ประวัติหลวงพ่อเพชร


หลวงพ่อเพชร

 

    หลวงพ่อเพชร  วัดท่าหลวง 

 

 หลวงพ่อเพชร  วัดท่าหลวง 
  ที่มา  :  (โดยสุเทพ  สอนทิม)

          องค์หลวงพ่อเพชร  เป็นพระพุทธรูปที่มีพระพุทธลักษณะที่งดงามและทรงพุทธานุภาพอันศักดิ์สิทธิ์องค์หนึ่งของประเทศไทย  ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถ วัดท่าหลวง (พระอารามหลวง) ตำบลในเมือง  อำเภอเมือง  จังหวัดพิจิตร หลวงพ่อเพชรนอกจากจะเป็นพระพุทธรูปที่สวยงามทรงรูปศิลป์แล้ว  ยังเป็นพระพุทธรูปทรงอานุภาพอันศักดิ์สิทธิ์  ด้วยกิตติศัพท์นานัปการ  เมื่อใครได้ไปเที่ยวเมืองพิจิตรจะต้องไปนมัสการหลวงพ่อเพชร  เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง  นับได้ว่าองค์หลวงพ่อเพชรนี้ เป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญของจังหวัดพิจิตร  จนมีคำพูดติดปากกันอยู่เสมอว่า “ใครไปพิจิตรถ้าไม่ได้เข้าไปนมัสการองค์หลวงพ่อเพชรก็เหมือนไปไม่ถึงเมืองพิจิตร”

         ส่วนประวัติความเป็นมาของการสร้างหลวงพ่อเพชรนั้น  ไม่ปรากฏหลักฐาน   ที่ชัดเจนนัก  แต่มีตำนานที่เล่าสืบต่อกันมาอยู่หลายตำนาน  ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับประวัติของวัดท่าหลวง  ดังนั้นในการนำเสนอประวัติของหลวงพ่อเพชร  จึงมีประวัติของวัดท่าหลวงประกอบ  ซึ่งมีรายละเอียดต่าง ๆ  ดังนี้

1.  ประวัติวัดท่าหลวง

 

 วัดท่าหลวง  พระอารามหลวง
ที่มา  :  (โดยสุเทพ  สอนทิม)

        วัดท่าหลวง  พระอารามหลวง  ตั้งอยู่เลขที่  674  ถนนบุษบา  ตำบลในเมือง อำเภอเมืองพิจิตร  จังหวัดพิจิตร  รหัสไปรษณีย์  66000  เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ  สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย  ภาค 4  หนเหนือ  ที่ดินที่ตั้งวัดมีเนื้อที่ จำนวน  46  ไร่  3  งาน  17.4  ตารางวา  น.ส. 3 ก  เลขที่ 470, 471  มีที่ธรณีสงฆ์ จำนวน  2  แปลง  มีเนื้อที่จำนวน  30  ไร่  2  งาน  42  ตารางวา  ตามโฉนดตราจอง และ น.ส. 3  เลขที่  2226, 219  อยู่ที่ตำบลในเมือง  และตำบลหนองปลาไหล แห่งละหนึ่งแปลง  ก่อตั้งวัดราวปี พ.ศ.  2388  ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่  8  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  2492  เขตแดนวิสุงคามสีมา  กว้าง  9  เมตร ยาว  26  เมตร  เป็นวัดพัฒนาตัวอย่างเมื่อพ.ศ.  2510 - 2513  ได้รับการสถาปนา ขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี  ชนิดสามัญ  เมื่อปี พ.ศ.  2529

                  อาณาเขต   

                       ทิศเหนือ       ติดกับที่ตั้งของโรงเรียนท่าหลวงสงเคราะห์ 
                       ทิศใต้           ติดกับที่ทำการไปรษณีย์พิจิตร
                       ทิศตะวันออก  ติดกับแม่น้ำน่าน
                       ทิศตะวันตก    ติดกับถนนศรีมาลาตรงกันข้ามเป็นที่ตั้งของที่ว่าการอำเภอเมืองพิจิตร  เรือนจำกลางจังหวัดพิจิตร  และกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดพิจิตร

 

 แม่น้ำน่านซึ่งไหลผ่านหน้าวัดท่าหลวง  เป็นแม่น้ำสายสำคัญของจังหวัด
ที่มา  :  (โดยสุเทพ  สอนทิม)

ความเป็นมา

          ความเป็นมาของวัดท่าหลวง  เป็นวัดโบราณวัดหนึ่งซึ่งอยู่คู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดพิจิตร  ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำน่าน  ไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัดว่าสร้างขึ้นครั้งแรกเมื่อใด  แต่มีหลักฐานที่สืบทราบได้ว่าสร้างขึ้นราวปี พ.ศ.  2388  เป็นต้นมา  ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ  รัชกาลที่  3  แห่งราชวงศ์จักรี  ขณะนั้นมีฐานะเป็นวัดประเภทสำนักสงฆ์  ยังไม่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา  เดิมทีมีชื่อเรียกว่า  “วัดราษฎร์ประดิษฐาราม”  ต่อมาเรียกกันว่า  “วัดประดิษฐาราม”  ในปัจจุบันเรียกว่า “วัดท่าหลวง”  ซึ่งเรียกตามชื่อของหมู่บ้าน ที่เป็นที่ตั้งของวัด  คำว่า  “ท่าหลวง”  นั้น  เป็นชื่อของหมู่บ้านท่าหลวง  คลองท่าหลวง ตำบลท่าหลวง  และเคยเป็นชื่อของอำเภอท่าหลวงมาก่อน  ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2481 เปลี่ยนเป็นอำเภอเมืองพิจิตรจนถึงปัจจุบัน

          วัดท่าหลวงนี้มีมาก่อนที่จะย้ายเมืองพิจิตรเก่ามาตั้งอยู่ที่เมืองพิจิตรใหม่ในปัจจุบัน ซึ่งในขณะนั้นที่ตั้งตัวเมืองพิจิตรอยู่ที่ตำบลเมืองเก่า  ห่างจากตัวเมืองพิจิตรในปัจจุบันไปทางทิศตะวันตกประมาณ  8  กิโลเมตร  และได้ย้ายเมืองพิจิตรเก่ามาตั้งอยู่ที่เมืองพิจิตรใหม่ดังที่ปรากฏในปัจจุบัน  ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 5   ซึ่งในขณะนั้น  สภาพโดยทั่วไปของเสนาสนะ  ถาวรวัตถุภายในวัดมีเพียงกุฏิหลังคามุงแฝกอยู่  2 - 3  หลัง  และมีพระอุโบสถหลังเก่ากับวิหารเก่าตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำน่าน  แต่มาเกิดเพลิงไหม้กุฏิ  ส่วนพระอุโบสถเก่าและวิหารเก่าก็ชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา  ครั้นต่อมาเจ้าอาวาสวัดท่าหลวงในยุคนั้น  สันนิษฐานว่าคือพระเดชพระคุณพระธรรมทัสสีมุนีวงศ์  (หลวงปู่เอี่ยม)  ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าคณะจังหวัดพิจิตร  ได้สร้างกุฏิขึ้นใหม่

 

 

พระธรรมทัสสีมุนีวงศ์  (หลวงปู่เอี่ยม)  อดีตเจ้าอาวาสวัดท่าหลวง
ที่มา  :  (วัดท่าหลวง  พระอารามหลวง,  ม.ป.ป.)

       ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ  ทรงทราบว่าวัดท่าหลวงเป็นที่ประดิษฐานองค์หลวงพ่อเพชร  ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง  เป็นมิ่งขวัญของชาวพิจิตร  ซึ่งต่อมาเจ้าพระยาเทพาธิบดี  (อิ่ม)  เจ้าเมืองพิจิตร  ได้รับคำสั่งจาก  เจ้าพระยาศรีสุริยศักดิ์  สมุหเทศาภิบาล  มณฑลพิษณุโลกว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ  มีพระราชประสงค์จักได้พระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามไปประดิษฐานไว้ที่วัดเบญจมบพิธดุสิตวนาราม  จังหวัดพระนคร ดังนั้นพระยาเทพาธิบดี  เจ้าเมืองพิจิตร  จึงได้อัญเชิญองค์หลวงพ่อเพชร  ซึ่งในขณะนั้นประดิษฐานอยู่ที่อุโบสถวัดนครชุม  เมืองพิจิตรเก่านำมาประดิษฐานไว้ที่วัดท่าหลวงเพื่อที่จะนำขึ้นทูลเกล้าถวายตามพระราชประสงค์  แต่ด้วยเหตุที่พระองค์ทรงทราบว่าชาวเมืองพิจิตรมีความเศร้าโศกเสียใจเป็นอันมาก  ด้วยความเสียดายองค์หลวงพ่อเพชร พระองค์จึงรับสั่งให้นำองค์หลวงพ่อเพชรกลับคืนไปพักไว้ที่วัดท่าหลวงตามเดิมโดยมิได้อัญเชิญกลับไปยังวัดนครชุม  เมืองพิจิตรเก่าตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

        เมื่อวันที่  8  เดือนตุลาคม  ปี พ.ศ.  2452  ตรงกับวันขึ้น  4  ค่ำ  เดือน  11  ปีระกา  เอกศก  1271  รัตนโกสินทรศก  128  พระยาพิชัยณรงค์สงคราม  (ดิษ)  เจ้าเมืองพิจิตร  และภริยา  (เผื่อน)  พร้อมนายคอนผู้เป็นบุตร  ร่วมกันสร้างพระอุโบสถ ด้วยทุนที่ได้รับพระราชทานเงินเดือน  จำนวน  1,233  บาท  (หนึ่งพันสองร้อยสามสิบสามบาท) และมีผู้ร่วมบริจาคหลายราย  เพราะพระอุโบสถหลังเดิมได้ชำรุดทรุดโทรม ซึ่งความประสงค์ของท่านเจ้าเมืองพิจิตรในการสร้างพระอุโบสถนั้น  เพื่อเป็นที่ประดิษฐานองค์หลวงพ่อเพชร  พระอุโบสถหลังนี้สร้างอยู่หน้าพระอุโบสถหลังเดิม ตั้งอยู่ใกล้ริมฝั่งแม่น้ำน่าน  ต่อมาน้ำได้เซาะตลิ่งพัง จึงได้สร้างขึ้นมาใหม่และพร้อมกันนี้ได้สร้างศาลาขึ้นมาหนึ่งหลังประมาณปี พ.ศ. 2455 โดยใช้การก่อสร้างแบบลักษณะ ทรงไทยโบราณ  ไม่ใช้ตะปูในการก่อสร้าง  ศาลาหลังนี้ใช้เสาใหญ่มาก  โดยเมื่อปี พ.ศ.  2457 สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส  สมเด็จพระสังฆราชเจ้าในขณะนั้น  ทรงเสด็จออกตรวจการณ์คณะสงฆ์มณฑลฝ่ายเหนือ พระองค์ได้ทรงเสด็จ มาที่วัดท่าหลวง  ได้ทรงชมว่า  “ศาลาการเปรียญหลังนี้  ช่างสร้างได้เก่งจริง ๆ”  และต่อมาศาลาหลังนี้ก็ชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา        

        ต่อมาในปี พ.ศ.  2471  พระเดชพระคุณพระครูศีลธรารักษ์(หลวงปู่ยิ้ม  ทัดเที่ยง) เจ้าอาวาสวัดท่าหลวง  และเจ้าคณะจังหวัดพิจิตรในขณะนั้นพร้อมด้วยคณะอุบาสกอุบาสิกา ทายก  ทายิกา ได้เดินทางไปนิมนต์พระมหาไป๋ ญาณผโล - นาควิจิตร เปรียญธรรม 4 ประโยคซึ่งเป็นครูสอนพระปริยัติธรรมแผนกบาลี อยู่ที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏ์ จังหวัดพระนคร ให้มาเป็นครูสอนในโรงเรียนพระปริยัติธรรม ทั้งแผนกบาลีและแผนกธรรม ที่สำนักศาสนศึกษาวัดท่าหลวง พระมหาไป๋  ญาณผโล รูปนี้ท่านเป็นชาวเมืองพิจิตรเก่า และได้ไปศึกษา เล่าเรียนที่จังหวัดพระนคร ตั้งแต่ปี พ.ศ.2459 ท่านได้พัฒนาการศึกษาสงฆ์จนมีความมั่นคง จนทำให้วัดท่าหลวงมีพระภิกษุสามเณรเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากเป็นลำดับ แม้กระทั่งศิษย์วัดก็มีมากขึ้นด้วย

 

 พระครูศีลธรารักษ์ (หลวงปู่ยิ้ม  ทัดเที่ยง)  อดีตเจ้าอาวาสวัดท่าหลวง 
ที่มา  :  (วัดท่าหลวง  พระอารามหลวง,  ม.ป.ป.)

          ในปี พ.ศ.  2472  พระเดชพระคุณพระครูศีลธรารักษ์  (หลวงปู่ยิ้ม  ทัดเที่ยง)  
เจ้าอาวาสวัดท่าหลวง และเจ้าคณะจังหวัดพิจิตรได้มรณภาพลง พระมหาไป๋ ญาณผโลจึงได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดท่าหลวงรูปต่อมาและในขณะเดียวกันท่านยังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าคณะจังหวัดพิจิตรอีกด้วย ซึ่งต่อมาได้รับพระบัญชาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดพิจิตร เมื่ออายุเพียง 33 ปี พรรษา 10 แต่เนื่องจากท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญและใฝ่ใจในการศึกษา มีความรู้ความเข้าใจ อย่างแตกฉานในพระธรรมวินัย จึงได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตรในราชทินนามที่ พระครูทีฆทัสสีมุนีวงศ์ พิจิตรสังฆบดี สังฆวาหะ เมื่อวันที่ 6 เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2474 ต่อมาเมื่อวันที่ 1 เดือนมีนาคม  พ.ศ.  2479  ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ  ในราชทินนามที่  พระทีฆทัสสีมุนีวงศ์ มงคลพิจิตร  ยคณิสสร  บวรสังฆารามคามวาสี (สป.)

 

 

 พระทีฆทัสสีมุนีวงศ์ (หลวงปู่ไป๋  ญาณผโล)  อดีตเจ้าอาวาสวัดท่าหลวง 
ที่มา  :  (วัดท่าหลวง  พระอารามหลวง,  ม.ป.ป.)

         ในปี พ.ศ.  2490  พระเดชพระคุณพระทีฆทัสสีมุนีวงศ์(หลวงปู่ไป๋  ญาณผโล)  
ได้ดำเนินการก่อสร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรมที่ใหญ่ที่สุด ในจังหวัดพิจิตรในขณะนั้นขึ้นมาอีกหลังหนึ่ง  พอถึงปี พ.ศ.  2492  ท่านได้เป็นประธานในการสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ที่มีความวิจิตรงดงาม  ตามแบบสถาปัตยกรรมไทย  ขนาดกว้าง  9.50  เมตร  ยาว  27  เมตร  เพื่อเป็นที่ประดิษฐานองค์หลวงพ่อเพชร ซึ่งสร้างสำเร็จเมื่อปี พ.ศ.  2495  และได้อัญเชิญองค์หลวงพ่อเพชรมาประดิษฐาน และเมื่อปี พ.ศ.  2514  ได้ดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งที่  1  เป็นเงินจำนวน 19,133  บาท  (หนึ่งหมื่นเก้าพันหนึ่งร้อยสามสิบสามบาท)

 

 พระอุโบสถที่ประดิษฐานองค์หลวงพ่อเพชร ที่พระทีฆทัสสีมุนีวงศ์ดำริสร้างขึ้น 
ที่มา  :  (โดยสุเทพ  สอนทิม)

                

 พระราชวิจิตรโมลี  (หลวงพ่อบุญมี ปริปุณโณ - แตงปั้น) 
เจ้าอาวาสวัดท่าหลวงในปัจจุบัน 
ที่มา  :  (วัดท่าหลวง  พระอารามหลวง,  ม.ป.ป.)

         เมื่อปี พ.ศ.2530 พระเดชพระคุณพระราชวิจิตรโมลี (หลวงพ่อบุญมีปริปุณโณ - แตงปั้น) เจ้าอาวาสวัดท่าหลวงรูปปัจจุบัน ได้ก่อสร้างศาลาสภาบริหารคณะสงฆ์จังหวัดพิจิตร (ศาลาการเปรียญ) ด้วยวัตถุประสงค์คือต้องการให้เป็นที่ประชุมส่วนกลางของคณะสงฆ์จังหวัดพิจิตร เป็นสถานที่บำเพ็ญกุศล ทำกิจกรรมของส่วนราชการ ประชาชน และประกอบกับในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ฯ รัชกาลที่ 9 ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2530 โดยสร้างในรูปแบบอาคารทรงไทยประยุกต์ 2 ชั้น ขนาดกว้าง 28 เมตร ยาว 60 เมตรโดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้ใช้พระปรมาภิไธย ภ.ป.ร.ประกอบพระมหาพิชัยมงกุฎ อัญเชิญประดิษฐานที่หน้าบันของศาลาสภาบริหารคณะสงฆ์  

 

 ศาลาสภาบริหารคณะสงฆ์จังหวัดพิจิตร 
ที่มา  :  (โดยสุเทพ  สอนทิม)

           ต่อมาในปี พ.ศ.  2533  ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์พระอุโบสถหลวงพ่อเพชร  ครั้งที่  2  โดยได้จัดเปลี่ยนกระเบื้องหลังคา  ทาสี  และวาดภาพจิตรกรรมฝาผนัง  ประดับไฟฟ้าทั้งภายในและภายนอก เป็นเงินจำนวน 5,200,000 บาท(ห้าล้านสองแสนบาท) โดยคุณเฉลียว อยู่วิทยา เจ้าของบริษัทกระทิงแดง จำกัด เป็นผู้อุปถัมภ์ทั้งหมด

           ปี พ.ศ.  2542  มหาเถรสมาคม ได้มีมติให้วัดท่าหลวงเป็นที่ประทานสัญญาบัตร พัดยศ และผ้าไตร แก่คณะสงฆ์ในเขตการปกครองคณะสงฆ์หนเหนือ16 จังหวัด โดยพระเดชพระคุณท่านเจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเป็นองค์ประทานสัญญาบัตร พัดยศ และผ้าไตรและในปี พ.ศ. 2546 พระเดชพระคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เจ้าคณะใหญ่หนเหนือได้มีบัญชาให้วัดท่าหลวงเป็นสถานที่ทรงตั้งเปรียญและมอบวุฒิบัตรแก่พระภิกษุสามเณรผู้สอบบาลีสนามหลวงได้ในปี พ.ศ.2546 ในเขตปกครองคณะสงฆ์หนเหนือ 16 จังหวัด

           ในปี พ.ศ.  2546  ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์พระอุโบสถหลวงพ่อเพชรครั้งที่  3ได้จัดเปลี่ยนหลังคา ทาสี และเปลี่ยนไม้แปร ระแนง ฝ้าเป็นเงินจำนวน 2,100,000 บาท (สองล้านหนึ่งแสนบาท) โดยคุณเฉลียว อยู่วิทยา เจ้าของบริษัทกระทิงแดง จำกัด เป็นผู้อุปถัมภ์ทั้งหมด            

           วัดท่าหลวงได้รับการพัฒนามาเป็นลำดับ ทั้งนี้เพื่อรองรับกิจกรรมที่เกิดขึ้น เนื่องจากเป็นวัดแห่งเดียวที่อยู่ในตัวเมืองเขตเทศบาล จะมีหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ  เอกชน พ่อค้า ประชาชน นักเรียน นิสิตนักศึกษามาประกอบกิจกรรมอย่างหลากหลายทั้งการพัฒนาวัดที่เกิดขึ้นได้นั้น ต้องอาศัยกำลังศรัทธาของประชาชนทั่วไปที่ได้เสียสละปัจจัยในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้มั่นคงสืบไป

 

 ป้ายชื่อวัดท่าหลวง  ที่บอกถึงการเป็นพระอารามหลวง 
ซึ่งนำความภาคภูมิใจมาสู่ชาวพิจิตร 
ที่มา  :  (โดยสุเทพ  สอนทิม)

2.  ประวัติหลวงพ่อเพชร 

 

หลวงพ่อเพชร
ที่มา  :  (โดยสุเทพ  สอนทิม)

            หลวงพ่อเพชรเป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในสมัยเชียงแสน หล่อด้วยโลหะทองสัมฤทธิ์   มีพุทธลักษณะเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยขัดสมาธิเพชร  ชายสังฆาฏิหยักเป็นเขี้ยวตะขาบสั้นเหนือพระอุระ  เกตุบัวตูม  ขนาดหน้าตัก  กว้าง  2  ศอก  1  คืบ  6  นิ้ว  (1.40  เมตร)  สูง  3  ศอก  3  นิ้ว  (1.60  เมตร)  ประทับนั่งบนฐานดอกบัวบานหงายรองรับ  ต่อจากฐานโลหะเป็นแท่นชุกชี  หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งคือฐานชุกชี   มีลวดลายปิดทอง  ประดับกระจก  ผู้ชำนาญการได้ตรวจสอบแล้วหลายท่านได้ให้ความเห็นตรงกันว่า  องค์หลวงพ่อเพชรเป็นพระพุทธรูปสมัยเชียงแสนรุ่นแรก  จัดสร้างขึ้นในระหว่างปีพ.ศ. 1660  ถึงปี พ.ศ.  1800(นับอายุการสร้างจนถึงปัจจุบันนี้ประมาณ  890  ปี)

          ประวัติการสร้างและความเป็นมาขององค์หลวงพ่อเพชร ยังไม่มีหลักฐานที่บ่งชัดแน่นอน เพียงแต่มีตำนานเล่าขานกันสืบมาตั้งแต่ครั้งบรรพกาลว่า เดิมหลวงพ่อเพชรประดิษฐานอยู่ที่วัดจอมทอง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อครั้งสมเด็จพระนารายณ์มหาราชยกทัพไปปราบหัวเมืองเหนือ ขณะเสด็จ พระราชดำเนินผ่านเมืองพิจิตร  ทางเจ้าเมืองพิจิตรให้การต้อนรับปฏิสันถารเป็นอย่างดี สร้างความพอพระทัยให้แก่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นอย่างยิ่ง และก่อนที่จะจากกันเจ้าเมืองพิจิตรได้กราบบังคมทูลว่าตนนั้นต้องการพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงาม เพื่อนำมาเป็นพระพุทธรูปประจำเมืองสักองค์ สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเห็นว่าเรื่องนี้ไม่ยุ่งยากนัก จึงรับปากว่าจะหามาให้ตามความต้องการ หลังจากนั้น ก็มุ่งสู่จอมทอง เมื่อไปถึงได้ปราบขบถจอมทองจนราบคาบ เมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เสด็จพระราชดำเนินกลับมาจากเชียงใหม่จึงทรงอันเชิญหลวงพ่อเพชรล่องแพมาทางลำน้ำปิง แล้วอันเชิญประดิษฐานที่เมืองกำแพงเพชรก่อน และทรง แจ้งให้เจ้าเมืองพิจิตรทราบ เจ้าเมืองพิจิตรพร้อมชาวเมืองพิจิตรเป็นจำนวนมากได้ไปเมืองกำแพงเพชรเพื่อทำการสักการะ แล้วอันเชิญหลวงพ่อเพชรจากเมืองกำแพงเพชรแห่แหนมาประดิษฐานไว้ที่พระอุโบสถวัดนครชุม เมืองพิจิตร  (เก่า)

พระอุโบสถวัดนครชุม  เมืองพิจิตร  (เก่า)
ที่มา  :  (วัดนครชุม,  ม.ป.ป.)

         ต่อมาราวปี  พ.ศ.  2442  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่  5  โปรดเกล้าฯ  ให้สร้างวัดเบญจมบพิตร  มีพระราชประสงค์จะอันเชิญพระพุทธชินราชจากเมืองพิษณุโลกไปประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตร  ชาวเมืองพิษณุโลกพากันเศร้าโศกไปทั้งเมือง  พระองค์จึงมี พระบรมราชโองการให้สืบหาพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามไปแทนพระพุทธชินราช  เจ้าพระยาศรีสุริยศักดิ์ซึ่งเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลพิษณุโลก  ทราบว่าหลวงพ่อเพชรเมืองพิจิตรมีพุทธลักษณะงดงาม  จึงแจ้งให้พระยาเทพาธิบดี  (อิ่ม)  เจ้าเมืองพิจิตรทราบ  พร้อมทั้งให้อัญเชิญหลวงพ่อเพชรขึ้นไปที่เมืองพิษณุโลก

           ชาวเมืองพิจิตรเมื่อได้ทราบข่าวก็เกิดการหวงแหน  ได้นำหลวงพ่อเพชร  ไปซ่อนไว้ตามป่า  แต่คณะกรรมการเมืองก็ได้ติดตามกลับคืนมาได้และอันเชิญ   หลวงพ่อเพชรมาไว้ที่วัดท่าหลวง  เมืองพิจิตร  (ใหม่)  เพื่อรอการอันเชิญไปประดิษฐานที่เมืองพิษณุโลกต่อไป  เหตุการณ์ครั้งนั้นยังความเศร้าโศกเสียใจให้กับชาวเมืองเป็นอย่างยิ่ง  ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเข้าพระทัยชาวเมืองพิษณุโลกและชาวเมืองพิจิตร  จึงโปรดเกล้าฯ ให้ระงับการนำพระพุทธชินราชและหลวงพ่อเพชรไปกรุงเทพฯ และโปรดเกล้าฯ ให้หล่อ  พระพุทธชินราชจำลอง  เพื่อนำไปประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ วัดเบญจมบพิตรแทน  หลวงพ่อเพชรจึงไม่ต้องถูกนำไปเมืองพิษณุโลก

            ชาวเมืองพิจิตรพากันแสดงความยินดี  มีมหรสพสมโภชเป็นการใหญ่เมื่อเสร็จการสมโภชแล้วชาวเมืองพิจิตร  (เก่า)  ก็เตรียมการที่จะแห่แหนหลวงพ่อเพชรกลับคืนไปประดิษฐานที่วัดนครชุมตามเดิม  แต่ชาวเมืองพิจิตร  (ใหม่)  ก็มีความเห็นว่าสมควรที่จะประดิษฐานที่วัดท่าหลวง  เพราะเมืองพิจิตรได้ย้ายมาอยู่ที่แห่งใหม่แล้ว  ไม่ยอมให้ชาวเมืองพิจิตร  (เก่า)  นำหลวงพ่อเพชรคืนไป  จนเกิดเป็นเรื่องราวใหญ่โต  เจ้าคุณพระธรรมทัสสีมุนีวงศ์  (เอี่ยม)  ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดท่าหลวงและดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดพิจิตรในขณะนั้นได้เข้าทำการห้ามปรามระงับเหตุได้ทัน โดยให้ทำการหล่อหลวงพ่อเพชรจำลองขนาดเท่าองค์เดิมไปประดิษฐานที่วัดนครชุม  เมืองพิจิตร  (เก่า)  แทน  และนับตั้งแต่นั้นมาหลวงพ่อเพชรก็ประดิษฐานเป็น พระประธานอยู่  ณ  พระอุโบสถวัดท่าหลวง  อำเภอเมือง  จังหวัดพิจิตร มาจนถึงปัจจุบัน 

             องค์หลวงพ่อเพชรเป็นพระพุทธรูปสวยงามที่ทรงไว้ซึ่งพุทธลักษณะและ ศักดิ์สิทธิ์องค์หนึ่งของประเทศไทย ดังจะเห็นได้ในงานเทศกาลประจำปีที่เคยจัดในเดือนธันวาคม - เดือนมกราคม  หรือในเดือนเมษายน  จะมีประชาชนพากันมานมัสการกันอย่างล้นหลามแน่นพระอุโบสถ  บางวันเกือบจะเข้าออกกันไม่ค่อยได้  แม้วันปกติธรรมดาก็มีประชาชนเข้ามานมัสการบูชากันทุกวัดมิได้ขาดส่วนในงานประเพณีการแข่งขันเรือยาวของจังหวัดพิจิตร  ที่จัดแข่งขันหน้าวัดท่าหลวง  ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำในฤดูน้ำหลาก  ทุกเสาร์แรกของต้นเดือนกันยายนของทุกปี  ก็จะมีประชาชนทุกสารทิศมานมัสการองค์หลวงพ่อเพชร และชมงานแข่งเรือยาวกันเป็นจำนวนมาก  นับได้ว่าองค์หลวงพ่อเพชรนี้เป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญของจังหวัดพิจิตร  และเมื่อวันที่  9  เดือนพฤษภาคม  ปี พ.ศ.  2514  ตรงกับวันขึ้น  15  ค่ำ  เดือน  6  วันวิสาขบูชา  สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมารเสด็จราชดำเนินทรงนมัสการองค์หลวงพ่อเพชรและทรงประกอบพิธีเวียนเทียนในวันวิสาขบูชารอบพระอุโบสถหลวงพ่อเพชร

          

หมายเลขบันทึก: 335226เขียนเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2010 10:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท