สวัสดิการยามตาย


สำหรับคนที่เห็นความสำคัญของงานศพมากกว่างานแต่งและงานบุญอื่นๆ เราไม่เคยพอใจกับพิธีศพแบบที่จัดๆกันอยู่ในปัจจุบัน และตั้งคำถามกับตัวเองว่า เราจัดงานแบบอื่นได้ไหม

คนเราตายไปแล้วต้องการอะไร ?? 

สวัสดิการฌาปนกิจเมื่อเสียชีวิตเป็นเงินสวัสดิการก้อนใหญ่ก้อนหนึ่งที่สมาชิกของกองทุนสวัสดิการชุมชนจะได้รับ   และบางที่ก็กลายเป็น “จุดขาย”  …   น่าคิดว่า  การให้สวัสดิการเช่นนี้  สะท้อนแนวคิดอะไรอยู่ข้างหลังบ้าง

เป็นการให้สวัสดิการ  สร้างหลักประกันการยังชีพสำหรับครอบครัวที่อยู่ข้างหลัง  ?  ..หรือ เป็นการให้เงินสวัสดิการที่อาจถูกใช้จ่ายไปหมดสิ้นไปในการจัดงานฌาปนกิจ ? (ไม่รู้เรียกว่า “สวัสดิการ” ได้อย่างไร) .. นักวิชาการมองว่า  เป็นการ “คืนเงินออม”  ให้กับผู้วายชนม์  !!  ฯลฯ

 คนเราตายไปแล้วต้องการอะไร ??  แท้จริงเป็นเรื่อง “เงิน” สวัสดิการของคนที่อยู่ข้างหลัง ??

 -----------------------

ในพิธีศพแบบพุทธในปัจจุบัน  ...  พิธีศพนั้นสร้างสวัสดิการอะไรบ้าง....

สำหรับคนที่เห็นความสำคัญของงานศพมากกว่างานแต่งและงานบุญอื่นๆ   เราไม่เคยพอใจกับพิธีศพแบบที่จัดๆกันอยู่ในปัจจุบัน   และตั้งคำถามกับตัวเองว่า  เราจัดงานแบบอื่นได้ไหม

..แบบที่เจ้าภาพกำหนดรูปแบบของงานเองได้   แบบที่เรียบง่าย ให้เกียรติและเรียนรู้จากผู้วายชนม์  สร้างมรณานุสติ...สร้างสติให้คนอยู่หลัง  มากกว่าการสวดที่ฟังไม่ค่อยเข้าใจ  การเร่งรัดทำเวลาเพื่อให้เสร็จๆตามพิธีอย่างงานศพในกรุงเทพฯ   หรือมีมหรสพรื่นเริงอย่างงานในต่างจังหวัด... 

 ----------------------------

 เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ได้ร่วมงานศพ ... เป็นงานที่ดีที่สุดเท่าที่เคยได้เข้าร่วมมา...

ที่นั่น  ลูกหลานเป็นพิธีกรของงาน  ลูกร้องเพลงอุทิศให้   เชิญแขกผู้มาร่วมงาน 2-3 ท่านขึ้นมากล่าวถึงผู้วายชนม์      

บาทหลวงคริสต์พูดถึง ความรักในพระเจ้า   การรักษาคำสอนของพระเจ้า   และการรับใช้พระเจ้า ….  “3 ร” ..เป็นการแยกแยะ "ความศรัทธา" ออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรมมาก

ผู้มาร่วมงานคนหนึ่งกล่าวว่า  ..  ผู้วายชนม์มีอายุมากแล้ว  แต่ท่านมารับใช้พระเจ้าผ่านการเป็นอาสาสมัครพับผ้าก๊อซให้กับโรงพยาบาลอยู่เป็นนิจ ...  เป็นการเล่าถึงการทำความดีด้วยการทำงานชิ้นเล็กๆแต่คุณค่ายิ่งใหญ่มากในความรู้สึกของเรา  ไม่ใช่การทำดีด้วยการบริจาคเงินทำบุญ ...

…“งานศพนั้นดีกว่างานรื่นเริง เพราะให้สติ” ….แนวคิดนี้ไม่ต่างจากพุทธ     

....ทุกคนชอบรับพร     แต่จงเป็น “ผู้เป็นพร” มากกว่าเป็นเพียง  “ผู้รับพร” .. บาทหลวงสอน

ผู้มาร่วมงานได้ร้องเพลงสวด   สมาชิกโบสถ์ของผู้ตายมาร้องเพลงพิเศษ   สมาชิกจากต่างโบสถ์มาร้องเพลงพิเศษอีกเพลง     ดอกไม้งานศพสวยงามมาจากเพื่อนร่วมโบสถ์   นักเปียโนฝีมือเยี่ยมที่มาช่วยบรรเลงเพลงก็เป็นเพื่อนร่วมโบสถ์   

เวลาผ่านไปสองชั่วโมง   ...

เท่าที่ทราบนั้น  สมาชิกโบสถ์  ผู้ร่วมร้องเพลง  ผู้ร่วมเล่นดนตรี  บาทหลวงผู้เทศน์  พวกเขาส่วนใหญ่เป็น "ชุมชน"คือร่วมโบสถ์เดียวกัน   เขาล้วนทำให้เพื่อผู้วายชนม์ด้วยรัก  ไม่มีการคิดค่าใช้จ่าย    เว้นแต่ค่าอาหารว่างเล็กน้อยสำหรับแขก

...และเนื่องด้วยการเลี้ยงดูบุตรอย่างเอาใจใส่ให้ทุกคนเคร่งครัดในความดี    รักพระเจ้าและรับใช้พระเจ้าด้วยการทำความดี

“สวัสดิการ”ที่ผู้วายชนม์ได้รับ คือ การไปอยู่กับพระเจ้า ...สบายใจกับลูกหลานที่ประสบความสำเร็จ   มีกัลยาณมิตรมาร่วมงานด้วยรักและอาลัยในวันสุดท้ายจนร่างฝังดิน   และทุกคนที่มาร่วมงาน ก็ได้ “สวัสดิการ”  คือ  ..สติและข้อคิดดีๆจากการมาร่วมพิธีศพนี้

 

 ...นี่คือ "สวัสดิการยามตาย"  ที่เราสรุปได้จากการร่วมพิธี..

 

 

หมายเลขบันทึก: 338201เขียนเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2010 18:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 11:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีครับอาจารย์

ผมสังเกตเรื่องนี้มาสักพักหนึ่งแล้วหลังจากได้ฟังเพื่อนเล่าถึงงานศพแบบคริสต์ ผมเดาเอาเองว่าคนทางฝั่งตะวันตกคุ้นเคยกับการพูดในที่สาธารณะมากกว่าทางตะวันออก และรู้สึกสะดวกใจกับการเปิดเผยและแสดงออกทางอารมณ์ (หลายๆ ครั้งผมเห็นคนใหญ่คนโตในบ้านเราทั้งภาครัฐและเอกชนถูกเชิญไปพูดงานต่างๆ ก็ยังพูดกันไม่ค่อยจะคล่อง วัฒนธรรมการเคารพอวุโสและการไม่รับฟังความคิดของผู้อ่อนกว่าก็อาจมีส่วนให้คนฝั่งตะวันออกเลือกที่จะปิดปากเงียบด้วย ว่าไหมครับ?)

การจัดงานแบบให้คนมากล่าวถึงความทรงจำดีๆ เกี่ยวกับผู้ที่จากไปนั้นสร้างมิติของบุคคลให้ลึกและกว้างมากขึ้น การพูดถึงคุณงามความดีหรือเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตของผู้จากไปยังช่วยให้ผู้อยู่ข้างหลังตระหนักถึงภาระในชีวิต อาจจะช่วยกระตุ้นให้เขาเหล่านั้นหันมาสะสมประสบการณ์ดีๆ ช่วยเหลือคนรอบข้างในช่วงเวลาชีวิตที่เหลืออยู่ ถือเป็นการเตือนสติอย่างที่อาจารย์กล่าวไว้ข้างต้น

ในทางจิตวิทยาการได้ทบทวนสรุปเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับชีวิตของตัวและของคนที่จากไปก็ช่วยสรุปบทเรียนให้ชีวิต เพื่อจะเปิดบทใหม่ให้ชีวิตได้ดำเนินต่อไปอีกด้วย

ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์วสะ

ที่เขียนไปนั้นเป็นความเห็นของคนพุทธที่ได้มีโอกาสเข้าโบสถ์คริสต์ 4 ครั้ง ครั้งแรกเป็นเด็ก เพื่อนชวนไปเยี่ยมชมโบสถ์อัสสัมชัญบางรัก ครั้งที่สองพาคณะจากติมอร์เลสเตไปสวดมนต์ที่โบสถ์ที่จันทบุรี ครั้งที่สาม ไปงานศพแบบคริสต์ที่พนัสนิคมแต่จัดที่บ้าน ครั้งนี้เป็นครั้งที่สี่ เป็นโบสถ์ใกล้ รร.กรุงเทพคริสเตียนค่ะ

ครั้งที่สามกับครั้งที่สี่นั้น เป็นการจัดงานคนละรูปแบบกันเลยค่ะ เดาว่าคงขึ้นอยู่กับเจ้าภาพ ในขณะที่ของพุทธ โดยเฉพาะในกรุงเทพฯจะมีรูปแบบคล้ายๆกัน โดยวัดเป็นคนกำหนด..

ความเห็นในเรื่องความคุ้นเคยหรือไม่คุ้นเคยกับการพูดในที่สาธารณะเป็นข้อคิดเห็นที่น่าฟังค่ะ มันคงมีประเด็นนี้อยู่จริงๆสำหรับวัฒนธรรมของเรา แต่คิดอีกที คนพูดเก่งๆก็มีอยู่ไม่น้อยนะคะ ยิ่งพูดจากใจ หรือเตรียมการมาบ้างก็น่าจะพอพูดได้ เพียงแต่วัฒนธรรมของเราไม่นิยมให้คน "แสดงความรู้สึก" กระมังคะ โดยเฉพาะในที่สาธารณะ

(แต่ทำไม เวลามาพูดอวยพรคู่แต่งงาน จึงทำได้ ยิ่งปัจจุบัน คู่หนุ่มสาวแต่งงาน ต้องมาฉายวิดีทัศน์เปิดเผยเบื้องหลังความสัมพันธ์..ยิ่งดูจะ "เข้าใจไม่ได้" ใหญ่ว่า .. ทำไปทำไม)

ธรรมเนียมการทำหนังสืองานศพก็เริ่มเปลี่ยนไป อาจซื้อหันังสือพระ หรืออื่นๆมามอบให้แทน แม้แต่ประวัติผู้วายชนม์สักหน้า บางครั้งก็ยังไม่เห็น ....

การจัดงานศพสะท้อนวิธีคิด ระบบคุณค่า ที่เปลี่ยนไปของสังคมไทยได้ดีค่ะ ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท