รวมมิตร KM ปฏิบัติ (4)


ในขณะที่ผู้เขียนเล่าเรื่องมาถึง รวมมิตร KM ปฏิบัติ (4) นี้ กลับนึกได้ว่า ผู้เขียนเริ่มหาและใช้ห้องสมุด ใน สคส. เพื่อหยิบตำราเล่มโน้นเล่มนี้ มาอ่าน เอาเนื้อหาสาระบ้าง เพื่อยืนยันความเข้าใจของเราจากการลงพื้นที่บ้าง เพื่อยืนยันข้อมูลว่าเราได้นำเสนออย่างถูกต้องตามหลักการของสคส. หรือเพื่ออ่านเอาเรื่องใหม่ๆบ้างที่สอดคล้องเกี่ยวพัน ผู้เขียนจึงรู้ตัวเองว่าเดือนมิถุนายน ผู้เขียนต้องเรียนรู้ KM ปฏิบัติต่อ ในขอบข่ายอย่างไร?

        ผู้เขียนไม่เคยชอบปฏิบัติการใดๆตอนก่อนจบเลย   จริงๆผู้เขียนเตรียมโครงเรื่องตอนจบล่วงหน้าไปแล้ว  ...ทำให้ผู้เขียนนึกถึงทริปปีนเขา ดอยม่อนจอง เนินสุดท้าย  ผู้นำบอกว่าง่ายนิดเดียว จะถึงจุดหมายแล้ว คือดอยม่อนจอง แล้วเดินหายไปทันที  ผู้เขียนเชื่อ รีบเดินตามแม้แรงกำลังจะหมด ปรากฏว่า เขาชัน 90 องศา  มือกับเท้า ต้องช่วยเหลือพยุงตัวเราขึ้นไปให้ได้เท่านั้น  อย่าคิดว่าจะถอยหลังกลับ...  เมื่อผู้เขียนพาตัวเองผ่านด่านนี้ไปได้  ผู้นำนอนแผ่หัวเราะคอยอยู่ก่อนแล้ว  ถามเราว่า เป็นอย่างไรบ้าง?  เราคิดสักครู่ในขณะที่นอนแผ่เหมือนกันแล้วไปตอบว่า ต้องอย่างนี้แหละ !  ลึกๆแล้วผู้เขียนมีความสุขที่พิชิตความยาก ความท้าทายได้นั่นเอง


การเป็นวิทยากร KM

  • การเรียนรู้วิธีการบรรยายของ ศ.นพ. วิจารณ์  พานิช  ที่สถาบันพระปกเกล้า ในหัวข้อเรื่อง องค์การแห่งการเรียนรู้และการจัดการความรู้ ต้องยกมาเป็นไฮไลท์แรก  เพราะประทับใจที่ได้รับ คำตอบ เรื่องการเป็นวิทยากร KM   ผู้เขียนได้เห็นและมอง การแก้ไขสถานการณ์  การออกแบบการสอนในรายละเอียด ที่เกิดขึ้น ณ วินาทีนั้น โดย เช็คความเข้าใจจากผู้เข้าเรียน   ผู้เขียนมองว่า ท่านใช้ Management ผสมผสานได้อย่างลงตัว  ตามชื่อ การจัดการความรู้ จึงถือเป็นการบรรยาย KM  ของวิทยากรระดับปรมาจารย์  แนวเล่าเรื่อง  สอดแทรก KM ปฏิบัติอย่างแนบเนียน แม้จะจัดห้องเรียนแบบเธียร์เตอร์   มีการใช้เทคนิคการสอน  เช่น การให้ผู้เรียนเล่าเรื่อง   ผู้สอนเล่าเรื่องตอบคำถามผู้เรียน  การสอน Managementสอดแทรกเข้าไปด้วย   การปลุกจิตสำนึกผู้เรียน  มีตัวอย่างการทำ KM  ที่ดีให้ผู้เรียนดูในรูปแบบ VCD   การทำ KM จริง เป็นตัวอย่างก็มี เช่น  มีวิทยากร สคส.ติดตามไปดูอาจารย์สอน  การเก็บรูปภาพเป็นข้อมูลในการเขียนบล็อก  แล้วแต่ผู้เรียนจะเก็บเกี่ยวความรู้ได้มากน้อยแค่ไหน
  • การบรรยาย หลักสูตร การจัดการความรู้และการสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้ ให้กับ กลุ่มหัวหน้างานสายการผลิต ของ กฟผ.  โดย ดร.ประพนธ์  ผาสุขยืด  ทำให้ผู้เขียน ได้เรียนรู้วิธีการสอนแนวทฤษฎี KM  อย่างเร้าใจ  เห็นภาพรวมของทฤษฎี ในแบบรูปธรรม  ที่มีตรรกะการคิด มีตัวอย่างการเล่าประสบการณ์ทำ KM  มีการกระตุ้นจิตสำนึกผู้เรียนให้คิดสอดแทรก KM เข้าไปในระบบงานเดิมที่ทำอยู่   นับว่าเป็นศิลปะการขายความคิดที่ยอดเยี่ยมน่าประทับใจ จี้จุดหัวใจปัญหาขององค์กร
กระบวนการ  KM
  • การสอนแนวลงมือปฏิบัติกระบวนการ KM  โดยนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิของ สคส. ในเวทีโครงการพัฒนาศักยภาพแกนนำเครือข่ายวิทยุชุมชน และเวทีเครือข่ายศูนย์การเรียนรู้วิถีพุทธเพื่อพัฒนาคุณธรรมน้อมนำชีวิตของผู้บริหาร 9 โรงเรียน โดยศูนย์คุณธรรม ทำให้ผู้เขียนได้เรียนรู้ การใช้เครื่องมือ ธารปัญญา ในลักษณะติดตามทีมและแบ่งงานรับผิดชอบ เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ตามมาด้วย
    • ขั้นตอน เริ่มจากเกมสลายกำแพง/น้ำแข็ง ทำให้ผู้เข้าร่วมกระบวนการรู้จักกัน เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่การเล่า เรื่องเร้าพลัง ซึ่งเป็นความสำเร็จที่ประทับใจ  ทำการสกัดแก่นความรู้   กำหนดเกณฑ์แล้วสร้างตารางอิสรภาพ   ประเมินตนเอง  แลกเปลี่ยนเรียนรู้  ทบทวนหลังปฏิบัติ แล้วนำเสนอแผนงานของแต่ละโครงการ 
      • ผู้เขียนได้เลือก รับผิดชอบ  AAR (ทบทวนหลังปฏิบัติ)  ในเวทีวิทยุชุมชน จ.ราชบุรี นับว่าเป็นการเรียนรู้หน้าเวทีอีกรสชาติหนึ่งที่ต้องพยายามควบคุมผู้เข้าร่วมกิจกรรมให้พูดทบทวนในประเด็นและรักษาเวลา
      • การเป็นคุณอำนวยในเวทีศูนย์คุณธรรม ทำให้เรียนรู้ว่า  เราต้องแก้สถานการณ์โดยการเล่าเรื่องตัวเราเอง เกี่ยวกับเรื่องคุณธรรม ในฐานะผลผลิตของโรงเรียน เพื่อสร้างบรรยากาศ  ณ ขณะนั้น เราคิดอย่างเดียวว่า "จะทำอย่างไรให้เขาได้ซึมซับ KM ไป?" เพราะการเล่าเรื่องความสำเร็จในการพัฒนาคุณธรรมในโรงเรียน  มีเพียงอาจารย์ 2 ท่าน ที่เป็นคุณกิจ จากทั้งหมด 13 ท่าน และได้สัมผัสกับตนเองว่า คุณกิจตัวจริงจะมีเรื่องเล่าที่เร้าพลังจริงๆ   
        • สิ่งที่นึกคิดเอง คือ กลุ่มที่มีส่วนรวมในการสร้างคุณธรรมจากเรื่องเล่า นอกจาก ครู พระสงฆ์ แล้ว  ยังมีชุมชน และครอบครัวที่เอื้ออำนวย ถ้ามีเวที KM รวมพลกลุ่มเหล่านี้ก็คงดีไม่ใช่น้อย
        ผู้เขียนทบทวนตัวเองว่า ยังไม่รู้จริงในเรื่องการใช้เครื่องมือธารปัญญา เพียงแค่สัมผัส  แต่เริ่มสนุกที่จะลงมือทำ KM ปฏิบัติ ในรายละเอียด จุดเล็กๆต่อไป  และไม่มีเรื่องราวภูมิเดิมของตนเองมาแลกเปลี่ยน ในเรื่องกระบวนการ KM

.........................................................................

  • การเข้าร่วมสังเกตการณ์ การประชุม AAR ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี เพื่อขับเคลื่อน การแพทย์แบบมีหัวใจเป็นมนุษย์ หลังจากผู้เข้าประชุม ได้ดูงานมูลนิธิพุทธฉือจี้  ที่ประเทศไต้หวัน  ทำให้ผู้เขียนได้เห็น การ AAR แบบผู้เชี่ยวชาญ KM โดยมี ศ.นพ. วิจารณ์  พานิช เป็น Facilitator  และนำไปสู่...
  • การนำแนวคิดการแพทย์แบบมีหัวใจเป็นมนุษย์เข้าไปในการแพทย์   การสร้างเครือข่ายแบบฉือจี้ และสร้างกระบวนการเรียนรู้   การใช้กระบวนการสื่อสาร  การสร้างคนไปดูงานอย่างมียุทธศาสตร์ลงรากลึก  และมีคณะทำงานร่วมจัดการดูแล สานต่อ จัดการความรู้ 
  • ผู้เขียนประทับใจบทสรุปของ ศ.นพ.ประเวศ  วะสี   “มูลนิธิพุทธฉือจี้ มีภารกิจที่ยิ่งใหญ่ คือเปลี่ยนแปลงโลก โดยใช้กระบวนทัศน์ใหม่  ซึ่งทั่วไปเอาวิทยาศาสตร์นำ  นำไปสู่การแยกส่วน เกิดวิกฤต เกิดกิเลส โลกเดือดร้อน  แต่มูลนิธิพุทธฉือจี้เอาใจนำ หรือศาสนานำวิทยาศาสตร์ตาม  เป็นกระบวนการที่ยิ่งใหญ่ เป็นมนุษยธรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก  จะเกิดการเปลี่ยนแปลงโลก และจะดึงกระแสอื่นเข้ามาร่วม
  • มีประเด็นจี้จุดผู้เข้าร่วมประชุม ที่ผู้เขียนพอจะสังเกตได้ เมื่อมีการยกตัวอย่างเรื่องศิลปะการชงน้ำชาของเขาที่มีมิติบริการละเอียดอ่อน  มาเปรียบเทียบกับหลักสูตรการจัดดอกไม้ของเราเพื่อจัดดอกไม้  ..นัยที่ซ่อนอยู่ในการจัดดอกไม้ คืออะไร สำหรับผู้ขียนแล้วการจัดดอกไม้พัฒนาการนึกคิดได้  ผู้เขียนมีความสุขในการจัด และเข้าใจเอาเองว่าเราสามารถเรียนรู้ปรัชญาบางอย่าง จากการจัดดอกไม้ในชนิดที่แตกต่างกัน ในแจกันที่แตกต่างกัน และสถานที่แตกต่างกัน และดอกไม้ที่ถูกจัดโดยใส่ใจผู้จัดลงไปด้วยจะมีพลังในการสร้างบรรยากาศที่ดีเป็นอย่างน้อย....

.........................................................................

  • ในเวทีนวัตกรรมหุ้นส่วนการพัฒนาในพื้นที่  ซึ่งมีตัวแทนจากโครงการบูรณาการจังหวัดเพื่อแก้ปัญหาความยากจน และโครงการชีวิตสาธารณะท้องถิ่นน่าอยู่ มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยเล่าประสบการณ์การทำงาน

        เบื้องหลังงานนี้  ผู้เขียนใช้ทักษะการย่อความจากข้อมูลกองโต  ตามหัวข้อที่เจ้าของงานมอบหมาย เพื่อทำเอกสารแจก  มีความผิดพลาดเกิดขึ้นในครั้งแรก เพราะผู้เขียนสรุปข้อมูลที่เกี่ยวกับ KM เท่านั้น  คุณวรรณา จึงตั้งโจทย์ใหม่ให้ ว่าต้องการเรื่องที่เกี่ยวกับการเชื่อมโยงเครือข่ายโครงการ    งานสำเร็จได้ด้วยการช่วยเหลือเล็กๆน้อยๆกันในทีมงาน  

        ในวันกำหนดจัดงานจริง ผู้เขียนได้ลงมือปฏิบัติแจกชุดเอกสารจุดลงทะเบียน  และเป็นคุณลิขิตจับประเด็น KM โดยคุณวรรณาตั้งโจทย์ว่า ประเด็นที่ได้จะตรงกับการสรุปครั้งแรกของผู้เขียนหรือไม่?   ผู้เขียนได้รับคำตอบแล้วว่าตรงกัน คือพบว่า มีการใช้ KM สอดแทรกอยู่ในการดำเนินงานโครงการทั้งสอง

  • แม้เราไม่สามารถควบคุมเวลา ให้ดำเนินการ AAR สดๆ  ได้  แต่ผู้เขียนนึกคิดไปเองว่า อีกด้านหนึ่งของเหรียญเหมือนมีสิ่งดีๆ บางอย่างซุกซ่อนอยู่  เวทีแบบนี้ย่อมให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริหารประเทศ  เหมือนเห็นช่องทาง หรือ แนวโน้มที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ศาสนา วัฒนธรรม 
                ภาคประชาสังคมสามารถผสานใช้เทคโนโลยีกับวิถีชาวบ้านได้อย่างงดงาม โดยมีชาวเมืองไปช่วยชาวบ้านด้านเทคโนโลยี  เกิดการพัฒนาทางการนึกคิด และคงต้องพัฒนาต่อไปภายใต้พื้นฐานความเชื่อของชาวบ้าน เพราะยังมีความทุกข์ร้อนเป็นโจทย์รอ...นั่นเป็นตัวชี้ว่าน่าติดตามพัฒนาการนี้อย่างยิ่ง

         เวทีนวัตกรรมหุ้นส่วนการพัฒนาในพื้นที่ บ่งบอกถึงวิถีชาวบ้านที่เจริญทางความคิด
                   เมื่อเราเจอความทุกข์หรือปัญหา แล้วใช้ความคิด ใช้ปัญญา มาหาทางแก้ไข  ก็จะเกิดการเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุด จนเข้าใจความจริง  เพราะผู้เขียนเองเคยทุกข์ เพราะสงสัยว่าจะแก้ปัญหางานได้อย่างไร? จึงหาทางพาตนเองให้เกิดความนึกคิด  กาลเวลาเปลี่ยน  ความคิดเปลี่ยน  การเรียนรู้เกิดการพัฒนาตลอดเวลาที่เราได้ลงมือกระทำเพื่อพิสูจน์ค้นหา
        
        ในขณะที่ผู้เขียนเล่าเรื่องมาถึง รวมมิตร KM ปฏิบัติ (4) นี้  กลับนึกได้ว่า ผู้เขียนเริ่มหาและใช้ห้องสมุด ใน สคส. เพื่อหยิบตำราเล่มโน้นเล่มนี้ มาอ่าน เอาเนื้อหาสาระบ้าง เพื่อยืนยันความเข้าใจของเราจากการลงพื้นที่บ้าง  เพื่อยืนยันข้อมูลว่าเราได้นำเสนออย่างถูกต้องตามหลักการของสคส.  หรือเพื่ออ่านเอาเรื่องใหม่ๆบ้างที่สอดคล้องเกี่ยวพัน  ผู้เขียนจึงรู้ตัวเองว่าเดือนมิถุนายน ผู้เขียนต้องเรียนรู้ KM ปฏิบัติต่อ ในขอบข่ายอย่างไร?


 

หมายเลขบันทึก: 33000เขียนเมื่อ 2 มิถุนายน 2006 19:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 พฤษภาคม 2012 19:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท