หนังตะลุง


สนใจศึกษาประวัติเบื้องต้น

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการละเล่นพื้นบ้านเมืองนครศรีธรรมราช

 

1.ความหมายและขอบข่ายของการละเล่นพื้นบ้านเมืองนครศรีธรรมราช

           พจนานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน  พ.ศ.  2525  หน้า  90  ให้ความหมายคำ  “การละเล่น”       “พื้นบ้าน”  “พื้นเมือง”  ไว้ดังนี้

           การละเล่น  น.  มหรสพ  การแสดง  เพื่อความสนุกสนานรื่นเริง

           พื้นบ้าน  ว.  เฉพาะถิ่น  มักใช้เข้าคู่กับ  พื้นเมืองเป็นพื้นบ้านพื้นเมือง

           พื้นเมือง  ว.  เฉพาะเมือง  เฉพาะท้องที่  เช่น  ของพื้นเมือง  คนพื้นเมือง  นิทานพื้นเมือง

           การละเล่นพื้นบ้านเมืองนครศรีธรรมราช  ในที่นี่จึงหมายถึง  การมหรสพ  การแสดง  เพื่อความสนุกสนานรื่นเริงในท้องถิ่นนครศรีธรรมราชเป็นสำคัญ

           การละเล่นพื้นบ้านเมืองนครศรีธรรมราชโดยนัยนี้มี  หนังตะลุง  เพลงบอกโนรา  ลิเกป่า  กาหลอและกลอนแปดบท  เป็นต้น

2.ความเป็นมาของการละเล่นพื้นบ้านเมืองนครศรีธรรมราช

            การละเล่นพื้นบ้านเมืองนครศรีธรรมราช  เป็นที่นิยมและรู้จักกันอย่างแพร่หลายยาวนานมานับศตวรรษมีหลักฐานปรากฏชัดทั้งมุขปาฐะ  และลายลักษณ์ว่าหนังตะลุง  โนรา  เพลงบอก  เป็นต้น  เป็นมรดกทางวัฒนธรรมพื้นบ้านที่สำคัญของเมืองนครศรีธรรมราชมาแต่โบราณกาล 

            การละเล่นพื้นบ้าน  ประเภทหนังตะลุง  เพลงบอก  โนรา  เป็นต้น  มีความเป็นมาและลักษณะอย่างไร  มีผู้สนใจศึกษาค้นคว้าบันทึกรวบรวมไว้เป็นหลักฐานอย่างเป็นกิจจะลักษณะ  ซึ่งจะขอนำเสนอ  ณ  ที่นี่เป็นลำดับดังนี้

          2.1  หนังตะลุง

ความนำ : หนังในระดับนานาชาติ

หนัง  หรือละครเงา  (Shadow  Plays)  เป็นวัฒนธรรมที่เก่าแก่ของมนุษยชาติ  เมื่อครั้งพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช  ได้ชัยชนะแก่อียิปต์  ก็ใช้หนังเป็นเครื่องเฉลิมฉลองความสำเร็จ  และประกาศพระเกียรติคุณของพระองค์  ในอินเดียสมัยพุทธกาลพวกพราหมณ์ใช้หนังที่อินเดียเรียกว่า  “ฉายานาฏกะ”  เล่นบูชาเทพเจ้าและสดุดีวีรบุรุษตามเค้าเรื่องมหากาพย์รามายณะ  ในจีนสมัยจักรพรรดิยวนตี่  (พ.ศ.435-511)  พวกนักพรตลัทธิเต๋าได้เล่นหนังสดุดีคุณธรรมความดีของสนมผู้หนึ่งแห่งจักรพรรดิพระองค์นี้ในวาระที่นางวายชนม์  สมัยหลังมา  หนังแพร่หลายมาก  โดยเฉพาะในเอเชียอาคเนย์มีเกือบทุกประเทศซึ่งจำแนกได้เป็น  2  แบบ  แบบหนึ่งรูปหนังมีขนาดใหญ่ส่วนแขนติดกับลำตัวเครื่องไหวไม่ได้  ได้แก่  หนังสเบก  (Sbek)  ของเขมรและหนังใหญ่ของไทย  อีกแบบหนึ่ง  รูปหนังมีขนาดเล็กกว่าแบบแรก  แขนมีรอยต่อกับลำตัว  เคลื่อนไหวได้  ได้แก่  หนังอยอง  (Ayong)  ของเขมรหนังที่เล่นในชวา  บาหลี  มาเลเชีย  สิงคโปร์  ลาว  และหนังตะลุงที่เล่นอยู่ในภาคใต้ของประเทศไทย

หนังตะลุงของภาคใต้ในประเทศไทย       

             หนังตะลุงของภาคใต้ในประเทศไทย  แม้จะแพร่หลายมานาน  และยังหาข้อยุติเรื่องประวัติความเป็นมาที่แท้จริงไม่ได้ก็ตาม  แต่มีข้อสันนิษฐานที่พอจะเป็นเค้าเงื่อนให้เห็นความเป็นมา  เป็นไปได้กว้างดังนี้

             1)กำเนิดที่มาเบื้องต้นของหนังตะลุงในประเทศไทย

                เดิมทีหนังตะลุงเป็นวัฒนธรรมของพราหมณ์เผยแผ่เข้าสู่ประเทศไทยโดยพวกที่นับถือฮินดู  ลักธิ  ไศวนิกาย  คือ  บูชาพระอิศวรเป็นใหญ่  โปรดพิจารณาศึกษา  บทพากย์พระอิศวรของหนังตะลุง  ต่อไปนี้

                บทพากย์พระอิศวร

                         โอม  นะข้าจะไหว้ 

                บาทพระเจ้าทั้งสามพระองค์

                พระอิศวรผู้ทรง

                พระยาโคอุศุภราช  (เชิด)

                          เบื้องขวาข้าจะไหว้

                พระนารายร์ทั้งสี่พระกร

                ทรงพระยาครุฑระเหินจร

                พระชินรินทร์  (เชิด)

                          เบื้องซ้ายข้าจะไหว้

                พระจตุรพัตร์ผู้ทรงพรหม

                ทรงมหาสุวรรณเหมหงส์

                ทรงอิทธิฤทธิ์  (เชิด)

                         ข้าจะไหว้พระฤาษี

                บรมราชอาจารย์

                สั่งสอนสรรพการ

                เรื่องละเล่นในโลกโลกา

                         กลางวันมีโขนหนังละคร

                ราเอ๋ยราตรีอัคคีแจ้งแสงใส

                เอาหนังโขนมาส่องกับแสงไฟ

               ดูลวยลายตระการตา

                         พรั่งเอยพรั่งพร้อม

               ด้วยพละโห  ขัณโฑทั้งผอง

               โหม่ง  ฉิ่ง  ทับ  กลอง

               เรื่องจะเล่นให้สนุกสำราญ

                         ข้าจะไหว้พระฤาษีเจ้าเอยผู้ทรงญาร

               ยิ่งยอดชำนาญในพระเวทและมนตรา

                         ข้าจะไหว้คุณพระพุทธและคุณ

               พระธรรมพระย่อมรักษา

               ทั้งคุณพระบิดร

               ทั้งคุณพระมารดา

               มาห่อหุ้มคุ้มภัย

               คุ้มสรรพเดียดจัญไร

               สรรพการนานา  (เชิด)

               ช่วงเวลาที่หนังตะลุงวัฒนธรรมของพราหมณ์เผยแผ่เข้าสู่ภาคใต้ประเทศไทยอยู่ระหว่างพุทธศตวรรษที่  13-17  กล่าวคือ  ลัทธิไศวนิกาย

                ถ้าดูจากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบในภาคใต้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราช  พัทลุง  และสุราษฎร์ธานี  แล้วน่าจะตกอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่  17  เพราะตามตำราบอกเล่าซึ่งนายหนังตะลุงรุ่นเก่าถ่ายทอดไว้เป็นบทไหว้ครูหนัง  (ตอนออกรูปกาศ)  ต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า  หนังมีมาแต่ครั้งศรีวิชัย  (ศรีวิชัยอยู่ระหว่างพุทธศตวรรษที่  13-17)

โปรดพิจารณาศึกษาบทไหว้ครูหนังตะลุงต่อไปน้

                       ไหว้ครูหนังดั้งเดิมเริ่มประดิษฐ์

                ปฎิสนธิ์ค้นคิดริเริ่มหา

                แรกครั้งกรุงศรีวิชัยหลั่งไหลมา

               จากชวาแบบวายังหนังโบราณ 

             2)กำเนิดที่มาของหนังตะลุงในประเทศไทยระยะอิทธิพลหนังแขก

               ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น  มีหนังแขก  (หนังขวา)  เข้ามาเล่นในภาคใต้ของประเทศไทย  และเลยขึ้นไปถึงกรุงเทพมหานคร  มีหลักฐานปรากฏในบทไหว้ครูของหนังตะลุง  และวรรณคดีไทยเรื่อง  ขุนช้าง  ขุนแผน  ตอนทำศพนางวันทอง  ว่าดังนี้

                        กับชวาอารยันเป็นพันธมิตร

                  กระชับชิดไทยชวาได้อาศัย

                  แล้วนำ  “วายัง”  หนังชวามาเมืองไทย

                  แสดงในตะลุงหลุงคชา

                         ต้นตำรับขับร้องทำนองแขก

                  แปลเปลี่ยนแปลกการเล่นเป็นภาษา

                  ชื่อตะลุงหลุงหลักช้างอ้างเอามา

                  เรียกกันว่าหนังตะลุงติดสถิตย์นาม

                         ไฟพะเนียงเสียงพลุช่องระทา

                  พวกหนังเรียกหามาตั้งจอ

                  เหล่าเจ้าพวกหนังแขกแทรกเข้ามา

                  พิศดูหูตามันปอหลอ

                  รูปร่างโสมผมหยิกงอ

                  จมูกโด่งโก่งคอเหมือนเปรตยืน

                  3)หนังตะลุงในภาคใต้ของประเทศระยะพัฒนารูปแบบของตนเอง

               หนังแขกนั้นเป็นหนังตัวเล็ก  เล่นบนโรงไม่ลำบากยุ่งยากอย่างที่เคยเล่นกันมา  จึงมีผู้คิดเอาอย่าง  ประยุกต์ประสมประสานเข้ากับหนังแบบเดิมโดยปลูกโรงยกพื้นสูง  ใช้เสา  4  เสา  หลังคาแบบเพิงหมาแหงน  ใช้ผ้าขาวเป็นจอสำหรับเชิดรูป  ผู้ดูก็ดูเพียงเงาของรูปซึ่งเกิดจากไฟส่องด้านหลัง  และฟังคำพากษ์  ตามตำราหนังตะลุงระบุว่าผู้เป็นตต้นคิดหนังแบบนี้คือ  นายนุ้ย  บุคคลผู้นี้เป็นชาวบ้านจังหวัดพัทลุง

                   หนังจากภาคใต้ได้เข้าไปเล่นในกรุงเทพ  ครั้งแรกสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  โดยพระยาพัทลุง  นำไปเล่นแถวนาเลิ้ง  หนังที่เข้าไปครั้งนั้นไปจากจังหวัดพัทลุง  คนกรุงเทพมหานครเรียก  “หนังพัทลุง”  แล้วเสียงเพี้ยนเป็น  ”หนังตะลุง”  ในภายหลัง  คณะหนังที่เข้าไปเล่นครั้งนั้นเข้าใจว่าคงเป็น  “หนังทองเกื้อ”  เป็นหนังคณะที่  3  สืบจากหนังหนุ้ย  ดังบทไหว้ครูหนังดังสำนวนว่า

                       ท่านนายหนุ้ยที่หนึ่งถึงที่สอง

                  นายหนักทองสานุศิษย์คิดฝึกฝน

                  เที่ยวเล่นการงานสนุกทุกตำบท

                 จนฝูงชนเขากระเดื่องเลื่องลือดัง

                  แม้นมีการสิ่งไรในจังหวัด

                  ไม่ข้องขัดแคล่วคล่องต้องรับหนัง

                 นายหนักทองเด่นดีมีชื่อดัง

                 จนกระทั่งถึงตายเสียหลายปี

                  นายทองเกื้อที่สามขึ้นตามต่อ

                  วิชาพอเชิดยักษ์ชักฤาษี

                 มุดตสดศัพท์เสียงสำเนียงดี

                  รู้พาทีโอดครวญรูปนวลนาง

                  เขาออกชื่อดังหนังทองเกื้อ

                  เด่นดีเหลือจนรุ่งพุ่งสว่าง

                 มีวิชาพากายไม่จืดจาง

                  จนชาวบางกอกรับไปนับนาน

                 เมือหนังทองเกื้อซึ่งเป็นหนังคณะที่  3  มีชื่อเสียงอยู่สมัยรัชกาลที่  3  หนังหนุ้งผู้เป็นต้นคิดก็คงมีชีวิตไม่ไกลขึ้นไปเท่าไรนะ  ทั้งนี้นอกจากอนุมานจากหลักฐานที่กล่าวแล้ว  ยังพบว่าวรรณกรรมภาคใต้  มิได้ออกชื่อ  “หนังตะลุง”  ไว้เลย  ในขณะที่กล่าวถึงการละเล่นชนิดอื่นเอาไว้  อนึ่งจากหลักฐานรูปหนังตะลุงเก่าแก่ที่หลงเหลืออยู่  ซึ่งเก็บรักษาไว้ที่ศูนย์วัฒนธรรมภาคใต้  วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช  ระบุว่าเป็นรูปหนังรุ่งที่  2  ก็มีอายุราว  150  กว่าปี  ครั้งพิจารณาลักษณะรูปหนัง  พบว่ายังมีขนาดโตอยู่มาก  ลักษณะหน้าตาคล้ายไปทางหนังใหญ่  รูปตัวสำคัญคือ  พระ  นาง  ยักษ์  แสดงว่าในช่วงดังกล่าวรูปหนังตะลุงยังพัฒนาไม่ไกลไปจากหนังใหญ่มากนัก  ยิ่งเมื่อนำบทพากษ์พระอิศวรของหนังตะลุงบางสำนวนไปเปรียบเทียบกับบทไหว้ครูโบราณของหนังใหญ่แล้วจะพบว่า  มีบางตอนซ้ำกัน  และบางตอนยังทิ้งเค้ารอยว่าเป็นบทไหว้ครูมาก่อนอย่างเห็นได้ชัด  เช่น  ยังกล่าวถึงตอนปี่พาทย์ของหนังใหญ่และการเต้นเชิด  ทั้งที่หนังตะลุงไม่ปรากฏธรรมเนียมการเล่น  เช่นนั้นแล้ว  ดังตัวอย่าง

                       โอมพร้อมมหาพร้อมด้วยดนตรีปี่เป่าทั้งหลาย

                 ชูชื่นแสนสบาย

                 ยักย้ายอรชรอ่อนองค์

                       พร้อมทั้งดนตรีปี่พากษ์ทั้งวง

                 ข้าจะเล่นให้สุขสำราญ

                 จากข้อวินิจฉัยที่กล่าวมา  น่าจะเป็นข้อมูลส่วนหนึ่งที่ช่วยให้การพิจารณาเรื่องนี้กว้างออกไป  แต่จะเอาเป็นยุติคงจะยังไม่สมควร

 

หนังตะลุงในจังหวัดนครศรีธรรมราช

                 จากข้อสันนิฐาน  เรื่องหนังตะลุงของภาคใต้ในประเทศไทย  ได้มีข้อมูลพาดพิงถึงหนังตะลุงในนครศรีธรรมราช  หลายตอนคือ

                  หนังตะลุงเป็นวัฒนธรรมพราหมณ์  ที่พวกนับถือ  ฮินดู  ลัทธิไศวนิกายนำมาเผยแพร่ในภาคใต้ของปรเทศไทย  ลัทธินี้เข้ามาเผยแพร่ในนครศรีธรรมราชในช่วงพุทธศตวรรษที่  13-17

                  หนังตะลุงมีมาแต่ครั้งศรีวิชัย  (พุทธศตวรรษที่13-17)  ในช่วงเวลาดังกล่าว  นครศรีธรรมราชเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรศรีวิชัย

                  หนังตะลุงในช่วงรับอิทธิพลหนังแขก  สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น  ครูหนังตะลุงอยู่ที่นครศรีธรรมราช  ซึ่งเป็นที่ยกย่องนับถือของหนังโดยทั่วไปถึงกับมีบทไหว้ครูไว้ดังนี้

                    เขาเล่าลือชื่อดังทั่วทั้งกรุง

                พวกตะลุงเล่นหนังครั้งโบราณ

                เมื่อแรกราชธานีศรีธรรมราช

                แผ่อำนาจชาติไทยอันไพศาล

                นายหนักทองก้อนทองสองอาจารย์

                ประจำการหลักตะลุงล่ามครา

                เรียกกันว่าหนังตะลุงแรกก่อตั้ง

                พวกตะลุงเล่นหนังดังหนักหนา

                หนังหนักทองก้อนทองสองเมธา

                บรมครูบูรพาบูชาเชิญ

                สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้  สถาบันศึกษา  ให้ข้อมูลเรื่อง  นายหนักทอง  ก้อนทอง

                 หนักทอง  ก้อนทอง  เป็นชื่อครูต้น  ปรากฏตามตำนานเล่าว่า  หนักทองกับก้อนทองทหารประจำการกองช้างศึก  (บางตำนานว่าเลี้ยงช้างประจำกองช้างศึก)  ของเมืองนครศรีธรรมราช  เป็นผู้ที่เอาแบบอย่างการเล่น  “วายัง”  แล้วต่อมาแบบอย่างดังกล่าวได้กลายมาเป็นหนังตะลุง  บรรดาหนังตะลุงยุคหลังถือว่า  หนักทองกับก้อนทอง  เป็นครูหนังตะลุงคนแรก

                  รูปหนังตะลุง  อายุประมาณ  150  ซึ่งเก็บรักษาไว้  ที่ศูนย์วัฒนธรรมภาคใต้  ครูนครศรีธรรมราช  (ปัจจุบันคือศูนย์ศิลปวัฒนธรรมสถาบันราชภัฏ  นครศรีธรรมราช)  พบที่จังหวัดนครศรีธรรมราช

                  นอกจากนี้ยังมีวรรณกรรมท้องถิ่นจากลายลักษณ์ที่เป็นสมุดข่อย

                  จากข้อสันนิฐาน  และหลักฐาน  ดังกล่าวมาแล้วข้างต้นพอจะประมวลความได้ว่า  หนังตะลุง  การละเล่นพื้นบ้านเมืองนครศรีธรรมราช  มีกำเนิดที่มาอันยาวนานหลายศตวรรษ  และได้พัฒนามาเป็นลำดับ

                  ศิลปินหนังตะลุง  ตั้งแต่ยยุคต้น  จนกระทั่งปัจจุบันมีมากมายหลายคณะ  ศิลปะการแสดงและองค์ประกอบ  ได้รับการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกับยุคสมัยเสมอมา  สารนครศรีธรรมราชจะนำมาเสนอให้ทราบในประเด็น  “ศิลปินชีวิตและผลงานการแสดง”  ในโอกาสต่อไป   

คำสำคัญ (Tags): #ประเพณีไทย
หมายเลขบันทึก: 329809เขียนเมื่อ 21 มกราคม 2010 14:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 18:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท