บทเรียนจากญี่ปุ่น ทิศทางการพัฒนาและการปรับตัวของประเทศไทย


ความรู้ทางโลกไม่มีวัยสิ้นสุดและเรียนรู้ได้จากทุกที่

ตอนนี้กำลังเคร่งเครียดเร่งการเรียนครับ เพราะเทอมนี้ เรียนหนัก และอยากปรับให้ดี เพื่อให้เรียนจบ  เลยขอพักหัวกลับมาทำสิ่งที่รักคือการเขียนบล็อกครับ อ่านข่าวเรื่องวิกฤตศรัทธา สินค้าญี่ปุ่น แล้ว อยากให้พวกเราลองมองอีกแบบ ครับ เป็นการมองเพื่อย้อนกลับมาพัฒนาตัวเอง

ข่าวเค้าว่า ...

 

*****************************************************

เมื่อเกิดวิกฤติศรัทธา ต่อแบรนด์ 'Japan'

โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

 

แต่ก่อนๆ เมื่อไม่นานมานี้เอง หนังสือชื่อ "Japan as No 1…Lessons for America" เขียนโดยอาจารย์ฮาร์วาร์ด ชื่อ Ezra Vogel เป็นที่ฮือฮายิ่งนัก

  เพราะเขาบอกว่า "แบรนด์ญี่ปุ่น" กำลังครองโลก

 วันนี้ ความเป็นเลิศของญี่ปุ่นกำลังโดนท้าทายยิ่ง เพราะสินค้าดังๆ ที่เป็นที่ยอมรับกันไปทั่วเช่น Toyota Honda Sony และแม้ JAL กำลังเผชิญกับ "วิกฤติศรัทธา" ที่หนักหน่วง และหากแก้ไขไม่ได้ทันท่วงที อาจจะโดนเกาหลีใต้ ไต้หวัน และประเทศเกิดใหม่ด้านเทคโนโลยี แซงหน้าไปหน้าตาเฉยก็ได้

 อีกทั้งจีน ก็กำลังหายใจรดต้นคอญี่ปุ่นในด้านนี้อยู่อีกทางหนึ่ง

 สายการบิน Japan Airlines (JAL) เคยเป็นหนึ่งในระดับโลก เทียบเคียงได้กับ PanAm และ TWA ของสหรัฐในสมัยหนึ่ง แต่เพราะการบริหารจัดการที่ตกต่ำและการปฏิเสธที่จะปรับตัวตามสภาพความเป็นจริง JAL ก็จึงต้องล่มสลาย ประกาศล้มละลายเหมือนที่ PanAm และ TWA ของอเมริกาต้องล้มเลิกกิจการไป

 โตโยต้า เป็นบริษัทล่าสุดของญี่ปุ่น ที่ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของชาติ ที่ต้องตอบคำถามว่า "คุณภาพคุณมีปัญหาแล้วหรือ?"  เพราะต้องเรียกรถยนต์หลายล้านคันในสหรัฐ ยุโรป และจีน เพราะปัญหาคันเร่งค้าง และพรมปูพื้นขัดคันเร่ง...ล่าสุดผู้ใช้รถโตโยต้า รุ่นพริอุส ในญี่ปุ่นเกือบ 100 รายร้องเรียนปัญหาเกี่ยวกับระบบเบรกขึ้นมาอีก

 ฮอนด้า ก็เจอกับการร้องเรียนลักษณะละม้ายกัน แม้จะไม่รุนแรงเท่า แต่ก็ต้องเรียกรถจากทั่วโลกคืนเกือบ 650,000 คัน เพราะปัญหาน้ำรั่วเข้าบริเวณสวิตช์กระจกประตูด้านคนขับ

 เป็นการซ้ำเติมภาพลักษณ์ของ Japan as No 1 เข้าไปอีก

 ระยะหลังนี้ โซนี่ ซึ่งเป็นยี่ห้ออันดับต้นๆ ของโลก ก็ต้องเสียแชมป์ในฐานะผู้นำด้านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดพกพาให้กับ Apple ของมะกัน

 เหตุเมื่อแข่งกันหมัดต่อหมัด ยกต่อยก ทั้งคุณภาพ ความสะดวกในการใช้ และความเนี้ยบของการออกแบบแล้ว โซนี่ ก็ต้องเจอกับสภาพ "หืดขึ้นคอ" เช่นกัน

 เหตุเกิดจากอะไรหรือ? คำตอบจากนักวิเคราะห์ที่เกาะติดประเด็นนี้ (ส่วนหนึ่งจากการอ่านหนังสือวิเคราะห์การแข่งขันระหว่าง Sony กับ Samsung ของเกาหลีใต้) บอกว่าข้อแรกคือญี่ปุ่น อาจจะ "ตายใจ" หรือ "ประมาท" เกินไป ไม่เห็นอันตรายจากการแข่งขัน ที่มาจากเพื่อนบ้านเอเชียเองนี่แหละ

 บางครั้งอาจจะเรียกว่าเป็น "ความทระนง" ที่คิดว่าไม่มีใครทาบทันได้กระมัง

 เกาหลีใต้ลุยหนัก และทุ่มงบวิจัยและพัฒนาอย่างแข็งขัน จนขึ้นมาแข่งกับญี่ปุ่นในหลายเวที ได้อย่างองอาจ
 ไต้หวันเล่นเกม "ของดี ราคาถูก" ที่สามารถดึงเอาตลาดล่างและกลางของญี่ปุ่นไปได้ไม่น้อย

 จีน แผ่นดินใหญ่ก็ไม่ยอมอยู่เฉย เพราะปักกิ่ง รู้ดีว่าอนาคตของตนไม่อาจจะพึ่งพิง "ค่าแรงถูก ของย่อมเยา" อย่างเดียวได้อีกต่อไป

 และยิ่งเมื่อยี่ห้อดังๆ ของญี่ปุ่นต้องปรับลดราคาลงมาแข่งในตลาดกลางๆ ก็มีผลกระทบต่อคุณภาพและความน่าเชื่อถือมากขึ้น

 เรียกว่าถูกกดดันทั้งด้วยเรื่องราคาและคุณภาพ

 ปัญหาสำคัญอีกด้านหนึ่งที่ทำให้เกิด "วิกฤติศรัทธา" คือสไตล์การ "เก็บตัวเงียบ" ของคนระดับบริหารของบริษัทยักษ์ๆ ของญี่ปุ่น เมื่อเกิดกรณีที่ผู้บริโภคร้องเรียน และปัญหาคุณภาพ

 วิถีปฏิบัติของผู้บริหารเหล่านี้คือ พอมี "ข่าวร้าย" ก็จะหลบหายไป ปล่อยให้โฆษกหรือผู้บริหารระดับกลางออกมาตอบคำถามของสื่อ อ้ำๆ อึ้งๆ และดูเหมือนจะปัดความรับผิดชอบในช่วงต้น...

 พอเรื่องแดง กลายเป็นเรื่องเป็นราวไปแล้ว จึงออกมาเสียความเสียใจ

 ช้าไป น้อยไป และสร้างความเสียหายให้กับองค์กรของตน ในระดับที่สูงกว่าที่ควรจะเป็นในหลายๆ กรณี
 ญี่ปุ่นกำลังเจอมะกันกดจากข้างบน จีนดันจากด้านล่าง และเกาหลีใต้อัดจากด้านข้าง

 ติดเชือกอย่างนี้ ถ้าญี่ปุ่น ไม่กระโดดออกจากมุมเพื่ออัดกลับบ้างเหนื่อยแน่

*************************************************

มองญี่ปุ่นแล้วลองย้อนกลับมามองดูประเทศไทย ทิศทางการพัฒนาของเราจะเป็นอย่างไรกันแน่ เข้าใจว่าการเมืองไทยปัจจุบันไม่นิ่ง แต่ปากท้องประชาชนและ การพัฒนาก็ต้องเดินต่อไป ผมอยากเห็นนโยบายดีๆ ในอดีตที่ดึงเอาจุดแข็งของประเทศเรามาใช้ให้เกิดประโยชน์ อย่างเต็มที่ครับ เช่น การเป็นครัวโลก

อย่างเดนมาร์คเอง แม้อยู่ในสหภาพยุโรป ก็ไม่ได้เน้นอุตสาหกรรมหนักมากนัก สินค้าเกษตรก็ยังคงเป็นสินค้าสร้างชื่อให้เดนมาร์ค ที่สำคัญ เดนมาร์คก็เน้นการศึกษาเพื่อสร้างคุณภาพประชาชน

ซึ่งในส่วนตัวผมเอง ชื่นชมรัฐบาลไทยชุดนี้ที่เน้นการศึกษา เพราะการศึกษาเป็นผลงานที่ไม่แสดงออกในระยะสั้น แต่สำคัญกับประเทศมากที่สุดครับแต่กังขากับเรื่องคอรับชั่น

  อย่างไรก็ตามเรื่องคอรับชั่นก็ต้องปราบกันไป จนกว่าจะเกิดค่านิยมในสังคมที่ร่วมกันว่า คนที่รวยจากการคอรับชั่นเป็นสิ่งที่รับไม่ได้ และมีการบังคับใช้กฎหมายกับนักการเมืองอย่างจริงจัง อยากให้รัฐบาลเน้นเรื่องนี้มากๆ และต้องปราบแบบจริงจัง เพื่อให้ผลประโยชน์ ตกสู่ประชาชนของประเทศอย่างแท้จริง

ผมว่าหลายรัฐบาลที่ผ่านมาไม่จริงจังกับการพัฒนาการศึกษาเพราะกลัวประชาชนรู้ทันหรือเปล่า?

กลับมาว่าเรื่องของเราต่อดีกว่าครับ

ครูบาอาจารย์ท่านสอนว่าเพ่งโทษผู้อื่น เป็นสิ่งไม่ควร เพราะไม่ได้ประโยชน์ แต่เป็นการสร้างทุกข์ให้ตัวเอง เพราะเป็นการสร้างความคิดที่ไม่ดีให้กับตัวของเรา ซึ่งตรงข้ามกับคำว่า โอปนยิโก ซึ่งแปลว่าน้อมมาสอนใจเรา คือเราเลือกเอาเฉพาะส่วนดีๆ ของผู้อื่นมาเป็นแบบอย่างของเราครับ ซึ่งเรา เรียนรู้ได้จากสิ่งดีๆ ต่างๆ รอบตัวเรา เช่น

ไทยกับกัมพูชามีปัญหากัน แต่ ข้อดีของกัมพูชา คือ

กัมพูชาพัฒนาไปเร็วมากๆ ถึงแม้จะพึ่งจบสงครามกลางเมืองไปได้ไม่นานก็ตาม  เราน่าจะดูวิธีการพัฒนาเค้าบ้าง

ส่วนเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน ของผู้บริหารประเทศ การผูกขาดผลประโยชน์ให้กับกลุ่มคนในครอบครัวนักการเมืองก็ไม่ต้องไปดูเค้าครับ บ้าน้รามีให้เห็นเยอะแล้ว

 

แต่ในความเห็นผมประเทศที่น่าสนใจจริงๆ คือ เวียดนามครับ มีการปราบปรามการคอรับชั่นอย่างจริงจัง อน่างไรก็ตามเสรีภาพของสื่อก็ถูกจำกัดมาก เช่นกัน เราก็เอาเฉพาะข้อดีมาครับ อย่างไปเอาข้อเสียมา อย่างไรก็ตามสื่อไทยก็ต้องปรับปรุงอีกมากเพื่อให้เป็นสื่อที่สร้างสรรค์สำหรับการให้ความรู้กับประชาชนอย่างแท้จริง

 

ว่าที่จริงนิสิตนักศึกษาไทยปัจจุบันมีของดีในมือเยอะมากครับ ราคาถูกมากด้วย คือ คอมพิวเตอร์ และอินเตอร์เน็ต ถ้าไม่มัวแต่ใช่เล่นเกมส์ แต่ใช้สร้างอาชีพ และพัฒนาประเทศ หรือสร้างองค์ความรู้ให้กับตัวเองเพื่อพัฒนาประเทศก็จะดีมากๆ ครับ  เพราะความรู้ในอินเตอร์เน็ต อย่างไรก็ไม่มีจบ และเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลาครับ การเรียนนั้นไม่ได้จำกัดอยู่ในห้องเรียน

เมื่อย้อนกลับมาดู ตัวเอง ที่นี่ผมมาเรียนที่สก็อตแลนด์ แต่ผมก็ยังมีปัญหาเกี่ยวกับการฟังทำให้ ผมต้องอ่านเอาเองเยอะมากครับ ถ้าวิชาไหนอ่านตรงกับข้อสอบก็รอดตัว แต่ถ้าไม่ตรงก็ ใจหายใจคว่ำ เพราะยังฟังได้เข้าใจไม่หมด ต้องพยายามพัฒนาไปเรื่อยๆ ครับ

ท้ายสุด ช่วงนี้การเมืองไทยคงร้อนแรงเต็มที ผมได้แต่ขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัยและพระสยามเทวาธิราช ได้ โปรดดลบันดาลพรให้บ้านเมืองอยู่รอดปลอดถัย และประชาชนไทยได้เรียนรู้ร่วมกัยถึงความเลวร้ายของการคอรับชั่นและโทษของการใช้อำนาจแทรกแซงองค์กรอิสระของนักการเมืองอย่างไม่เป็นธรรม รวมถึงบทบาทของสื่อที่ควรจะเป็น เพื่อให้บ้านเมืองของเราวัฒนาถาวรสืบไปครับ

หมายเลขบันทึก: 334259เขียนเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2010 07:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 17:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

    ประเทศไทยอยากได้บุคคลอย่างอาจารย์ครับ

      ผมอยากได้อาจารย์ไปอยู่ชุมชนผมจัง ( เห็นแก่ตัวจังเลย ) ส.ส.บ้านผมเขาบอกว่้า นักวิชาการบ้าวิชา ฝันลม ๆ แล้ง ๆ (พูดได้แต่ทำยาก ) แต่ผมว่า ส.ส.บ้านผมบ้าน้ำลาย  และโลกร้อนขึ้นทุกวันนี้เพราะความฝันของ ส.ส. ( แถมประชาชนไม่มีสิทธิ์คิด จะทำอะไรก็ต้องถามความคิดท่านดูก่อน ) 555 มันตรงข้ามอย่างไงพิกล

ผมคิดว่า คำว่า วกฤติศรัทธาแบร์ดญี่ปุ่น เป็นมุมมองของอเมริกันเสียมากกว่า อเมริกาปัจจุบันพยามจะ off shelf สินค้าทางเอเซีย สภาพเศรษฐกิจที่ถดถอยทำให้ผู้ผลิตในประเทศแข่งขันกับสินค้าจากเอเซียลำบาก ยิ่งสินค้าถูกแสนถูกจากจีน ทำเอาอเมริกาต้องแข็งให้จีนปรับค่าเงินหยวนใหม่ ถึงขั้นตีหน้ายักษ์ใส่กัน เกาหลี จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน ไทย หรือหลายๆประเทศในเอเซีย ล้วนได้ know how ทางอุตสาหกรรมจากญี่ปุ่นทั้งนั้น วงการอุตสาหกรรมของเอเซียแล้ว ผมเชื่อว่าเราคุ้นอะไรๆในสไตล์ญี่ปุ่น Design ,Drawing ,Manufacturing แทบทั้งหมด (เคยดูแบบเครื่องจักรที่เขียนจากฝรั่ง ดูแล้วงงตึบเลย) ถือว่าเป็นประเทศครู ได้เลย

ปัญหาความบกพร่องจากการออกแบบผลิตภัณฑ์ เกิดขึ้นได้เสมอครับ แต่ส่วนใหญ่จะมาจากการผลิตเสียมากกว่าการออกแบบ เพราะการผลิตแบบ mass production ทุกวันนี้ นิยมการใช้ outsourcing แล้วเอาพวก QC tools ทั้งหลายไปคุมผู้ผลิตเหมาช่วงอีกทีบางทีก็มีพลาด ขนาดผิดบ้าง รูวงกลมกลายเป็นวงรีบ้างเพราะ punch die สึก อยู่ที่ผู้ผลิตมีจิตสำนึกแสดงความรับผิดชอบหรือไม่ ที่มีก็เป็นข่าว ที่ไม่มีแล้วเรื่องเงียบไปเองก็เยอะ

แล้วไอ้ know how ของเจ้าของผลิตภัณฑ์มันก็รั่วตรงนี้ละครับ ของดีราคาถูกมันก็เลยทะลักมาจากจีน ไต้หวัน ที่มีบริษัท outsource เยอะๆงัยครับ สามารถ share ตลาดล่างได้ระดับหนึ่ง พวกนี้มันเป็นตัวแปรหนึ่งของโลกร้อนเลยละ สินค้าซื้อมาใช้สียังไม่ทันถลอกเลยพังแล้ว คนใช้ไม่คิดมาเพราะถูก ทิ้งเลยซื้อใหม่ ลองคิดดูถึงเหล็ก พลาสติกและกระบวนการทั้งหลายแหล่ ที่ต้องเอารีไซเคิล หรือต้องขุดขึ้นมาเพื่อผลิตใหม่เป็นของกระจอกๆพวกนี้ซิครับ มันล้างผลาญทรัพยากรแค่ไหน? ต้องเปลี่ยนค่านิยม "พังแล้วทิ้ง" ครับ

หันกลับมามองไทยบ้าง ข้อแรกผมว่าต้องจริงจังมากๆๆๆ..กับการปราบทุจริตคอร์รัปชั่น ต้องจัดการอย่างเด็ดขาด ลงโทษจริง ไม่อย่างนั้นไม่ว่าจะผุดโครงการ หรือนโยบายประเทศอะไรออกมา มันรั่วหายหมด lobbyiest วิ่งกันฝุ่นตลบ ทำได้ไม่เป็นชิ้นเป็นอันสักที ได้ยินมาตั้งแต่เป็นเด็กแล้วว่าไทยจะเป็นเสือ NIC ..จนยี่สิบกว่าปีถัดมา ถึงวันนี้ปีเสือ ก็ยังไม่ต่างอะไรมากจากอดีต

ผมรู้จักเด็กรุ่นใหม่ มีฝีมือ มีความคิดหลายคน และไม่เชื่อคำปรามาสที่ว่า วัยรุ่นไทยปัญญาอ่อน (เป็นมุมมองของพวก Dinosaur รอวันตาย ที่ฝันถึงโลกเก่าๆมากกว่า) วัยรุ่นชอบเล่นเกมส์ ชอบของแบรนด์เนม ติดละคร ชอบซิ่งรถ ลองตีลังกามอง ชอบเกมส์ก็ลองให้เขาผลิตเกมส์ดู ชอบของแบรด์เนมลองให้เขาคิดการตลาดสร้างแบร์ดเนมซิ ชอบละครน่าจะลองให้คิด plot ผลิตละครแบบตัวเองดู ชอบซิ่งรถลองให้เขาวิเคราะห์องค์ประกอบ power/weight ratio เพื่อปรับปรุงเครื่องยนต์...............เอาความชอบเป็นที่ตั้งแล้วพลังมันจะตามมา มีใครเคยสอนเขาหรือยัง? เก่งแต่ด่าทั้งนั้น ความไม่สร้างสรรค์มันมาจากคนหัวหงอกนี่ส่วนมาก

ขอให้สำเร็จการศึกษาดังที่ตั้งใจ นะครับ

ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาแลกเปลี่ยนครับ

เรื่องคอรัปชั่นเป็นเรื่องใหญ่มาก ครับ บ้านเรา มือถือสากปากถือศิลเรื่องนี้มานาน ถ้าจริงจังได้ก็จะดีมากครับประโยชน์จะได้ตกอยู่กับประชาชน ไม่ใช่พอองค์กรอิสระทำอะไรไม่ถูกใจนักการ้มืองก็จะแก้กฎหมาย ก็จะมีม๊อบมาเผา ก็จะมาอุ๋มฆ่าผู้พิพากษาบ้าง อย่างนี้บ้านเมืองจะอยู่ยังไง

เรื่องสินค้าญี่ปุ่นมีทั้งหลายความเห็นครับ

 แม้แต่ผู้บัญชาการที่บ้านผม[ภรรยา] ผมก็มองว่าการตีข่าวแบรนด์ญี่ปุ่นมีปัญหาเป็นเกมส์การดิสเครดิตของประเทศตะวันตกครับ  อย่างไรก็ตามมีรุ่นน้องคนหนึ่งเคยเล่าให้ผมฟังว่า เค้าเคยทำงานอยู่บริษัทยักษ์ใหญ่ญี่ปุ่นด้านไอที  ซึ่งมีสไตล์การทำงานแบบญี่ปุ่นเป๊ะเลยครับ  คือเชื่อฟังหัวหน้าเคร่งครัด ขัดไม่ได้ แต่ปรากฎว่า เวลาประชุม เอ็มดีใหญ่ประจำประเทศไทย ซึ่งเป็นคนญี่ปุ่นอายุมาก ไม่รู้จักFacebook ซึ่งเป็น เว๊บไซต์ที่อยู่ในกระแสมากๆ ทางด้านไอที สิ่งนี้สะท้อนอะไร หรือเปล่าครับ

ในกระแสของความเปลี่ยนแปลงเราต้องเปลี่ยนอยู่ตลอด ขอโทษครับที่ไม่ได้เขียนเล่าให้ฟังในตอนแรก นี่เองเป็นสิ่งที่อยากเล่าให้ฟังครับ เราจำเป็นต้องปรับตัวอยู่เสมอ ไม่งั้นตามไม่ทันครับ นี่เองสไตล์การทำงานแบบญี่ปุ่น อาจจะต้องมีการปรับตัวด้วยครับ

ส่วนเรื่องนิสิตติดเกมส์นั้นเป็นปัญหาที่มีมานานครับ อาจจะเป็นความจริงที่ผมพบเอง ผมเลยพยายามสะท้อนปัญหาออกมาครับ แต่อาจจะไม่ได้เกิดกับทุกคน โดยเฉพาะในบริเวณมหาวิทยาลัยที่ผมทำงานอยู่ก่อนมาเรียนต่อ  มีร้านเกมส์ เปิด24 ชั่วโมง แถมมีบริการห้องอาบน้ำ สั่งอาหารบริการถึงโต๊ะคอมพิวเตอร์เลยครับ สิ่งนี้นำมาซึ่งความกังวล เพราะ เคยถามนิสิต ที่เข้ามาสัมภาษณ์ทุนรียนต่อปรากฎว่า เป็นนิสิตที่เคยเรียนดีครับ แต่พอติดเกมส์ เกรดเหลือ หนึ่งกว่าๆ ถามเค้าว่าเล่นเกมส์ว้นละกี่ชั่วโมง เค้าก็ตอบอย่างอายๆ ว่า 25 ชั่วโมง เพราะวันที่นิสิตไม่ได้เรียนเค้าก็ อนู่ร้านเกมส์ทั้งวันครับ น่าเสียใจแทนพ่อแม่เค้าครับ

อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าวัยรุ่นทั้งหมดเป็นอย่างนี้นะครับ เพราะเพื่อนผมเองที่เป็นเซียนคอมพิวเตอร์ก็อาศับความสนใจส่วนตัวทางประวัติศาสตร์ มาออกแบบเกมส์ขายเหมือนกัน คือเกมส์บางกระจัน ครับ

และน้องๆ วัยรุ่นที่เรียนที่นี่ก็เคยรวมกลุ่มกับเพื่อนๆ เปิดบริษัทขายข้าวส่งออกเหมือนกันครับ  ทั้งๆที่พึ่งจบปริญญาตรีแท้ๆ ชนิดที่เรียกว่าผมทึ่งในความสามารถเลยล่ะครับ ผมเองก็ไม่แน่ว่าจะทำได้แบบเค้าด้วยครับ555

ลูกศิษย์ ผมอีกคนหนึ่งผมทึ่งมาก เพราะเด็กคนนี้หัวปานกลาง แต่มีความเพียรเป็นเลิศ ตอนที่ผมสอนกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมืองนั้น บังเอิญ เป็นช่วงเกิดประเด็นเขาพระวิหาร เค้าใช้ความสนใจส่วนตัว ทำเอกสารรายงานคืนเดียวร้อยกว่าหน้ามาส่งผม ลูกศิษย์ ผมคนนี้ ผมจำจนตายไม่มีวันลืมครับ ชื่อยุทธการ หรือตี้ 

วัยรุ่นนั้นเป็นวัยที่มีพลังในตัวเอง ถ้าใช้ถูกทางก็เป็นคุณใช้ผิดก็เป็นโทษครับ เราได้แต่สอนครับ แล้วก็บอก ถ้าเค้าเชื่อแล้วเอาไปทำเราก็ดีใจครับ แต่อย่างไรก็ตามช่วงห้าปีที่ผมสอนหนังสืออยู่นั้นเป็นช่วงที่มีความสุขมากๆ ครับ หลายอย่าง ผมรู้ก็เพราะการเรียนรู้จากลูกศิษย์นี่เองครับ และที่สำคัญที่ผมต้องไม่ลืม คือ เราเห็นไฟในตัวเด็กๆ แล้วก็ดีใจครับ อยากเอาไฟในตัวลูกศิษย์แต่ละคนมาเติมไฟในตัวเองมากๆ ผมศรัทธาในตัวลูกศิษย์ผมทุกคน แล้วก็เชื่อมั่นว่าเค้ามีความพิเศษพอที่จะทำสิ่งดีๆ ได้ครับ

เรื่องละครไม่ใช่เฉพาะวัยรุ่นครับ ผมก็ติดเหมือนกัน แต่ผมดูเพื่อมาสอนเด็ก ครับ 555(ข้ออ้าง) อย่างเช่น ผมเอาเรื่องเขมรินทร์อินทิรามาเล่าให้ลูกศิษย์ฟัง หลังจาก สอนเรื่องกฎหมายระหว่างประเทศภาคสงครมมจบครับ เพื่อชี้ให้เห็นโทษของสงคราม และผมเอาฉากในละครเรื่องนิราศสองภพมาใช้สอนให้เด็กๆ เห็นถึงความเจริญรุ่งเรื่องของอารยธรรมไทยสมัย อยุธยาครับ ตอนที่สอยวิชาประวัติศาสตร์กฎหมายครับ เด็กๆ ชอบกันมาก ไม่รู้ ชอบเพราะตื่นตาตื่นใจหรือเล่าก็ไม่ทราบครับ555 นี่เองครับ เป็นสิ่งที่อยู่ในใจผมว่า ถ้าสื่อสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ อย่างมีคุณภาพ คนในชาติก็จะได้ ประโยชน์ครับ

ทั้งหลายทั้งปวงเลยมารวมที่คำว่า ทุกอย่างต้องพอเหมาะพอสมครับ และต้องปรับตัวเสมอ และยืนยัยว่าเราเรียนรู้ได้จากทุกสิ่งรอบๆตัว ทั้งเรื่องร้ายและดีครับ

ขอบคุณมากๆ ครับสำหรับคำอวยพรเรื่องการเรียนครับ จะพยายามให้ดีครับ

ขอบคุณครับ สำหรับบทความดีๆ

จะพยายาม นำไปปฏิบัติ ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท