บันทึกการเรียนรู้เรื่องความเป็นมนุษย์จากนักศึกษา มช.


จากโครงการถอดบทเรียนเพื่อจัดทำหนังสือ

ถึงตอนนี้ได้งานเขียนออกมาเกือบจะสมบูรณ์แล้ว เอามา share ล่วงหน้าไว้ในนี้ครับ

แล้วค่อยรออ่านเล่มจริงกันต่อไป

หมายเลขบันทึก: 330012เขียนเมื่อ 22 มกราคม 2010 11:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 10:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (19)

มีบทความทั้งหมด 12 ชิ้น เขียนโดยนักศึกษาปี 5 (ซึ่งตอนนี้อยู่ปี 6) แล้ว 12 คน

มีอาจารย์คอยช่วยให้ความเห็นและขัดเกลาบทความ

ลองอ่านกันดูนะครับ

มีบทความทั้งหมด 12 ชิ้น เขียนโดยนักศึกษาปี 5 (ซึ่งตอนนี้อยู่ปี 6) แล้ว 12 คน

มีอาจารย์คอยช่วยให้ความเห็นและขัดเกลาบทความ

ลองอ่านกันดูนะครับ

วิธีแปรงฟันของแม่

โดย นภัสสร อิ่มเอิบ

มนุษย์แต่ละคนมีความแตกต่างกัน แม้จะเป็นฝาแฝดที่เหมือนกันมากก็ยังมีความแตกต่างกันอยู่ รูปแบบหรือการวางแผนการรักษาในแต่ละคนย่อมไม่เหมือนกัน แม้จะเป็นโรคเดียวกันหรือ อาการเดียวกันก็ตาม แต่การที่จะรู้ได้ว่าคนนี้ต้องรักษาอย่างไร คนนั้นเหมาะกับการรักษาแบบไหน คงต้องเริ่มจากรู้จักและเข้าใจตัวตนของเขา

แน่นอนว่าความสัมพันธ์ระหว่างคนไข้กับทันตแพทย์ที่มีโอกาสพบกันเพียงไม่กี่ครั้ง อาจจะไม่ได้ทำให้เรารู้จักตัวตนที่แท้จริงของเขาลึกซึ้งทุกด้าน แต่หากเปรียบเทียบกับชิ้นส่วนของจิ๊กซอว์ ที่บางชิ้นก็เป็นชิ้นสำคัญที่สามารถบอกได้เลยว่าภาพทั้งหมดคือภาพอะไร หรือทำให้เราสามารถหยิบชิ้นต่อ ๆ ไปมาต่อกันได้อย่างง่ายดาย เช่นเดียวกับการหาประเด็นที่เป็นจุดสำคัญในการเข้าถึงและเข้าใจคนไข้ ที่เรามักเรียกกันว่าการหา “Entry point” ของคนไข้ ก็คงเปรียบได้กับการหาให้พบชิ้นส่วนที่สำคัญมาเริ่มในการต่อจิ๊กซอว์นั่นเอง

ตอนแรกที่อาจารย์มอบหมายให้เขียนงาน คิดอยู่ว่าคงไม่รู้จะอธิบายเรื่องนี้อย่างไร แต่พอมาลงมือเขียนกลับพรรณนามาได้ขนาดนี้ ซึ่งความเข้าใจนี้คงต้องยกเครดิตให้กับ “น้องเบนท์” คนไข้ทันตกรรมป้องกันอายุแค่ 13 ขวบของข้าพเจ้า

ในครั้งแรกที่ได้พบน้องเบนท์ จำได้ว่าตัวเองรู้สึกไม่มั่นใจมาก ๆ เนื่องจากน้องดูต่างไปจากเด็กผู้ชายวัยเดียวกัน เบนท์เป็นเด็กเงียบ ๆ ดูขรึม ไม่พูดไม่ยิ้ม ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับเพื่อน ๆ ที่มาเป็นคนไข้ด้วยกันที่พูดคุย เล่นซน หยิบจับของต่าง ๆ ในห้องอยู่ตลอด แต่น้องเบนท์กลับนั่งนิ่ง ๆ จับกระเป๋านักเรียนตัวเองไว้ตลอดเวลา ถามอะไรก็ไม่ค่อยตอบ อีกทั้งข้าพเจ้าเอง เป็นคนที่ไม่ค่อยมีความมั่นใจในตัวเอง ชวนคุยไม่เก่ง ทำให้การทำความรู้จักกับคนแปลกหน้าจึงเป็นเรื่องยาก ประกอบกับยังไม่เคยได้ทำการรักษากับคนไข้เด็กวัยนี้มาก่อน ตอนจับฉลากเลือกคนไข้ยังแอบภาวนาในใจว่าขอให้อย่าได้เด็กคนนี้ ขอให้ได้เด็กที่พูดเก่ง ๆ เข้ากับบุคคลอื่นได้ไม่ยาก แต่สุดท้ายก็ได้น้องเบนท์มาเป็นคนไข้จนได้

เมื่อเริ่มพูดคุยซักประวัติทำความรู้จักเบื้องต้น เป็นไปตามคาดที่การสนทนาก็เป็นไปในลักษณะถามคำตอบคำ เบนท์ไม่พูดอะไรก่อนเลย ไม่อยากรู้อะไรเกี่ยวกับกิจกรรมนี้ แม้กระทั่งข้าพเจ้าพยายามทำความรู้จักด้วยการชักชวนให้น้องถามอะไรก็ได้ที่เกี่ยวกับตัวข้าพเจ้า น้องก็ไม่อยากรู้อะไรเกี่ยวกับตัวข้าพเจ้า!!!

นอกจากนี้ยังบอกว่าที่มาเข้าร่วมกิจกรรมนี้เพราะครูประจำชั้นเลือกมาและเป็นคนที่มีฟันที่ผุและฟันที่เคยอุดน้อยที่สุดในบรรดาเพื่อน ๆ 9 คนที่มาด้วยกัน รู้แบบนี้ทำให้สิ่งที่ข้าพเจ้าได้เตรียมตัวมา รวมถึงคำถามต่าง ๆ ที่คิดไว้เพื่อมาทำความรู้จักกับน้องไม่เป็นไปตามเป้าหมาย จนไม่รู้จะคุยอะไรและไม่รู้จะทำอย่างไรต่อไป แต่สุดท้ายก็พยายามแก้ไขสถานการณ์ด้วยการพูดคุยเล่น ๆ ไปเรื่อย ๆ ด้วยความเข้าใจว่าน้องไม่ได้อยากมาเข้าร่วมกิจกรรมนี้ เหมือนโดนบังคับมา ซึ่งถ้าเป็นเราตอนอยู่ในวัยนี้แล้วให้มาทำอะไรที่ไม่น่าสนุก ไม่ชอบ ไม่สมัครใจก็คงเบื่อเหมือนกัน และเด็กในวัยนี้ก็คงไม่แสร้งแสดงออกว่าสนุกทั้ง ๆ ที่ใจไม่ได้คิดว่าสนุก

การคุยเล่น ๆ ไปเรื่อย ๆ พาข้าพเจ้ามาจนถึงเรื่องครอบครัวของน้อง จึงได้รู้ว่าเบนท์มีน้องสาวอายุสามขวบ ชื่อน้องแบมบู ตอนคุยเรื่องนี้เห็นได้ชัดว่าปฏิกิริยาการตอบคำถามของน้องเปลี่ยนไป เบนท์เริ่มโต้ตอบ และเป็นฝ่ายเริ่มพูดคุยก่อนมากขึ้น สนใจมากขึ้น และเริ่มเล่าเรื่องต่าง ๆ เองโดยไม่ต้องถาม เช่น เล่าให้ฟังว่าน้องแบมบูชอบแกล้งตนเอง ชอบเล่นซน และที่สำคัญเบนท์เล่าว่าต้องแปรงฟันกับน้องสาวทุกวัน เพราะหากแบมบูไม่เห็นพี่แปรงน้องก็จะไม่ยอมแปรง ข้าพเจ้าจึงชวนเบนท์คุยเรื่องน้องสาวไปเรื่อยๆ และคิดว่าเรื่องนี้น่าจะเป็น entry point ในการเข้าถึงและสร้างความคุ้นเคยกันได้ดีทีเดียว

จากเรื่องราวที่ได้รับฟังมาทำให้ทราบว่า เมื่อเห็นว่าเบนท์ภูมิใจในความเป็นพี่และรักน้องสาวมาก ข้าพเจ้าจึงเชื่อมโยงการให้ความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพช่องปากโดยเชื่อมโยงไปสู่เรื่องน้องสาวด้วยเสมอ โดยพยายามทำให้เหมือนกำลังคุยเรื่องการดูแลช่องปากกับคนไข้สองคนคือทั้งกับน้องเบนท์และน้องแบมบู เนื้อหาที่พูดก็จะกล่าวถึงทั้งฟันแท้และฟันน้ำนม เพื่อให้น้องเบนท์รู้สึกว่าการเข้าร่วมกิจกรรมนี้ เขาจะได้รับความรู้ที่สามารถนำไปใช้ประโยขน์กับน้องสาวที่เขารักได้

เมื่อน้องเริ่มพูดคุยมากขึ้น ทำให้รู้จักน้องได้มากขึ้น ได้รู้ว่าเบนท์เป็นเด็กที่ถูกอบรมสั่งสอนให้มีระเบียบวินัยมาก มีกฎเกณฑ์ในการใช้ชีวิตในหลายเรื่อง เช่น การตื่นนอนเองตรงเวลา วันธรรมดา6 โมงเช้า วันหยุดไม่เกิน 8 โมง ตอนเช้าเบนท์จะทำอาหารง่าย ๆ เช่น ข้าวไข่เจียว ให้ตัวเองและน้องทานเสมอ เงินที่ได้รับไปโรงเรียนวันละ 60 บาท จะเหลือมาหยอดกระปุกทุกวันและนำไปฝากธนาคารทุกเดือน น้องเล่าว่าตอนนี้มีในธนาคาร 7,000 บาทแล้ว หลังกลับจากโรงเรียนเบนท์มีหน้าที่ต้องทำงานบ้าน ทำการบ้าน และดูแลน้องขณะที่แม่ทำกับข้าวเย็น ซึ่งหากเมื่อเทียบกับตัวข้าพเจ้าเองหรือพี่ชายของข้าพเจ้าตอนอายุเท่านี้ เรื่องพวกนี้เป็นสิ่งที่ไม่เคยทำและหลีกเลี่ยงเสมอ

เมื่อได้รับฟังเรื่องเหล่านี้ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าการที่น้องเขาพูดน้อย ไม่ค่อยแสดงออกนั้น อาจเป็นเพราะการเลี้ยงดูจากครอบครัว ที่ถูกปลูกฝังให้มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบทั้งต่อตัวเองและน้องสาว ทำให้น้องมีบุคลิกค่อนข้างเงียบ สุขุม มีความคิดเกินวัย ไม่ค่อยร่าเริง แต่น้องเบนท์ก็ดูมีความสุขในแบบที่เขาเป็น ไม่ได้บ่นว่าเหนื่อย ไม่ได้แสดงออกถึงอาการเก็บกดหรือเป็นเด็กมีปัญหา

ในครั้งที่ 2 ที่พบกัน เมื่อข้าพเจ้าเริ่มเดาได้ว่าน้องมีบุคลิกนิสัยส่วนตัวเป็นแบบนี้ จึงพยายามวางตัวให้น้องรู้สึกว่าเราเป็นเหมือนพี่หรือเพื่อนคนหนึ่ง ไม่ใช่หมอหรือผู้ใหญ่ที่ต้องให้ความเคารพ ไม่ต้องวางตัวหรือมีมารยาทด้วย เพื่อให้น้องผ่อนคลาย กล้าพูดกล้าแสดงด้วยความมั่นใจมากขึ้น ไม่ว่าการตอบด้วยคำพูดหยอกล้อ พูดเล่นหรือไร้สาระอย่างไรก็ไม่ผิด และจะไม่ถูกดุเหมือนอยู่ที่บ้าน ผลก็คือน้องมีความไว้วางใจมากขึ้น พูดเล่าเรื่องราวต่าง ๆ มากขึ้นแต่ยังคงสุภาพและพูดน้อยคำเหมือนเดิม

เมื่อนำแบบบันทึกการรับประทานอาหารที่แจกให้น้องในครั้งแรกมาวิเคราะห์ พบว่าน้องเขียนมาครบเรียบร้อยและเป็นระเบียบมาก รายการอาหารที่รับประทานในแต่ละวันบ่งบอกชีวิตประจำวันของเขาได้ตรงกับข้อมูลที่ได้จากการพูดคุยกันในครั้งแรกที่พบกัน โดยเบนท์จะรับประทานอาหารที่บ้านเป็นส่วนใหญ่และเป็นอาหารไทยแบบที่ผู้ใหญ่รับประทาน ซึ่งรายละเอียดของอาหารจะประกอบด้วย มื้อเช้าเป็นอาหารง่าย ๆ อย่างที่น้องเคยบอกว่าทำเองและทำให้น้องสาวด้วย เช่น ไข่เจียว ไข่ต้ม มื้อกลางวันเป็นอาหารที่ซื้อที่โรงเรียน เช่น ก๋วยเตี๋ยวน้ำ ข้าวซอย ร่วมกับนมที่โรงเรียนแจก โดยจะสังเกตว่า ไม่มีการซื้อขนมขบเคี้ยวอื่น ๆ มารับประทานเลย และมื้อเย็นจะเป็นอาหารที่บ้านที่คุณแม่ทำเช่น แกงส้ม แกงหน่อไม้ ปลาทอด น้ำพริกหนุ่ม และผลไม้ เป็นต้น เมื่อพิจารณาโดยรวมจึงพบว่าตรงกับเรื่องที่เบนท์เล่าให้ฟังว่าต้องนำเงินที่เหลือมาหยอดกระปุกทุกวันและบอกอย่างภาคภูมิใจว่ามีเงินเก็บในธนาคาร 7,000 บาทแล้ว

แม้ว่าเริ่มเข้าใจมากขึ้นในเรื่องที่เบนท์อยากเก็บเงินมาหยอดกระปุกและนำไปฝากธนาคาร แต่ก็ยังอดสงสัยไม่ได้อยู่ดีว่าทำไมเด็กอายุแค่ 13 ซึ่งควรจะเป็นวัยที่ชอบกินขนม ซื้อของเล่น ถึงสามารถอดทนไม่กินไม่ซื้อได้ ทั้ง ๆ ที่ก็มีเงินซื้อได้และไม่มีใครบังคับให้เหลือเงินกลับบ้านมาหยอดกระปุก นอกจากนี้เมื่อคิดเปรียบเทียบกับพฤติกรรมของข้าพเจ้าเองในตอนที่อยู่วัยขนาดนั้น มันช่างแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงนัก เพราะนอกจากซื้อของกิน ของเล่นจนเงินหมดแล้ว บางครั้งยังกลับบ้านมาขอเงินพ่อแม่เพิ่มอีก และยังคิดเข้าข้างตัวเองอีกว่าพฤติกรรมแบบนี้เป็นธรรมชาติของเด็กส่วนใหญ่ในวัยนี้

เมื่อได้ย้อมสีฟันและวัดทักษะความสามารถในการแปรงฟันของน้อง ทำให้ทราบเรื่องที่น่าแปลกใจมากขึ้นไปอีก เนื่องจากน้องแปรงฟันไม่ถูกวิธีเลยสักด้านเดียว แม้แต่ด้านบดเคี้ยว (occlusal) ซึ่งข้าพเจ้าคิดว่าทุกคนต้องแปรงได้ถูกต้องเพราะเป็นด้านที่แปรงง่ายที่สุด แค่ถูไปถูมาแนวหน้าหลังเหมือนการขัดถูทำความสะอาดสิ่งของ นอกจากนี้ตามโฆษณาทางโทรทัศน์ก็มีวิธีการแปรงฟันด้านนี้ให้เห็นอย่างแพร่หลาย อีกทั้งผู้ปกครองและคนรอบข้างก็น่าจะสอนการแปรงฟันในด้านนี้ได้อย่างถูกวิธี แต่วิธีของเบนท์ คือ วางแปรงลงไปที่ด้านบดเคี้ยวแล้วปัดออกไปข้าง ๆ ทางด้านแก้ม (buccal) และด้านลิ้น (lingual)

เมื่อสอบถามดูว่าทำไมถึงแปรงแบบนี้ เบนท์บอกว่าวิธีนี้เป็นวิธีที่แม่สอนมาตั้งแต่เด็ก ทุกวันนี้แม่ก็ยังแปรงแบบนี้และสอนน้องสาวให้แปรงแบบนี้เช่นกัน พอถามต่อว่าเคยมีคนสอนวิธีอื่นหรือไม่ น้องตอบว่าเคยมีครูและหมอฟันสอน แต่สุดท้ายเบนท์ก็เลือกใช้วิธีที่แม่สอนมาตลอด แม้จะทราบดีว่าหมอฟันต่างหากที่เป็นผู้มีความรู้เรื่องฟันมากที่สุด แต่เบนท์ก็ไม่สนใจแม้ว่าหมอจะบอกว่าวิธีที่แม่สอนผิดหรือมีข้อเสียอย่างไร เบนท์ยังคงยืนยันว่าคนที่เขาเชื่อที่สุดก็คือแม่

พอฟังแบบนี้แล้วทำให้ข้าพเจ้าเริ่มรู้สึกว่า การใช้ความรู้ตามทฤษฎีที่เรียนมาอย่างหนัก อ่านหนังสือสอบ ทำแลป ปฎิบัติงานในคลินิคจนผ่านขึ้นมาถึงชั้นปีที่ 5 แล้ว สิ่งเหล่านี้กลับแทบไม่มีประโยชน์อะไรเลย บางครั้งความเป็นหมอฟันก็ทำให้เราตัวพอง คิดว่าเราใหญ่ที่สุด มีความรู้มากมาย พูดอะไรใครก็เชื่อ ส่วนคนไข้ที่จะมาหาเรานั้นตัวนิดเดียวและไม่รู้อะไร อย่างไรเสียก็ต้องเชื่อที่เราพูด แต่เรากลับลืมไปว่ามนุษย์ทุกคนยังมีบุคคลอื่นในชีวิตของเขา ที่เขาเคารพ นับถือ และเชื่อฟังโดยไม่มีเงื่อนไข หรือหากมองจากอีกด้านหนึ่ง คนไข้เป็นคนที่ทำให้เราได้ฝึกฝนให้เราได้มีวิชาชีพเพื่อไปช่วยเหลือผู้อื่น เราเองต่างหากที่ตัวนิดเดียว

ในเมื่อแม่ คือ บุคคลตัวอย่างที่เบนท์รัก เคารพ นับถือ เชื่อฟัง และแม่ยังเป็นแบบอย่างมาตั้งแต่เกิด แม่สอนแปรงฟันให้กับน้องเบนท์ในแบบหนึ่งซึ่งต่างกับที่หมอฟันสอน แม้ว่าหมอจะมีความรู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้มากกว่า แต่หากเพียงการพบกันครั้งแรก หมอกลับมาบอกว่าสิ่งที่แม่สอนมัน “ผิด”ทั้ง ๆ ที่เขาก็ไม่เคยมีปัญหาอะไรจากวิธีการแปรงฟันที่แม่สอนมาก่อน เขาย่อมเลือกที่จะเชื่อแม่เป็นธรรมดา แม้หากเป็นตัวเราเองที่อยู่ในวัยนี้ก็คงเลือกที่จะเชื่อแม่มากกว่าเชื่อหมอเช่นกัน

ด้วยเหตุนี้ทำให้ข้าพเจ้าต้องใช้ใจนำ ความรู้ตาม ทำความเข้าใจว่าความรู้ทางวิทยาศาสตร์ใช้ไม่ได้ในสถานการณ์นี้ ถ้าเราเคารพแต่ความรู้ในตำราวิชาการแต่ไม่เคารพความรู้ในแบบที่แม่เขาสอน แล้วพยายามทำให้เขาเชื่อให้ได้ เขาก็อาจจะเชื่อเพราะความเกรงใจในช่วงเวลานั้น แต่หลังจากนั้นก็คงจะกลับไปเป็นเหมือนที่เคยเป็นมา ถึงอย่างไรในวันนั้นข้าพเจ้าก็ได้ตัดสินใจสอนการแปรงฟันให้เบนท์ด้วยวิธี Modified bass’s technique แต่ก่อนจะสอนก็ได้ถามเขาก่อนว่าอยากเรียนรู้ไว้หรือไม่ และอธิบายในทำนองว่า รู้ไว้ก็ไม่เสียหาย ที่พี่สอนวิธีนี้เพราะเห็นว่าวิธีนี้เป็นวิธีที่จัดว่ายากที่สุดและท้าทายที่สุด ถ้าทำได้ถือว่าเก่งมาก และเป็นวิธีที่พี่ชอบและใช้ได้ดีมาตลอด มันอาจจะต่างจากวิธีที่แม่สอนเล็กน้อย แต่จะใช้ทำความสะอาดบริเวณที่แปรงยาก ๆ เช่น ผิวฟันที่อยู่ใกล้เหงือก(หมายถึงคอฟัน) ได้ดี ซึ่งถ้าใช้วิธีเดิม ๆ อาจแปรงบริเวณนี้ไม่สะอาด และให้น้องเปรียบวิธีการแปรงฟันที่มีหลายวิธีเหมือนกับการทำอาหาร ที่ถ้าวันนี้น้องทำอาหารทานได้อย่างเดียวคือทอดไข่ แต่พี่จะสอนวิธีต้มไข่ให้ ใช้สลับกันได้ถ้าเบื่อวิธีเดิม ๆ ขึ้นมา เหมือนกับวันไหนเราเบื่อไข่ทอด เราก็ต้มไข่กินแทนได้ พบว่าผลตอบรับจากน้องเบนท์เป็นไปค่อนข้างดี

ครั้งสุดท้ายที่เจอกัน ข้าพเจ้าเริ่มต้นด้วยการย้อมสีฟัน เพื่อบันทึกดัชนีคราบจุลินทรีย์ เบนท์ให้ความสนใจและตื่นเต้นพอสมควร เพราะลุ้นว่าคราบจุลินทรีย์จะลดลงตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ครั้งก่อนหรือไม่ ทั้งที่ลึก ๆ แล้ว ข้าพเจ้าไม่ได้ตั้งเป้าหมายใด ๆ ไว้กับน้องเลย ไม่ว่าจะเรื่องการลดลงของคราบจุลินทรีย์ หรือการเปลี่ยนแปลงวิธีการแปรงฟัน เพราะโลกของเด็กวัยนี้เป็นโลกใบเล็ก ๆ ที่คนแปลกหน้าและต่างวัยอย่างเราคงจะไม่สามารถก้าวเข้าไปได้ง่าย โดยเฉพาะกับเด็กอย่างเบนท์ที่มีภาระหน้าที่ให้รับผิดชอบมากกว่าเด็กคนอื่นในวัยเดียวกัน และยังมีชีวิตที่เป็นไปตามกฎระเบียบที่ตั้งขึ้นเองแถมยังทำได้อย่างภาคภูมิใจโดยไม่ได้คิดว่าแตกต่างจากคนอื่น

แต่แม้จะไม่ได้ตั้งเป้าหมายใด ๆ กับเบนท์ แต่การได้เจอกันครั้งนี้ทำให้ข้าพเจ้าได้เข้าใจโลกของเด็กที่มีบุคลิกแตกต่างจากเด็กทั่วไป มองเห็นความต่าง เคารพความต่าง และให้เกียรติในความต่างมากขึ้นกว่าเดิม

เมื่อผลการย้อมสีออกมา พบว่าคราบจุลินทรีย์ลดเล็กน้อย เพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งไม่นับว่ามีความแตกต่างอะไรชัดเจน เบนท์ก็ไม่ได้แสดงความผิดหวังอะไรและบอกว่า

“ลดลงก็ดีแล้ว เพราะเพิ่งเริ่มแปรงด้วยวิธีที่พี่หมอสอนไปแค่ไม่กี่วัน”

สิ่งสำคัญไม่อาจเห็นได้ในช่องปาก

โดย ธฤตา วังเสมอ

การเป็นหมอฟันนั้น หากเรียนดีสักหน่อยใครก็สามารถเป็นได้ แต่การจะเป็นหมอฟันที่เป็นที่รักของคนไข้นั้นไม่ใช่เรื่องที่หมอฟันทุกคนจะทำได้ เพราะนอกจากการเรียนดีแล้ว ยังมีอีกหลายเรื่องเข้ามาเกี่ยวข้อง

เรื่องที่จะเล่านี้เป็นประสบการณ์ที่ได้ทำงานกับคุณป้าดวงดาว จากการพูดคุยแรกที่เจอกัน ได้ทราบว่าอาการนำของคุณป้าคือฟันผุ เหตุผลในการมาเป็นคนไข้ในครั้งนี้ ก็คือ คิดว่าจะได้มาอุดฟันฟรี และคุณป้าก็พูดถึงเรื่องนี้อยู่ตลอด ความรู้สึกในตอนนั้นจึงกังวลมาก (เพราะงานครั้งนี้คืองานทันตกรรมป้องกันที่โดยปกติแล้วในครั้งแรกจะไม่มีการให้การรักษาใด ๆ) กลัวคุณป้าจะรู้สึกไม่ดีว่า มาวันนี้ไม่เห็นจะได้อุดฟันเลย มาทำอะไรก็ไม่รู้ เสียเวลา

จึงพยายามอธิบายให้คุณป้าเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ของการมาพบกันในครั้งแรกว่ามา “ประเมินความเสี่ยงต่อโรคในช่องปาก” ซึ่งดูเหมือนคุณป้าจะรับฟังเป็นอย่างดี แต่คุณป้าก็พูดอะไรวกไปวนมา พอกลับเข้าเรื่องการให้คำแนะนำเรื่องการดูแลสุขภาพช่องปาก เช่น การสอนแปรงฟัน หรือแนะนำเรื่องการป้องกันฟันผุได้ไม่นานคุณป้าก็กลับมาพูดเรื่องต้องการอุดฟันอีก จึงเกิดความรู้สึกว่า คนไข้คนนี้ทำไมเป็นอย่างนี้ ทำไมถึงอยากอุดฟันฟรีมากขนาดนี้ ทำให้ตลอดระยะเวลาที่พูดคุยกันแทบไม่ได้ซักถามข้อมูลอะไรเลย เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการพูดเรื่องเดิม ๆ ซ้ำไปมา ความตั้งใจตอนแรกที่จะให้คำแนะนำอย่างเต็มที่ก็เริ่มจะหมดไปเรื่อย ๆ อารมณ์หงุดหงิดเข้ามาแทนที่ จากการเคยพบคนไข้มาก็หลายคน ไม่เคยเจอคนไหนที่เป็นอย่างนี้มาก่อนและอยากให้เวลานี้ผ่านไปไว ๆ เพราะเหนื่อยมาก ๆ กับการที่ต้องพูดหรืออธิบายซ้ำ ๆ

แล้วการพบกันครั้งแรกก็ผ่านไป......

เข้าสู่การพบกันครั้งที่สอง ซึ่งวางแผนไว้ว่าจะมีการอุดฟันด้วย จึงไม่กังวลมากนักเพราะรู้สึกว่าวันนี้คุณป้ามาไม่เสียเที่ยวแน่นอนเพราะจะได้อุดฟันแล้ว ซึ่งตลอดระยะเวลาที่อุดฟันกันนั้นก็ค่อนข้างทุลักทุเลและวุ่นวายทีเดียว คุณป้าจะลุกขึ้นตลอดเวลาที่อุดฟัน แล้วถามว่าทำเสร็จหรือยัง ทำให้การทำงานล่าช้าไปมาก เริ่มรู้สึกอารมณ์ไม่ดีอีกแล้ว ยิ่งกว่าที่พบกันครั้งแรกอีก ก็พยายามควบคุมอารมณ์เป็นอย่างดี….

จนการพบกันครั้งที่สองผ่านไป……

พอคุณป้าบอกว่า ครั้งที่สามมาอีกไม่ได้แล้ว ก็รู้สึกดีใจมาก เพราะว่าจะได้ไม่ต้องเหนื่อยอีก ก่อนที่จะกลับไป คุณป้ายื่นลูกอมฮาร์ทบีทให้หนึ่งเม็ดแล้วบอกว่า “ป้าให้เอามาจากบ้าน” ซึ่งก็ยังรู้สึกเฉย ๆ เพราะยังอารมณ์ไม่ดีค้างอยู่

จนถึงวันที่ใกล้จะนำเสนอผลการปฏิบัติงานให้อาจารย์ฟัง ยังมีข้อมูลอีกหลายเรื่องที่ยังขาดไป เนื่องจากในวันที่เจอกันไม่ได้มีโอกาสคุยเรื่องทั่ว ๆ ไปกันมากนัก จึงโทรศัพท์ไปคุยกับคุณป้า เพื่อถามเพิ่มเติม ตอนแรกก็คิดว่าโทรจะดีไหม คุณป้าจะตกใจไหม และจะยอมคุยด้วยหรือเปล่า แต่ในที่สุดก็ตัดสินใจโทรไป ซึ่งคุณป้าก็คุยด้วยเป็นอย่างดี จากการพูดคุยในครั้งนี้คุณป้าได้เล่าให้ฟังหลาย ๆ เรื่อง ที่คิดว่าคนบางคนไม่มีทางเล่าเรื่องแบบนี้ให้คนที่ไม่ได้สนิทสนมกันฟังอย่างแน่นอน

คุณป้าเล่าถึงความลำบากในชีวิตที่ตอนนี้ไม่มีงานทำ เมื่อก่อนทำงานเป็นแม่บ้านที่สมาคมจีน รายได้เดือนละ 2,500 บาท ทำงานทั้งวันตั้งแต่ 8 โมง ถึง 5 โมงเย็น ตั้งแต่เริ่มตกงานก็เริ่มเก็บของเก่าขาย มาได้ปีกว่าแล้วและเดี๋ยวนี้ของเก่าก็เริ่มจะไม่มีให้เก็บ ทำให้รายได้น้อยลงไปอีก แค่การได้ยินว่าเก็บของเก่าหรือเก็บขยะขายเท่านั้น ความรู้สึกไม่ดีต่าง ๆ ที่ผ่านมาก็หายไปหมด เพราะเริ่มเข้าใจแล้วว่า ทำไมคุณป้าจึงอยากอุดฟันฟรีมากขนาดนั้น ความรู้สึกที่เข้ามาแทนก็คือมีอะไรที่เราจะทำเพื่อช่วยเหลือคุณป้าได้บ้าง ซึ่งตอนที่คุยโทรศัพท์กันนั้นคุณป้าพูดว่าเข้าคิวทำครอบฟันที่เข้าไว้ที่คณะทันตแพทย์แต่ไม่ได้สักที เราก็เลยบอกว่าคิวมันนานเป็นปี ๆ เลยนะ แต่ถ้าอีก 3-4 เดือนยังไม่มีการติดต่อจากคณะ ก็โทรศัพท์มาหาเราได้นะ จะไปดูคิวให้

หลังจากที่พูดจบ รู้สึกได้เลยว่าคุณป้าดีใจมากที่เราเป็นห่วง แล้วบอกว่า “ ขอบคุณมากนะหมอ” เป็นครั้งแรกที่ รู้สึกจริงๆ ว่าเข้าถึงใจคุณป้า มองเห็นคุณป้าเป็นมนุษย์คนหนึ่ง ไม่ใช่เป็นแค่คนไข้ที่เราต้องทำงานป้องกันโรคเช่นทุกครั้งที่ผ่านมา ความคิดตอนแรกที่หงุดหงิดว่าคนอะไรจะชอบของฟรีมากขนาดนั้น กับตอนนี้ต่างกันลิบลับ

เมื่อมองย้อนกลับไปพบว่า ที่ผ่านมาเราไม่เคยเข้าใจชีวิตของคุณป้าเลย และไม่คิดที่จะเข้าใจด้วยซ้ำ เราไม่ค่อยได้ฟังสิ่งที่คุณป้าพูดจริง ๆ เลยสักครั้ง เพราะมัวแต่กังวลเรื่องของเรา คิดแต่ในมุมมองของเรา งานของเรา เป็นหลัก มุ่งที่แต่จะสอนจะให้ความรู้ พยายามยัดเยียดสิ่งที่เราคิดว่ามีประโยชน์ให้โดยที่ไม่ได้สนใจเลยว่า ในเวลานั้นคุณป้าพร้อมที่จะฟังเราหรือยัง เหมือนต่างคนต่างยืนพูดอยู่บนโลกคนละใบ ซึ่งไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใด ๆ เลย

ความรู้สึกในตอนนั้นแย่มาก ๆ เหมือนฉายวิดีโอย้อนหลังแล้วนั่งดูทุก ๆ อย่างที่เราได้ทำลงไป ทำไมเราเป็นหมอที่แย่ได้ขนาดนี้ รู้สึกผิดมาก ๆ และที่สะเทือนใจมากที่สุดก็คือ คุณป้าเอาฮาร์ทบีทมาให้แล้วเราในตอนนั้นไม่ได้รู้สึกอะไรเลย แต่ตอนนี้ฮาร์ทบีทเม็ดนั้นเป็นสิ่งที่มีค่าต่อความรู้สึกมาก ๆ เป็นสิ่งเล็กน้อยจากคุณป้าซึ่งมีฐานะไม่ดีนักและมีปัญหาต่าง ๆ มากมายในชีวิต แต่ยังมีน้ำใจจะให้อะไรสักอย่างเพื่อเป็นการตอบแทนสิ่งเราได้ทำให้ ทำให้คิดถึงตอนที่เราออกเงินค่าแปรงซอกฟันให้ก่อน คุณป้าก็นำเงินมาคืนให้ในครั้งถัดไป ก็ยิ่งทำให้มองเห็นมุมดี ๆ ในตัวคุณป้ามากขึ้นอีก เพราะมีคนไข้หลาย ๆ คนที่เวลามาทำฟันแล้วคาดหวังให้หมอจ่ายเงินให้ ทั้งที่ไม่ได้ลำบากเท่าคุณป้าด้วยซ้ำไป

คุณป้าดวงดาวสอนให้เรารู้ว่า ถ้าเราไม่ด่วนตัดสินคนอื่นโดยยังไม่รู้ภูมิหลัง หรือความเป็นมา จะเปิดโอกาสให้เกิดการพูดคุยหรือการรักษาที่เต็มไปด้วยความเข้าใจ ที่ต่างฝ่ายก็ต่างที่จะสามารถสัมผัสและรับรู้ถึงความรู้สึกดี ๆ ที่มีให้แก่กันได้ และความรู้สึกอึดอัดก็จะสลายไปในที่สุด คุณป้าดวงดาวทำให้เราได้ประจักษ์แก่ความจริงที่ว่า

“ความจริงใจ ความรู้สึกที่ดีงาม ที่คนไข้และหมอต่างมอบให้แก่กันนั้น ย่อมไม่เคยไร้ผล”

การรักษาที่ดูดีที่สุด

โดย กฤษฏิ์ กระแสชัย

Humanized health care เป็นแนวความคิดที่ดูเหมือนถูกละเลยมานานสวนทางกับการพัฒนาความก้าวหน้าในความรู้ด้านการรักษา สังเกตได้ว่าในปัจจุบันมักมีการนำเสนอข่าวสารเกี่ยวกับวิธีการรักษาใหม่ ๆ ยาชนิดใหม่ ๆ ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นการหาวิธีจัดการกับ “โรค” แต่ “ความรู้สึกของผู้ถูกรักษา” ซึ่งมีความสำคัญไมยิ่งหย่อนไปกว่ากัน กลับเป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงกันน้อย อาจจะเป็นเพราะประเด็นหลังนั้นเป็นสิ่งที่ยากที่จะหาคำนิยามหรือแนวทางการปฏิบัติที่แน่นอนชัดเจนเพราะเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและสามารถตีความได้ต่าง ๆ นานา การนำเสนอก็อาจไม่น่าสนใจเพราะเป็นเรื่องในเชิงแนวคิดเสียมาก โดยไม่ค่อยมีสิ่งที่เป็นรูปธรรม บทความนี้ผมจึงอยากจะลองยกตัวอย่างที่คิดว่าพอจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ humanized health care อยู่บ้างจากประสบการณ์ในการทำงานทันตกรรมป้องกันของตัวเอง ดังเรื่องราวที่ผมจะได้เล่าต่อไปนี้

การได้รับมอบหมายให้ทำงานทันตกรรมป้องกันกับคนไข้กลุ่มเด็กนักเรียนนั้น ตอนเริ่มต้นยอมรับว่าผมมีความกังวลค่อนข้างมาก เนื่องจากไม่เคยทำงานที่เน้นด้านการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและงานที่เป็นนามธรรมอย่างจริงจังเท่านี้มาก่อน เพราะจากที่เคยทำคนไข้ในคลินิกที่ผ่านมานั้น การประเมินผลการทำงานจะประเมินที่ requirement ทำได้ปริมาณเท่าไร ทำได้สวยงามสมบูรณ์แค่ไหน ซึ่งล้วนแต่เป็นการประเมินผลเฉพาะในส่วนการรักษาโรคของหมอ แต่ไม่เคยมีการสอบถามคนไข้ว่ามีความพอใจมากน้อยแค่ไหน รู้สึกคลายความกังวลหรือไม่ จากเหตุผลเช่นนี้เองทำให้การทำงานในคลินิกทันตกรรมป้องกันจึงมีความแปลกใหม่และท้าทาย

เมื่อได้เจอกับคนไข้เด็กนักเรียนชื่อน้องแลงนั้น ถึงแม้ว่าผมจะยังไม่เข้าใจในแนวคิดเรื่องHumanized health care เท่าไร แต่ผมก็พยายามเริ่มโดยใช้ความรู้เท่าที่มีอยู่ เช่น เริ่มจากการชวนคุยเพื่อสร้างความคุ้นเคยและสร้างความรู้สึกว่าเป็นห่วงและมีความสนใจในตัวคนไข้ จากนั้นก็สอบถามข้อมูลที่น่าจะเป็นประโยชน์แก่การพยากรณ์โรค และเพื่อนำมาตั้งเป็นเป้าหมายในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม อย่างไรก็ตาม พอมาถึงจุด ๆ นี้ ผมก็คิดว่าการทำเช่นนี้ก็ยังไม่ค่อยมีความแตกต่างกับการทำงานที่ผ่าน ๆ มาเท่าไรนัก เนื่องจากสิ่งที่ได้มาถึงแม้จะไม่ใช่ข้อมูลทางการแพทย์ล้วน ๆ ก็จริงอยู่ แต่ก็ยังไม่ได้เปิดโอกาสให้น้องแลงได้สื่อถึงความต้องการและความรู้สึกที่แท้จริงเท่าไรนัก

จนกระทั่งมีเหตุการณ์หนึ่งซึ่งผมคิดว่ามีความต่างเกิดขึ้น แม้ยังไม่แน่ใจนักว่าจะใกล้เคียงกับแนวคิด humanized health care หรือไม่ แต่อย่างน้อยเหตุการณ์นี้ก็ต่างจากแนวทางที่ผมเคยปฏิบัติมา คือ หลังจากเก็บข้อมูลมาทำการประมวลผลจนรู้ว่าน้องแลงมีความเสี่ยงต่อโรคอะไรแล้ว ผมเตรียมตัวเพื่อจะพบกับน้องแลงอีกครั้งหนึ่งด้วยการเตรียมข้อเสนอและคำแนะนำเพื่อแก้ไขปัญหาและลดความเสี่ยง ซึ่งหากเป็นการปฏิบัติงานทั่ว ๆ ไปแล้ว (คาดว่าคงไม่ใช่เฉพาะในการเรียนที่คณะเท่านั้นแต่อาจรวมถึงทันตแพทย์ทั่วไปด้วย) วิธีการของทันตแพทย์ก็คือการนำข้อมูลนั้น ๆ ไปบอกกับคนไข้ ถือเป็นอันหมดหน้าที่ ส่วนคนไข้จะทำตามหรือไม่นั้นก็เป็นเรื่องของคนไข้ (ถ้าคนไข้ทำตามก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่หากคนไข้ไม่ทำตามก็ถือว่าเป็นเรื่องของคนไข้เอง เพราะหมอก็ได้ทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์แล้ว โดยไม่สนใจว่าคนไข้จะมีเหตุผลอะไร)

แต่ด้วยความที่ผมมีเวลาพูดคุยกับน้องแลงมาก จึงได้ลองใช้วิธีอธิบายไล่มาตั้งแต่สาเหตุของโรค ปัจจัยเสี่ยงที่มี รวมถึงน้ำหนักของปัจจัยเหล่านั้นว่ามีผลมากน้อยแค่ไหน ซึ่งระหว่างอธิบายก็พยายามชวนคุยและสังเกตท่าทีของน้องแลงว่า มีท่าทีที่ยอมรับ หรือลังเล หรือปฏิเสธหรือไม่ แม้จะสรุปไว้อยู่แล้วว่าปัจจัยที่มีผลมากที่สุดที่ทำให้น้องแลงเสี่ยงต่อโรคฟันผุคือความถี่ในการกินอาหาร แต่ผมก็ไม่พยายามจะยัดเยียดความคิดนี้แก่น้องแลง เพราะเข้าใจว่าแต่ละคนมีเหตุผลไม่เหมือนกันในการที่จะทำพฤติกรรมใด ๆ พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงง่ายสำหรับบางคน อาจจะเป็นเรื่องยากสำหรับอีกคน เราจึงไม่ควรที่จะเอาความคิดของเราเป็นที่ตั้งว่า “ในเมื่อนี่เป็นวิธีที่ดีที่สุด ดังนั้นคุณต้องทำแบบนี้นะ” โดยที่ไม่ให้ทางเลือก ผมจึงใช้วิธีอธิบายว่า สาเหตุหลักที่ทำให้น้องแลงเสี่ยงต่อโรคฟันผุ คือ การกินอาหารนอกมื้อที่บ่อย และเสนอให้น้องกินขนมต่อจากการกินอาหารในแต่ละมื้อหลักเลย เพื่อเป็นการลดจำนวนความถี่ในการบริโภคลง น้องแลงตอบสนองว่าจะลองเริ่มลดจากมื้อดึกก่อน เนื่องจากคิดว่าน่าจะง่ายที่สุด หลังจากนั้นก็จะพยายามลดมื้อสาย แต่ตอนบ่ายน้องแลงบอกว่าหิว จึงต้องหาอะไรกิน ซึ่งจากคำบอกเล่านี้ผมรู้สึกว่า น้องแลงไม่พยายามพูดเพื่อเอาใจหรือพูดเพื่อให้ดูดี จะสังเกตได้จากการที่น้องแลงไม่ได้รับปากว่าจะทำได้แน่นอน (เหมือนอย่างที่คนไข้หลาย ๆ คนที่ผมเคยเจอมามักจะตอบ) และมีการตั้งเป้าหมายที่เหมาะสมและเป็นไปได้สำหรับตัวเองและในทางปฏิบัติ

ผมคิดว่านั่นเป็นสัญญาณที่ดี (ของตัวผมเอง) เพราะจากที่เคยเป็นฝ่ายป้อนข้อมูลให้คนไข้เพียงฝ่ายเดียว โดยไม่สนว่าคนไข้จะทำได้หรือไม่ ซึ่งหากเป็นสิ่งที่ยากหรือกระทบต่อการดำเนินชีวิตมากเกินไป (ผลที่ได้กับสิ่งที่ต้องลงทุนไม่คุ้มกัน) คนไข้ก็อาจจะไม่ทำตามเลยก็ได้ แต่ในทางกลับกัน การที่เรายอมรับในวิธีที่ “ประสิทธิภาพลดลง แต่โอกาสที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมได้มีมากขึ้น” น่าจะส่งผลดีมากกว่า และยังเป็นการสร้างความรู้สึกที่ต่อคนไข้ที่จะได้ไม่คิดว่าถูกบังคับจนเกินไป

แม้อาจไม่กล้าพูดอย่างเต็มปากว่า ที่เล่ามานี้ใช่ Humanized health care หรือไม่ แต่สำหรับผมแล้วสิ่งนั้นคงไม่ใช่เรื่องสำคัญเท่ากับการที่ผมได้พบกับประสบการณ์ใหม่ที่เบนสายตา ความคิด และการกระทำของตัวเองออกจากการมองคนเป็นแค่ “โรค” ไปสู่การพยายามทำความเข้าใจความคิดของคน ๆ นั้นมากขึ้น ซึ่งก็น่าจะมีประโยชน์ต่อตัวผมเองในการทำความเข้าใจในเรื่องของ Humanized health care ต่อไป

เมื่อหยุดและคิด

โดย ณัฐพล เตชูปกรณ์

“รักษาโรค หรือรักษาคน” เป็นคำถามที่นายแพทย์ประเวศ วะสี ได้ตั้งไว้ในหนังสือของท่าน ผมไปอ่านเจอแล้วรู้สึกว่าคำพูดนี้เกี่ยวข้องกับวิชาชีพของเราโดยตรง

“เราอยากจะเป็นหมอที่ดีหรือเป็นหมอที่เก่ง” ผมคิดว่าคงมีอีกหลายคนที่เคยคิดเหมือนกับผม หมอที่เก่งไม่จำเป็นต้องดี และหมอที่ดีก็ไม่จำเป็นต้องเก่ง แต่หมอที่คนไข้ต้องการมากที่สุดคือหมอที่ทั้งเก่งและดี แล้วหมอที่ทั้งเก่งและดีนั้นมีไหม

หมอที่เก่งในความเข้าใจของผม คือ หมอที่สามารถรักษาโรคต่าง ๆ ให้หายได้ มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องโรคต่าง ๆ เป็นเลิศ มีวิธีรักษามากมายจากการที่ได้ปฏิบัติ ได้อ่าน หรือได้เรียนรู้มา ส่วนหมอที่ดี คือ หมอที่เอาใจใส่คนไข้ พยายามหาวิธีรักษาที่เหมาะสมกับคนไข้รายนั้นมากที่สุด และพยายามรักษาคนไข้ให้ดีที่สุดเท่าที่ความสามารถจะเอื้ออำนวย หรือเราจะเรียกอีกอย่างว่า หมอรักษาคนก็ได้

ผมเคยคิดว่าพวกเพื่อนที่ทำคนไข้ได้มาก ๆ เค้าจะมีเวลาใส่ใจคนไข้หรือเปล่า เพราะเห็นบางคนสามารถนัดคนไข้มาได้ตลอด คนไข้ที่เค้าได้นั้นมีอาชีพเป็นคนไข้หรืออย่างไร ไม่มีงานอื่น ๆ ทำหรือ แต่จากการที่ผมได้คุยกับเพื่อนหลาย ๆ คน ก็ได้คำตอบว่า “ก็ไม่อยากบังคับคนไข้ให้มาในวันที่เค้าไม่ว่างหรอกนะ แต่ทำไงได้ถ้าไม่นัดมาก็ไม่มีคะแนน แล้วจะมีสิทธิ์ซ้ำเอาได้” คำพูดเหล่านั้นทำให้ผมรู้สึกว่า การที่เราอยู่ในโรงเรียนที่มีหลักสูตรที่เน้นการฝึกฝนเพื่อให้จบออกไปเป็นหมอที่เก่ง มันเป็นสาเหตุที่ทำให้เราขาดโอกาสที่จะฝึกฝนให้เป็นหมอที่ดีหรือไม่

ผมเชื่อว่าเราทุกคนความรู้สึกใส่ใจคนไข้อยู่แล้ว แต่จะแสดงออกมามากน้อยเท่าไรนั้น ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลและตามแต่ละสถานการณ์ เพราะคงไม่น่าจะมีหมอฟันคนไหนที่เอาแต่อุด ขูด ถอน อุด ขูด ถอน อุด ขูด ถอน... วนเวียนไปเรื่อย ๆ โดยไม่พูดคุยกับคนไข้เลยสักคำเดียว ด้วยความคิดแบบนี้ทำให้เมื่อถูกมอบหมายให้เขียนบทความในประเด็น Humanized Health Care ผมจึงมีคำถามในใจที่เกิดขึ้นทันทีว่า ทำไมต้องเขียนเรื่องนี้ด้วย ทั้งที่มันเป็นสิ่งที่แสนจะธรรมดา เพราะผมให้คำนิยามของ Humanized Health Care ในแนวคิดของผมว่าเป็นการเอาใจใส่คนไข้

แต่พอได้มาฝึกปฏิบัติงานทันตกรรมป้องกันที่มีโจทย์หลักคือให้ทำความเช้าใจคนไข้ให้มากที่สุด โจทย์นี้ทำให้ได้เห็นตัวตนของเรามากขึ้น เพราะทำให้ต้องหยุดคิด และมองตามความเป็นจริง ทำให้เราเห็นว่าสิ่งที่เราคิดว่าปกติ มันอาจจะไม่ปกติสำหรับคนทั่วไป เช่น การที่จะให้คนไข้อ้าปากดูฟันในห้องนั่งเล่นที่มีคนอื่นอยู่ด้วยอาจจะเป็นเรื่องที่ไม่สมควรทำเนื่องจากคนทั่วไปคิดว่าเป็นเรื่องที่ไม่อยากให้คนอื่นเห็น รวมไปถึงการที่ให้ยืนแปรงฟันที่กระจกต่อหน้าหมอ หรือการแปรงฟันโดยมีคนอื่นมองอยู่อาจจะเป็นเรื่องน่าอายสำหรับบุคคลทั่วไป แต่เราก็เอาความเคยชินของเราไปตัดสินว่าสิ่งนั้นเป็นเรื่องที่ปกติ สิ่งต่าง ๆเหล่านี้ถ้าเราไม่มาหยุดคิดเราก็คงไม่รู้ตัวว่าเราได้ทำความอึดอัดให้กับคนไข้ไปเสียแล้ว

สิ่งที่เราไม่ได้มองคนไข้เหล่านี้แหละที่ผมอยากจะเรียกว่า เป็นการไม่ใส่ใจในความเป็นมนุษย์ บทความนี้แทนที่จะเขียนว่าผมใส่ใจคนไข้อย่างไรบ้าง แบบนั้นผมคิดว่ามันน่าจะเลี่ยนเกินไป ผมจึงเลือกที่จะทบทวนตัวเองว่าสิ่งที่คิดว่าเราได้ใส่ใจคนไข้แล้วนั้น มีอะไรบ้างที่ผมไม่ได้สนใจคนไข้อย่างแท้จริง

ไล่ตามลำดับตั้งแต่ตอนปี 4 ที่ได้เข้าคลินิกเป็นปีแรก ความรู้สึกในการโทรศัพท์นัดคนไข้เป็นครั้งแรกนั้นมันรู้สึกตื่นเต้นอย่างบอกไม่ถูก รู้สึกว่าเราจะให้การรักษาเค้าได้ไหม จะมีความรู้เพียงพอที่จะเรียกตัวเองว่าหมอหรือเปล่า วันแรกที่เริ่มทำคนไข้เป็นคนไข้อายุ 18 ปี มีฟันหน้าบนหายไป 2 ซี่ คนไข้ก็ถามผมว่า “ทำเป็นสะพานฟันไม่ได้หรือ ทำไมหมอที่ไปหาคนก่อนบอกว่าต้องรอให้อายุถึง 25 ปีก่อน” ผมก็อ้ำอึ้ง แต่ก็ตอบไปว่า “พี่ก็ไม่แน่ใจ คิดว่าโพรงประสาทฟันยังใหญ่อยู่เลยทำยาก แต่ยังไงเดี๋ยวพี่ถามอาจารย์ให้ละกัน” ผมรู้ว่าคำตอบที่ตอบไปมันฟังดูไม่มีความรู้ แต่ตอนนั้นไม่รู้ว่าจะตอบยังไงดี และมีหลายต่อหลายครั้งที่ปล่อยให้คนไข้นั่งรออยู่คนเดียว เพราะผมต้องคอยเดินไปหยิบของ และไปดูเพื่อนคนอื่นว่าเค้าทำกันอย่างไรบ้างบ่อย ๆ ความรู้สึกในตอนนั้นรู้สึกว่าเราทำตัวไม่สมกับเป็นหมอ

วันถัดมาก็เป็นครั้งแรกของการรักษาโรคเหงือกในคนไข้อีกคน ที่ต้องเริ่มต้นด้วยการตรวจบันทึกข้อมูลของคนไข้ ซึ่งก็เกิดเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกัน คือ ผมปล่อยให้คนไข้ต้องมานั่งรอกับเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง รอผมเตรียมของ รอตอนผมเดินไปถามเพื่อน ในตอนนั้นผมก็ไม่ได้คิดอะไรมาก แต่เมื่อมานั่งทบทวนก็เห็นว่า เรามัวแต่สนใจแต่เรื่องของตัวเอง กลัวว่าจะตรวจและบันทึกผิด กลัวนั่นกลัวนี่จนแทบไม่ได้ใส่ใจที่จะดูแลคนไข้ เรื่องที่ผมรู้สึกแย่กับตัวเองที่สุดตอนที่อยู่ในห้องนี้ คือ การที่ผมนัดคนไข้ไปแล้วผมจำไม่ได้ ตอนนั้นผมนัดคนไข้ที่ขูดหินปูนเสร็จไปแล้ว ให้มาการตรวจซ้ำอีกครั้ง ซึ่งผมลืมไปว่าวันที่นัดนั้นเป็นวันงดการทำงานในคลินิกเพราะตรงกับวันไหว้ครู พอถึงวันนัดคนไข้ก็โทรมาถามว่าพี่หมออยู่ไหน ทำไมไม่เห็นมีใครลงมาที่คลินิกเลย ตอนแรกผมก็งง ๆ คิดว่าวันนี้ผมก็ไม่ได้นัดใครเอาไว้เพราะว่าเป็นวันไหว้ครู แต่พอมานึกอีกทีก็จำได้ว่าเคยนัดเอาไว้เมื่อเดือนก่อน ผมเลยลงไปขอโทษ ถึงน้องจะไม่ได้ว่าอะไร แต่ก็รู้สึกได้ว่าเค้าก็อารมณ์เสียนิดหน่อยเพราะว่าต้องหยุดเรียนเพื่อมาหาเรา จากนั้นเป็นต้นมาผมจึงเริ่มใช้สมุดนัดคนไข้ และระวังเรื่องการนัดคนไข้ให้มากขึ้น

ถัดมาคือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในคลินิกอุดฟันและรักษารากฟัน เป็นที่รู้กันดีว่าคลินิกนี้มีความกดดันค่อนข้างมากจากสถานการณ์หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการมีเกณฑ์ของปริมาณขั้นต่ำที่ต้องทำให้ถึง เรื่องเวลาที่มีที่เราจะรู้สึกว่ามันเหมือนจะมีน้อยกว่าปริมาณงานที่ต้องทำเสมอ หรือแม้แต่เรื่องของการนัดคนไข้ ที่จำเป็นต้องนัดคนไข้ให้ตรงกับเวลาที่อาจารย์ลงตรวจงาน แม้ว่าวันนั้นคนไข้ไม่ว่างก็จำเป็นต้องให้คนไข้มาให้ได้ แต่ในอีกด้านหนึ่งมันก็เป็นเรื่องของตัวเราเอง ที่ภายใต้สถานการณ์เหล่านี้นั้น เราได้เลือกที่จะลืมความคิดจะใส่ใจคนไข้ไปก่อน ทำให้เมื่อมานึกย้อนกลับไปผมก็ได้เห็นตัวเองทำอะไรที่ไม่ดีไปหลายอย่าง

ที่ยังจำได้ดีเลยคือการนัดคนไข้มาทำวันแรก ที่ผมอ่านจากประวัติที่ถูกบันทึกไว้ก่อนว่าเป็นคนไข้ที่ต้องอุดฟันหน้า จึงเตรียมความรู้มาเพื่อวางแผนการรักษาเฉพาะเรื่องการอุดฟันหน้าอย่างเดียว แต่พอคนไข้มาถึงจริง ๆ และตรวจดูในช่องปากกลับพบว่าคนไข้มีฟันผุที่ฟันกรามด้านประชิดเพียงซี่เดียวเท่านั้น ผลจึงไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ เพราะผมต้องนั่งคุยกับอาจารย์เพื่อวางแผนการรักษาทั้งคาบการทำงานโดยไม่ได้ทำอะไรให้คนไข้เลย ทั้ง ๆ ที่คนไข้อยู่ต่างอำเภอที่ห่างออกไปหลายสิบกิโลเมตร และต้องขับรถมอเตอร์ไซค์มาเพื่อจะมาอุดฟัน แต่ผมกลับทำอะไรให้เลย แม้แต่การที่จะนั่งคุยกับคนไข้ยังคุยได้เพียงแค่ “สวัสดีครับ มายังไงครับ” กับคำว่า “สวัสดีครับ ขับรถกลับดี ๆ นะครับ” ซึ่งก่อนกลับคนไข้ก็ถามว่า “จะไม่ทำอะไรเลยหรือ อุตส่าห์มาตั้งไกล” ซึ่งผมก็ได้แต่ยิ้มแล้วก็หัวเราะแหะ ๆ

เรื่องที่ไม่ใส่ใจคนไข้ในคลินิกนี้ยังมีอีก คราวนี้เป็นเรื่องที่เกิดกับคนใกล้ตัวคือ ผมขอเพื่อนมาเป็นคนไข้ให้ วันนั้นเป็นการอุดฟันหลัง ซึ่งพออุดเสร็จก็เหมือนจะดูดี แต่ว่าสุดท้ายก็เกิดการอุดเกินขึ้นมา ซึ่งไม่สามารถแก้ไขได้ในคาบนั้น อาจารย์เลยให้นัดมาอีกครั้งในสัปดาห์ถัดไป แต่ด้วยความที่เหลือเวลาในการทำงานน้อยแล้ว ผมเลยนัดเพื่อนมาให้เร็วกว่านั้น เพื่อพยายามเอามาแก้แต่สุดท้ายก็ไม่เสร็จอีก จึงได้ไปปรึกษาอาจารย์อีกท่านหนึ่ง ปรากฏว่าอาจารย์ท่านนี้บอกว่าให้รื้ออุดใหม่ แต่ผมก็ไม่ได้ทำ แต่กลับตัดสินใจนัดเพื่อนมาอีกครั้งเป็นครั้งที่ 3 เพื่อกลับไปตรวจกับอาจารย์ท่านแรก ผลปรากฏว่าอาจารย์ให้ผ่าน แต่ก็บอกว่าผมได้ขัด enamel (เคลือบฟัน) เพื่อนออกไปเกือบครึ่งมิลลิเมตร เรื่องนี้จึงเป็นอีกเรื่องของการไม่ใส่ใจคนไข้ อยากแต่จะกรอเร็ว ๆ เพื่อให้งานรีบเสร็จ โดยไม่คำนึงถึงผลเสียที่จะเกิดตามมา

เรื่องสุดท้ายที่จะเล่าในคลินิกนี้ คือ เรื่องการสอบอุด amalgam (วัสดุอุดสีเงิน) คนไข้ที่ผมจะใช้สอบนั้นมีรอยผุที่ค่อนข้างเล็ก ซึ่งไม่เหมาะที่จะอุด amalgam แต่น่าจะอุดด้วย resin composite (วัสดุอุดสีเหมือนฟัน) จะสวยกว่า แต่เนื่องจากผมต้องการสอบอุด amalgam และเวลาที่เหลือในการทำคลินิกก็น้อยเต็มที ไม่รู้ว่าจะมีคนไข้คนอื่นมาเป็นเคสให้สอบหรือเปล่า ดังนั้นถ้าไม่สอบเคสนี้ ก็มีสิทธิ์ที่จะไม่ผ่านคลินิก ตอนนั้นผมจึงตัดสินใจโน้มน้าวคนไข้ให้อุด amalgam เพื่อที่ผมจะได้รอดจากการซ้ำชั้น โดยผมเลือกที่จะพูดถึงเรื่อง composite น้อยมาก และตอนไปวางแผนการรักษากับอาจารย์ อาจารย์ก็ถามว่าทำไมถึงจะอุด amalgam ผมเลยบอกไปว่าคุยกับคนไข้แล้ว คนไข้ต้องการอุด amalgam เคสนั้นผมเลยได้สอบ amalgam แต่ผลเสียก็ตกไปอยู่ที่คนไข้ เพราะว่าทั้งที่มีตัวเลือกที่ดีกว่า แต่ต้องมาอุด amalgam เพียงเพราะความต้องการของผม

พอขึ้นมาปี 5 คลินิกแรกที่ผมได้เข้าไปอยู่คือคลินิกศัลยศาสตร์ช่องปาก ทั้งที่คิดว่าห้องนี้ค่อนข้างเหมาะกับตัวผม แต่ก็มีเรื่องที่ไม่เอาใจใส่คนไข้เกิดขึ้นอีกจนได้ เรื่องที่เกิดขึ้นคือ ตอนที่ผมจะถอนฟันซี่ 18 และ 48 ผมดันไปคุยกับเพื่อนว่าจะเอาออกเร็ว ๆ ให้ดู ให้จับเวลาด้วยก็ได้ พอถึงเวลาทำก็รีบ ๆ ทำ ผลปรากฏว่าฟันออกมาเร็วก็จริง แต่พอได้หยุดคิดก็คิดได้ว่า เรื่องอย่างนี้ไม่ใช่เรื่องที่ควรจะเอามาแข่งขัน แต่ควรจะเป็นเรื่องที่เราต้องทำกับคนไข้ให้ดีที่สุด ไม่ใช่เป็นเรื่องของความคึกคะนอง (ในตอนนั้นมีความคิดว่า ใครเอาฟันออกได้เร็วแสดงว่าเจ๋ง)

เรื่องราวมากมายที่กล่าวมาข้างต้น หากพิจารณาให้ดีก็จะเห็นว่า สิ่งที่เราคิดไปว่าความใส่ใจคนไข้เป็นสิ่งที่ใคร ๆ ก็มีอยู่แล้วนั้น ที่จริงมันอาจจะมีความไม่ใส่ใจซ่อนอยู่ แม้แต่เรื่องที่ดูจะเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่หลายคนพยายามจะไม่คิดถึง เช่น เรื่องการให้คนไข้มานั่งรอหมอเตรียมเครื่องมือ เป็นต้น พอผมได้มีโอกาสหยุดเพื่อคิดถึงเรื่องราวต่าง ๆ ที่ผ่านมา ผมถึงได้มีโอกาสทบทวนเหตุการณ์ที่บางครั้งก็ได้ลืมไปแล้ว

สุดท้ายเมื่อย้อนกลับไปที่คำถามที่ผมเคยคิดอยู่เสมอว่า “เราอยากจะเป็นหมอที่ดีหรือเป็นหมอที่เก่ง” ตอนนี้ผมได้คำตอบแล้วว่าผมอยากเป็นทั้งหมอที่เก่งและหมอที่ดี ฉะนั้นการที่ได้หยุดคิดเพื่อทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นและยอมรับในสิ่งที่ตัวเองได้ทำผ่านมา จะช่วยให้การจะทำอะไรกับคนไข้ทุกครั้งจะต้องผ่านการคิดก่อนว่าสิ่งนั้นเหมาะสมหรือไม่ และจะช่วยเตือนตัวเองว่าไม่มีข้ออ้างอะไรที่จะเป็นเหตุผลให้ผมไม่เอาใจใส่คนไข้ ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้มันฝึกกันได้ และถ้ามันติดเป็นนิสัยมันก็จะอยู่กับตัวเราไปตลอด แล้วคุณล่ะอยากจะเป็นหมอที่ดีหรือเป็นหมอที่เก่ง

อีกหนึ่งปริญญา

โดย นาถยา สัตย์วินิจ

เพื่อน: ได้ข่าวว่าเธอกำลังเขียนบทความอะไรสักอย่างอยู่

ฉัน: อ๋อ…ใช่

เพื่อน: เป็นบทความเกี่ยวกับอะไรเหรอ

ฉัน: “Humanized Health Care” น่ะ

เพื่อน: มันคืออะไรล่ะ ???

ฉัน: การบริการด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์ ไง

เพื่อน: (ฟังด้วยสีหน้างุนงง)…………………………………………………………..

ฉันเองก็เคยเป็นนักศึกษาคนหนึ่งที่ไม่รู้จักคำ ๆ นี้มาก่อน และคิดว่าการที่เราไม่รู้จักคำที่สั้นเพียงแค่สามพยางค์ มันจะสำคัญสักเพียงใดเชียว มันก็น่าจะเหมือนกับการอ่านหนังสือพิมพ์ตอนเช้า แล้วลืมเรื่องที่อ่านไปหนึ่งประโยคบ้าง สองประโยคบ้าง บางทีลืมเรื่องที่อ่านไปทั้งเรื่องด้วยซ้ำ หรือหากเป็นนักศึกษา การที่ลืมเรื่องที่อ่านมาเพื่อสอบบางส่วน อย่างมากก็มีผลต่อคะแนนที่อาจจะน้อยลง หรือหนักหน่อยก็อาจซ้ำชั้น ได้ปริญญาช้าไปหนึ่งปีบ้าง สองปีบ้าง ดังนั้นแค่ลืมเพียง 3 พยางค์ ของคำว่า “Humanized ” ชีวิตจะเปลี่ยนไปสักแค่ไหน จะไม่ได้ปริญญาทันตแพทยศาสตรบัณฑิต? จะทำฟันปลอมไม่เป็น? ไม่สามารถอุดฟัน? , เปิดคลินิกไม่ได้? หมอจะไม่เป็นหมอหรือ?

คำตอบก็ คือ “ ไม่ ” เพราะเรายังคงสามารถทำได้ทุกอย่าง จะได้รับปริญญาทันตแพทยศาสตร์ตามกำหนดจบ 6 ปี , จะอุดฟัน ถอนฟัน ใส่ฟัน หรือเปิดคลินิกได้ แต่อย่างเดียวที่ยกเว้นคือ เราจะไม่ได้ “ความเป็นหมอที่สมบูรณ์” แต่เป็นอย่างเดียวที่แสนสำคัญ เปรียบเหมือนปริญญาที่มองไม่เห็นที่มีผู้สมัครเรียนคือ “หมอทุกคน” แต่ผู้ที่จบกลับไม่ใช่ “ทุกคนที่เป็นหมอ” ปริญญาใบนี้เริ่มสอบตั้งแต่วันที่มีคนเรียกคำนำหน้าชื่อเราว่า “หมอ” โดยมีผู้ให้คะแนน 2 คน คนแรกเป็นผู้ที่รู้สึกได้ถึงสิ่งที่หมอทำ คือ คนไข้ อีกคนหนึ่งคือคนที่รู้เห็นทุกการกระทำและความคิดของเรา ซึ่งก็คือ ตัวของเราเอง

ฟังดูง่ายดายมาก กับแค่คำหนึ่งคำและทำให้ได้ ก็จะเป็นหมอที่สมบูรณ์แล้ว ดูไม่น่าจะมีปัญหาในอะไรเลย สำหรับคนที่มีสติปัญญาพร้อมและสามารถเรียนมาได้ถึงขั้นนี้ แต่ความยากของบททดสอบนี้อยู่ที่ การเข้าใจถึงความหมายและมีอยู่ในใจเสมอในขณะทำงาน ละเลยไม่ได้แม้ในจุดเล็ก ๆ ไม่ว่าวันนั้นจะเป็นวันที่แย่สักแค่ไหน เร่งรีบ หรือมีอุปสรรคสักเพียงใดก็ตาม จากประสบการณ์ของตัวเอง ฉันพบว่าความยากในการได้มาซึ่งปริญญาใบนี้นั้น ทำให้หมอหลายคนผิดพลาดมาแล้ว รวมถึงตัวของฉันเองเช่นกัน

เมื่อเริ่มต้น ฉันเองคิดว่าคำหนึ่งคำน่าจะเป็นเป็นเรื่องง่ายที่จะเข้าใจ แต่เพียงครั้งแรกก็เข้าใจผิดไปเสียแล้ว ตอนแรกฉันคิดว่า Humanized ก็คือ HA.(Hospital accreditation ระบบการประกันคุณภาพของโรงพยาบาล) แต่อย่างไรก็ตามฉันไม่ได้สนใจสักเท่าไรนักกับความเข้าใจผิดนั้น เพราะคิดว่าก็แค่คำหนึ่งคำ ไม่รู้คงไม่เป็นอะไร ต่อมาเมื่อมีเพื่อนในชั้นปีได้นำเสนอ เรื่อง Humanized health care และบอกความหมายอย่างสั้น ๆ ว่า คือ “การบริการด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์” เมื่อได้ฟังก็เข้าใจว่า คงหมายความถึง “การแคร์หรือห่วงใยคนไข้ โดยการให้การรักษาบนความปรารถนาจะให้เขาหายจากโรคอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพื่อการค้า หรือทำตามหน้าที่เท่านั้น” ซึ่งก็คงไม่มีอะไรยาก เพราะหน้าที่หลัก ๆ ของหมอหลัก ก็คือรักษาและปฏิบัติต่อคนไข้ให้ดีอยู่แล้ว

แต่เมื่อเวลาผ่านไป เมื่อฉันได้ผ่านการอ่านบทความ และการปฏิบัติงานจริง ทำให้ฉันได้เข้าใจว่า Humanized health care นั้นมีความหมายที่กว้างกว่าการปรารถนาให้ผู้ป่วยหายจากโรคไปมาก เพราะให้การรักษาผ่านการมองให้เห็นคน ซึ่งคำว่า “คน” นั้นมีองค์ประกอบมากมายที่จะประกอบขึ้นมาเป็นคนหนึ่งคน ทั้งสิ่งแวดล้อม สังคม ฐานะ การศึกษา ความรู้สึก ความคิด สุขภาพ ฯลฯ โรคจึงเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งเท่านั้น แต่กลับเป็นองค์ประกอบที่บุคลากรสาธารณสุขให้ความสำคัญที่สุด ซ้ำร้ายกว่านั้นบางครั้งกลับมองว่า คนที่มาหาประกอบไปด้วย “โรค” เพียงอย่างเดียวเท่านั้น โดยมองไม่เห็นหรือไม่ได้มองสิ่งอื่น

ในการทำงานในคลินิกทันตกรรมป้องกัน คือ ฉันได้รับมอบหมายให้ดูแลคุณพี่ผู้หญิงท่านหนึ่งที่มีความใส่ใจไปพบทันตแพทย์ทุก 6 เดือน ตั้งแต่เด็ก แต่จนบัดนี้กลับแปรงฟันไม่ถูกวิธีและไม่ทั่วถึง อีกทั้งยังมีภาวะเหงือกอักเสบโดยทั่วและเริ่มมีปริทันต์อักเสบ ฉันพบว่าเมื่อสอนวิธีการแปรงฟัน การดูแลทำความสะอาด ด้วยอุปกรณ์เพิ่มเติม ได้แก่ แปรงซอกฟัน และ ไหมขัดฟัน พี่ผู้หญิงท่านนี้ก็สามารถทำเป็นอย่างรวดเร็วและทำได้ดีอย่างมากด้วย แต่สิ่งที่ฉันแปลกใจ ก็คือ ตลอดชีวิตที่ผ่านมาพี่ผู้หญิงท่านนี้ที่พบทันตแพทย์มามากกว่าสิบครั้งจะไม่เคยรับทราบ หรือมีใครบอกเรื่องเหล่านี้เลยหรือ?? จึงเกิดคำถามต่อมาว่า “ถูกละเลยหรือ??” เมื่อสอบถามก็ได้รับคำตอบว่า ไม่เคยถูกสอนแปรงฟันเลย และไม่เคยทราบว่าตนเองเป็นโรคเหงือกเพราะไม่มีใครเคยบอก ฉันจึงเกิดข้อสงสัยว่า หรือจะมีทันตแพทย์จำนวนไม่น้อย มีแนวความคิดที่มอง” คน” เป็น โรคที่กำลังเดินมาหา หากเป็นเหงือกอักเสบก็ขูดหินปูน หากฟันผุก็อุดฟันเท่านั้น ไม่มีอะไรต้องพูดกันให้มากกว่านี้

เมื่อผ่านการปฏิบัติงานในครั้งนี้ ฉันได้เห็นแนวคิดและวิธีการปฏิบัติอีกมุมหนึ่ง ที่เสนอให้มอง “คนทั้งคน” และการแก้ปัญหาให้แก้กับคน ซึ่งมีหลายองค์ประกอบ ไม่ใช่แก้กับโรค หรือมองโรคเพียงอย่างเดียว ซึ่งแนวคิดนี้ได้เริ่มสะท้อนออกมาผ่านการปฏิบัติต่อคนไข้ในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างไม่รู้ตัว จากก่อนนี้หากเราจะพูดถึงคนไข้ เราแทบจะไม่เรียกชื่อและไม่รู้จัก แต่เราจะเรียก คุณน้อง crown (ครอบฟัน) คุณพี่ bridge(สะพานฟัน) คุณป้า RPD (ฟันปลอมบางส่วนชนิดถอดได้) คุณลุง CD (ฟันปลอมทั้งปาก) หรือหากจะพูดถึงรายละเอียดของแต่ละคน เราก็จะพูดว่า คุณป้า RPD ที่ฟันบนหายไปตั้ง 4 ซี่ ทั้งซ้ายขวา แถมซี่ที่จะเป็น abutment (ฟันหลัก) ก็ยังโยกอีก ซึ่งเป็นการพูดถึงคนแต่ใช้เพียงแค่เรื่องของโรคเป็นตัวแทน โดยแทบจะไม่พูดถึงรายละเอียดของความเป็นมนุษย์ของเขาเลย ซึ่งดูเหมือนจะเป็นสิ่งปกติและเล็กน้อยที่เป็นเพียงแค่คำพูดกันในวงสนทนาของ ”หมอ” แต่ทว่ามันกลับสื่อสะท้อนให้เห็นถึงสายตาที่หมอใช้มองคนไข้

แต่ขณะปฏิบัติงานทันตกรรมป้องกัน หากเราพูดถึงคนไข้เมื่ออยู่ในวงสนทนา ทุกคนจะเรียกชื่อคนไข้ หรือ บอกลักษณะเฉพาะบุคคลของเขา เช่น คุณลุงคนที่มากับแฟน , คุณป้าที่เป็นแม่ของเพื่อน ,น้องหล้าที่อยู่แคมป์ไทใหญ่ หรือ คุณลุงหัวดื้อ หากเราจะพูดถึงรายละเอียดคนไข้ เราจะพูดถึง คุณลุงคนที่มากับแฟน ปั่นจักรยานวันละตั้งไกลไปกับแฟน 2 คน , น้องที่เป็นไทใหญ่น่าสงสารมากเลย บ้านก็ยากจน แต่เป็นเด็กดี…….นี่ก็ดูจะเป็นสิ่งปกติและเล็กน้อยที่เป็นเพียงแค่คำพูดกันในวงสนทนาของ “หมอ” แต่ทว่ามันกลับสื่อสะท้อนให้เห็นถึงสายตาที่หมอใช้มองคนไข้ออกมาอีกแบบหนึ่งที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง การพูดคุยจะกลับมีเรื่องราวของชีวิตคนไข้มากกว่าแค่เรื่องโรค เหมือนเรากำลังพูดคุยกันถึงคน ๆ หนึ่ง ไม่ใช่โรค ๆ หนึ่ง และการที่เราไม่มีแบบฟอร์มซักประวัติให้เช็คและเติมคำในช่องว่าง ทำให้บันทึกประวัติคนไข้ได้บันทึกในกระดาษเปล่า ทำให้รู้สึกเหมือนเรากำลังบันทึกข้อมูลของคนไข้คนนั้นจริง ๆ (เพราะแบบฟอร์มไม่อาจแยกคนจากคนได้ เพราะหากคนสองคนเป็นโรคเดียวกันในแบบฟอร์มจะถูกตีความว่าคน 2 คนนั้นไม่มีความต่างกัน ) ได้บันทึกหลากหลายแง่มุมชีวิตของคนไข้ ทั้งเศรษฐกิจ นิสัย สังคม ความชอบไม่ชอบ โรค ฯลฯ ฉันค้นพบว่าการบันทึกประวัติลงบนกระดาษเปล่าที่ไม่มีแบบฟอร์มกลายเป็นวิธีการบันทึก ข้อมูลของ “คน” คนนั้นได้ดีที่สุด เพราะเป็นไปไม่ได้ที่ชีวิตของคนทุกคน จะมี แบบฟอร์มหนึ่งอันที่หากเติมคำในช่องว่าง จนครบทุกช่องแล้วจะสามารถวินิจฉัย และแก้ปัญหาของคนทุกคนได้ ฃเนื่องจากปัญหาที่เรากำลังแก้อยู่อาจไม่ได้เกิดจากเชื้อโรคอย่างเดียวก็ได้ ดังเช่น น้องนักเรียนชาย ติดเกมส์มาก กลัวหมอฟัน ชอบกินขนม มีฟันผุเต็มปาก พ่อแม่แยกกันอยู่ จึงส่งแต่เงินมาให้ใช้ เป็นต้น ซึ่งคงจะไม่มีแบบฟอร์มที่ไหนจะสามารถใส่เรื่องราวเหล่านี้ไปได้ครบ ถ้าหากเรารักษาน้องคนนี้แค่อุดฟันเพราะฟันผุและสอนแปรงฟันไปตามธรรมเนียมปกติตามแบบฟอร์มบันทึกประวัติ ปัญหาก็คงวนเวียนกลับมาที่เก่า เพราะเราไม่เคยรู้จักน้องคนนี้อย่างที่เขาเป็น

ปริญญาใบนี้จึงไม่ง่ายดายอย่างที่คิด เพราะการเข้าถึงความหมายของ humanized health care และถือปฏิบัติอย่างไม่ละเลย จะเสมือนเป็นบททดสอบชั่วชีวิตของ “ความเป็นหมอ” ที่ไม่ง่ายเลย เพราะบางครั้งสิ่งนี้ก็อาจถูกละเลยหลงลืมตามกาลเวลาที่เลยผ่าน ตามสภาพแวดล้อม ตามระบบงานที่ต้องเผชิญหน้า แต่หากวันใดที่หมอทุกคนลืมคำคำนี้ไปเสียแล้ว ความงามของวิชาชีพ ก็คงจะเหลือเป็นเพียงเครื่องจักรที่ติดเครื่องทำงานตามโปรแกรมการรักษาให้กับโรคที่เดินเข้ามาตามสายพาน

ลองเริ่มต้นเสียใหม่ด้วยการมองคนไข้ที่เดินเข้ามาโดยมองคนไข้เป็นคน ที่มิใช่แค่โรคเดินมาหา และหมอเองนั้นไม่ใช่เพียงแค่หมอรักษา ”โรค” แต่ เป็นหมอที่รักษา ”คน” ด้วยหัวใจของความเป็น “มนุษย์” ดังความตอนหนึ่งของสมเด็จพระราชบิดาที่กล่าวไว้ว่า

“ฉันไม่ต้องการให้พวกเธอเป็นเพียงหมอเท่านั้น แต่ฉันต้องการให้พวกเธอมีความเป็นมนุษย์ด้วย "

หาโรคไม่เจอ เจอแต่...

โดย ปัทมวรรณ สัลละพันธ์

เคยได้รับคนไข้ ที่ทำอย่างไรเราก็หาโรคไม่เจอไหม

เรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้ คือ เรื่องของคนไข้ที่เจอในคลินิกทันตกรรมป้องกัน ซึ่งเป็นคุณลุงคนหนึ่ง หรือถ้าจะให้ถูกน่าจะเรียกคุณตามากกว่า เพราะแกอายุตั้ง 84 ปีแล้ว ตอนคุยกันเมื่อเจอครั้งแรก แกบอกว่าแกไม่มีปัญหาอะไรเกี่ยวกับฟันเลย ที่มานี่ก็เพราะมีเจ้าหน้าที่ของคลินิกโทรศัพท์ไปบอกให้มาตรวจฟัน ก็เลยมา เราเองคิดในใจว่า

“....ซวยละ ถ้าคนไข้เราไม่มีปัญหาอะไรเลย แล้วเราจะทำงานทันตกรรมป้องกันตามที่อาจารย์ต้องการได้ยังไง”

“ถ้าครั้งนี้หาปัญหาไม่เจอ ไม่ได้ทำอะไร แล้วจะทำไงดี ”

“แบบนี้จะต้องรับคนไข้ใหม่รึเปล่านะ ถ้าต้องเริ่มใหม่อาทิตย์หน้า ก็จะช้ากว่าเพื่อนๆด้วยน่ะสิ โอ้..ว.....ไม่นะ!! ”........คิดไปต่าง ๆ นานา..............

พอลองตรวจช่องปากดูพบว่าฟันที่เหลืออยู่ของคุณลุงแข็งแรงมาก แน่น ไม่ผุ และไม่มีร่องลึกปริทันต์เลย จากการพูดคุย พบว่าคุณลุงดูแลรักษาสุขภาพช่องปากดีมาก แปรงฟันทุกครั้งหลังอาหารแม้ว่าจะกินแค่ส้ม 2 ลูกก็ตาม ฟันปลอมที่ใส่ก็ทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ ยังแน่นดีและคุณลุงก็ยังพอใจกับฟันปลอมชุดนี้อยู่ สันเหงือกก็ปกติ สรุปว่าในปากไม่มีรอยโรคใด ๆ สำหรับสุขภาพทั่วไป แม้จะมีโรคประจำตัวแต่คุณลุงได้ตรวจสุขภาพและกินยาตามที่หมอสั่งสม่ำเสมอ นอกจากนั้นยังออกกำลังกายทุกวัน วันละหลายชั่วโมง แกจะปั่นจักรยานทุกเช้าและมักจะปั่นจักรยานไปไหนมาไหนด้วยตัวเองอยู่เสมอ

จากการรวมรวบข้อมูลเห็นว่าคุณลุงสามารถดูแลสุขภาพได้ดีถึงดีมาก สรุปก็คือ ลุงไม่มีความเสี่ยงต่อโรคใด ๆ เลย คิดวกวนในใจอยู่แค่ว่า

“เอาไงต่อดีเนี่ย...........”

“แล้วครั้งหน้าต้องนัดลุงมาอีก จะนัดมาทำอะไรดีอ่ะ.............”

ตอนนั้นลำบากใจมาก เหมือนเราพยายามมองหาโรคในตัวลุง พอไม่เจอก็หมดหนทาง ไม่รู้จะไปต่อทางไหนดี รู้สึกเหมือนเป็นหน้าที่ว่า “...ต้องหาโรคให้เจอนะ พอหาเจอก็รักษา และหาทางป้องกันนะ...”

แต่ประเด็นสำคัญตอนนี้คือ “...ไหนอ่ะ โรค?! เราเป็นหมอ พอไม่เจอโรค แล้วทำอะไรได้อ่ะ.....”

เมื่อเป็นแบบนี้ครั้งหน้าก็ไม่รู้จะนัดลุงมาทำไม เกรงใจก็เกรงใจ กลัวจะเสียเวลาเพราะมาไม่ได้อะไร ก็แค่มานั่งคุยกันเฉย ๆ แล้วยิ่งพอรู้ว่าลุงปั่นจักรยานจากบ้านที่อยู่สี่แยกข่วงสิงห์มาที่คณะด้วยตัวเองทำให้เกรงใจขึ้นไปอีก เพราะไม่ง่ายเลยกับการที่คนแก่อายุ 84 ปีเดินทางคนเดียวจากสี่แยกข่วงสิงห์มาคณะเราด้วยการปั่นจักรยาน แต่ก็คิดว่าเผื่อวันนี้เราอาจจะพลาดหรือลืมอะไรไปทำให้ยังหาโรคไม่เจอ เลยลองถามดูว่าจะมาอีกครั้งได้ไหม ลุงก็ดีไม่มีทีท่าปฏิเสธ เลยให้การบ้านโดยขอให้กลับไปเขียนบันทึกอาหารที่รับประทานในแต่ละมื้อ ทั้งอาหารหลักและอาหารว่าง เป็นเวลา 3 วันเพื่อจะได้นำมาประเมินภาวะทางโภชนาการ และครั้งหน้าจะได้มาวัดอัตราการหลั่งน้ำลายด้วย (ไม่ได้ทำในวันแรกเพราะคิดไม่ทัน) เพราะคนสูงอายุ อัตราการหลั่งของน้ำลายน่าจะน้อย ซึ่งจะทำให้ความเสี่ยงต่อโรคฟันผุสูงขึ้น ลองวัดดูเผื่อจะหาเจอว่าคุณลุงเสี่ยงต่อโรคฟันผุก็ได้

เมื่อมาพบกันครั้งที่ 2 ก็ได้วัดอัตราการหลั่งน้ำลาย พบว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ แถมไม่พอยังมีค่ามากกว่าของน้องอายุ13 ปีที่เป็นคนไข้อีกคนเสียอีก นอกจากนั้นพอคำนวณคะแนนเรื่องโภชนาการจากบันทึกการรับประทานที่ทำมา ก็พบว่าคะแนนอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ทั้งคะแนนของสารอาหารที่ได้รับและการควบคุมอาหารหวาน ลุงเล่าว่าเคยอบรมความรู้เรื่องโภชนาการมาจึงทานแต่อาหารที่มีประโยชน์ ชอบทานผักผลไม้ และหลีกเลี่ยงอาหารที่มีโทษ เช่นไก่ เครื่องใน เพราะจะทำให้ปวดข้อ เมื่อรู้แบบนี้แล้วยิ่งทำให้รู้สึกไม่ดีใหญ่เลย เพราะลุงดูแลสุขภาพตัวเองได้สมบูรณ์แบบมาก

บทสรุปจากความพยายามครั้งที่ 2 ก็คือยังหาโรคไม่เจออยู่ดี ในเมื่อความเสี่ยงต่อโรคไม่มี ก็ไม่รู้ว่าจะป้องกันโรคอะไร จะรักษาก็ไม่รู้ว่าจะรักษาอะไร ทำให้เกิดความรู้สึกผิดขึ้นมาว่าเราทำให้ลุงเสียเวลาเปล่า เลยคิดว่าให้ความรู้อะไรไปบ้างก็ยังดี แต่คิดไปคิดมาลุงก็รู้เยอะแล้วนะ แล้วจะให้อะไรดีล่ะทีนี้...

ตอนนั้นยังเหลือเวลาทำงานอยู่อีกตั้ง 1 ชั่วโมงกว่า ๆ จะให้ปล่อยแกกลับไปก็ทำไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่ความจริงก็เป็นเรื่องน่ายินดีออกนะที่ได้รู้ว่าคน ๆ หนึ่งดูแลเอาใจใส่สุขภาพตัวเองดีขนาดนี้ ในฐานะหมอถ้าเจอแต่คนไข้ประเภทนี้งานคงสบายขึ้นเยอะ หมอก็สบาย คนไข้ก็มีสุขภาพดี ไม่ต้องเจ็บตัว ไม่ต้องเสียเงินเสียทองในการรักษา แต่เราก็ยังรู้สึกว่า...แกยังไม่ได้อะไรจากเราเลยอ่ะ จะปล่อยให้แกกลับไปมือเปล่าเหรอ....

ก่อนที่จะถึงทางตัน แว่บนั้นคิดขึ้นมาว่าทำไมเราต้องคิดกับลุงในแบบที่คนในฐานะหมอคิดต่อคนไข้ด้วย ถ้าเราจะลองรู้สึกกับลุงโดยใช้ความรู้สึกที่มนุษย์คนหนึ่งพึงมีต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันล่ะ

พอคิดได้ก็เริ่มรู้สึกว่าทำไมเราต้องคิดแต่จะให้ข้อมูล ทำไมถึงเอาแต่คิดว่าจะให้การรักษายังไง ทำไมต้องพยายามหาให้แกมีโรคให้

ได้ พอหาด้วยวิธีแรกไม่เจอก็ไปหาด้วยวิธีอื่น เมื่อหาโรคไม่เจอก็ไม่มีอะไรให้รักษา แล้วยังไง.....รักษาไม่ได้ ให้ความรู้ไม่ได้ แล้วทำอย่างอื่นไม่ได้เหรอ ที่เราคิดถึงแต่เรื่องพวกนี้เพราะเรากำลังอยู่ในบทบาทของหมอหรือเปล่า? วินาทีนั้นคิดอะไรเกี่ยวกับงานทันตกรรมป้องกันไม่ออกแล้ว ชั่วโมงที่เหลือต่อจากนี้เลยตัดสินใจว่าจะเลิกสวมบทบาทของนักศึกษาทันตแพทย์ที่กำลังฝึกปฏิบัติงาน แล้วลองทำตัวเป็นเหมือนคนทั่วไป เหมือนลูกเหมือนหลานที่มานั่งคุยกับคนแก่ ก็เลยทำอย่างที่ตัวเองถนัดคือ นอกเรื่องเลยค่ะ ชวนแกคุยไปเรื่อยเลย ทั้งเรื่องครอบครัวแก มีลูกกี่คน หลานเหลนกี่คน อยู่กับใคร ชีวิตประจำวันตั้งแต่เช้าจรดเย็นอย่างละเอียดมีอะไรบ้าง พูดคุยโดยที่ไม่ต้องมีบทหรือแบบฟอร์มซักประวัติว่าต้องถามตามนี้เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่ต้องการแบบนั้นแบบนี้ พูดคุยโดยไม่ต้องสนใจจุดประสงค์ว่าเราจะต้องดึงข้อมูลออกมาเพื่อนำไปประเมินความเสี่ยงหรืออะไรก็ตาม ตอนนั้นเริ่มรู้สึกว่าคุณลุงเล่าเรื่องตัวเองมากขึ้นและดูยิ้มแย้ม ทำให้เรารู้สึกได้ว่าการนั่งคุยกันแบบนี้ แกก็ไม่ได้เสียเวลาอะไรและก็ไม่ได้รังเกียจที่จะเล่าเรื่องส่วนตัว เมื่อกำลังคุยกันอย่างได้อารมณ์และด้วยความที่เราเองก็ไม่คิดอะไร พอคุยถึงเรื่องอาหารการกินทั่ว ๆ ไป ว่าอาหารที่บ้านใครทำ ทำอะไรกินบ้าง อร่อยไหม ทำให้ทราบว่าที่จริงแล้วลุงไม่ได้มีความสุขกับการกินอาหารทุกวันนี้เลยเพราะรสชาติอาหารไม่ถูกปาก แกบอกว่ามันไม่ค่อยอร่อย “ลูกสาวทำมาให้กินก็กินไปอย่างนั้นแหละ บางวันถ้าไม่ไหวจริง ๆ ก็จะลุกขึ้นมาทำเองเลย” คุณลุงเล่าถึงปลาต้มเต้าเจี้ยวและบอกว่าชอบมาก ทำง่ายอร่อยด้วย

เราแปลกใจมากและคิดในใจว่าไม่น่าเชื่อเลยว่าเรื่องจะกลับตาลปัตร จากบันทึกการกินที่ลุงทำมาทำให้เราคิดไปว่าแกมีความรู้ดี กินแต่อาหารที่มีประโยชน์ แต่ที่จริงกลับไม่มีความสุขเพราะไม่ชอบรสชาติอาหารที่กินอยู่ แค่ทนกินไปวัน ๆ อย่างนั้นให้ผ่านไปในแต่ละมื้อ...ทำให้พบว่าเรามองข้ามจุดเล็ก ๆ ไป เป็นจุดเล็ก ๆ ที่สำคัญมากเพราะเป็นสิ่งที่ส่งผลต่อความสุขในชีวิตมากทีเดียว ที่คิดว่าเราเข้าใจแกแล้ว ประเมินไปแล้วว่าแกไม่เสี่ยงต่อโรคใด ๆ ร่างกายแข็งแรงดีต้องมีความสุขแน่ ๆ แต่ความจริงเหมือนเรายังไม่เข้าใจอะไรเลย เพราะเราใช้ความรู้ของเราตัดสินคุณลุงแค่จากข้อมูลที่แกให้ แต่เราไม่ได้ใช้ความรู้สึกของแกในการมองหรือประเมินเลย จึงทำให้เราเกือบจะพลาดที่จะทำความเข้าใจลุงในฐานะมนุษย์คนหนึ่งไปแล้ว เพราะเราลืมไปว่า “การมีสุขภาพดีหรือการที่เราสามารถดูแลสุขภาพของเราได้ดีนั้น ไม่ได้แปลว่าเราจะมีความสุขเสมอไป”

เมื่อคุยกันมาได้พอสมควร ถึงเวลาที่ต้องส่งคุณลุงกลับ ด้วยความรู้สึกขอบคุณที่แกยอมเสียเวลามานั่งคุยกับเรา ทั้งที่ไม่ได้รับการรักษา (ทำให้เรามีงานส่งอาจารย์และไม่ต้องรับคนไข้ใหม่^v^) จึงขออาสาไปส่งแกที่จักรยานแต่คุณลุงไม่ยอมบอกว่าไม่เป็นไรเหมือนจะเกรงใจ เราจึงลากันที่หน้าห้อง แล้วลุงก็เดินลงไปพร้อมรอยยิ้ม

น่าแปลกที่การจบแบบนี้กลับเป็นตอนจบที่รู้สึกดีและขอบคุณที่แกไม่มีปัญหาในช่องปาก เพราะทำให้เราสามารถนอกเรื่อง ได้พูดคุย และได้รับรู้ถึงสิ่งที่การซักประวัติหรือการถามในเรื่องเชิงวิชาการทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงได้

จากเรื่องของคุณลุงคนนี้ ทำให้เราเริ่มกลับมาคิดว่าการที่เราต้องทำหน้าที่หรืออยู่ในบทบาทของนักศึกษาทันตแพทย์ที่กำลังฝึกปฏิบัติงานเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่อาจารย์ตั้งไว้ หลายครั้งทำให้เรามองข้ามอะไรไปมากมาย โดยเฉพาะเรื่องความรู้สึกและมุมมองของคนไข้ สิ่งที่เรียกว่าคะแนนหรือ requirement แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้เราได้ฝึกฝีมือให้อยู่ในระดับที่อาจารย์จะยอมรับและปล่อยให้ผ่านไปได้ก็จริง แต่มันก็กลับทำให้ใครหลาย ๆ คนที่ความจริงแล้วอยากจะรักษาคนไข้ด้วยหัวใจที่มีความเป็นมนุษย์ อยากจะใส่ใจหรือทำอะไรเพื่อคนไข้มากกว่านี้ แต่ก็ต้องลดทอนความรู้สึกนั้นออกไปเพราะมีข้อบังคับมากมายที่กดดันอยู่รอบด้าน โดยเฉพาะในคาบชี้ชะตาว่าเราจะรอดหรือไม่รอด

จากที่ได้พูดคุยกับเพื่อนหลายคน พบว่าหากไม่ใช่คาบชี้ชะตาเราก็มักจะนั่งพูดคุยและรับฟังความคิดเห็นหรือเรื่องส่วนตัวที่คนไข้ต้องการจะเล่าอย่างเปิดใจ โดยที่ไม่ได้รู้สึกรีบร้อนใจมากมาย เพราะโดยส่วนตัวแล้วเชื่อว่าทุกคนมีหัวใจที่พร้อมจะรับฟังและเข้าใจคนไข้เสมอ แต่ในชีวิตจริงคาบที่ไม่ชี้ชะตากลับมีน้อยเหลือเกินในการเรียนการสอนในคลินิกของคณะทันตแพทย์ เนื่องจากงานที่มากมาย และขั้นตอนที่ยากขึ้น ประกอบความกดดันเรื่องการบริหารเวลาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ทำให้ทุกคนคาดหวังว่าในแต่ละคาบเราจะต้องได้งานตามที่ตัวเองต้องการหรือวางแผนไว้ ทุกคนมักจะคิดในทำนองว่า ถ้าวันนี้ทำไม่ได้ถึงขั้นตอนนี้จะทำงานต่อไปไม่ทันแล้ว หรือถ้าวันนี้ไม่เสร็จจะทำงานส่งอาจารย์ไม่ทัน เพราะมีเงื่อนไขทางสิ่งแวดล้อมบังคับเราอยู่ ทั้งอาจารย์ ทั้งเวลาที่จำกัด รวมถึงคะแนนหรือ requirement ทั้งหลาย หัวใจจึงหล่นหายไปจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างเรากับคนไข้ แต่สิ่งที่ทุกคนกลับมีเหมือนกันคือความลังเล ระหว่างใจที่อยากรับฟังและเข้าใจคนไข้ กับอีกใจที่อยากคิดถึงตัวเองว่าจะผ่านหรือไม่ผ่าน เพราะถ้าไม่ผ่าน นั่นหมายถึงการเรียนซ้ำอีก 1 ปี ต้องหลุดจากเพื่อน ๆ ในชั้นปีเดียวกัน เป็นความรู้สึกที่ใคร ๆ ก็ไม่อยากเจอทั้งนั้น สิ่งเหล่านนี้จึงนำมาสู่ความเครียดว่า จะเห็นใจคนไข้ หรือจะเห็นใจตัวเอง แต่ก็ใช่ว่าทั้ง 2 อย่างนี้จะไปด้วยกันไม่ได้เสียทีเดียว ต้องหาจุดที่พอดีที่ทั้งสองอย่างจะอยู่ร่วมกันได้

เมื่อก็รู้กันดีอยู่ว่าถ้าไม่ใช่คาบชี้ชะตาความเป็นมนุษย์จะเกิดขึ้นได้ แต่เหตุใดทุกวันนี้เราจึงมีแต่คาบที่เป็นคาบชี้ชะตาเต็มไปหมด เพราะระบบของคณะ เพราะกฎเกณฑ์ของวิชา เพราะอาจารย์ เพราะคนไข้ หรือเพราะตัวนักศึกษาเองนั่นแหละ? นี่คงเป็นคำถามที่ต้องขบคิดหาคำตอบกันต่อไป แต่ถึงอย่างไรแล้วเชื่อว่าโอกาสครั้งหนึ่งที่ทุกคนได้ใช้หัวใจสัมผัสกับคนไข้นี้ จะทำให้เราสามารถฉุกคิดขึ้นมาในขณะที่ให้การรักษาคนไข้รายอื่น ๆ ในอนาคตได้ว่า ปฏิสัมพันธ์ที่เรามีกับคนไข้และการรักษาที่เราทำอยู่นั้นใช้หัวใจที่มีความเป็นมนุษย์มากพอแล้วหรือยัง

ฉันได้เห็นโลกที่กว้างกว่า

โดยพักตรเลขา แสงหัตถวัฒนา

ย้อนกลับไปเมื่อตอนแรกเข้ามาเรียนในคณะทันตแพทย์ ฉันยังจำได้ว่าฉันเริ่มด้วยความคิดเพียงว่าจะต้องฝึกฝนตัวเองให้มีความสามารถรักษาคนไข้ให้ดีๆ อุดฟันสวยๆ ทำฟันปลอมวิเศษที่ใส่แล้วติดแน่นเหมือนติดกาวตราช้าง และคนไข้สามารถเคี้ยวอาหารได้เหมือนฟันธรรมชาติ คนไข้ที่ปวดฟันมาก็จะทำให้เค้าหาย แนะนำหรือเลือกการรักษาที่ดีที่สุดให้กับเค้า และที่สำคัญที่สุด อย่างที่เคยมีคนบอกฉันว่า ให้ดูแลคนไข้เสมือนหนึ่งดูแลญาติพี่น้องของเราเอง แต่พอได้มาทำงานกับคนไข้จริง ๆ จัง ๆ ฉันกลับพบว่า การเป็นทันตแพทย์ที่ดีนั้นไม่ง่ายอย่างที่คิดเสียแล้ว เพราะความตั้งใจที่จะเป็นทันตแพทย์ที่ดีทำให้ฉันเสียใจอยู่หลายครั้ง แต่ที่จะเล่านี้เป็นครั้งที่ฉันจำฝังใจ

ตอนนั้นฉันเพิ่งขึ้นปี 4 เข้าไปฝึกปฏิบัติการถอนฟันที่คลินิกศัลยกรรมช่องปาก มีคุณยายมาถอนฟันหน้าล่างซี่เดียวที่โยกคลอนเพราะเป็นโรคปริทันต์ขั้นรุนแรง โดยที่แกไม่มีฟันหลังล่างเหลืออยู่เลย ฉันทำทุกอย่างตามปกติไม่ว่าจะเป็นการซักประวัติ หรือวัดความดัน เมื่อทุกอย่างเรียบร้อย จึงไปรายงานอาจารย์เหมือนทุกวัน แล้วกลับมาที่เก้าอี้ทำฟันที่คุณยายนั่งรออยู่

ทันใดนั้นเอง รุ่นพี่คนหนึ่งที่ฉันแอบชื่นชมก็เดินเข้ามาแล้วถามฉันว่า

“น้องกำลังจะทำอะไรเหรอครับ”

ฉันตอบไปทันทีด้วยความตื่นเต้นและรู้สึกดีอย่างบอกไม่ถูก ว่า

“กำลังจะฉีดยาชาให้คุณยายค่ะ”

“แล้วน้องจะฉีดยาชาด้วยเทคนิคไหนครับ” รุ่นพี่ถามต่อ

“Local infiltrate ค่ะ” ฉันตอบ

ในนาทีนั้นเองสายตาที่รุ่นพี่มองฉันเปลี่ยนไป

“ทำไมน้องถึงเลือกวิธีนี้แทนที่จะเลือกใช้ Inferior alveolar nerve block ทั้งๆที่โอกาสที่จะฝึกมาถึงแล้ว คนไข้ที่มาที่นี่เค้าตั้งใจมาอุทิศตัวให้เราฝึกนั่นแหละ ทำไมถึงขี้เกียจ คุณยายยิ่งไม่มีฟันหลังยิ่งทำให้หา Anatomical landmark ยากก็ยิ่งน่าจะฝึกฝน”

พอว่าฉันจบแล้วรุ่นพี่ก็เดินจากไปโดยไม่ถามเหตุผลของฉันสักคำ... ฉันผิดด้วยหรือที่ฉันจะทำให้คนไข้ได้รับปริมาณยาชาน้อยลง ฉีดยาในแบบที่คนไข้ไม่ค่อยเจ็บ หรือทำให้คุณยายไม่ต้องอ้าปากกว้างนาน ๆ โดยที่มีผลการรักษาที่ดี และแน่นอนว่าเป็นวิธีฉีดยาที่ง่ายกว่าด้วย

เหตุการณ์นี้ทำให้ฉันมีความขัดแย้งในใจและรู้สึกสับสน แล้วตกลงจะให้ฉันคิดถึงเรื่องของคนไข้หรือคิดถึงเรื่องของตัวเองกันแน่? ที่บอกว่าให้มองคนไข้เป็นเสมือนญาติพี่น้องของเราล่ะ มันคืออะไร? แต่ที่แน่ ๆ ถ้าคุณยายคนนั้นเป็นคุณยายของฉัน ฉันจะไม่มีวันฝึกฝนทักษะการฉีดยากับท่านเด็ดขาด เพราะมันเป็นสิ่งที่ไม่ชอบธรรมเลย ไม่ว่าจะเป็นยายของฉันหรือคุณยายของใคร หากเพียงแค่เราจะมองคุณยายในฐานะมนุษย์ต่อมนุษย์ด้วยกัน ไม่ใช่มองแบบทันตแพทย์ที่จะต้องฝึกฝน พัฒนาศักยภาพของตนเองอย่างเต็มพิกัด

แต่ก็ใช่ว่าชีวิตจะมีแต่เรื่องชวนให้สับสน เพราะยังมีอีกเหตุการณ์หนึ่งที่ฉันยังจำได้ดีและเป็นสิ่งที่ทำให้ฉันภูมิใจมาก เป็นเรื่องราวของคนไข้คนหนึ่งที่ไม่ธรรมดาเลย

คนไข้คนนี้มีชื่อว่า น้องดอนเป็นผู้ชายอายุประมาณ 21 ปี แม่เป็นพยาบาล พ่อทำงานอยู่ที่โรงไฟฟ้าจังหวัดลำปาง มีน้องสาว 1 คน และแฟนสาวอีก 1 คน ปัจจุบันกำลังเรียนคณะวิทยาศาสตร์ เอกคณิตศาสตร์ ปี 2 ฉันได้รับคนไข้คนนี้มาเพื่อให้คำปรึกษาด้านสุขภาพช่องปากและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเพื่อให้สามารถดูแลสุขภาพช่องปากของตนเองได้ดีขึ้น ตอนแรกฉันคิดว่าการทำงานกับคน ๆ นี้คงไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไร เพราะพื้นฐานทางด้านครอบครัวและการศึกษาค่อนข้างดี ทั้งยังมีแฟนสาวคอยดูแลเอาใจใส่ จึงน่าจะดูแลตัวเองได้ดีพอสมควร

การพบกันครั้งแรกเราสองคนคุยกันด้วยเรื่องทั่ว ๆ ไปคล้ายกับการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ประสบการณ์และทัศนคติ รวมถึงการเก็บรายละเอียดต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน และพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและสุขภาพช่องปาก นอกจากนี้ฉันยังให้ดอนเอาตารางบันทึกจำนวนมื้อและชนิดของอาหารที่รับประทานในแต่ละวัน (Food diary) กลับไปทำเป็นการบ้าน เพื่อที่จะได้นำมาพูดคุยกันในอีก 1-2 สัปดาห์ข้างหน้า

จากการคุยกันในช่วงแรก ดอนบอกฉันว่าแปรงฟันประมาณ 2 ครั้งต่อสัปดาห์หรือเดือน! (เจ้าตัวก็ยังไม่แน่ใจ เพราะจำไม่ได้ว่าแปรงฟันครั้งสุดท้ายเมื่อไร) ตอนแรกที่ได้ยินฉันแทบไม่เชื่อหูตัวเองจนต้องถามซ้ำหลายรอบ ตอนนั้นคิดว่า นี่ฉันกำลังเจอกับอะไรอยู่ แล้วจะทำอย่างไรต่อไป คิดแล้วก็สรุปในใจอีกรอบหนึ่งว่า ฉันจะต้องเก็บข้อมูลของคน ๆ นี้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วก็ต้องมีการประเมินสถานการณ์เป็นพัก ๆ ด้วย ฉันปลอบใจตัวเองว่า มาถึงขั้นนี้แล้ว งานจะสำเร็จหรือไม่นั้นไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุด แต่การที่ได้ใช้ความพยายามกับงานนั้นสำคัญกว่า

เมื่อคิดได้ดังนี้ ฉันจึงถามคำถามต่อไปถึงสาเหตุที่แท้จริงของการที่น้องดอนไม่แปรงฟันเหมือนคนทั่วไป ซึ่งน้องให้เหตุผลว่า

“การแปรงฟันไม่เคยเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและผมอยากใช้เวลาส่วนนี้มาอ่านหนังสือที่ชอบเพื่อเปิดโลกกว้างให้กับตนเองมากกว่า”

เมื่อได้คุยกันมากขึ้น ฉันได้พบว่าดอนคลั่งไคล้การอ่านวรรณกรรม และสนใจในการศึกษาตีความเรื่องราวแปลกใหม่ต่าง ๆ จึงเข้าเป็นสมาชิกของชมรมวรรณศิลป์ของมหาวิทยาลัย และใช้ชีวิตกินนอนอยู่ที่ชมรม โดยมีหอพักเป็นเพียงที่เก็บของ เป็นอันว่าถ้าเห็นหนังสือเล่มไหนน่าสนใจหรือมีคนแนะนำมาว่าเป็นหนังสือที่ดีเป็นต้องหามาอ่านให้ได้ทุกครั้ง

ทุกครั้งที่มาพบฉัน ดอนจะมาพร้อมกับกระเป๋าใบใหญ่ที่บรรจุสิ่งของเครื่องใช้มากมาย ราวกับบรรจุชีวิตทั้งหมดอยู่ภายในกระเป๋าใบใหญ่นี้ แน่นอนว่าสิ่งที่ขาดไม่ได้ในกระเป๋าก็คือหนังสือวรรณกรรมเล่มเขื่อง ครั้งหนึ่งที่พบกันดอนหยิบหนังสือเรื่องดอน กิโฆเต้ ซึ่งถือเป็นวรรณกรรมที่โด่งดังของโลก (ที่ฉันก็เพิ่งเคยได้ยินชื่อครั้งแรก) ออกมาให้ฉันดู ภายหลังฉันค่อยได้ทราบว่าหนังสือเล่มนี้ถูกกล่าวขวัญถึงขนาดว่า ถ้าในชีวิตคน ๆ หนึ่งสามารถเลือกอ่านหนังสือได้เพียงเล่มเดียว หนังสือเล่มนี้เป็นเล่มที่ควรค่ามากที่สุดที่จะอ่าน

นอกจากการท่องโลกกว้างในหนังสือแล้ว ดอนยังทำสิ่งสร้างสรรค์ต่าง ๆ มากมายในโลกของความเป็นจริง อาทิเช่น การเรียกร้องปกป้องสิทธิของนักศึกษาภายใต้การออกนอกระบบของมหาวิทยาลัย เพื่อไม่ให้นักศึกษาต้องจ่ายเงินค่าหน่วยกิตแพงขึ้น ซึ่งถือเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับนักศึกษาทั้งมหาวิทยาลัยโดยตรงและจะเป็นประโยชน์มากสำหรับนักศึกษาที่มีฐานะทางบ้านยากจน

เรื่องราวของดอนทำให้ฉันรู้สึกแปลกใจมาก ทั้ง ๆ ที่เขาและฉันต่างก็เป็นเด็กสายวิทย์เหมือนกัน ในขณะที่ฉันมัวใส่ใจกับเรื่องการเกิดฟันผุและการแปรงฟันของเค้า แต่ดอนกลับมองโลกในมุมมองที่กว้างกว่าฉันอย่างเทียบไม่ได้

วกกลับมาคุยเรื่องพฤติกรรมการแปรงฟัน ดอนบอกว่า

“สมัยเด็กตอนที่ผมยังอยู่กับพ่อแม่ ไม่มีใครจ้ำจี้จ้ำไชให้ไปแปรงฟัน เนื่องจากการเลี้ยงดูของครอบครัวผมจะเน้นให้ดูแลตัวเอง รู้เวลา รู้หน้าที่ พอโตขึ้นมาผมเองก็ไม่ได้ใส่ใจหรือคิดว่าการแปรงฟันเป็นสิ่งสำคัญ”

“แล้วไม่แปรงฟัน ไม่รักษาสุขภาพช่องปากอย่างนี้ ไม่กลัวฟันผุหรือมีกลิ่นปากเหรอ” ฉันถาม

“ไม่เห็นเป็นไรเลย ฟันผุก็ไปรักษา ให้หมออุดให้ แต่ที่เห็นผุอยู่ตอนนี้ 11 ซี่แล้วยังไม่ได้ไปอุดเพราะว่ายังไม่มีเงิน” น้องดอนตอบ

“แล้วทำไมไม่ขอเงินแม่มารักษาฟันล่ะ” ฉันถามต่อไป

“โอ๊ยพี่หมอ เรื่องอย่างนี้มันเรื่องส่วนตัวนะ ผมไม่รบกวนพ่อแม่หรอก ปากของผมผมต้องรักษาเอง เดี๋ยวเอาไว้เดือนหน้าถ้าผมมีตังค์ค่อยอุด” เมื่อดอนพูดจบเวลาก็หมดลงพอดี

จากการคุยกันในครั้งนี้ทำให้ฉันกับดอนคุ้นเคยกันมากขึ้น ฉันนำข้อมูลทุกอย่างมาประเมิน เพื่อหาจุดเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม และตั้งคำถามสำหรับการนัดครั้งต่อไป

สัปดาห์ต่อมา ฉันนัดดอนกลับมาดูแบบบันทึกตารางการกินที่ให้กลับไปทำเป็นการบ้านเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เพื่อประเมินความเสี่ยงของการเกิดโรคฟันผุ วันนี้ฉันสังเกตได้ว่าน้องแต่งตัวแปลกไป คือ นุ่งโสร่งที่มีสีสันสดใสเข้ามาในคลินิก ดอนบอกว่าครั้งแรกที่นุ่งกางเกงมาเพื่อมาหยั่งเชิงดูก่อน แต่พอเห็นว่าที่นี่บรรยากาศสบาย ๆ ก็เลยแต่งตัวตามปกติ การเจอกันครั้งนี้ดอนทักฉันด้วยคำถามแรก คือ

“เพศสัมพันธ์มีผลต่อสุขภาพช่องปากไม๊ครับ”

ฉันทำหน้างง !

“Oral sex ไงครับ ก็พี่บอกผมว่าอะไรที่เอาเข้าปากทุกอย่างก็ให้บันทึกลงในตารางการกิน”

ฉันตกใจกับคำถามแทบสิ้นสติ แต่ก็พยายามตั้งสติที่มีเหลืออยู่น้อยนิดถามกลับไปว่า

“แล้วมีเพศสัมพันธ์แบบนี้เป็นประจำรึเปล่า ถ้าไม่ได้ทำเป็นประจำ เป็นกิจวัตรเหมือนกับการที่เรารับประทานอาหารก็ไม่ต้องบันทึกลงไป”

จากคำถามเหล่านี้ ทำให้ฉันรู้ได้เลยว่า น้องดอนเป็นคนที่มีบรรทัดฐานทางสังคมที่ต่างจากคนทั่ว ๆ ไป คือ เหมือนเค้ารู้ว่าบรรทัดฐานทางสังคมของคนทั่วไปเป็นอย่างไร แต่เค้าเองเลือกที่จะแสดงออกมาในรูปแบบของตนเองโดยไม่สนใจบรรทัดฐานของสังคม

ดังนั้นสิ่งที่ฉันต้องทำกับคน ๆ นี้ คือ จะต้องเปิดใจให้กว้างยอมรับความแตกต่าง ยอมรับว่าเขาก็เป็นมนุษย์อีกคนหนึ่งที่ไม่เหมือนเรา ทั้งความคิดและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ พยายามลดอคติต่าง ๆ ที่เกิดมีขึ้นภายในใจ และความสงสัยว่า น้องดอนเป็นคนยังไง เป็นอันตรายไหมและน้องต้องการอะไร

ความสงสัยปนหวาดระแวง เป็นอคติตัวสำคัญที่เกือบทำให้ฉันหมดกำลังใจและล้มเลิกงานนี้ แต่ด้วยความมุ่งมั่นและการตัดสินใจมาตั้งแต่ต้นแล้วว่า ฉันจะต้องทำงานนี้ให้ดีที่สุด ถึงแม้ว่าความพยายามลดอคติที่มีต่อน้องดอน แล้วมองข้ามไปนั้น เป็นสิ่งที่ยากยิ่งสำหรับฉัน และอาจจะสำหรับคนทั่วไปด้วย

ฉันเริ่มละลายอคติของตัวเองและกดปุ่มเริ่มต้นใหม่ เรียนรู้ดอน ด้วยความปรารถนาดี ที่อยากจะช่วยเหลือ และให้โอกาสน้องได้แสดงศักยภาพในตนเอง โดยส่วนตัวแล้ว ฉันมีความเชื่อพื้นฐานอย่างหนึ่งว่า มนุษย์ทุกคนอยากที่จะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น เพียงแต่จะหาหนทางไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่เท่านั้นเอง

สำหรับดอนฉันคิดว่าสามารถหาจุดเปลี่ยนแปลงของเค้าได้ (แต่นั่นก็หลังจากที่ฉันก้าวข้ามอคติของตัวเองออกมาแล้ว) น้องเป็นคนที่ชอบพึ่งพาตนเองในสิ่งที่คิดว่าเป็นเรื่องส่วนตัว ดังนั้นฉันจึงต้องทำให้ดอนตระหนักได้ว่า เรื่องการแปรงฟันหรืออนามัยช่องปากก็เป็นเรื่องส่วนตัวที่เขาจะต้องดูแลเช่นกัน ส่วนวิธีการที่ฉันใช้นั้นมันง่ายเกินกว่าที่ใครจะคิด เพราะเมื่อเริ่มคุ้นเคยกันมากขึ้นฉันก็แค่นั่งคุยและท้าทายดอนว่า

“การที่น้องดอนมีฟันผุ 11 ซี่ทั้งยังมีกลิ่นปากเป็นเรื่องส่วนตัวของดอนจริงรึเปล่า ถ้าเป็นจริงแล้ว ทำไมยังต้องให้แฟนต้องไล่ให้ไปแปรงฟันทุกครั้งที่อยู่ใกล้กัน แล้วก็ต้องมาหาหมอ ให้หมอช่วยอุดฟันให้ล่ะ ไหนจะต้องขอเงินพ่อแม่อีก แบบนี้คงไม่ใช่เรื่องของน้องคนเดียวแล้วมั้ง ไหนน้องเคยบอกว่าปากผมผมรักษาเองไงล่ะ”

น้องดอนนิ่งไปสักพักหนึ่งแล้วหันมาพูดกับฉันว่า “ถ้างั้นพี่ช่วยอะไรผมอย่างหนึ่งนะ ช่วยสอนผมแปรงฟันหน่อย ผมแปรงไม่ค่อยเป็นน่ะ”

จู่ ๆ ดอนก็ตอบรับคำท้าของฉัน ที่ทำให้ฉันทั้งงงและดีใจ ที่สุดท้ายดอนก็ตัดสินใจที่จะเปลี่ยนแปลงด้วยตัวของเค้าเอง แต่ฉันก็อดคิดเข้าข้างตัวเองไม่ได้ว่าสิ่งสำคัญที่ทำให้ตอบรับ คงเป็นเพราะกระบวนการต่าง ๆ ระหว่างการทำงาน ที่ทำให้ทั้งน้องดอนและฉันไม่รู้สึกว่าเราอยู่ในฐานะคนไข้กับหมอ แต่เราเป็นเพื่อนมนุษย์ที่มีความจริงใจและความปรารถนาดีให้แก่กัน

ถึงตอนนี้น้องดอนอยากแปรงฟันให้เหมือนคนทั่ว ๆ ไป คืออยากแปรงฟันวันละ 2 ครั้ง ถึงแม้ว่าการเปลี่ยนแปลงจะไม่ใช่เรื่องยากเกินความพยายาม แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนัก เพราะการแปรงฟันไม่เคยเป็นส่วนหนึ่งของกิจวัตรประจำวัน ดอนจึงกลัวว่าจะลืมแปรงฟัน ดอนเลือกวิธีแก้ปัญหานี้ด้วยการไปซื้อยาสีฟันหลอดยักษ์แพ็คคู่และน้ำยาบ้วนปากขวดใหญ่มาพกไว้ในกระเป๋าที่ติดตัวไปไหนมาไหน น้องบอกว่ามันใหญ่ดีจะได้มองเห็นและสังเกตได้ง่าย เป็นการช่วยเตือนความจำไม่ให้ลืมแปรงฟัน

ในกระบวนการของการเรียนรู้ในโรงเรียนทันตแพทย์นั้น ความรู้ทางทฤษฎีและทักษะในการปฏิบัติงาน เป็นสิ่งที่ถูกเน้นย้ำให้ความสำคัญมาก จนถือเป็นหัวใจของการเรียนเลยก็ว่าได้ คณาจารย์ส่วนใหญ่จึงพยายามที่จะกดดันกลั่นทันตแพทย์ที่ดีในด้านความรู้และทักษะให้ควบแน่นออกมา โดยทำให้บางครั้งก็ลืมและมองข้ามทักษะชีวิตในเรื่องของการมองผู้อื่นอย่างเข้าใจ เห็นใจ และปรารถนาดีไปบ้าง ทำให้การเป็นทันตแพทย์ที่ดีดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่เข้าใจยากเสียจริง ๆ

แม้ว่าจะอยู่ปี 5 แล้ว ฉันก็ยังไม่มั่นใจเลยว่าตนเองจะเข้าใจถึงความหมายของการเป็นทันตแพทย์ที่ดี และสามารถเป็นทันตแพทย์ที่ดีได้จริง ๆ ซึ่งมันคงเป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างได้หล่อหลอมฟูมฟักให้ฉันออกมาเป็นอย่างนี้ แต่อย่างน้อยตอนนี้ฉันก็ได้เข้าใจว่าการมองผู้อื่นด้วยมุมมองที่เล็กและแคบเต็มไปด้วยอคติ จะปิดกั้นทำให้เราไม่อาจรู้จักหรือเข้าใจผู้อื่นได้จริงๆ ดังเช่นครั้งแรกที่ฉันพบกับน้องดอน

ฟันผุ สิว และความสุขของฝ้าย

โดย เมทินี ใจเที่ยง

ระหว่างฟันผุ กับ สิวขึ้น อะไรเป็นปัญหาสำคัญมากกว่ากัน? หากถามนักศึกษาทันตแพทย์ คำถามนี้คงตอบได้ไม่ยาก เพราะส่วนมากก็คงจะตอบว่าฟันผุ แต่ในสายตาคนทั่วไป ฟันผุสำคัญอย่างนั้นเชียวหรือ?

แม้ว่าฉันเพิ่งได้ยินเรื่อง humanized health care เมื่อไม่นานมานี้ และหลายคนอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องใหม่ แต่ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก กรมหลวงสงขลานครินทร์ เคยกล่าวเอาไว้ว่า “ฉันไม่อยากให้เธอเป็นหมอแต่อย่างเดียว แต่อยากให้เธอเป็นคนด้วย” คำพูดนี้นอกจากจะสะท้อนความห่วงใยที่ทรงมีต่อแพทย์รุ่นใหม่ ว่าจะหลงลืมสิ่งสำคัญที่สุดไป คือการยังอยู่ในฐานะมนุษย์แม้จะมีหัวโขนและหน้าที่รับผิดชอบชีวิตผู้อื่นอยู่ก็ตาม คำพูดประโยคสั้น ๆ นี้กระมังที่พอจะอธิบายความหมายของ humanized health care ได้โดยไม่ยืดยาวเกินไปนัก และพอจะเป็นแรงบันดาลใจให้ฉันตรึกตรองถึงคำนี้อีกครั้ง

นึกย้อนกลับไปยามฉันยังเยาว์ ฉันมีความฝันที่คงจะเป็นฝันร่วมกับเด็กอีกหลายๆคน คือฝันอยากเป็นหมอเพื่อช่วยเหลือผู้คน เมื่อเติบใหญ่ฝันนั้นไม่เคยเปลี่ยน แม้จะเบนเข็มมาเรียนทันตแพทย์เพราะเห็นว่าเหมาะกับตัวเองมากกว่า ก็ยังคงคิดว่าจะได้ช่วยคนอื่นเท่าที่ช่วยได้ อุดมการณ์ในขณะนั้นแรงกล้าจนไม่คิดว่าจะมีอะไรสามารถเปลี่ยนแปลงมันได้

ทว่าเมื่อเวลาผ่านไป แปลกแต่จริงที่เมื่อยามสวมถุงมือกับเสื้อกาวน์ขาว ๆ ดูสะอาดตานั้น ความเป็นคนมันกลับลดลงไปอย่างน่าประหลาดใจ จนดูราวกับว่าการเรียนรู้ในคณะทันตแพทยศาสตร์แห่งนี้นอกจากฉันจะเรียนรู้ที่จะเป็นหมอแล้ว บางครั้งฉันยังรู้สึกว่าจะต้องเลือกว่าจะเป็นหมอหรือเป็นคนอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้นด้วย

ยังจำได้…เมื่อครั้งที่ฉันได้มีคนไข้เป็นของตัวเองครั้งแรกนั้นรู้สึกว่าหัวใจพองโตและคนไข้ของฉันช่างสำคัญเหนืออื่นใด แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไปก็ชักจะจำคนไข้ไม่ได้เสียแล้ว เคยมีคนตัดพ้อกับฉันว่า “ผมจำหมอฟันของผมได้นะ แต่คุณหมอไม่เคยจำผมได้เลย” หรือไม่ก็บ่นว่า “ได้คุยกับหมอฟันน้อยมาก ดูเหมือนเวลาเป็นเงินเป็นทองไปหมด” ฉันเองก็เคยเป็นคนไข้จัดฟันของคุณหมอท่านหนึ่งเหมือนกัน ความเก่งของหมอนั้นฉันไม่สงสัยเลย แต่แม้จะพบคุณหมอเป็นประจำตลอดสามปี ฉันก็รู้จักได้เพียงแต่ชื่อของหมอและรู้ว่าหมอเรียนจบจากต่างประเทศเท่านั้น

เมื่อเวลาผ่านไป… ฉันเองก็ยอมรับว่าไม่สามารถจดจำคนไข้ทุกคนได้เช่นกัน บ่อยครั้งก็ถามคำถามที่เคยถามไปแล้วซ้ำ ๆ อาจเป็นเพราะทำงานด้วยความตั้งใจ มุ่งมองที่งานจนลืมด้านอื่นๆของชีวิตไปหมด บางครั้งคิดว่าน่าจะใช้หัวใจทำงานมากกว่านี้ แต่ก็อดคิดไม่ได้ว่าจะเป็นอย่างไรหากเราใช้ความรู้สึกมากจนเลยขีดคั่นความพอดี การใช้ความรู้สึกในการทำงานนั้นดีจริงหรือไม่ ไม่ใช่ความรู้สึกหรอกหรือที่สร้างความลำบาก ทุกข์ใจ ความเศร้าสลด และงานที่ไม่สำเร็จ…

การจะเป็นหมอที่ดีนั้นยากจริง ๆ ....

การฝึกปฏิบัติงานในคลินิกทันตกรรมป้องกันมอบประสบการณ์ชีวิตด้านใหม่ให้แก่ฉัน คือการบอกให้ลองเป็นหมอที่ไม่ต้องสวมถุงมือหรือเสื้อกาวน์ขาวตัวยาว มีให้แต่คนไข้ เก้าอี้ธรรมดา และเวลาอันดูยาวนานในสายตาของฉัน ขอสารภาพตามตรงว่าเมื่อต้องพูดคุยแต่เพียงอย่างเดียวนั้น ฉันกลับไม่กล้าเรียกตัวเองว่าหมอ เพราะรู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า และเสียความมั่นใจ คงเพราะอีโก้ที่เคยมีถูกสั่นคลอนด้วยสายตาคาดหวังจากคนไข้และภาระที่ถูกมอบหมายจากอาจารย์คือ “การเข้าใจคนอื่น…” (เจอแบบนี้เป็นใครก็เสียเซลฟ์กันทั้งนั้น) แต่การเข้าใจคนอื่นช่างเป็นงานที่ท้าทายและฉันก็คิดว่าได้พยายามทำอย่างเต็มที่แล้วเช่นกัน

คนไข้ของฉันเป็นเด็กนักเรียนชั้น ม.1 ชื่อว่าน้องฝ้าย ฝ้ายเล่าให้ฉันฟังว่าครูได้พยายามคัดกรองเด็กที่มีฟันผุมาก ๆ เพื่อมาเข้ารับบริการที่คลินิกทันตกรรมป้องกัน ตามการประสานงานระหว่างโรงเรียนและคณะทันตแพทยศาสตร์ เด็กธรรมดา ๆ คนหนึ่งจึงกลายเป็นคนที่ถูกครูตราหน้าว่าเป็นตัวอันตรายทั้งที่เจ้าตัวไม่ได้รู้เรื่องอะไรด้วยและไม่มีความต้องการจะรักษาอะไรเลย เมื่อแรกพูดคุยกับน้องฝ้ายนั้น ฉันรู้สึกว่าน้องฝ้ายเป็นเพียงเด็กธรรมดา ๆ คนหนึ่งที่เรื่องฟันยังไม่ใช่ปัญหาใหญ่ที่ควรให้ความสำคัญ คงมีแต่เพียงทันตแพทย์เท่านั้นที่รี่ไปชี้ว่า “หนูมีปัญหาเสียแล้ว” ฉันยังจำได้ตอนที่อยู่ ม.1 ฉันคิดไปว่าสำหรับวัยนั้นฟันผุคงไม่สำคัญไปกว่าสิวขึ้น และเราจะว่าอย่างไร หากมีคนมาบอกว่าเรามีสิวมากติดอันดับเจ็ดของห้อง เราจะรู้สึกว่าคนนั้นมีสิทธิ์โดยชอบธรรมที่จะมานับสิวของเราและสอนวิธีทำความสะอาดใบหน้าพร้อมเคล็ดลับกำจัดสิวหรือไม่ และเราจะว่าอย่างไรหากวิธีนั้นทั้งหมดก็ไม่อาจรักษาสิวของเราได้ ทำได้เพียงป้องกัน และหากเรามีสิวเม็ดใหม่ขึ้นมา เราจะต้องโทษตัวเองว่าเราไม่ได้ดูแลตัวเองเท่าที่ควรอย่างนั้นหรือ

ความจริงก็คือฝ้ายฟันผุเพราะฝ้ายยังมีชีวิตและฝ้ายต้องใช้ชีวิต ความจริงก็คือฝ้ายมีฟันผุเพราะเธอชอบกินอาหารที่เด็กคนไหน ๆ ในโลกก็ชอบ ความจริงก็คือฝ้ายหาความสุขระหว่างรอรถนักเรียนมารับด้วยการกินและเล่น ความจริงก็คือร้านอาหารแถวนั้นไม่ได้ขายอาหารชีวจิต ความจริงก็คือที่บ้านของฝ้ายเป็นร้านขายขนมที่ยั่วยวนใจยามหิว ความจริงก็คือแม่ของฝ้ายทำงานหาเงินคนเดียวและไม่มีเวลาดูแลให้ฝ้ายแปรงฟันก่อนนอน ความจริงก็คือ…ฯลฯ

แล้วฉันจะกล้าว่าอย่างไรได้ นอกจากยอมรับและเข้าใจ แม้ไม่อาจเข้าไปนั่งในหัวใจคนอื่นได้จริงๆ แต่ในฐานะที่เคยเป็นเด็ก ฉันรู้ว่าการที่ครูหรือใครก็ตามมาคัดเลือกเราให้อยู่ในกลุ่มของคนที่มีปัญหานั้น สามารถสร้างบาดแผลในหัวใจดวงเล็ก ๆ ได้ สำหรับเด็กที่กำลังย่างเข้าสู่วัยรุ่น แค่การประคับประคองชีวิตให้อยู่ได้ในสังคมปัจจุบันก็ยากยิ่งพออยู่แล้ว ฟันผุและเหงือกอักเสบคงไม่ทำให้ถึงกับตาย และไม่ทำให้โศกเศร้าเสียใจได้เท่ากับ สิวขึ้น แฟนทิ้ง รักเขาข้างเดียว ทะเลาะกับเพื่อน หรือการไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้วตัวเองเป็นใคร

ฉันจึงไม่พยายามทำให้ฝ้ายมองเห็นปัญหาใหญ่กว่าที่มันเป็นจริง ๆ ฉันจึงไม่สักแต่ยัดเยียดให้ฝ้ายคิดแต่เรื่องฟันและรู้สึกผิดไปมากกว่าที่ควรจะเป็น ฉันพยายามบอกฝ้ายว่าพี่เข้าใจ แม้มันจะเป็นเพียงแค่ลมปาก แต่ฉันก็อยากให้ฝ้ายรับรู้ว่าตราบใดที่พี่ไม่ได้สวมเสื้อกาวน์ มันก็ไม่เป็นปัญหาเลยจริงๆ

สิ่งหนึ่งที่ฉันค้นพบจากการพยายามเรียนรู้ในการทำงานทันตกรรมป้องกันก็คือ จากตอนแรกที่ไม่กล้าเรียกตัวเองว่าหมอเมื่อไร้เครื่องมือ แต่เมื่อได้นั่งลงคุยกับคนไข้อย่างเท่าเทียมกัน เพื่อเรียนรู้ชีวิตคนอื่นอย่างเปิดใจแล้ว ภายหลังจึงเห็นถึงความงาม และพบว่าไม่อาจจะรู้สึกว่าตัวเองเป็นหมอจริงๆไปได้มากกว่านี้แล้ว

หาก humanized health care ถือการเข้าใจคนอื่นเป็นสำคัญแล้ว แม้ฉันไม่อาจพูดแทนใจใครได้ แต่การพยายามเข้าใจและมีหัวใจของการอยากจะเข้าใจคนไข้นั้นสำคัญ ทันตแพทย์ควรเห็นคุณค่าชีวิตมนุษย์ ไม่เพียงแต่เพราะคุณค่านั้นเกิดจากการที่คนคนนั้นคิดเหมือนกับเรา ดำเนินชีวิตตามมาตรฐานของเรา แต่เคารพความงามของความแตกต่างด้วย สิ่งเหล่านี้ก็คงพอจะช่วยให้เราตอบตัวเองได้บ้างในวันที่เกิดคำถามยากๆ เช่นว่า วันนี้เราเป็นหมอที่ดีแล้วหรือยัง?

ในฐานะคริสเตียนฉันมีความเชื่ออย่างหนึ่งที่มั่นคงเสมอว่าพระเจ้าทรงสร้างจิตสำนึกในใจมนุษย์ทุกคน เราไม่จำเป็นต้องมีการศึกษาสูงเราก็รู้ว่าควรทำดีกับคนรอบข้างอย่างไรและการกระทำใดที่ใจเราจะฟ้องว่าผิด แต่หากเราเลือกที่จะละเลย นานวันเข้าเมื่อเราทำผิดซ้ำแล้วซ้ำอีก เราก็จะไม่รู้สึกผิดอีกต่อไปและมีใจหยาบกระด้าง เรื่องนี้ก็คงเหมือนกับการที่เราเลือกจะมองข้ามความเป็นคนและเรื่องอื่นๆในชีวิตของคนไข้เพื่อให้การทำงานของเรานั้นง่าย วันหนึ่งเราจะชินและไม่รู้สึกผิดกับสิ่งที่เราไม่ใส่ใจ ในที่สุดเราจะคิดว่า humanized health care เป็นอุดมคติมากเกินไป ขณะเดียวกันเมื่อใจเราแข็งกระด้าง ความเป็นหมอที่เราเคยภาคภูมิใจ แท้จริงแล้วก็เหลือเพียงอาชีพที่หาเลี้ยงตัวเองแขนงหนึ่งเท่านั้น

วันที่มีความสุข

โดย วรวงษ์ เทพวงษ์

เมื่อครั้งที่ผมอยู่คลินิกทำฟันสำหรับนักศึกษาทันตแพทย์ชั้นปีที่ 5 ผมเคยสงสัยเหมือนกันว่าการสอนสุขอนามัยช่องปากให้แก่คนไข้ทุกรายเหมือนกันหมด คือ ให้แปรงฟันด้วยวิธี Modified Bass’ technique (เป็นวิธีการแปรงฟันที่ได้รับการยอมรับว่ากำจัดคราบเศษอาหารได้ดีแต่ต้องอาศัยทักษะในการจับและขยับแปรงค่อนข้างมาก) แล้วมันจะได้ผลจริง ๆ หรือ ในเมื่อคนไข้แต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนก็สนใจและตั้งใจทำตามที่เราสอน แต่กับบางคนก็ไม่มีทีท่าว่าจะสนใจเลย เอาแต่พยักหน้า “ครับ ค่ะ” แต่ก็ไม่ได้ตั้งใจฟังเราจริง ๆ ในใจคงคิดว่า “นี่หมอจะพูดอะไรมากมายวะ ฉันมาขูดหินปูนนะ ไม่ได้มาเพื่อนั่งฟังหมอสอนอะไรก็ไม่รู้” ทำให้ผมไม่ค่อยมีความสุขกับการทำคลินิกมากเท่าที่ควร ผมรู้สึกว่าตัวเองสอนคนไข้แปรงฟันแบบให้มันเสร็จ ๆ ไป จะได้รีบขูดหินปูนให้เสร็จ จะได้ไม่ต้องนัดคนไข้มาอีก

แต่เมื่อได้มาลองทำงานทันตกรรมป้องกัน และต้องรับผิดชอบคนไข้เด็กนักเรียน ทำให้ผมรู้สึกว่างานนี้สามารถตอบคำถามที่ผมสงสัยมาตลอด ด้วยแนวคิดที่ว่า คนไข้แต่ละรายไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นการให้มาตรการทางทันตกรรมป้องกันจึงต้องแตกต่างกันไปในแต่ละราย คนไข้เด็กนักเรียนของผมนั้น ชื่อ น้องตูน เป็นเด็กผู้หญิง บุคลิกดูเหมือนเป็นหัวโจกในกลุ่ม ค่อนข้างดื้อ และชอบเล่นซน ไม่เรียบร้อยเหมือนเด็กผู้หญิงทั่วไป

ในชั่วโมงแรกที่เราได้พบกัน เราทั้งสองเริ่มต้นด้วยการแนะนำตัวเองนิดหน่อย ว่าตัวเองเป็นใคร มาจากไหน จากนั้นผมก็เริ่มพรั่งพรูความรู้วิชาการที่ผมได้ร่ำเรียนมา เพื่อหวังจะให้น้องตูนเชื่อถือในตัวผม ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง โครงสร้างของกระดูกและฟัน สาเหตุของการเกิดโรคฟันผุ การดูแลสุขภาพช่องปาก และอะไรต่อมิอะไรมากมาย แต่น้องตูนกลับแสดงท่าทีเบื่อหน่าย ไม่อยากฟัง ผมจึงเปลี่ยนให้น้องตูนเป็นฝ่ายเล่าเรื่องของตัวเองให้ฟังบ้าง น้องตูนก็เล่าเพียงสั้น ๆ ว่า ไม่ค่อยสนใจเรื่องการแปรงฟัน บางวันขี้เกียจก็ไม่แปรงเลย และเป็นคนที่ชอบกินโค้กมาก ต้องกินทุกวัน กินวันละ 4-5 ขวด ผมจึงแนะนำไปว่า น้ำอัดลมส่วนใหญ่มีส่วนผสมของน้ำตาล ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดฟันผุ ทำไมไม่ลองเปลี่ยนมาดื่มโค้กไดเอท (Diet) แทน น้องตูนตอบเพียงสั้น ๆ ว่า เคยลองแล้ว ไม่ชอบ และยังยืนยันที่จะกินโค้กต่อไป ตอนนั้นผมคิดในใจว่า งานนี้คงเหนื่อยแน่ เพราะคงไม่สามารถใช้วิธีสอนหรือพูดตรง ๆ เพื่อให้เขาปฏิบัติตามได้ ท้ายชั่วโมงผมได้ให้การบ้านเป็น Food diary ซึ่งเป็นการบันทึกรายการอาหารและเครื่องดื่มที่รับประทานในแต่ละวัน เป็นเวลา 3 วัน ไปทำ น้องตูนแสดงท่าทีเบื่อหน่ายเช่นเคย แต่ก็พยักหน้าและรับปากว่าจะทำมา

ในชั่วโมงที่สอง ก็เป็นไปตามที่ผมคาดเดาไว้คือ น้องตูนไม่ได้ทำการบ้านมา ตอนนั้นผมรู้สึกว่าตัวเองโชคร้าย ที่ได้น้องตูนเป็นคนไข้ แต่ก็ให้กำลังใจตัวเองว่า ในชีวิตจริงเราต้องเจอคนไข้หลายรูปแบบ มีทั้งดีและไม่ดี อาจจะแย่กว่านี้ด้วยซ้ำ แต่เราก็ต้องพยายามเข้าใจคนเหล่านั้น เพราะคนแต่ละคนไม่เหมือนกัน วิธีรักษาคนไข้มีเป็นล้านวิธี มันต้องมีสักวิธีหนึ่งที่ใช้ได้กับน้องตูน เพราะฉะนั้นผมจึงใช้เวลาทั้งหมดในการนั่งคุยกับน้องตูน ชวนคุยในสิ่งที่เค้าชอบ เช่น เรื่องบาสเกตบอล หรือเรื่องนักร้องเกาหลี เป็นต้น พอน้องตูนเริ่มกล้าพูด ก็เริ่มที่จะเปิดใจและเล่าเรื่องต่าง ๆ ให้ฟังมากขึ้น

น้องตูนเริ่มเล่าเรื่องในครอบครัวว่า ตนเองมีพี่สาว 1 คนและพี่ชาย 2 คน โดยจะชอบทะเลาะกับพี่ชายอยู่บ่อย ๆ และรู้สึกว่าตัวเองเหมือนผู้ชาย มีนิสัยห้าว ๆ และยังชอบเล่นบาสเกตบอลเหมือนพี่ชายอีกด้วย พ่อแม่ก็ชอบด่า หาว่าทำตัวไม่เรียบร้อย เกเร ไม่เหมือนพี่สาวคนโต ที่ดูเรียบร้อยและเป็นกุลสตรี ขณะที่น้องตูนเล่าให้ผมฟังนั้น บุคลิกของน้องตูนดูเปลี่ยนไป จากเดิมที่เคยเป็นคนนิสัยร่าเริง ห้าว ๆ พูดจาเสียงดังฟังชัด และชอบแหย่คนนู้นทีคนนี้ที กลับกลายเป็นเด็กผู้หญิงที่ดูเศร้า เหงาหงอย พูดเบา ๆ ช้า ๆ จนบางครั้งผมรู้สึกเหมือนกับว่าน้องตูนกำลังจะร้องไห้ ผมจึงรีบเปลี่ยนเรื่องคุย และระหว่างที่คุยกันนั้น ผมก็พยายามสอดแทรกความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพช่องปาก ด้วยภาษาชาวบ้าน ๆ ง่าย ๆ ไม่ต้องเป็นวิชาการ และพยายามเข้าถึงความรู้สึกเขา แสดงให้เขาเห็นว่าเราตั้งใจและหวังดีกับเขา ห่วงใยและรักเขาเหมือนพี่เหมือนน้อง ตอบคำถามทุกอย่างที่เขาสงสัย และแนะนำข้อที่ควรปฏิบัติโดยบอกกับเขาว่า “พี่ไม่ได้บังคับว่าต้องทำนะ พี่แค่เห็นว่ามันน่าจะดีกับตูนแค่นั้นเอง”

ในชั่วโมงที่สาม ผมเริ่มไม่รู้จะทำอะไร เนื่องจากความเสี่ยงในการเกิดฟันผุของน้องตูนเกิดพฤติกรรมการบริโภคเป็นส่วนใหญ่ จึงไม่มีขั้นตอนการตรวจหรือการประเมินทางคลินิกมากมายนัก เราจึงใช้เวลาส่วนใหญ่ในการนั่งคุยเรื่องสัพเพเหระต่าง ๆ จนผมสังเกตว่าน้องตูนเริ่มเบื่อ ผมจึงชวนเขาไปเซเว่น-อีเลฟเว่นที่ตรงข้ามคณะ เพื่อไปหาอะไรกินกัน เมื่อไปถึงเราต่างคนต่างเลือกซื้อของที่อยากกิน ขณะกำลังรอคิดเงินอยู่นั้น ผมสังเกตเห็นในมือของน้องตูนถือน้ำผลไม้อยู่ ด้วยความสงสัยผมจึงถามน้องตูนว่า “ทำไมวันนี้ไม่กินโค้กล่ะ” น้องตูนตอบกลับมาว่า “หนูไม่ได้กินโค้กมา 1 อาทิตย์แล้ว ก็พี่หมอบอกว่า กินแล้วจะฟันผุไม่ใช่เหรอ”

ผมยืนอึ้งไปสักพัก ฟังจากน้ำเสียงแล้ว ผมมั่นใจว่าน้องตูนไม่โกหกผมแน่นอน และไม่เคยคิดว่าผมจะสามารถโน้มน้าวให้คน ๆ หนึ่งที่ไม่เคยใส่ใจในสุขภาพช่องปากของตัวเองเลย หันมาตระหนักและเริ่มคิดอะไรบางอย่างได้ ผมพยายามถามตัวเองว่า มันเป็นอย่างนี้ได้อย่างไร ในใจผมรู้สึกเหมือนประสบความสำเร็จอะไรสักอย่าง ทั้ง ๆ ที่คนภายนอกอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าผมกำลังทำอะไร ตั้งแต่เข้าคณะทันตแพทย์มา เรียนมาจนอยู่ปี 5 ผมไม่เคยคิดเลยว่าตัวเองจะเป็นทันตแพทย์ที่ดีได้ เรียนก็พอผ่าน ไม่ได้เก่งกาจอะไร ทำคนไข้ก็ทำเพื่อให้ผ่านเกณฑ์ จะได้ไม่ต้องเรียนซ้ำชั้น รีบเรียนรีบจบจะได้ออกไปทำงาน แต่จากการที่ได้มาเจอน้องตูนครั้งนี้ ทำให้ผมค้นพบว่าตัวเองก็มีความสามารถบางอย่างที่อาจจะสำคัญที่สุดต่อการเป็นทันตแพทย์ ที่ทันตแพทย์เก่ง ๆ บางคนไม่มีด้วยซ้ำ นั่นคือ การเข้าใจถึงหัวอกของคนไข้ เข้าใจว่าการพูดคุยและเข้าถึงความรู้สึกนึกคิดของเขาเป็นสิ่งที่สำคัญ ไม่ใช่สักแต่รักษา โดยที่มองเห็นแต่โรคที่อยู่ในช่องปาก ผมยิ้มที่มุมปากและบอกกับเขาว่า “ดีละ ถ้าคิดว่ามันดีก็ทำต่อไปนะ”

จากวันแรกที่ได้ทำงานร่วมกับน้องตูน ผมรู้สึกว่าตัวเองเป็นนักศึกษาทันตแพทย์ที่จะต้องดูแลน้องตูนเหมือนหมอรักษาคนไข้ รักษาด้วยหลักการที่ร่ำเรียนมา ที่ถ่ายทอดกันมารุ่นต่อรุ่น แต่พอถึงครั้งนี้ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายที่พบกัน ผมรู้สึกว่าตัวเองเป็นเหมือนพี่ชาย ที่มีหน้าที่ดูแลน้องสาว คนหนึ่ง ดูแลกันทุกเรื่อง ไม่ใช่แต่เรื่องสุขภาพช่องปาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใช้ชีวิต การเรียน ความรัก ฯลฯ ผมไม่รู้ว่าผมประสบความสำเร็จในการให้มาตรการทางทันตกรรมป้องกันกับน้องตูนหรือไม่ แต่ผมรู้สึกว่าผมประสบความสำเร็จที่ได้เข้าใจเด็กผู้หญิงคนหนึ่งว่าเค้ามีความรู้สึกนึกคิดอย่างไร และได้รับความไว้วางใจจากเด็กคนนี้ แค่นี้ผมก็พอใจแล้ว

เรื่องสุดท้ายที่ผมอยากเล่าให้ฟังก็คือ ในชั่วโมงสุดท้ายที่เราพบกันนั้น เมื่อน้องตูนมาถึง ก็ได้ทักทายและบอกกับผมว่า “พี่หมอ เมื่อวานแม่หนูถามว่าทำไมช่วงนี้ไม่เห็นค่อยกินโค้กด้วยแหละ ...” และวันนั้นก็เป็นวันที่ผมมีความสุขมาก

การทดลองในมนุษย์

สุประดิษฐ์ คำภิบาล

ผมและเพื่อนถูกพาตัวมายังห้องทดลองแห่งหนึ่ง ห้องทดลองนี้เป็นส่วนหนึ่งของอาคารหลังหนึ่งที่มีการเชื่อมต่อกับอาคารอีกหลายหลัง โดยหน้าที่หลักของอาคารเหล่านี้คือเป็นสถานที่สำหรับทำการเรียนการสอนวิชาชีพทันตแพทย์ให้แก่เหล่านักเรียนทันตแพทย์ ซึ่งผมเป็นหนึ่งในนักเรียนของที่นี่

โต๊ะภายในห้องถูกจัดไว้พร้อมกับเก้าอี้สำหรับการนั่งล้อมวงเพื่อทำการวางแผนการทดลองประมาณ 15-16 ตัว ตู้หลายชั้นแบบมีกระจกเลื่อนสำหรับเปิดปิดถูกจัดไว้สำหรับจัดเก็บสัมภาระของผู้ทดลองที่จะเข้ามาทำการทดลองที่ห้องนี้ สัมภาระส่วนใหญ่ที่ถูกนำมาเก็บไว้ในตู้จะเป็นเสบียงอาหารและของว่าง เตรียมเอาไว้ตอนกรณีฉุกเฉินเท่านั้น ซึ่งภายหลังพบว่ามีกรณีฉุกเฉินตลอดเวลาทำให้ระหว่างทำการทดลองจะต้องนำเสบียงที่ว่าออกมาใช้บ่อยมาก ภายในห้องยังมีตู้เย็นสำหรับเก็บสารเคมีสำหรับทำการทดลองอยู่หลายชนิด รวมทั้งน้ำผลไม้สำหรับกรณีฉุกเฉินที่มีการนำมาใช้บ่อยมากเช่นกัน ระบบรักษาความปลอดภัยของห้องนี้มีความหละหลวมมากแม้จะมีประตูแบบเลื่อนสำหรับเปิดปิดเพื่อป้องกันข้อมูลของการทดลองรั่วไหลออกไป แต่ด้านบนของประตูเลื่อนที่อยู่ภายในห้องกลับมีช่องเชื่อมต่อไปอีกด้านหนึ่งของประตู ซึ่งทำให้ง่ายต่อการถูกดักฟัง ทำให้มักจะมีคำถามจากผู้เข้ามาใช้ห้องว่าจะทำประตูมาทำไม? ห้องนี้จะมีนักเรียนทันตแพทย์ 9-10 คนต่อกลุ่ม ที่จะถูกพามาทำการทดลองที่ห้องนี้เมื่อถึงเวลาอันควร ซึ่งเวลาที่ว่าสำหรับผมได้มาถึงแล้ว!

การทดลองแบบไหนกันที่ผมและเพื่อนกำลังจะได้ทำ จากคำบอกเล่าของเพื่อนนักเรียนทันตแพทย์หลายคนที่เคยมาทำการทดลองที่ห้องนี้ คุณจะได้รับประสบการณ์ที่ไม่เหมือนห้องเรียนอื่นที่ผ่านมา ห้องเรียนของนักเรียนทันตแพทย์ที่ผมเคยผ่านมา มีทั้งการอุดฟัน ถอนฟัน ทำฟันปลอม และอะไรอีกหลายอย่างที่คุณคิดว่าทันตแพทย์ต้องได้รับการฝึกฝน แต่ห้องนี้เมื่อคุณเข้าไป คุณจะพบการฝึกฝนที่คุณไม่เคยมาก่อน คุณจะไม่ได้ทำการรักษาแต่ฟันเหมือนห้องอื่นที่เคยผ่านมา คุณจะได้ทำมากกว่านั้น แล้วคำถามที่อยู่ในใจผมคือ จะมีห้องนี้ขึ้นมาทำไมกัน? ถ้าไม่ให้ทันตแพทย์ทำฟัน

ผมอยากจะหยิบเสบียงจากตู้เก็บสัมภาระออกมากินเหลือเกินเนื่องจากขณะนี้ท้องของผมได้บอกว่ามีกรณีฉุกเฉินแล้ว แต่ผู้ควบคุมการทดลองหรือที่ผมเรียกว่าอาจารย์ที่กำลังพูดกับนักเรียนทันตแพทย์กลุ่มนี้คงไม่เห็นด้วยกับกรณีฉุกเฉินของผมแน่ เมื่อผู้ควบคุมการทดลองพูดจบ ทำให้รู้ว่าหัวข้อสำหรับการทดลองที่ผมต้องทำคืออะไร

การทดลองที่ผมต้องทำคือ การเข้าไปสัมผัสกับคนไข้เพื่อทดสอบว่าเราใส่ใจต่อคนไข้แค่ไหน และ คนไข้สัมผัสได้หรือไม่ว่าเราใส่ใจเขาแค่ไหน? ไม่ว่าคำตอบจะเป็นอะไรก็จะมีคำถามตามมาคือ จะเป็นไปได้ไหมที่เราจะปฏิบัติตนและใส่ใจต่อคนไข้ เท่า ๆ กับที่เราปฏิบัติตนและใส่ใจต่อคนที่เรารักที่สุด หรือถ้ามองกลับกัน จะเป็นไปได้ไหมที่คนไข้จะสัมผัสได้ว่าเรากำลังใส่ใจเขาอยู่หรือไม่ หากคำตอบที่ได้เป็นคำว่า “ไม่” ทั้งสองข้อ เราก็ไม่จำเป็นจะต้องปฏิบัติตนและใส่ใจคนไข้อย่างนั้นหรือ ในเมื่อคนไข้ก็ไม่ได้มองกลับมาแล้วรับรู้ว่าเราใส่ใจกับเขาแค่ไหน แต่หากคำตอบที่ว่าคนไข้รู้และสัมผัสได้เป็น “ใช่” เราก็ควรจะปฏิบัติตนอย่างใส่ใจต่อคนไข้อย่างนั้นหรือ ในเมื่อรักษาเสร็จก็จบ ไม่ได้มีความสำคัญอะไรต่อชีวิตของเรามากมาย

วิธีการหาคำตอบของคำถามเหล่านี้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ คือการสังเกต ตั้งสมมติฐาน และทำการทดลอง แล้วนำผลที่ได้มาวิเคราะห์เพื่อตอบสมมติฐาน การทดลองนี้ก็เช่นกัน หากไม่เข้าไปสัมผัสกับคนไข้อย่างจริงจังและใช้เวลาในการสังเกตสิ่งเหล่านี้ เราก็คงไม่สามารถหาคำตอบของเราได้ ซึ่งการทดลองนี้ผมต้องเข้าไปสัมผัสกับคนไข้ 2 กลุ่ม คือ คนไข้ซึ่งเป็นเด็กนักเรียนชั้นมัธยม กับอีกกลุ่มคือ คนไข้ทั่วไป ซึ่งเป็นวัยผู้ใหญ่

คนไข้นักเรียน วันที่ 1

แม้ว่าจะยังอยู่ในระหว่างเรียนหมอฟัน แต่ผมก็เคยเห็นคนไข้เด็กมาหลายคน และส่วนใหญ่ กลัวหมอฟัน กลัวการทำฟัน กลัวฟันผุ แต่กลัวฟันผุน้อยกว่ากลัวหมอฟัน ภาพยนตร์เรื่องหนึ่งมีชื่อเรื่องตามภาษาอังกฤษแปลเป็นไทยว่า ทันตแพทย์ หรือเรียกง่าย ๆ ว่า หมอฟัน ได้แสดงให้เห็นถึงความโหดเหี้ยม อำมหิตของหมอฟัน ทำไมภาพยนตร์สมัยนี้ต้องสร้างภาพให้ทันตแพทย์ดูน่ากลัว ผมเคยคิดว่าหรือจะเป็นเพราะถ้าทำให้มันดูใจดีไม่ได้ก็สร้างภาพให้มันน่ากลัวไปเลย เด็ก ๆ จะได้กลัวหมอฟัน จนต้องแปรงฟันทุกวัน รักษาความสะอาดในช่องปาก ไม่กินขนมหวาน เพราะไม่อยากให้ฟันผุจะได้ไม่ต้องไปเจอหมอฟันที่น่ากลัว

วันนี้ผมจะได้พบกับคนไข้ของผม เพื่อหาคำตอบต่อคำถามที่ถูกตั้งไว้ ผมและเพื่อนผู้ร่วมทดลองใช้วิธีการเลือกคนไข้ของตัวเอง โดยการสุ่มจากตำแหน่งที่นั่ง เมื่อกลุ่มคนไข้วัย 13-14 ปี ของเราเดินเข้ามาในห้องที่เราใช้ในการต้อนรับ และเลือกนั่งเก้าอี้ที่ถูกเตรียมมาในจำนวนที่พอดีกับจำนวนคนไข้ของเรา แอบมีรอยยิ้มแห่งความตื่นเต้นบนใบหน้าของเพื่อนผม เพราะบางคนชอบเด็ก แต่จะเข้ากับเด็กได้ดีหรือไม่ก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่สำหรับผม เด็กสมัยนี้มันร้าย เราจะคิดว่าทุกคนเป็นเด็กน่ารักไม่ได้ เด็กไม่ดีก็มีพอ ๆ กับเด็กดี อาจจะมากกว่าด้วยซ้ำไป ตอนนี้ก็ได้เวลาเริ่มต้นการพบปะระหว่างผู้ทดลองกับคนไข้เสียที

ตามหลักการพื้นฐานในการทำงานกับใครก็ตาม ก่อนอื่นเราต้องทำการแนะนำตัวและทำความรู้จักกันก่อน และวิธีที่ง่ายที่สุดก็คงจะเป็นการพูดคุย คงไม่มีใครที่พบกันครั้งแรกแค่มองตาก็รู้ใจกันได้ แต่บางคนแค่ดูก็อาจจะรู้ไปถึงบุคลิกของอีกฝ่ายได้ มีคนเคยบอกผมว่า “กระเทยจะมองกันเองออกว่าคนไหนเป็นผู้ชายเต็มร้อยหรือไม่” อันนี้จริงไม่จริงไม่รู้ มาเข้าเรื่องกันต่อ

การพูดคุยทำความรู้จักกับคนไข้เป็นไปด้วยดี อาจเป็นเพราะนี่เป็นแค่ขั้นตอนทำความรู้จัก ซึ่งเจ้าตัวยังไม่รู้ว่าหลังจากนี้ต้องโดนอะไรบ้าง การพูดคุยโดยให้คนไข้ของเราไม่เบื่อและมีความสนใจต่อสิ่งที่เรากำลังจะทำต่อไปก็มีหลายวิธี บางคนใช้อุปกรณ์ช่วยในการอธิบาย ตัวอย่างเช่น การใช้โมเดลรูปฟัน แปรงสีฟันและรูปภาพในการอธิบายคนไข้ จากการสังเกตผู้ทดลองคนอื่น ดูเหมือนว่าการใช้หน้าตาจะเรียกความสนใจได้มากที่สุด โดยผู้ทดลองคนนึงได้รับข้อความทางโทรศัพท์มือถือจากคนไข้ของตัวเองในเย็นวันนั้น จากการที่คนไข้ของตัวเองหลงใหลในใบหน้าอันขาวผ่องของผู้ทดลอง โดยเนื้อหาของข้อความที่ได้รับแสดงถึงความใส่ใจแต่หาใช่ความใส่ใจที่ผู้ทดลองมีต่อคนไข้ แต่เป็นคนไข้ที่ให้ความใส่ใจต่อผู้ทดลอง

หลังจากทำความรู้จักกับคนไข้แล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือ หาว่าคนไข้คนนี้มีปัญหาอะไรให้เราได้แก้ไขกันบ้าง แน่นอนว่าประเด็นหลักของการทดลองกับเด็กวัยนี้คงไม่พ้นเรื่อง โรคฟันผุและโรคเหงือกอักเสบ ซึ่งเราก็ยังไม่รู้ว่าคนไข้ของเรามีปัญหาอะไรบ้าง จึงต้องทำการเก็บข้อมูลจากคนไข้ เพื่อนำไปประเมินหาปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไข วันแรกนี้จบลงด้วยการเก็บข้อมูลได้ส่วนหนึ่ง โดยข้อมูลส่วนนี้ไม่ได้เกี่ยวกับความใส่ใจที่มีต่อคนไข้ ยังไม่ได้ตรวจในช่องปากเลยด้วยซ้ำ เป็นข้อมูลที่จะนำไปประเมินความเสี่ยงต่อโรคฟันผุของคนไข้ ซึ่งจะมีเรื่องให้เรานำไปคุยกับคนไข้ของผมในครั้งต่อไป

คนไข้นักเรียน วันที่ 2

หลังจากเคยพบกับคนไข้ในวัยเรียนไปแล้วครั้งหนึ่ง ผมได้นำข้อมูลที่ได้จากครั้งแรกไปประเมินผลและคุยกับอาจารย์ผู้ควบคุมการทดลอง ซึ่งการซักประวัติมากมายเกี่ยวกับทั้งครอบครัว ความเป็นอยู่รวมไปถึงเรื่องอาหารการกินของคนไข้ ในครั้งแรกที่พบกันนั้น ไม่ทำให้ผมรู้สึกว่ากำลังเรียนทันตแพทย์อยู่เลย แต่ในครั้งที่สองของการพบกันครั้งนี้ ผมได้ทำการตรวจในช่องปากของคนไข้ของผม ทำให้ผมรู้สึกว่าตัวเองเป็นทันตแพทย์มากกว่าครั้งแรกที่พูดคุยกัน ทันตแพทย์ต้องจับเครื่องมืออะไรซักอย่างใส่ปากคนไข้สิมันถึงจะถูก! เครื่องมือก็ช่วยบ่งบอกความเป็นทันตแพทย์ได้ ถ้าใครเห็นกระจกส่องปากซึ่งมีลักษณะเป็นแท่งที่มีปลายด้านหนึ่งเป็นกระจกกลม ๆ ย่อมต้องนึกถึงทันตแพทย์เป็นอาชีพแรกที่ใช้มัน

มีอยู่วันหนึ่งที่ผมไปรับประทานอาหารกับเพื่อน ๆ นักเรียนทันตแพทย์รุ่นเดียวกัน ขณะที่เรากำลังรับประทานอาหารอยู่ มีกลุ่มนักศึกษากลุ่มหนึ่งเดินเข้ามาในร้านอาหาร ที่รู้ว่าเป็นนักศึกษาเนื่องจากชุดที่ใส่เป็นชุดลักษณะเดียวกับที่พวกผมใส่อยู่พร้อมกับมีสเต็ทโตสโคป หรือที่คนทั่วไปรู้จักว่าเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยฟังเสียงหัวใจห้อยคออยู่ ผมกับเพื่อนรู้ทันทีว่าคนกลุ่มนี้กำลังศึกษาวิชาชีพใดอยู่ แต่ทำไมต้องเอามาห้อยคอมาด้วย ผมและเพื่อนเริ่มเกิดความสงสัย อากาศในวันนั้นช่างร้อนเหลือเกิน ร้านอาหารก็ไม่ได้เป็นห้องแอร์ ยังจะเอาอะไรห้อยคอมาให้ร้อนมากขึ้นอีก สถานที่เรียนของพวกเขาก็ไม่ได้อยู่แถวนี้ ตอนลงจากรถยนต์ทำไมไม่เอาไว้ในรถ เพื่อนคนหนึ่งให้ความเห็นว่า มันช่วยบ่งบอกว่าพวกเขากำลังเรียนอะไร อ้าว! ถ้างั้นพวกที่เรียนทันตแพทย์ควรจะพกอะไรให้บ่งบอกว่าเรานี่แหละกำลังเรียนหมอฟันละ แต่ความเห็นที่ถูกใจที่สุดมาจากเพื่อนคนนึงซึ่งบอกกับผมว่า “มันขี้อวด”

หลังจากทำการตรวจในช่องปากเสร็จ ผมได้พาคนไข้มานั่งรอคนไข้ของเพื่อนคนอื่นที่ยังตรวจไม่เสร็จ คนไข้กลุ่มนี้มาพร้อมกันแล้วก็รอกลับพร้อมด้วย ระหว่างรอคนไข้ของผมได้มาขอถ่ายรูปด้วย ในความคิดของผมนั่นมันไม่ใช่หน้าที่ของทันตแพทย์ที่จะต้องไปถ่ายรูปสร้างความสนิทสนมอะไรให้แก่คนไข้เลย เพราะถ้าจบงานนี้ก็คงไม่ได้เจอกันแล้ว

ระหว่างวันที่ 2 กับ 3

หลังจากเก็บข้อมูลมา 2 ครั้งก็ได้เวลาที่จะทำการแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ระหว่างเพื่อน ๆ และอาจารย์ผู้ควบคุมการทำงาน แน่นอนว่าประสบการณ์พูดคุยกับคนไข้ของแต่ละคนคงจะน่าเบื่อ เพราะการไปรับรู้เรื่องราวทั้งชีวิตความเป็นอยู่ของคนไข้ ไม่ได้เป็นอะไรที่น่าสนใจและเกี่ยวข้องกับการที่จะเป็นทันตแพทย์มากนัก ผมเป็นคนพูดคนแรก ผมก็เล่าทุกอย่างที่ผมรู้ทั้งหมดเกี่ยวกับตัวคนไข้ของผม ทำไมทุกคนถึงทำหน้าตั้งใจฟังขนาดนั้น เวลาหาวก็ควรเอามือปิดปากด้วย!

พอผมเล่าจบได้รับคำแนะนำในการทดลองในครั้งต่อไป ถึงคราวเพื่อน ๆ ของผมบ้างที่จะมาเล่าประสบการณ์ของตนเองจากการได้ไปคุยกับคนไข้ของตัวเอง เพื่อนคนที่เล่าเรื่องต่อจากผมเล่าเรื่องแบบเบื่อ ๆ คนไข้ เนื่องจากคนไข้ถามแต่ว่า “เมื่อไหร่จะอุดฟันให้ซักที” ทั้ง ๆ ที่เพื่อนของผมพยายามจะอธิบายจุดประสงค์ของห้องปฏิบัติการทดลองนี้ให้แก่คนไข้ของตนฟังว่าห้องนี้เน้นป้องกันไม่เน้นรักษา พออธิบายจบก็ถามเหมือนเดิม “เมื่อไหร่จะอุดฟันให้ซักที” นี่แหละความคิดของคนไข้ต่อทันตแพทย์ ไม่สนใจหรอกว่าทันตแพทย์จะใส่ใจต่อเขาแค่ไหน คิดแต่จะรีบ ๆ ทำให้เสร็จแล้วก็กลับ

เพื่อนของผมคนถัดมานี่น่าสนใจมาก ไม่ใช่ที่เนื้อหาสาระที่กำลังจะเล่า แต่เป็นความมหัศจรรย์ในความสามารถเฉพาะตัวของเธอ เธอเล่าด้วยอารมณ์ใส่ใจและห่วงใยคนไข้เป็นอย่างมาก น้ำเสียงที่เล่าแตกต่างจากตอนพูดปกติราวฟ้ากับเหว บริษัทที่รับพากย์เสียงภาพยนตร์คงจะประหยัดเงินค่าจ้างถ้าจ้างเธอไปทำงาน เพราะเธอมีหลายเสียง จ้างเธอคนเดียวก็สามารถพากย์เสียงให้ตัวละครได้หลายตัว เธอเล่าเรื่องของคนไข้เธอไปเรื่อย ๆ ทันใดนั้นเอง! นั่นมัน… น้ำตาเธอคลอเมื่อเธอเล่าถึงตอนที่เธอแสดงความใส่ใจคนไข้สุด ๆ อะไรจะใส่ใจและห่วงใยขนาดนั้น

คนถัดมาจากนี้ก็ไม่มีอะไรน่าสนใจ บางคนหาปัญหาในช่องปากของคนไข้ไม่เจอ บางคนพยายามเล่าให้ดูเหมือนใส่ใจคนไข้ หลายคนโกหกตัวเองด้วยการเล่าด้วยน้ำเสียงที่เปลี่ยนจากตอนพูดปกติ ทำไมเราต้องมาโกหกใส่กัน ต่อหน้าคนไข้เราจะแสดงความห่วงใยอะไรก็ได้ เพื่อให้คุณดูดีในสายตาคนไข้ แต่การมานั่งแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันในเรื่องที่เราได้เข้าไปสัมผัสคนไข้ของตน หากเราไม่ยอมรับความจริงแต่กลับมามัวแต่แสดงว่าตนเองใส่ใจคนไข้เพื่อคะแนนจากอาจารย์ หรือเพื่อให้คนที่ฟังเห็นว่าตัวเองเข้าใจคนไข้อย่างสุด ๆ การแกล้งแสดงแบบนี้ย่อมไม่ทำให้เราตอบคำถามของการทดลองครั้งนี้ได้

คนไข้นักเรียน วันที่ 3

หลังจากประเมินปัญหาของผู้ป่วยจากการเก็บข้อมูลในการพบปะคนไข้นักเรียนมาแล้ว 2 ครั้ง ทำให้ได้ข้อมูลเพื่อจะมาแนะนำให้คนไข้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่างๆ ที่เป็นสาเหตุและปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาเหล่านั้น การแก้ปัญหาที่สาเหตุก็เป็นเรื่องที่ดี แต่จะให้คนไข้นักเรียนมาทำตามที่เราบอกมันจะเป็นไปได้หรือ ถ้าผมอายุเท่านี้ บอกเลยว่า ทำไม่ได้! จะให้มาทำอะไรที่ขัดกับความสุขของตัวเองใครจะทำ อยู่ดี ๆ มาให้งดขนมหวาน ให้แปรงฟันหลังอาหาร ให้บันทึกอาหารที่กินในแต่ละวันและอื่น ๆ อีก คงจะไม่ทำหรอก อีกทั้งยังเป็นแค่ความสัมพันธ์ชั่วคราวระหว่างผมและคนไข้นักเรียนอีก ไม่ใช่คนที่ต้องมาใส่ใจอะไรกัน ผมคิดอยู่ว่ามาถึงตอนนี้ก็ครั้งที่ 3 แล้วที่เราพบกับคนไข้คนนี้ เราพยายามที่จะใส่ใจคนไข้แล้วหรือยัง การกระทำกับความคิดไม่จำเป็นต้องตรงกันเสมอไป บางการกระทำต้องทำเพราะความจำเป็นเป็นงานที่มีคะแนนและต้องทำ แต่สำหรับความคิด ผมคิดอยู่ตลอดว่าเมื่อไหร่จะจบงานนี้ซักที

หลังจากที่ถูกผมถามข้อมูลส่วนตัวไปหลายๆเรื่อง ในการพบปะแต่ละครั้ง มาครั้งนี้ คนไข้นักเรียนก็ถามผมบ้าง ชวนคุยโน่นคุยนี่ เมื่อคนไข้นักเรียนกลับแล้ว เพื่อนของผมคนหนึ่งได้เข้ามาคุยด้วย บอกว่าวันนี้น้องคนไข้ของผม ถามด้วยว่าผมชอบอะไรเป็นพิเศษ เพื่อนผมบอกคนไข้นักเรียนของผมไปว่า “แมนยู”

คนไข้ทั่วไป วันที่ 1

หลังจากที่พบกับคนไข้วัยเด็กมา 3 ครั้งแล้ว คราวนี้เป็นคราวของคนไข้ทั่วไปบ้าง คนไข้รายนี้เป็นคุณลุงที่เกษียณอายุราชการเรียบร้อยแล้ว ผมเบิกแฟ้มคนไข้ที่บันทึกข้อมูลการรักษาที่คุณลุงเคยมาทำการรักษาที่นี่มาดู พบว่าคุณลุงมีประวัติการรักษามาแล้วอย่างโชกโชน มาพบหมอฟันบ่อยมาก มารักษาตั้งแต่ตอนที่มีฟันครบ ซึ่งตอนนี้ฟันบนไม่เหลือแล้ว อะไรลุงจะขยันมาทำฟันขนาดนี้ ผมได้ทำการพูดคุยสอบถามเรื่องราวของคุณลุง รวมทั้งขอตรวจในช่องปาก พบว่าคุณลุงทำความสะอาดได้ดี ไม่มีหินปูนเลย ถามถึงอุปกรณ์ที่ใช้ทำความสะอาดฟัน คุณลุงใช้หลายอย่างมาก เช่น ไหมขัดฟัน ไม้จิ้มฟัน แปรงฟันที่มีลักษณะเหมือนแปรงล้างขวดสำหรับทำความสะอาดในซอกฟันที่เหงือกร่น เป็นต้น คุณลุงทำความสะอาดทุกครั้งหลังอาหาร ที่ลุงมาวันนี้ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่มีเจ้าหน้าที่โทรศัพท์ไปขอให้ลุงมาเป็นคนไข้ให้ผม

ผมทำการซักถามคุณลุงว่า ลุงไม่เบื่อหรือไง ที่ต้องมาหาหมอฟันบ่อยๆ คุณลุงบอกว่า ลุงไม่เบื่อหรอก หมอฟันเป็นคนน่ารัก คุยด้วยดี ใส่ใจกับลุงไม่เหมือนหมอทั่วไป ที่รักษาแล้วก็กลับ แล้วผมจึงถามถึงอุปกรณ์หลายอย่างที่คุณลุงใช้ทำความสะอาดช่องปากว่า ใครเป็นคนบอกให้ลุงใช้ คุณลุงบอกว่าหมอฟันคนก่อน ๆ แนะนำให้ลุงใช้ ผมจึงถามต่อไปว่า หมอฟันบอกให้ลุงทำนัู่่นทำนี่ลุงไม่เบื่อบ้างหรือ คุณลุงตอบกลับมาว่า ถ้าหมอฟันไม่มีเจตนาที่ดี คุณหมอคงไม่บอกให้ลุงทำหรอก ลุงเชื่อหมอ ถ้าหมอบอกว่าดีลุงก็จะทำ ซึ่งจากประวัติคนไข้และการตรวจในช่องปากแล้ว พบว่าคุณลุงทำมาตลอดจริง ๆ คุณลุงมองเห็นถึงความใส่ใจที่หมอฟันให้แก่คุณลุง และคุณลุงก็แสดงความใส่ใจต่อหมอฟันโดยการปฏิบัติตามคำแนะนำของหมอฟันจริง ๆ

ก่อนจะกลับคุณลุงบอกผมว่าจะไปหาหมอฟันที่ทำฟันปลอมให้คุณลุง ซึ่งเรียนอยู่อีกตึกหนึ่ง ผมจึงถามคุณลุงว่าจะไปทำฟันปลอมใหม่หรือ คุณลุงบอกว่า “เปล่า ลุงจะไปทักทายเฉยๆ”

คนไข้นักเรียน วันที่ 4

วันนี้เป็นการพบปะกันครั้งสุดท้ายของคนไข้นักเรียน ซึ่งครั้งก่อนผมได้บอกให้เปลี่ยนนั่น ให้ทำนี่หลายอย่าง แต่ในความคิดผมเด็กคงจะทำไม่ได้หรอก เมื่อคนไข้มาถึง ผมได้เอาตารางบันทึกอาหารมาตรวจดูและสอบถามเรื่องต่าง ๆ ที่ให้ไปทำมา พบว่า คนไข้วัยเด็กของผมกลับสามารถทำได้ ตารางอาหารที่เคยมีรายการของขนมหวานและอาหารที่ไม่มีประโยชน์ถูกแทนที่ด้วยของว่างที่ไม่ก่อเกิดโทษแก่ผู้รับประทาน พฤติกรรมต่าง ๆ ถูกปรับเปลี่ยนตามที่เราแนะนำ และให้สัญญาว่าจะทำต่อไปแม้จะไม่ได้เจอผมอีกแล้ว

ก่อนจะลาจากกันวันนี้ น้องคนไข้ได้ให้ตุ๊กตากับผม ผมเข้าใจแล้วที่เพื่อนผมเคยบอกว่าคนไข้นักเรียนของผมถามถึงสิ่งที่ผมชอบ ตุ๊กตาที่น้องนักเรียนคนนี้ให้กับผมเป็นตุ๊กตาปีศาจแดงแมนยู ทีมฟุตบอลที่ผมชอบ ทั้ง ๆ ที่ผ่านมาผมคิดแต่จะคุย ๆ กันให้เสร็จแล้วก็จบกันไป แต่คนไข้นักเรียนของผมกลับแสดงความใส่ใจต่อผม ทั้ง ๆ ที่ผมยังไม่ได้ทำอะไรที่น่าจะเป็นความประทับใจให้แก่คนไข้เลย

บทสรุปของการทดลอง

บางครั้งการที่เราพยายามมากที่จะหาจุดที่จะนำมาใช้เพื่อเข้าถึงคนไข้แต่ละคน กลับหาไม่เจอสักที แต่อยู่ดี ๆ เราก็บังเอิญเจอจุดที่เราจะเข้าถึงคนไข้มาเฉย ๆ ไม่ใช่เราหรอกที่หามันเจอ เป็นคนไข้ต่างหากที่สร้างมันขึ้นมาและยื่นให้เรา อาจจะเร็วหรือช้าไปบ้าง แต่มันสามารถเกิดขึ้นได้กับคนไข้ทุกคน ประโยคบางคำที่แสดงถึงความตั้งใจฟังและทำในสิ่งที่หมอฟันแนะนำ การนำของมาให้กับคนที่เมื่อจบงานก็คงจะไม่ได้เจอกันอีก การที่คุณลุงคนหนึ่งใส่ใจกับการมาหาทันตแพทย์เป็นประจำ เพื่อนที่เคยบ่นเรื่องคนไข้จะขอให้อุดฟันให้ตลอดเวลา ก็เปลี่ยนจากความรู้สึกรำคาญกลายเป็นความเห็นใจเมื่อสอบถามถึงสภาพความเป็นอยู่ของคนไข้ นั่นก็เป็นเหตุผลที่เราควรซักถามเรื่องส่วนตัวบางเรื่องของคนไข้แม้จะดูเหมือนไม่เกี่ยวกับงานของทันตแพทย์เลยก็ตาม การนำเสนอของเพื่อนๆ ก็เปลี่ยนจากน้ำเสียงที่ฟังแล้วเหมือนการแสดงที่โกหกความเป็นตัวของตัวเอง เปลี่ยนเป็นการพูดจาที่ดูใส่ใจต่อคนไข้อย่างแท้จริง คำตอบของการทดลองในห้องนี้มันได้มาถึงจุดสุดท้ายแล้ว

มันไม่เคยมีการทดลองเลยที่ผ่านมา มันเป็นแค่ความคิดที่ผมสร้างขึ้นมาและจินตนาการให้มันเหมือนเป็นการทดลองเพื่อประชดงานที่ผมเคยมองว่ามันไม่มีความสำคัญ มันเป็นความรู้สึกที่ยังไม่เข้าใจถ้าไม่ได้พบเจอกับมันด้วยตนเอง แล้วเข้าไปสัมผัสกับการรักษาคนไข้ในอีกรูปแบบหนึ่ง ความใส่ใจคืออะไร หากไม่หลอกตัวเองก่อนหน้านี้เราคงจะตอบคำถามนี้ว่า “ความใส่ใจคนไข้ก็คือการดิ้นรนเพื่อให้คนไข้มาตามนัดให้ได้ เพื่อคะแนน เพื่อให้เราเรียนจบ” แต่การงานครั้งนี้ทำให้ผมรู้จักถึงการใส่ใจคนไข้แบบที่ต่างไป ไม่ใช่เพื่อคะแนน ไม่ใช่เพื่อตัวเรา แต่เป็นเพื่อคนไข้ ความคิดที่ว่าเพื่อน ๆ พูดออกมาแล้วเป็นการโกหกว่าใส่ใจคนไข้ อาจจะไม่ใช่การโกหก แต่เป็นน้ำเสียงที่มาจากความจริงใจที่ตอนนั้นผมไม่เข้าใจ ลองย้อนมองดูตัวเองที่เอาแต่ว่าเพื่อน ๆ โกหกตัวเองในคำพูดที่แสดงออกมา แล้วเราไม่ได้โกหกตัวเองอยู่หรือ เคยไหมที่คุณกระทำหรือแสดงออกในที่ไม่ตรงกับใจ ถ้าคุณไม่เคยขอให้ยกมือขึ้น ผมเดาว่าคุณคงไม่ยกมือ

ความเปลี่ยนแปลงในตัวของ...ข้าพเจ้าเอง

โดย เสาวลักษณ์ ลือชา

อยู่ดี ๆ ถ้าวันหนึ่งมีคนเดินเข้ามาถามคุณเกี่ยวกับการทำงานของคุณว่า

“ที่ผ่านมาในเวลาทำคนไข้นั้น คุณได้คำนึงถึงความเป็นมนุษย์หรือไม่” คุณจะรู้สึกอย่างไรกับคำถามนี้

เมื่อเจอคำถามแบบนี้บางคนอาจต้องกลับไปนึกทบทวนการทำงานของตัวเอง แต่คงมีอีกหลายคนที่กำลังงงกับคำถาม เพราะแม้แต่คำว่า Humanized health care ก็ยังไม่รู้จัก

ตัวข้าพเจ้าเองก็ถูกถามคำถามนี้ในในวันแรกที่เข้าฝึกปฏิบัติงานในคลินิกทันตกรรมป้องกัน ความรู้สึกในตอนนั้นก็งงไม่ต่างจากคนอื่น ต้องใช้เวลาอยู่พักหนึ่งจึงแปลความหมายได้ นั่นคือ ระบบการบริการสุขภาพที่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์ แต่นั่นก็เป็นการแปลแบบตรงตัวตามที่หาได้จากหนังสือทั่วไป แต่หากจะให้อธิบายเพิ่มเติมคงไม่สามารถทำได้เพราะไม่ได้เข้าใจอะไรอย่างถ่องแท้ นอกจากทฤษฎีที่ผ่านหูมาเท่านั้น การตอบคำถามนี้จึงยากและเต็มไปด้วยความไม่มั่นใจ เพราะไม่แน่ใจพอที่จะสรุปว่าสิ่งที่ตัวเองได้เคยทำไปนั้น ถือว่าได้คำนึงถึงความเป็นมนุษย์หรือไม่ หรือหากใช่ มันมีอยู่มากน้อยเพียงใด จนกระทั่งได้มีโอกาสเรียนรู้กับแนวคิดนี้อีกครั้งอย่างใกล้ชิด ในช่วงที่อยู่ในคลินิกป้องกันที่เป็นเสมือนการลงเรียนภาคปฏิบัติของแนวคิดนี้

การเดินทางค้นหาความเข้าใจที่ลึกลงไปเริ่มต้นตั้งแต่วันแรกของการทำงานทันตกรรมป้องกัน นักศึกษาทันตแพทย์ทุกคนจะได้รับคนไข้หนึ่งให้ดูแลเพื่อทำงานทันตกรรมป้องกัน คนไข้ของข้าพเจ้าเป็นเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ของโรงเรียนรัฐบาลแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นสถานที่ที่ข้าพเจ้าและเพื่อนในกลุ่มจะเข้าไปทำกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพในโรงเรียนและชุมชนที่อยู่รอบ ๆ ด้วย ซึ่งถือเป็นข้อได้เปรียบเพราะทำให้มีโอกาสได้รู้จักกับคนไข้หรือที่พวกเราเรียกกันติดปากว่า “น้อง” มากขึ้น เพราะไม่เพียงแต่การที่จะได้นั่งพูดคุยซักถามกันในคลินิกเท่านั้น แต่ยังมีโอกาสได้เห็นสภาพแวดล้อมและชุมชนที่น้องอาศัยอยู่ รวมทั้งเห็นความสัมพันธ์ระหว่างน้องกับบุคคลต่าง ๆ อีกด้วย

คนไข้ที่ข้าพเจ้าได้รับมาดูแลชื่อ น้องกิ๊ฟ โดยตามรูปแบบการทำงานซึ่งมีเวลาทั้งหมดสี่ครั้งนั้นควรที่จะเริ่มด้วยการพูดคุยทำความรู้จักกันกันก่อนในการเจอกันครั้งแรกและค่อยเก็บข้อมูลเพิ่มเติมในครั้งต่อมา แต่เนื่องจากในครั้งแรกน้องกิ๊ฟไม่ได้มา ทำให้การเจอน้องกิ๊ฟในครั้งนี้จึงเป็นการทำงานในครั้งที่สอง ซึ่งทำให้มีเวลาน้อยลงสำหรับการเก็บข้อมูลต่าง ๆ ให้เสร็จสิ้น ข้าพเจ้าจึงต้องอาศัยการสร้างความคุ้นเคยฉบับเร่งด่วนโดยการสร้างบรรยากาศให้เป็นกันเองและสนุกสนาน บวกกับการซักถามเรื่องต่าง ๆ ที่อยากรู้เพิ่มเติมในขณะที่เรากำลังตรวจสภาพช่องปากและเก็บน้ำลายเพื่อหาค่าต่าง ๆ บนเก้าอี้ทำฟันนั้นเอง จากการเจอกันวันแรกพบว่า น้องเป็นเด็กน่ารัก เชื่อฟังดี และด้วยความที่เป็นเด็กผู้หญิงที่อยู่ในช่วงกำลังจะเปลี่ยนแปลงเข้าสู่วัยรุ่น การได้จับคู่กับพี่เพศเดียวกันจึงทำให้สามารถพูดคุยกันได้อย่างไม่เคอะเขิน และทำให้สนิทกันเร็ว ในการทำงานครั้งนี้ข้าพเจ้าระลึกอยู่เสมอว่าจะต้องทำให้น้องรู้สึกไว้วางใจ สามารถที่จะพูดคุยกันได้อย่างเป็นกันเอง ซึ่งเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีก่อน โดยเฉพาะในกรณีของน้องกิ๊ฟที่ยังไม่เคยทำฟัน บวกกับที่มีความกลัวหมอฟันเป็นทุนเดิมอยู่แล้วด้วย ข้าพเจ้าจึงยิ่งต้องระมัดระวังและใส่ใจในความรู้สึกของน้องเป็นพิเศษ เพราะอยากให้การทำงานด้วยกันในวันแรกนี้เป็นไปได้ด้วยดี อยากให้น้องรู้สึกดีทั้งกับตัวข้าพเจ้าเอง และกับการทำฟันด้วย

ในขณะที่อยู่บนเก้าอี้ทำฟันข้าพเจ้าสังเกตว่าน้องกิ๊ฟชอบที่จะสำรวจสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบ ๆ ตัว ที่เป็นสิ่งแปลกใหม่ ข้าพเจ้าจึงใช้ความอยากรู้และความสนใจของน้องให้เป็นประโยชน์ ด้วยการเน้นให้น้องได้มีส่วนร่วม เริ่มตั้งแต่การเตรียมเครื่องมือที่จะใช้ โดยการพาน้องเดินไปช่วยหยิบเครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ พร้อมทั้งอธิบายและคอยตอบข้อสงสัยของน้อง และเมื่อถึงขั้นตอนการทำงานในช่องปาก ข้าพเจ้าก็จะคอยบอกน้องทุกขั้นตอนการทำงานว่าต่อไปจะทำอะไร ทำอย่างไร และทำไปเพื่ออะไร เพื่อให้น้องได้รู้และรู้สึกถึงการทำงานร่วมกัน

แต่ไม่ว่าจะใช้วิธีต่าง ๆ มากมาย แต่น้องก็ยังคงกลัวมากอยู่ดี โดยจะถามซ้ำ ๆ ว่า “จาเจ็บมั้ยอ่ะ” และจะเอามือมาปิดปากไว้ และขอเวลาทำใจอยู่หลายครั้ง ซึ่งแผนการทำงานในวันนั้นมีสิ่งที่จะต้องทำคือ การวัดดัชนีเหงือกอักเสบและการพิมพ์ปากซึ่งก็มีโอกาสเจ็บทั้งคู่ ณ ตอนนั้นจึงเกิดคำถามขึ้นมาในใจของข้าพเจ้าเองว่าจะทำอย่างไรดีเมื่อต้องจัดการกับเหตุการณ์ที่มันขัดแย้งกันระหว่างความต้องรีบเก็บข้อมูลกับการต้องให้ความใส่ใจต่อคนไข้ สุดท้ายข้าพเจ้าตัดสินใจเลือกที่จะบอกไปตามความจริงว่ามันอาจจะเจ็บได้นะ พร้อมทั้งอธิบายรายละเอียดให้ฟัง เพราะไม่อยากโกหกน้องว่าไม่เจ็บทั้งที่รู้ดีว่าคงจะเจ็บ เพราะขนาดคนไข้ที่เป็นผู้ใหญ่บางคนยังเจ็บ แล้วเด็กโดยเฉพาะเด็กที่กลัวอยู่แล้วจะไม่เจ็บได้อย่างไร

ข้าพเจ้าจึงต้องกล่อมน้องอยู่นานกว่าน้องจะยอมให้ทำ ข้าพเจ้าพยายามระมัดระวังและทำให้นิ่มนวลที่สุด ในระหว่างที่ทำก็จะมีการเบี่ยงเบนความสนใจของน้องไปด้วย เช่น ให้น้องเป็นคนจดบันทึกค่าต่าง ๆ ที่วัดได้ลงในกระดาษ และยังให้น้องได้ถือเศษวัสดุพิมพ์ปากไว้ในมือในขณะพิมพ์ปากเพื่อรอบอกว่ามันแข็งและสามารถนำออกมาได้หรือยัง พอหลังจากที่ทำเสร็จแล้วก็ข้าพเจ้าก็ถามน้องว่า”เจ็บมั้ย” น้องบอกว่า “ไม่เจ็บ” เมื่อได้ฟังอย่างนี้ก็ใจชื้นขึ้นมาเพราะกลัวว่าถ้าทำแค่นี้ยังเจ็บ น้องอาจจะกลัวการทำฟันไปตลอด

เมื่อหมดเวลาในการทำงานในครั้งนี้ ข้าพเจ้ามานั่งไตร่ตรองถึงคำถามที่เคยถูกถามเมื่อครั้งที่เข้ามาทำงานในห้องนี้ในวันแรก ก็ได้คำตอบเพิ่มเติมว่าการที่เราจะทำงานโดยคำนึงถึงความเป็นมนุษย์นั้น สำหรับตัวข้าพเจ้าจะต้องเริ่มตั้งแต่ความคิด เพราะการกระทำทุกอย่างนั้นล้วนเป็นผลสืบเนื่องมาจากความคิดทั้งสิ้น เมื่อเราตั้งใจและมีเป้าหมายว่าต้องการให้คนไข้ของเราได้รับสิ่งใดกลับไปนั้น เราก็จะพยายามทำงานโดยมีความคิดนั้นเป็นสิ่งนำทางและคอยเตือนตนเองอยู่ตลอดเวลา

เพียงแค่ในครั้งแรกของการทำงานทันตกรรมป้องกัน ข้าพเจ้ารู้สึกได้ถึงความแตกต่างในการใส่ใจคนไข้ในขณะปฏิบัติงาน เมื่อเปรียบเทียบกับการทำงานในคลินิกอื่นที่ฝึกปฏิบัติงานอุดฟัน ใส่ฟัน ขูดหินปูนที่เคยผ่านมา ที่การพูดคุยกับคนไข้จะเป็นแค่การทำความรู้จักกันอย่างผิวเผิน เนื่องจากนักศึกษาทุกคนมีปริมาณงานที่ต้องทำเป็นตัวบังคับอยู่ การทำงานในคลินิกเหล่านั้นเราจึงมุ่งให้ความสำคัญกับตัวงานหรือผลลัพธ์มาก โดยแทบจะลืมความเป็นมนุษย์ของคนไข้ไป เพราะส่วนหลังนั้นเป็นเรื่องส่วนตัวที่ใครจะทำหรือไม่ ก็ไม่มีใครว่ากันและไม่ได้มีผลอะไรต่อการตกหรือผ่าน ซึ่งต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับการทำงานในคลินิกทันตกรรมป้องกันที่เน้นการทำความรู้จักและเข้าใจคนไข้เป็นอย่างมาก เพราะยิ่งหมอรู้จักคนไข้มากเท่าใดก็จะทำให้การวางแผนการรักษาหรือมาตรการทางทันตกรรมป้องกันนั้นมีความสอดคล้องกับตัวคนไข้มากขึ้นเท่านั้น

หลังจากการทำงานในครั้งต่อ ๆ มา ในการวางมาตรการและการประเมินผลเรื่อยมาจนเสร็จสิ้นการทำงานป้องกัน ข้าพเจ้าได้สังเกตเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในตัวของข้าพเจ้าเอง ข้าพเจ้าได้เรียนรู้ว่าการที่เราได้พยายามที่จะทำความเข้าใจคน ๆ หนึ่งที่เป็นคนไข้ในความดูแลของเรานั้นแม้ไม่ใช่เรื่องยาก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลาย ๆ อย่าง และบางทีดูเหมือนว่าต้องใช้เวลามากเหลือเกิน แต่คิดอีกทีแม้เราจะมีเวลามากมายแต่หากปราศจาก สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือความใส่ใจและหัดที่จะเปิดรับมองในมุมมองที่ต่างออกไปบ้าง ก็คงยากที่จะทำให้เราได้รู้จักและเข้าใจผู้อื่นมากขึ้น

ตอนนี้ข้าพเจ้ากล้าพูดได้ว่าข้าพเจ้าได้ใช้แนวคิด Humanized Health Care มากขึ้นในการทำงานในครั้งนี้ แต่ก็อาจจะไม่สามารถบอกได้ว่ามากขึ้นเพียงใด และรู้จักเข้าใจแนวคิดนี้ดีแค่ไหน เพราะแนวคิดนี้มันไม่มีมาตรฐานอะไรที่จะใช้วัดได้ว่าใครทำได้มากได้น้อย เข้าใจถูกหรือเข้าใจผิด รู้เพียงอย่างเดียวว่าการได้ทำงานโดยใช้หัวใจของความเป็นมนุษย์นั้นทำให้ข้าพเจ้ามีความสุข ข้าพเจ้าไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะสามารถรู้จักกับคนไข้คนหนึ่งได้มากขนาดนี้มาก่อน และยังไม่ได้เป็นการรู้จักลึกซึ้งเพียงสภาพช่องปากและมิติทางการแพทย์ที่เกิดขึ้นจากการจับคนไข้มานั่งอยู่บนยูนิตทำฟันนิ่ง ๆ ในฐานะคนไข้เพื่อรอรับการตรวจและตอบคำถามของเราเท่านั้น แต่ยังเข้าใจสภาพแวดล้อม ชีวิตความเป็นอยู่ และผู้คนในสังคมของน้อง ดังนั้นรูปแบบการรักษาสำหรับน้องกิ๊ฟ จึงไม่ใช่รูปแบบการรักษาที่เกิดขึ้นจากเพียงการทำตามแนวทางที่อยู่ในตำราที่เราได้เรียนมาเท่านั้น แต่เป็นการประยุกต์ความรู้ในตำราเข้ากับสิ่งที่เราได้เข้าถึงและเข้าใจคนไข้ของตน เพื่อสุดท้ายจะสามารถวางแผนที่แตกต่างกัน เพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับคนไข้แต่ละคน ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือสิ่งเราต้องฝึกฝนและเรียนรู้ นอกจากนี้ข้าพเจ้ายังพบว่าการดูแลและใส่ใจในความรู้สึกของคนไข้แม้เพียงในสิ่งที่ดูแล้วอาจจะเป็นเรื่องเล็กน้อยนั้น ล้วนมีความหมายต่อความรู้สึกของคนไข้ ซึ่งจะส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างหมอกับคนไข้ในที่สุด และสิ่งนี้นี่เองที่ถือเป็นเสน่ห์เฉพาะตัวที่หมอต้องสั่งสม

มาถึงตอนนี้ หากลองนึกย้อนไปถึงการทำงานในคลินิกอื่น ๆ ที่ผ่านมา เหตุการณ์ที่เรามักจะรู้สึกโกรธและหงุดหงิดอยู่ในใจ เมื่อคนไข้ของเราไม่มาตามนัดหรือไม่ทำอะไรตามที่เราบอก และเราก็มักเกิดคำถามซ้ำ ๆ ว่า “ทำไม ๆ ๆ” และโทษแต่คนไข้ว่าเป็นฝ่ายผิด นั่นก็เป็นเพราะเราเอาแต่มองและตัดสินจากมุมของตัวเอง จากมุมของทันตแพทย์ แต่หลังจากที่ได้เรียนรู้ที่จะเข้าใจคนไข้ในแบบของเขา ผ่านมุมมองของเขาแล้ว ทำให้ได้รู้ว่าบางทีในตอนนั้นเราเองอาจเป็นฝ่ายที่ผิดก็ได้ เราอาจดูแลคนไข้ได้ไม่ดีพอ หรืออาจมีท่าทีและวิธีที่ไม่เหมาะสมกับเขา เหตุการณ์แบบนั้นจึงเกิดขึ้น

การได้มีโอกาสทำงานกับน้องกิ๊ฟในครั้งนี้ ทำให้ข้าพเจ้าภูมิใจและรู้สึกอิ่มเอมใจจากการที่เราเห็นพัฒนาการของคนไข้ที่เราดูแล แม้ว่าน้องจะไม่สามารถทำได้ตามที่แนะนำทุกอย่าง หรืออาจจะไม่ได้สำเร็จดังเป้าหมายที่ตั้งไว้ แต่การที่น้องได้เริ่มคิดที่จะเปลี่ยนหรืออาจมีการกระทำที่เปลี่ยนแปลงแม้เพียงเล็กน้อยให้เราเห็น นั่นก็ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีมาก ๆ แล้วสำหรับการได้พูดคุยและใช้เวลาร่วมกันเพียงไม่นาน บทเรียนนี้ให้ข้าพเจ้าได้เรียนรู้และเปิดมุมมองและทัศนคติในอีกรูปแบบหนึ่งที่จะนำไปสู่การเป็นทันตแพทย์ที่จะให้บริการโดยใช้หัวใจของความเป็นมนุษย์ต่อไป

แล้วความหมายของคำว่า Humanized health care ของคุณเป็นแบบไหน

คุณมีคำตอบให้กับตัวคุณเองแล้วหรือยัง ?

สัญญาณชีพ สัญญาณชีวิต (Vital sign VS Life sign)

โดย อนุพงศ์ จีรชัยพันธุ์สกุล

“วันนี้มาหาหมอเป็นอะไรมาครับ”

“มีโรคประจำตัว แพ้ยาอะไรไหมครับ”

“หมอขอวัด ความดันโลหิต หน่อยนะครับ”

“เดี๋ยวหมอนับชีพจร หน่อยนะครับ”

ประโยคข้างต้นนี้ ถือเป็นการซักประวัติ ประเมิน สัญญาณชีพ หรือ Vital sign ซึ่งเป็นสิ่งที่นักศึกษาทันตแพทย์ทุกคนถูกสอนมาเพื่อ ประเมินสภาวะทางสุขภาพของคนไข้ทุกคนก่อนที่จะทำการรักษา ว่าคนไข้มีความผิดปกติในสภาวะทางระบบของร่างกายอะไรบ้าง จนอาจจะกลายเป็นวิธีการทักทาย ทำความรู้จักกับตัวคนไข้ของหมอฟัน ที่นอกเหนือไปจากการได้รู้จักชื่อ นามสกุล และ เหตุผลของคนไข้ที่มาพบกับหมอฟันก็ได้

“สวัสดีครับน้องจอย กินข้าวมาหรือยัง”

ประโยคข้างต้นเป็นคำพูดแรกที่ผมพูดกับน้องจอย หลังจากที่ได้แยกย้ายพี่ ๆ กับน้อง ๆ ไปตามโต๊ะ ในคลินิกทันตกรรมป้องกัน ในตอนแรกผมก็เกร็ง ๆ ไม่ค่อยกล้าคุยด้วยสักเท่าไหร่ จึงเริ่มด้วยการถามสาเหตุที่มาหาหมอฟัน ตามแบบฉบับการซักประวัติคนไข้ที่เคยเรียนมา น้องจอยก็ตอบว่า เพราะอาจารย์ที่โรงเรียนให้มาตรวจสุขภาพฟัน

หลังจากนั้น จึงเริ่มถามเกี่ยวกับประวัติส่วนตัวของน้องจอย เพื่อจะได้เป็นการสร้างความคุ้นเคยกันมากขึ้น เช่นถามเรื่อง อายุเท่าไหร่ บ้านอยู่ไหน เรียนโรงเรียนไหน เดินทางไปอย่างไร มีพี่น้องไหม เป็นต้น

หลังจากผมเป็นฝ่ายถามอยู่นานพอสมควร ก็เป็นคราวของน้องจอยบ้างที่สัมภาษณ์ผมแทน เช่น ถามว่า “ทำไมพี่ถึงมาเรียนหมอฟัน” “เรียนหมอฟันยากไหม” อะไรทำนองนี้ เราคุยกันไปเรื่อย ๆ จนเริ่มรู้สึกสนิทกับน้องจอยมากขึ้น ไม่ค่อยเกร็ง เหมือนตอนแรก ๆ แล้ว

ในครั้งแรกและครั้งที่สองในการเจอกับน้องจอยจึงเป็นการคุยกันในเรื่องทั่ว ๆ ไป และเก็บข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมการบริโภค การดูแลสุขอนามัยช่องปาก ขอเก็บตัวอย่างน้ำลายของน้องจอย และ ตรวจช่องปากของน้องจอย ซึ่งในครั้งที่สองที่ได้เจอกันนั้น บทสนทนาส่วนใหญ่จะเน้นหนักไปทางการเก็บข้อมูลเพื่อจะได้นำไปประเมินหาว่าน้องจอยเสี่ยงต่อการเป็นโรคในช่องปากอะไร

ในครั้งที่สาม ผมมีแผนการทำงานที่เตรียมไว้แล้วก็คือ นำข้อมูลที่ได้จากสองสัปดาห์ที่ผ่านมานำมาประมวลผลในโปรแกรมที่เรียกว่า cariogram ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ใช้ประเมินความเสี่ยงในการเกิดฟันผุ และจะนำมาเสนอข้อมูลให้น้องจอยได้ดู เพื่อพยายามลองให้น้องจอยได้ลองคิดและประมวลผลถึงความหมายของตัวเลขต่างๆจากโปรแกรม cariogram นี้ด้วยตัวเอง โดยมีเราคอยแนะนำ เพื่อจะได้คิดหาวิธีที่จะลดพฤติกรรมเสี่ยงในการเกิดฟันผุ

แต่วันนี้น้องจอยกลับมาด้วยสีหน้าที่ไม่มีอารมณ์อยากจะคุยกับใคร ดูแล้วเครียด ๆ เงียบ ๆ ไม่เหมือนที่ผ่านมา เพราะเท่าที่ได้รู้จักพูดคุยกันมาสองครั้งนั้น จะเห็นน้องจอยก็เป็นคนที่สนุกสนาน ร่าเริง เฮฮากับเพื่อน ๆ โรงเรียนเดียวกันที่มาร่วมโครงการนี้ แต่วันนี้กลับไม่พูดคุยกับใคร ผมก็ได้ลองชวนคุยเกี่ยวกับสิ่งที่ตรวจไปเมื่อสัปดาห์ก่อนให้ฟัง แต่น้องจอยก็ไม่ได้สนใจมากนัก ไม่ค่อยได้ฟังที่ผมพูดเท่าไร แต่บังเอิญว่ามีน้องอีกคนหนึ่งซึ่งเป็นเพื่อนของน้องจอย มากระซิบบอกผมว่า วันนี้น้องจอยมีเรื่องทะเลาะกับน้องคนอื่น ๆ ในกลุ่มที่มาด้วยกัน และเป็นเรื่องที่ทะเลาะกันรุนแรงมาก ทำให้น้องจอยอารมณ์ไม่ดี ซึ่งผมคิดว่า น้องจอยคงไม่มีอารมณ์มานั่งฟังสิ่งที่ผมจะพูดแน่นอน

ผมจึงยุติการพยายามชวนน้องจอยคุยเรื่องในช่องปาก และเปลี่ยนเป็นการหาทางที่จะทำให้น้องจอยอารมณ์ดีขึ้นมาด้วยการชวนคุยเรื่องราวอื่น ๆ ในตอนแรกก็ชวนคุยเรื่องละคร แต่น้องจอยกลับเป็นคนไม่ชอบดูละครไปเสียอีก จึงชวนคุยเกี่ยวกับสถานที่เที่ยวแถว ๆ บ้านน้องจอย เพราะว่าเห็นว่าน้องจอยเป็นคนชอบเที่ยวด้วย และบังเอิญช่วงนั้น ผมจะไปเที่ยวที่เขื่อนที่อำเภอแม่แตง ซึ่งเป็นทางผ่านบ้านของน้องจอยด้วย และน้องจอยก็ไปเที่ยวที่นั่นบ่อย ๆ พอดี ก็เลยเล่ารายละเอียดในการจะไปเที่ยวให้ผมฟัง

พอคุยกันไปได้สักพักใหญ่ ๆ น้องจอยอารมณ์ดีขึ้น สังเกตได้จากการที่น้องจอยเริ่มพูดคุยกับผมมากขึ้นเมื่ออารมณ์ดีขึ้นแล้ว น้องจอยจึงเล่าเรื่องที่อารมณ์ไม่ดีวันนี้ให้ผมฟัง และก็ขอโทษผมที่ทำให้วันนี้ผมไม่ค่อยได้ทำงานเท่าไร ผมก็บอกว่าไม่เป็นไร เพราะตัวเองก็เคยมีประสบการณ์กับเพื่อนอย่างนี้เหมือนกัน จากท่าทีของน้องจอยที่ผ่อนคลายลง ผมก็เลยคิดว่า น้องจอยคงจะยอมฟังเรื่องที่เราเตรียมไว้ได้แล้ว จึงได้ชวนให้น้องจอยมาดู โปรแกรม cariogram แล้วอธิบายให้น้องจอยฟัง เกี่ยวกับ ความหมายของสิ่งที่อยู่ใน cariogram ปรากฏว่า คราวนี้น้องจอยแสดงความสนใจต่อการอธิบายของผมมากขึ้นกว่าเดิม แตกต่างจากตอนเริ่มต้นอย่างเห็นได้ชัด

เมื่อได้กลับมานึกถึงเหตุการณ์ที่ในวันนั้น นอกจากจะได้เห็นวิธีการแก้สถานการณ์ปัญหาเฉพาะหน้าของตัวเองแล้ว ยังทำให้ผมได้กลับมาคิดว่า ถ้าผมไม่ได้สนใจในพฤติกรรมการแสดงออกของน้องจอย หรือ ถ้าผมเห็นแล้วแต่ไม่ได้สนใจ และก็สอนน้องจอยไปเรื่อย ๆ ในสิ่งที่ผมเตรียมตัวมาแล้ว ผลที่ได้รับจะเป็นอย่างไร

หากตัวเองมีหน้าที่แค่ต้องตื่นเช้ามา เพื่อจัดเตรียมเก้าอี้ทำฟัน เตรียมเครื่องมือ และ เตรียมความรู้ในการรักษาคนไข้ จากนั้นก็เชิญคนไข้เข้ามานั่ง ซักประวัติ ตรวจสัญญาณชีพ (vital sign) แล้วก็ก้มหน้าก้มตาทำงานให้เสร็จตามแผนของตัวเองไปวัน ๆ ก็อาจจะไม่ได้สัมผัสถึงบางอย่างที่ผมขอเรียกว่า “สัญญาณชีวิต (Life sign)” สัญญาณชีวิตเป็นสิ่งที่ไม่สามารถตรวจวัดได้ด้วยเครื่องมือแพทย์ แต่สามารถรับรู้ได้ด้วยใจของเราเอง เพียงแต่ใจของเราต้องมีความไว (sensitive) ที่มากพอในการตรวจจับสัญญาณชีวิต

ผมคิดว่า ผมเป็นนักศึกษาทันตแพทย์ การทำงานของพวกเราคือการทำงานกับคน ซึ่งหากเราไม่เข้าใจความเป็นคน ณ เวลานั้น ๆ แล้ว เราจะทำให้งานของเราสำเร็จได้อย่างไรกัน

หนังสือเล่มนี้เราต้องชื่อว่า "เมื่อไม่มีเสื้อกาวน์: รวมบทความประสบการณ์เปลื้องกาวน์ของนักศึกษาทันตแพทย์"

ช่วย ๆกันตั้งโดยอาจารย์ในสาขาวิชาครับ

ชื่อรอง "เปลื้องกาวน์" อาจจะดู sexy ไปสักนิด แต่ว่า...เอาไว้ล่อเป้าอ่ะ...(ติดสำนวนนักศึกษามา........อ่ะ...)

ส่วนในบทนำก็จะมีการบอกเล่าถึงกระบวนการการจัดการเรียนการสอนไว้นิดหน่อย แต่คงไม่มีรายละเอียดมากนัก เพราะจนป่านนี้คนสอนก็ยังไม่รู้ขั้นตอนที่แน่นอนเลย

อีกอย่าง....เล่าเยอะ เรื่องมันเป็นทางการมาก....น่าเบื่อ....อ่ะ

จรินทร์ ปภังกรกิจ

อ. อติศักดิ์ครับ

ต้องขอชื่นชมในผลงาน และศักยภาพของนักศึกษาทันตแพทย์ มช. มากๆ

อ. จรัญญาเสนอว่าอยากให้อาจารย์ช่วยบันทึก "กระบวนการ" ได้มาซึ่งเรื่องราวดีๆ เหล่านี้ไว้ในหนังสือด้วยครับ ลองพิจารณาดูนะครับ

เรียนอ.จรินทร์ และพี่ตู๊

เขียนบทนำเสร็จแล้วครับ มีการเล่าไว้อยู่ประมาณนึง (มีปัญญาเล่าได้แค่นี้อ่ะครับ)

ขออาจารย์จรินทร์และี่ตุ๊ ลองอ่านและ comment ดู ถ้าพอปรับไหวจะลองอีกสักยก เวลาน่ะพอมีครับ (เพราะตอนนี้หนังสืออยู่ในขั้นตอนการทำ art ยังไม่เข้าสู่กระบวนการพิมพ์) แต่ปัญญานั้น ไม่แน่ใจครับ

ขอบคุณที่ชอบนะครับ นักศึกษาคงภูมิใจ

ก่อนถอดกาวน์

การเขียนบทนำของหนังสือเล่มนี้ เขียนขึ้นบนความมั่นใจว่า กำลังเขียนส่วนที่สุดท้ายแล้วจะน่าอ่านน้อยที่สุดในเล่ม

หนังสือเล่มนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อปีการศึกษา 2551 ที่สาขาวิชาทันตกรรมชุมชน คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ทดลองนำแนวคิดเรื่อง“ระบบบริการสุขภาพที่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์” หรือ “Humanized Health care” มาทดลองประยุกต์ใช้เพื่อจัดการเรียนการสอนสำหรับนักศึกษาทันตแพทย์ชั้นปีที่ 5 ที่เข้าฝึกปฏิบัติงานกับคนไข้ในคลินิกทันตกรรมป้องกัน ซึ่งเป็นคลินิกที่เน้นฝึกปฏิบัติการประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรคในช่องปากของคนไข้อย่างรอบด้าน และการค้นหามาตรการต่าง ๆ ที่เหมาะสมเพื่อลดความเสี่ยงนั้น ๆ การสอดแทรกแนวคิด “ระบบบริการสุขภาพที่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์” เข้าไปในการฝึกปฏิบัติงานจึงเป็นการทำให้การทำงานทันตกรรมป้องกันของนักศึกษาจะต้องคำนึงถึง “ความเป็นมนุษย์” ของคนไข้ให้มากที่สุด

2 ประโยคสำคัญถูกหยิบขึ้นมาใช้เป็นแกนในการเรียนรู้ คือ ‘People don’t care how much you know until they know how much you care (ผู้คนเขาไม่ใส่ใจหรอกว่าคุณจะรู้มากแค่ไหน จนกว่าเขาจะรู้ว่าคุณใส่ใจเขาแค่ไหน)’ ที่กล่าวไว้โดยอาจารย์ทันตแพทย์อุทัยวรรณ กาญจนกามล ผู้ก่อตั้งและอดีตหัวหน้าภาควิชาทันตกรรมชุมชน และ ‘I would rather know the person who has the disease than know the disease the person has (ฉันต้องการที่จะรู้จักคนผู้ที่เป็นโรคมากเสียยิ่งกว่ารู้จักโรคที่คนผู้นั้นเป็น)’ ที่กล่าวไว้โดย ฮิปโปเครติส (Hippocrates) บิดาแห่งการแพทย์สมัยใหม่ ซึ่งทั้ง 2 ประโยคนี้เป็นการเน้นย้ำถึงการเรียนรู้เรื่องการให้ความใส่ใจและการทำความรู้จักกับคนที่นักศึกษาต้องมีปฏิสัมพันธ์และมีหน้าที่ในการให้บริการ ให้มีน้ำหนักที่มากเท่า ๆ กับหรือมากกว่าการมีความรู้เกี่ยวกับไข้หรือโรคที่คนผู้นั้นเป็นอยู่

การฝึกปฏิบัติงานเริ่มจากการชี้แจงทำความเข้าใจกับนักศึกษาถึงแนวคิดสำคัญและวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้ หลังจากนั้นนักศึกษาแต่ละคนจะได้รับมอบหมายให้ทำงานทันตกรรมป้องกันกับคนไข้ของตน ซึ่งบ้างก็เป็นคนไข้เด็กนักเรียนที่ทางคลินิกจัดเตรียมไว้ให้ผ่านการประสานงานกับโรงเรียน บ้างก็เป็นคนไข้ปกติในระบบของคณะที่มีทั้งสมัครใจและทั้งถูกชักชวนให้เข้าร่วมในกระบวนการ นักศึกษาแต่ละคนจะมีเวลาในการพบปะคนไข้ของตนประมาณ 3 - 4 ครั้ง เมื่อทำงานกับคนไข้ไปได้ประมาณ 2-3 ครั้ง ก็จะจัดให้มีชั่วโมงที่เป็นการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันระหว่างอาจารย์และนักศึกษา ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับแง่มุมของความเป็นมนุษย์ที่นักศึกษาได้สัมผัสมา

เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการฝึกปฏิบัติงานนักศึกษาทุกคนจะได้รับมอบหมายให้เขียนบทความสั้น ๆ ถ่ายทอดประสบการณ์การเรียนรู้ในแง่มุมของ Humanized Health care

กล่าวได้ว่าการจัดกระบวนการเรียนรู้ในครั้งนี้เสมือนหนึ่งเป็นการทดลองที่มีเพียงแนวคิดกว้าง ๆ ที่ใช้นำทาง โดยที่ความเข้าใจต่อแนวคิดนี้ก็ยังไม่ชัดนัก ส่วนหนทางหรือรูปแบบที่ชัดเจนนั้นก็ยังไม่มีใครรู้ว่าควรจะเป็นเช่นไร แนวทางการดำเนินงานจึงมีเพียงหลวม ๆ ไม่มีขั้นตอนการปฏิบัติที่ชัดเจนนัก เมื่อเป็นเช่นนี้ด้านหนึ่งก็ก่อให้เกิดความไม่มั่นใจในกลุ่มผู้สอนว่าจะทำอย่างไรกันดี สิ่งที่กำลังทำอยู่นั้นมาถูกทางหรือไม่ มิพักต้องกล่าวถึงผู้เรียนว่าจะ ‘งง’ เพียงใด เมื่อได้ฟังการมอบหมายงานที่แม้แต่อาจารย์ผู้มอบหมายเองก็ยังไม่รู้ชัดว่าผลลัพธ์ที่ตนเองต้องการคืออะไร หน้าตาเป็นแบบไหนกันแน่ อาจารย์บางท่านมอบหมายงานด้วยการบอกนักศึกษาว่า ‘บทความที่นักศึกษาต้องเขียนควรจะยาวสัก 2 หน้ากระดาษ แล้วก็ไม่น่าจะเป็นการเขียนในลักษณะของการรายงานเคสที่แข็ง ๆ แห้งแล้ง แต่ควรจะเป็นการเขียนในลักษณะของความเรียงที่มีความน่าอ่าน ว่าด้วยการเรียนรู้เรื่องความเป็นมนุษย์ โดยอ้างอิงจากประสบการณ์ในการทำงานครั้งนี้หรืออาจจะถอยกลับไปหยิบประสบการณ์ที่เคยผ่านมาในคลินิกอื่น ๆ มาใคร่ครวญและเขียนถึงด้วยก็ได้’

เช่นนี้เป็นต้น

ในด้านหนึ่งความคลุมเครือเช่นนี้อาจจะดูเป็นปัญหา แต่ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นไปได้ว่าเมื่อเราตัดสินใจชวนกันก้าวเข้าไปเรียนรู้ในประเด็นที่มีความเป็นนามธรรมสูง อีกทั้งยังซับซ้อนและเลื่อนไหลผันเปลี่ยนตลอดเวลา เช่น ความเป็นมนุษย์นี้ การพยายามหาแนวทางที่ชัดเจน จนถึงการเป็นขั้นตอนที่ปฏิบัติตามได้ หนึ่ง สอง สาม สี่ เหมือนกับการกรอฟันอุดฟัน อาจจะเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ หรือไม่ควรจะเป็นด้วยซ้ำ เพราะกล่าวให้ถึงที่สุดการมีขั้นตอนที่แน่นอนตายตัวนั่นเองที่อาจจะเป็นอุปสรรคขัดขวางการเรียนรู้และเข้าใจในความเป็นมนุษย์

เพราะเมื่อเรามั่นใจว่าเรา “รู้” และมีวิถีทางของการปฏิบัติที่ชัดเจน เราก็จะเดินหน้าใช้สมอง สองมือ และหนึ่งปาก โดยไม่เปิดหูรับฟังและเปิดใจเพื่อเข้าใจเรื่องราวต่าง ๆ ของผู้คน แต่เมื่อเราถูกผลักให้ดำดิ่งลงไปในประเด็นที่เราไม่รู้และไม่มั่นใจต่างหากที่จะทำให้เราปิดปาก เก็บมือ และหยุดคิด เพื่อเปิดโอกาสให้หูและหัวใจได้รับฟังและใคร่ครวญกับเสียงซ่อนเร้นที่เราละเลยมาแสนนาน ซึ่งนั่นก็คือการถอดเสื้อกาวน์ เพื่อละวางความเป็นหมอที่หมกมุ่นอยู่กับการค้นหาและจัดการโรคไว้ชั่วขณะ เพื่อที่จะทำความเข้าใจต่อกันและกันไม่ใช่ในฐานะของหมอเข้าใจคนไข้ แต่เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่ปรารถนาจะเข้าใจมนุษย์อีกคน

แต่การพูดเช่นนี้มิได้หมายถึงการเสนอให้เราต้องทิ้งเสื้อกาวน์และใช้แต่หัวใจทำความเข้าใจชีวิตของคนไข้ เพราะนั่นย่อมเป็นการทำลายจุดแข็งด้านความเป็นศาสตร์ของทันตแพทย์ไปเสีย และคงไม่มีคนไข้คนใดพึงพอใจที่เห็นหมอฟันเอาแต่เล่าและพูดถึงเรื่องราวของชีวิตของตนได้อย่างออกรสและเต็มไปด้วยความเห็นอกเข้าใจ แต่ไม่ใส่ใจที่จะพูดถึงอาการในช่องปากของตนหรือเห็นสิ่งเหล่านั้นเป็นเรื่องเล็กน้อย

การให้บริการสุขภาพที่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์จึงไม่ใช่การเสนอให้ถอดเสื้อกาวน์ทิ้ง แต่เป็นการเรียนรู้ที่จะจัดวาง “เสื้อกาวน์” และ “หัวใจ” ไว้ให้เหมาะสม ไม่ให้เป็นสิ่งที่อยู่ตรงกันข้ามและแยกขาดกัน จนต้องเลือกว่าเราจะเป็นหมอประเภทไหน แต่การจะทำเช่นนั้นได้ เราจะต้องใคร่ครวญและสะท้อนให้เห็นตนเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อรู้เท่าทันการทำงานของสมอง สองมือ และหนึ่งปาก และไม่ให้เสื้อกาวน์ที่สวมใส่มาปิดหูและบดบังการทำงานของหัวใจไปจนหมดสิ้น

หลังเสร็จสิ้นกระบวนการเรียนรู้ เมื่อบทความทั้งหมดเกือบ 60 ชิ้น ได้ปรากฏออกมา สาขาวิชาทันตกรรมชุมชนเล็งเห็นว่าบทความทั้งหมดมีความน่าสนใจในแง่มุมที่ต่างกันออกไปทั้งสิ้น และมีบทความบางส่วนที่น่าจะมีศักยภาพพอที่จะกลายเป็นบทความที่เผยแพร่ในวงกว้างได้ โครงการจัดทำหนังสือเล่มนี้จึงถือกำเนิดขึ้นโดยเป็นการรวมบทความ 12 ชิ้น ที่คัดสรรมาจากบทความทั้งหมดที่นักศึกษาเขียนขึ้น และให้นักศึกษาผู้เขียนบทความที่ได้รับการคัดเลือก มาทำงานร่วมกับคณาจารย์สาขาวิชาทันตกรรมชุมชนเพื่อปรับและพัฒนาบทความให้มีความคมและน่าสนใจยิ่งขึ้นทั้งในแง่เนื้อหาและวรรณศิลป์

ขอขอบคุณนักศึกษาเจ้าของบทความทั้ง 12 คน ที่ร่วมเข็นหนังสือเล่มนี้จนสำเร็จ และขอขอบคุณนักศึกษาทันตแพทย์ชั้นปีที่ 5 รุ่น 39 ปีการศึกษา 2551 ทุกคนที่ได้ร่วมเรียนรู้ด้วยกันมาตลอดปีการศึกษา และขอขอบคุณโครงการโรงเรียนทันตแพทย์สร้างสุขที่สนับสนุนทุนในการดำเนินการจัดทำและจัดพิมพ์

ท้ายที่สุด เราไม่อาจหาญที่จะกล่าวอ้างว่ากระบวนการจัดการเรียนรู้ที่ผ่านมานั้นมีความลงตัวสำเร็จอย่างงดงาม อีกทั้งบทความทั้ง 12 ชิ้นของนักศึกษาก็ยังห่างไกลนักจากคำว่า “สมบูรณ์แบบ” ไม่ว่าจะวัดด้วยแง่มุมไหน และหนังสือเล่มนี้ก็มิได้ตั้งใจเสนอความสำเร็จในลักษณะเช่นนั้น หากแต่ความมุ่งหวังของหนังสือเล่มนี้คือการเปิดเวทีให้เรื่องราวของ “หัวใจและความงาม” (ที่อาจจะดูไร้ความเป็นวิชาการหากเอามาตรประเมินของวิชาการแบบวิทยาศาสตร์ที่แสนแห้งแล้งมาทาบวัด) ให้มีที่ทางได้สนทนากันอย่างเป็นทางการและเป็นวิชาการมากขึ้น แทนที่จะปล่อยให้เป็นการเรียนรู้ตามยถากรรมที่สุดแล้วแต่ใครจะเก็บเกี่ยวกันได้มากน้อยเพียงใด และหากเวทีเล็ก ๆ นี้ จะได้นำไปสู่การสนทนาที่กว้างขวางมากขึ้นเรื่อย ๆ นั่นก็จะเป็นความพึงพอใจอย่างสูงสุดของสาขาวิชาทันตกรรมชุมชน

ดังที่กล่าวไว้ตั้งแต่ต้นว่า เนื้อหาส่วนนี้จะเป็นส่วนที่น่าอ่านน้อยที่สุดในเล่ม ดังนั้นบทนำนี้คงจะไม่ทำร้ายตัวเองต่อไปด้วยการแนะนำหรือสรุปประเด็นของบทความแต่ละชิ้นให้เยิ่นเย้อและทำให้น่าเบื่อมากไปกว่านี้อีก จึงขอเชิญชวนผู้อ่านเปิดหัวใจสนทนากับเรื่องราวทั้ง 12 เรื่องได้ด้วยตนเองต่อไป

สาขาวิชาทันตกรรมชุมชน

คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

มกราคม 2553

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท