตรา 42 ได้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตรวจสอบอย่างกว้างขวาง ดังนี้

ก.เรียกผู้รับตรวจมาสอบสวน ให้ถ้อยคำ ให้ส่งมอบบัญชี ทะเบียน เอกสาร หรือหลักฐานอื่น บรรดาที่หน่วยงานรับตรวจมีไว้ครอบครอง ตามมาตรา 42 (1)

ข.อายัดเงินและทรัพย์สิน บัญชี เอกสาร หรือหลักฐานที่อยู่ในความครอบครองของหน่วยรับตรวจ ตามมาตรา 42 (2)

ค.เรียกบุคคลใดๆ มาให้ถ้อยคำเป็นพยาน เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบ หรือให้ส่งมอบบัญชี ทะเบียน เอกสาร หรือหลักฐานอื่นที่สันนิษฐานว่าเกี่ยวกับหน่วยตรวจรับเพื่อประกอบการพิจารณา ตามมาตรา 42 (3)

ง.มีอำนาจเข้าไปในสถานที่ใดๆ ระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก หรือในเวลาทำการเพื่อตรวจสอบ ค้น ยึด หรืออายัด บัญชี ทะเบียน เอกสาร หรือหลักฐานอื่น หรืออายัดเงินหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับ หรือสันนิษฐานว่าเกี่ยวกับ หน่วยรับตรวจเท่าที่จำเป็น ตามมาตรา 42 (4)

ทั้งนี้ ในการตรวจสอบดังกล่าวข้างต้น หากมีกฎหมายห้ามการเปิดเผยข้อมูลหรือห้ามบุคคลใดเข้าไปในเขตพื้นที่ดังกล่าวหรือสถานที่ดังกล่าวแล้ว หากผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน มีหนังสือแจ้งผู้ควบคุมกำกับหรือรับผิดชอบของหน่วยรับตรวจแล้ว ให้การปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ได้รับการยกเว้นจากกฎหมายดังกล่าวด้วย ตามมาตรา 42 วรรค 2

เมื่อตรวจสอบกฎหมายแล้ว สตง.มีอำนาจเรียก "ผู้รับตรวจ" และแม้แต่บุคคลภายนอกใดๆ ให้ไปให้ถ้อยคำ เพื่อเป็นประโยชน์ในการสอบสวน ก็สามารถกระทำได้

และหากผู้ใดขัดคำสั่งเรียก หรือขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ มีโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 64 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542

ข้อหารือข้อที่สาม กรมสรรพากรหารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า การตรวจสอบเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีอากร และการประเมินภาษีอากรของกรมสรรพากรตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 มีลักษณะการตรวจสอบอย่างใดบ้าง มีขอบเขตการตรวจเป็นอย่างใด?

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 บัญญัติให้ สตง.มีอำนาจตามมาตรา 39 ดังนี้ คือ

มีหน้าที่ตรวจสอบการรับ จ่าย การเก็บรักษา...หรือที่อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยรับตรวจ และแสดงความเห็นว่าเป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรีหรือไม่... และแสดงความเห็นว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือไม่ ตามมาตรา 39 (ก)

มีหน้าที่ตรวจสอบเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีอากร ค่าธรรมเนียม และรายได้อื่นของหน่วยรับตรวจ และแสดงความเห็นว่า เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือมติคณะรัฐมนตรีหรือไม่ ในกรณีให้อำนาจตรวจสอบการประเมินภาษีอากร การจัดเก็บค่าธรรมเนียม และรายได้อื่นที่หน่วยตรวจรับจัดเก็บด้วย และหน่วยรับตรวจต้องเปิดเผยข้อมูล ที่ได้มาจากผู้เสียภาษีอากร ผู้ชำระค่าธรรมเนียมหรือเงินอื่นใดให้แก่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินตามที่ร้องขอด้วย

และให้ถือว่าการให้ข้อมูลดังกล่าวเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 39 (จ)

สตง.เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มีภารกิจหลักในการตรวจสอบ ความชอบด้วยกฎหมาย และชอบด้วยหลักการของการจัดเก็บรายได้ การใช้จ่าย การจัดซื้อจัดจ้าง ฯลฯ ทั้งนี้ องค์อิสระนี้เกิดขึ้นเนื่องจากความล้มเหลว ของการตรวจสอบกันเองของหน่วยงานภายใต้กำกับของรัฐบาล สตง.จึงเป็นองค์กรอิสระที่ประชาชน มุ่งหวังในการตรวจสอบการทุจริตในวงราชการอีกองค์กรหนึ่ง

กรมสรรพากร มีหน้าที่จัดเก็บรายได้ของรัฐ ผู้บริหารระดับสูงของกรม ออกมาให้เหตุผลว่า กรณีการไม่จัดเก็บภาษีอากร อันเนื่องมาจากการขายหุ้นของบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่นฯ ได้ทำตามกฎหมายและระเบียบแบบแผนของการจัดเก็บภาษีอากร ตามที่ได้ยึดถือกันมาโดยตลอด ไม่มีอะไรหมกเม็ด หรือเอื้ออาทรให้ใคร

เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ตามที่อ้าง กรมสรรพากรควรรีบให้ความร่วมกับ สตง. มิใช่วิ่งหาที่ปรึกษากฎหมาย เพื่อหาช่องทางไม่ให้มีการตรวจสอบเกิดขึ้นได้โดยสะดวก

หน้า 6

คำสำคัญ (Tags): #กรรมเก่า
หมายเลขบันทึก: 339801เขียนเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2010 07:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 มีนาคม 2012 09:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท