อำนาจของความรู้


เล่าเรื่องอำนาจของความรู้และการศึกษาเท่าที่คิดออกครับ

เพื่อนๆ อาจคิดไม่ถึงว่าความรู้มีอำนาจสูงมาก เรื่องนี้ควรจะมีการสอนในโรงเรียนเพื่อให้เยาวชนตระหนักถึงความสำคัญของการเรียนรู้ และการสร้างองค์ความรู้ สาเหตุที่ความรู้มีอำนาจมาก ได้แก่

1.ความรู้นั้นเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มากแต่มีคนรู้เพียงไม่กี่คน อันนี้จะทำให้ผู้ที่เป็นเจ้าของความรู้นั้นเป็นคนที่มีค่ามากขึ้นมาทันที แถวบ้านผมมีร้านก๋วยเตี๋ยวเนื้อ รสชาติอร่อยมาก อาเฮียบอกว่าเคล็ดลับอยู่ที่น้ำซุป ซึ่งเป็นสูตรที่เป็นความลับ ทำให้คนอื่นลอกเลียนแบบไม่ได้ คนกินต้องมาต่อแถวแย่งกันกินก๋วยเตี๋ยวที่หน้าตาธรรมดาๆ นี่เอง ถ้ามองในระดับใหญ่ขึ้น ทำไมบางประเทศคิดเทคโนโลยีขาย แม้ไม่ได้ผลิตในประเทศนั้นๆ เอง (โดยมากผลิตในจีนเพราะค่าแรงถูก) แต่ประเทศที่คิดเทคโนโลยีก็ได้ประโยชน์จากสินค้าของตนมากที่สุด บางประเทศผลิตเครื่องบินขายทั้งๆ ที่มีประชากรไม่กี่ล้านคนได้ บางประเทศเป็นศูนย์กลางของเศรษฐกิจโลก เขาทำได้อย่างไรถ้าเขาไม่มีความรู้บางอย่างที่เราไม่รู้ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีสื่อมากมาย เทคโนโลยีสารสนเทศ “ไอที” มีประสิทธิภาพสูงทำให้ความรู้แผ่กระจายได้อย่างรวดเร็ว ไม่นานคนที่ใฝ่รู้ก็จะมีความรู้เท่ากับคนที่สร้างความรู้ ถึงขั้นที่ว่า ต่อไปใครจะสร้างหรือผลิตอะไรที่ซับซ้อน อาจดึงข้อมูลหรือพิมพ์เขียวออกมาจากอินเทอร์เน็ต และก็สร้างที่ไหนในโลกเลยก็ได้ ดังนั้นถ้าจะเป็นมหาอำนาจทางด้านองค์ความรู้ เราต้องผลิตความรู้ใหม่ๆ ตลอดเวลา

2.ความรู้ใช้เป็นเครื่องมือต่อรองและคนอื่นไม่สามารถหาประโยชน์จากความไม่รู้ของเราได้ นึกถึงเวลาซื้อขายของก็ได้ เมื่อคนขายบอกว่าสินค้าดียังงั้นยังงี้ มีคุณสมบัติพิเศษมากมาย ทำให้สินค้านั้นต้องมีราคาแพง แต่ถ้าเรารู้ว่าคุณสมบัติบางอย่างจำเป็น บางอย่างไม่จำเป็น บางอย่างเป็นอะไรที่เรามีอยู่แล้ว เราก็จะไม่ต้องซื้อของที่แพงโดยไม่มีความจำเป็นได้ ในระดับบุคคลอาจไม่มีผลมาก แต่ในระดับประเทศแล้วปีๆ หนึ่งเราขาดทุนค่าเทคโนโลยีมหาศาลเลยทีเดียว ความไม่รู้นี้เป็นสาเหตุที่ทำให้ตลาดไม่สมบูรณ์และคนก็สามารถหาประโยชน์อย่างมากจากตลาดได้เสมอในขณะที่มีคนเสียประโยชน์อย่างมากด้วย ผลที่ตามมาคือเกิดช่องว่างระหว่างคนจนและคนรวย ในประเทศที่เจริญแล้วเขาจะส่งเสริมให้คนเรียนรู้ชั่วชีวิตด้วยการมีระบบการศึกษาที่ดี มีโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการศึกษา มีห้องสมุดที่เพียงพอและทันสมัย มีสื่อที่ให้ข้อมูลครบทุกด้าน มีคำเปรียบเปรยว่าความฉลาดของคนในประเทศดูได้จากความฉลาดของสื่อเลยทีเดียว นอกจากนี้ ผู้คนสามารถเรียนได้ตลอดเวลาไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ ไม่ว่าจะอยู่ในระบบโรงเรียนหรือไม่ ผู้อาวุโสก็ไม่อายที่จะเรียนรู้

3.ความรู้ทำให้เกิดความเชื่อมั่นและสร้างความหวัง และในทางตรงกันข้าม ความไม่รู้จะทำให้หดหู่ หมดกำลังใจ ท้อแท้ ยกตัวอย่างเช่น เรื่องของพลังงาน เมื่อเรารู้ว่าอีกไม่กี่สิบปี น้ำมันจะหมดโลก (เรียกว่าไม่คุ้มเชิงพาณิชย์ดีกว่า) แต่เราก็ยังรู้ว่ามีพลังงานทดแทนมากมาย หลายอย่างเป็นพลังงานหมุนเวียนนำกลับมาใช้ใหม่ได้และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมด้วย ปัญหาอาจจะอยู่ที่ความสามารถในการผลิตที่ยังต่ำทำให้มีราคาแพง เราก็มีความหวังว่า เมื่อมีคนค้นคิดเทคโนโลยีการผลิตที่มีประสิทธิภาพ เราก็จะมีเซลล์แสงอาทิตย์ เชื้อเพลิงไฮโดรเจน หรือเชื้อเพลิงไบโอใช้ในราคาย่อมเยาได้

4.ความรู้ทำให้เกิดคุณธรรม ความรู้จะทำให้เรามองเห็นภาพรวม มองเหตุและผลที่จะเกิดขึ้น ถ้าใจเรามีธรรมะ เราก็จะเลือกปฏิบัติในสิ่งที่ไม่มีผลกระทบทางลบหรือไปเบียดเบียนผู้อื่น ทั้งนี้เพราะแม้เราพยายามทำความดี แต่บนพื้นฐานของความไม่รู้ เราอาจจะไปเบียดเบียนผู้อื่นโดยไม่ได้ตั้งใจได้ นอกจากนี้ ความรู้บางอย่างเป็นดาบสองคม มีประโยชน์อนันต์ก็มีโทษมหันต์เช่นเดียวกัน ดังนั้น ผู้ที่มีความรู้มาก ก็ควรจะต้องมีความรับผิดชอบมาก และมีคุณธรรมประกอบมากขึ้นเป็นเงาตามตัว เรื่องของคุณธรรมเป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ควรฝึกเยาวชนตั้งแต่ยังเล็ก พ่อแม่เป็นครูคนแรก และโรงเรียนก็ต้องรับช่วงในการบ่มเพาะคุณธรรม อย่าสอนแต่เนื้อหาอย่างเดียว

5.ความรู้ทำให้เกิดความเท่าเทียมในสังคม ไม่ว่าเราจะตั้งใจหรือไม่ ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ชอบ สังคมของเราได้แบ่งออกเป็นชนชั้นต่างๆ มากมาย และการที่เราเป็นประเทศกำลังพัฒนาทำให้ชนชั้นต่างๆ ได้รับโอกาสในชีวิตไม่เท่าเทียมกัน และเป็นปัญหาที่ทำให้รัฐบาลต้องค่อยแก้ไข ปรุประ กันต่อไป อย่างไรก็ดี การศึกษา การมีความรู้ก็เป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้ช่องว่างระหว่างชนชั้นลดลง ทำให้คนชนชั้นหนึ่งกระโดดไปเป็นคนอีกชนชั้นหนึ่งได้ มีคนฝันว่า ถ้าประเทศเราเจริญกว่านี้ ทุกคนจะมีโอกาสที่ดีในชีวิตที่เท่าเทียมกัน 

6.ความรู้จะเป็นบันทัดฐานของสังคม อันนี้เพราะคนมักทำอะไรก็ตามอย่างที่เคยเชื่อๆ กันมา เนื่องจากความเชื่อที่ไม่มีการตรวจสอบนั้นอาจจะถูกหรืออาจจะผิดก็ได้ ดังนั้นถ้าคนในสังคมมีการศึกษาดี มีความรู้สูง สร้างความรู้ได้ด้วยตนเอง หรือมีผู้นำทางความคิด การปฏิบัติตนของสังคมนั้นๆ ก็จะมีพื้นฐานอยู่บนความรู้ที่ผ่านการกลั่นกรองมาแล้ว และแนวโน้มในอนาคตก็จะมีทิศทางของสังคมแห่งความรู้มากขึ้น คนมักจะเข้าใจผิดว่าความรู้จะได้ก็ต่อเมื่อผ่านกระบวนการเรียนการสอนเท่านั้น และมักจะอ้างถึงคนที่ประสบความสำเร็จแต่มีการศึกษาในระบบการศึกษาเพียงชั้น ป.4 (สมมติ) อันนี้เป็นการดูถูก (ไม่ได้ดูผิด) ระบบการศึกษาไทยด้วยและเป็นคำพูดไร้เดียงสาที่ไม่เข้าใจปรัชญาของการเรียนรู้ด้วย ความรู้ที่แท้จริงนั้นมีสองส่วน ได้แก่ ความรู้ตามตำราและความรู้ที่เกิดจากการปฏิบัติ การเรียนความรู้ตามตำราก็เรียนได้ทั้งในห้องเรียนและเรียนเพราะอยากรู้ในเวลาไหนก็ได้ สถานะใดก็ได้ ส่วนความรู้ที่เกิดจากการปฏิบัตินั้น เกิดจากประสบการณ์ การมั่นทำ มั่นคิด เกิดเป็นความเชี่ยวชาญชำนาญ และนำไปสู่การปฏิบัติเลิศ ในความเป็นจริงทุกคนในสังคมควรจะต้องมีความรู้ทั้งสองส่วน มิใช่หวังพึ่งความรู้จากตำราผ่านการเรียนการสอนในโรงเรียนอย่างเดียว แต่ควรขวนขวายหาความรู้อื่นๆ และสร้างองค์ความรู้จากการปฏิบัติด้วยควบคู่กันไป ผู้ที่มีแนวโน้มประสบความสำเร็จในชีวิตคือผู้ที่ต้องมีความรู้ทั้งสองส่วน

7.ความรู้เป็นอำนาจทางจิตวิทยา เรื่องนี้คงเป็นเรื่องที่เพื่อนๆ พบเจอในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว ถ้าเราเจอคนที่มีความรู้มากกว่า คนที่ประสบการณ์สูง เราจะรู้สึกเกรงๆ คนผู้นั้นอยู่แล้ว เป็นปรากฏการณ์ทางจิตวิทยาที่เกิดขึ้นกับทุกคน เวลาคนที่ดูมีความรู้มีประสบการณ์พูดอะไรก็ตาม คนฟังก็มีแนวโน้มจะเชื่อหรือปฏิบัติตามโดยง่าย หรือคนที่มีการศึกษาสูงๆ ก็สามารถชักจูงผู้คนที่อยู่รอบข้างได้ง่ายกว่าคนธรรมดา มีหมายเหตุอย่างนึงก็คือ คนที่มีความรู้มากก็จะต้องมีคุณธรรมมากตามไปด้วย ถ้าเก่งมากรู้มากแต่คุณธรรมต่ำเตี้ยติดดิน ก็อาจทำลายประเทศทั้งประเทศได้อย่างตัวอย่างที่มีให้เห็นอยู่ทั่วไป

8.องค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีใช้จัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระดับโลก ปัจจัยที่เป็นดัชนีชี้วัดมีหลายตัว อย่างเช่น การวิจัย การจดสิทธิบัตร ทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงการศึกษาวิทยาศาสตร์ของชาติ การสื่อสารโทรคมนาคม เครือข่ายอินเทอร์เน็ต คอมพิวเตอร์ การส่งออกนำเข้าเทคโนโลยี ฯลฯ สมมติฐานของการจัดอันดับคือ ประเทศที่มีระบบการศึกษาที่ดี สร้างองค์ความรู้ได้เอง มีความเจริญก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสูง ก็มีแนวโน้มของความสามารถในการแข่งขันอยู่ในระดับสูง ทั้งในแง่ของการส่งออกเทคโนโลยีและการมีอำนาจในการต่อรองสูงเมื่อมีการซื้อขายเทคโนโลยี เหล่านี้จะนำไปสู่ความสามารถในการพึ่งพาตนเองของประเทศนั้นๆ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ปัจจุบันประเทศอยู่ในอันดับที่ 34 ตามหลัง สิงคโปร์ จีน อินเดีย แม้กระทั่ง มาเลเซีย ก็อันดับสูงกว่าประเทศไทย

หมายเลขบันทึก: 338121เขียนเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2010 15:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

หากความรู้ที่ได้พัฒนาขึ้นไปนำด้วยคุณธรรม..ประเทศไทยจะอุดมสมบูรณ์แห่งพลังความผาสุขอย่างยั่งยืนนะคะ..

                  

ประกาศๆๆ อาจารย์หายไปนานมากๆๆคิดถึงๆๆๆ

ไปอาละวาดในเฟซบุ้คล่ะคร๊าบบบบ..

อาจารย์หายไปนานมากๆ สบายดีไหมครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท