การเรียนรู้ของชุมชนต.วังยาง อ.วังยาง จ.นครพนม(1)....... ในอ้อมอกแห่งภูพาน คือตำนานการต่อสู้ของประชาชนคนกล้าหาญ


กับความใฝ่ฝันที่งดงาม ฝันที่จะสร้างสรรค์สังคมแห่งความเป็นธรรม สังคมที่ให้เกียรติให้สิทธิ์ให้การยอมรับในคุณค่าของคนอย่างเสมอภาพกันแม้จะเป็นชนชาติส่วนน้อย สังคมแห่งเสรีภาพ สังคมแห่งภารดรภาพที่มีความเป็นมิตรไมตรีมีความเป็นพี่เป็นน้องเกื้อกูลกันและเป็นสังคมแห่งสันติสุข

ที่นี่คือวังยางและเรณูนคร จังหวัดนครพนม ในอ้อมอกแห่งภูพาน....คือตำนานการต่อสู้ของประชาชนคนกล้าหาญ

วันที่14 -16 กพ.53 ในช่วงเทศกาลวันแห่งความรัก ผมเดินทางไปนครพนมไปร่วมถอดบทเรียนงานพัฒนาของขบวนองค์กรชุมชนที่นั่น อำเภอวังยางเป็นพื้นที่การเรียนรู้ของชุมชนในเรื่อง “บทบาทสภาองค์กรชุมชนในการสร้างความร่วมมือในท้องถิ่นแก้ปัญหาของชุมชน”

ในเวทีการถอดบทเรียนมีทั้งตัวแทนขบวนชุมชน กำนันผู้ใหญ่บ้าน นายกอบต.และเครือข่ายเยาวชนร่วมถอดบทเรียนด้วย เป็นเวทีถอดบทเรียนที่ผมมีความรู้สึกตื่นเต้นเร้าใจ และมีความสุขมากอีกเวทีหนึ่งครับ

จากการพูดคุยทำให้ผมทราบมาว่าการตั้งถิ่นฐาน ของชุมชนในเขตอำเภอนายางนั้น เข้าใจว่าน่าจะเริ่มมีการตั้งถิ่นฐานความเป็นชุมชน ประมาณช่วง ร.5 ภายหลังการเลิกทาส  ผู้คนเริ่มกระจายตัวออกไปตั้งถิ่นฐานใหม่  ผู้คนวังยางที่นี่ จึงประกอบด้วยผู้คนจากหลายชาติพันธ์ซึ่งประกอบด้วยชาติพันธ์ลาว(จากอุบล) ลาวตั้งเดิมทั้งจากธาตุพนมและเมืองลาว)  ผู้ไท(จากเรณูนคร) ญ้อ(จากสกลนครและท่าอุเทน)อำเภอวังยางเป็นอำเภอเล็กๆมีแค่ 4 ตำบลเดิมเป็นตำบลวังยางในอำเภอนาแก  ต่อมาจึงได้แยกเป็นอำเภอวังยางในภายหลัง

ระหว่างการพูดคุยผมเห็นคนที่นี่ใช้ภาษาพูดคุยกันทั้งสี่ภาษาเลยทีเดียว(ภาษาไทยกลาง ลาว ญ้อและผู้ไท)สามารถคุยกันได้อย่างกลมกลืนและคุยกันรู้เรื่องด้วย ชั่งเป็นความงดงาม  เป็นความหลากหลายทางชีวภาพเสียเหลือเกิน

เนื่องจากวังยางอยู่ติดกับตำบลโคกหินแห่ อำเภอเรณูนครและมีการทำงานเชื่อมโยงหนุนเสริมซึ่งกันและกันในการถอดบทเรียนครั้งนี้จึงมีผู้นำขบวนชุมชนและผู้นำขบวนเยาวชนจากบ้านนาบัวเรณูนคร มาร่วมเวทีในครั้งนี้ด้วย

ตำนาน 7 สิงหาตำนานวันเสียงปืนแตก ตำนานการลุกขึ้นสู้ของประชาชน

ผมได้พูดคุยกับเยาวชนจากบ้านนาบัว ตำบลโคกหินแห่ แห่งอำเภอเรณูนคร  ลูกหลานของสหายเสถียร จิตมาตย์ เยาวชนลูกหลานของสหายเสถียร จิตมาตย์บอกเล่าตำนาน7 สิงหาตำนานวันเสียงปืนแตก ตำนานการลุกขึ้นสู้ของประชาชนกับผมว่า

ปี2500  มีการให้การศึกษาเกี่ยวกับสถานการณ์บ้านเมืองของอินโดจีน(โดยเฉพาะลาวและเวียดนาม)กับชาวบ้านที่บ้านหนองกุง ติดบ้านนาบัว บ้านหนองกุง เป็นหมู่บ้านชายขอบ(เป็นหมู่บ้านคนผู้ไท)ติดกับจังหวัดสกลนคร ห่างจากตัวจังหวัดนครพนมเกือบ100 ก.ม.  ท้าวภูมี เป็นคนลาวพรรคปฏิวัติประชาชนลาว  มาเป็นผู้ให้การศึกษา ต่อมาชาวบ้านในหมู่บ้านนาบัว บ้านหนองกุงได้มีการจัดส่งเยาวชนไปช่วยงานของพรรคปฏิวัติประชาชนลาว (เป็นดั่งเครือญาติ เป็นพี่น้องกัน) มีเยาวชน(ตอนนั้น)ลุงชม(ยังมีชีวิต) สหายจ่อย สหายเสถียร ไปร่วมด้วย ต่อมาคนเหล่านี้กลับมาเคลื่อนไหวในหมู่บ้านต่อ ด้วยเห็นว่าปัญหาในประเทศไทยก็เหมือนปัญหาในประเทศลาว ประชาชนทั้งสองประเทศเป็นพี่น้องเป็นเครือญาติกันจึงต้องร่วมมือกันลุกขึ้นจับปืนสู้กับกับอำนาจรัฐที่ไม่มีความเป็นธรรม(ในยุคนั้น) ในวันที่ 20 สค. 04 จนท.ทราบข่าวการเคลื่อนไหวจึงมาล้อมปราบ ลุงชมและสหายหลบหนีไปได้  ต่อมาจึงได้กลับมาเคลื่อนไหวต่อ และอำนาจรัฐก็รุนแรงมากขึ้น    มีการประหารชีวิตครูครอง จันดาวงค์ นักการเมืองขวัญใจประชาชน(จ.สกลนคร)ในช่วงนั้น

คืนวันที่ 7 สิงหา ปี 08  คืนนั้นฝนตกหนัก สหายเสถียร มีการเคลื่อนไหวกับชาวบ้านที่บ้านนาบัว(ต.เรณูนครตอนนั้น)จนท.รู้ข่าวการเคลื่อนไหว จึงได้มาล้อมปราบ สหายเสถียร คิดว่าเป็นพี่น้องจากหมู่บ้าน มาส่งข้าวตามปกติจึงได้ออกจากที่ซ่อนมารับ แล้วเกิดการปะทะกัน สหายเสถียรเจอแล้ว บอกให้เพื่อนสหายถอย สหายเสถียรเป็นคนแม่นปืน ได้ต่อสู้โดยได้ยิงจนท.รัฐตายไปสามคนและต่อมาสหายเสถียรก็ถูกยิงที่ขาคลานไปใจยังไม่ขาด  แล้วจึงเสียชีวิตในเวลาต่อมาพร้อมเอกสารลับให้ฝังนอนทับไปในโคลนตม

เสียงปืนแตก 7 สิงหา  08  ที่บ้านนาบัว ต.เรณูนครในระยะแรกนั้นที่จริงยังไม่เกี่ยวกับพรรคCPTเลย เยาวชนจากบ้านนาบัว แห่งอำเภอเรณูนคร  ลูกหลานของสหายเสถียร จิตมาตย์ให้ข้อมูลกับผมไว้อย่างนั้น ต่อมาพรรคCPTโดยอุดม ศรีสุวรรณ (พ.เมืองชมพู_เป็นคนแต่งเพลงบังทรายสดุดี แต่งได้เพราะมาก)จึงได้มาเคลื่อนไหวเชื่อมความสัมพันธ์กับคนที่นี่ และพรรคได้ประกาศรับรองการต่อสู้ของสหายแห่งบ้านนาบัวและประกาศให้วันที่ 7 สิงหา  08 เป็นวันเสียงปืนแตกในภายหลัง  ต่อมารัฐบาลก็เร่งปราบปราบอย่างหนัก ชาวบ้านถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกตั้งข้อกล่าวหา  ถูกทุบตีทรมาน ถูกทำร้ายอย่างโหดเหี้ยม ชาวบ้านแห่งบ้านนาบัวและวังยาง ทุกหมู่บ้านจึงได้พร้อมใจกันเข้าร่วมต่อสู้กับพรรคCPTในเขตป่าโดย....

เราอดทนถึงที่สุดก็สุดทน

จึงเปลี่ยนหนทางสู้ขึ้นภูพาน

อ้อมอกภูพานคือชีวิตใหม่

คือมหาวิทยาลัยคนกล้าหาญ

จะโค่นล้มไล่เฉดเผด็จการ  ....

(จากลานโพธิ์ถึงภูพานประพันธ์โดยวัฒน์ วรรลยางกูร)

และในพค. ปี 2509  จิตร ภูมิศักดิ์ ก็เสียชีวิตที่บ้านหนองกุง อำเภอวาริชภูมิ สกลนครในช่วงเวลาที่ไม่ห่างกันนัก

คือผู้ถูกพัฒนาและผู้รอคำสั่งจากภาครัฐ

เยาวชนคนผู้ไท จากบ้านนาบัว แห่งอำเภอเรณูนคร  ลูกหลานของสหายเสถียร จิตมาตย์ บอกเล่าตำนานกับผมต่อว่า

ปี2523-24สถานการณ์สากลเปลี่ยน อำนาจรัฐก็เปลี่ยนท่าทีเปลี่ยนเงื่อนไข การการปราบด้วยกำลังสู่การสมานฉันท์ โดยนโยบาย 66/2523 ผู้นำผู้อาวุโสของเราพร้อมสหายร่วมอุดมการณ์จึงได้เข้าร่วมเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย    ซึ่งนับถึงวันนี้ก็เป็นเวลาเกือบ 30 ปีแล้ว 

เป็น30ปีที่เราน่าจะได้ทบทวนว่ามีอะไรดีขึ้นกับเราบ้างในฐานะผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย  แน่นอนเราได้รับความรู้เกี่ยวกับการทำงานพัฒนาของภาครัฐ จนท.รัฐมาสอนการจัดตั้งกลุ่ม สอนทำขนม ทำดอกไม้ สอนตัดเย็บเสื้อผ้า สอนอาชีพทำผมเสริมสวย  หลายคนมีการปรับปรุงฐานะทางเศรษฐกิจดีขึ้นมาบ้าง มีถนนหนทาง ไฟฟ้า สาธารณูปโภค มีการสาธารณสุขที่ดีขึ้น  ลูกหลานมีการศึกษาที่ดีขึ้นแต่ไม่เชื่อฟังพ่อแม่  มีคาราโอเกาะ ร้านอาหาร........

แต่เราก็ไม่ได้พอใจกับสิ่งเหล่านี้ที่รัฐหยิบยื่นให้  เราไม่พอใจในสิทธิ ในอำนาจที่เรามีเราได้รับ อำนาจทั้งหลายขึ้นกับโครงสร้างอำนาจรัฐทั้งหมด เราทำอะไรก็ได้ไม่เต็มที่  ผู้นำจะทำอะไรก็ต้องรอคำสั่งจากนาย การเมืองก็มีคนรับไปทำแทน  เราทำอะไรไม่ได้เศรษฐกิจ ยังไม่ได้ดีขึ้น   ที่ดินที่ทำกิน รัฐทำให้แล้วมาเนิ่นนานจนถึงวันนี้เราก็ยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ทำกิน

เราจึงได้เริ่มมาคิดถึงบทเรียน เราจึงได้คิดฟื้นตำนานของเรา เรียกความเชื่อมั่นในตัวตน เราเชื่อมั่นในคำพูดคำจาของผู้อาวุโส  เราเรียกความสำคัญกับพี่น้องเราคืนมา  ซึ่งกิจกรรมหนึ่งที่เป็นสัญญลักษณ์คือการจัดงานรำลึก 7สิงหา วันเสียงปืนแตก ปรากฏการณ์นี้เริ่ม ปี 45 ต่อเนื่องมาจนถึงปี 48 เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นและได้รับการยอมรับจากฝ่ายต่างๆมากขึ้นด้วยมีนักวิชาการคือ อ.ธันวา ใจเที่ยง จากมหาวิทยาลัยราชภัฏกาฬสินธุ์มาร่วมศึกษาถอดบทเรียนถอนประสบการณ์พวกเราอย่างเป็นกระบวนการ

 เป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยที่แท้จริงและมีศักดิ์ศรี

ลุงนง  เพชรดีคาย หรือสหายสมิงแห่งเขตงานราชบุรี(เขตงาน333) บอกกับผมว่าสัญญลักษณ์การต่อสู้ของประชาชนคืองานรำลึก7 สิงหาที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 45 แต่ได้รับการยอมรับจากภาครัฐมากขึ้นเมื่อปี 2551ที่พรบ.สภาองค์กรชุมชนมีผลบังคับใช้ ต่อเนื่องถึงปี 2552 ซึ่งในแถวอำเภอวังยางนี้ ได้มีการจดแจ้งการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลตามกฎหมายกันในทุกตำบลแล้ว เช่นเดียวกับที่ตำบลโคกหินแห่ด้วย โดยในปี2552 สภาองค์กรชุมชนตำบลโคกหินแห่ ได้ร่วมเป็นเจ้าภาพในการจัดงานรำลึก7 สิงหาด้วย   ซึ่งเป็นการจัดงานที่ชุมชนเป็นเจ้าของงาน จึงเป็นความภาคภูมิใจของชุมชนอย่างเต็มเปี่ยม

สืบเนื่องด้วยการมี พรบ.สภาองค์กรชุมชน ปี 51ที่รับรองสิทธิ์ความเป็นพลเมืองที่จะลุกขึ้นมาดูแลฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามของชุมชน การมีสิทธิ์ในการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรของชุมชน และมีสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญว่าด้วยสิทธิชุมชน สิ่งที่พวกเราลุกขึ้นมาจัดการตัวเองได้อย่างเป็นรูปธรรมที่สุดในตอนนี้คือการจัดทำข้อมูลเรื่องที่ดินที่ทำกินของชุมชน  ที่ขบวนชุมชนมีการจัดทำข้อมูลลงในพิกัดจีพีเอส  และเริ่มมีการจัดสวัสดิการของชุมชนด้วยกันเองครบทั้ง 4 ตำบลในเขตอำเภอวังยางแล้ว

จากตำนานวันเสียงปืนแตก 7 สิงหา  จากตำนานการสร้างวีรกรรม จิตวิญญาณการต่อสู้ สู่การสืบสานต่ออุดมการณ์ มาถึงวันนี้ ไฟยังไม่มอด ไม่ใช่เราแพ้ หากแต่เราเปลี่ยนแปลงวิธีการต่อสู้ เราต้องการที่จะเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยที่แท้จริง ไม่ใช่เป็นเพียงผู้รอการพัฒนาจากภาครัฐอีกต่อไป หากแต่เราอยากจะทำงานร่วมกันอย่างมีศักดิ์ศรี ว่าเราก็มีดี ว่าเราก็มีภูมิปัญญา  ว่าเราก็มีประสบการณ์ของเรา

จากที่เราเคยร้องขอด้วยคำอ้อนวอน ด้วยมือเปล่าในยุคแรก  จากที่เราเคยจับปืนต่อสู้กับอำนาจรัฐด้วยตัวของเราเองรัฐมีปืนเราก็มีปืนในยุคที่สอง  จากเคยเป็นผู้คนที่เรียบร้อย รอนายสั่งนายบอก รอการช่วยเหลือจากรัฐหรือผู้รอความช่วยเหลือของชาติไทยในยุคที่สาม   มาสู่ยุคที่สี่เป็นยุคของการต่อสู้ใหม่ด้วยข้อมูลด้วยภูมิปัญญาของภาคประชาชน  เป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยอย่างมีศักดิ์ศรี  ไม่ใช่ผู้รอการพัฒนาจากภาครัฐเหมือนที่ผ่านมา เรามีสภาองค์กรชุมชนตำบลเป็นกลไกเชื่อมโยงประเด็นงานพัฒนาที่มีความชอบธรรมตามกฎหมาย  ที่เราได้เริ่มมาแล้วทั้งเรื่องที่ดินที่ทำกิน สวัสดิการและการฟื้นความเป็นตัวตนทางภูมิปัญญาและศิลปวัฒนธรรมชุมชนท้องถิ่นของเรา  

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นทุกวันนี้ในชุมชนของเราอยู่อีกมากมาย  ที่ยังไม่เชื่อเต็มที่กับแนวทางนี้ คนส่วนใหญ่ยังคงรอความหวัง รอการถูกพัฒนาและรอการช่วยเหลือจากภาครัฐเหมือนที่ผ่านมา ทั้งที่สามสิบปีมาแล้วยังไม่มีอะไรดีขึ้นแต่ก็ยังรอ

ลุงนง  เพชรดีคาย หรือสหายสมิงบอกกับผมในตอนท้าย

สายลมเปลี่ยนทิศแต่ดวงจิตไม่เคยเปลี่ยนเลย

กำนันพงษ์พิทักษ์ สีชา กำนันตำบลวังยางบอกกับผมไว้ว่าแต่ไหนแต่ไรมาแล้วคนวังยางเป็นคนพูดจริง ทำจริง เป็นคนซื่อคนตรง  พร้อมใจกันคิดพร้อมใจกันทำ ขอแต่เพียงได้ปรึกษาหารือกันขอได้คิดอ่านร่วมกันแล้วคนวังยางถึงไหนถึงกัน ตอนจับปืนสู้กับอำนาจรัฐเราก็ร่วมมือกันร่วมใจกันทั้งหมด พอมาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยเราก็ให้ความร่วมมือกับรัฐอย่างเต็มที่รัฐสั่งอะไรเราก็ทำตาม หากแต่ตอนนี้เราอยากเป็นตัวของเราเองเราอยากร่วมมือร่วมแรงใจกันในหมู่พี่น้อง แนวทางของพรบ.สภาองค์กรชุมชนที่เปิดโอกาสให้ชุมชนและท้องถิ่นได้ร่วมกันเป็นเจ้าของงานพัฒนาท้องถิ่นตำบลของตัวเองโดยสภาองค์กรชุมชนร่วมกับ อบต. บนฐานปัญหาความต้องการของคนวังยางเอง พวกเขาจึงพร้อมใจกันเอาด้วยอย่างเต็มที่

สำหรับแนวทางการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นของสภาองค์กรชุมชนตำบลวังยางเท่าที่มีการปรึกษาหารือกันในเบื้องต้นผมพอจะสรุปได้ดังนี้

  1. การแก้ปัญหาที่ดินที่ทำกิน
  2. การพัฒนาระบบสวัสดิการชุมชนท้องถิ่นให้มีบทบาทช่วยเหลือเกื้อกูลและแบ่งปันกันในชุมชน
  3. การฟื้นความเป็นตัวตนทางภูมิปัญญาและศิลปวัฒนธรรมชุมชนท้องถิ่น โดยการพัฒนาศูนย์เรียนรู้ระดับอำเภอเชื่อมโยงศูนย์เรียนรู้ระดับหมู่บ้านหลากหลายกิจกรรม
  4. การฟื้นฟูอาชีพ วิถีการผลิตบนฐานการพึ่งพาตนเองให้ได้ ซึ่งรวมทั้งการจัดการแหล่งน้ำ  การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ
  5. สนับสนุนการขับเคลื่อนการเมืองภาคพลเมืองให้มีความเข็มแข็ง
  6. การเสริมสร้างสุขภาวะชุมชน การสร้างความสุขร่วมกันของคนในชุมชน
  7. การพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศชุมชน
  8. การสนับสนุนการเรียนรู้เพื่อสืบสานงานพัฒนาของเยาวชน
  9. การเชื่อมโยงเครือข่ายกลุ่มสตรีแต่ละหมู่บ้าน

เงื่อนไขการจัดการงานพัฒนา....เราทำกันอย่างไรในวันข้างหน้า

  • พัฒนาศูนย์การเรียนรู้ชุมชนให้กระจายตามหมู่บ้านเป็นฐานการเรียนรู้ในภูมิปัญญาและประเด็นงานพัฒนาต่างๆ
  • การจัดทำแผนยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนงานพัฒนาทั้งขบวนโดยการมีส่วนร่วมทั้งจากท้องถิ่น ท้องที่ ขบวนชุมชนและภาคีการพัฒนา  ให้เป็นการยกระดับจากงานเดิมที่เป็นประเด็นย่อยๆ
  • จัดระบบข้อมูลสารสนเทศสนับสนุนการวิเคราะห์พื้นที่และสร้างการเรียนรู้ร่วมกันแบบมีส่วนร่วม
  • คิดค้นหน่วยศิลปวัฒนธรรมของชุมชนให้มีบทบาทสำคัญเหมือนในตำนานที่ผ่านมา
  • สร้างคน  คนที่ชอบจิตอาสา มิใช่แค่คนมีปัญหาแล้วมาทำงานด้วยกันเท่านั้นจะต้องสร้างคนที่มีอุดมการณ์
  • การจัดการเรียนรู้ เวทีเรียนรู้ของชุมชน
  1. ทำให้ชาวบ้านตระหนักรู้ในตัวเองมากขึ้น
  2. สร้างความเชื่อมั่นในตัวเอง
  3. มีวิธีให้ชาวบ้านเรียนรู้ได้ตัวเอง
  4. ใช้ปัญหาสร้างปัญญา ใช้การมีความส่วนร่วมเป็นการสร้างปัญญาร่วม
  5. ขยายแนวร่วมเครือข่ายขบวนชุมชนท้องถิ่นและภาคีการพัฒนา

7 สิงหาคม 08 ตำนานวันเสียงปืนแตกที่บ้านนาบัว กับอุดมการณ์ของพวกเขาที่เป็นแค่ชาวบ้าน....เป็นชาวไร่ชาวนา  คนธรรมดาๆของเรานี่เองแต่พวกเขากลับมีความคิดความใฝ่ฝันที่ยิ่งใหญ่ที่เหลือเชื่อและเรื่องราวของพวกเขาก็ถูกบอกกล่าวเล่าขานสืบสานเป็นตำนานถึงลูกหลาน

กับความใฝ่ฝันที่งดงาม ฝันที่จะสร้างสรรค์สังคมแห่งความเป็นธรรม  สังคมที่ให้เกียรติให้สิทธิ์ให้การยอมรับในคุณค่าของคนอย่างเสมอภาพกันแม้จะเป็นชนชาติส่วนน้อย สังคมที่คนจนชาวไร่ชาวนามีสิทธิ์มีเสียงในแผ่นดิน มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ทำกิน สังคมแห่งเสรีภาพ สังคมแห่งภารดรภาพที่มีความเป็นมิตรไมตรีมีความเป็นพี่เป็นน้องเกื้อกูลกันและเป็นสังคมแห่งสันติสุข อยู่ร่วมกันในประเทศชาติที่ไม่ตกเป็นทาสเป็นเมืองขึ้นของคนอื่นเขา ในประเทศที่ผู้มีอำนาจไม่ปล่อยให้อำนาจทุนและอำนาจเถื่อนมาครองเมือง

ถึงตอนอำลาเวทีถอดบทเรียนด้วยเสียงเพลงแห่งภูพาน(พรรคคือโคมทอง)....บทเพลงบทนี้ยังดังก้องในใจผม

ลมหนาวผ่านสั่นสะท้านเหนือทิวยอดไม้

ฝนลาลับไปห้วยสายธารน้ำแห้งเหือดเหย

สายลมเปลี่ยนทิศแต่ดวงจิตไม่เคยเปลี่ยนเลย

ยืนหยัดมั่นคงเช่นเคย ไม่เปลี่ยนทางเหมือนดั่งดาวเหนือ.....

.....มอบกาย(และใจ)ของเรานั้นเพื่ออุดมการณ์ถึงวันสุดท้าย

 

หมายเลขบันทึก: 339460เขียนเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2010 18:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 21:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

สวัสดีครับพี่ใหญ่

  • หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงท่านอ.ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรมท่านตั้งใจจะไปเยี่ยมพี่น้องชาวชุมชนที่วังยางในช่วง 25 -26 มี.ค.53นี้
  • ท่านไปร่วมให้กำลังใจชุมชนในการกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดการพัฒนาของสภาองค์กรชุมชนตำบลวังยางร่วมกับ อบต.วังยางครับ

ขอบคุณครับ

  • สวัสดีค่ะ
  • แวะมาทักทายตอนเช้า บรรยากาศดี ๆ ค่ะ
  • มีความสุขกับวันทำงานนะค่ะ
  • สวัสดีครับคุณบุษราP

    • ขอบคุณครับที่มาแวะมาทักทายตอนเช้า
    • บรรยากาศตอนเช้าที่กรุงเทพก็ดีครับ
    • แต่คงไม่เหมือนตอนเช้าในต่างจังหวัด
    • ยังคิดถึงนครพนมที่นั่นอากาศดีมากๆ โดยเฉพาะที่ริมฝั่งโขงลมพัดเย็นสบาย

    สวัสดีค่ะ

    • แวะมาทักทายตามประสาคนเคยไปเที่ยวที่วังยาง
    • เคยไปงานแต่งงานที่หลังอำเภอวังยางค่ะ
    • บ้านเมืองเป็นธรรมชาติ แต่ไม่เคยรู้มาก่อนถึงแนวทางการต่อสู้
    • ขอบคุณที่แบ่งปัน

    สวัสดีครับพี่

    ไม่ได้แวะมาเยี่ยมซะนานเลยครับ

    เบิ้มชวนผมไปงานอะไรสักอย่างที่พอช. ช่วงใกล้ ๆ ปลายเดือนมีนาคมครับ

    "มันตามจับตามล่าฆ่าถึงบ้าน
    อ้างหลักฐานจับเข้าคุกทุกแห่งหน
    เราอดทนถึงที่สุดก็สุดทน
    จึงเปลี่ยนหนทางสู้ขึ้นภูพาน
    ภูพานคือชีวิตใหม่
    คือมหาวิทยาลัยคนกล้าหาญ
    จะโค่นล้มไล่เฉดเผด็จการ
    อันธพาลอเมริกาอย่าหวังครอง
    สู้กับปืนต้องด้วยปืนยืนกระหน่ำ
    พรรคชี้นำตะวันแดงสาดแสงส่อง
    จรยุทธ์นำประชาสู่ฟ้าทอง
    กรรมาชีพลั่นกลองอย่างเกรียงไกร"

    สวัสดีครับคุณครูปริมปรางP

  • บ้านเมืองที่วังยางยังมีเป็นธรรมชาติ มีความเป็นพื้นเพชุมชนที่พึ่งพาอาศัยทรัพยากรธรรมชาติอยู่มาก 
  • แต่เบื้องหลังของพวกเขาก็มีทั้งความเจ็บปวดและความภาคภูมิใจ มันเป็นเรื่องที่เนิ่นนานมาแล้ว
  • แม้แต่คนในท้องถิ่นที่นั่นโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ก็ไม่ค่อยมีใครจะได้รับรู้...ไม่เคยรู้มาก่อนถึงแนวทางการต่อสู้ ไม่เคยรับรู้ถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของท้องถิ่นตัวเอง 
  • คนท้องถิ่นก็ไม่อยากรำลึกถึงความเจ็บปวด(แต่เด็กๆคนเรียนหนังสือในโรงเรียนก็มักจะพอรู้เรื่องอเมริกา  ว่ามีกี่รัฐ มีแม่นำสำคัญชื่ออะไร  มีประวัติการต่อสู้ระหว่างรัฐภาคเหนือกับรัฐภาคใต้อยู่บ้าง)
  • การบูรณาการการเรียนรู้ระหว่างโรงเรียนกับชุมชน  เป็นเรื่องใหญ่มากครับผมสนใจในเรื่องนี้ด้วยครับ  ให้เป็นการเรียนรู้ด้วยสติที่รู้เท่าทันต่อรากเหง้าตัวเอง (Mindfulness Learning)ทำไงดี
  • ทำให้ผมนึกถึงบทสุนทรพจน์ของน้องเฟรินส์_ด.ญ.ศศิมาภรณ์  เครือละม้ายเยาวชนตำบลบ้านเลือกที่ได้กล่าวเมื่อ29ม.ค.53ที่ผ่านมา ผมมีงานศึกษาวิจัยในพื้นที่นี้อยู่จะขอเล่าในโอกาสต่อไปครับ ขอนำมาบางตอนไปก่อน
  • นอกจากนี้บ้านเลือกของเรา ยังคงยึดมั่นในขนบธรรมเนียมของชาวลาวเวียง เพื่อสอนลูกหลานของชาวลาวเวียง ให้ตระหนักถึงชาติพันธุ์ของตัวเอง และตระหนักในคุณค่าความเป็นคนไทย ไปพร้อม ๆ กัน

              ดังคำกล่าวของท่าน สตีเฟ่น อาร์โคฟี่ นักวิชาการผู้มีอิทธิพลทางด้านความคิดของสหรัฐอเมริกา กล่าวไว้ว่า เราต้องให้ 2 อย่างแก่เยาวชน คือ 1. ให้รากเหง้าแก่เขา 2. ติดปีกให้แก่เขา

    • ให้รากเหง้าแก่เขา  หมายถึง  ให้เขาคำนึงในวิธีการดำเนินชีวิต และวัฒนธรรมของตน
    • ติดปีกให้แก่เขา  หมายถึง  การเสริมสร้างจินตนาการให้แก่เขา คนเราอาจลอกเลียนแบบบุคลิกภาพกันได้ ลอกเลียนความรู้กันได้ แต่ไม่อาจลอกเลียนวิธีคิด และจินตนาการของกันได้

    สวัสดีครับหนานเกียรติP

    ...อ้างหลักฐานจับเข้าคุกทุกแห่งหน
    เราอดทนถึงที่สุดก็สุดทน
    จึงเปลี่ยนหนทางสู้ขึ้นภูพาน
    ภูพานคือชีวิตใหม่
    คือมหาวิทยาลัยคนกล้าหาญ...

    .....

    • ครับเป็นบทเพลงจากลานโพธิ์ถึงภูพาน ประพันธ์โดยวัฒน์ วรรลยางกูร(ตอนนี้อยู่ไทรโยคเมืองกาญจน์ครับ)
    • ปลายเดือนมี.ค.น่าจะมีการสัมมนาเครือข่ายประชาสังคมครับ
    • เห็นเบิ้มบอกว่าจะเชิญชวนพี่น้องเครือข่ายคนทำงานภาคประชาสังคมมาปรึกษาหารือแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันครับ
    • คงได้พบกันครับ
    • ยินดีด้วยกับความสำเร็จเป็นรูปเป็นร่าง "สร้างด้วยใจ"ของเรือนลาหู่ ณ de' Musoi ครับ คงมีโอกาสตามเบิ้มไปพักด้วยคนครับ

                     

     

    สวัสดีค่ะ

    แวะมารับเอาความรู้สึกดีๆที่ได้เห็น ได้ยิน ได้ฟังเพลงป่าค่ะ....เป็นเพลงที่ดิฉันรักมาก

    เพลงของคุณวัฒน์ วรรลยางกูร นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ที่กลั่นความรู้สึกเคียดแค้นต่อ

    ผู้กุมอำนาจในบ้านเมืองเวลานั้น หลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ท่านได้หนีภัยมืดไปอยู่

    ในดงพงไพร แถบรอยต่ออำเภอส่องดาว จ.สกลนคร กับอำเภอวังสามหมอ จ.อุดรธานี

    ซึ่งท่านได้นำบทกวีอันเลื่องชื่อนี้ติดตัวไปด้วยถึงฐานที่มั่นภูพาน ต่อมาคุณสุรสีห์ ผาธรรม

    ได้นำเอาบทกวีเลื่องชื่อนี้ใส่ทำนองเพลงอันปลุกเร้าความรู้สึก วงดนตรี 66 บรรเลงอย่างสุดฝีมือ

    สหายฟา ร้องได้ปลุกเราใจ ขออนุญาตแบ่งปันนะคะ(หรือเอามะพร้าวห้าวมาขายสวนก็ไม่รู้ค่ะ)

    วันตำนานเสียงปืนแตก น่าสนใจมากนะคะ หากมีกิจกรรมอะไรได้โปรดชวนดิฉันด้วยค่ะ...ขอบคุณค่ะ

    ภูผาลม ณ.ดงหลวง(ครูกระเเต)

    สวัสดีครับคุณมาตายีP

    (ครูกระแต_ภูผาลม ณ ดงหลวง)

    • ครับผมชอบงานศิลปทำนองนี้  โดยเฉพาะศิลปจากภูพาน
    • ดูพี่ท่านน่าจะมีประสบการณ์ตรงนะครับ
    • ผมเพียงคนถอดบทเรียน ด้วยความศรัทธา ทึ่งกับเรื่องราวที่ผ่านมาและชื่นชอบในงานศิลปที่เกี่ยวข้อง
    • "บังทรายสดุดี"เป็นอีกบทเพลงที่ผมชอบมากครับ
    • เลยขอเอามะพร้าวห้าวมาฝากอีกทีครับ

                บังทรายสดุดี...

    คำร้อง/ทำนอง โดย อุดม สีสุวรรณ (บรรจง บรรเจิดศิลป์)

    (สร้อย) บังทรายเอย เจ้าไหลผ่านแผ่นดินอันกว้างใหญ่
    ไหลเอื่อยไป ดุจเส้นเลือดภูพาน
    เจ้าหล่อเลี้ยงคนสองฝั่งมานมนาน
    เราเรียกขาน ภูพานคู่บังทราย

    บังทราย เรารักเจ้า เราจะร่วมสร้างสรรค์ให้คงมั่น
    โอ...... เราปักใจไม่หวั่น เราไม่พรั่นอันใด สร้างชีวิตอำไพ
    ให้มีชัยในลุ่มห้วยบังทราย (สร้อย)

    สามัคคีกันให้แน่น ทั่วเขตแคว้นแดนดินถิ่นลำเนา
    โอ .........พร้อมใจเข้ายืนหยัด อำนาจรัฐประชา เหมือนนทีภูผา
    ยืนสง่าในลุ่มห้วยบังทราย (สร้อย)

    จับปืนไว้ให้มั่น พร้อมกันต้านหมู่มารราวี
    โอ....... มวลประชาสุขี กุมชะตาชีวี บรรเลงเพลงสดุดี
    สุดเปรมปรีดิ์ในลุ่มห้วยบังทราย (สร้อย)

    ………………………………………………………….

    • เพลงที่ผมชอบนี้ขับร้องโดยกมล สุสำเภาและบรรเลงเพลงในแบบวงออร์เคสตร้า มีนักศึกษาสาขานาฏศิลป์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครแสดงระบำประกอบลำนำเพลง
    • เข้าไปฟังได้ที่http://www.youtube.com/watch?v=sBz94znguB4
    • ผมว่าที่จริงน่าจะมีการลงในginessbookนะว่าขบวนการปฏิวัติของไทยโดย พคท.มีการบันทึกเทปเพลงปฏิวัติมากที่สุดในโลก(และเพราะด้วย)
    • ขอบคุณมากครับ

     

    ภาคประชาชนเข้มแข็ง ประเทศชาติเป็นปึกแผ่นครับ ขอบคุณในอุดมการณ์

                          สุข-สงบ-เจริญ  วันมาฆบูชา นะคะ !

                                               Free Animations 

    หมอกมาฆะ @ โดย เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์
           
           @ไม่ทำชั่วในทุกกรณี
           ทำความดีเป็นนิตย์ - จิตบริสุทธิ์
           พระโอวาทปาฏิโมกข์มิ่งวิมุติ์
           พระสัจธรรมสัมพุทธพิสุทธิ์ทรง
           
           @จนสองพันห้าร้อยห้าสิบสาม
           โลกยังไม่ก้าวข้ามความหลับหลง
           ความชั่วยังไม่ลดไม่ปลดปลง
           คนยังคงทำร้ายทำลายกัน
           
           @ความดีความถูกต้องมองไม่เห็น
           เอาเงินเป็นมาตรวัดเข้าคัดสรร
           เงินชี้เป็นชี้ตายได้ทั้งนั้น
           คุณความดีไม่มีวันจะบันดล
           
           @จะทำจิตอย่างไรให้บริสุทธิ์
           กอระกำหนามผุดสะดุดค้น
           อสรพิษพ่นพิษเรืองฤทธิ์รณ
           ที่เถื่อยถอยทุรพลสำแดงพาล
           
           @"ไม่ทำชั่ว - ทำดี - จิตบริสุทธิ์"
           ต้องไม่เป็นเพียงชุดคำพูดผ่าน
           ต้องขับเมฆหมอกหม่นอนธการ
           ให้แสงธรรมบันดาลศานติชัย

           
           เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์
           พฤ.๒๕/๒/๕๓

    สุข-สงบ-เจริญ  วันมาฆบูชา เช่นกัน

    ครับคุณครูK.PuallyP

    เพียงแต่อากาศและอุณภูมิการเมืองปีนี้ดูจะร้อนเหลือเกิน

    ขอบคุณครับ

    ภาคประชาชนและชุมชนมีความสุข  ท้องถิ่นเข้มแข็งบนฐานเอกลักษณ์ตัวตนที่หลากหลาย  ประเทศชาติมีความเป็นปึกแผ่น

    ขอบคุณครับคุณบีเวอร์P

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท