หมอ(ปาโถ) กับหอบังคับการบิน


หมอปาโถไม่ใช่ทั้งพนักงานต้อนรับบนดิน บนเครื่องบิน ไม่ใช่ทั้งนักบิน

     ต่อจากบันทึกที่แล้วเกี่ยวกับกิจกรรมวันพุธ เพราะว่ายังไม่ได้เล่าสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในวันนั้นเลย มัวเถลไถลเล่าเรื่องอื่นๆ เสีย      โจทย์ข้อแรกของกิจกรรมวันนั้นที่ตัวแทนทุกภาควิชาต้องตอบก็คือ หมอ…..ที่ท่านเป็นอยู่นั้นทำงานอะไร หมอ….อย่างท่านควรเป็นคนบุคลิกอย่างไร ฉันเองก็ต้องตอบนักศึกษาแพทย์ว่า หมอปาโถทำงานอะไร และหมอปาโถมีบุคลิกแบบไหน ฉันนึกอยู่หลายวันว่าจะเปรียบเทียบอย่างไรให้เด็กๆ มองเห็น หมอปาโถ ดี เพราะลำพังแค่พูดว่าหมอปาโถอ่านชิ้นเนื้อ ก็กลัวเด็กๆ จะไม่เข้าใจว่า งานที่หมอปาโถทำมีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับ ชีวิตคนไข้อย่างไร ลำพังนักศึกษาแพทย์ไม่เข้าใจ แล้วนับประสาอะไรกับคนนอกวงการ เวลามีคนถามว่าเป็นหมออะไร พอฉันตอบว่าเป็นหมอปาโถ เขาก็มักจะถามต่อเลยว่าหมอปาโถเป็นอย่างไร ซ้ำร้ายกว่านั้น บางคนพาลนึกไปว่าหมอปาโถเป็น หมอที่ไม่ใช่หมอ เพราะในความคิดของคนกลุ่มหนึ่ง การเป็นหมอต้องทำหน้าที่ตรวจรักษาคนไข้เท่านั้น ซึ่งความคิดนี้ เป็นความคิดแรกที่ฉันหมายมั่นที่จะ ทำความเข้าใจกับเด็กๆ เสียก่อน (ก่อนที่ฉันจะเรียนปาโถ พ่อและแม่ก็มีความคิดแบบนี้เหมือนกัน แต่ปัจจุบัน ไม่ทราบว่าเป็นเพราะท่านเข้าใจงานฉันมากขึ้น หรือเป็นเพราะว่าท่านเห็นฉันรักในงานที่ทำ ท่านก็เลยเปลี่ยนความคิดนี้ไปแล้ว)     ถ้าเราลองมองกว้างๆ คนที่ได้ชื่อว่าแพทย์ ทำงานอยู่ 3 ประเภทใหญ่ๆ หนึ่งก็คือ หมอที่ทำหน้าที่เน้นไปทางการตรวจรักษาคนไข้ ซึ่งก็คือ หมอMED หมอศัลย์ หมอเด็ก หมอสูติ และหมออื่นๆ กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ จับต้อง ง่ายที่สุด สองก็คือหมอที่ทำหน้าที่เน้นไปทางการวินิจฉัยโรคต่างๆ หมอปาโถกับหมอเอกซเรย์จะอยู่ในกลุ่มนี้ ส่วนกลุ่มสุดท้ายที่คิดได้ในตอนนั้นก็คือ หมอที่ทำหน้าที่อื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการตรวจรักษาคนไข้ และวินิจฉัยโรคโดยตรง อาทิ หมอที่ทำงานบริหาร หมอที่หันไปทำธุรกิจ หมอที่ทำหน้าที่เป็นพิธีกร เป็นนักร้อง     ครั้งหนึ่งเพื่อนของฉันเล่าให้ฟังว่า พี่ชายของเขาซึ่งเป็นหมอนั้นได้หันไปดูแลระบบไอทีของโรงพยาบาลแล้ว โดยไม่ได้ตรวจรักษาคนไข้เหมือนเดิม ทำให้ตัวเพื่อนของฉันเอง (อาจรวมถึงตัวพี่ชายของเขาด้วย) ไม่สบายใจ เพราะมีเสียงค่อนขอดว่า อุตส่าห์เรียนมาตั้งเยอะ สุดท้ายแทนที่จะช่วย แบ่งเบา ภาระของหมอคนอื่นๆ ในแผนก กลับไปทำงานอื่นซึ่ง ไม่คุ้ม กับที่เรียนมาเลย และตามมาด้วยความสัมพันธ์และสายตาที่มองไม่เหมือนเดิม     ฉันตอบเพื่อนฉันไปว่า ช่างหัวใครๆ เขาไปเถอะ (ขอประทานโทษที่พูดไม่สุภาพ)     พี่ชายของเพื่อนฉัน เสียสละ ต่างหาก แม้บางคนอาจจะบอกว่า งานไอทีก็ให้เจ้าหน้าที่คอมพิวเตอร์ทำไปสิ หมอจะไปยุ่งทำไม แต่ลองคิดดูนะคะ ระบบคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวกับการดูแลรักษาพยาบาลคนไข้ ไม่ว่าจะเป็นการสั่งยา การบันทึกประวัติคนไข้ หรืออื่นๆ ไม่ทำตามความต้องการของหมอแล้วจะทำตามความต้องการของใคร ปล่อยให้เจ้าหน้าที่ทำไปก่อน คนที่ใช้งานจริงค่อยมาดูตอนงานเสร็จ มีหวังต้องมารื้อ มาแก้ไขกันอีก เสียเวลาเปล่าๆ ฉะนั้น การมี คนใช้งานจริงลงไปดูแลในแต่ละขั้นตอนน่าจะเป็นสิ่งที่ดี      กลับมาเรื่องหมอปาโถดีกว่า ฉันนึกคำตอบ หมอปาโถคือใคร อยู่หลายวัน เพราะคำว่า ปิดทองหลังพระ มันดูห่างไกลจากชีวิตเด็กๆ ยุคไอทีในปัจจุบัน รวมทั้งตัวฉันเองด้วย                  แล้วหมอปาโถคือใคร เปรียบกับอะไรถึงจะเหมาะและเข้าใจง่าย ??????     ฉันเล่าให้เด็กๆ ฟังว่า ให้เด็กๆ ลองนึกถึงเครื่องบินค่ะ      แต่อย่าคิดว่าหมอปาโถเป็นแอร์โฮสเตส (flight attendant) นะคะ เพราะหมอปาโถไม่ใช่ทั้งพนักงานต้อนรับบนดิน บนเครื่องบิน ไม่ใช่ทั้งนักบิน แถมยังไม่ใช่แม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ที่อยู่บนลานจอดเครื่องบินคอยดูแลความเรียบร้อยของเครื่องบินก่อนขึ้นบิน เจ้าหน้าที่ลำเลียงกระเป๋าขึ้น-ลงจากเครื่องบิน หรือเจ้าหน้าที่เติมเชื้อเพลิงให้เครื่องบิน เพราะอะไรน่ะหรือคะ      เพราะหน้าที่ๆ พูดมาทั้งหมดนั้น ผู้โดยสารสามารถ จับต้องมองเห็นได้ไม่ยาก       เอ ถ้าเป็นอย่างนั้น หมอปาโถควรเปรียบเป็นใครในสนามบิน      นึกไม่ออกใช่ไหมคะ ก็เหมือนที่คนไข้ นักศึกษาแพทย์ หรือใครๆ นึกถึง หมอปาโถ ไม่ค่อยออกนั่นแหละค่ะ     หมอปาโถเหมือนเจ้าหน้าที่หอบังคับการบินค่ะ      เคยเห็นเจ้าหน้าที่เหล่านั้นไหมคะ เกือบทั้งหมดก็ต้องตอบว่าไม่เคย หรืออาจเคยเห็นเดินไปเดินมา (บ้าง)ในสนามบินแต่ไม่รู้ว่าเป็นใคร (หมอปาโถเดินในโรงพยาบาลก็ไม่มีคนรู้จัก) ถ้าเครื่องบินไม่มีปัญหา ขึ้นได้ ลงได้ ทุกคนก็คงไม่คิดถึงคนบนหอบังคับการบิน (คนไข้ไม่มีปัญหาก็ไม่ค่อยนึกถึงหมอปาโถ) แต่ถ้าวันไหนเครื่องบินลงไม่ได้ด้วยเหตุทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นการจราจรติดขัด เครื่องบินขัดข้องต้องลงฉุกเฉิน หาร่องทางบินไม่เจอ ก็จะขอความช่วยเหลือจากหอบังคับการบิน (คนไข้ที่มีก้อนแต่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นอะไร แพทย์ที่ทำการรักษาไม่ทราบว่าจะรักษาไปทางไหนดี ก็จะตัดเอาก้อนส่งให้หมอปาโถช่วยอ่านผลให้หน่อย ) หรือถ้าเครื่องบินตก อย่างหนึ่งที่จะช่วยในการค้นหาสาเหตุก็คือ ข้อมูลที่ได้จากหอบังคับการบินว่า เครื่องบินหายจากจอเรดาห์ไปตั้งแต่เมื่อไหร่ สำหรับกรณีนี้นอกจากหมอปาโถจะเป็นหอบังคับการบินแล้ว เรายังเป็น “กล่องดำ เพิ่มอีกด้วย กรณีที่คนไข้ได้รับการผ่าพิสูจน์หาสาเหตุการเสียชีวิต ฟังดูเข้าท่าดีใช่ไหมคะ

     ยังมีเรื่องชีวิตและบุคลิกของหมอปาโถอีกค่ะ
    

คำสำคัญ (Tags): #ปาโถโลจิสต์
หมายเลขบันทึก: 33277เขียนเมื่อ 8 มิถุนายน 2006 00:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤษภาคม 2012 20:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
เปรียบเทียบได้ยอดเยี่ยมจริงๆค่ะ แล้วผลลัพธ์จากผู้ฟังเป็นอย่างไรบ้างคะ เด็กๆ "get" กันไหมคะ ออกจะช่างคิดแบบนี้
  • เปรียบเทียบได้เห็นภาพนะครับ
  • ถึงปิดทองหลังพระก็มีประโยชน์มากๆๆครับ
  • ขอบคุณครับ

สวัสดีครับอาจารย์

เพิ่งจะพบบันทึกครั้งแรกครับ

เข้ามาสสวัสดีครับ

ขอรวมบันทึกครับ

จะตามอ่านเรื่อยๆนะครั มันส์ดี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท