เด็กวัฒฯ
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกำแพงเพชร คนวัฒนธรรม

เรื่องของกล้วย


ประวัติของกล้วย 
    กล้วยเป็นไม้ผลที่คนไทยรู้จักกันมานาน เนื่องจากกล้วยมีถิ่นกำเนิดในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งในภูมิภาคดังกล่าว จากการศึกษาพบว่า กล้วยมีวิวัฒนาการถึง ๕๐ ล้านปีมาแล้ว ดังนั้นจึงเป็นไม้ผลที่มนุษย์รู้จักบริโภคเป็นอาหารกันอย่างแพร่หลาย เชื่อกันว่ากล้วยเป็นไม้ผลชนิดแรกที่มีการปลูกเลี้ยงไว้ตามบ้าน และได้แพร่พันธุ์จากเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปยังดินแดนอื่นๆ ในระยะเวลาต่อมา
          กล้วยมีการปลูกกันมากในเอเชียใต้ แม้ในปัจจุบัน ประเทศอินเดียเป็นประเทศที่มีการปลูกกล้วยมากที่สุดในโลก และมีพันธุ์กล้วยมากมายอีกด้วย เหมาะสมกับที่มีการกล่าวกันไว้ในหนังสือของชาวอาหรับว่า “กล้วยเป็นผลไม้ของชาวอินเดีย” ต่อมาได้มีหมอของจักรพรรดิโรมันแห่งกรุงโรมชื่อว่า แอนโตนิอุส มูซา (Antonius Musa) ได้นำหน่อกล้วยจากอินเดียไปปลูกทางตอนเหนือของอียิปต์ เมื่อประมาณ ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว หลังจากนั้นมีการแพร่ขยายพันธุ์กล้วยไปในดินแดนของแอฟริกาที่ชาวอาหรับเข้าไปค้าขายและพำนักอาศัย จนกระทั่งเมื่อประมาณ ค.ศ. ๙๖๕ ได้มีการกล่าวถึงกล้วยว่า ใช้ในการประกอบอาหารชนิดหนึ่งของชาวอาหรับ ซึ่งอร่อยและเป็นที่เลื่องลือมาก ชื่อว่า กาลาอิฟ  (Kalaif) เป็นอาหารที่ปรุงด้วยกล้วย เมล็ดอัลมอนด์ น้ำผึ้ง ผสมกับน้ำมันนัต (Nut oil) ซึ่งสกัดจากผลไม้เปลือกแข็งชนิดหนึ่ง นอกจากใช้ประกอบอาหารแล้ว ชาวอาหรับยังใช้กล้วยทำยาอีกด้วย  ชาวอาหรับเรียกกล้วยว่า “มูซา” ตามชื่อของหมอที่เป็นผู้นำกล้วยเข้ามาในอียิปต์เป็นครั้งแรก
          ในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๕ ชาวโปรตุเกสได้เดินเรือไปค้าขายบริเวณชายฝั่งตะวันตกของทวีปแอฟริกา และได้นำกล้วยไปแพร่พันธุ์ที่หมู่เกาะคะแนรี  ซึ่งตั้งอยู่นอก ชายฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของทวีป หลังจากนั้น ชาวสเปนจึงได้นำกล้วยจากหมู่เกาะ คะแนรีเข้าไปปลูกในหมู่เกาะอินดีสตะวันตก  นอเมริกากลาง โดยเริ่มปลูกที่อาณานิคมซันโตโดมิงโก  บนเกาะฮิสปันโยลา เป็นแห่งแรก แล้วขยายไปปลูกที่เกาะอื่นในเวลาต่อมา ส่งผลให้ดินแดนในอเมริกากลางมีการปลูกกล้วยเป็นพืชเศรษฐกิจกันอย่างแพร่หลาย และนับตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ เป็นต้นมา ได้กลายเป็นแหล่งปลูกกล้วยส่งเป็นสินค้าออกมากที่สุดของโลก โดยปลูกมากในประเทศคอสตาริกา และประเทศฮอนดูรัส
 

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
           กล้วยมีลักษณะทางพฤกษศาสตร์ที่สำคัญๆ ดังนี้
              - ลำต้น กล้วยมีลำต้นอยู่ใต้ดินเรียกว่า หัว หรือเหง้า (rhizome) ที่หัวมีตา (bud)  ซึ่งจะเจริญเป็นต้นเกิดหน่อ (sucker) หลายหน่อ เรียกว่า การแตกกอ หน่อที่เกิด หรือต้นที่เห็นอยู่เหนือดิน ความจริงแล้วมิใช่ลำต้น เราเรียกว่า ลำต้นเทียม (pseudostem) ส่วนนี้เกิดจากการอัดกันแน่นของกาบใบที่เกิดจากจุดเจริญของลำต้นใต้ดิน กาบใบจะชูก้านใบ และใบ และที่จุดเจริญนี้จะมีการเจริญเป็นดอกตามขึ้นมาหลังจากสิ้นสุดการเจริญของใบ ใบสุดท้ายก่อนการเกิดดอก เรียกว่า ใบธง
              - ดอก ดอกของกล้วยออกเป็นช่อ (inflorescence) ในช่อดอกยังมีกลุ่มของช่อ ดอกย่อยเป็นกลุ่มๆ ระหว่างกลุ่มของช่อดอกย่อยแต่ละช่อจะมีกลีบประดับ หรือที่เราเรียกกันว่า กาบปลี (bract)  มีสีม่วงแดงกั้นไว้ กลุ่มดอกเพศเมียอยู่ที่โคน และกลุ่มดอกเพศผู้อยู่ที่ปลาย เป็นส่วนที่เราเรียกว่า หัวปลี  (male bud)  ระหว่างกลุ่มดอกเพศเมียและดอกเพศผู้มีดอกกะเทย แต่บางพันธุ์ก็ไม่มี ในช่อดอกย่อยแต่ละช่อมีดอกเรียงซ้อนกันอยู่  ๒ แถว ถ้าเป็นดอกเพศเมีย ดอกเหล่านี้จะ เจริญต่อไปเป็นผล
              - ผล  ผลกล้วยเกิดจากดอกเพศเมีย ซึ่งอยู่ที่โคน กลุ่มของดอกเพศเมีย ๑ กลุ่ม เจริญเป็นผล เรียกว่า ๑ หวี ช่อดอกเจริญเป็น ๑  เครือ ดังนั้นกล้วย ๑ เครืออาจมี ๒ - ๓  หวี  หรือมากกว่า ๑๐ หวี ทั้งนี้แล้วแต่พันธุ์กล้วยและการดูแล    ผลของกล้วยมีการเจริญได้โดยไม่ต้องผสมพันธุ์ จึงทำให้กล้วยส่วนใหญ่ไม่มีเมล็ด
              -  เมล็ด  เมล็ดกล้วยมีลักษณะกลมเล็ก  บางพันธุ์มีขนาดใหญ่ เปลือกหนา แข็ง มีสีดำ
              - ราก เป็นระบบรากฝอย แผ่ไปทางด้านกว้างมากกว่าทางแนวดิ่งลึก
              - ใบ ใบกล้วยมีลักษณะเป็นแผ่นใบใหญ่ มีความกว้างประมาณ ๗๐ - ๙๐ เซนติเมตร ความยาว ๑.๗ - ๒.๕ เมตร  ปลายใบมน  รูปใบขอบขนาน โคนใบมน และแผ่นใบมีสีเขียว
ประโยชน์ของกล้วย
         กล้วยมีความผูกพันในวิถีชีวิตคนไทยมาช้านาน คนไทยรู้จักใช้ประโยชน์จากต้นกล้วย นอกจากบริโภคเป็นอาหารแล้ว ทุกส่วนของกล้วยยังนำมาใช้ในพิธีกรรมต่างๆ รวมทั้งในชีวิตประจำวันด้วย
การใช้ประโยชน์ในการบริโภค
          กล้วยเป็นผลไม้ที่มีเปลือกหุ้มเช่นเดียวกับผลไม้อื่นๆ แต่วิธีการปอกเปลือกกล้วยนั้น ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือ เพียงใช้มือเด็ดปลายหรือจุก ก็สามารถปอกเปลือกได้ด้วยมือและรับประทานได้ทันที จึงเป็นผลไม้ที่รับประทานง่าย ดังคำโบราณว่า “ง่ายเหมือนปอกกล้วยเข้าปาก” นอกจากปอกเปลือกง่ายแล้ว กล้วยสุกเมื่อรับประทานแล้ว ก็จะลื่นลงกระเพาะได้ง่าย และย่อยง่าย ด้วยเหตุที่กล้วยลื่นลงกระเพาะได้ง่าย ทำให้บางคนไม่ค่อยเคี้ยวกล้วยซึ่งเป็นวิธีการที่ผิด การรับประทานกล้วยจำเป็นต้องเคี้ยวให้ละเอียด เพราะกล้วยมีแป้งร้อยละ  ๒๐ - ๒๕  ของเนื้อกล้วย  ถ้าเคี้ยวไม่ละเอียด น้ำย่อยในกระเพาะต้องทำงานหนัก  หากย่อยไม่ทันกล้วยจะอืดในกระเพาะ  อย่างไรก็ตามกระเพาะของคนใช้เวลาในการย่อยกล้วยสั้นกว่าการย่อยส้ม นม กะหล่ำปลี  หรือแอปเปิล  ดังนั้นคนไทยจึงนิยมใช้กล้วยที่ขูดเอาแต่เนื้อ ไม่เอาไส้ บดละเอียดให้ทารกรับประทาน นอกจากทารกแล้ว  คนชราก็รับประทานกล้วยได้ดีเช่นกัน ในกรณีคนหนุ่มสาว กล้วยเหมาะสำหรับคนที่ต้องการลดความอ้วน เนื่องจากกล้วยมีคุณค่าทางอาหารสูงพอๆ กับมันฝรั่ง แต่มีปริมาณไขมัน คอเลสเตอรอล และเกลือแร่ต่ำ กล้วยมีโซเดียมเพียงเล็กน้อยแต่มีโพแทสเซียมสูง การมีโพแทสเซียมสูงนี้จะช่วยลดความดันโลหิตลงได้ ในประเทศอินเดียมีความเชื่อว่า หากรับประทานกล้วย ๒ ผลต่อวัน จะสามารถลดความดันโลหิตได้ถึงร้อยละ ๑๐ ภายในระยะเวลา ๑ สัปดาห์
         กล้วยยังเป็นผลไม้ที่เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหาร และท้องเสียบ่อย เพราะสามารถช่วยลดแก๊สในกระเพาะอาหารได้ กล้วยเมื่อยังดิบจะมีแป้งมาก  แต่เมื่อสุกแป้งจะเปลี่ยนเป็นน้ำตาล ดังนั้นหากท้องเดิน การกินกล้วยดิบจะช่วยทำให้อาการท้องเดินหยุดได้ และเมื่อเป็นโรคกระเพาะ ให้กินกล้วยที่สุกแล้ว สำหรับกล้วยที่ทำให้สุกด้วยความร้อน วิตามินจะลดลง
การใช้ประโยชน์ในพิธีกรรมต่างๆ และในชีวิตประจำวัน
          ในพิธีทางศาสนา เช่น การเทศน์มหาชาติ และการทอดกฐิน มักใช้ต้นกล้วยประดับธรรมาสน์ และองค์กฐิน
          ในพิธีตั้งขันข้าว  หรือค่าบูชาครูหมอตำแย  สำหรับผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ และไปขอให้หมอตำแยทำคลอดให้ จะต้องใช้กล้วย  ๑  หวี พร้อมทั้งข้าวสาร หมากพลู  ธูปเทียนสำหรับการทำพิธีบูชาครูก่อนคลอด และเมื่อคลอดแล้วจะต้องอยู่ไฟ ก็ยังใช้ต้นกล้วยทำเป็นท่อนล้อมเตาไฟ ป้องกันการลามของไฟ
          ในพิธีทำขวัญเด็ก  เมื่อเด็กอายุได้ ๑  เดือน กับ ๑ วัน มีการทำขวัญเด็กและโกนผมไฟ จะมีกล้วย ๑ หวี เป็นส่วนประกอบในพิธีด้วย
          ในพิธีแต่งงาน  มักมีต้นกล้วยและต้นอ้อยในขบวนขันหมาก  พร้อมทั้งมีขนมกล้วย และกล้วยทั้งหวี เป็นการเซ่นไหว้เทวดาและบรรพบุรุษ
          ในการปลูกบ้าน  เมื่อมีพิธีทำขวัญยกเสาเอก จะใช้หน่อกล้วยผูกมัดไว้ที่ปลายเสาร่วมกับต้นอ้อย และเมื่อเสร็จพิธีก็จะมีการลาต้นกล้วยและต้นอ้อยนั้น นำมาปลูกไว้ในบริเวณบ้าน จากนั้นประมาณ ๑ ปี หรือเมื่อปลูกบ้านเสร็จแล้วพร้อมอยู่อาศัย ก็มีกล้วยไว้กินพอดี
          ในงานศพ ในสมัยโบราณ มีการนำใบตองมารองศพ ก่อนนำศพวางลงในโลง 
             นอกจากนี้ใบตองยังมีบทบาทสำคัญมากในพิธีกรรมต่างๆ โดยการนำมาทำกระทงใส่ของ ใส่ดอกไม้ และประดิษฐ์เป็นกระทงบายศรี
          ในชีวิตประจำวัน ใช้ใบตองในการห่อผักสดและอาหาร เนื่องจากใบตองสดมีความชื้น  ดังนั้นเมื่อใช้ห่อผักสดหรืออาหาร ความชื้นจะช่วยรักษาผักหรืออาหารให้สดอยู่เสมอ นอกจากนี้ใบตองยังทนทานต่อความเย็นและความร้อน ดังนั้นเมื่อนำใบตองห่ออาหารแล้วเอาไปปิ้ง นึ่ง ต้ม ใบตองก็จะไม่สลายหรือละลายเหมือนเช่นพลาสติก จึงมีอาหารหลายอย่างที่ห่อใบตองแล้วนำไปนึ่ง เช่น ห่อหมก ข้าวต้มผัด  ขนมกล้วย  ขนมตาล  ขนมใส่ไส้  หรือเอาไปปิ้ง เช่น ข้าวเหนียวปิ้ง หรือนำไปต้ม  เช่น  ข้าวต้มมัด หรือข้าวต้มจิ้ม อาหารเหล่านี้เมื่อนำไปต้ม ปิ้ง หรือนึ่งแล้ว ยังทำให้เกิดความหอมของใบตองอีกด้วย สำหรับใบตองแห้งนำมาใช้ทำกระทงเพื่อใส่อาหาร ห่อกะละแม มวนบุหรี่ โดยใบตองแห้งก็จะมีกลิ่นหอมเช่นกัน ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้มีการทดลองนำเอาใบตองแห้งมาอัดกันแน่นหลายๆ ชั้น ทำเป็นภาชนะใส่ของแทนการใช้โฟมได้อีกด้วย
             ใบตองแห้งยังนำไปใช้ในงานศิลปกรรมไทยได้อีกหลายอย่าง  เช่น นำไปทำรักสมุก  ในงานของช่างเขียน  ช่างปั้น  ช่างแกะ  และช่างหุ่น เพราะรักสมุกใบตองแห้ง ช่วยในการเคลือบและปกป้องเนื้อไม้ ขัดแต่งง่าย เมื่อแห้งผิวเป็นมัน น้ำหนักเบา เหมาะในการทำหัวโขน และการลงรักปิดทอง 
             ในสมัยโบราณ เมื่อยังใช้เตารีดที่เป็นเตาถ่าน หากเตาร้อนมากไปก็เอามารีดบนใบตองสด ก่อนนำไปรีดบนผ้า เพราะใบตองมีสารจำพวกขี้ผึ้งหุ้มอยู่ ขี้ผึ้งจะช่วยเคลือบเตารีด ทำให้รีดผ้าไม่ติด
          กาบกล้วย ใช้ในศิลปะการแทงหยวกไว้ที่เชิงตะกอนเวลาเผาศพ ส่วนใหญ่ใช้กาบกล้วยตานี เพราะกาบกล้วยตานี ขาวสะอาด ทำให้หยวกที่แทงมีลวดลายสวยงาม งานแทงหยวกเป็นงานที่ต้องทำหลายคนแล้วเอามาประกอบกัน โดยช่างผู้ทำต้องสลักเป็นลายไทยต่างๆ เช่น กระจังตาอ้อย  กระหนกเปลว  ครีบสิงห์  แข้งสิงห์  รักร้อย และเครือเถา  นอกจากนี้กาบกล้วยยังนำมาฉีกเป็นเส้นใหญ่ๆ ใช้มัดผักเป็นกำๆ เช่น  ชะอม  ตำลึง เพื่อให้ความชื้นกับผัก  เพราะกาบกล้วยมีน้ำอยู่มาก ถ้าฉีกเป็นเส้นเล็กๆ ก็ใช้มัดของแทนเชือกได้ กาบกล้วยเมื่อแห้งอาจนำมาทำเป็นเชือกกล้วย  สำหรับผูกของและสานทำเป็นภาชนะรองของ หรือสานเป็นกระเป๋าสุภาพสตรี นอกจากนี้ใยของกาบกล้วยยังนำมาใช้ทอผ้าได้ด้วยเช่นกัน
          ต้นกล้วย ที่หั่นเป็นท่อนๆ  อาจใช้เป็นทุ่นลอยน้ำให้เด็กๆ ใช้หัดว่ายน้ำ หรือนำมาทำเป็นแพสำหรับตั้งสิ่งของให้ลอยอยู่ในน้ำ
          ก้านกล้วย  เมื่อเอาแผ่นใบออกแกนกลางหรือเส้นกลางใบ อาจนำมาใช้มัดของ หรือนำมาทำของเล่นเด็กๆ ได้ เช่น ทำเป็นม้าก้านกล้วย และปืนก้านกล้วย ซึ่งเป็นของเล่นของเด็กไทยในสมัยก่อน
ประโยชน์ของกล้วย
        ประโยชน์ของกล้วยไม่ใช่เพียงแค่เพิ่มพลังงานเท่านั้น ยังช่วยเอาชนะ และป้องกันโรคต่างๆ ที่จะเกิดกับร่างกายได้อีกหลายโรคเลยค่ะ ส่วนจะช่วยป้องกันโรคใดได้บ้างนั้นราไปหาข้อมูลมาให้แล้ว ดังนี้
     1. โรคโลหิตจาง ในกล้วยมีธาตุเหล็กสูงจะเป็นตัวช่วยกระตุ้นการผลิตฮีโมโกลบินในเลือด และจะช่วยในกรณีที่มีสภาวะขาดกำลัง หรือภาวะโลหิตจาง
    2. โรคความดันโลหิตสูง มีธาตุโปรแตสเซียมสูงสุด แต่มีปริมาณเกลือต่ำ ทำให้เป็นอาหารที่สมบูรณ์แบบที่สุดที่จะช่วยความดันโลหิตมาก อย.ของอเมริกา ยินยอมให้อุตสาหกรรมการปลูกกล้วยสามารถ โฆษณาได้ว่า กล้วยเป็นผลไม้พิเศษช่วยลดอันตรายอันเกิดจากเรื่องความดันโลหิตหรือโรคเส้นเลือดฝอยแตก
   3. กำลังสมอง มีงานวิจัยพบว่ากินกล้วยมื้ออาหารเช้า ตอนพัก และมื้ออาหารกลางวันทุกวัน เพื่อช่วยส่งเสริมกำลังของสมองในพวกเขา ได้รับผลดีจากการสอบตลอดปี ด้วยการจากงานวิจัยแสดงให้เห็นว่าปริมาณโปรแตสเซียมที่มีอยู่เต็มเปี่ยมในกล้วยสามารถให้นักเรียนมีการตื่นตัวในการเรียนมากขึ้น
    4. โรคท้องผูก ปริมาณเส้นใยและกากอาหารที่มีอยู่ในกล้วยช่วยให้การขับถ่ายเป็นปกติ และยังช่วยแก้ปัญหาโรคท้องผูกโดยไม่ต้องกินยาถ่ายเลย
    5. โรคความซึมเศร้า จากการสำรวจ เพราะมีโปรตีนชนิดที่เรียกว่า Try Potophan เมื่อสารนี้เข้าไปในร่างกายจะ ถูกเปลี่ยนเป็น Rerotonin เป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นตัวผ่อนคลายปรับปรุงอารมณ์ให้ดีขึ้นได้ คือทำให้เรารู้สึกมีความสุขเพิ่มขึ้นนั่นเอง
    6. อาการเมาค้าง วิธีที่เร็วที่สุดที่จะแก้อาการเมาค้าง คือ การดื่มกล้วยปั่นกับนมและน้ำผึ้ง กล้วยจะทำให้ กระเพาะของเราสงบลง ส่วนน้ำผึ้งจะเป็นตัวช่วยหนุนเสริมปริมาณน้ำตาลในเส้นเลือดที่หมดไปในขณะที่นมก็ช่วย ปรับระดับของเหลวในร่างกายของเรา
    7. อาการเสียดท้อง กล้วยมีสารลดกรดตามธรรมชาติที่มีผลต่อร่างกายของเรา ถ้าปัญหาเกี่ยวกับอาการเสียด ท้อง ลองกินกล้วยสักผล คุณจะรู้สึกผ่อนคลายจากอาการเสียดท้องได้
    8. ความรู้สึกไม่สบายในตอนเช้า การกินกล้วยเป็นอาหารว่างระหว่างมื้ออาหาร จะรักษาระดับน้ำตาลในเส้นเลือดให้คงที่ เพื่อหลีกเลี่ยงความรู้สึกไม่สบายในตอนเช้า
    9. ยุงกัด ก่อนใช้ครีมทาแก้ยุงกัด ลองใช้ด้านในของเปลือกกล้วยทาบริเวณที่ถูกยุงกัด มีหลายคนพบอย่างมหัศจรรย์ว่า เปลือกกล้วยสามารถแก้เม็ดผื่นคันที่เกิดจากยุงกัดได้
    10. ระบบประสาท  การกินกล้วยที่มีวิตามินบี 6 ซึ่งประกอบด้วยสารควบคุมระดับกลูโคสที่สามารถมีผลต่ออารมณ์ ช่วยทำให้ระบบประสาทสงบลงได้
    11. โรคลำไส้เป็นแผล กล้วยเป็นอาหารที่แพทย์ใช้ควบคุม เพื่อต้านทานการเกิดโรคลำไส้เป็นแผล เพราะเนื้อของกล้วยมีความอ่อนนิ่มพอดี เป็นผลไม้ชนิดเดียวที่ทานได้ง่ายๆ ไม่ยุ่งยากสำหรับผู้ที่มีปัญหาเรื่องโรคลำไส้เรื้อรัง และกล้วยยังมีสภาพเป็นกลางไม่เป็นกรด ทำให้ลดการระคายเคือง และยังไปเคลือบผนังลำไส้และกระเพาะอาหารด้วย
    12. การควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย กล้วย คือผลไม้ที่สามารถทำให้ อุณหภูมิเย็นลงได้ทั้งทางร่างกายและจิตใจ 
   13. ความสับสนของอารมณ์เป็นครั้งคราว กล้วยสามารถช่วยในเรื่องของอารมณ์และความสับสนได้ เพราะในกล้วยมีสารตามธรรมชาติ Try Potophan ทำให้อารมณ์ดี
   14. การสูบบุหรี่ กล้วยสามารถช่วยคนที่กำลังพยายามเลิกสูบบุหรี่ เนื่องจากในกล้วยมีปริมาณของวิตามินซี เอ บี6 และบี 12 ที่สูงมาก และยังมีโปรแตสเซียมกับแมกนีเซียม ที่ช่วยทำให้ร่างกายฟื้นคืนตัวได้เร็วอันเป็นผล จากการลดเลิกนิโคตินนั่นเอง
   15. ความเครียด โปรแตสเซียมที่มีอยู่สูงมากในกล้วยจะช่วยให้การเต้นของหัวใจเป็นปกติ การส่งออกซิเจน ไปยังสมอง และปรับระดับน้ำในร่างกายให้เกิด ความสมดุล
   16. เส้นเลือดฝอยแตก จากการวิจัยที่ลงในวารสาร "The New England Journal of Medicine" การกินกล้วยเป็นประจำสามารถลดอันตรายที่เกิดกับเส้นโลหิตแตกได้ถึง 40%
   17. โรคหูด การรักษาหูดด้วยวิธีทางเลือกแบบธรรมชาติ โดยการใช้เปลือกของกล้วยวางปิดลงไปบนหูด แล้วใช้แผ่นปิดแผลหรือเทปติดไว้ให้ด้านสีเหลืองของเปลือกกล้วยออกด้านนอก ก็จะสามารถรักษาโรคหูดให้หายได้
 คราวนี้รู้หรือยังล่ะว่า กล้วย  ไม่ใช่เรื่องกล้วย ๆ อีกต่อไป..

                                                                   โดย  นางจันทรา  กุลนันทคุณ
                                                                 นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ

หมายเลขบันทึก: 337786เขียนเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2010 17:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท