โครงการสุขภาพดี ชีวีมีสุข


สุขภาพดีเริ่มจากตัวเรา

 โครงการสุขภาพดี ชีวีมีสุข  ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2552  ณ โรงพยาบาลทันตกรรม มหาวิทยาลัยนเรศวร

      บุคคลมีความสมบูรณ์ทั้งทางร่างกาย จิตใจ สังคม และปัญญาแล้วบุคคลนั้นสามารถทำหน้าที่ได้ดีขึ้นเรื่อยๆ ตามศักยภาพ และทิศทางที่จะคงความผาสุขแก่ชีวิตของตัวเองไว้ ซึ่งไม่ใช่แต่เพียงปราศจากจากความเจ็บป่วยเท่านั้น ยังรวมถึงคุณภาพชีวิตของเขาด้วย ทั้งนี้ในฐานะที่ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นหน่วยงานหนึ่งในการให้การศึกษาทางด้านวิชาการ การฝึกปฏิบัติงานของนิสิตทันตแพทย์ และให้บริการทางทันตกรรมให้แก่ประชาชนโดยทั่วไป คณะฯได้ตระหนักถึงความสำคัญของการส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวมที่จะมีผลต่อการดำเนินชีวิตอย่างเป็นสุข จึงได้มีการจัดโครงการ “สุขภาพดี ชีวีมีสุข” ขึ้น โดยดำเนินการจัดเป็นสัปดาห์แห่งการส่งเสริมสุขภาพ เพื่อเผยแพร่แนวคิดเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวม ส่งเสริมให้อาจารย์ บุคลากร และนิสิตมีการนำแนวคิดสุขภาพแบบองค์รวมไปประยุกต์ใช้โดยเริ่มจากตนเอง และขยายวงกว้างไปสู่บุคคลใกล้ชิดและชุมชน นอกจากนั้นอาจารย์ บุคลากร และนิสิตยังได้มีส่วนร่วมในจัดแสดงผลงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมสุขภาพอีกด้วย  ทั้งนี้จะเผยแพร่เอกสารเกี่ยวกับสุขภาพในกระเป๋าสะสมสุข โดยกระเป๋าจะมีเอกสารดังนี้

  1. แผ่นพับการสร้างเสริมสุขภาพ เช่น แผ่นพับโรคเบาหวานกับโรคปริทันต์อักเสบ แผ่นพับ โครงการแปรงฟันถูกวิธี ชีวีมีสุข คู่มือนักเรียน โครงการฟ. ฟันสวย ยิ้มใส ควันบุหรี่มือสอง

  2. คู่มือบันทึกสุขภาพดี สำหรับท่านชาย และหญิง หากท่านใดมีการบันทึกคู่มืออย่างต่อเนื่องจะได้รับรางวัลบุคคลดูแลสุขภาพต่อเนื่อง ซึ่งจะประกาศผล ในวันแข่งขัน กีฬาฟ.ฟันเกมส์ ในวันที่ 14 มกราคม 2552

  3. สติ๊กเกอร์ของเครือข่ายองค์กรงดเหล้า

  4. กิ๊ฟเซตจากผลิตภัณฑ์คอลเกต

   

       บรรยากาศโครงการสุขภาพดี ชีวีมีสุข ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2552 ณ โรงพยาบาลทันตกรรม คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยมีกำหนดการดังนี้

                               

                         08.00 - 08.30 นาฬิกา         ลงทะเบียน

                                 

08.30 - 08.45 นาฬิกา         พิธีเปิดโดยผู้อำนวยการโรงพยาบาลทันตกรรม

                                  

08.45 – 09.00 นาฬิกา        เปิดตัวโครงการโรงเรียนทันตแพทย์สร้างสุข

                                  

 

09.00 - 09.15 นาฬิกา         Talk Show ต้านไข้หวัดใหญ่ 2009

                  

09.15 – 10.45 นาฬิกา         การแสดงชุดที่ 1 และ เกมส์สร้างเสริมสุขภาพ     

                                

 

10.45 – 11.00 นาฬิกา         การนำเสนอผลงานสร้างเสริมสุขภาพ จำนวน 9 บูท

            (บรรยากาศผลงานสร้างเสริมสุขภาพจะนำมาให้ดูกันอีกทีนะคะ)

11.00 – 12.00 นาฬิกา         การสาธิตทำเจลล้างมือ

12.00 – 12.30 นาฬิกา         รับประทานอาหารกลางวัน

12.30 – 13.00 นาฬิกา         การนำเสนอผลงานสร้างเสริมสุขภาพ จำนวน 8 บูท

13.00 – 14.00 นาฬิกา         การแสดงชุดที่ 2

14.00 – 15.00 นาฬิกา         ประกาศผลการประกวดบูทการสร้างเสริมสุขภาพ

                                      และพิธีปิด 

         สิ่งที่ผู้รับผิดชอบโครงการได้เรียนรู้และมีความประทับใจ คือ ทุกคนในคณะฯ ได้มีส่วนร่วมในการจัดแสดงผลงาน เมื่อผู้ที่ได้รับมอบหมายให้จัดแสดงผลงานการสร้างเสริมสุขภาพแล้ว ทุกคนยังได้เข้าร่วมประชุมระดมสมองทำให้เกิดผลงานด้านการสร้างเสริมสุขภาพ ที่ตนเองได้ทำจริงในชีวิตประจำ และสนใจมานำเสนอในแต่ละบูท ซึ่งนอกจากการเรียนรู้ด้านการทำงานร่วมกับผู้อื่นแล้ว ผู้รับผิดชอบโครงการยังพบว่า บุคลากรมีความสามัคคีกันและมีความคิดสร้างสรรค์ในการจัดกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพ และเชื่อมั่นว่าผู้จัดกิจกรรมและผู้เข้าร่วมกิจกรรมยังได้รู้ถึงการสร้างเสริมสุขภาพองค์รวมอีกด้วย

       หลังจากที่ได้ระดมสมองแล้วได้ผลงานการสร้างเสริมสุขภาพ คือ  1.Funny vii station 2. หน้ากากอนามัย 3. Dance For Health 4. เคล็ดลับสร้างสุข กับบุคลิกภาพ 5. ยำใส่ใจ 6. นวดเพื่อสุขภาพ 7.รวมผลงานโครงการขนาดเล็ก 8.เฮฮาคาราโอเกะ 9.ต้นไม้แสนรัก 10.สะบัดสีคลายเครียด11.สลัดรัก สลัดเพื่อสุขภาพ 12.น้ำสมุนไพรเพื่อสุขภาพ 13. Dent ชวน Dance 14. เกมวัดดวงสุขภาพ 15.เทียนหอมแฟนซี 16.น้ำมันหอมระเหย 17. Sport and Spirit BB Gun 18. ไอศกรีมสมุนไพร ซึ่งจะกล่าวถึงรายละเอียดในโอกาสต่อไป 

                               

หมายเลขบันทึก: 330871เขียนเมื่อ 25 มกราคม 2010 11:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

เรื่องเล่าที่ได้จากการจัดแสดงผลงาน “ผ้าปิดจมูกทำเองได้ ป้องกันไข้หวัดใหญ่ 2009” กิจกรรมนี้เริ่มจากที่คณะทันตแพทยศาสตร์ของเราได้มีโครงการ “สุขภาพดี ชีวีมีสุข” ร่วมกับโครงการรณรงค์เกี่ยงกับไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ จึงได้มีการมอบหมายให้แต่ละหน่วยงาน แต่ละภาควิชาร่วมกันจัดซุ้มกิจกรรมเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพ ในแต่ละซุ้มก็ได้คิดกิจกรรมที่หลากหลายและมีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง อาทิเช่น น้ำดื่มสมุนไพร เทียนหอม เกมวัดดวงเกี่ยวกับสุขภาพ เกมเต้น เกม Wii ยำผลไม้ ทำเจลล้างมือ เป็นต้น ในซุ้มของภาควิชาทันตกรรมบูรณะของเราจึงได้คิดกิจกรรมที่ผ่อนคลาย แนวสบายๆ ก็คือการทำหน้ากากอนายมัยจากผ้านั่นเอง ซึ่งวิธีการทำก็แสนจะง่าย และที่สำคัญเป็นการฝึกความพยายามและความอดทนของผู้ทำได้เป็นอย่างดีทีเดียว และกิจกรรมของเราแฝงไปด้วยการรณรงค์ลดโลกร้อนไปในตัว เนื่องจากใช้ผ้าทำ สามารถนำกลับไปซักแล้วใช้ใหม่ได้ อีกทั้งซุ้มของภาควิชาฯ ยังได้จัดทำป้ายผ้าให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการใส่หน้ากากอนามัยอย่างถูกต้อง สำหรับผู้เข้าร่วมงานที่เดินผ่านไปมาได้อ่านเก็บเอาความรู้กลับบ้านได้ด้วย จากกิจกรรมที่ได้จัดขึ้น อย่างแรกที่ได้คือตั้งแต่เริ่มจัดเตรียมงานก็ได้รับความร่วมมือจากอาจารย์ในภาควิชาฯ หลายๆท่าน ตั้งแต่ไปช่วยกันเลือกซื้อผ้า ช่วยกันตัดผ้าเตรียมเอาไว้สำหรับเย็บผ้าปิดจมูกซึ่งจะจัดเอาไว้เป็นชุดๆ และในตอนจัดทำซุ้มก็ได้นิสิตและเจ้าหน้าที่ช่วยจัดเตรียมสถานที่ พอมาถึงวันงานทุกคนก็มาช่วยกันเฝ้าซุ้ม ผลัดเปลี่ยนกันไปเล่นเกม หรือเดินดูซุ้มอื่นๆ บ้าง กลับมาซุ้มของภาควิชาฯ ก็จะมีอาหารติดไม้ติดมือมาหลากหลาย พอถึงตอนเลิกงาน อาจารย์หลายท่านต้องไปสอนนิสิต ก็ได้อาจารย์ท่านที่อยู่ในงานช่วยดูแลและเก็บของบริเวณซุ้มให้ การที่เกิดกิจกรรมนี้ขึ้นมาจนสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ก็เป็นเพราะการมีส่วนร่วมของสมาชิกในภาควิชาฯ การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ความทุ่มเท ร่วมแรงร่วมใจกัน ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงความสามัคคีในหมู่คณะ ส่วนในตัวของกิจกรรมที่ได้ทำ ก็ทำให้ได้ประสบการณ์และความประทับใจที่ดีอยู่มากมายเหมือนกัน อย่างแรกเลยคือการเย็บผ้าปิดจมูก ซึ่งจะต้องใช้ความสามารถในด้านงานฝีมือเล็กน้อย ดังนั้นผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมจะต้องมีความตั้งใจ มีมานะอดทนเป็นอย่างสูง เพราะต้องใช้มือเย็บผ้าเป็นเวลาที่ค่อนข้างนาน และถ้าไม่มีสมาธิก็จะเย็บผิดแนว ไม่ถูกต้องบ้าง ก็ต้องเย็บใหม่ กิจกรรมนี้จึงเป็นกิจกรรมที่ฝึกสมาธิและทักษะได้เป็นอย่างดี อีกทั้งต้องมีจิตใจแน่วแน่ที่จะทำจนสำเร็จให้ได้ มีนิสิตหลายคนก็เข้ามาเย็บได้คนละชิ้นสองชิ้น ส่วนอาจารย์ก็มีหลายๆ ท่านเลยทีเดียวที่ให้ความสนใจเข้ามาร่วมในกิจกรรมนี้ ทำให้จุดประกายการทำงานด้านฝีมือให้กับหลายๆคนเลยดีเดียว เพียงกิจกรรมเล็กๆที่มีคนสนใจและชื่นชอบเข้าร่วมกิจกรรม และมีความตั้งใจ ก็ทำให้ผู้จัดกิจกรรมมีความปลาบปลื้มเป็นอย่างยิ่งแล้ว ยิ่งได้เห็นรอยยิ้มและหน้าตาเอาจริงเอาจังของผู้เย็บผ้าปิดจมูกแล้ว ยิ่งทำให้คนจัดกิจกรรมอิ่มเอมใจมาก นอกจากการอยู่ที่ซุ้มกิจกรรมของภาควิชาฯแล้ว การที่ได้ไปร่วมกิจกรรมในซุ้มอื่นๆ เป็นที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ได้เล่นเกมออกกำลังกายให้ความสนุกสนานเพลิดเพลิน ได้ไปซุ้มทำเทียนหอม มีหลายๆซุ้มที่ให้ความอิ่มอย่างมีสุขภาพดี เช่น สลัดเพื่อสุขภาพ น้ำสมุนไพร ได้ความรู้เพิ่มเติมมากมายจากวิทยากรพิเศษเกี่ยวกับไข้หวัดใหญ่ 2009 อีกทั้งยังได้วิธีทำเจลล้างมือด้วยตัวเองอีกด้วย ปัญหาและอุปสรรคที่พบจากการจัดซุ้มและดำเนินกิจกรรม คือปัญหาในการจัดตำแหน่งของซุ้ม ซึ่งแสงสว่างไม่ค่อยเพียงพอ เนื่องจากเป็นงานเย็บผ้า จำเป็นต้องใช้แสงสว่างที่เหมาะสมจึงจะไม่ปวดตา                   

*****************************************************************

ผู้จัดทำขออธิบายขั้นตอนการทำผ้าปิดจมูกดังนี้

  ผ้าปิดจมูกมีขนาดกว้าง 9 ซม. ยาว 17 ซม. ดังรูป

สายผ้าสำหรับผูกยาวประมาณ 80-90 ซม. (ขึ้นอยู่กับขนาดของศีรษะของแต่ละคน)

 ใช้ผ้าขาวบาง ลักษณะนุ่ม สำหรับเป็นผ้าปิดจมูกด้านใน (ด้านที่ติดกับจมูก)

ใช้ผ้าคอตตอน หรือผ้าที่มีความหนาไม่มากจนเกินไป สำหรับเป็นผ้าปิดจมูกด้านนอก (เลือกใช้ภาพลวดลายต่างๆ ตามชอบ)

ส่วนสายผ้าใช้ผ้ากุ๊นสำเร็จรูป ซึ่งจะทำได้ง่ายและรวดเร็วกว่า หรือจะใช้ผ้าชนิดเดียวกับผ้าปิดจมูกด้านนอกก็ได้ โดยตัดให้มีขนาดกว้าง 3 ซม. ยาวประมาณ 80-90 ซม.

ตัดผ้าขาว และผ้าคอตตอน อย่างละ 1 ชิ้น กว้างประมาณ 16 ซม. (ให้เหลือขอบสำหรับเย็บด้านละ 0.5 ซม.) ยาว 17 ซม. ตามรูป

     

กลับผ้าด้านที่มีลายเข้าด้านใน แล้วเย็บตามแนวยาวของผ้าให้มีขนาดกว้าง 15 ซม.       

                                                                  

จากนั้นกลับด้านผ้าที่มีลายออกมาแนวความกว้างของผ้า) กว้าง 3 ซม. และด้านข้างๆ อีก 1.5 ซม.

 

พับผ้าตามแนวที่วัดไว้

  

 

 

เย็บผ้ากุ๊นติดบริเวณขอบ

สรุปบทเรียน โครงการสุขภาพดี ชีวีมีสุข

การจัดแสดงผลงาน เทียนหอมแฟนซี

 

            จากการที่โครงการสุขภาพดี ชีวีมีสุข ได้มีการแบ่งกลุ่มเพื่อให้คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนิสิต ได้ร่วมกันนำเสนอผลงานเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพนั้น สมาชิกในกลุ่มก็เริ่มระดมความคิดว่าจะจัดกิจกรรมอะไรดีที่เกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพ เพราะกิจกรรมที่เกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพสามารถทำได้หลากหลายทั้งในด้านสุขภาพกาย สุขภาพใจ สิ่งแวดล้อม นั้น หลังจากที่มีการประชุมกลุ่มสมาชิกก็เสนอกิจกรรมที่ตนเองอยากจะทำ เช่น การทำอาหารส่งเสริมสุขภาพ การทำขนมไทย การทำปูนปลาสเตอร์ และการทำเทียนหอม ซึ่งแต่ละกิจกรรมสมาชิกในกลุ่มก็ยังไม่เคยลงมือปฏิบัติจริง แต่ทุกคนก็ลงความเห็นว่าอยากทำ “เทียนหอม” เพราะคิดว่าการทำเทียนหอมจะช่วยส่งเสริมสุขภาพใจ ช่วยในการคลายความเครียดได้ เพราะใช้วิธีการบำบัดหรือรักษาด้วยการใช้กลิ่น หรือ Aromatherapy  

            เมื่อได้ลงมติกันเรียบร้อยแล้ว..กิจกรรมส่งเสริมสุขภาพของเราก็เริ่มต้นขึ้น ทุกคนเริ่มจากศูนย์เพราะไม่มีข้อมูลทางด้านนี้มาก่อนเลย แต่เราก็พยายามค้นคว้าหาข้อมูลเพื่อหาวิธีการทำเทียนหอม ทั้งจากทางอินเตอร์เน็ต เวบไซด์ต่าง และจากเพื่อนร่วมงาน ซึ่งก็ได้ข้อมูลมากพอสมควร ขั้นตอนต่อไปเป็นขั้นตอนของการทดลอง ดูเหมือนว่ากิจกรรมของเราเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาบ้างแล้ว  วันจัดแสดงผลงานสมาชิกทุกคนเต็มที่กับการนำเสนอผลงาน เพราะหวังว่าผู้ร่วมงานจะได้รับสิ่งดีๆ ไม่มากก็น้อยกลับไปบ้าง ทั้งจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการทำเทียนรูปแบบต่างๆ ในแบบฉบับที่ไม่เหมือนใคร และการให้ความรู้เกี่ยวกับ Aromatherapy ศาสตร์แห่งการบำบัดด้วยการใช้กลิ่น ที่มีการใช้มานานซึ่งประมาณการว่าไม่น้อยกว่า 6,000 ปี

            จากการจัดกิจกรรมพบว่าผู้เข้าร่วมงานให้ความสนใจในการเข้าร่วมกิจกรรมเป็นอย่างดี ทั้งคณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนิสิต ซึ่งลักษณะกิจกรรมเป็นการสาธิตให้ผู้เข้าร่วมงานได้เห็นวิธีการทำเทียนหอม มีการให้ความรู้เกี่ยวกับการบำบัดด้วยการใช้กลิ่น และให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ลงมือปฏิบัติจริงในการทำเทียนหอมที่มีรูปแบบเป็นของตนเอง ผู้จัดกิจกรรมสังเกตเห็นว่าผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมนั้นมีความอดทนในการเข้าร่วมกิจกรรมอย่างมาก ทั้งนี้เพราะวิธีการทำค่อนข้างยุ่งยาก มีส่วนผสมหลายชนิด และจำเป็นต้องใช้เวลาในการทำค่อนข้างนาน รวมทั้งพื้นที่ในการจัดกิจกรรมค่อนข้างจำกัด แต่ผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมก็มีความภาคภูมิใจในผลงานของตนเอง ผู้จัดกิจกรรมยังสังเกตเห็นอีกว่าผู้เข้าร่วมกิจกรรมนั้นได้สอบถามเกี่ยวกับกลิ่นของน้ำมันหอมชนิดต่างๆ ว่าสามารถช่วยบำบัดอะไรได้บ้าง เพื่อที่จะได้ไปหาซื้อกลิ่นนั้นๆ ตามที่ตนเองชอบ และนำกลับไปทำอีกครั้ง เนื่องจากน้ำมันหอมที่ผู้จัดกิจกรรมได้เตรียมมานั้นมีเพียง 4-5 กลิ่น เพื่อให้เห็นเป็นตัวอย่างในการทำเทียนหอมเท่านั้น จะเห็นได้ว่าผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้มีความใส่ใจในสุขภาพของตนเองเป็นอย่างดี เพื่อหากลิ่นน้ำมันหอมที่สามารถบำบัดรักษาสุขภาพกายและสุขภาพจิตของตนเอง

            สิ่งที่ผู้จัดกิจกรรมได้รับจากโครงการนี้คือ ความสามัคคีของสมาชิกในกลุ่ม เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการทำกิจกรรม และการมีส่วนร่วมของทุกๆคนทั้งในด้านการร่วมกันคิด ร่วมกันวางแผน ร่วมกันดำเนินงาน ร่วมกันแก้ไขปัญหาต่างๆ ซึ่งอาจติดขัดบางประการแต่เราก็ร่วมกันทำกิจกรรมให้สำเร็จลุล่วงผ่านไปได้ด้วยดี โครงการนี้ยังทำให้ผู้จัดกิจกรรมได้คิดว่า นอกจากการทำเทียนหอมดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้ว การมีสุขภาพที่ดีไม่ใช่เพียงการมีสุขภาพด้านร่างกายเท่านั้น แต่ยังต้องส่งเสริมสุขภาพจิตใจอีกด้วย ผู้ที่มีสุขภาพจิตที่ดี จะมีความสามารถในการปรับตัวต่อสังคมได้อย่างเหมาะสม มีความมั่นคงทางจิตใจ มีสมรรถภาพในการทำงาน มีสัมพันธภาพที่ดีกับบุคคลอื่น และสามารถทำประโยชน์ให้แก่ตนเองและสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

สรุปบทเรียน “เกมวัดดวงสุขภาพ”

ทำไมถึงเป็นเกมวัดดวงสุขภาพ ?  ภายใต้แนวคิด  สุขภาพดีชีวีมีสุข   ในความคิดของผู้จัดกิจกรรมเอง การจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมสุขภาพ ถ้าจัดในรูปแบบของบอร์ดให้ความรู้ หรือการประชาสัมพันธ์ในรูปแบบเอกสารเพียงอย่างเดียวจะไม่สามารถดึงดูดหรือ เรียก ความสนใจผู้เข้าร่วมโครงการได้มากนัก  เราจึงหาวิธีที่จะทำให้ผู้เข้าร่วมโครงการ ซึ่งมีทั้ง อาจารย์ นิสิต และเจ้าหน้าที่ สนใจของเข้ามาร่วมกิจกรรมกับเรา  กิจกรรมสันทนาการในรูปแบบของเกม เป็นกิจกรรมที่สนุกสนาน น่าจะดึงดูด ความสนใจผู้เข้าร่วมโครงการได้เป็นอย่างดี  พวกเราจึงคิด เกมง่ายๆ (อาศัยดวง) และใช้ความรู้ทางด้านการส่งเสริมสุขภาพกายและจิตที่เราต้องการจะสื่อ  มาเป็นกติกา เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้ความสนุกสนาน ได้รับของรางวัล และได้ความรู้ไปพร้อมๆกัน

โดยมี  รูปแบบของกิจกรรม แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ

ส่วนที่1   คือ ส่วนที่เป็นบอร์ดให้ความรู้ทางด้านการส่งเสริมสุขภาพกาย และสุขภาพจิต ซึ่งประกอบด้วยเกร็ดความรู้ที่น่าสนใจต่างๆ อาทิเช่น การคำนวณค่าดัชนีมวลการ(BMI) การหัวเราะบำบัด  โภชนบัญญัติ 9 ประการ  และ สุขภาพใจทำนายสุขภาพกาย เป็นต้น

                ส่วนที่ 2 คือ กิจกรรมสันทนาการในรูปแบบของเกมที่มุ่งส่งเสริมสุขภาพกายและจิต ซึ่งประกอบด้วย

-  เกมส่งเสริมสุขภาพกาย  ได้แก่  เกมวัดดวง BMI  และ เกมล้างมือต้านหวัด 2009   ซึ่งผลที่คาดว่าจะได้รับจากเกมวัดดวง BMI ก็คือ ผู้ที่มาเล่นเกมได้ทราบค่าดัชนีมวลกายของตนเอง ว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ  อ้วนหรือผอมไปหรือไม่  ส่วนเกมล้างมือต้านหวัด 2009 ผู้ที่มาเล่นเกมจะ สามารถล้างมือได้ถูกวิธีตามคำแนะของกระทรวงสาธารณสุข  นอกจากนี้เรายังมีพิธีกรที่คอยแนะนำเกร็ดความรู้เล็กๆน้อยๆในการดูแลสุขภาพ และตอบข้อซักถามให้แก่ผู้เล่นเกมที่สนใจ 

- เกมส่งเสริมสุขภาพจิต ได้แก่  เกมตาชั่งควบคุมอารมณ์  และเกมปาเป้า ซึ่งในเกมนี้เราจะแทรกความรู้ด้านการส่งเสริมสุขภาพจิต เช่น วิธีขจัดความเครียด  รวมทั้งได้ฝึกสมาธิ  และความสามัคคีในทีมของผู้เล่นเกมอีกด้วย

ผลการดำเนินกิจกรรมในครั้งนี้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ผู้จัดกิจกรรมตั้งไว้ แบบเกินความคาดหมาย ซึ่งก่อนจัดกิจกรรมผู้จัดกิจกรรมเองยอมรับว่า มีความกังวลหลายเรื่อง เช่น จำนวนผู้เข้าร่วมโครงการ  ความน่าสนใจของกิจกรรม  รวมทั้ง ความไม่มีประสบการณ์ในการเป็น Entertainer ของพวกเราเอง อาจทำให้งานไม่น่าสนใจ หรืองานกร่อย ก็เป็นได้   แต่เมื่อกิจกรรมดำเนินไปเสร็จสิ้น กิจกรรมเล็กๆของเราในวันนี้ประสบความสำเร็จเกินความคาดหมาย  มีผู้เข้าร่วมโครงการจำนวนมาก เข้ามาร่วมทำกิจกรรม เล่นเกมและสนุกสนานไปกับพวกเรา  ทำให้ของรางวัลที่เราเตรียมไว้หมดก่อนกำหนดต้องไปหาซื้อของรางวัลเพิ่มเติมเพื่อให้กิจกรรมดำเนินต่อไปได้ตลอดทั้งวัน  รวมทั้งปัญหาและอุปสรรคเล็กๆน้อยๆที่เกิดขึ้นในระหว่างการจัดกิจกรรมพวกเราเองก็สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้กิจกรรมดำเนินต่อไปได้ด้วยดี  และปิดท้ายด้วยรางวัล  “ บูธส่งเสริมสุขสุขภาพดีเด่น”  เป็นรางวัลตอบแทนให้คนทำงานอย่างพวกเราได้หายเหนื่อย

ซึ่งภายหลังการจัดกิจกรรมในครั้งนี้สิ่งที่ผู้จัดกิจกรรมเองได้รับก็คือ  “ ความประทับใจ”  สิ่งแรก ก็คือ การที่คณะได้เปิดโอกาสให้พวกเราได้ทำกิจกรรมดีๆ ร่วมกัน ตลอดจนให้การสนับสนุนในด้านงบประมาณ และให้เวลาในการจัดกิจกรรมอย่างเหมาะสม  รวมทั้งได้เรียนรู้หลักในการทำงานร่วมกัน การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ได้เห็นความตั้งใจและความสามัคคีร่วมมือร่วมใจของคณะทำงาน แม้ว่าในการทำงานจะมีปัญหา อุปสรรค มีความคิดไม่ตรงกันกันบ้าง แต่ทุกคนก็มีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ ความสำเร็จของงาน  แม้ว่ากิจกรรมของพวกเราในวันนี้จะเป็นเพียงกิจกรรมเล็กๆ  แต่ก็สามารถทำให้ทุกๆ คน ทั้ง อาจารย์  นิสิต และเจ้าหน้าที่  ได้คลายเครียด  มีรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ  ได้สนุกสนาน ได้มีความสุข  ร่วมกัน

  

 

 

สรุปประสบการณ์และความประทับใจจากซุ้ม “หอมหวลชวนทาน” ซุ้ม “หอมหวนชวนทาน” เป็นความร่วมมือของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลทันตกรรม ซึ่งได้แก่เจ้าหน้าที่ธุรการ เคาน์เตอร์เวชระเบียน การเงิน พัสดุ และเภสัชกร รวม ๑๔ คน โดยภายในซุ้มมีการสอนวิธีการทำแซนวิซ และการประดิษฐ์การบูรหอม ซึ่งมีขึ้นตอนที่ง่ายและสามารถทำได้เองที่บ้านโดยใช้ต้นทุนการในการผลิตต่ำและให้ประโยชน์มากมาย โดยซุ้มของเราเน้นให้บุคลากรในคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และผู้ป่วยที่มารับบริการในโรงพยาบาลทันตกรรมได้มีส่วนร่วมในกิจกรรม ดังนี้ เริ่มจากการสอนทำแซนวิซ ซึ่งมีประโยชน์ต่อสุขภาพกายและการใช้เวลาให้เกิดประโชน์ซึ่งมีขึ้นตอนการทำที่ง่าย เหมาะสำหรับเป็นอาหารว่าง หรืออาหารเช้าในวันใหม่สำหรับคุณและคนที่คุณรัก โดยในกลุ่มได้จัดเตรียมส่วนประกอบของแซนวิซ อาทิ ขนมปัง ผักกอดหอม หอมหัวใหญ่ มะเขือเทศ ข้าวโพดหวาน เป็นต้น ซึ่งส่วนประกอบเหล่านี้ให้คุณประโยชน์มากมาย เช่น ผักกาดหอมมีสารเบต้าแคโรทีนสูง เป็นสาร Antioxidant ทำหน้าที่จับอนุมูลอิสระในร่างกายของเรา ทำให้สามารถต้านมะเร็งได้หลายชนิด การแพทย์แผนจีนแนะนำให้คุณแม่รับประทานผักกาดหอมมาก ๆ เพื่อเพิ่มน้ำนม นอกจากนี้ยังมีผักอีกชนิดหนึ่งที่เราอยากกล่าวถึงสรรพคุณ ได้แก่ หอมหัวใหญ่ซึ่งเป็นที่รวมตัวของสารอาหารสารพัดอย่าง ชนิดที่หาผักอื่นทาบรัศมีได้ยาก ทั้งแมกนีเซียม ฟอสฟอรัส เบตาแคโรทีน ฯลฯ มีสารอาหารอัดแน่นทุกอณูอย่างนี้นี่เอง หอมหัวใหญ่จึงเป็นผักที่รักษาโรคได้หลายโรค ไม่ว่าจะเป็นการป้องกันมะเร็งลำไส้ แก้หวัด คัดจมูก ลดไขมันในเส้นเลือด ป้องกันโรคหัวใจ เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ แก้ความดันโลหิตสูง และลดโคเลสเตอรอลในเลือด ดังนั้นต่อไปนี้ อย่าลืมเติมหอมหัวใหญ่ลงไปเป็นส่วนประกอบของอาหารทุกมื้อ แค่นี้คุณและครอบครัวก็แข็งแรงกันถ้วนหน้าแล้วล่ะ..... นอกจากร่างกายจะแข็งแรงแล้วไม่เพียงเท่านั้นยังส่งผลให้คุณมีความสุขเพิ่มมากขึ้นด้วย และอย่างที่สองเราได้สอนวิธีการประดิษฐ์การบูรหอม โดยการนำเอากระดาษสาหรือกระดาษที่ใช้แล้ว เช่น กระดาษห่อของขวัญ หรือกล่องกระดาษเก่านำมาปรับแต่งให้สวยงาม วิธีการง่าย ๆ คือนำกระดาษสามาตัดเป็นรูปต่าง ๆ เช่น สัตว์ ผลไม้ และนำใหมพรมหรือเส้นด้ายสีสดมาประดับตกแต่ง ซึ่งเราสามารถนำการบูรหอมที่ตกแต่งเสร็จแล้วนี้ไปใช้เป็นของชำร่วยในงานพิธีต่าง ๆ หรือนำไปแขวนไว้ในตู้เสื้อผ้าเพื่อไล่แมลงและกำจัดกลิ่นอับชื้น เป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ สร้างสมาธิได้เป็นอย่างดีและยังสามารถนำมาทำเป็นอาชีพเสริมสร้างรายได้อีกทางหนึ่งด้วย กิจกรรมนี้ทำให้เราได้รับประสบการณ์และความประทับใจ และได้เรียนรู้ ถึงคำว่า “ความสามัคคีเป็นพลังอันยิ่งใหญ่” ซึ่งใครจะไปรู้ว่าในวันหนึ่งข้างหน้าอาจจะมีนิสิต หรือบุคลากรท่านใดจะนำความรู้และประสบการณ์นี้ไปเปิดเป็นกิจการส่วนตัวด้านการสอนทำอาหารว่างเพื่อส่งเสริมสุขภาพ หรือธุรกิจส่งออกของที่ระลึกการบูรหอมที่เจริญเติมโตเป็นธุรกิจระดับประเทศต่อไป

 

 

เรียน ผู้เขียน

เขียนได้ดี ละเอียด ชัดเจนมากค่ะ ขอความกรุณาใส่ชื่อจริงของผู้เขียนทุกท่านด้วยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท