ศิลปะการเขียนบทความให้น่าอ่าน


การอ่านทำให้คนเต็มคน การฟังทำให้คนพร้อม การเขียนทำให้คนประณีต

ศิลปะการเขียนบทความให้น่าอ่าน

       วันนี้ได้มีโอกาสอ่านบทความ เรื่อง  ศิลปะการเขียนบทความให้น่าอ่าน  ของ ผ.อ.พรชัย  ภาพันธ์  ผู้อำนวยการโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 63 (ชุมชุนบ้านคำแดง)  อำเภอเมือง  จังหวัดยโสธร  เห็นว่ามีประโยชน์สำหรับนักเรียนที่จะใช้เป็นข้อมูลในการฝึกเขียนบทความ  จึงได้นำมาเผยแพร่ให้นักเรียนและผู้ที่สนใจได้ศึกษาเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาฝีมือในการเขียนบทความให้ดียิ่งขึ้น  ท่าน ผ.อ.พรชัย    ได้เขียนแสดงความคิดเห็นไว้  ดังนี้

               การอ่านทำให้คนเต็มคน การฟังทำให้คนพร้อม การเขียนทำให้คนประณีต  การเขียนเป็นการนำเอาการอ่าน การฟัง การคิดมารวบรวมไว้ เพื่อสื่อสารให้บุคคลอื่น ได้รับรู้ มีคนกล่าวว่านักเขียนพูดดังกว่านักพูดและพูดได้นานกว่า   ความจำที่ดีสู้หมึกเพียงหนึ่งหยดไม่ได้   หัวใจนักปราชญ์นั้นกล่าวถึง  การฟัง   การคิด การถาม  และการเขียน จุดด้อยของคนเอเชียจะพบว่าขาดวัฒนธรรมการถ่ายทอดความรู้ เพราะไม่มีวัฒนธรรมการเขียน ตามแนวคิดการหวงวิชา มักจะสืบทอดวิชาความรู้สู่เฉพาะบุตรหลานหรือคนที่ไว้วางใจเท่านั้น ไม่มีการบันทึกเผยแพร่ทำให้ขาดการต่อยอดความคิดไปสู่การพัฒนา คนไทยก็เช่นกันมักจะประสบปัญหาการเขียน ไม่ทราบจะเริ่มต้นอย่างไร      ขาดความมั่นใจ ขาดเทคนิคการเขียนโดยเฉพาะการเขียนบทความนั้นต่างมองว่าเป็นเรื่องยาก ในฐานะที่เราต้องทำงานด้านวิชาการ  หากเรียนรู้ศิลปะการเขียนบทความ  ย่อมจะสร้างแรงจูงใจสานฝันแนวทางในการทำงานให้สำเร็จได้อย่างมีหลักการสู่การทำงานที่ท้าทาย

 ความหมายของบทความ

               เกรียงศักดิ์  เจริญวงศ์ศักดิ์ ได้ให้ความหมายของบทความว่า เป็นรูปแบบการเขียนที่ผู้เขียนที่ต้องการสื่อสาร ข้อเท็จจริงและความเห็นเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งแก่ผู้อ่าน เนื้อหานำเสนอเป็นข้อมูลจริง ซึ่งไม่ใช่ความเรียงธรรมดา ที่เป็นข่าว หรือจินตนาการของผู้เขียน

องค์ประกอบสำคัญในการเขียนบทความ

      นิธิ  เอียวศรีวงศ์และคณะ  ได้กล่าวถึงสิ่งสำคัญที่ผู้เขียนต้องรู้ข้อมูล เนื้อหาสาระที่จะเขียน โดยคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้

      1. กลุ่มเป้าหมาย เราต้องการเขียนให้ใครอ่าน ต้องการสื่อสารกับคนในกลุ่มใด การทราบกลุ่มเป้าหมายจะทำให้ผู้เขียนทราบว่าตนเองมีความถนัดในการเขียนด้านใด

      2. กำหนดประเด็นแคบและชัดเจน ว่าต้องการนำเสนอเสนออะไร เพื่ออะไรเป็นหลัก บทความหนึ่งควรมีประเด็นหลักเพียงประเด็นเดียว

     3. การเรียงร้อยถ้อยคำ   ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สะท้อนระบบการคิด การเรียงร้อยถ้อยคำควรเป็นประโยคที่สั้นแต่รู้เรื่อง  วรรคตอนต้องถูกต้องจะได้ไม่เสียความหมาย ทำให้อ่านสบายตา ย่อหน้าแต่ละครั้งเมื่อเปลี่ยนประเด็นจะทำให้ผู้อ่านจับประเด็นได้ว่านำเสนออะไร

     4. การใช้ภาษา   ควรเลือกให้เหมาะสมกับเนื้อเรื่องและกลุ่มเป้าหมาย   ใช้ภาษาง่ายๆ   จะทำให้ผู้อ่านคล้อยตาม   ที่สำคัญไม่ควรใช้คำซ้ำซาก

     5. วางโครงเรื่องชัดเจน   เริ่มจากสภาพปัญหาไปสู่แนวทางการแก้ปัญหาและทิ้งท้ายด้วยข้อเสนอแนะ การวางโครงจะทำให้บทความไม่ออกนอกประเด็น

     6. เทคนิคการนำเสนอ   ต้องเขียนเริ่มจากจุดเล็ก ให้เชื่อมโยงกับจุดใหญ่ โดยจับอารมณ์ของสังคม เหตุการณ์ที่สังคมสนใจ   เพื่อบทความจะได้รับการตีพิมพ์ เพราะบทความหากไม่ได้ตีพิมพ์ ก็เปรียบเสมือนจ่าหน้าซองจดหมายไม่ละเอียด  ทำให้ข่าวสารไม่ถึงมือผู้รับ

     7. ใช้รูปแบบการนำเสนอให้ถูกต้อง   โดยเริ่มที่บทนำ(Title)   เนื้อหาของเรื่อง(Body)   และบทสรุป (Conclusion)   การตั้งชื่อเรื่องมีความสำคัญที่สุด ที่จะดึงดูดความสนใจของผู้อ่าน    เพราะคนอ่านจะต้องดูชื่อเรื่องก่อนเสมอ  ถ้าชื่อเรื่องสะดุดตาก็จะติดตามเข้าไปอ่าน                        

     8. การเสนอความคิดเห็นในบทความ     ต้องนำเสนอข้อคิดที่มีมุมมองหลากหลายและมีข้อเสนอแนะที่เป็นเหตุเป็นผล

 สลัดความกลัวให้เป็นความกล้าก่อนจะมาเขียนบทความ

        เส้นทางสู่นักเขียนบทความนั้น ต้องเริ่มต้นที่ความคิด การฝึกคิดให้คมชัด จะส่งผลให้การเขียนคมชัด สิ่งที่นักเขียนต้องฝึกคิด คือ การคิดเชิงวิเคราะห์ การคิดเชิงวิพากษ์ การคิดเชิงประยุกต์ การเขียนเป็นงานศิลปะที่คนเขียนไม่ใช่ศิลปินก็ทำได้ การเขียนที่ได้รับการฝึกฝน จะทำให้ความคิดเฉียบคมมากขึ้น ที่สำคัญต้องอ่านงานเขียนของคนอื่น ศึกษาเทคนิคการนำเสนอ ศิลปะการใช้ภาษา อรรถรสในการเขียน เพื่อนำไปปรับใช้ในงานเขียนของตน บทความมีคนอ่านหรือไม่ผู้เขียนต้องทราบกลุ่มเป้าหมาย ต้องเขียนเพื่อผู้อ่านไม่ใช่ตนเอง การเขียนเรื่องใดเป็นที่ถูกใจผู้อ่าน ก็เปรียบเสมือนเราได้แสดงความเคารพในตัวผู้อ่าน ต้องมีความเชื่อว่าบทความของเราต้องมีคนอ่าน

 ขั้นตอนการเขียนบทความ

       เกรียงศักดิ์  เจริญวงศ์ศักดิ์ ได้เสนอแนะแนวทางการเขียนบทความเพื่อให้ประสบความสำเร็จนั้นจะต้อง กำหนดขั้นตอนในการเขียนดังนี้

        1. ขั้นเตรียมความพร้อม    ก่อนลงมือเขียนบทความต้องดำเนินการสิ่งต่อไปนี้

            1.1 การเลือกหัวเรื่อง   ต้องเลือกเรื่องที่ผู้เขียนมีความรู้และเข้าใจ  มีความเหมาะสมกับผู้อ่าน  มีข้อมูลสนับสนุนเพียงพอ  เป็นเรื่องใหม่ที่มีจุดมุ่งหมายชัดเจน

            1.2 การวางโครงเรื่อง  ผู้เขียนต้องวางโครงเรื่องให้เสร็จก่อนลงมือเขียน  เพราะโครงเรื่องจะช่วยให้ร้อยเรียงแต่ละย่อหน้าเป็นเหตุเป็นผล ต่อเนื่องกันอย่างราบรื่น

       2. ขั้นลงมือเขียน    ผู้เขียนต้องนำโครงเรื่องมาร้อยเรียงให้กลมกลืน ตามแนวทางต่อไปนี้

           2.1 การเกริ่นนำ   ผู้เขียนต้องเขียนย่อหน้าแรกให้ประทับใจผู้อ่านเสมอ   เพราะการเขียนบทนำมีจุดมุ่งหมาย  2 ประการ คือ ดึงดูดความสนใจของผู้อ่านและทำให้ผู้อ่านทราบจุดประสงค์ของการเขียน รูปแบบการเกริ่นนำที่ได้ผล ได้แก่ การใช้คำคม การพาดหัว การเล่าเรื่องและการตั้งคำถาม

           2.2 การลงมือเขียน  การเขียนประโยคควรเขียนสั้น ๆ ใช้คำเชื่อมควรถูกต้องและเหมาะสม เลือกใช้คำให้เหมาะแก่กาลเทศะ ที่เป็นคำระดับเดียวกันกับกลุ่มเป้าหมาย หลีกเลี่ยงคำที่ให้ความรู้สึกไม่ดีต่อผู้อื่น

        3. การเขียนสรุป  บทความที่เขียนมาทั้งหมดจะประสบความสำเร็จหรือไม่อยู่ที่บทสรุป ผู้เขียนบทสรุปให้จับใจ ข้อเสนอแนะที่งดงามจะทำให้ผู้อ่านประทับ ผู้เขียนมีแนวทางสรุปแบบให้คิดเป็นคำถาม แบบขอความเห็นใจหรือการท้าทายให้มีการคิดหรือดำเนินการต่อไป

       4. ขั้นขัดเกลาบทความ  งานเขียนที่ไม่ได้ขัดเกลา ก็เหมือนเฟอร์นิเจอร์ ที่ไม่ได้ขัดกระดาษทราย จึงต้องทบทวนข้อเขียนว่าสมเหตุสมผล น่าเชื่อถือหรือไม่

        การเริ่มต้นที่ดี งานสำเร็จไปแล้วกว่าครึ่งหนึ่ง เมื่อคิดจะเขียนต้องลงมือฝึกฝนการเขียน อย่างตั้งใจ หัวใจของนักเขียน 3 ใจ ได้แก่ ใจกล้า ใจสู้ ใจรัก ยึดกฎแห่งความสำเร็จ คือ ลงมือทำเดียวนี้ การนำคมความคิดมาใช้ในงานเขียนจะทำให้ฉลาดมากขึ้น การเป็นคนช่างสังเกต รักการอ่าน เปิดใจกว้างอย่างมีวิสัยทัศน์ จะส่งผลให้เกิดความรอบคอบ การมีมารยาททางวิชาการที่ต้องอ้างอิงบุคคลที่เป็นต้นฉบับในการเขียน จะสร้างสายสัมพันธ์และเป็นการให้เกียรติสูงสุดของนักเขียน คำกล่าวที่ว่าบันทึกส่วนตัวของเรา อาจเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญ ในหลายสิบปีข้างหน้า ได้แต่หวังว่าบทความที่ท่านเขียนจะเป็นกระจกบานใหญ่ให้คนได้ศึกษาต่อไปอย่างไม่มีวันจบสิ้น

 

เอกสารอ้างอิง

 เกรียงศักดิ์  เจริญวงศ์ศักดิ์ . เขียนบทความอย่างไรให้น่าอ่าน .พิมพ์ครั้งที่ 3
            กรุงเทพฯ : ซัคเซสมีเดีย, 2547

นิธิ  เอียวศรีวงศ์ และคณะ. เทคนิคการเขียนบทความให้ประสบความสำเร็จ .
           พิมพ์ครั้งที่ 3 ขอนแก่น: สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2534

 

หมายเลขบันทึก: 331023เขียนเมื่อ 25 มกราคม 2010 21:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 01:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ขอบคุณ คุณครูประเทือง ยินดีมากครับที่นำบทความของผมมาให้นักเรียนได้ศึกษาครับ คงเป็นประโยชน์สำหรับคนเริ่มเขียน

นักเขียนอย่ากลัวตะกร้า ต้องกล้าเขียน เมื่อใดเรื่องแรกได้ตีพิมพ์เมื่อนั้นคือความสำเร็จได้เริ่มเดินเข้ามาหาเรา

บทความนี้ผมส่งไปที่วาสารวิชาการ ของ สพฐ.ครับ แต่ยังรอลุ้นอยู่จะได้ตีพิมพ์หรือไม่

แต่ที่ผ่านมาได้รับการตีพิมพ์ เรื่องล่าสุด เรื่องการพัฒนาสถานศึกษาให้เป็นองค์กรเปี่ยมสุข

สวัสดีค่คุณครู

ดิฉันจะสอบกพ.เป็นครั้งที่สองแล้ครั้งแรกยอมรับว่าไม่ได้เตรียมตัวเลเหลวไหลมาก ครั้งนี้จะพยายามให้ถึงที่สุดยังไงก็ต้องขอขอบคุณคุณที่ช่วยเพิ่มความรู้ให้ค่ะ

นาย อภิรักษ์ พันธ์ชัย

ผมเป็นเด็กฝึกงานศิลปะ ม.5 แล้ว ได้มีโอกาสไปร่วมงาน ที่กรุงเทพ

อาจารย์ประเทืองค๊ะคือว่าหนูเรียนคณะศึกษาศาสตร์เอกศิลปะอะคะหนูอยากทราบว่าวิธีเขียนแผนการสอนเขียนยังไงค๊ะ

เรียนคณะศึกษาศาสตร์น่าจะมีการสอนให้นิสิตเขียนแผนการสอนได้ก่อนออกฝึกสอนนะคะ แต่ถ้าสนใจจริง ๆ มีคู่มือการเขียนแผนการจัดการเรียนรู้ (แผนการสอน) จากสำนักพิมพ์ต่าง ๆ มากมายลองซื้อหามาอ่านดูก็ได้ค่ะ แต่ก่อนอื่นต้องศึกษาหลักสูตรให้กระจ่างก่อน แล้วจึงค่อยลงมือเขียน ขอให้โชคดีค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท