Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

สื่ออาจแสดงบทบาทของกลไกในการสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่เด็ก เยาวชน และครอบครัวในการใช้ชีวิต


เราพบปรากฏการณ์จำนวนมากมายว่า สื่ออาจแสดงบทบาทของกลไกในการสร้างภูมิคุ้มกันในการใช้ชีวิตให้แก่เด็กและเยาวชน

ในทิศทางแรกของการศึกษาและพัฒนานั้น เราคงจะต้องตระหนักว่า สื่ออาจเป็นเครื่องมือของคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชนเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองสุขภาวะและสิทธิมนุษยชนของเด็ก แต่สื่อจะส่งผลกระทบด้านบวกเช่นนี้ต่อสิทธิของเด็ก เยาวชน และครอบครัวในสังคมได้ ก็ต่อเมื่อสื่อนั้นจะต้องตระหนักในความสำคัญของสิทธิดังกล่าว  เราพบปรากฏการณ์จำนวนมากมายว่า สื่ออาจแสดงบทบาทของกลไกในการสร้างภูมิคุ้มกันในการใช้ชีวิตให้แก่เด็กและเยาวชน โดยการใช้สื่อเป็นเครื่องมือในการฉีดวัคซีนให้แก่เด็กและเยาวชนนั้น อาจจะเกิดขึ้นได้ใน ๓ ลักษณะ กล่าวคือ

ในประการแรก สื่ออาจทำหน้าที่ปลุกระดมกระแสสังคมให้เกิดการขจัดและแก้ไขวิกฤตการณ์ที่ส่งผลกระทบด้านลบต่อสุขภาวะและสิทธิมนุษยชนของเด็ก  เยาวชน และครอบครัว

เป็นที่แน่นอนว่า การขจัดและแก้ไขวิกฤตการณ์ที่ส่งผลกระทบด้านลบต่อสุขภาวะและสิทธิมนุษยชนของเด็กย่อมทำลายเหตุแห่งทุกขภาวะและเหตุแห่งการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้อย่างสิ้นซาก แต่อย่างไรก็ตาม การกระทำเช่นนี้มิใช่ของง่าย เหตุแห่งวิกฤตการณ์หลายอย่างหยั่งรากลึกมากในสังคมไทย อาทิ วิกฤตการณ์ที่เกิดจากความไม่รู้และไม่เท่าทันต่อโลกและชีวิตของเด็กและเยาวชนในสังคมไทย ซึ่งเราทั้งหลายก็ทราบแล้วว่า วิกฤตการณ์นี้เกิดขึ้นจากความล้าสมัยและความไม่ถูกต้องของระบบการศึกษาแห่งชาติ และเราก็บรรลุถึงแนวคิดและวิธีการในการปฏิรูปการศึกษาแห่งชาติแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม  ระบบการศึกษาแบบเก่าที่ไม่เอื้อต่อการศึกษาและการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนก็ยังคงมีอยู่และยังเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ในสถาบันการศึกษาส่วนใหญ่ของประเทศไทย และเหตุแห่งวิกฤตการณ์อีกหลายอย่างอาจจะยังไม่ปรากฏตัวชัดในสังคมไทย แต่ผลกระทบด้านลบอาจได้บังเกิดแล้วอย่างชัดเจน อาทิ วิกฤตการณ์ที่เกิดจากการใช้ความรุนแรงและความไร้ศีลธรรมของเด็กและเยาวชนในสังคมไทย เราทั้งหลายยังกำลังแสวงหาสาเหตุแห่งวิกฤตการณ์ดังกล่าวกันมิใช่หรือ ?  แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องสังเกตก็คือ หากสื่อนั้นเองไม่มี (๑) องค์ความรู้ในข้อเท็จจริงอันเป็นสาเหตุแห่งวิกฤตการณ์เพียงพอ หรือไม่มี (๒) องค์ความรู้ทางวิชาการที่อาจจัดการสถานการณ์นั้นได้ สื่อที่มีจิตสำนึกที่ดีต่อสังคมนี้นั้นก็อาจสื่อสารความเข้าใจที่ผิดพลาดต่อสังคมและไม่อาจนำเสนอแนวคิดที่ถูกต้องในการจัดการสถานการณ์  ดังนั้น การวิจัยและพัฒนาเพื่อเสริมศักยภาพของสื่อในบทบาทนี้ ก็คือ สร้างองค์ความรู้ ๒ ประการที่กล่าวในวรรคก่อนให้แก่สื่อ ซึ่งอาจจะโดยการส่งองค์ความรู้ที่ถูกค้นพบอย่างสำเร็จรูปแล้วให้แก่สื่อเพื่อถ่ายทอดสู่สังคม หรืออาจจะโดยการชักชวนผู้ประกอบวิชาชีพสื่อให้มามีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างองค์ความรู้และกระบวนการถ่ายทอดองค์ความรู้สู่สังคม

ในประการที่สอง สื่ออาจป้อนแนวคิดให้แก่เด็กและเยาวชนเพื่อให้เกิดความเชื่อและความกล้าที่จะเอาตัวออกจากวิกฤตการณ์แห่งชีวิตนั้นด้วยตนเอง 

จะสังเกตเห็นว่า วิกฤตการณ์หนึ่งๆ อาจก่อให้เกิดทุกขภาวะหรือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของเด็กในสถานการณ์หนึ่ง แต่มิได้ส่งผลกระทบต่อเด็กในอีกสถานการณ์หนึ่ง เหตุผลที่เด็กในสถานการณ์หลังปลอดจากทุกขภาวะและการละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้น ก็เพราะเด็กซึ่งมีภูมิคุ้มกัน โดยทั่วไป การศึกษาย่อมจะสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็กเพื่อสามารถเผชิญต่อความร้ายแรงของโลกและชีวิต แต่อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน เราพบว่า การศึกษาของประเทศไทยในระบบปกติไม่เอื้อต่อการพัฒนาศักยภาพของเด็กเท่าที่ควร และนอกจากนั้น เด็กกลับบริโภคสื่อมากมายจนตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของสื่อ  ดังนั้น สื่อจึงเป็นเสมือน  “โรงเรียนสำหรับเด็กอีกด้วย ในปัจจุบัน จึงเกิดความพยายามที่จะใช้สื่อเป็นสถาบันการศึกษานอกระบบสำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัว ในเป้าหมายที่จะป้อนองค์ความรู้โดยสื่อให้แก่เด็กเองเพื่อดึงตัวเองออกจากวิกฤตการณ์นั้น  สื่อเองก็ย่อมจะต้องมีหน้าที่ในประการแรก กล่าวคือ แสวงหาองค์ความรู้ในข้อเท็จจริงอันเป็นสาเหตุแห่งวิกฤตการณ์และองค์ความรู้ทางวิชาการที่อาจจัดการสถานการณ์นั้นได้ เพื่อนำไปปรุงแต่งเป็นสารที่เข้าถึงและซึมสู่เด็กได้ทั้งนี้ ย่อมเป็นไปโดยวิชาการด้านนิเทศศาสตร์   นอกจากนั้น สื่อในบทบาทของผู้ป้อนแนวคิดในเชิงป้องกันแก่เด็ก ย่อมจะต้องมีความเข้าใจถึงกระบวนการเรียนรู้ของมนุษย์ เพื่อให้การป้อนแนวคิดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ กล่าวคือ สื่อสามารถป้อนข้อมูลข่าวสารจนกระทั่งเด็กสามารถรับสารที่ต้องการส่งได้และนำไปปรับใช้ในการป้องกันตนจากทุกขภาวะและการละเมิดสิทธิมนุษยชน จะเห็นว่า สื่อที่จะทำหน้าที่นี้ยังต้องการองค์ความรู้จากวิชาการด้านครุศาสตร์หรือการศึกษาศาสตร์ เพื่อให้เกิดความเข้าใจถึงกระบวนการรับรู้ของมนุษย์อันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในสังคมซึ่งเป็นองค์ความรู้เชิงวิชาการด้านจิตวิทยา  ดังนั้น จะเห็นว่า กระบวนการสร้างสื่อที่จะเข้ามาทำหน้าที่ครูของสังคมย่อมต้องการความรอบรู้ในสหวิทยาการ ซึ่งการวิจัยและการพัฒนาในเป้าหมายนี้ ก็เป็นไปเพื่อส่งองค์ความรู้เชิงสหวิทยาการที่สำเร็จรูปอันเป็นสูตรในการสร้างภูมิคุ้มกันแก่เด็กให้แก่สื่อเพื่อถ่ายทอดสู่สังคม 

ในประการที่สาม สื่ออาจป้อนแนวคิดให้แก่ครอบครัวหรือครูของเด็กเพื่อให้เกิดความเท่าทันต่อวิกฤตการณ์ที่ก่อทุกขภาวะและละเมิดสิทธิของเด็กและเยาวชน 

เราสังเกตว่า ครอบครัวหรือครูของเด็ก ก็คือ ภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุดในการป้องกันภัยและการขจัดภัยให้แก่เด็ก  ในหลายกรณีที่เด็กอยู่ภายใต้วิกฤตการณ์หนึ่งๆ ที่อาจก่อให้เกิดทุกขภาวะหรือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่เด็กนั้นก็มิได้ตกอยู่ในปัญหา ทั้งนี้โดยผลที่ครอบครัวหรือครูของเด็กได้สร้างภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงให้แก่เด็ก  นอกจากนั้น ในหลายสถานการณ์ที่เด็กได้รับทุกขภาวะหรือถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนแล้ว แต่การแก้ไขและการขจัดผลกระทบด้านลบก็ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพหากครอบครัวหรือครูของเด็กมีความเท่าทันในวิกฤตการณ์ที่เด็กเผชิญและมีความรอบรู้ในวิธีการขจัดภัยในแก่เด็กนั้น  แต่ในกรณีของเด็กซึ่งครอบครัวหรือครูเองก็ตกอยู่ในวิกฤตการณ์แห่งชีวิตหรือในกรณีที่ครอบครัวหรือครูมีความไม่เท่าทันและไม่รอบรู้ในการป้องกันและการขจัดภัยให้แก่เด็ก เด็กก็จะมีโอกาสขาดภูมิคุ้มกันทางสังคม และเสี่ยงต่อการตกอยู่ภายใต้ทุกขภาวะหรือถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน   อีกทั้งเมื่อปรากฏว่า เด็กตกอยู่ภายใต้ทุกขภาวะหรือถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนแล้ว การแก้ไขปัญหาก็เป็นไปได้ยาก เพราะครอบครัวหรือครูก็จะไม่อาจเข้ามาช่วยเหลือได้ และหากปราศจากความช่วยเหลือจากสังคม เด็กก็อาจตกอยู่ภายใต้วิกฤตการณ์แห่งชีวิตอย่างหาทางออกมิได้ และอาจแปรเปลี่ยนพฤติกรรมไปเป็นผู้ก่อทุกขภาวะหรือละเมิดสิทธิมนุษยชนของบุคคลอื่น ขอให้สังเกตว่า ในปัจจุบัน ได้มีความพยายามที่จะใช้สื่อในสังคมไทยเพื่อโน้มนำให้ครอบครัวหรือครูของเด็กมีศักยภาพที่จะสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่เด็ก แต่อย่างไรก็ตาม สื่อในลักษณะแรกนี้ยังมีน้อยมากในสังคมไทย ดังนั้น จะเห็นว่า กระบวนการสร้างสื่อที่จะเข้ามาทำหน้าที่ผู้เสนอแนะแนวทางในการสร้างสุขภาวะหรือส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของเด็กให้แก่ครอบครัวหรือครูของเด็กย่อมต้องการความรอบรู้ในสหวิทยาการเช่นกับในกรณีที่ผ่านมา ซึ่งการวิจัยและการพัฒนาในเป้าหมายนี้ ก็เพื่อผลิตและส่งองค์ความรู้เชิงสหวิทยาการที่สำเร็จรูปอันเป็นสูตรในการป้อนองค์ความรู้ให้แก่ครอบครัวหรือครูของเด็กให้แก่สื่อเพื่อถ่ายทอดสู่สังคม 

พันธุ์ทิพย์ สายสุนทร

๒๕ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๗  

  
หมายเลขบันทึก: 33629เขียนเมื่อ 11 มิถุนายน 2006 03:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 00:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ข้อเสนอของอ.แหวว "ทันยุค" และ "ร่วมสมัย" ตามเคยนะคะ

อยากเห็น "สื่อ" ทำหน้าที่/บทบาท นี้ และทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สังคมที่ดี ต้องร่วมกันสร้าง ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท