หนานเกียรติ
เกียรติศักดิ์ หนานเกียรติ ม่วงมิตร

ถอดบทเรียน G2K Camp ร.ร.ไทยรัฐวิทยา ๖๓ (ตอนที่ ๒)


        G2K Camp ร.ร.ไทยรัฐวิทยา ๖๓ จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๖ – ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ ลักษณะเป็นค่ายฯ ค้างแรม ณ โรงเรียนไทยรัฐวิทยา ๖๓ ชุมชนบ้านคำแดง ต.เดิด อ.เมือง จ.ยโสธร

        สำหรับการเตรียมการ มี ๒ ส่วนใหญ่ ๆ

        ผมเตรียมกระบวนการที่จะจัดในค่าย รวมทั้งการประสานงานกับทีมวิทยากรสันทนาการ

        อ.พรชัย ภาพันธ์ ผู้อำนวยการ ร.ร.ไทยรัฐวิทยา ๖๓ ประสานงานกับสมาชิก G2K เพื่อขอรับการสนับสนุน และเชิญชวนเข้าร่วมกิจกรรม รวมทั้งการประสานงานในชุมชนเพื่อขอรับการสนับสนุนอาหารสำหรับการเข้าค่ายฯ

        ค่ายฯ เริ่มต้นในสายวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ หลังพิธีเปิดเป็นกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ ตลอดทั้งภาคเช้า ซึ่งดำเนินการโดยทีมงานจากกลุ่มบ้านกิจกรรม (Home@Activity) สลับกับการบรรยายจาก พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ผู้ช่วยอธิการบดี มจร. และทำกิจกรรมเสริมจาก ดร.ขจิต ฝอยทอง จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสาตร์ กำแพงแสน

        ช่วงบ่ายวันแรกเป็นกิจกรรมสันทนการต่อด้วยกิจกรรมวอล์คแรลลี่ มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างการกระบวนการกลุ่ม การช่วยเหลือพึ่งพาซึ่งกันและกัน ในตอนค่ำเป็นการสรุปบทเรียนการจัดกิจกรรมตลอดทั้งวันที่ผ่านมา รวมทั้งการเสริมกิจกรรมที่ให้แง่คิดต่าง ๆ ในการพัฒนาตนเอง

        กิจกรรมสันทนาการในวันแรกจากทีมงานกลุ่มบ้านกิจกรรม ได้สร้างความสนุกสนานเพลิดให้แก่นักเรียนที่เข้าร่วมได้มาก เป็นการเตรียมความพร้อมนักเรียนสำหรับการเข้าสู่กระบวนการเรียนรั้หลักในค่ายฯ ต่อไปได้เป็นอย่างดี

        วันที่สองของค่ายฯ หลังจากกิจกรรมสันทนาการแล้ว เป็นการเข้าสู่เนื้อหาและกระบวนการเรียนรู้ เริ่มจากการแบ่งนักเรียนเป็น ๙ กลุ่มย่อย แล้วให้แต่ละคนไปสอบถามสัมภาษณ์ทีมวิทยากรแล้วเรียบเรียงเป็นผลงานตนเองเป็นรายบุคคล

        จากนั้นแบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่มย่อย ให้มีสมาชิกที่มาจากแต่ละกลุ่มย่อยในช่วงแรกต่างกัน ให้แต่ละคนในกลุ่มย่อยพูดคุยเล่าเรื่องราวที่ตนเองรับรู้มาจากการพูดคุยสัมภาษณ์วิทยากร แล้วให้แต่ละกลุ่มช่วยกันระดมสมองว่าข้อมูลที่ได้มาจากการบอกเล่าเรื่องราวของวิทยากรในกลุ่มนั้น ได้มาจากคำถามใด ให้แต่ละกลุ่มระดมเขียนคำถามลงในกระดาษปรู๊ฟที่แจกให้ และให้ส่งตัวแทนออกไปนำเสนอ

        หลังจากการนำเสนอแล้ว วิทยากรอธิบายสรุปความเกี่ยวกับ “คำถาม” ถึงประเภทและชนิดของคำถาม การใช้คำถามในลักษณะต่าง ๆ คำตอบที่จะได้รับจากคำถามในแต่ละชนิด/ประเภท ฯลฯ

        เมื่ออธิบายจบแล้ว ให้แต่ละกลุ่มได้วิเคราะห์คำถามในกลุ่มตนเองว่าเป็นคำถามชนิด/ประเภทใด และให้เพิ่มเติมคำถามในชนิด/ประเภทคำถามที่ยังไม่ปรากฏในกระดาษปรู๊ฟของกลุ่มตนเอง

      กิจกรรมถัดมาในช่วงบ่าย เป็นการวิเคราะห์คุณลักษณะชุมชนบ้านคำแดง โดยการจัดทำเป็นแผนผังมโนทัศน์ (mindmap) แล้วให้แต่ละกลุ่มออกมานำเสนอ วิทยากรสรุปเป็นภาพรวม ซึ่งจำแนกออกเป็น ๑๒ ประเด็น เช่น ประวัติศาสตร์ชุมชน ลักษณะทางกายภาพและสถานที่สำคัญ ตระกูลและบุคคลสำคัญในชุมชน ลักษณะทางอาชีพและรายได้ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ความเชื่อและวัฒนธรรมประเพณีของชุมชน ศิลปะและการละเล่นพื้นบ้าน หัตถกรรม และอาหารพื้นบ้าน  เป็นต้น

        และได้แบ่งกลุ่มนักเรียนเป็น ๑๒ กลุ่ม ให้แต่ละกลุ่มจับสลากหัวข้อ/ประเด็นสำหรับการลงไปเก็บข้อมูลจากชุมชน แล้วสมาชิกในกลุ่มช่วยกันคิดคำถามสำหรับการลงไปเก็บข้อมูลในชุมชน

        ในช่วงค่ำมีการนำเสนอคำถามจากแต่ละกลุ่ม ซึ่งวิทยากรได้ช่วยเพิ่มเติมประเด็นคำถามในแต่ละกลุ่มให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

        ในช่วงเช้าของวันรุ่งขึ้น นักเรียนแต่ละกลุ่มได้ไปประสานงานนัดหมายชาวบ้าน ที่กลุ่มตนเองจะเดินทางไปสัมภาษณ์เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูล ซึ่งส่วนใหญ่นัดหมายได้ บางกลุ่มนัดหมายไม่ได้ ทางโรงเรียนได้แก้ปัยหานัดหมายให้แทน

        ช่วงสาย นักเรียนทั้ง ๑๒ กลุ่ม เดินทางไปยังบ้านเป้าหมาย ทำการสัมภาษณ์ตามประเด็นคำถามที่ได้เตรียมไว้ นักเรียนช่วยกันถามช่วยกันจด แต่ละกลุ่มใช้เวลาประมาณ ๑ – ๒ ชั่วโมง ก็แล้วเสร็จ

        กลุ่มที่เก็บข้อมูลครบถ้วนตามคำถามที่เตรียมไว้ก็จะเดินทางกลับมาที่โรงเรียน แล้วก็เรียบเรียงข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์เป็นความเรียง โดยมีทีมวิทยากรให้คำแนะนำปรึกษา

        ช่วงบ่าย ยาวต่อไปจนถึงช่วงค่ำ เป็นการนำเสนอผลงานของแต่ละกลุ่ม ทั้งนี้มีทีมวิทยากรจาก gotoknow คอยให้คำแนะนำ เสนอแนะในแต่ละกลุ่มเพิ่มเติมข้อมูลเพื่อให้ผลงานสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

        เช้าวันถัดมา มอบหมายให้นักเรียนนำข้อมูลที่ได้จากการศึกษาของแต่ละกลุ่มมาจัดทำบอร์ดนิทรรศการเพื่อนำเสนอก่อนการปิดค่ายฯ

        ผลงานของเด็กนักเรียนจากค่ายฯ นี้มี ๒ ประการ ได้แก่ ความเรียงเรื่องราวของชุมชน และบอร์ดนิทรรศการที่ย่อยเนื้อหาเรื่องราวเหล่านั้นมานำเสนอ

หมายเลขบันทึก: 335708เขียนเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2010 21:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 12:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

สวัสดีค่ะ

  • อ่าน AAR ของน้องนัทเข้าท่าดีแฮะ
  • ไม่เสียหลายเนาะ

เป็นกิจกรรมที่ดีมากครับ ฝึกเด็กเก็บข้อมูลภาคสนามเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวในชุมชนได้เ็ป็นอย่างดี

ชื่นชมวิทยากรทุกท่านครับพี่ มีโอกาสคงได้เข้าร่วมทีมสักครั้งครับ

ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านครับ

P สวัสดีครับ พี่ครูคิม

อยากอ่านจังเลยพี่
บอกน้องนัทให้รีบขึ้นบันทึกเลยครับ รออ่านด้วยจิตใจจดจ่อ...

P สวัสดีครับ อ.เสียงเล็กๆ فؤاد

ขอบคุณที่แวะมาทักทายครับ
ค่ายนี้สนุกมาก ๆ ครับ มีพวกเราชาว G2K ไปช่วยกันคนละไม้ละมือ
คุยกันว่าอยากจะไปจัดกิจกรรมแบบนี้ทางใต้สักครั้ง
น่าจะมีโอกาสได้ทำกิจกรรมร่วมกันสักครั้งนะครับ

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

ดีจังเลยที่เด็กได้เรียนรู้เรื่องชุมชนตัวเอง

ขอให้กำลังใจทุกท่านที่มีจิตอาสาเพื่อเด็ก

สวัสดีครับคุณหนานเกียรติ

ผมต้องขอโทษด้วยที่หายไป 2 วัน นำลูกศิษย์ไปแหล่งเรียนรู้มาครับ เรื่องราวที่ท่านนำมาจัดเป็นกระบวนการเรียนรู้

ของครูมืออาชีพจริง ๆ ชื่นชม ครับ

สวัสดีค่ะหนานเกียรติ

กิจกรรมสุดยอดเลย ถ้าปรับใช้กับระดับประถมจะเป็นไงนะ

เฌวาโตขึ้นเยอะเลยนะคะ เสียดายที่ไม่ได้ไปยโสธร

ชื่นชม ขอบคุณแทนเด็กอีสาน โชคดีจริงๆที่ได้รับความอนุเคราะห์จากผู้ใหญ่ใจดี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท