ความคืบหน้าของ KM แก้จนเมืองคอน


เปิดหน้าเว็ป gotoKnow เวอร์ชั่นใหม่ ก็ได้พบกับความแปลกใหม่ตื่นตาตื่นใจมากมาย ต้องใจเย็นๆเรียนรู้กับสิ่งใหม่ๆ ไม่ตื่นตกใจกับมันอีกต่อไป บันทึกนี้ถือว่าเป็นบันทึกแรก ฉบับลองของใหม่ก็แล้วกันครับ 

จะขอเล่าเรื่องเวทีประชุมทีมวิชาการ คุณอำนวยกลาง และตัวแทนคุณอำนวยอำเภอ จัดการความรู้แก้จนเมืองนคร วันที่ 7 มิ.ย.2549 ที่ ห้องประชุม กศน.จังหวัดนครศรีฯ ผู้เข้าประชุมประมาณ 80 คน ประเดิม เวอร์ชั่นใหม่ก็แล้วกันนะครับ ว่าเวทีนี้ส่งสัญญาณความคืบหน้าของงานอย่างไร เริ่มจากช่วงเช้า อ.ภีม ภคเมธาวี จาก มวล.ในฐานะเลขานุการทีมวิชาการ ได้ทำหน้าที่ของคุณกระบวนการ แบ่งกลุ่มคุณอำนวยกลาง และตัวแทนคุณอำนวยอำเภอของแต่ละโซน รวม 5 โซน พูดคุยกันใน 3 เรื่อง คือ ผลจากการที่คุณอำนวยอำเภอแต่ละอำเภอไปทำความเข้าใจกับทีมคุณเอื้ออำเภอ ผลการดำเนินการแต่งตั้งและทำความรู้คุ้นเคยของทีมตำบลแต่ละอำเภอ และประการที่สามเรื่องการดำเนินการอื่นๆ  ผลเป็นอย่างไร  จากการที่ได้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนอย่างเข้มข้นในโซนลุ่มน้ำปากพนัง 1 ซึ่งประกอบด้วย 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง ปากพนัง เชียรใหญ่ และอำเภอหัวไทร สรุปได้ว่าทุกอำเภอดำเนินการได้รุดหน้าไปมากพอสมควร ทั้งในเรื่องการจัดทำแผนชีวิตชุมชนพึ่งตนเอง(งานที่รับช่วงต่อมาจากที่ทำการปกครองจังหวัด)  การแต่งตั้งและทำความเข้าใจทีมคุณอำนวยตำบล และเรื่องอื่นๆ เช่น การสื่อสารผ่าน ICT BLOG เป็นต้น ส่วนการนำเสนอของโซนอื่นๆก็ในทำนองเดียวกัน 

ในช่วงบ่าย ผมทำหน้าที่คุณกระบวนการ พูดคุยเสวนาในเรื่องบันทึกความรู้แก้จนตามวิถีคนคอน หลังจากผมกล่าวนำว่าได้ยกร่างบันทึกนี้ประกอบด้วยรายละเอียดอะไร วิธีใช้บันทึกนี้ใช้อย่างไร จะให้คุณกิจทุกคนที่เข้าร่วมโครงการ หรือเป็นบางคนที่สนใจบันทึก หรือเอาแกนนำหมู่บ้านๆละ 8 คน บันทึกเพื่อการ Try out ก่อนดี แม้จะไม่มีข้อสรุป ผมคิดว่าน่าจะต้องบันทึกทุกคน เพราะเห็นค่าใช้จ่ายโครงการเขาตั้งไว้แล้วว่าพิมพ์บันทึกความรู้ 25,000 เล่ม จำนวนนี้ก็คือคุณกิจทุกครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการนั่นเอง จากนั้นผมตั้งคำถามถึงข้อควรคำนึงและพึงระวังในการใช้บันทึกความรู้ ซึ่งผู้เข้าร่วมเวทีเสวนาได้ให้ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์มากมาย   เช่น คุณอำนวยตำบลจะต้องกระตุ้นคุณกิจให้บันทึกประสบการณ์อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมออย่างไร เพราะประสบการณ์ของหลายหน่วยงานบอกว่าคุณกิจไม่นิยมบันทึก  คุณกิจที่มีปัญหาเรื่องของสายตา มีปัญหาเรื่องทักษะการเขียน จะทำอย่างไร รวมทั้งจัดทำรูปเล่มอย่างไรให้น่าจับน่าใช้  เป็นต้น 

สุดท้ายก่อนจบการพูดคุยก็ได้รับความรู้จากทีม KM กศน.จังหวัด เรื่องของงบประมาณที่จัดสรรให้อำเภอแต่ละอำเภอและที่ใช้ร่วมกัน แผนการดำเนินงานจัดการความรู้แก้จนเมืองนคร ซึ่งที่จะทำในระยะต่อไปคือ อบรมคุณกิจที่เป็นแกนนำหมู่บ้านๆละ 8 คน (เวทีเรียนรู้ของแกนนำหมู่บ้านๆละ 8 คนนี้ ในระยะต่อไปจะเรียกว่าคุณอำนวยหมู่บ้าน)    ซึ่งจะอบรมกันเป็นรายโซน ประมาณ 4-5 อำเภอต่อโซน รวมแกนนำหมู่บ้าน 3,200 คน จากนั้นก็เป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของคุณกิจแต่ละหมู่บ้านๆละ 72 ครัวเรือน จำนวน 6 ครั้งเป็นอย่างน้อย ก็อยู่ในช่วงเดือน มิ.ย.2549  พอถึงกรกฎาคมก็เป็นกิจกรรมตลาดนัดความรู้(จัดทำนิทรรศการ) และสัมมนาคุณอำนวยตำบล สัมมนาคุณเอื้อจังหวัดเพื่อสังเคราะห์บทเรียนภาพรวมของโครงการ นอกจากนี้ก็ยังจะได้มีการอบรมการเขียน ICT  BLOG เพื่อบันทึกเป็นคลังความรู้และเพื่อการสื่อสารการทำงานระหว่างกันด้วย ซึ่งทำต่อเนื่องจนถึงสิ้นปีงบประมาณ 

นัดหมายครั้งต่อไปของวงเรียนรู้นี้ คือวันที่ 21 เดือน กรกฏาคม ประเด็นที่จะต้องกลับไปทำเป็นการบ้านแล้วกลับมานำเสนอ คือ ให้แต่ละวงเรียนรู้ไปดำเนินการให้จัดทำ ICT  BLOG ในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับตำบล อำเภอ และระดับโซน  และการขับเคลื่อนกิจกรรมในระดับอำเภอ ตำบล หมู่บ้าน และครัวเรือน 

ผมมีความเห็นว่า ผู้เข้าร่วมประชุมเสวนา ยังฝืดๆอยู่พอสมควร เพราะยังใหม่ๆกันอยู่ แต่เมื่อได้ปรับท่าทีเข้าหากัน เรียนรู้การทำงานเป็นทีมมากขึ้นกว่านี้ เชื่อว่าในเวทีต่อๆไปคงดีขึ้นอย่างแน่นอน  และเป็นบรรยากาศที่สนุกสนาน

หมายเลขบันทึก: 33339เขียนเมื่อ 8 มิถุนายน 2006 14:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
อ่านแล้ว สนุกไปด้วยครับ อยากเห็นภาพกิจกรรมนี้จัง
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท