แก่นแท้ของหลักการ เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา


            (26 พ.ค. 49) ร่วมอภิปรายหัวข้อ สาระสำคัญและการนำไปสู่การปฏิบัติของหลักการ เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุม เวทีนโยบายสาธารณะมหาวิทยาลัยมหิดล ครั้งที่ 4 เรื่อง การมีส่วนร่วมในการสร้างองค์ความรู้ แก่นแท้ของหลักการ เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา จัดโดยมหาวิทยาลัยมหิดล (โดยคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์) ร่วมกับ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ           

            ผู้ร่วมอภิปรายอีก 4 ท่านได้แก่ ศจ.พิเศษ จรัล ภักดีธนากุล (เลขาธิการประธานศาลฎีกา) ศจ.สุทธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ (นักวิชาการอาวุโส) ดร.อีสมาอีลลุตฟี่ จะปะกียา (อธิการบดีวิทยาลัยอิสลามยะลา) และรศ.ดร.โคทม อารียา (ผอ.ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี ม.มหิดล) โดยมีรศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี (คณบดีคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ ม.มหิดล) เป็นผู้ดำเนินรายการ           

            ผมได้ให้ความเห็นมีสาระสำคัญดังนี้           

            1. ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นปัญหา ใหญ่ยิ่ง โยงยุ่ง แทรกซ้อน ล่วงลึก เกี่ยวกว้าง จึงยากต่อการเข้าใจ และยากต่อการแก้ไข ที่จะนำเสนอจึงเป็นเพียงส่วนน้อยๆส่วนหนึ่งของภาพใหญ่ แต่หวังว่าคงเป็นประโยชน์ในการประกอบการพิจารณาบ้าง           

            2. ประสบการณ์ที่ผมเกี่ยวข้องโดยอ้อม คือ ปฏิบัติการ 5 โครงการ ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ร่วมสนับสนุนหรือเกี่ยวข้องอยู่ ได้แก่                    

                    1) โครงการบ้านมั่นคงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำแล้ว 11 ชุมชน 1,826 ครัวเรือนเตรียมการ 15 ชุมชน ใน 3 จังหวัด 13 อำเภอ (รวมอำเภอตากใบ ยะลา)                    

                    2) โครงการแผนชุมชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีตำบลนำร่อง คือ ต.กะดุนง อ.สายบุรี จ.ปัตตานี และมีตำบลขยายผล ประมาณ 100 ตำบล ใน 3 จังหวัด                    

                    3) โครงการแก้ปัญหาที่ดิน 3 จังหวัดชายแดนใต้ (หรือ ปฏิรูปที่ดินภาคประชาชน)                    

                    4) โครงการ ศตจ. 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งประชาชนวางแนวทางการแก้ปัญหาด้วยตนเอง                    

                    5) โครงการกองทุน (พอช.) สำหรับผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สำหรับประมาณ 100 ครอบครัว เริ่มด้วยเงิน 2 ล้านบาท ให้ผู้สูญเสียพิจารณากันเองว่าจะแก้ปัญหา หรือพัฒนาอย่างไร           

            โครงการทั้งหมดดำเนินไปได้ด้วยดี ชาวบ้านมาร่วมมาก ไม่มีปัญหา ไม่มีการก่อกวน เช่นขัดขวางหรือทำลายป้าย เป็นโครงสร้างแนวราบ ไม่เน้นอำนาจ ผู้มาร่วมมือมีคุณภาพดี มีความร่วมมือกันอย่างเข้มแข็ง และมีความพอใจ            

            ตัวอย่างเสียงสะท้อนจากผู้นำชุมชน ได้แก่คำกล่าวของนายษัษฐศิต  มาฮะ เกี่ยวกับโครงการบ้านมั่นคงว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่ทำโดยมีส่วนร่วมคิด ร่วมทำ ชาวบ้านสามารถทำได้ตามความคิด และทำได้อย่างมีความสุข เป็นโครงการที่สร้างความรัก ความสามัคคีระหว่างกัน แบ่งปันช่วยเหลือเอื้ออาทร           
            3. สามารถสรุปหลักการสำคัญจากโครงการข้างต้นได้ดังนี้                    
                   1) ประชาชนในท้องถิ่นเป็นผู้มีบทบาทสำคัญ นั่นคือ เจ้าของพื้นที่รวมถึงองค์กรและกลไกต่างๆในพื้นที่ ควรเป็นเจ้าของเรื่อง เป็นเจ้าของประเด่น เป็นพระเอกนางเอกตัวจริง โดยมีหลักการสำคัญประกอบด้วย ได้แก่ พื้นที่เป็นตัวตั้ง ชุมชนเป็นพลัง และคนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา                    
                    2) คนนอกพื้นที่เป็นผู้มีบทบาทสนับสนุน คือ เป็นบทบาทรอง เป็นผู้ช่วยพระเอกนางเอก ไม่เล่นบทเป็นเจ้าของเรื่องเสียเอง ไม่เล่นบทเป็นผู้นำหรือผู้ชี้นำ                    
                   3) สนับสนุนการเชื่อมประสานหลายฝ่าย พยายามเชิญชวนฝ่ายต่างๆเข้ามาร่วมกัน ไม่กีดกันฝ่ายใดออกไป ไม่รังเกียจผู้ใดที่มีความเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อม                    
                    4) ให้ความเคารพประชาชน รวมถึงการให้เกียรติ ให้ความไว้วางใจ ให้ความปรารถนาดี ให้ความจริงใจ ให้โอกาส                     
                    5) มีการร่วมคิดร่วมทำตลอดกระบวนการ ได้แก่ การให้ประชาชนได้ร่วมริเริ่ม ร่วมวางแผน ร่วมกำหนดกฎกติกา ร่วมวางระบบ ร่วมตัดสินใจ ร่วมดำเนินการ ร่วมติดตามประเมินผล ร่วมเรียนรู้ และร่วมปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง (ข้อนี้ยังไม่ได้ทำอย่างครบถ้วนทั้งหมด)                    
                    6) เน้นการลงมือปฏิบัติ นั่นคือลงมือทำร่วมกันโดยไม่รอช้า ไม่มัวแต่พูด หรือมัวแต่วิพากษ์วิจารณ์ หรือมัวแต่แนะนำพร่ำสอน โดยไม่มีการลงมือทำ
                    7) สนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนาร่วมกันผ่านการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเรียนรู้จากการทำ ถ้าผิดพลาดก็เรียนรู้จากความผิดพลาด นำความรู้ที่อยู่ในตัวผู้ปฏิบัติ (Tacit knowledge) มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้หรือ จัดการความรู้ (Knowledge management) ร่วมกัน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ การประมวลความรู้ การสะกัดความรู้ การยกระดับความรู้ การจัดเก็บความรู้ การเผยแพร่ความรู้ การประยุกต์ใช้ความรู้ การแลกเปลี่ยน เปรียบเทียบ ผสมผสาน ความรู้ผ่านวิธีการต่างๆ และอื่นๆอีกที่ต่อเนื่องและขยายวงไปอย่างไม่รู้จบ (ข้อนี้เป็นเรื่องพึงทำและมีการปฏิบัติไปบ้าง แต่ยังจะต้องมีการพัฒนาอีกมาก)
            4. หวังว่าปฏิบัติการจริงและหลักการตามที่สรุปมาข้างต้น น่าจะสะท้อนถึงการนำหลักการ เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา มาปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยได้ ผลอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ 
ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม 
7 มิ.ย. 49
คำสำคัญ (Tags): #การพัฒนาสังคม
หมายเลขบันทึก: 33235เขียนเมื่อ 7 มิถุนายน 2006 16:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 22:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท