หนูกับราชสีห์


เมื่อราชสีห์ชั้นเซียนอย่างปูนซีเมนต์ไทย แก่งคอย ให้หนูตัวจ้อยอย่างข้าวขวัญเป็นเพื่อน อะไรจะเกิดขึ้น
ที่ฉันกล่าวอ้างเช่นนี้ ไม่ใช่อะไรหรอกนะ ด้วยความที่ในระยะนี้ ข้าวขวัญได้มีโอกาสรับใช้ และสร้างความคุ้นเคยกับบุคลากรของ บ. ปูนซีเมนต์ไทย แก่งคอย ในการจัดกระบวนการการเรียนรู้เรื่อง การใช้ KM กับโรงเรียนชาวนา เพื่อเชื่อมโยงเข้าสู่ธุรกิจปูนซีเมนต์ โดยมีทีม Facilitater ผู้เปี่ยมด้วยพลัง ไม่ว่าจะเป็นพี่ทวีสิน พี่เรวัติ พี่ชำนาญ ( พี่น้อง ) พี่หนุ่ย หรือ ป๊อบ ผู้มาใหม่ ที่เป็นผู้นำชาวปูนมาสัมผัสในวิถีของคนผู้คนอีกมุมมองหนึ่งที่แตกต่าง ในครั้งแรกที่ได้รับการติดต่อจากทีม Fa ของปูนนี้ พวกเราชาวข้าวขวัญ ก็คิดกันอยู่หลายตลบว่าเราจะไหวเหรอ เพราะแค่เพียงเนื้องานหลักที่ต้องทำกับเกษตรกรแทบทุกวัน ก็จวนเจียนจะสลบเหมือดกันถ้วนหน้า ไหนจะหน้าที่ในการขับเคลื่อนกับเครือข่ายเกษตรกรรมทั่วประเทศ ที่ต้องการให้เราช่วยเผยแพร่องค์ความรู้เรื่องการทำนา และก็ไม่ได้เป็นมืออาชีพทางงานฝึกอบรม แต่ด้วยความที่เราเห็นความมุ่งมั่น ของทีมผู้นำของปูน ก็ต้องกลับมาคิดทบทวนว่า ถ้าสิ่งนี้มันคืออีกชิ้นงานหนึ่งที่เราต้องทำ เพราะถูกเลือกแล้ว มันก็ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องปฏิเสธ เพราะการเรียนรู้ที่จะมีประสิทธิภาพที่สุด คือ การเรียนรู้โดยการแบ่งปันให้ผู้ที่เห็นความสำคัญของมัน เพื่อการปรับไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อ งานชิ้นหนักของพวกเราจึงเกิดขึ้น เมื่อข้าวขวัญถูกคาดหวังว่า จะสามารถช่วยจัดกระบวนการการเรียนรู้เพื่อนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพขององค์กรใหญ่อย่าง บ.ปูนซีเมนต์ ( หรือถึงเวลาที่หนูจะช่วยราชสีห์ ) เมื่อราชสีห์ผู้ยิ่งใหญ่ไว้วางใจในหนูตัวจ้อย สรรพกำลังของทรัพยากรเท่าที่ข้าวขวัญมีอยู่ก็ถูกระดมในการวางแผนเพื่อจัดกระบวนการให้สมกับที่เค้าไว้วางใจ ทั้งที่ต่างฝ่ายก็ต่างไม่รู้จักกันมากพอ แต่ฉันและทีมงานก็มั่นใจว่า ประสบการณ์ที่สั่งสมจากการทำงานกับชาวบ้านหรือการเป็นผู้นำทางการเปลี่ยนแปลงแนวคิดให้กับองค์กรต่างๆที่ผ่านมา ก็น่าจะเป็นเครื่องมือที่พอจะแบ่งปัน ราชสีห์อย่างบรรดาบุคลากรที่แข็งแกร่งของปูนซีเมนต์ได้ รูปแบบกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จึงเกิดขึ้นจากการอาศัยประสบการณ์เดิมที่เคยมีอยู่ โดยไม่ลืมจะสอดแทรกวัฒนธรรมขององค์กร เพื่อเชิดชูให้ผู้มาเยือนได้เห็นว่า “แค่คุณคิดว่าอยากจะรู้ คุณจะได้รู้มากกว่าที่คุณอยาก” ดังนั้น ในบทความวันนี้ ฉันจึงขอพื้นที่ในการแบ่งปันกระบวนการที่ได้บังเกิดขึ้นกับเหล่าราชสีห์ ที่เราจะใช้เวลาทำกิจกรรมร่วมกัน 3 วัน โดยมีฉันและทีมงานเป็นทีมวิทยากรกระบวนการ จัดสรรหน้าที่ตามศักยภาพของตนเอง นั่นก็คือ วันแรก ช่วงเช้า 1.รู้เขารู้เรา โดยการแนะนำตัวเจ้าของถิ่นอย่างกัลยาณมิตร พูดคุยและทำข้อตกลงร่วมกันว่า จะอยู่และเรียนรู้อย่างไรให้เกิดสันติสุขในระยะเวลา 3 วัน ต่อด้วยกิจกรรมละลายกำแพง และถอดหมวกแห่งอำนาจออกจากแต่ละคน เพื่อให้ทุกคนรู้สึกถึงความเท่าเทียมกัน 2. ละลายพฤติกรรม ด้วยกิจกรรมแนะนำตัวผู้เข้าร่วมที่สนุกและสร้างสรรค์ มีเกมส์ นำเข้าสู่การแบ่งกลุ่มเพื่อการเรียนรู้ร่วมกัน เป็น 3 กลุ่ม ( คละกันไป ) แต่ละกลุ่มมีชื่อ และช่วยกันคิดสัญลักษณ์รวมพลังประจำกลุ่มของตัวเอง 3.กิจกรรมต้นไม้ความหวัง หรือระดมความคาดหวังจากผู้เข้าร่วมโดยอิสระ จนกระทั่งได้เห็นว่าความคาดหวังที่ออกมา ส่วนใหญ่ จะอยู่ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ ความรู้ใหม่ที่อยากได้ ทักษะที่ต้องการฝึกฝน และวิธีการที่อยากเห็น ช่วงบ่าย 4.รับฟังแนวคิดกระบวนการจัดการความรู้ในโรงเรียนชาวนา ผ่าน VCD และภาพประกอบคำบรรยาย ก่อนซักถามแลกเปลี่ยน ประเด็นที่สนใจ 5.สัมผัสบรรยากาศและปรับสมดุลเข้าสู่วิถีธรรมชาติ อย่างมีสติเพื่อค้นหาตัวตน ภาคค่ำ 6.ขุดคุ้ยขุมความรู้ ด้วยกิจกรรม “ค้นหาตัวตน” 7.แบ่งปันและเรียนรู้ อย่างกัลยาณมิตร วันที่สอง ภาคเช้า 8.เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง จากฐานการเรียนรู้กิจกรรมโรงเรียนชาวนา 3 ฐาน 3 พื้นที่ - การจัดการศัตรูพืชโดยชีววิธี อ.เมือง -การปรับปรุงบำรุงดิน อ.บางปลาม้า -การพัฒนาพันธุ์ข้าว อ.อู่ทอง ภายใต้ประเด็นที่ต้องหยิบยกมาแบ่งปันเพื่อน เช่น องค์ความรู้ที่เกิดขึ้น กระบวนการที่ใช้ บทบาทของคุณกิจและคุณอำนวย เป็นต้น ภาคบ่าย 9.ถอดบทเรียน และออกแบบการนำเสนออย่างอิสระและสร้างสรรค์ ( เป็นทีม ) ภาคค่ำ 10.นำเสนอบทเรียน Show & Share วันที่สาม ภาคเช้า 11.เกมส์การแก้ไขปัญหา การวางแผน และการทำงานเป็นทีม 12.นวตกรรมการเรียนรู้ จากโรงเรียนชาวนาสู่ธุรกิจปูนซีเมนต์ โดยแบ่งตามฝ่ายงาน 13.นำเสนอแผนงานของแต่ละฝ่าย แบ่งปันเพื่อนร่วมวิเคราะห์ความเป็นไปได้ ภาคบ่าย 14.กิจกรรม Share & Learn ( สรุปขุมพลัง/คลังความรู้ ของบุคลากรปูน ) 15.โมเดลปลาทู กับการจัดการความรู้ 16.ประเมินผลต้นไม้ความหวัง ( ตามความคาดหวัง / เกินความคาดหวัง / ไม่ได้ตามหวัง ) 17.ประเมินผลกระบวนการฝึกอบรม 18.กิจกรรมถ่ายเทพลังใจสู่องค์กร 19.กิจกรรมอำลา นี่คือ กระบวนการที่ข้าวขวัญได้ใช้กับการจัดกระบวนการการเรียนรู้สู่ บ.ปูน 2 รุ่นมาแล้ว และแน่นอนว่ารายละเอียดหรือรูปแบบของกระบวนการก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม และตามกลุ่มการเรียนรู้ แน่นอนว่าไม่มีอะไรที่สมบูรณ์แบบ จบจากงานฝึกอบรมทีมงานก็กลับมานั่งสรุปงานกันต่อ หลายอย่างที่เราต้องปรับกระบวนยุทธ์ พระราชสีห์แต่ละตัวก็ชั้นเซียนกันทั้งนั้น สิ่งที่เรารับรู้จากความรู้สึก คือ แน่นอนว่า ทั้งเหนื่อย ล้า อดทน อดกลั้น ต่อสายตาของผู้เข้าร่วมกิจกรรมกับพวกเรา ซึ่งฉันเข้าใจว่า แต่ละคนเมื่อเห็นเรา เค้าย่อมต้องมีความคิดทั้งเชิงลบ และเชิงบวกอยู่แล้ว แต่ผลจากกิจกรรมนี้ ทำให้เราได้ค้นพบศักยภาพของตัวเองและพลังที่มันยังมีล้นเหลือ ใครจะไปคิดว่า ราชสีห์ทั้งหลายจะยอมลดตัวเองลงมาหาหนู โนเนม อย่างเต็มใจขนาดนี้ ฉันว่ากระบวนการการเรียนรู้สำเร็จได้ ก็ต้องขอบคุณความเอื้ออาทร เปิดเผย จริงใจ เชื่อใจและไว้วางใจที่มีต่อพวกเรา....แล้ววันหนึ่ง หนูจะขอโอกาสไปเยือนถ้ำราชสีห์บ้าง คงทำให้เราได้รู้จักตัวตนของกันและกันมากขึ้น
คำสำคัญ (Tags): #(#-#ข้าวขวัญ#)
หมายเลขบันทึก: 33937เขียนเมื่อ 13 มิถุนายน 2006 14:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)
ต้องขอปรบมือให้กับทีมงาน "หนูๆ" ของมูลนิธิข้าวขวัญ ครับ สุดยอด  ขอบคุณจริงๆครับที่กรุณาให้ความรู้กับชาวปูนแก่งคอย ครับ ยินดีต้อนหนูเข้ารังเสมอครับ
จากที่มีโอกาสได้ไปสัมผัสกับบรรยากาศการเรียนรู้ที่ไม่เหมือนใคร ทำให้รู้ว่า เราได้ค้นพบเพื่อนที่ดีที่นี่..ขอบคุณสำหรับการแบ่งปันสิ่งดีๆให้พวกเรา
ครบถ้วนตามวัตถุประสงค์ทุกอย่าง หนูจ๋า ขอขอบคุณหนูทุกตัวตั้งแต่หนูตัวจ้อย(แม่ครัว)ถึงพญาหนู(พี่เด)ทั้งหมดคือผู้มีพระคุณ ที่ดูแลพวกเรา ทางราชสีห์(ขี้โม้) จะรอต้อนรับที่จะมาถ้ำเรา
ดีใจครับ ที่ได้ยินว่า หนูกับราชสีห์เป็นเพื่อนกัน ว่าแต่ว่า ไม่เป็นธรรมครับ ผมจากรุ่น 1 ฝนก็ตกหนัก แอร์ก็ไม่มี แมลงก็เยอะ อิจฉารุ่น 2 ครับผม ถ้าไม่ว่าอะไร มาแจมรุ่นหน้าอีกนะครับคุณหนู แต่จะว่าไปแล้ว ผมชอบบรรยากาศเดิมๆมากกว่าครับ ขอบคุณข้าวขวัญ สำหรับการหยิบยื่นสิ่งดีๆให้เรา
ถึงเวลานี้เชื่อว่า"หนูๆ"ที่ข้าวขวัญคงจะตัวพองเป็น"หมู" แทนแล้วละนะ แต่ก็ต้องฝากถึงพี่น้องชาวปูนว่าถ้ารักหนูๆจริงอย่าลืมเอาวิชาจากหนูๆมาประยุกต์ใช้ในงานนะครับ เมื่อแม่หนูๆมาเยี่ยมชมจะได้ดีใจ ถึงเวลานั้นละก็ระวังแม่หนูจะแทะหางราชสีห์ ....

ขอบคุณทุกข้อความของท่านราชสีห์ทั้งหมด ที่ให้หนูตัวจ้อย (ที่ไม่มีวันพอง ) เป็นมิตรอย่างจริงใจ ผ่านมา ผ่านไป แวะพักผ่อน พักกาย พักใจ แค่นี้เราก็มีพลังใจทำงานกับชาวบ้านต่อแล้ว แต่จะให้ดีนะ มีอะไรที่เราควรจะปรับปรุงแก้ไข ช่วยแนะนำด้วยค่ะ

ไม่ใช่ราชสีห์ค่ะ แต่เป็นคนผ่านทางมาเจอบล๊อคนี้เข้า อ่านแล้วรู้สึกสนใจกระบวนการงานฝึกอบรมที่นี่มาก ถ้าขอพาเด็กๆนักเรียนมาเรียนรู้ด้วยจะได้มั๊ยคะ โดยเฉพาะเรื่องการทำนา อยากให้เด็กๆได้เรียนรุ้สิ่งดีๆค่ะ
อยู่มูลนิธิศุภนิมิตร จ.ขอนแก่น ค่ะ เป็นเจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชนเหมือนกัน และได้ยินชื่อเสียงของมูลนิธิข้าวขวัญมานานแล้ว ยิ่งได้อ่านบทความนี้รู้สึกว่า องค์กรมีความตั้งใจจริงในการแบ่งปันสิ่งดีๆให้สังคม ดิฉันสนใจมาก กำลังเขียนโครงการพาเด็กๆไปเรียนรู้กิจกรรมที่เชือ่มโยงกับวัฒนธรรมชุมชน อยากส฿กษารายละเอียดค่ะ ติดต่อได้ทีไหนคะ และถ้าพาเด็กๆมาเรียนรู้จะได้มั๊ยคะ ค่าใช้จ่าย และรายละเอียดอื่นๆ ถ้าเป็นไปได้ ช่วยติดต่อกลับมาที่ 043-418029

ไม่ว่าจะเป็นหนูหรือราชสีห์ ต่างก็อยู่กับกฏกติกาของธรรมชาติ และก็ต้องกลับมาที่จุดศูนย์กันทั้งนั้นครับ

ขอบคุณ ชาวข้าวขวัญ ทุกๆคน มันเป็นการพัฒนาที่ก่อให้เกิดความยั่งยืนที่สุดในตัวคนครับ

ขออนุญาติรัก..หนู ครับ
พอมีคนขออนุญาต......หนูก็หายหมดเลย ก็ขออนุญาตเหมือนกันนะครับ สำหรับทุกท่านที่สนใจศึกษางานที่มูลนิธิข้าวขวัญ ก็สามารถติดต่อได้ที่ 035 -597193 นะครับ รับรองได้ครับที่นี่"สุดยอด"จริงๆครับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการถ่ายทอดความรู้ ความเป็นมิตร และความทุ่มเทของเจ้าหน้าที่ทุกคน รับรองได้ไปแล้วไม่ผิดหวังครับ ขอบอกครับขอบอก ว่าปล้าร้าสับอร่อยมากด้วยจริงนะ......
ไม่ได้หายไปไหนค่ะ หนูยังอยู่ แต่กำลังอึ้งค่ะ กับการโดนฝากรักไปยังปลาร้าสับ ชอบคุณค่ะ สำหรับชาวปูนทุกกำลังใจที่มีให้กับกลุ่มคนกลุ่มเล็กๆที่ข้าวขวัญเสมอมา ว่าแต่ว่า คุณภูคา เมือ่ไหร่จะบอกชือ่ weblog จะได้เข้าไปอ่านมั่งนะคะ แลกเปลี่ยนกัน
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท