AnthroCat-Thailand
นาย ปรัชญาณินทร์ วงศ์อทิติกุล

เหตุใดเราจึงยังต้องพนมมือไหว้ ร่างไร้วิญญาณที่นอนอยู่ในโลงเบื้องหน้า ทั้ง ๆ ที่เขามีอายุอ่อนกว่าเรา?


เพราะนี่คือ การเปลี่ยนผ่านสถานะ (rite of passage) ของมนุษย์ ทั้งของ “คนเป็นที่ยังหายใจ” และ “คนตายที่นอนแน่นิ่ง” ซึ่งอธิบายได้ว่า “คนเป็นที่ยังหายใจ” ถูกเปลี่ยนผ่านไปอยู่ในสถานะที่ต่ำกว่าผู้ตาย จึงต้องไหว้ และในขณะเดียวกัน “ผู้ตาย” ได้รับการเปลี่ยนผ่านไปอยู่ในสถานะที่สูงกว่า จึงต้องได้รับการไหว้ และด้วยความเชื่อของมนุษย์ที่เชื่อตาม ๆ กันมาว่า “คนตาย” คือ “ผี” ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ร่างกายที่ไร้สังขารและดวงจิตบรรจุอยู่ หรือเป็นเพียงแค่ซาก แต่เป็น “ผี” ซึ่งมีอำนาจเหนือมนุษย์

สัจธรรม (Truth) ของโลกที่พระพุทธเจ้าทรงได้มอบไว้ให้แก่มนุษย์ ก็คือ การเกิด แก่ เจ็บ และตาย เพราะเป็นสิ่งที่ไม่มีมนุษย์หน้าไหนหนีได้พ้น แม้แต่องค์ศาสดาเองก็ด้วย

ในบันทึกนี้ ผมอยากจะกล่าวถึง “การตาย” มากกว่า 3 รูปแบบแห่งวัฏฏะชีวิตของมนุษย์ที่เหลือ เพราะการตายเป็นสิ่งที่มนุษย์ปุถุชนที่ยังไม่อาจเข้าใจชีวิต มักเห็นว่าเป็นเรื่องสูญเสีย ทั้ง ๆ ที่ มันก็เป็นอย่างนี้แหละหนอ แม้กระทั่งในพระคัมภีร์ไบเบิลก็ยังเขียนเอาไว้ว่า “การตายก็ได้กำไร” (ฟีลิปปี 1: 21)

ตลอดระยะเวลาของชีวิตที่ยังคงดำรงอยู่มาตั้งแต่เด็กจนปัจจุบันนี้ ไม่ว่าผมหรือใครก็ตาม คงได้มีโอกาสไปร่วมงานศพกันมาแล้ว ทั้งที่ไปในวันสวดพระอภิธรรม หรือ วันเผา (ฌาปนกิจ) ก็ตาม สิ่งหนึ่งที่เรา ๆ ท่านๆ ปฏิบัติกันโดยที่ไม่รู้ว่าใครกำหนดให้ทำ นั่นก็คือ “การจุดธูปเคารพศพ”

การจุดธูปเคารพศพ หมายถึง การที่แสดงความนับถือ ให้เกียรติ ระลึกถึงคุณงามความดีของผู้วายชนม์ และอาจรวมไปถึงการให้เกียรติแก่บรรดาญาติ ๆ ของผู้ตายด้วยก็ได้ หากว่าผู้ตายหรือญาติของผู้ตายเป็นคนที่กว้างขวาง ยิ่งใหญ่ มีอำนาจ และอิทธิพล มีชื่อเสียง หรือกระทำคุณประโยชน์แก่สังคมชุมชนที่อาศัยอยู่ในช่วงก่อนตาย

วิธีปฏิบัติในการแสดงความเคารพศพ อาจจะกระทำได้ใน 2 ลักษณะ คือ

          1) ลักษณะแรก การยืนคำนับ ไม่จำเป็นต้องพนมมือไหว้ หรือจุดธูป

          2) ลักษณะที่สอง คือ การยืนพนมมือไหว้โดยมีก้านธูปเสียบอยู่ระหว่างฝ่ามือ

ไม่ว่าจะด้วยปฏิบัติด้วยวิธีใดก็ตาม ในขณะที่ยังถือธูปอยู่นั้น ผู้ที่มาเคารพศพก็ยังต้องพนมมือไหว้อยู่ดี ส่วนใครจะท่องสวดบทคำปลงสังขารด้วยภาษาบาลีตามที่มีปรากฎในหนังสือสวดมนต์ด้วยก็ได้ ไม่ห้ามไม่ว่ากัน  แล้วแต่ความสะดวก เพราะนัยที่แท้จริงในการเปล่งบทคำปลงสังขารนั้น มิได้เป็นไปเพื่อการสื่อสารระหว่าง “คนเป็นที่หายใจอยู่” กับ “คนตายที่นอนแน่นิ่งในโลง” แต่กลับมีนัยสำคัญแห่งการเตือนสติ ไม่ให้เกิดความประมาทแก่ตัวผู้สวดเองว่า “มิอาจจะหนีสภาพนี้ไปได้” เลย “วันนี้ เขา วันหน้า เรา” และสิ่งนี้นั่นแหละ จีรัง

พอมาถึงตรงนี้ ก็เข้าประเด็นเรื่องการทำความเคารพด้วยการไหว้นี่แหละครับ เป็นสิ่งที่ผมสังเกตุและครุ่นคิด (ไม่ถึงกับหมกหมุ่น) เพราะในวิถีการสอนเรื่องความเคารพในระบบสังคมไทยนั้น มักสอนให้ “ผู้เยาว์” ต้องให้ความเคารพต่อ “ผู้ใหญ่” เป็นสำคัญ

โดยแนวคิดที่จะให้เคารพบุคคลที่อยู่ในระดับเดียวกันนั้นไม่มี จะมีก็เพียงให้ระลึกถึงคำว่า “เกรงใจ” ก็เป็นพอ นี่เป็นลักษณะของการจัดการระบบความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกบุคคลในสังคมไทยมาแต่เดิม (แต่ในยุคนี้สมัยนี้ มนุษย์ทุกคนควรได้รับความเคารพ ตามหลักการสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน) ดังนั้น การที่เราไปในงานศพ ถ้าหากผู้ตายเป็นผู้ที่วัยวุฒิสูงกว่า การทำความเคารพก็เป็นไปด้วยความเต็มใจ ไม่ฝืน แต่คำถามคือ “เหตุใดเราจึงยังต้องพนมมือไหว้ร่างไร้วิญญาณที่นอนอยู่ในโลงเบื้องหน้า ทั้ง ๆ ที่เขามีอายุอ่อนกว่าเรา?” และที่สำคัญ เรากระทำการนี้ ด้วยใจยินยอมไม่รู้สึกตะขวิดตะขวงใจด้วยซ้ำว่า เป็นการถูดลดหมิ่นเกียรติศักดิ์ศรีและวัยวุฒิของเราลงไป

เพราะอะไรน่ะหรือ? ผมคิดว่า น่าจะเป็นไปด้วยเงื่อนไข 4 ประการ ดังต่อไปนี้

ประการที่ 1 เพราะเขาได้กลายเป็นครูสอนหลักธรรมแห่งความไม่จีรังแก่เรา สถานะของเขา จึงเลื่อนขึ้นจาก ลูก หลาน เพื่อน น้อง มาเป็น ครู

ประการที่ 2 เพราะเขาไม่สามารถพูดได้ด้วยการกระทำทางกาย จึงจำเป็นต้องมีการสื่อสารด้วยจิตเป็นสำคัญ เพราะการไหว้ คือ ขั้นตอนแรกของการรวบรวมสมาธิ เพราะแทบทุกครั้งที่เราไหว้พระ แม้จะสวดด้วยบทสวดมนต์ที่สั้นที่สุด แต่จิตเราก็จดจ่ออยู่ที่การสวดมนต์นั้น

ประการที่ 3 เพราะนี่คือ พิธีการ วิถีปฏิบัติที่กระทำกันมา เราก็ทำกันต่อไป อย่าสงสัยเลย

ประการที่ 4 เพราะนี่คือ การเปลี่ยนผ่านสถานะ (rite of passage) ของมนุษย์ ทั้งของ “คนเป็นที่ยังหายใจ” และ “คนตายที่นอนแน่นิ่ง” ซึ่งอธิบายได้ว่า “คนเป็นที่ยังหายใจ” ถูกเปลี่ยนผ่านไปอยู่ในสถานะที่ต่ำกว่าผู้ตาย จึงต้องไหว้ และในขณะเดียวกัน “ผู้ตาย” ได้รับการเปลี่ยนผ่านไปอยู่ในสถานะที่สูงกว่า จึงต้องได้รับการไหว้ และด้วยความเชื่อของมนุษย์ที่เชื่อตาม ๆ กันมาว่า  “คนตาย” คือ “ผี”  ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ร่างกายที่ไร้สังขารและดวงจิตบรรจุอยู่ หรือเป็นเพียงแค่ซาก แต่เป็น “ผี” ซึ่งมีอำนาจเหนือมนุษย์

 ดังนี้แล้ว แม้คนตายจะอายุน้อยกว่า อ่อนกว่า เคยเป็นคนมีประวัติเลวทรามกว่าอย่างไร คนไปงานศพก็ต้องพนมมือไหว้ขณะจุดธูปอยู่ดี ไม่เฉพาะคนที่มางานศพ แม้กระทั่ง พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา พี่ ซึ่งคนในครอบครัวเองก็ต้องไหว้

การเปลี่นผ่านสถานะ (rite of passage) เป็นสิ่งที่ผมให้ความสนใจมากที่สุด ถึงแม้ผมจะนำมาอธิบายในลักษณะที่ต่างออกไปจากบริบทเดิมของการเปลี่ยนผ่านสถานะ(แห่งวัย)ของมนุษย์ ที่มีไว้สำหรับอธิบาย การเปลี่ยนผ่านช่วงชีวิตของคนที่ยังเป็น ๆ มากกว่าก็ตาม   แต่อย่างไรก็ตาม การตาย ก็คือ การเปลี่ยนผ่านช่วงชีวิตของมนุษย์ขั้นตอนสุดท้าย (ยังไม่นับถึง สถานะทางจิตวิญญาณภายหลังการตายที่คนตายอาจกลายเป็น “ผีบรรพบุรุษ” “ผีประจำตระกูล” “หรือ กลายเป็น "ดวงจิตวิญญาณที่คอยปกปักษ์รักษาคนในครอบครัว” ซึ่งเป็นอีกขั้นตอนหนึ่ง (ช่วงหนึ่ง) ที่คนตายได้รับการยกสถานะให้เปลี่ยนไปสู่อีกสถานะหนึ่งที่สูงขึ้นไปอีก) และด้วยเพราะ งานศพ มีพิธีกรรมที่กระทำให้คนตายอยู่สูงกว่าคนเป็นเสมอ

ดังนั้น เงื่อนไขในประการที่ 4 จึงเป็นประเด็นที่ผมเห็นว่ามีเหตุมีผลมากพอที่จะนำมาอธิบายว่า “เหตุใดเราจึงยังต้องพนมมือไหว้ร่างไร้วิญญาณที่นอนอยู่ในโลงเบื้องหน้า ทั้ง ๆ ที่เขามีอายุอ่อนกว่าเรา?

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 333429เขียนเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2010 01:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

น้องสาวเป็นโสดเพิ่งเสียชีวิต พ่อแม่ยังมีชีวิตอยู่ และมีพี่ 2 คน

มีผู้รู้บางท่านว่า ผู้ที่มีอายุมากกว่า ไม่ต้องไหว้พี่ที่อ่อนกว่า

เลยอยากศึกษาจากท่านผู้รู้จริงว่า ประเพณีที่ถูกต้องควรเป็นเช่นใด

คุณ แมกกี้

บทความที่ผมเขียนขึ้นเป็นเพียง "การตั้งข้อสังเกต" ต่อ "สิ่งที่พบเห็น" เท่านั้น หาใช่เป็น "ข้อเขียน" เพื่อการนำไปปฏิบัติโดยทั่วไปไม่

เพราะสิ่งที่ผม สรุปไว้ ๔ ประเด็น เพื่อ พยายามหาคำอธิบายในเชิง คตินิยม ด้านพิธีกรรม และ ความเชื่อ // คตินิยมด้านวัฒนธรรม เท่านั้น

ผู้รู้ท่านนั้น ก็มีทัศนะที่ถูกต้องตามฐานความคิดของท่านเอง หรือถ้าหากว่า คุณพ่อคุณแม่ และพี่ ๆ ทั้งสอง กริ่งเกรงว่า ถ้า "ไม่ยกมือไหว้" หลังจากที่จุดธูปและอยู่ในมือ ก่อนที่จะนำไปปักลงในกระถามธูป ว่า "ลูกสาว/น้องสาว" ที่นอนอยู่เบื้องหน้า หรือ ที่เหลือเพียงอัฐิอยู่ในโกฏิ จะไม่สามารถรับรู้ถึง ความคิดคำนึง ความอาลัยรัก ต่อเขา

ท่านก็คงจะยังทำเช่นนั้น เพื่อความสบายใจ

ดังนั้น การที่ใครคนใดคนหนึ่ง จะยกมือพนมไหว้ หรือ ไม่ไหว้ ก็อยู่ที่ดุลยพินิจของแต่ละคนเป็นสำคัญ ครับ

ขอบคุณที่เข้ามาแลกเปลี่ยนเป็นท่านแรกสำหรับบันทึกนี้ ครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท