สุนทรภู่ : อัจฉริยะกวีศรีสยาม (วิสัยทัศน์ ความรอบรู้ในศาสตร์ ศิลป์และจินตนาการ)


ตัวอย่างเหล่านี้เป็นส่วนน้อยนิดที่ปรากฏในผลงานของท่านสุนทรภู่ ซึ่งเพียงแค่นี้เราก็ยังได้เห็นถึงอัจฉริยภาพในเชิงวรรณศิลป์ ตลอดจนเนื้อหาที่ให้ความรู้ในด้านต่าง ๆ อย่างน่าทึ่งสมกับที่ท่านเป็นอัจฉริยะกวีศรีสยามที่สร้างสรรค์ผลงานนิพนธ์อันทรงคุณค่าแก่แผ่นดินไว้เป็นจำนวนมาก

              “ถ้าจะให้เลือกกวีไทยบรรดาที่มีชื่อเสียงปรากฏในพงศาวดาร คัดเอาแต่ที่วิเศษเพียง ๕ คน ใครๆก็เห็นจะต้องเอาชื่อท่านสุนทรภู่ไว้ในกวี ๕ คน นั้นด้วย”

               คำกล่าวข้างต้นของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (อ้างใน เปลื้อง ณ นคร ,สุนทรภู่ครูกวี ,๒๕๔๒) ทำให้เห็นว่า สุนทรภู่เป็นบรมครูที่เราชาวไทยรู้จักกันดี เพราะท่านเป็นอัจฉริยะกวีที่มีความชำนาญในการแต่งกลอนแปด หรือกลอนตลาด เป็นผู้แต่งกลอนบทละครเรื่องพระอภัยมณีแสนสนุก และแต่งนิราศชั้นเลิศเรื่องต่างๆ ไว้อีกมากมายจนนับไม่หวาดไหว

              ท่านสุนทรภู่มีชีวิตในยุคสมัยที่คล้ายคลึงกับเราในปัจจุบันอยู่มาก เพราะยุคสมัยของท่านก็เช่นเดียวกับยุคสมัยของเรา นั่นคือเป็นยุคสมัยที่ระบบความรู้ของสังคมกำลังถูกกระทบจากความรู้ใหม่ซึ่งหลั่งไหลมาจากภายนอก แม้ไม่ท่วมท้นเท่าปัจจุบัน แต่ก็เห็นได้ว่าเริ่มกระทบต่อฐานของความรู้หรือวิธีคิด ท่านมองเห็นโลกในวงกว้าง เห็นความเป็นจริงในชีวิต สุข ทุกข์ โศก ตลก ขบขัน ท่านจึงสามารถแต่งบทกวีแทรกคติชีวิตตามวิสัยทัศน์อันกว้างไกล ท่านได้แต่งบทกวีเรื่องต่างๆ ตั้งแต่ปลายสมัยรัชกาลที่ ๑ จนถึงสมัยรัชกาลที่ ๔ ไว้มากมาย

              สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (อ้างใน เปลื้อง ณ นคร ,ประวัติวรรณคดีไทย ,๒๕๔๓) ทรงสันนิษฐานว่า หนังสือบทกลอนที่สุนทรภู่แต่งมีมาก ที่ได้ยินแต่ชื่อเรื่องยังหาฉบับไม่พบก็มีที่หายสาบสูญไปเสียแล้วไม่ได้ยินชื่อเรื่องมาถึงชั้นนี้ที่เดียวก็เห็นจะมีเท่าที่รวบรวมได้มี ๒๓ เรื่อง ดังนี้  นิราศ ๙ เรื่อง ได้แก่ นิราศเมืองแกลง นิราศพระบาท นิราศภูเขาทอง (นิราศภูเขาทองได้รับการยกย่องให้เป็นยอดของกลอนนิราศ) โคลงนิราศเมืองสุพรรณ นิราศวัดเจ้าฟ้า นิราศอิเหนา รำพันพิลาป นิราศพระประธม และนิราศเมืองเพชรบุรี  นิทาน ๕ เรื่อง ได้แก่ โคบุตร พระอภัยมณี กาพย์เรื่องพระไชยสุริยา ลักษณวงศ์ และสิงหไกรภพ  สุภาษิตมี ๒ เรื่อง ได้แก่ สวัสดิรักษา เพลงยาวถวายโอวาท  บทละคร ๑ เรื่อง ได้แก่ อภัยนุราช  บทเสภา ๒ เรื่อง ได้แก่ เรื่องขุนช้างขุนแผนตอนกำเนินพลายงาม และเรื่องเสภา พระราชพงศาวดาร  บทเห่กล่อมมี ๔ เรื่อง ได้แก่ เห่เรื่องจับระบำ เห่เรื่องกากี เห่เรื่องพระอภัยมณี และเห่เรื่องโคบุตรเป็นบทเห่กล่อมพระบรรทม

               บทกวีนิพนธ์ของท่านสุนทรภู่เกือบทั้งหมดเป็นกลอนแปด เฉพาะนิราศสุพรรณเป็นโคลงสี่สุภาพ และพระไชยสุริยาและบทเห่เป็นกาพย์ ท่านสุนทรภู่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ต้นคิดกลอนตลาด หรือที่เรียกว่ากลอนสุภาพ คือ กลอนแปดนั่นเอง เป็นคำกลอนที่ใช้ถ้อยคำตรงๆ หรือ คำตลาด ฟังง่าย เข้าใจง่าย มีสัมผัสใน และมีระดับเสียงขึ้นลงเหมือนเสียงดนตรี ทำให้ฟังไพเราะรื่นหู ซึ่งไม่มีกวีผู้ใดเคยทำมาก่อน

               สมบัติ จันทรวงศ์ (๒๕๔๓ , หน้า ๒๗๔- ๒๗๕) ได้อธิบายโลกทัศน์สุนทรภู่ว่า ความเป็นกวีของสุนทรภู่มีลักษณะพิเศษ เพราะเป็นสามัญชนที่บังเอิญมีชีวิตใกล้ชิดกับทั้งราชสำนักและประชาชน สุนทรภู่จึงเป็นทั้งกวีผู้เขียนงาน และเป็นไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินผู้อยู่ใต้การปกครอง งานเขียนของสุนทรภู่จึงสะท้อนความคิดของสังคมไทยได้ดี และกว้างขวางกว่ากวีส่วนใหญ่ที่เป็นผู้ปกครอง ผลงานของสุนทรภู่จึงเป็นที่นิยมของคนทุกยุคทุกสมัย การใช้ฉันทลักษณ์ชนิด “กลอนตลาด” ยังทำให้เป็นที่นิยมติดตลาดผู้อ่าน ผลงานเขียนประเภทหนึ่งของสุนทรภู่นั้น คือ นิราศซึ่ง นอกจากมีแก่นเรื่องคร่ำครวญถึงหญิงคนรักและพรรณนาสิ่งที่เห็นในการเดินทาง แล้วยังเป็นคำประพันธ์แสดงความรู้สึกที่แท้จริง นิราศเป็นบทประพันธ์ประเภทที่สุนทรภู่แสดงออกถึงภาวะความเป็นจริงได้มากกว่าบทร้อยกรองชนิดอื่น

              มานิต หล่อพินิจ (๒๕๔๑) กล่าวว่าในบรรดาบทกวีนิพนธ์ของสุนทรภู่ ได้มีผู้แปลหรือย่อเรื่องเป็นภาษาต่างประเทศบ้างแล้ว เช่น นิราศเมืองแกลง นิราศพระประธม กาพย์พระไชยสุริยา รำพันพิลาป และพระอภัยมณี บทกวีนิพนธ์ที่ยิ่งใหญ่ของท่านสุนทรภู่ คือ พระอภัยมณี ซึ่งเป็นคำกลอนมีจำนวนถึง ๒๕,๔๑๒ คำกลอน ยาวกว่าบทกวีนิพนธ์สมัยกรีกโบราณอันลือโลกเรื่องอิลเลียดและออดิสซีย์ ของมหากวีโฮเมอร์ ซึ่งมีความยาวประมาณ ๑๒,๕๐๐ บทโศลก และสารานุกรมบริตานิกายกย่องว่า เป็นงานอันดับแรกและยิ่งใหญ่ที่สุดของวรรณคดีโลก บทกวีนิพนธ์ที่ยาวกว่าเรื่องพระอภัยมณี เห็นจะมีก็แต่มหาภารตะของอินเดียเท่านั้น

             ท่านสุนทรภู่ได้แสดงอัจฉริยภาพในเชิงศาสตร์ ศิลป์ และจินตนาการผ่านบทกวีนิพนธ์ทั้ง ๒๓ เรื่อง ดังนี้การสังเกตสิ่งต่าง ๆ ที่ได้พบเห็น บางสิ่งบางอย่างเป็นเรื่องที่ผู้อื่นมองข้าม แต่สุนทรภู่มีความละเอียดลออในการสังเกต เช่น จากนิราศเมืองแกลง ท่านพรรณนาถึงบ้านเรือนที่อยู่อาศัยในละแวกที่ผ่าน อีกตอนหนึ่งจากเรื่องโคลงนิราศเมืองสุพรรณ สุนทรภู่สังเกตสัตว์ที่ถูกใช้แรงงานหนักคือควาย ถูกเฆี่ยนตี ทั้ง ๆ ที่กำลังทำงาน ท่านสังเกตเห็นว่าควายน้ำตาไหลพรากเกิดความสงสาร แสดงว่าในจิตใจของท่านเต็มไปด้วยความเมตตา  นอกจากนั้นท่านสังเกตสิ่งรอบตัว เช่น การแต่งกาย ความเป็นอยู่ของแต่ละท้องถิ่น และพรรณาไว้ในบทกวีของท่านอีกมากมายหลายตอน

              ท่านสุนทรภู่เป็นคนรักหนังสือ รักการอ่าน การเขียน ดังที่ท่านได้รำพันไว้ในรำพันพิลาป ท่านมีความรอบรู้วรรณคดีไทย จีน และอินเดียเป็นอย่างดีจึงแทรกความรู้เรื่องวรรณคดีลงในกวีนิพนธ์หลายตอน ท่านมีความรู้เกี่ยวกับเทพเจ้าของอินเดีย ดังเห็นได้จากรำพันพิลาปในหลายตอน จะกล่าวถึงพระอิศวร พระนารายณ์ พระพาย เป็นต้น นอกจากนี้ท่านยังเป็นผู้ที่มีความรู้เรื่องคำบาลีสันสกฤตอย่างดี โดยสร้างคำศัพท์ใช้ในการประพันธ์ของสุนทรภู่มีหลักที่มาจากภาษาบาลีสันสกฤต

                ท่านสุนทรภู่ได้นำเค้าเรื่องบางอย่างจากวรรณคดีจีนเรื่องไซ่ฮั่นมาใช้ในการเขียนเรื่องพระอภัยมณี เช่น ตัวละครของสุนทรภู่ก็สะท้อนความรู้ข้อมูลใหม่ๆ เหล่านี้ออกมาเหมือนกัน เช่น อุศเรน นางละเวง นางเงือก ผีเสื้อสมุทร ซึ่งไม่อาจหาตัวละครในวรรณกรรมรุ่นก่อนเทียบได้เลย ให้พระอภัยมณีพระเอกของเรื่องมีวิชาผิดแผกไปจากพระเอกในวรรณคดีเรื่องอื่น ๆ คือมีความชำนาญในการเป่าปี่ โดยได้ความคิดมาจากเตียวเหลียงซึ่งชำนาญการเป่าปี่แก้ว สามารถสยบทหารศัตรูทั้งกองทัพได้ สุนทรภู่แต่งเรื่องให้พระอภัยมณีเป่าปี่หลายครั้ง เพลงเป่าของเตียวเหลียงและพระอภัยมณีเหมือนกันในทำนองเพลง ทำให้ผู้ฟังเคลิบเคลิ้ม ใจอ่อน คิดถึงบ้านทหารถึงกับทิ้งอาวุธไม่ยอมต่อสู้ หรือเป่าให้ผู้ฟังหลับใหลจนถึงขาดใจตายได้ ส่วนศรีสุวรรณชำนาญทางกระบอง ก็มีเค้ามูลจากเรื่องไซ่ฮั่นเช่นกัน พระเจ้าฌ้อปาอ๋องเป็นนักรบวิเศษด้วยฝีมือกระบอง แม้มีเกาทัณฑ์ยิงมารอบด้าน ก็กวัดแกว่งกระบองมิให้ลูกเกาทัณฑ์ต้องตัวได้ ศรีสุวรรณเรียนวิชากระบองกับอาจารย์ทิศาปาโมกข์ ที่มีฝีมือชำนาญกระบอง

                ท่านสุนทรภู่มีอัจฉริยภาพในเชิงกลอน สามารถใช้เป็นรูปแบบสำหรับเก็บศาสตร์ความรู้ด้านต่าง ๆ เอาไว้มากมาย เช่น ตำรายา ตำราโหราศาสตร์ และตำราอื่นๆ  เช่น ความรู้ในเรื่องดาราศาสตร์ คล้ายขงเบ้งในเรื่องสามก๊ก เช่น ตอนที่นางสุวรรณมาลีชี้ให้สินสมุทรกับนางอรุณรัศมีดูดาว นอกจากนั้นในเรื่องพระอภัยมณียังมีเรื่องการตั้งค่ายประตูกล การจัดทัพ แสดงว่าสุนทรภู่ต้องรู้เรื่องตำราพิชัยสงครามบ้าง 

               ท่านสุนทรภู่ยังเป็นนักฟังที่ดี ดังที่ นิธิ เอียวศรีวงศ์ (๒๕๔๗ , หน้า ๑๙๘) ได้กล่าวยกย่องสุนทรภู่เป็น “กระฎุมพี” ที่มีโลกกว้างขวางกว่ายุคก่อนๆ เพราะสุนทรภู่ได้ศึกษาค้นคว้าแสวงหาความรู้ แล้วเรียนรู้เท่าทันโลก โดยความรู้ของสุนทรภู่ได้จากประสบการณ์นอกระบบ คือ สนทนาหาความรู้จากบรรดาประชาชาติต่างๆ และกะลาสีเรือที่เข้ามาค้าขายกับกรุงสยามในสมัยรัชกาลที่ ๒ และรัชกาลที่ ๓ รวมทั้งจากเอกสารต่างๆ ที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือ สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคม  ท่านสดับรับฟังเรื่องราวเหตุการณ์บ้านเมืองต่าง ๆ จากผู้รู้ ทำให้รู้เรื่องของชาวต่างประเทศ วิสัยทัศน์อันกว้างไกล กอปรด้วยจินตนาการอันล้ำเลิศของท่าน สุนทรภู่จึงแต่งเรื่องพระอภัยมณีได้สนุกสนาน มีความคิดก้าวหน้าในทางวิทยาการหลายเรื่อง ดังนี้

              เรือกำปั่นใหญ่ของโจรสุหรั่ง ที่ว่ามีเรือสวนตึกใหญ่อยู่ในเรือ เป็นการพยากรณ์ความคิดทางวิทยาการการต่อเรือเดินสมุทรในปัจจุบัน สำเภายนต์ของพราหมณ์โมรา เป็นวิสัยทัศน์ที่มียานบินได้หรือเรือบินในปัจจุบัน พราหมณ์สานนเรียกลมฝนได้ ปัจจุบันมีฝนหลวงหรือฝนวิทยาศาสตร์ที่ตกได้ตามต้องการ พราหมณ์วิเชียรยิงธนูได้ที่ละเจ็ดลูก ปัจจุบันก็คือปืนกลนั้นเอง วิสัยทัศน์และจินตนาการอันก้าวหน้าของสุนทรภู่เร่งเร้าให้ผู้อ่านเกิดความตื่นเต้น และอยากอ่านตอนต่อไป

                ท่านสุนทรภู่ได้นำเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์มาสอดแทรกลงในเรื่องพระอภัยมณีด้วย ในสมัยนั้นประเทศอังกฤษมีสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียปกครอง และยึดเมืองลังกาเป็นเมืองขึ้นสุนทรภู่เกิดความบันดาลใจสร้างตัวละครให้มีฝรั่งคือนางละเวงวัณฬาปกครองเมืองลังกา  ส่วนศึกเก้าทัพตีเมืองผลึก สุนทรภู่ก็ได้เค้ามาจากพระเจ้าปะดุงของพม่ายกทัพมาตีไทยถึงเก้าทัพในสมัยรัชกาลที่ ๑ และพ่ายแพ้แก่ทัพไทย วีรกรรมครั้งนั้นสุนทรภู่คงจะประทับใจ จึงนำมาเป็นศึกเก้าทัพตีเมืองผลึก  ตอนศึกเจ้าละมาน พระอภัยมณีจับเจ้าละมานได้ให้นำไปขังกรงประจาน ก็คงได้รับความบันดาลใจจากศึกเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๑  ตอนหัสกันเผาเมืองการเวก สุนทรภู่คงจะได้รับความบันดาลใจจากการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๓๑๐ พม่าเผากรุงศรีอยุธยาพินาศเรื่องหีบเสียงเพลงของนางละเวง เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สุนทรภู่มีจินตนาการก้าวหน้า

              วิสัยทัศน์อันกว้างไกลของสุนทรภู่ยังมีอีกมากมาย เช่น ความรู้รอบด้านศิลปวัฒนธรรมไทยอัจฉริยภาพทางด้านวรรณศิลป์ สุภาษิตสอนใจ เช่น คำกลอนสอนใจให้เรารู้จักรอบคอบและระมัดระวังในการคบคน เพราะจิตใจของมนุษย์นั้นยากที่ใครจะคาดเดาได้แม้แต่ตัวของผู้นั้นเองท่านเปรียบให้เห็นว่าแม้เถาวัลย์จะคดโค้งอย่างไร ก็ยังเห็นไม่เหมือนใจคนและว่าน้ำใจความรักของพ่อแม่จึงจะเชื่อได้ อีกทั้งสอนว่าคนที่เราจะพึ่งพิงได้นั้นคือตัวของเรานั่นเอง

                นอกจากนี้ท่านยังว่าวิชาความรู้ก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะใช้เลี้ยงชีพต่อไปได้ แต่การมีวิชาความรู้ ก็ต้องรู้จักเอาตัวรอดด้วยจึงเป็นผลดี ในประโยคหลังนี้มีหลายคนไปตีความในทางลบ กล่าวว่าผู้ที่เอาตัวรอดนั้นเป็นคนเห็นแก่ตัวแต่โดยนัย ความหมายที่แท้จริงแล้ว หาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะท่านหมายถึงการที่คนเราต้องรู้จักหาทางช่วยตัวเองด้วยสติปัญญาอย่าให้อับจนหนทางต่างหาก  นอกจากนี้ยังมีสุภาษิต สำนวน คติธรรมคำสอนอีกเป็นอันมากที่เราสามารถนำมาใช้ในการดำเนินชีวิตได้อย่างดี             

              ความสามารถและความรอบรู้ดังกล่าวข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่าท่านเป็นอัจฉริยะกวี  ผู้มีความรู้มาก ในขณะเดียวกันก็เป็นผู้ใฝ่รู้ เพราะข้อมูลจำนวนมากในงานของท่านนั้นเกิดจากการได้อ่านตำรับตำรามามาก พร้อมกันไปกับการไต่ถามข้อมูลจากชาวบ้านด้วย ถึงทุกวันนี้ข้อมูลความรู้ที่ปรากฎในงานของสุนทรภู่ถูกใช้เป็นบรรทัดฐานอย่างหนึ่งสำหรับการทำงานพจนานุกรมและสารานุกรม             

              นับได้ว่าท่านสุนทรภู่มีความเป็นอัจฉริยะตามทฤษฎีพหุปัญญาของ โฮเวิร์ด การ์ดเนอร์ (อ้างใน อัจฉริยะสร้างได้ ,วนิษา เรซ ,๒๕๕๐ : ๑๖) ได้นำเสนอไว้ว่า ในการวัดระดับความสามารถของกลุ่มบุคคล อาทิ นักเต้นบัลเล่ต์ นักกีฬา นักแสดง นักกายกรรม นักดนตรี กวีและศิลปิน เป็นต้น โดยได้จำแนกอัจฉริยภาพของมนุษย์ออกเป็น ๘ ด้าน ดังนี้ ด้านภาษาและการสื่อสาร ด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว ด้านมิติสัมพันธ์และการจินตภาพ ด้านตรรกะและคณิตศาสตร์ ด้านความเข้าใจตนเอง ด้านมนุษย์สัมพันธ์ ด้านการเข้าใจธรรมชาติ ด้านจังหวะและดนตรี

             จากทฤษฎีพหุปัญญาดังกล่าวประกอบกับผลงานของท่านสุนทรภู่ที่ปรากฏ จึงสามารถกล่าวได้ว่า สุนทรภู่กวีเอกของไทยมีอัจฉริยภาพในด้านภาษาและการสื่อสารอย่างชัดเจนที่สุด ความเป็นเอกอัจฉริยะด้านภาษาในเชิงกลอน นี้เองที่ทำให้ท่านได้รับการยกย่องจากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) เป็นบุคคลสำคัญของโลก เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๙ ผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมหรือนัยหนึ่งเป็นกวีเอกของโลก

             สุนทรภู่นับได้ว่าเป็นผู้ทรงความรู้ในทางกวีนิพนธ์ทั้ง ๔ ประเภท ในบุคคลเดียวกัน ได้แก่  อรรถกวี คือ กวีที่แต่งบทประพันธ์ตามความเป็นจริง เช่น นิราศภูเขาทอง นิราศพระบาท ฯลฯ เป็นเรื่องที่ท่านได้เดินทางไปประสบพบเห็นด้วยตนเอง  สุตกวี คือ กวีที่แต่งบทประพันธ์จากการได้ยิน ได้ฟังมา เช่น เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนตอนกำเนิดพลายงาม  จินตกวี คือ กวีที่แต่งบทประพันธ์โดยความคิดของตนเอง เช่น เรื่องพระอภัยมณีเป็นเรื่องที่แต่งจากจินตนาการของท่านเอง เรื่องราวสนุกสนานเป็นที่ติดใจของคนทั่วไป  ปฏิภาณกวี คือ กวีที่มีไหวพริบเป็นเลิศ แต่งบทประพันธ์ได้อย่างรวดเร็วทันทีทันใด

             จากตัวอย่างดังกล่าวสรุปได้ว่าท่านสุนทรภู่เป็นอัจฉริยะกวีผู้มีพรสวรรค์เป็นพิเศษ ซึ่งไม่มีใครเทียบเท่าทั้งในอดีตและในปัจจุบันและอาจตลอดถึงในอนาคต ในการชมธรรมชาติ เช่น ชมนก ชมไม้ ชมสวน ชมป่าดงพงพี และขุนเขาลำเนาไพร ไม่ว่าจะในนิราศหรือในนิยายประโลมโลก ท่านได้จำแนกแยกแยะชนิด ลักษณะ สภาพ และความงดงามของนานาธรรมชาติไว้อย่างละเอียด โดยเฉพาะฝนการกล่าวถึงธรรมชาติของคน ทั้งในการชมโฉม การเกี้ยวพาราสี การแสดงความรัก ความหึงหวง การคร่ำครวญ ความโศกเศร้า หรือความอัศจรรย์ ท่านได้พรรณนาไว้อย่างพิสดารด้วยคารมที่คมคาย ไพเราะ ซาบซึ้ง ตรึงใจและไม่ซ้ำซ้อนกัน

              ในการพรรณนาถึงภาวะสิ่งแวดล้อม สภาพความเป็นอยู่และขนบธรรมเนียมประเพณีของคนในวัง ในกรุง ในชนบทหรือในป่าในดง ท่านก็พรรณนาไว้โดยละเอียดถี่ถ้วนเช่นเดียวกับการพรรณนาถึงลักษณะของราชรถ พระเมรุมาศ โบสถ์วิหาร ตลอดจนการรบทัพจับศึก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับนิยายประโลมโลกนั้นทุกเรื่องท่านได้วางเนื้อเรื่องไว้อย่างสุขุมรอบคอบ สมเหตุสมผล และเหมาะสมกลมกลืน ไม่มีขาดไม่มีเกิน ตัวสำคัญในเรื่องทุกเรื่องจะมีอุปนิสัย พฤติกรรม กริยาและคารมเสมอต้นเสมอปลายตลอดทั้งเรื่อง นอกจากนั้น ท่านยังได้ฝากภาษิตหรือคติธรรมตลอดจนคำสอนอันเป็นสัจจธรรมไว้ในวรรณกรรมของท่าน รวมทั้งความคิดล้ำยุคอันเกี่ยวกับสิ่งประดิษฐ์หลายอย่างที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และวิทยาการสมัยใหม่ที่คนในสมัยของท่านคิดไม่ถึงว่าจะเกิดมีขึ้น

              ตัวอย่างเหล่านี้เป็นส่วนน้อยนิดที่ปรากฏในผลงานของท่านสุนทรภู่ ซึ่งเพียงแค่นี้เราก็ยังได้เห็นถึงอัจฉริยภาพในเชิงวรรณศิลป์ ตลอดจนเนื้อหาที่ให้ความรู้ในด้านต่าง ๆ อย่างน่าทึ่งสมกับที่ท่านเป็นอัจฉริยะกวีศรีสยามที่สร้างสรรค์ผลงานนิพนธ์อันทรงคุณค่าแก่แผ่นดินไว้เป็นจำนวนมาก และเป็นผลงานที่ยกย่องของคนทั่วไปมาจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากเป็นผลงานที่มีความไพเราะ สนุกสนาน และแฝงด้วยคติสอนใจ อีกทั้งยังมีคุณค่าทางด้านประวัติศาสตร์ ในเรื่องของสภาพบ้านเมืองที่สะท้องถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี  นี่คือข้อสรุปของความเป็นอัจฉริยะในเชิงวรรณศิลป์อันสูงส่งของกวีศรีสยาม

                 สุนทรภู่ “อัจฉริยะกวีศรีสยาม”      ผู้ลือนามบทกลอนอักษรสาร

      ประพันธ์พาทย์ศาสตร์ศิลป์จินตนาการ          เป็นตำนานกลอนกาพย์ตราบชั่วกาล

 

***********************

 

 

บรรณานุกรม 

กรมศิลปากร.(๒๕๒๙). รวมนิทาน สุภาษิต และบทเห่กล่อม ของสุนทรภู่.

                    กรุงเทพฯ : โครงการฉลอง 200 ปี กวีเอกสุนทรภู่.

นิธิ  เอียวศรีวงศ์. (๒๕๔๗). วัฒนธรรมกระฎุมพีกับวรรณกรรมต้นรัตนโกสินทร์.

                   กรุงเทพฯ : อมรินทร์.

                 . (๒๕๔๗). สุนทรภู่ "ความรู้ใหม่" โยงใย "ความรู้เก่า" ในยุคสมัย

                   แห่งความเปลี่ยนแปลงด้านความรู้. กรุงเทพฯ : ศิลปวัฒนธรรม.

เปลื้อง ณ นคร.(๒๕๔๒). สุนทรภู่ครูกวี. กรุงเทพฯ : ข้าวฟ่าง.

                  . (๒๕๔๓). ประวัติวรรณคดีไทย. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช.

มานิต หล่อพินิจ. (๒๕๔๑). ประวัติชีวิตและผลงานของสุนทรภู่. กรุงเทพ ฯ :

                  โรงพิมพ์ทิพยวิสุทธิ์ จำกัด.

วนิษา เรซ. (๒๕๕๐). อัจฉริยะสร้างได้. (พิมพ์ครั้งที่ ๙). ปทุมธานี : บจก. เรด.

ศรีสิทธิ์ ฉะอ้อนศรี และพิสมัย ฉะอ้อนศรี. (๒๕๔๕). ประวัติพระสุนทรโวหาร

               (สุนทรภู่)กรุงเทพฯ : หจก. มณฑลการพิมพ์.

สมบัติ จันทรวงศ์. (๒๕๔๓). โลกทัศน์ทางการเมืองของสุนทรภู่. กรุงเทพฯ :

                บรรณกิจจำกัด.

 

หมายเลขบันทึก: 337803เขียนเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2010 18:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 03:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • เข้ามาอ่านอัจฉริยะกวีไทยค่ะ
  • ขอบคุณมากนะคะ

รูปภาพบทกวีสสุนทรภู่

ขอบคุณมากมาย ชอบมากเลย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท