มารู้จักรูปแบบการส่งเสริมสุขภาพในสถานประกอบการ(2)


โครงการ  SOLVE

หน่วยงานรับผิดชอบ   สถาบันความปลอดภัยในการทำงาน  กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

                     ศูนย์ฝึกอบรมระหว่างประเทศขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ร่วมกันทำงานพัฒนาSOLVE  ซึ่งก็คือ ชุดการฝึกอบรมเพื่อแสวงหาวิธีการแก้ไขปัญหาเรื่อง ความเครียด (Stress)  บุหรี่ (Tobacco)ยาเสพติดและแอลกอฮอล์ (Alcohol & Drugs)  โรคเอดส์ (HIV / AIDS)  และความรุนแรง (Viclence) SOLVE  มุ่งมั่นที่จะปรับปรุงสภาพการทำงานด้านจิตและสังคมลดต้นทุนและเสริมสร้างผลิตภาพ  ตลอดจนบรรเทาภาระของคนงาน  โดยมีหลักการ คือ

                    1.  มีคนเป็นศูนย์กลาง

                    2.  เป็นการป้องกันปัญหา  ซึ่งจะมีความคุ้มทุนมากกว่าการรอจนปัญหารุนแรง

                    3.  มุ่งผลสัมฤทธิ์

                    4.  ปรับเปลี่ยนได้  สถานการณ์ต่างๆ ล้วนมีความซับซ้อน  การแก้ปัญหาจึงเป็นแบบพหุวิธี  วิธีการแก้ปัญหาที่หลากหลายจะสามารถตอบสนองต่อสภาพการณ์ได้เป็นอย่างดี

                    5.  พึ่งพาตังเองได้อย่างยั่งยืน  แผนและวิธีปฏิบัติสามารถตอบสนองความต้องการของนายจ้างและคนงาน  สถานประกอบการสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างต่อเนื่อง

                    โดยปัจจุบัน  สถาบันความปลอดภัยในการทำงาน  มีการอบรมหลักสูตร SOLVE ในระดับต่างๆเช่น  หลักสูตรสำหรับเจ้าหน้าที่ กองตรวจความปลอดภัย   หลักสูตรสำหรับเครือข่ายผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพ จากสถานประกอบการภาคเอกชน

โครงการโรงงานสีขาว

 

หน่วยงานรับผิดชอบ     กองสวัสดิการแรงงาน  กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

 

                    โครงการโรงงานสีขาว  มีวัตถุประสงค์เพื่อให้นายจ้างและผู้ใช้แรงงานมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดไม่ให้แพร่ขยายเข้าไปในสถานประกอบการ  และสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปขยายผลให้กับครอบครัวของนายจ้างและผู้ใช้แรงงานลดจำนวนผู้แรงงานที่ติดยาเสพติดให้มากที่สุด  เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี  หลักเกณฑ์การพิจารณาโรงงานสีขาว มีดังนี้

                    1.  มีนโยบายด้านการป้องกัน ควบคุมยาเสพติดในสถานประกอบการ

                    2.  มีป้ายหรือประกาศที่ชัดเจน เรื่อง มาตรการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในสถานประกอบการ หรือป้ายประกาศเตือนเกี่ยวกับพิษภัยหรืออัตราโทษตามกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด

                    3.  มีคณะทำงานหรือบุคลากรรับผิดชอบการดำเนินงานโรงงานสีขาว

                    4.  มีการให้ความรู้พนักงาน เจ้าของสถานประกอบการเกี่ยวกับการป้องกัน และแก้ไขปัญหายาเสพติด

                    5.  มีกิจกรรมรณรงค์ต่อด้านยาเสพติด

                    6.  มีการตรวจสุขภาพและตรวจปัสสาวะเพื่อหาสารเสพติด

                    7.  ไม่พบพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดของพนักงาน โดยไม่มีการเสพ ไม่ค้า ไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดทุกชนิด

 

โครงการ กลับสู่ชีวิตใหม่

 

หน่วยงานรับผิดชอบ   กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

 

                    โครงการกลับสู่ชีวิตใหม่  มีวัตถุประสงค์เพื่อให้โอกาสผู้ใช้แรงงานที่เป็นผู้เสพ / ผู้ติดยาโดยความไม่ตั้งใจหรือตั้งใจก็ตาม  ซึ่งเปรียบเสมือนผู้ป่วย  ได้มีโอกาสเข้ารับการบำบัด  รักษา ฟื้นฟู ให้หายจากการติดยาเสพติด และสามารถทำงานได้ตามปกติ  หากนายจ้างตรวจพบผู้ใช้แรงงานที่เป็นผู้เสพ / ผู้ติดยาเสพติดขอความร่วมมือให้ส่วนตัวผู้ใช้แรงงานเข้ารับการบำบัด  รักษา ฟื้นฟู  โดยไม่ถือเป็นวันลา และจ่ายค่าจ้างหรือเงินช่วยเหลือ ตามแต่จะตกลงกัน เมื่อบำบัด รักษา ฟื้นฟู และหายเป็นปกติ ให้กลับเข้าทำงานตามเดิม

 

โครงการ  Happy  Workplace

หน่วยงานรับผิดชอบ     สำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ

 

                    โครงการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตคนทำงาน หรือ Happy  Workplace  มีวัตถุประสงค์เพื่อ

                    1.  พัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของคนทำงาน

                    2.  สร้างและพัฒนาเครือข่ายสร้างเสริมคุณภาพชีวิตในสถานประกอบการ

                    3.  พัฒนาความร่วมมือระหว่างสถานประกอบการกับชุมชนในการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตคนทำงาน

 

เป้าประสงค์

                    คนทำงานในสถานประกอบการมีคุณภาพชีวิตที่ดีในทุกมิติ ทั้งด้านกาย  จิตใจ  สังคม และจิตวิญญาณ  มีความสุขและความมั่นคงในการดำเนินชีวิต เป็นประชากรที่มีคุณภาพของสังคมและประเทศชาติ

 

ตัวชี้วัดเป้าประสงค์

                    “คนทำงานมีความสุข  ที่ทำงานน่าอยู่  ชุมชนสมานฉันท์” 

คนทำงานมีความสุข คือ

                                -  มีความสุขในการทำงาน

                                -  มีสุขภาพกายและจิตใจที่ดี

                                -  มีความมั่นคงในชีวิตทั้งด้านการงาน  เศรษฐกิจ  และสังคม

                                -  เป็นบุคลากรที่สำคัญขององค์กรและประเทศชาติ

                                -  มีความเป็นมืออาชีพในงานของตน

                                -  มีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น

                                -  มีครอบครัวที่อบอุ่น

                                -  มีศีลธรรมอันดีงานและเอื้ออาทรต่อตนเองและสังคม

ที่ทำงานน่าอยู่ คือ

                                -  มีความสุขในที่ทำงาน

                                -  มีสภาพแวดล้อมในที่ทำงานที่ดี

                                -  มีความสะอาดตา  สะอาดใจ ในที่ทำงาน

                                -  ปัญหาความขัดแย้งในที่ทำงานลดลง

                                -  มีความรักและสามัคคีในองค์กร

ชุมชนสมานฉันท์

                                -  มีความสมานฉันท์ในสถานประกอบการ

                                -  มีความร่วมมือซึ่งกันและกันระหว่างชุมชนกับสถานประกอบการ

                                -  ลดข้อขัดแย้งระหว่างชุมชนกับสถานประกอบการ

                                -  มีความเอื้ออาทรต่อสังคมรอบข้าง

 

องค์ประกอบแห่งความสุขของคนทำงาน เรียกว่า Happy 8 หรือความสุขทั้ง 8 ประการ  นำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย

                    1.  Happy  Body  (สุขภาพดี)  มีสุขภาพแข็งแรงทั้งกายและจิตใจ

                    2.  Happy  Heart  (น้ำใจงาม)  มีน้ำใจเอื้ออาทรต่อกันและกัน

                    3.  Happy  Society  (สังคมดี)  มีความรักสามัคคีเอื้อเฟื้อต่อชุมชนที่ตนทำงานและที่พักอาศัยและสภาพแวดล้อมที่ดี

                    4.  Happy  Relax  (ผ่อนคลาย)  รู้จักผ่อนคลายต่อสิ่งต่างๆ ในการดำเนินชีวิต

                    5.  Happy  Brain  (หาความรู้)  ศึกษาหาความรู้เพื่อพัฒนาตนเองตลอดเวลา

                    6.  Happy  Soul  (ทางสงบ)  มีความศรัทธาในศาสนาและมีศีลธรรมในการดำเนินชีวิต

                    7.  Happy  Money  (ปลอดหนี้)  รู้จักเก็บรู้จักใช้  ไม่เป็นหนี้

                    8.  Happy  Family  (ครอบครัวดี)  มีครอบครัวที่อบอุ่นและมั่นคง

  

โครงการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค

 

หน่วยงานรับผิดชอบ         สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

 

                       โครงการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค  มีเป้าหมายที่จะให้ประชาชนคนไทยทุกคนมีสุขภาพที่ดี  และลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพระยะยาว  ซึ่งใช้ยุทธศาสตร์การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค  ให้แก่คนไทยทุกคน  ทั้งที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพ  กลุ่มผู้มีสิทธิประกันสังคมและผู้มีสิทธิสวัสดิการข้าราชการ  โดยในกลุ่มผู้มีสิทธิประกันสังคม  ให้ สปสช.  สาขาแต่ละจังหวัดประสานกับประกันสังคม  ตั้งคณะทำงานระดับจังหวัดทุกจังหวัดดำเนินการทำข้อตกลงกับหน่วยบริการที่เข้าร่วมโครงการ  เพื่อจัดบริการเชิงรุกให้ผู้ใช้แรงงานในระบบประกันสังคมทุกคน  เป็นการตรวจคัดกรองความเสี่ยง   เช่น   โรคเบาหวาน   โรคอ้วน    ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือด  การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ  การรับฝากและการดูแลหลังคลอด  การวางแผนครอบครัว  กรณีบางพื้นที่อาจมีปัญหาการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์  และอัตราการติดเชื้อเอช ไอ วี  มีการเพิ่มโครงการให้ความรู้เรื่องเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย หรือ  Safe  Sex  ด้วย

หมายเลขบันทึก: 336647เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2010 09:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 09:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ผู้อ่านที่เข้ามาอ่าน ใช้วิธีใดในการดำเนินงานในสถานประกอบการของตนเอง ลองเขียนเล่ามาให้อ่านบ้างนะคะ จะรอ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท