วรรณยุกต์-เอกลักษณ์ของภาษาไทย


เอกลักษณ์ของภาษาไทย

วรรณยุกต์เป็นเอกลักษณ์ของภาษาไทย คำในภาษาพูดที่มีวรรณยุกต์และก่อให้เกิดความสับสนและใช้ผิดกัน คร่าวๆ แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม

 

กลุ่มแรกคือกลุ่มที่เป็นคำลงท้าย  เช่น

ขา --- ใช้ต่อท้ายคำเรียกอย่างสุภาพ --- คุณแม่ขา

คะ --- ลงท้ายคำถาม หรือใช้เรียกก็ได้ --- คุณแม่คะจะไปไหนหรือคะ

ค่ะ --- ส่วนคำนี้ใช้ต่อท้ายประโยคที่ไม่ใช่คำถาม หรือใช้รับคำ --- ค่ะ ฉันจะไปด้วย วันนี้ฉันไม่ได้ขับรถมาค่ะ

จ๊ะ --- ใช้เหมือน “คะ” ---- วันนี้จะไปกินข้าวที่ไหนกันจ๊ะ

จ้ะ --- ส่วนคำนี้จะใช้เหมือน “ค่ะ” แต่เป็นกันเองมากกว่า --- เชิญข้างในเลยจ้ะ

จ้า --- คือคำว่า “จ้ะ” น่ะแหละ แต่ออกเสียงให้ยาวขึ้นอีกหน่อย --- เชิญข้างในเลยจ้า ไม่ต้องเกรงใจ

จ๋า --- ใช้เหมือน “ขา” แต่แสดงความสนิทสนมมากกว่า --- เพื่อนสุดที่รักจ๋า เอาเลคเชอร์มาลอกหน่อยสิ

ย่ะ --- ประเภทเดียวกับ “ค่ะ” --- ย่ะ ฉันมันไม่เลิศเหมือนเธอนี่ยะ

ว่ะ --- ใช้ต่อท้ายประโยคที่ไม่ใช่คำถามเหมือน “ค่ะ” --- มันไม่อยู่ว่ะ สงสัยจะไปเรียนแล้ว

วะ --- ใช้เหมือน “คะ” --- อะไรกันนักกันหน้าวะ

ล่ะ --- ใช้เวลาถาม --- ทำไมไม่ไปด้วยกันล่ะ เธอก็ว่างไม่ใช่เหรอ

นะ --- ใช้เน้นย้ำประโยค --- พรุ่งนี้เรามีนัดกันนะ อย่าลืม

น่ะ --- คำนี้ใช้ได้หลายกรณี ใช้ถามก็ได้ --- จะไปไหนกันน่ะ หรือลงท้ายประโยคก็ได้ --- เดี๋ยวก็คงมากันอีกน่ะ

น่า --- ใช้ขอร้อง --- เข้าบ้านมาก่อนน่า

นี่, เนี่ย --- ใช้เวลาถาม --- ทำไมคนเยอะอย่างนี้เนี่ย

มั้ง --- ใช้แสดงความไม่แน่ใจ คาดคะเนเหตุการณ์ --- เขาก็คงจะไปงานนี้ด้วยมั้ง

ซิ --- ใช้เวลาออกคำสั่ง --- มานี่ซิ ถ้าลากเสียงยาวๆ จะเป็นการขอร้อง --- มานี่ซี่ ฉันบอกให้มานี่ไง

สิ --- คำนี้ใช้ได้หลายอย่างมาก ที่เห็นบ่อยสุดคงเป็นประโยคชักชวน --- เข้าบ้านไปดื่มน้ำก่อนสิ

แหละ --- ใช้เน้นประโยค --- เพราะแกนั่นแหละ เขาถึงโกรธฉัน

มั้ย --- ใช้ต่อท้ายคำถาม --- เธอจะไปกับฉันมั้ย

ฯลฯ

 

ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งก็เป็นพวกคำอุทาน เช่น

อ้าว --- อ้าว จะรีบไปไหนกันน่ะ รอด้วยสิ

เอ๊ะ --- เอ๊ะ เธอมาที่นี่ได้ยังไง

อ๊ะ --- อ๊ะ จะหนีไปไหนน่ะ

หา --- หา นี่เธอยังไม่รู้เรื่องนี้อีกเหรอ

ยี้ --- ยี้ เล่นอะไรกันไม่รู้สกปรก

อี๊ --- อี๊ ไอ้จิ้งจกบ้า ดันตกลงมาได้

ฮึ --- ฮึ นึกว่าจะง้อหรือไง

ฮื้อ --- ฮื้อ อย่าเพิ่งมายุ่งตอนนี้ได้มั้ย

ว้า --- ว้า อดไปเที่ยวด้วยกันเลย

ต๊ายตาย --- ต๊ายตาย ไม่คิดเลยนะคะว่าจะได้เจอคุณที่นี่

เฮ้อ --- เฮ้อ เมื่อไหร่เรื่องมันจะจบซักที

อุ๊ย --- อุ๊ย ขอโทษค่ะ

ว้าย --- ว้าย (ร้องตอนตกบันได) ---- ไม้โทนะจ๊ะ แต่เสียงเป็นเสียงตรี

อูย --- อูย เจ๊บชะมัดเลย (ตกบันไดเมื่อกี้)

โอ๊ย --- โอ๊ย ขาจะหักมั้ยเนี่ย

อุ๋ย --- อุ๋ย อย่าเอามือมาโดนสิ มันเจ็บนะ

เอ๊ --- เอ๊ นั่นข้าวเม่าหรือเปล่า

เฮ้ย --- เฮ้ย ใช่ข้าวเม่าจริงๆ ด้วย

แน้ --- แน้ อย่ามาโกหกนะ ฉันรู้ทันหรอก

อือ --- อือ ถ้าโกหก แล้วจะทำไม

ฮื่อ --- ฮื่อ ถ้าโกหกเหรอ โดนยำแน่ๆเลย

เอ๊ย --- ถ้างั้นก็ไม่ให้รู้ เอ๊ย ไม่โกหกหรอก

ที่จริงก็ยังมีพวกที่เป็นคำเลียนเสียงอีก เช่น นกร้องจิ๊บๆ โครม (เสียงตกบันได) เปรี้ยง (เสียงฟ้าผ่า) ฯลฯ

การจะเขียนให้ถูกใช้หลักการผันวรรณยุกต์ ถ้าจะให้ดีเวลาจะเขียนก็ลองผันดูในใจก่อนจะได้ถูกต้อง

คำสำคัญ (Tags): #วรรณยุกต์
หมายเลขบันทึก: 336393เขียนเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2010 09:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 16:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ผันวรรณยุกต์ เก่งจัง วรรณยุกต์ๆๆ สะนุก สนุก เรื่องวรรณยุกต์ของไทย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท