การเลี้ยงลูกที่ถูกวิธี


เลี้ยงลูกถูกวิธี วัยแรกเริ่ม วัยหลักของชีวิต

  (อ้างอิง)

1. รู้จักลูกวัยแรกเริ่ม

ระยะตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ถึงอายุ 5 ปี เป็นช่วงเวลาสำคัญที่สุด ของการสร้างรากฐาน ชีวิตจิตใจของมนุษย์ เพราะร่างกายเติบโตเร็ว โดยเฉพาะสมอง เจริญเติบโตสูงสุด ในช่วงนี้เท่านั้น เด็กมีความรู้สึก รับรู้สัมผัสทั้งรูป รส กลิ่น เสียง กายสัมผัส และยังเลียนแบบอย่าง ตั้งแต่แรกเกิด เด็กเล็กๆ เรียนรู้จากประสบการณ์ การเลี้ยงดู และภาวะแวดล้อม ได้เร็ว และฝังลึกในจิตใจ การเลี้ยงดูเด็กวัยนี้ จึงส่งผล ทั้งที่เป็นคุณและโทษ แก่ชีวิตได้ ในระยะยาว

เด็กในวัยแรกเริ่มนี้ จะมีชีวิตรอด และเติบโตได้ ก็ด้วยการพึ่งพาพ่อแม่ และผู้ใหญ่ ที่ช่วยเลี้ยงดู และปกป้องจากอันตราย หากผู้ใหญ่ ให้ความรักเอาใจใส่ ใกล้ชิด อบรมเลี้ยงดู โดยเข้าใจลูก พร้อมจะตอบสนอง ความต้องการพื้นฐานของลูก ที่เปลี่ยนตามวัย ได้อย่างเหมาะสม ให้สมดุลกัน ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สติปัญญา และสังคมแล้ว ลูกก็จะเติบโต แข็งแรง แจ่มใส มีความมั่นคงทางใจ รู้ภาษา ใฝ่รู้และใฝ่ดี พร้อมที่จะพัฒนาตนเอง ในขั้นต่อไป ให้เป็นคนเก่ง คนดี อยู่ในสังคมอย่างเป็นสุข และมีประโยชน์

2. เตรียมตัวเป็นพ่อแม่ที่ดี สำหรับลูกวัยแรกเริ่ม

2.1 เตรียมพร้อมก่อนมีลูก

2.1.1 มีความพร้อมทั้งกาย ใจ และสังคม

"พร้อม" ในที่นี้หมายความว่า ผู้ที่จะเป็นพ่อแม่ จะต้องพร้อมทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และสังคม

ความพร้อมทางร่างกาย ก็คือ จะต้องมีอายุ ไม่ต่ำกว่า 18 ปี มีสุขภาพแข็งแรง ทั้งกายและใจ ไม่เป็นโรค ที่ถ่ายทอดไปถึงลูก โดยช่วงอายุที่เหมาะสม ของฝ่ายหญิง ที่จะตั้งครรภ์ คือ 20 - 35 ปี ส่วนการวางแผน สำหรับการมีลูก คนต่อไปนั้น ควรจะห่างกัน อย่างน้อย 2 ปี เพื่อสุขภาพของทั้งแม่ และลูก พ่อแม่จะได้มีเวลา เลี้ยงดูลูกแต่ละคน อย่างเต็มที่

ส่วนความพร้อมทางจิตใจนั้น หมายถึง ความต้องการมีลูกจริงๆ และตั้งใจจะเลี้ยงดูเขา ด้วยความรัก เอาใจใส่ อดทน และเสียสละ มีความรู้เกี่ยวกับ การเลี้ยงดูเด็ก พอสมควร เพื่อที่จะเข้าใจ ธรรมชาติของเด็ก สามารถแก้ไขปัญหาพื้นฐานได้ และไม่เครียดกับการเลี้ยงลูก จนเกินไป

ความพร้อมทางสังคม หมายถึง ควรจะอยู่ในสถานภาพ มีเวลาและมีรายได้พอเพียง ที่จะดูแลรับผิดชอบชีวิตหนึ่ง ที่เพิ่มขึ้นมาในครอบครัว

2.1.2 ตรวจร่างกายและตรวจเลือด

การตรวจนี้ จะทำให้รู้ว่า ทั้งคู่หรือคนใดคนหนึ่ง มีโรคถ่ายทอด ทางพันธุกรรม หรือโรคติดเชื้อ ที่จะส่งผล มาถึงลูกหรือไม่ เพื่อจะได้ป้องกันเสียก่อน เช่น โรคโลหิตจาง ธาลัสซีเมีย และโรคติดเชื้อ ทางเพศสัมพันธ์ เช่น ซิฟิลิส ตับอักเสบบี และเอดส์

เพื่อป้องกันไม่ให้ลูก มีความพิการแต่กำเนิด จากโรคหัดเยอรมัน ถ้าฝ่ายหญิง ไม่เคยเป็นหัดเยอรมัน หรือไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน ก็ควรไปรับวัคซีนป้องกัน หัดเยอรมัน ก่อนการตั้งครรภ์ อย่างน้อย 3 เดือน

2.1.3 จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย

ควรจดทะเบียนสมรส ก่อนที่จะมีลูก เพราะหากพ่อแม่ ไม่จดทะเบียนสมรส ลูกที่เกิดมาจะเป็นเพียง "บุครโดยชอบด้วยกฎหมาย ของมารดา" แต่เป็น "บุตรนอกกฎหมายของบิดา" ซึ่งจะทำให้มีปัญหายุ่งยาก ทางกฎหมายตามมา ในเวลาข้างหน้า รวมทั้งอาจทำให้เกิด ปัญหาสังคมได้อีกด้วย

2.2 ดูแลในระยะตั้งครรภ์และให้นมลูก

การดูแลที่ดีตั้งแต่ตั้งครรภ์ เป็นหน้าที่ของทั้งพ่อและแม่ ที่จะช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อความรู้สึกที่ดี และสัมพันธภาพ ระหว่างพ่อ-แม่-ลูก ที่จะเริ่มต้น ตั้งแต่บัดนั้น

2.2.1 ฝากครรภ์แต่เนิ่นๆ

พ่อควรจะรีบพาแม่ ไปฝากครรภ์ ตั้งแต่เริ่มรู้ว่าตั้งครรภ์ และพาไปรับการตรวจ ตามกำหนดนัดจากแพทย์ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพราะจะได้รับการดูแลสุขภาพ ตั้งแต่แรก ถ้ามีอาการที่อาจจะเป็นปัญหา เป็นอันตราย หรือที่เรียกว่า "ภาวะเสี่ยง" จะได้ระวังป้องกัน และให้ความช่วยเหลือ ได้ทันท่วงที ในกรณีที่พบ ความผิดปกติ ซึ่งจะเป็นการลดอันตราย จากการตั้งครรภ์ และการคลอดได้

การไปตรวจสุขภาพ ของแม่ตั้งครรภ์นั้น จะได้รับบริการ ดังนี้
* ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง วัดความดันโลหิต
* ตรวจสุขภาพทั่วไป ตรวจฟัน และตรวจเต้านม
* ตรวจครรภ์ เพื่อดูการเจริญเติบโตของเด็ก
* ตรวจปัสสาวะ เพื่อตรวจหาโรคเบาหวานและโรคไต
* ตรวจเลือด เพื่อหาภาวะโลหิตจาง และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
* ตรวจสอบภาวะเสี่ยงอันตราย และอาการผิดปกติต่างๆ เพื่อการดูแลรักษา ตั้งแต่แรก
* รับวัคซีน ป้องกันโรคบาดทะยัก 2 ครั้ง
* รับยาเม็ด เสริมธาตุเหล็ก แคลเซียม และวิตามิน
* รับยาไอโอดีน เฉพาะในบางพื้นที่ ที่ขาดธาตุไอโอดีน เช่น ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บางแห่ง

2.2.2 กินอาหารครบคุณค่า

เพราะแม่มีลูกอยู่ในครรภ์อีกทั้งคน จึงต้องการอาหารเพิ่มขึ้น เพื่อสุขภาพของแม่เอง และเพื่อการเจริญเติบโตของลูกในครรภ์ รวมทั้งเพื่อเตรียมสร้างน้ำนม ให้เพียงพอ สำหรับการเลี้ยงดูลูกด้วย การกินอาหารให้ครบถ้วนนั้น จะต้องกินให้ครบ 5 หมู่ และน้ำหนักตัวของแม่ ควรจะเพิ่มขึ้น ประมาณ 10-12.5 กิโลกรัม ตลอดระยะการตั้งครรภ์

2.2.3 อาหารสำหรับแม่ตั้งครรภ์ และให้นมลูก
อาหาร ปริมาณอาหารต่อหนึ่งวัน
หญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมลูก
นม 2-3 แก้ว 2-3 แก้ว
ไข่ 1 ฟอง 1 ฟอง
เนื้อสัตว์ ปลา หรือ
ถั่วเมล็ดแห้ง
10 ช้อนโต๊ะ 12 ช้อนโต๊ะ
ข้าวสวย 5 ถ้วย 5-6 ถ้วย
ผัก 1 1/2-2 ถ้วย 1 1/2-2 ถ้วย
ผลไม้ มื้อละ 1-2 ผล หรือ
1-2 ชิ้นของผลใหญ่
มื้อละ 1-2 ผล หรือ
1-2 ชิ้นของผลใหญ่
ไขมัน/น้ำมันพืช 4 ช้อนชา 5 ช้อนชา
*1 ถ้วยคือ 16 ช้อนโต๊ะ

2.3 ลูกเกิดรอด แม่ปลอดภัย

2.3.1 คลอดกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข

ในการคลอดแต่ละครั้ง แม่อาจจะมีความเสี่ยงต่ออันตรายบ้าง ไม่มากก็น้อย จึงจำเป็นต้องให้แพทย์ พยาบาล ผดุงครรภ์ หรือหมอตำแย ที่ได้รับการอบรมแล้ว เป็นผู้ทำคลอดให้ อย่างถูกวิธี สะอาดและปลอดภัย พร้อมทั้งตรวจหา ความผิดปกติ และแก้ไขปัญหา ที่อาจเกิดขึ้น พ่อแม่ควรขอให้เจ้าหน้าที่ บันทึกวิธีการคลอด น้ำหนักแรกเกิดของลูก และสิ่งที่ตรวจพบ ลงในสมุดสุขภาพของลูก จะได้เป็นประวัติสุขภาพต่อไป

2.3.2 แม่-ลูกใกล้ชิดกันเร็วที่สุด

แม่ควรจะได้เห็นหน้าลูก และใกล้ชิดกัน ตั้งแต่ในครึ่งชั่วโมงแรก หลังคลอด เพื่อสร้างความผูกพัน และควรให้ลูกได้เริ่มดูดนมแม่ โดยเร็วที่สุด เพื่อเป็นการตุ้นน้ำนม ให้หลั่งออกมาตามปกติ และควรให้ลูกได้ดูดน้ำนมช่วงแรก ซึ่งเป็นหัวน้ำนม สีเหลืองค่อนข้างใสด้วย เพราะมีคุณค่าทางอาหารสูง และมีภูมิต้านทางโรค หลายชนิด

การได้รับสัมผัสโอบกอด จากแม่และดูดนมแม่ตั้งแต่ชั่วโมงแรก และบ่อยๆ ต่อเนื่องกัน ตามที่เด็กต้องการ จะเป็นการกระตุ้นพัฒนาการของเด็ก และสนองตอบความตื่นตัว ของระบบประสาทของเด็ก ซึ่งมีคุณค่ามากที่สุด

ส่วนพ่อ ก็ควรมีส่วนร่วมตั้งแต่แรกเริ่ม โดยสนใจดูแลใกล้ชิด และให้กำลังใจแก่แม่ ช่วยดูแลให้แม่ ได้กินอาหารที่มีประโยชน์ และพักผ่อนเพียงพอ ช่วยแบ่งเบา ภาระอื่น ของแม่ เพื่อให้แม่ได้พักฟื้น และมีเวลาเลี้ยงลูก ได้อย่างเต็มที่

2.3.3 แจ้งเกิดลูกภายใน 15 วัน

เพราะเด็กทุกคน เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าที่สุด ของประเทศชาติ เด็กทุกคนมีสิทธิตามกฎหมาย ที่จะมีชื่อ นามสกุล และสัญชาติ พ่อแม่ จึงต้องไปแจ้งการเกิดของลูก ต่อนายทะเบียนท้องที่ ณ เขต หรืออำเภอที่เกิด หรือที่อื่นที่แจ้งได้ภายใน 15 วัน นับแต่ลูกเกิด ทั้งนี้ไม่ว่าจะเกิดที่บ้าน หรือที่โรงพยาบาลก็ตาม

3. เลี้ยงลูกให้เติบโตและปลอดภัย

3.1 อาหารการกิน

3.1.1 นมแม่ดีที่สุด

นมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุด เพียงอย่างเดียว สำหรับทารกแรกเกิด จนถึงอายุ 3 เดือน เพราะมีสารอาหาร เหมาะสมครบถ้วน ย่อยง่าย มีคุณสมบัติพิเศษ ช่วยป้องกันโรคติดเชื้อ และสารกระตุ้นการเติบโต ของสมองและอวัยวะอื่นๆ ซึ่งไม่มีอยู่ในนม ชนิดอื่นใด การเลี้ยงลูก ด้วยนมแม่ เพิ่มความผูกพันใกล้ชิด ระหว่างแม่กับลูก และช่วยประหยัดได้ด้วย

แม่ที่เลี้ยงลูก ด้วยนมแม่ ควรกินอาหารที่มีคุณค่า ครบถ้วนเพียงพอทุกวัน เพื่อสร้างน้ำนมให้ลูก

เพราะนมแม่มีประโยชน์ต่อลูกมาก ถึงลูกจะได้รับอาหารอื่น เพิ่มขึ้นแล้ว ก็ควรให้ลูกกินนมแม่ต่อไป เท่าที่จะทำได้ หรือถึง 18 เดือน

การให้นม แม่ควรจะอุ้ม มองหน้าสบตา คุยด้วย หลังให้นม ควรอุ้มยกตัวเด็กขึ้นสักครู่ เพื่อให้เรอ จะช่วยให้ท้องไม่อืด และไม่แหวะนมง่าย

3.1.2 เมื่อไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

ถ้ามีเหตุจำเป็น ที่ทำให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไม่ได้ แม้จะได้ปรึกษาหมอ และพยาบาลแล้ว อย่ากังวลหรือเสียใจ จนเกินไป ควรให้นมผสม ที่เหมาะสมแก่ลูก โดยเลือกประเภท นมผงดัดแปลง สำหรับทารก ตามอายุ เช่น อายุก่อน 6 เดือน และนมผงดัดแปลง สูตรต่อเนื่อง สำหรับอายุ 6 เดือน ถึง 3 ปี เป็นต้น ซึ่งต้องผสมนม ให้ถูกส่วน ตามฉลาก และต้องรักษาความสะอาด อย่างเคร่งครัด โดยต้มจุกและขวดนม ในน้ำสะอาด จนเดือด นาน 10 นาที หรือนึ่งนาน 25 นาที ก่อนใช้ทุกครั้ง เวลาให้นมลูก ควรอุ้มขึ้นมาแนบตัว เหมือนท่าทาง การให้นมแม่ เพื่อความอบอุ่น เพิ่มความใกล้ชิดผูกพันกัน ไม่ควรปล่อยขวดนมคาปาก ให้ลูกดูดโดยลำพัง เพราะลูกอาจสำลักได้ และไม่ควรให้ลูกดูดขวดนม จนหลับคาขวด เพราะจะทำให้ติดนิสัย เป็นสาเหตุให้ฟันผุได้ เมื่อฟันขึ้น

ข้อควรระวัง ห้ามใช้นมข้นหวานเลี้ยงทารก และเด็กเล็กโดยเด็ดขาด

3.1.3 อาหารตามวัย

ในช่วง 3 เดือนแรก แม่ควรให้ลูกกินนมแม่อย่างเดียว ตลอด 3 เดือน อย่าให้ข้าวหรือกล้วย แก่ลูกก่อนอายุ 3 เดือน เพราะใน 3 เดือนแรก กระเพาะของเด็ก ยังไม่พร้อม สำหรับการย่อยอาหารอื่น นอกจากนม

เมื่อลูกอายุ 4 เดือน ขึ้นไป ลูกจะต้องการอาหารมากขึ้น ทั้งปริมาณ และชนิดอาหาร เพื่อการเจริญเติบโตของร่างกาย ที่เพิ่มขึ้น นอกจากจะให้ลูกดื่มนมแม่ ต่อไปเรื่อยๆ ให้นานที่สุดแล้ว พ่อแม่ควรเริ่มหัดให้ลูก ได้กินอาหารอื่น ที่เหมาะสมตามวัย ให้สอดคล้องกับความต้องการ และฝึกให้ลูก ได้พัฒนาการเคี้ยว การกลืน อีกด้วย การให้อาหาร ควรป้อนทีละน้อย ค่อยๆ เพิ่มชนิด และปริมาณ ระยะแรก บดให้ละเอีย ดและเหลว ต่อมา บดให้พยาบขึ้น เมื่ออายุ 7-8 เดือน เพื่อฝึกให้ลูก ใช้ฟันบดเคี้ยว พอลูกอายุ 1-2 ขวบ สอนให้ลูก หัดดื่มนมจากแก้ว หยิบ หรือตักอาหารกิน ด้วยตนเอง และให้กินอาหาร ร่วมสำรับกับครอบครัว

3.1.4 แนวทางการให้อาหารตามวัย มีดังนี้

อายุ 4 เดือน เริ่มให้ข้าวต้ม หรือข้าวสุก บดละเอียด ผสมน้ำแกงจืด และไข่แดงต้มสุก หนึ่งในสี่ฟอง ที่บดละเอียดแล้ว เริ่มป้อนให้ลูก วันละ 1-2 ช้อนโต๊ะ อาจสลับ หรือเพิ่มกล้วยน้ำว้าสุกบดหรือครูด มะละกอสุกครูดหรือบด 1-2 ช้อนโต๊ะ และค่อยๆ เพิ่มปริมาณขึ้น วันละเล็กวันละน้อย

อายุ 5-6 เดือน นอกจากไข่แดงต้มสุกแล้ว ควรเริ่มให้ลูกได้รับเนื้อปลา และเนื้อสัตว์อื่นๆ เช่น ไก่ หมู เนื้อวัว รวมทั้งตับสัตว์ ซึ่งสับหรือบดละเอียด ปรุงสุก คลุกเคล้ากับข้าวบด โดยไม่ต้องปรุงแต่งรส ควรเพิ่มผักบางชนิด ทั้งผักใบเขียว หรือผักสีเหลือง เช่น ผักตำลึง ผักบุ้ง ผักกาดขาว ฟักทอง ถั่วต้ม ซึ่งปรุงสุก เปื่อยนิ่มและบดละเอียด

เมื่อลูกอายุ 6 เดือน ควรให้อาหารเหล่านี้ประมาณ 1/2 - 1 ถ้วย คือ 8 - 16 ช้อนโต๊ะ เป็นอาหารหลักแทนนมแม่ได้ 1 มื้อ

อายุ 7 เดือนขึ้นไป ถึง 1 ขวบปี ควรเพิ่มความหลากหลาย ของชนิดอาหาร ทั้งเนื้อสัตว์ ไข่ ตับ ปลา ถั่ว เต้าหู้ และผัก ให้มากขึ้น เพิ่มปริมาณ จนเป็นอาหารหลัก แทนนมได้ 2-3 มื้อ โดยมีสัดส่วน ข้าวหรืออาหารแป้ง 3-4 ส่วน ต่อเนื้อสัตว์ 1 ส่วน และผัก 2-3 ส่วน ก็จะได้คุณค่าทางอาหารพอเหมาะ สำหรับลูกวัยนี้ และค่อยๆ ฝึกให้เด็กหัดเคี้ยว และกลืนอาหาร โดยตัดเป็นชิ้นเล็ก ทำให้สุกอ่อนนุ่มและบด พอหยาบๆ

3.1.5 อาหารทารก ใน 1 วัน
อายุ อาหาร
แรกเกิด
ถึง 3 เดือน
น้ำนมแม่ แต่เพียงอย่างเดียว อย่าให้ข้าวหรือกล้วย
3 เดือน น้ำนมแม่ ข้าวบด 1 - 2 ช้อนคาว และน้ำแกงจืด สลับกับกล้วยน้ำว้าสุกงอมบด
4 เดือน น้ำนมแม่ กล้วยน้ำว้าสุกงอมบด 1 ผล ข้าวบด 1 - 2 ช้อนคาว กับไข่แดงต้มสุกครึ่งฟอง และน้ำแกงจืด
5 เดือน น้ำนมแม่ กล้วยน้ำว้า หรือผลไม้สุกบด 3 ช้อนคาว ข้าวบด 2 - 4 ช้อนคาว กับไข่แดงต้มสุก 1 ฟอง สลับกับ เนื้อปลาสุกบด และน้ำแกงจืด
6 เดือน น้ำนมแม่ ผลไม้สุกบด 3 ช้อนคาว ข้าวบด 4 - 6 ช้อนคาว กับไข่แดงต้มสุก 1 ฟอง สลับกับ เนื้อปลาสุกบด ใส่ผัก และน้ำแกงจืด
7 เดือน น้ำนมแม่ ผลไม้สุก ข้าวบด กับไข้ต้มสุก หรือเนื้อปลาสุกบด หรือเนื้อหมูสุกบด หรือตับบด ใส่ผักสุกบด และน้ำแกงจืด
8-10 เดือน น้ำนมแม่ กินข้าว 2 มื้อ ผลไม้สุก ข้าวบด กับไข้ต้มสุก หรือเนื้อปลาสุกบด หรือเนื้อไก่สุกบด ใส่ผักสุกบด และน้ำแกงจืด
10-12 เดือน น้ำนมแม่ กินข้าว 3 มื้อ ผลไม้สุก ข้าวหุงจนนุ่ม กับไข้ต้มสุก หรือเนื้อปลาสุก หรือเนื้อวัวสุกบด หรือเนื้อไก่ต้มสุก หรือตับ และน้ำแกง จืดใส่ผัก
3.1.6 อาหารสำหรับเด็กอายุ 1-5 ปี ใน 1 วัน
อาหาร ปริมาณอาหาร คำแนะนำเพิ่มเติม
นม 2 แก้ว นมสด หรือนมผสม นอกเหนือจากนมแม่ ซึ่งให้ต่อไปได้ ถึงขวบครึ่ง
ไข่ 1 ฟอง ไข่ไก่ หรือไข่เป็ด (สุกๆ เพราะย่อยง่าย)
เนื้อสัตว์(สุก) 3-4 ช้อนโต๊ะ กินอาหารทะเล และเครื่องในสัตว์ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง**
ข้าวสวย 1-2 ถ้วย หุงแบบไม่เช็ดน้ำ หรือนึ่ง
ผัก 1/2-1 ถ้วย กินผักใบเขียว และผักอื่นๆ ด้วย ทุกมื้อ
ผลไม้ มื้อละ 1/2-1 ผล ผลไม้สดตามฤดูกาล หรือน้ำผลไม้คั้น
ไขมันหรือน้ำมัน 2 ช้อนชา ควรกินน้ำมันพืชมากกว่าน้ำมันสัตว์
1. ถ้าไม่ได้กิน นมหรือไข่ ควรกินอาหารประเภทเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้น อีกอย่างน้อย 2-3 เท่า
2. อาหารสำหรับเด็ก ควรตัดให้เป็นชิ้นเล็ก สุก และเคี้ยวง่าย
3. 1 ถ้วย คือ 16 ช้อนโต๊ะ

3.2 เล่น ออกกำลังกาย และพักผ่อน

3.2.1 เล่นและออกกำลัง

พ่อแม่ควรจัดเวลา และสถานที่ เพื่อให้ลูกได้เคลื่อนไหว ออกกำลังกาย และเล่นได้ อย่างปลอดภัย ลูกควรมีเวลา คืบคลาน เกาะเดิน หรือวิ่งเล่น และได้ออกกำลังกาย ในที่โล่งกว้างและปลอดภัย เพราะการเล่นมีความสำคัญ สำหรับเด็กทุกคน ทุกวัย ลูกจะเรียนรู้ได้มาก จากการเล่น จะสนุกสนาน กับการค้นพบสิ่งใหม่ๆ จากการเล่น กับคนที่เขาเล่นด้วย ได้แสดงออก ได้เล่น เลียนแบบท่าทาง และเสียงอย่าง "จ๊ะเอ๋" จับปูดำ วิ่งไล่จับ กระโดดขาเดียว เล่นขายของ เล่นของเล่น หรือเล่นของใช้ในบ้าน ที่ไม่เป็นอันตราย ฯลฯ

พ่อแม่ควรเล่นกับลูก จัดหาของ และเครื่องเล่น ที่น่าสนใจ เหมาะสมกับวัย และความสามารถ ให้ลูกได้สนุก กับการเรียนรู้ ด้วยการเล่น อย่างปลอดภัย หากเห็นว่า ลูกแจ่มใส ร่าเริง มีความสุข และเพลิดเพลิน แสดงว่า การเล่น และออกกำลังกายของลูก อยู่ในระดับพอดี ซึ่งจะเกิดผลดี ทำให้เด็ก คล่องแคล่ว กระฉับกระเฉง กล้ามเนื้อแข็งแรง ฝึกความคิดสร้างสรรค์ และเรียนรู้การแก้ไขปัญหา ได้ดี

3.2.2 ข้อควรระวัง

* ห้ามเล่น ไม้ขีดไฟ ของมีคม สารพิษ สัตว์มีพิษ และปลั๊กไฟ
* การเล่นโลดโผนรุนแรง
* การเลียนแบบที่ไม่ดี เช่น เล่นอาวุธ เล่นผิดเพศ
* สถานที่ที่ไม่ปลอดภัย เช่น ที่สูง ถนน ใกล้น้ำ
* ควรให้เด็กอยู่ในสายตาของผู้ใหญ่
* ของเล่นที่มีพิษมีภัย เช่น สีสดใส อาจมีสารพิษหรือตะกั่ว บางชิ้นแตกหักง่าย อาจทำให้บาดเจ็บ หรือติดคอสำลักได้ เกมส์กด วิดีโอเกมส์ ตู้ม้าไฟฟ้า จะบั่นทอนสุขภาพ และชักนำให้เด็ก มีนิสัยติดการพนันด้วย

3.2.3 การพักผ่อนเป็นเรื่องสำคัญ

เด็กๆ ควรจะได้นอนหลับพักผ่อน อย่างเพียงพอ เพราะเด็กที่นอนหลับไม่พอ จะโตช้า และมีปัญหาด้านการเรียนรู้ และอารมณ์หงุดหวิดได้

หลังจากการเล่น และออกกำลังกายแล้ว ควรมีเวลาพักผ่อน อย่างเหมาะสม ในที่ที่สงบ และอากาศถ่ายเทได้ดี และต้องระวัง ไม่ให้ยุงกัดลูก

3.2.4 ช่วงเวลานอนหลับตามอายุ
อายุ เวลานอนหลับ
(ชั่วโมง/วัน)
ลักษณะการนอน
แรกเกิด - 2 เดือน 16-18 หลับช่วงสั้นๆ หลายรอบ
1 ปีแรก 14-16 นอน 2-3 ช่วง ทั้งกลางวันและกลางคืน ต่อมา
เมื่ออายุ 10-12 เดือน กลางคืนนอนช่วงยาวขึ้น
จนตลอดคืน (20.00-06.00 น.)
1 - 2 ปี 12-14 กลางคืนนอนตลอด (20.00-06.00 น.)
กลางวัน 1 ช่วง ( 2 ชั่วโมง)
2 - 5 ปี 10-12 กลางคืนนอนตลอด (20.00-06.00 น.)
กลางวัน 1 ช่วง (1-2 ชั่วโมง)
3.2.5 ดูแลฟันน้ำนม

ฟันน้ำนมเริ่มขึ้น เมื่ออายุ 6-8 เดือน จนครบ 20 ปี เมื่ออายุ 2 ปีครึ่ง จะเริ่มหลุด เมื่ออายุ 6 ปี เมื่อฟันแท้เริ่มขึ้น ฟันน้ำนมมีประโยชน์ ในการเคี้ยวอาหาร ช่วยให้ฟันแท้ ขึ้นถูกตำแหน่ง ไม่เก ช้อนกัน และช่วยให้เด็กพูดชัด
เมื่อฟันน้ำนม ถูกถอนก่อนกำหนด อาจทำให้การเจริญของกระดูกขากรรไกร หยุดชะงัก ผลตามมาคือ ฟันแท้ไม่มีที่ขึ้น เกิดฟันซ้อน ฟันเก ในภายหลัง

พ่อแม่ควรดูแลรักษา ฟันน้ำนมของลูก โดยให้กินน้ำหลังนมผสม หรือมื้ออาหาร ทำความสะอาดโดยใช้ผ้ าหรือสำลีชุบน้ำ เช็ดฟันหลังอาหาร ให้ลูกเล็กๆ ก่อนอายุ 2-3 ปี เมื่อลูกโตพอจะแปรงฟันได้เอง ควรสอนวิธีแปรงฟันที่ถูกต้อง และช่วยดูแลการแปรงฟัน ทุกครั้งหลังอาหาร หรืออย่างน้อย วันละ 2 ครั้ง ลดการกินของหวาน ที่เหนียวติดฟัน และห้ามการนอนดูดขวดนม ควรให้เด็กกินอาหารตามวัย เพื่อพัฒนาการเคี้ยวการกลืน จะช่วยให้ฟัน เหงือก และขากรรไกร แข็งแรงด้วย

3.3 ติดตามการเติบโตและพัฒนาการ

3.3.1 หมั่นตรวจสอบน้ำหนักและส่วนสูง

ตั้งแต่แรกเกิด จนถึงอายุ 5 ปี ลูกจะเติบโต อย่างรวดเร็วมาก พ่อแม่ควรติดตาม ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง ของลูกทุกๆ 3 เดือน จดลงในสมุดบันทึกสุขภาพ และจุดลงในกราฟมาตรฐานด้วย เมื่อพาลูกไปรับบริการ ตรวจสุขภาพ และรับวัคซีน ควรนำสมุดบันทึกสุขภาพของลูก ไปด้วยทุกครั้ง หากมีข้อสงสัย ควรถามเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ขอให้ช่วยบันทึกให้ และจุดลงในกราฟมาตรฐาน พร้อมทั้งแปลผล เพื่อดูว่าลูกมีการเจริญเติบโต ดีหรือไม่ หากมีปัญหา จะได้ปรึกษาหาทางแก้ไข ก่อนที่ร่างกายของลูก จะแคระแกร็น เลี้ยงไม่โต

3.3.2 มาตรฐานการเติบโตของเด็ก ตั้งแต่แรกเกิด - 6 ปี โดยเฉลี่ย
อายุ น้ำหนัก
(กิโลกรัม)
ส่วนสูง
(เซนติเมตร)
แรกเกิด 3 50
3 เดือน
5.5 60
6 เดือน
7 67
1 ปี
9 75
1 ปีครึ่ง 10.5 80
2 ปี 12 85
3 ปี 14 92
4 ปี
16 100
5 ปี 18 108
6 ปี 20 115

หมายเหตุ เด็กปกติอาจจะมีการเติบโตแตกต่างจากค่าเฉลี่ยนี้ได้บ้างเล็กน้อย

3.3.3 ติตตามสังเกตพัฒนาการของลูก

พ่อแม่สามารถติดตามสังเกตพฤติกรรม พัฒนาการของลูกใน ด้านต่างๆ ได้แก่ ความสามารถ ด้านการเคลื่อนไหวร่างกาย การใช้ตาและมือประสานกัน ทำสิ่งต่างๆ การสื่อภาษา อารมณ์ สังคมของลูกวัยต่างๆ เพื่อจะได้เข้าใจธรรมชาติ และความรู้สึกนึกคิดของลูก แต่ละคน แต่ละวัย พ่อแม่จะได้อบรมเลี้ยงดู และจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม เป็นการให้โอกาสลูก ได้เรียนรู้ เล่น และฝึกฝน ทำสิ่งต่างๆ ตลอดจนแสดงออกได้ ตามความสามารถ พร้อมที่จะพัฒนาขึ้นต่อๆ ไป เป็นการช่วยให้ลูก มีความคิดสร้างสรรค์ และเชื่อมั่นในตัวเองอีกด้วย หากถึงอายุที่ควรทำได้ แต่ลูกยังทำไม่ได้ พ่อแม่ควรให้โอกาส โดยฝึกให้ก่อน แต่ถ้าลูกไม่มีความก้าวหน้า ใน 1 เดือน ควรปรึกษาหมอ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข พ่อแม่ควรบันทึก ความสามารถของลูก ตามตารางต่อไปนี้

3.3.4 พัฒนาการของเด็กตามวัย
ความสามารถตามวัย ทำได้ภายใน วิธีการส่งเสริมพัฒนาการของลูก
สบตา จ้องแม่ 1 เดือน -ให้กินนมแม่อย่างเดียว
- ยิ้มแย้ม มองสบตา เล่น พูดคุยกับลูก เอียงหน้าไปมา ช้าๆ ให้ลูกมองตาม
- อุ้มบ่อยๆ อุ้มพาดบ่าบ้าง
- ร้องเพลงเบาๆ ให้ลูกฟังบ้าง
คุยอ้อแอ้ ยิ้ม มองตาม
ชันคอในท่าคว่ำ
2 เดือน -เล่นกับลูกโดยแขวนของสีสด ที่เคลื่อนไหวได้ ห่างจากหน้าลูก ประมาณ 1 ศอก ให้ลูกมองตาม พูดคุย ทำเสียงต่างๆ และร้องเพลง
- ให้ลูกนอนคว่ำในที่นอน ที่ไม่นุ่มเกินไป
ชันคอได้ตรงเมื่ออุ้มนั่ง
ส่งเสียงโต้ตอบ
3 เดือน - อุ้มท่านั่ง พูดคุยทำเสียงโต้ตอบกับลูก
- ให้ลูกนอนเปลหรืออู่ที่ไม่มืดทึบ
ไขว่คว้า หัวเราะเสียงดัง ชูคอตั้งขึ้นในท่าคว่ำ 4 เดือน - จัดที่ที่ปลอดภัยให้ลูกหัดคว่ำ คืบ
- เล่นกับลูกโดยชูของเล่นให้ลูกไขว่คว้า ชมเชยให้กำลังใจเมื่อลูกทำได้
คืบ พลิกคว่ำ พลิกหงาย 5 เดือน - หาของเล่นสีสดๆ ชิ้นใหญ่ๆ ที่ปลอดภัย ให้หยิบจับ และคืบไปหา
- พ่อแม่ช่วยกัน พูดคุยโต้ตอบ ยิ้ม เล่นกับลูก พูดถึงสิ่งที่กำลังทำอยู่กับลูก เช่น อาบน้ำ กินข้าว
คว้าของมือเดียว
หันหาเสียงเรียกชื่อ
ส่งเสียงต่างๆ โต้ตอบ
6 เดือน - เวลาพูดให้เรียกชื่อลูก
- เล่นโยกเยกกับลูก หาของให้จับ
นั่งทรงตัวได้เอง
เปลี่ยนสลับมือถึอของได้
7 เดือน - อุ้มน้อยลง ให้ลูกได้คืบ และนั่งเล่นเอง โดยมีแม่คอยระวัง อยู่ข้างหลัง
- ให้เล่นสิ่งที่มีสีและขนาดต่างกัน เช่น ลักษณะผิวเรียบ หยาบ อ่อนแข็ง
- ให้หยิบจับสิ่งของเข้าออก จากถ้วยหรือกล่อง
มองตามของที่ตก
กลัวคนแปลกหน้า
8 เดือน - กลิ้งของเล่นให้ลูกมองตาม
- พูดและทำท่าทาง เล่นกับลูก เช่น จ๊ะเอ๋ จับปูดำ แมงมุม จ้ำจี้ ตบมือ
เข้าใจเสียงห้าม
เล่นจ๊ะเอ๋ ตบมือ
ใช้นิ้วชี้และนิ้วหัวแม่มือ
หยิบของชิ้นเล็ก
9 เดือน - หัดให้เกาะยืน เดิน ใช้นิ้วหยิบ จับของกินชิ้นเล็กเข้าปาก เช่น ข้าวสุก มะละกอหั่น ฟักทอง
ห้ามให้เมล็ดถั่ว กระดุมหรือสิ่งอื่น ที่อาจติดคอจะสำลักได้
เหนี่ยวตัว เกาะยืน เกาะเดิน
ส่งเสียงต่างๆ "หม่ำหม่ำ" "จ๋าจ๊ะ"
10 เดือน - จัดที่ให้ลูกคลาน และเกาะเดิน อย่างปลอดภัย
- เรียกลูกและชูของเล่น ให้ลูกสนใจเพื่อลุกขึ้นจับ
ตั้งไข่ พูดเป็นคำที่มีความหมาย
เช่น พ่อ แม่
เลียนเสียง ท่าทาง และเสียงพูด
1 ปี - ให้ลูกมีโอกาสเล่นสิ่งของ โดยอยู่ในสายตาผู้ใหญ่
- พูดชมเชย เมื่อลูกทำสิ่งต่างๆ ได้
- พูดคุย ชี้ และบอกส่วนต่างๆ ของร่างกาย
- ให้รู้จักฟัน แปรงสีฟัน และการแปรงฟัน
เดินได้เอง
ชี้ส่วนต่างๆ ของร่างกาย ตามคำบอก
ดื่มน้ำจากถ้วย
1 ปี 3 เดือน - พูดคุยโต้ตอบ ชี้ชวนให้ลูกสังเกตของ และคนรอบข้าง ให้หาของ ที่ซ่อนใต้ผ้า
- ชี้ให้ดูภาพ และเล่าเรื่องสั้นๆ ให้ลูกฟัง
- ให้ลูกหัด ตักอาหาร ดื่มน้ำและนม จากถ้วย ให้แต่งตัว โดยช่วยเหลือตามสมควร
- ให้ลูกคุ้นเคย กับการแปรงฟัน โดยแปรงฟันให้ ทุกครั้งที่อาบน้ำให้ลูก
เดินได้คล่อง รู้จักขอ และ ทำตามคำสั่งง่ายๆ ได้ 1 ปี 6 เดือน - ให้โอกาสลูก เดิน วิ่ง และหยิบจับสิ่งของ โดยระวังความปลอดภัย
- ร้องเพลง คุยกับลูก เกี่ยวกับสิ่งรอบตัว เล่นเกมง่าย
- จัดหาและทำของเล่น ที่มีสีและรูปทรงต่างๆ
พูดแสดงความต้องการ
พูด 2-3 คำ ติดต่อกัน
เริ่มพูดโต้ตอบ
ขีดเขียนเป็นเส้นได้
1 ปี 9 เดือน - เมื่อลูกพยายามทำสิ่งใด ควรสนใจ ชี้แนะ และให้กำลังใจ โดยให้ลูกคิด และทำเองบ้าง
- ฝึกลูกให้ช่วยตัวเอง เช่น ขับถ่ายให้เป็นที่ รู้จักล้างมือ ก่อนกินอาหาร และหลังขับถ่าย
- ให้ลูกมีส่วนร่วม ทำกิจกรรมต่างๆ ในบ้าน
เรียกชื่อสิ่งต่างๆ
และคนที่คุ้นเคย
กินอาหารเอง
2 ปี - พ่อแม่ต้องทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดี อย่างสม่ำเสมอ และอบรมสั่งสอนลูก ด้วยเหตุผลง่ายๆ
- สอนลูกให้รู้จัก ทักทาย ขอบคุณ และขอโทษ ในเวลาที่เหมาะสม
ซักถาม "อะไร"
พูดคำคล้องจอง
ร้องเพลงสั้นๆ
เลียนแบบท่าทาง
หัดแปรงฟัน
2 ปี 6 เดือน - พาลูกเดินรอบบ้าน และบริเวณใกล้ๆ ชี้ชวนให้สังเกต สิ่งที่พบเห็น
- หมั่นพูดคุย ด้วยคำพูดที่ชัดเจน และตอบคำถาม ของลูก โดยไม่ดุ หรือแสดงความรำคาญ
- ชวนลูกแปรงฟัน เมื่อตื่นนอน และก่อนนอน ทุกวัน
บอกชื่อและเพศตนเองได้
รู้จักให้และรับ
รู้จักรอ
3 ปี - สนับสนุนให้พูด เล่าเรื่อง ร้องเพลง ขีดเขียน และทำท่าทางต่างๆ
- สังเกตท่าทาง ความรู้สึกของลูก และตอบสนอง โดยไม่ไปบังคับ หรือตามใจลูก จนเกินไป ควรค่อยๆ พูดและผ่อนปรน
- จัดหาของที่มีรูปร่าง และขนาดต่างๆ ให้ลูกเล่น หัดขีดเขียน หัดนับ แยกกลุ่ม และเล่นสมมติ
ซักถาม "ทำไม"
ล้างหน้า แปรงฟันเองได้
บอกขนาดใหญ่-เล็ก-ยาว-สั้น
รู้จักสี ถูกต้อง 4 สี
ไม่ปัสสาวะรดที่นอน
เล่นรวมกับคนอื่น
รอตามลำดับก่อนหลัง
3 ปี 6 เดือน - ตอบคำถามของลูก ให้หัดสังเกต
- เล่าเรื่องจากภาพ คุย ซักถามเรื่องที่เล่า
- ฝึกให้ลูกใส่เสื้อผ้า ติดและกลัด กระดุม รูดซิป สวมรองเท้า
ยืนทรงตัวขาเดียว
และเดินต่อเท้า เลือกของที่ต่างจากพวกได้
นับได้1-10
รู้จักค่าจำนวน 1-5
บอกสีได้ 4 สี
4 ปี - ให้ลูกหัดเดิน บนไม้กระดานแผ่นเดียว หัดยืนทรงตัวขาเดียว และกระโดดข้ามเชือกเดี้ยๆ
- เล่นทาย "อะไรเอ่ย" กับลูกบ่อยๆ ฝึกหัดนับสิ่งของ และหยิบของ ตามจำนวน 1-5 ชิ้น
- ฝึกให้สังเกต เปรียบเทียบ สิ่งที่แตกต่างกัน และจัดกลุ่ม สิ่งที่เหมือนกัน
- ดูแลให้ลูกหัด แปรงฟันให้สะอาด ทุกซี่ ทุกครั้ง
พบผู้ใหญ่รู้จักไหว้ ทำความเคารพ
รู้จักขอบคุณ
รู้จักเล่าเรื่องสั้นๆ
รู้ค่าจำนวน 1-10
5 ปี - ให้ขีดเขียน วาดรูป ระบายสี พับกระดาษ และปั้น
- ดูแลให้แปรงฟัน ให้สะอาด ก่อนนอน ทุกคืน
- อ่านหนังสือให้ลูกฟัง ฝึกให้อ่าน และเขียน ตัวอักษร และตัวเลข
- พูดคุยกับลูก เกี่ยวกับบุคคล และประเพณี ในท้องถิ่น

3.4 รับบริการตรวจสุขภาพและวัคซีนป้องกันโรค

เด็กทุกคน ควรจะได้รับการตรวจสุขภาพ และรับวัคซีน สร้างภูมิคุ้มกันโรค ที่สถานพยาบาล เป็นระยะๆ ตามตารางในหน้าถัดไป

เพื่อให้เด็กเติบโตขึ้น อย่างมีคุณภาพ ปลอดภัยจากโรคติดต่อ และอุบัติเหตุ และยังช่วยให้พ่อแม ่สามารถอบรมเลี้ยงดูลูก ได้อย่างเหมาะสม

พ่อแม่ควรนำสมุดสุขภาพเด็ก มาด้วยทุกครั้ง เมื่อพาลูกไปรับการตรวจสุขภาพแล้ว พ่อแม่ควรจะได้รู้ว่า

1. ลูกเติบโตปกติหรือไม่ บันทึกลงในสมุดสุขภาพหรือยัง
2. ลูกมีความสามารถด้านต่างๆ สมวัยหรือไม่ ควรเลี้ยงดูอย่างไร ต่อจากนี้ ลูกจึงจะเก่งและดียิ่งขึ้น
3. นมและอาหาร ที่ให้ลูกกินอยู่ เหมาะดีหรือยัง ต่อไปต้องเพิ่ม หรือปรับวิธีการ ให้อาหารอย่างไร
4. ลูกได้รับวัคซีนอะไร บันทึกลงในสมุดสุขภาพ หรือยัง กลับไปแล้วจะมีอาการไข้ หรืออาการแทรกซ้อนหรือไม่
5. ลูกมีความผิดปกติ อย่างไรหรือ

หมายเลขบันทึก: 337464เขียนเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2010 19:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 พฤษภาคม 2012 21:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

3.3.4 พัฒนาการของเด็กตามวัย

ข้อนี้คนเป็นแม่ทุกคน จะเฝ้ารอ และ ลุ้น

ขอบคุณค่ะที่ทำให้ได้ระลึกถึงวันเก่าเก่า

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท