สภาพแวดล้อมภายในและการจัดมุมเสริมทักษะและการพัฒนาการเด็ก


*

สภาพแวดล้อมภายในและการจัดมุมเสริมทักษะและการพัฒนาการเด็ก

 

                                การจัดสภาพแวดล้อมให้กับเด็กปฐมวัยมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะช่วยส่งเสริมพัฒนาการ  ทั้งด้านร่างกาย  อารมณ์  จิตใจ  สังคม  และสติปัญญา  หากจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมจะเอื้อต่อการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย  ซึ่งการจัดสภาพแวดล้อมให้กับเด็กปฐมวัยจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องจัดให้เหมาะสม สอดคล้องกับวัยและธรรมชาติของเด็กปฐมวัย

 

การจัดสภาพแวดล้อมภายในห้องเรียน

                การจัดสภาพแวดล้อมภายในห้องเรียนให้กับเด็กปฐมวัย ควรคำนึงถึงเรื่องต่อไปนี้

                1. การจัดวางวัสดุควร จัดวัสดุ อุปกรณ์ สื่อ เครื่องเล่น ครุภัณฑ์ ให้เหมาะสมสอดคล้องกับวัยและพัฒนาการ  เพื่อให้เด็กสามารถใช้หรือทำกิจกรรมได้สะดวกด้วยตนเอง  โดย วัสดุ อุปกรณ์ สื่อ เครื่องเล่น และครุภัณฑ์ ที่จัดให้สำหรับเด็กปฐมวัยมีหลากหลาย เช่น  โต๊ะ เก้าอี้ ม้านั่ง กระดานขายของ บอร์ดติดผลงาน ตู้เก็บของ ที่แขวนถ้วย         ที่แขวนผ้าเช็ดหน้า ที่เก็บเครื่องนอน ห้องน้ำ ห้องส้วม ที่ล้างมือ ประตู หน้าต่าง สื่อ เครื่องเล่น เป็นต้น

                2. วัสดุ อุปกรณ์ สื่อ เครื่องเล่น ครุภัณฑ์  ควรให้มีขนาดเหมาะสมกับเด็กปฐมวัย

                3. การจัดพื้นที่ในห้องเรียนควรจัดให้เหมาะสม   เลือกที่ตั้งครุภัณฑ์ อุปกรณ์ต่างๆ  และมุมประสบการณ์     โดยคำนึงถึง

                    -  ทิศทางลมเหมาะสม และแสงสว่างเพียงพอต่อการทำกิจกรรม

                    -  มีแสงแดดส่องเหมาะสม ไม่รบกวนสายตาเด็กขณะปฏิบัติกิจกรรม

                    -  สร้างบรรยากาศให้ร่มรื่น

                    -  ทุกจุดของห้องควรให้มองเห็นได้โดยรอบ

                    -  จัดวาง/ตั้ง ครุภัณฑ์ และอุปกรณ์ ที่สะดวกต่อการปฏิบัติกิจกรรม

                4.  สภาพแวดล้อมในห้องควรมีความปลอดภัย  โดย

                    -  พื้นห้องควรโล่ง  กว้าง  มีบริเวณนุ่ม  มีบริเวณที่ตั้งอุปกรณ์  สื่อ เครื่องเล่น

                    -  ตรวจความเรียบร้อยของวัสดุ อุปกรณ์ สื่อและเครื่องเล่นหากชำรุดต้องรีบซ่อมแซมโดยเร็ว

                    -  กำหนดขอบเขตของมุมประสบการณ์ให้เด็กรู้

                    -  หน้าต่าง  ครุภัณฑ์ต่างๆ  ไม่ควรทำด้วยกระจก

                    -  ดูแลบริเวณทั่วไปให้ปลอดภัยจากสัตว์ แมลง พืช และสารเคมีที่มีพิษ

                    -  ครุภัณฑ์ โต๊ะ เก้าอี้ ไม่ควรเป็นมุมแหลมที่เป็นอันตราย

 

 

 

 

* เอกสารประกอบการถวายความรู้พระภิกษุของสถาบันธรรมกายนานาชาติ หลักสูตรพุทธศาสตรบัณฑิต หลักสูตร 4 ปี

     วิชา  “การผลิตสื่อการสอนสำหรับเด็กปฐมวัย”  วันที่  7  ตุลาคม  2548  ณ วัดธรรมกาย  จังหวัดปทุมธานี

การจัดแสดงผลงานและการเก็บของ ควรคำนึงถึงเรื่องต่อไปนี้

                    -  จัดให้มีที่แสดงผลงานเสนอภาพเขียน  หรืองานหัตถกรรมเด็กๆ

                    -  จัดที่แสดงให้น่าสนใจและสดชื่น

                    -  ให้เด็กเห็นของแปลกๆ ใหม่ๆ ที่เด็กไม่เคยเห็น

                    -  ส่งเสริมให้เด็กๆ รู้จักเลือกสรรว่าจะทำอะไร จัดแสดงอะไร ฯลฯ

    -  กระตุ้นให้เกิดความอยากรู้อยากเห็น

                    -  สอนให้รู้จักจัดของเป็นกลุ่ม และเลือกของออกมาใช้ตามความต้องการ

                    -  สร้างนิสัยในการเก็บของให้เป็นที่เป็นทาง

 

การจัดมุมเสริมทักษะ และการพัฒนาเด็ก (มุมประสบการณ์)

                                มุมเสริมทักษะและการพัฒนาการเด็กหรือมุมประสบการณ์  เป็นสถานที่จัดไว้ในห้องเรียนเพื่อให้เด็กได้เล่นสื่อและเครื่องเล่นประเภทต่างๆ  โดยมุมเสริมทักษะและการพัฒนาการเด็ก (มุมประสบการณ์) จะมีสื่อและเครื่องเล่นจัดไว้ให้เด็กได้เล่น ซึ่งแต่ละมุมประสบการณ์จะมีลักษณะแตกต่างกัน ภายในห้องเรียนควรจัดมุมประสบการณ์ให้เด็กเล่นอย่างน้อย  5  มุมประสบการณ์  ทั้งนี้  ควรจัดมุมสงบกับมุมที่ส่งเสียงดัง ไว้ห่างกัน  มุมที่เด็กต้องใช้สมาธิในการเล่นหรือทำกิจกรรมควรอยู่ใกล้กัน  มุมที่เล่นแล้วทำให้เกิดเสียงดังก็ควรอยู่ใกล้กัน เช่น มุมหนังสือกับ      มุมเกมการศึกษาอยู่ใกล้กันได้   มุมศิลปะกับมุมบล็อกอยู่ใกล้กัน  เป็นต้น

 มุมที่จัดให้เด็กได้เล่นมีดังต่อไปนี้

                1.  มุมบ้าน มุมร้านค้า มุมวัด มุมหมอ มุมเกษตรกร ฯลฯ

                     จัดเพื่อให้เด็กได้เล่นในสิ่งที่ตนชอบ เรียนรู้บทบาทหน้าที่ของบุคคลต่างๆ ในครอบครัว สังคม  สิ่งที่      จะได้ควบคู่กันมา  คือ  การใช้ภาษา   การปรับตัวให้เข้ากับเพื่อน  การพัฒนาทางอารมณ์  สังคม  และสติปัญญา

                สื่ออุปกรณ์ที่จัดในมุมนี้  ได้แก่  เครื่องครัว เครื่องใช้ในบ้าน  เช่น  เสื่อ หมอน กระจก ตุ๊กตา เสื้อผ้าตุ๊กตา  เครื่องแบบของคนอาชีพต่างๆ  เช่น หมอ ตำรวจ ทหาร เครื่องใช้ในการประกอบอาชีพ  เช่น  กระบุง ตะกร้า ไม้คาน เครื่องมือจับปลา รองเท้า และเสื้อผ้าที่ไม่ใช้แล้ว สำหรับเด็กแสดงบทบาทสมมติ  อุปกรณ์เหล่านี้ควรทำชั้นวางหรือจัดวางไว้ในลังไม้ ลังกระดาษ แยกเป็นหมวดหมู่  ไม่ควรใช้ของที่ทำด้วยแก้ว กระเบื้องหรือพลาสติกที่ใช้เป็นอันตรายกับเด็ก

                2.  มุมหนังสือ

                     แม้จะไม่มีการสอนอ่านเขียน  สำหรับเด็กระดับปฐมวัยแต่การหาภาพสวยๆ  นิทานภาพมาจัดวางไว้ย่อมเป็นสิ่งจูงใจให้แก่เด็กได้มาจับต้องเปิดดู  เป็นการปลูกฝังนิสัยรักการอ่านไปโดยไม่รู้ตัว  สิ่งประกอบสำหรับมุมนี้คือ  เสื่อ หมอน รูปทรงต่างๆ  จะช่วยจูงใจให้เด็กอยากนั่งนอนอ่านในท่วงท่าสบายๆ  ก่อให้เกิดความเพลิดเพลิน  ทั้งที่อ่านไม่ได้แต่ก็จะสนุกสนานเพลิดเพลินกับรูปสวยๆ  เหล่านั้น

               

 

 

 

 

3.  มุมธรรมชาติศึกษาหรือมุมวิทยาศาสตร์

                     เป็นมุมที่เด็กจะศึกษาหาความรู้ด้วยการสังเกตทดลองด้วยตนเอง  จึงต้องจัดหาอุปกรณ์  เช่น  เครื่องชั่ง ตัวอย่างพืช เปลือกหอย สำลี กระดาษ หินชนิดต่างๆ ฯลฯ  นำมาจัดวางไว้เป็นหมวดหมู่ เพื่อให้เด็กค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง

                4.  มุมบล็อก

                     บล็อก  หมายถึง  แท่งไม้หรือวัสดุทดแทนอย่างอื่น  เช่น  กล่องชนิดต่างๆ  บล็อกแต่ละชุดอาจมีแบบและจำนวนแตกต่างกัน  บางชุดมีขนาดเล็ก  มีจำนวนเพียง  20  ชิ้นบางชุดก็มีขนาดใหญ่  จำนวนอาจมากถึงกว่า    ร้อยชิ้น  บล็อกเหล่านี้อาจทำขึ้นเองได้จากเศษไม้นำมาตกแต่งให้เป็นรูปทรง  ข้อควรระวังคือต้องขัดให้เรียบร้อย  ไม่มีเสี้ยนแยกเก็บใส่กล่องหรือลังไว้  ถ้าไม่ต้องการเกิดเสียงรบกวนเวลาเล่นก็หาเสื่อปูรองรับมุมนี้ไว้  พอที่เด็กจะนั่งเล่นได้คราวละ  3-4  คน  และควรให้ห่างจากมุมหนังสือที่ต้องการความสงบเงียบ

                5.  มุมเกมการศึกษา

                     พลาสติกสร้างสรรค์  เครื่องเล่นสัมผัส  ในมุมนี้เป็นมุมที่ฝึกเด็กในเรื่องการรับรู้ทางสายตา  การคิดหาเหตุผล  และการทำงานสัมพันธ์ระหว่างตาและมือ  ประกอบไปด้วยเกมการศึกษา  พลาสติกสร้างสรรค์  กล่องหยอดบล็อก  ลูกปัด  สำหรับร้อยอาจมีแบบร้อยไว้ให้เด็กด้วย

                6.  มุมเครื่องเล่นสัมผัส

                     มุมนี้เป็นมุมที่ฝึกเด็กในเรื่องการรับรู้ทางสายตา การสังเกต การเปรียบเทียบ การจัดหมวดหมู่ ภาษา การคิดหาเหตุผล ความคิดสร้างสรรค์ และการทำงานสัมพันธ์ระหว่างตาและมือ ประกอบไปด้วยสื่อ เครื่องเล่นต่างๆ  เช่น  พลาสติกสร้างสรรค์ กล่องหยอดบล็อก ลูกปัดสำหรับร้อย ฯลฯ

                7.  กระบะทราย

                     กระบะทรายในมุมห้องเรียน  จัดไว้เพื่อให้เด็กมีโอกาสตกแต่งกระบะทรายเกี่ยวกับเรื่องที่ใกล้ตัวเด็ก  เช่น  เรื่องบ้านจัดแบ่งเป็นส่วน  ส่วนที่เป็นบ้าน ต้นไม้ รั้ว คน สัตว์เลี้ยง จึงต้องจัดหาอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องไว้  ควรวางกระบะให้อยู่ในระดับที่เด็กจะยืนเล่นได้  และเตรียมอุปกรณ์ไว้ให้  เช่น  ถ้วยตวง ขวด ช้อน ตัวสัตว์พลาสติก ต้นไม้จำลอง ฯลฯ  เพื่อให้เด็กนำมาจัดตามความคิดสร้างสรรค์ของตนเอง

 

หมายเลขบันทึก: 337451เขียนเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2010 18:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤษภาคม 2012 11:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท