สรุปวิจัยเล่มที่ 6


สรุปงานวิจัย

ทีมผู้นำการเปลี่ยนแปลงในโรงเรียนประถมศึกษา : การศึกษาเพื่อสร้างทฤษฎีฐานราก

นางกัญญา โพธิวัฒน์

คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ 32000

ศึกษาศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาการบริหารการศึกษา

ปี 2548

วัตถุประสงค์ การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเสนอข้อสรุปเชิงทฤษฎีจากการศึกษาปรากฏการณ์ทีมผู้นำการเปลี่ยนแปลงในโรงเรียนประถมศึกษา โดยทำความเข้าใจถึงลักษณะของทีม เงื่อนไขและกระบวนการเกิดขึ้นของทีม และการดำรงอยู่ของทีม ตลอดจนผลที่ติดตามมาจากทีมผู้นำการเปลี่ยนแปลง

งานวิจัยนี้เป็นวิจัยเชิงคุณภาพ (qualitative research methodology) เพื่อสร้างทฤษฎีฐานราก (grounded theory)

กลุ่มตัวอย่าง               

ประชากร พื้นที่ที่ศึกษาใช้วิธีการเลือกเชิงทฤษฎี (theoretical sampling) ซึ่งสอดคล้องและตรงตามวัตถุประสงค์ของการวิจัย เป็นโรงเรียนขนาดกลางแห่งหนึ่งตั้งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ในโครงการโรงเรียนนำร่องการทดลองใช้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544

กลุ่มตัวอย่าง   ผู้ให้ข้อมูลหลักซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายในการวิจัยครั้งนี้ใช้วิธีการเลือกเชิงทฤษฎี (theoretical sampling) จำแนกได้เป็น 10 กลุ่ม จำนวนรวมไม่น้อยกว่า 44 คน แบ่งออกเป็น

กลุ่มผู้บริหารโรงเรียน(3 คน) กลุ่มหัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้(8 คน) กลุ่มครู(9 คน) กลุ่มกรรมการสถานศึกษา(3 คน) กลุ่มผู้ปกครองนักเรียน(4 คน) กลุ่มนักเรียน(4 คน) กลุ่มคนในชุมชน(2 คน) คณะผู้บริหารและครูในกลุ่มโรงเรียน(2 คน) กลุ่มผู้ให้การนิเทศ(6 คน) และคณะผู้มาเยี่ยมโรงเรียน(3 คณะ)

เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย

เครื่องมือสำคัญคือตัวผู้วิจัย เครื่องมืออื่นในการวิจัยประกอบด้วย แนวคำถามเพื่อการสัมภาษณ์อย่างไม่มีโครงสร้างและอย่างไม่เป็นทางการ 5 ฉบับ แนวคำถามเพื่อการจัดกลุ่มสนทนา (focus group discussion) แบบสังเกตและจดบันทึก (observation and field-note) และแบบวิเคราะห์เอกสาร (document analysis) โดยมีอุปกรณ์ช่วยบันทึกข้อมูล เช่น เทปและเครื่องบันทึกเสียง กล้องถ่ายภาพ

การรวบรวมข้อมูล

ผู้วิจัยใช้วิธีการในการศึกษาและเก็บรวบรวมข้อมูล 4 วิธีการหลักคือ

1) การสัมภาษณ์ระดับลึก (in-depth interview) กับกลุ่มผู้ให้ข้อมูลหลักซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมาย 10 กลุ่ม

2) การจัดกลุ่มสนทนา (focus group discussion) 2 กลุ่มๆละ 8 คน คือกลุ่มหัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้ และกลุ่มครูผู้สอนจากทุกกลุ่มสาระ

3) การสังเกตและจดบันทึก (observation and field-note) ผู้วิจัยเข้าไปศึกษาข้อมูลด้วยการสังเกต โดยเลือกใช้วิธีการสังเกตทั้งแบบมีส่วนร่วม และแบบไม่มีส่วนร่วม ตามสภาพของปรากฏการณ์ที่เลือกศึกษา

4) การวิเคราะห์เอกสาร (document analysis) โดยศึกษาข้อมูลเอกสารทั้งที่เป็นเอกสารชั้นต้นและเอกสารชั้นรองที่เกี่ยวข้อง ข้อมูลทั้งหมดที่ได้จากการศึกษาครั้งนี้ได้ใช้หลักการตรวจสอบข้อมูลเรื่องเดียวกันจากแหล่งข้อมูลหลายแหล่ง (theoretical triangulation) การหาข้อมูลและมโนทัศน์ที่แตกต่างไปจากที่ได้มาแล้ว (negative case) จนกระทั่งข้อสรุปเชิงทฤษฎีที่มีอยู่ได้ถึงจุดอิ่มตัว (theoretical saturation)

การวิเคราะห์ข้อมูล

การวิเคราะห์ข้อมูลใช้วิธีแปลความและตีความหมายข้อมูล แล้วสร้างมโนทัศน์ขึ้นโดยอาศัยความไวทางทฤษฎี และใช้คอมพิวเตอร์โปรแกรม ATLAS/ti รุ่น 4.2 ช่วยในการจัดระบบการวิเคราะห์ข้อมูล มี 4 ขั้นตอนตามลำดับคือ

1) ขั้นเปิดรหัส (open coding) เป็นการวิเคราะห์หาความสอดคล้องที่สะท้อนประเภทหรือแก่นที่อยู่ในข้อมูล

2) ขั้นหาแก่นของรหัส (axial coding) เป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูล

3) ขั้นเลือกรหัส (selective coding) เป็นการนำเอาประเภทและความสัมพันธ์มาสร้าง “บท” อธิบายปรากฏการณ์

4) ขั้นพัฒนาทฤษฎี (development of theory) เป็นการเสนอทฤษฎีในรูปของภาษา รูปภาพ หรือสมมติฐาน เพื่ออธิบายปรากฏการณ์ที่สงสัย ทฤษฎีจะบอกลักษณะของปรากฏการณ์และอธิบายว่าเงื่อนไขหนึ่งๆนำไปสู่การกระทำหนึ่งๆได้อย่างไร และการกระทำนั้นนำไปสู่การกระทำอื่นได้อย่างไร

ข้อสรุปที่ได้จากการทำวิจัย

การวิจัยนี้ได้สร้างมโนทัศน์และความเชื่อมโยงของมโนทัศน์ เสนอเป็นข้อสรุปเชิงทฤษฎีทีมผู้นำการเปลี่ยนแปลงในโรงเรียนประถมศึกษา แบ่งออกได้เป็น 4 ส่วน คือ

1) ลักษณะของทีม ประกอบด้วย 4 มโนทัศน์หลัก และ 14 มโนทัศน์ย่อย

2) เงื่อนไขและกระบวนการเกิดเป็นทีม ประกอบด้วย 4 มโนทัศน์หลัก และ 14 มโนทัศน์ย่อย

3) การดำรงอยู่ของทีม ประกอบด้วย 3 มโนทัศน์หลัก และ 10 มโนทัศน์ย่อย  

4) ผลที่เกิดติดตามมาจากการเป็นทีมผู้นำการเปลี่ยนแปลง ประกอบด้วย 2 มโนทัศน์หลัก และ 8 มโนทัศน์ย่อย โดยมีข้อสรุปดังนี้

 1) ลักษณะของทีมผู้นำการเปลี่ยนแปลง ลักษณะของทีมผู้นำการเปลี่ยนแปลงประกอบด้วย ความหมาย การก่อตัวขึ้นของทีม ประเภทและสมาชิกของทีม เป้าหมายของทีม และพฤติกรรมของทีม ดังต่อไปนี้

 1.1) ทีมผู้นำการเปลี่ยนแปลงตามความหมายและมุมมองของผู้ที่อยู่ในปรากฏการณ์ เป็นกลุ่มคนที่เป็นสมาชิกของโรงเรียนร่วมกันทำงานที่ได้รับมอบหมาย เป็นงานบุกเบิกที่ไม่ใช่งานที่เคยปฏิบัติเป็นปกติ มีคุณภาพของความสำเร็จในงานที่ดีที่สุดเท่าที่มีเวลามาให้ ผลที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงทั้งที่เป็นกระบวนการดำเนินงานและผลงาน จะเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับบุคคลอื่นๆได้นำไปพัฒนาและดำเนินการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโรงเรียนของบุคคลนั้นๆได้อย่างมีประสิทธิผล

1.2) การก่อตัวขึ้นเป็นทีม พัฒนามาจากพื้นฐานเดิมในการรักษาเกียรติประวัติของโรงเรียนที่มีความโดดเด่นมาแต่อดีต ทั้งสมาชิกในโรงเรียนและชุมชนเต็มใจ และภูมิใจที่รับนโยบายจากหน่วยงานในสายการบังคับบัญชา โดยได้มีการกำหนดเป้าหมายเฉพาะของทีมไว้ 2 ประการคือ การพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียน และการเป็นแหล่งเรียนรู้ของบุคคลภายนอก

 1.3) ทีมที่เกิดขึ้นในโรงเรียนมี 3 ระดับคือ ทีมระดับโรงเรียน ประกอบด้วยสมาชิกที่เป็นข้าราชการครูทั้งหมดในโรงเรียน ทีมระดับหัวหน้างาน ประกอบด้วยผู้บริหารระดับสูง และหัวหน้าสายงานวิชาการ และหัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้ และทีมระดับปฏิบัติการ ประกอบด้วยสมาชิกในแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ และกลุ่มปฏิบัติการต่างๆ สมาชิกคนหนึ่งอาจเข้าไปร่วมเป็นสมาชิกในทีมอื่นๆได้หลายทีมตามพื้นฐานความสามารถและความสนใจ รวมทั้งการเป็นหัวหน้าทีมด้วย ทีมระดับโรงเรียนได้สะท้อนภาพพฤติกรรมของทีมคือ มีการสร้างวิสัยทัศน์ร่วม มีการร่วมคิดร่วมทำในทีม ปฏิบัติงานได้เกินระดับปกติ มีการพึ่งพาและช่วยเหลือกัน แก้ปัญหาและขจัดความขัดแย้งได้ ใช้การตัดสินใจร่วม และมีความไวต่อการเปลี่ยนแปลง

2) เงื่อนไขและกระบวนการเกิดเป็นทีมผู้นำการเปลี่ยนแปลง ทีมผู้นำการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้จากเงื่อนไขภายในโรงเรียน และเงื่อนไขภายนอกโรงเรียน ส่วนกระบวนการเกิดกลายเป็นทีมได้อาศัยการนำ และการทำงานที่ได้รับมอบหมาย ดังต่อไปนี้

 2.1) การเกิดขึ้นของทีมเป็นผลมาจากเงื่อนไขภายในโรงเรียนเองคือ สมาชิกทุกคนมีความชัดเจนในนโยบาย ผู้บริหารมีลักษณะเฉพาะตัว เป็นที่ยอมรับนับถือมาก่อน มีภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง มีการสร้างผู้นำร่วมให้เกิดขึ้นในแต่ละระดับของการบริหาร และมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายในโรงเรียนอยู่เสมอ อีกทั้งมีเงื่อนไขภายนอกที่เกิดจากความรู้สึกผูกพันกับชุมชนสูง ทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายกับโรงเรียนอื่นและองค์กรภายนอกในระดับพื้นที่

 2.2) การนำ เป็นการที่ผู้บริหารในแต่ละระดับ โดยเฉพาะผู้บริหารระดับสูงของโรงเรียนใช้กระบวนการจูงใจสมาชิกผู้ร่วมงานให้ทำงานเต็มกำลังความสามารถ มีการทำงานในลักษณะบุกเบิกแสวงหา ด้วยคำที่เป็นสัญลักษณ์ของทีมที่เรียกว่า “ทำหา” และสมาชิกทำงานแบบอุทิศตนให้กับงาน

 2.3) การทำงานที่ได้รับมอบหมาย เป็นเสมือนเครื่องมือที่ทำให้เกิดทีม เป็นการบริหารแบบมีส่วนร่วมคือ ให้สมาชิกมีส่วนร่วมในงานทุกขั้นตอน ผู้แทนชุมชนและผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการรับรู้ ให้ความคิดเห็น เป็นแหล่งภูมิปัญญา และให้การสนับสนุน สมาชิกในทีมมุ่งมั่นไปสู่ความสำเร็จ และสามารถเผชิญกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้

 3) การดำรงอยู่ของทีมผู้นำการเปลี่ยนแปลง  ทีมผู้นำการเปลี่ยนแปลงได้แสดงให้เห็นถึงการมีศักยภาพของการดำรงอยู่ อีกทั้งโรงเรียนยังพร้อมที่จะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในสถานการณ์ใหม่ได้ โดยการดำรงอยู่ได้ของทีมผู้นำการเปลี่ยนแปลงประกอบด้วย บทบาทหน้าที่ของทีม การเกาะเกี่ยวกันในทีม และการปรับวัฒนธรรมการทำงาน ดังต่อไปนี้

3.1) สมาชิกของทีม ไม่ว่าจะอยู่ในทีมระดับใด มีการรับรู้ และเข้าใจเป้าหมายของทีม ทุกคนมีความชัดเจนในบาทบาทหน้าที่ของตน และร่วมแสดงบทบาทหน้าที่ร่วมกับสมาชิกในทีมเพื่อดำรงไว้ซึ่งการเป็นผู้นำทางวิชาการ

3.2) การเกาะเกี่ยวกันในทีม เป็นการแสดงออกของทีมที่บ่งบอกถึงพลังของทีมที่จะให้เกิดการยอมรับ คือ เป็นทีมแห่งการเรียนรู้ มีความใส่ใจในงานและจุดมุ่งหมาย และมีการตรวจสอบและแก้ไขงานอยู่เสมอ3.3) การปรับวัฒนธรรมการทำงาน เป็นการปรับตัวเข้าสู่สถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลง ทีมมีการปรับวิธีการ และค่านิยมการทำงานใหม่ โดยสมาชิกยึดมั่นในปรัชญา และวิสัยทัศน์ของโรงเรียน เป็นทีมที่มีความรับผิดชอบในหน้าที่ มีการสื่อสารถึงกันอย่างทั่วถึง ร่วมสร้างบรรยากาศที่สร้างสรรค์ และ มีความโปร่งใสในการบริหาร

 4) ผลที่ติดตามมาจากการเป็นทีมผู้นำการเปลี่ยนแปลง  ผลที่เกิดติดตามมาจากการเป็นทีมผู้นำการเปลี่ยนแปลง มีทั้งผลกระทบทางบวก และผลกระทบทางลบ ดังต่อไปนี้

 4.1) ผลทางบวก ทำให้เกิดการพัฒนาพฤติกรรมการเรียนรู้ของนักเรียน เป็นตัวแบบนวัตกรรม มีความพึงพอใจในงาน ได้รับการยอมรับจากภายนอก และทำให้โรงเรียนมีชื่อเสียง

4.2) ผลทางลบ ผลต่อนักเรียน ทำให้นักเรียนมีผลการเรียนรู้ในบางรายวิชาอยู่ในระดับต่ำลง ผลต่อคณะครู ทำให้สมาชิกของทีมคือคณะครูทำงานหนัก เสียสละเวลาและทรัพย์สินส่วนตัวเกินความจำเป็น และไม่ได้รับความก้าวหน้าทางวิชาการส่วนบุคคล ผลต่อโรงเรียน ทำให้ชุมชนไม่ยอมรับสมาชิกทีมงานที่อ่อนแอหรือเป็นอุปสรรคของทีม

หมายเลขบันทึก: 334173เขียนเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2010 19:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 00:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท