การดูแลสุขภาพ


การดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ

 
สุขบัญญัติ 6 ประการเพื่อสุขภาพดี
การมีสุขภาพดีจะต้องอาศัยการดูแลตนเอง โดยการประพฤติปฏิบัติตามแนวทางที่เหมาะสมอย่างสม่ำเสมอตลอดเวลา แนวทางที่จะขอแนะนำท่านทั้งหลายเพื่อเป็นข้อคิดและข้อปฏิบัติ เพื่อสุขภาพดีตลอดไป เราเรียก สุขบัญญัติ 6 ประการเพื่อสุขภาพดี ซึ่งประกอบไปด้วยสิ่งต่างๆ ต่อไปนี้
สุขบัญญัติข้อที่ 1 คือ การควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์พอดี
สุขบัญญัติข้อที่ 2 คือ การรับประทานอาหารที่ถูกต้อง
สุขบัญญัติข้อที่ 3 คือ การออกกำลังกายอย่างเหมาะสมและสม่ำเสมอ
สุขบัญญัติข้อที่ 4 คือ หลีกเลี่ยงการบริโภคสารที่อันตรายต่อร่างกาย
สุขบัญญัติข้อที่ 5 คือ รู้จักบริหารจัดการกับความวิตกกังวลและการพักผ่อนที่เพียงพอ
สุขบัญญัติข้อที่ 6 คือ การตรวจเช็คร่างกายตามระยะเวลาที่เหมาะสม
หวังว่าท่านทั้งหลายคงจะสามารถปฏิบัติตามได้นะคะ คงจะไม่เหลือบ่ากว่าแรง เกินขีดความสามารถของท่านไปได้
 


14 คำถามของคนสุขภาพดี
ท่านผู้สนใจในสุขภาพทั้งหลาย แสดงว่าท่านเป็นผู้ที่ต้องการมีสุขภาพดีอย่างแน่นอน สุขภาพดีเป็นหัวใจของความสำเร็จทั้งปวง เราจะมีคำถาม 14 ข้อให้ท่านตอบเพียงว่า ใช่หรือไม่ใช่ เท่านั้น ถ้าท่านตอบ "ใช่" ทั้ง 14 ข้อ ท่านจะมีโอกาสสูงมากที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีตลอดอายุขัยของท่าน ซึ่งท่านอาจจะอายุยืนไปถึง 100 ปีทีเดียว แต่ถ้าท่านตอบว่า "ไม่ใช่" หลายข้อ ท่านควรต้องคิดทบทวนแก้ไขว่าสาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะอะไร ถ้าท่านไม่มีปากกาหรือดินสอ ใช้นับนิ้วเอาก็ได้ค่ะ
1. ตัวท่านเองมีน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ใช่หรือไม่
2. ท่านนอนหลับได้ดีทุกคืนและตื่นขึ้นมาพร้อมความสดชื่นทุกวัน ใช่หรือไม่
3. หลังเลิกงานแล้ว ท่านยังมีกำลังพอที่จะไปงานสังคมตอนค่ำได้ ใช่หรือไม่
4. ท่านออกกำลังกายสม่ำเสมอสัปดาห์ละ 3 ครั้งขึ้นไปเป็นประจำ ใช่หรือไม่
5. ถ้าท่านดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ผสม ท่านเป็นผู้ที่ดื่มไม่มาก ใช่หรือไม่
6. ท่านเลิกสูบบุหรี่มานานแล้ว ใช่หรือไม่
7. ท่านสามารถเดินขึ้นบันไดตึกไปชั้นที่ 3 โดยไม่ต้องหยุดพัก ได้หรือไม่
8. ปกติท่านขับรถด้วยความระมัดระวัง และคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้ง ใช่หรือไม่
9. ท่านไปรับการตรวจสุขภาพเป็นประจำ ใช่หรือไม่
10. ท่านเป็นผู้ที่มีบุคลิกภาพดี มีความสุขมาโดยตลอด ใช่หรือไม่
11. ท่านไม่เคยดื่มสุรา หรือเสพสารเสพติดในระหว่างขับรถ ใช่หรือไม่
12. ท่านไม่เคยใช้ยาที่มีผลต่ออารมณ์และความรู้สึกนึกคิด ใช่หรือไม่
13. ท่านทราบถึงสาเหตุ วิธีการติดต่อและการป้องกันโรคเอดส์เป็นอย่างดีแล้ว ใช่หรือไม่
14. ในปัจจุบัน ท่านไม่มีโรคประจำตัวที่ต้องรักษาอย่างต่อเนื่อง ใช่หรือไม่
 
 
ความวิตกกังวล/การพักผ่อน
การพักผ่อนมีความสำคัญอย่างมากต่ออวัยวะทุกส่วนของร่างกายคนเรา สมองต้องการหยุดคิด หยุดตัดสินใจ หยุดฟุ้งซ่าน สายตาต้องการหยุดการมอง กล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ต้องการพัก กระเพาะลำไส้ต้องการหยุดการย่อยอาหาร อวัยวะทุกชนิดต้องการการพักผ่อนทั้งสิ้น แม้กระทั่งหัวใจก็ต้องการหยุดพัก แต่หยุดสนิทคงไม่ได้ ในขณะนอนหลับ หัวใจจะเต้นช้าลง ก็ถือว่าเป็นการพักผ่อนของหัวใจ สำหรับตัวเลขจำนวนชั่วโมงในการพักผ่อนนอนหลับใน 1 วัน พอที่จะบอกคร่าวๆ ได้ดังนี้
เด็กเล็กมากๆ อาจนาน 18-20 ชั่วโมงต่อวัน เด็กโตขึ้นมาก็จะนอนน้อยลงเรื่อยๆ จนถึง วัยรุ่นอาจนอน 8-10 ชั่วโมง ต่อวัน ซึ่งเชื่อกันว่า การนอนที่ไม่เพียงพอในเด็กหรือวัยรุ่น จะมีผลต่อการหลั่งฮอร์โมนเกี่ยวกับการเจริญเติบโต ทำให้ตัวเล็กกว่าปกติได้
ผู้ใหญ่ อาจนอนประมาณ 6-8 ชั่วโมง ซึ่งแต่ละคนคงต้องดูความเหมาะสมของตนเองเป็นหลักว่า นอนเพียงใดทำให้ร่างกายสดชื่นมีความพร้อมสำหรับทำงานในวันรุ่งขึ้น สมองมีความโปร่งใสคิดอะไรตัดสินใจอะไรได้ดี
สำหรับการบริหารจัดการกับความวิตกกังวลมีหลักอยู่ว่า มนุษย์ทุกคนหลีกเลี่ยงความวิตกกังวลไม่ได้แน่นอน ตราบใดที่ยังมีชีวิตอยู่ ผู้ใดที่สามารถบริหารจัดการเพื่อลดความวิตกกังวล หรือทำให้ไม่เกิดความวิตกกังวลขึ้นเลยในชีวิตประจำวัน ท่านผู้นั้นจะได้เปรียบบุคคลอื่น ท่านจะได้มีเวลาสำหรับนั่งทำงานอื่นๆ ได้อีกมากมาย แทนที่จะกลุ้มอกกลุ้มใจเกี่ยวกับความวิตกกังวลที่ตัวเองมีอยู่
 

การตรวจสุขภาพเป็นประจำ
การตรวจเช็คร่างกายตามระยะเวลาที่เหมาะสม ในปัจจุบันทุกคนมีความรู้ความเข้าใจในการดูแลสุขภาพตนเองมากขึ้น การตรวจเช็คร่างกายหรือเรียกทั่วๆ ไปว่าการตรวจร่างกายประจำปี จึงมีผู้นิยมกระทำมากขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว การที่ท่านจะตรวจสุขภาพโดยตัวท่านเองนั้น ท่านก็สามารถกระทำได้ส่วนหนึ่ง โดยท่านต้องคอยหมั่นสังเกต ความผิดปกติที่เกิดกับตัวท่านในการใช้ชีวิตประจำวัน กิจกรรมต่างๆ ที่เคยทำเป็นประจำ ท่านอาจทำสิ่งเหล่านั้นไม่ได้ หรืออาจมีอาการเหนื่อยง่ายกว่าปกติ ท่านอาจจะสังเกตความเปลี่ยนแปลงของผิวหนังทั่วร่างกาย การฝึกคลำก้อนบริเวณเต้านมในผู้หญิง หรือการตรวจคลำก้อนผิดปกติบริเวณลูกอัณฑะในผู้ชาย
 
สำหรับการไปรับการตรวจสุขภาพจากแพทย์นั้น ส่วนใหญ่โดยเฉลี่ยแล้ว ผู้ใหญ่ในวัยทำงานควรไปรับการตรวจสุขภาพปีละ 1 ครั้ง อายุน้อยๆ อาจจะตรวจสุขภาพทุก 2 ปี หรืออายุมากขึ้นปีละ 2 ครั้ง ก็สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม ขอให้ท่านขอคำแนะนำจากโรงพยาบาลทุกแห่งได้
ถ้าท่านยังไม่เคยรับการตรวจร่างกายเลย เราใคร่ขอแนะนำว่า ท่านควรจะเริ่มได้แล้วในปีนี้ สำหรับวันที่เหมาะสมในการตรวจสุขภาพประจำปี ขอแนะนำให้เลือกสัปดาห์ของวันเกิดของท่านเพื่อเป็นเครื่องเตือนใจท่านเป็นประจำว่า ถึงเวลาที่จะต้องตรวจสุขภาพอีกแล้ว
 

ตรวจสุขภาพที่ทำได้เอง
ท่านอาจจะสงสัยว่า ท่านจะตรวจสุขภาพของตัวท่านด้วยตนเอง จะทำได้อย่างไร? ปกติการตรวจสุขภาพที่เราเข้าใจกันโดยทั่วไปก็คือ ต้องไปรับการตรวจเช็คสุขภาพจากแพทย์ อาจจะเป็นที่คลินิกหรือที่โรงพยาบาล แต่ในหัวข้อเรื่องนี้ เราจะแนะนำสิ่งที่ท่านสามารถตรวจตัวของท่านเองได้ ซึ่งจะมีประโยชน์อย่างมากต่อตัวท่าน สำหรับการตรวจสุขภาพที่ทำได้เองนั้น สามารถแบ่งออกเป็น 3 ส่วนด้วยกัน ได้แก่ การตรวจหาก้อนผิดปกติที่เต้านมด้วยตนเองในผู้หญิง การตรวจหาก้อนผิดปกติที่บริเวณลูกอัณฑะในผู้ชาย และการตรวจหาสิ่งผิดปกติบริเวณผิวหนังทั่วร่างกายของท่าน
ท่านคงจะพอหายสงสัยแล้วว่า ท่านจะตรวจสุขภาพเองได้อย่างไร เพราะตัวท่านเองจะรู้จักส่วนต่างๆ ของร่างกายดีกว่าผู้อื่น ถ้าฝึกหัดสังเกตตามที่จะแนะนำต่อไป ท่านย่อมสังเกตเห็นได้ก่อนผู้อื่น ซึ่งจะทำให้ผลของการรักษาโรคที่คิดว่าร้ายแรง เช่น มะเร็ง สามารถรักษาให้หายขาดได้ ถ้าตรวจพบแต่เนิ่นๆ
การตรวจเต้านมด้วยตนเอง ควรกระทำตั้งแต่เริ่มเป็นวัยรุ่นเป็นต้นไป ทุกๆ เดือน ในเวลาเดียวกันของรอบเดือนที่แพทย์แนะนำคือ
การตรวจลูกอัณฑะด้วยตนเอง ควรกระทำตั้งแต่เริ่มเป็นวัยรุ่นเป็นต้นไปทุกๆ เดือน ควรจะคลำว่ามีสิ่งผิดปกติบริเวณลูกอัณฑะหรือไม่
การตรวจหาสิ่งผิดปกติบริเวณผิวหนัง ท่านสามารถทำได้โดยจะต้องมีกระจกส่องหน้าขนาดค่อนข้างใหญ่ เพื่อเอาไว้ส่องดูบริเวณด้านหลัง หรือส่วนที่มองตรงๆ ไม่เห็น ความผิดปกติที่ผิวหนังอาจเป็นแค่ไฝขนาดเล็ก ไฝที่โตขึ้นเร็ว หรือมีแผลเลือดออกบริเวณที่มีไฝ
การตรวจสุขภาพที่ทำได้เองเหล่านี้ ไม่ใช่เรื่องยากเกินความสามารถของท่านเลยใช่ใหม่คะ ข้อสำคัญอยู่ที่ว่า ท่านควรจะเริ่มตรวจสุขภาพตนเองตั้งแต่บัดนี้ เป็นต้นไป
 
 
การใช้ยา:สิ่งที่ควรทราบ และปฏิบัติ
1. ยาเป็นสิ่งที่จะมีผลต่อร่างกายของเรา เพราะยาอาจทำให้เราหายจากโรค ยาอาจมีโทษต่อร่างกายตั้งแต่แพ้เล็กน้อยจนกระทั่งรุนแรงถึงชีวิตท่านจึงต้องมีความมั่นใจว่ายาที่ท่านรับประทาน จะไม่มีอันตรายต่อตัวท่านเอง
2. กรณีที่ท่านเคยมีประวัติแพ้ยามาก่อน ท่านควรแจ้งชื่อยาให้แพทย์ทราบทุกครั้ง
3. เมื่อไปพบแพทย์ ท่านควรบอกชื่อยาที่ท่านรับประทานอยู่เป็นประจำให้แพทย์ทราบ หรืออาจนำซองยาไปด้วยก็ได้ เพื่อป้องกันการให้ยาซ้ำซ้อน หรือยาที่อาจต้านฤทธิ์หรือเสริมฤทธิ์กัน
4. ยาบางอย่างจำเป็นต้องรับประทานติดต่อกันให้ครบ เช่น ยาปฏิชีวนะ ยาบางอย่างอาจไม่จำ เป็นต้องรับประทานให้หมด ท่านอาจถามแพทย์ผู้รักษากรณีที่ท่านไม่แน่ใจ
5. เมื่อท่านรับยามาแล้ว ตรวจสอบให้แน่ใจว่าเป็นชื่อของท่านและอ่านดูวิธีรับประทานยาที่ข้างซองให้เข้าใจก่อนที่จะกลับบ้าน
6. ท่านอาจใช้วิธีจดเพื่อช่วยจำว่า ในแต่ละวัน มียาก่อนอาหาร หลังอาหาร ก่อนนอน หรือรับประทานเฉพาะเวลาปวดหรือมีไข้ สำหรับเวลาให้รับประทานยาให้มีส่วนสำคัญมาก เพราะยาบางอย่างดูดซึมได้ดีโดย สัมพันธ์กับความเป็นกรดหรือด่างในกระเพาะอาหาร ยาบางอย่างมีอาการแทรกซ้อนเกี่ยวกับกระเพาะอาหารได้ ถ้ารับประทานขณะที่ท้องว่าง ดังนั้นการรับประทานยาให้ตรงเวลาตามแพทย์สั่งจึงมีความสำคัญที่ไม่ควรละเลย
7. การจัดยาที่ต้องรับประทานเอาไว้ในกล่อง หรือซองแยกแต่ละมื้อ พร้อมกับเขียนข้อความไว้ให้ ชัดเจน จะช่วยให้สะดวกยิ่งขึ้นและไม่หลงลืม

 

วิธีดูแลสุขภาพเราให้แข็งแรง 25 วิธี

1.การดื่มน้ำปริมาณมากในเวลาอันรวดเร็วอาจก่อให้เกิดสภาวะน้ำเป็นพิษ เนื่องจากเลือดเจือจาง ร่างกายจึงขับโปแตสเซียมออกจากเซลล์เพื่อปรับสมดุลระหว่างน้ำในเซลล์และนอก เซลล์ ผลที่ตามมาคือเป็นตะคริว กล้ามเนื้อเกร็ง หากเกิดอาการเกร็งที่สมอง หัวใจ หรือปอด จะทำให้ระบบหายใจล้มเหลวและเสียชีวิตได้ แต่ไม่ต้องกังวลจนเกินไป เพราะหากดื่มน้ำทีละเล็กทีละน้อย แม้ดื่มมากกว่าปกติก็ไม่เป็นอันตรายเพราะไตจะขับออกมาเป็นปัสสาวะ และถ้าเมื่อไรมีอาการจุกนั่นแสดงว่าดื่มน้ำมากไป ควรหยุดได้แล้ว
 
2. การปล่อยให้ตนเองหิวอาจนำไปสู่โรคร้าย  เพราะความหิวกระตุ้นร่างกายให้หลั่งฮอร์โมนความเครียด ซึ่งหากเกิดขึ้นเป็นประจำจะทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจหรือเบาหวานได้ ลองควบคุมความหิวด้วยการแบ่งมื้ออาหารจากวันละ 3 มื้อเป็นมื้อเล็กๆ 5-6 มื้อต่อวัน
 
3. ชา กาแฟ รวมถึงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนไม่เหมาะกับผู้ที่มีอาการปวดหลัง เพราะคาเฟอีนลดการหลั่งสารเอนโดรฟีนซึ่งเป็นสารธรรมชาติที่ร่างกายผลิตขึ้นและมีฤทธิ์ลดอาการปวดตามอวัยวะต่างๆ
 
4. วิธีง่ายๆในการดูแลสุขภาพคือ หลังจากตื่นนอนทุกเช้า จะดื่มน้ำส้มสายชูที่หมักจากผลแอ๊ปเปิ้ล ผสมกับน้ำผึ้งอย่างละ 1 : 1 ใส่น้ำอุ่นคนให้เข้ากันแล้วค่อยเติมน้ำแข็งลงไปเพื่อให้ทานง่ายและมีรสชาติ ดีขึ้น ซึ่งวิธีนี้จะไปช่วยการดูดซึมของระบบลำไส้ และการเผาผลาญของร่างกาย แต่โรคบางโรคอาจเกิดจากสุขภาพจิตที่อ่อนแอ ในหนึ่งอาทิตย์จึงควรจะมีวันพักผ่อนอย่างจริงจังหรือทำกิจกรรมที่ผ่อนคลาย เช่น เล่นโยคะ เพื่อฟื้นฟูสุขภาพกายและลดมลภาวะทางจิตใจไปพร้อมๆ กัน
 
5.  การ นอนดึกคืนวันศุกร์-เสาร์แล้วตื่นสายในวันเสาร์-อาทิตย์ ทำให้นาฬิกาชีวภาพของร่างกายตั้งเวลาตื่นใหม่ เมื่อถึงวันจันทร์จึงมีอาการอิดเอื้อนไม่อยากตื่น ทั้งยังทำให้ขาดสมาธิในการทำงานหรือเรียนหนังสืออีกด้วย
 
6. แสงแดดยามเช้าไม่ได้ช่วยให้กระดูกแข็งแรงเท่านั้น แต่การออกกำลังกายกลางแดดในช่วงเวลาดังกล่าวยังช่วยให้ร่างกายผลิตสารเอนโดรฟีน ซึ่งเป็นสารต่อต้านอาการซึมเศร้าตามธรรมชาติอีกด้วย
 
7. ความเครียดเป็นตัวการทำลายผิวที่ร้ายแรงที่สุด ฉะนั้นเราต้องปรับความคิดใหม่ และใช้ร่างกายเราอย่างทะนุถนอมตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า ใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่เหมาะสม หาเวลาออกกำลังกายบ้าง และรับประทานอาหารดีๆ
 
8. แอ๊ปเปิ้ล แตงโม กล้วย กีวี มีประโยชน์ แต่ถ้าคุณรับประทานยาปฏิชีวนะอยู่ควรหลีกเลี่ยงผลไม้เหล่านี้เพราะบูดง่ายในลำไส้ อาจเกิดการอักเสบในระบบทางเดินอาหารได้
 
9. การไอเรื้อรังอาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัส ยาปฏิชีวนะที่แพทย์สั่งเพื่อรักษาอาการหวัดไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้ ให้ใช้วิธีที่สุดแสนธรรมดาแต่ได้ผลมากกว่าคือ ดื่มน้ำบ่อยๆ เพื่อลดเสมหะในทางเดินหายใจ อมยาอมให้ลำคอชุ่มชื่นอยู่ตลอดเวลา และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอเพื่อให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานอย่างมี ประสิทธิภาพ แค่นี้ก็หายแล้ว
 
10. การที่เราคิดว่าตัวเองมีสุขภาพดี แถมอายุยังน้อย ทำให้เราชะล่าใจในการดูแลรักษาสุขภาพ เวลาเกิดอะไรผิดปกติขึ้นกับร่างกายจะคิดว่าช่างมัน เดี๋ยวคงหายเอง ซึ่งไม่ถูกต้อง
 
11. เมื่อ มีอาการเท้าและข้อเท้าบวมให้นั่งยองๆ ทุกวันๆ ละ 15 นาที แล้วขยับข้อเท้าไปข้างหน้าและข้างหลัง เพื่อช่วยให้โลหิตไหลเวียนได้ดีขึ้น หลังจากนั้นใช้แปรงที่ขนทำจากวัสดุธรรมชาติ แปรงผิวหนังเบาๆ เริ่มบริเวณฝ่าเท้าซึ่งเป็นศูนย์รวมของเส้นประสาททั่วร่างกาย แล้วค่อยๆ ปัดไล่ขึ้นมาที่ข้อเท้า น่อง ต้นขา ท้อง แขนไปจนสุดที่มือทั้งสองข้าง (ยกเว้นผู้ที่เป็นเบาหวาน เพราะเสี่ยงจะเกิดบาดแผล) จากนั้นอาบน้ำอุ่นแล้วตามด้วยน้ำเย็น จะช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น
 
12. ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานและรับประทานไข่มากกว่าอาทิตย์ละ 1 ครั้ง เสี่ยงเป็นโรคหัวใจมากขึ้น

13. ผู้ที่รับประทานไข่เป็นเวลา 8 อาทิตย์ลดน้ำหนักได้มากกว่าผู้ที่ไม่รับประทานถึง 65 เปอร์เซ็นต์ และรอบเอวลดลงเกือบสองเท่า เพราะผู้ที่รับประทานไข่รู้สึกอิ่มกว่าการรับประทานขนมปัง ทำให้รับประทานอาหารกลางวันและอาหารเย็นน้อยลง
 
14. การรับประทานอาหารไปดูหนังไปทำให้รับประทานอาหารมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว แม้ว่าจะกินอิ่มมาแล้วหรือรสชาติของอาหารไม่ได้เรื่องเลยก็ตาม นอกจากนี้ไฟสลัวๆ ทำให้ผู้ที่รับประทานอาหารไม่ค่อยระวังตัว เพลิดเพลินเจริญอาหารไปเรื่อย
 
15. เสียงเพลงมีอิทธิพลต่ออารมณ์ของคนเรา ยิ่งดนตรีมีจังหวะเร็วเท่าไรก็ยิ่งกระตุ้นให้รับประทานอาหารมากขึ้นเท่านั้น
 
16. การดื่มน้ำ(เปล่า)เย็น 50 ออนซ์ (8 ออนซ์= 1 ถ้วย) จะช่วยเผาผลาญพลังงานเพิ่มขึ้นวันละ 50 แคลอรี เท่ากับช่วยให้น้ำหนักลดลงปีละ 5 ปอนด์หรือ 2.5 กิโลกรัม เพราะการดื่มน้ำเปล่าไม่ทำให้ร่างกายได้รับพลังงาน แต่ต้องใช้พลังงานในการเผาผลาญน้ำ ยิ่งไปกว่านั้นน้ำเย็นทำให้ร่างกายต้องใช้พลังงานเผาผลาญมากขึ้นอีก
 
17. การออกกำลังกายด้วยการยกน้ำหนักและพิลาทิส ควบคู่กันไปจะช่วยพัฒนาความแข็งแรงของปอดและหัวใจ รวมถึงความแข็งแรงและยืดหยุ่นของโครงสร้าง และการรับประทานอาหารมื้อย่อยๆ 5 มื้อต่อวัน โดยมื้อกลางวันจะเน้นอาหารประเภทโปรตีนเพียง 1 มื้อ นอกนั้นเน้นผักและผลไม้ จะทำให้มีพลังงานที่พอเหมาะในการใช้งาน และไม่ทิ้งไขมันส่วนเกินสะสม
 
18. ผู้ชายที่รับประทานมะเขือเทศ ซึ่งมีไลโคปีนสูงอย่างน้อยอาทิตย์ละ 10 ผลหรือมากกว่านั้น เสี่ยงเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากน้อยลง 45 เปอร์เซ็นต์ วิธีง่ายๆ ให้นำมะเขือเทศไปปั่นให้ละเอียดเติมน้ำมันมะกอกและนำไปปรุงสุก ความร้อนจะช่วยให้มะเขือเทศปล่อยสารไลโคปีนออกมามากขึ้น
 
19. รับประทานแอ๊ปเปิ้ลหนึ่งชิ้นหลังอาหาร ช่วยเพิ่มปริมาณน้ำลาย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการลดแบคทีเรียในช่องปากและช่วยให้เหงือกแข็งแรง การรับประทานสับปะรดและมะละกอก่อนอาหารประมาณ 2-3 ชิ้น ดีต่อกระเพาะอาหารเพราะมีเอนไซน์ซึ่งช่วยย่อย จึงเท่ากับช่วยให้กระเพาะย่อยอาหารมื้อหลักที่ตามลงมาได้ง่ายขึ้น
 
20. หากไม่อยากมีกรดในกระเพาะมากเกินไป ควรลดปริมาณการดื่มน้ำผลไม้เข้มข้น อย่างเช่นมะนาว ส้ม ส้มโอ เกรฟฟรุ๊ต หรือน้ำมะเขือเทศสดปั่น หรือทำให้เจือจางด้วยการผสมน้ำเข้าไป
 
21. สำหรับ หนุ่มเจ้าสำราญ ที่ชอบปาร์ตี้หามรุ่งหามค่ำ ก็สามารถฟื้นฟูร่างกายได้ด้วยการนอนหลับให้นานหน่อย อีกวิธีหนึ่งในการดูแลตัวเองคือมีแฟนเด็ก จะได้มีแรงกระตุ้นให้เราทำตัวเด็กตาม ต้องดูดีตลอดเวลา เพราะฉะนั้นอบายมุข การเที่ยวกลางคืนก็เป็นอันต้องงด
 
22. การเล่นเกมคอมพิวเตอร์โดยเฉพาะเกมส์ที่ต้องใช้สมาธิ ช่วยให้ระบบประสาททำงานเชื่อมต่อกันอย่างมีประสิทธิภาพ ป้องกันโรคอัลเซเมอร์ได้ เกมอื่นๆ เช่น ปริศนาอักษรไขว้ หรือเลือกเรียนดนตรี ก็ช่วยได้เช่นกัน
 
23. การใช้พลาสติกใส่อาหารหรือปิดอาหาร รวมถึงใส่จานชามพลาสติกในไมโครเวฟ เพราะความร้อนจะทำให้พลาสติกปนเปื้อนในอาหาร เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านม
 
24. ก่อนตั้งครรภ์ควรเตรียมตัวล่วงหน้าประมาณ 3 เดือน 1.ดูแลเรื่องอาหารการกิน เน้นโฟเลต แคลเซียม วิตามินต่างๆ ป้องกันอาการแพ้ท้องหรืออยากอาหารประหลาดๆ 2.ระวังเรื่องการรับประทานยาทุกชนิด อ่านฉลากให้ดี เพราะอาจทำร้ายลูกโดยไม่เจตนา 3.ทำใจให้สบาย คิดในแง่บวก 4. ออกกำลังกายที่เหมาะสม
 
25. ถ้ามื้อนั้นรับประทานเนื้อสัตว์ในปริมาณมาก ไม่ควรรับประทานผลไม้อีก เพราะกว่าเนื้อจะย่อยหมดต้องใช้เวลานาน ทำให้ผลไม้ที่ย่อยเสร็จไปเรียบร้อยแล้วถูกกักอยู่ในกระเพาะ เกิดกรดในกระเพาะอาหารได้
หมายเลขบันทึก: 331241เขียนเมื่อ 26 มกราคม 2010 17:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 12:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ข้อมูลสุขภาพที่ดีมากๆ  ขอบคุณมากค่ะ

มีข้อสงสัยข้อสุดท้าย ในความเข้าใจ

การรับประทานผลไม้ตามไม่ได้ไปช่วยย่อยเนื้อหรือ

ระบบการทำงานแยกการย่อยด้วยหรือใน แต่ละชนิด

คือเข้าใจว่าเมื่อรวมในกระเพราะแล้วจะย่อยพร้อมกัน

ผลไม้ มีสิ่งที่จะช่วยย่อยเนื้อได้ หรือเปล่า

 

    

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท