ไปดูเกษตรกร "จัดการความรู้" ที่คลองพิไกร


การศึกษาดูงาน เป็นเทคนิคในงานส่งเสริมการเกษตรที่สามารถทำให้เกษตรกรหักเหชีวิตและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ เพราะจากการสัมผัสด้วยตาและกาย...

   ในการ จัดสัมมนาเพื่อสรุปผลการจัดการความรู้ครึ่งปีแรกของกรมส่งเสริมการเกษตรนั้น ในวันที่สอง (23 พ.ค. 49) ก็ได้จัดให้เจ้าหน้าที่ไปดูงานในพื้นที่เกี่ยวกับ "การจัดการความรู้ของเกษตรกร" ซึ่งดิฉันได้ร่วมคณะไปกับกลุ่มที่สอง คือ ตำบลคลองพิไกร อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร มีผู้ร่วมคณะเดินทางประมาณ 40 คน

   เมื่อไปถึงสถานที่นัดพบนั้น ก็เริ่มเข้าสู่กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยมี คุณเสนาะ  ยิ้มสบาย  นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร จากสำนักงานเกษตรอำเภอพรานกระต่าย และคณะ ให้การต้อนรับ  โดยเริ่มจากการแนะนำผู้เกี่ยวข้อง ได้แก่ อบต. และประธานกลุ่มเกษตรกรต่าง ๆ ที่ทำอาชีพปลูกพืชผักปลอดสารพิษ  หลังจากนั้นได้เริ่มให้ข้อมูลการประกอบอาชีพโดยเกษตรกรเป็นผู้เล่าให้ฟัง จำนวน 3 ราย และ 1 ใน 3 นั้นได้มีเกษตรกร 1 ท่าน ที่ปลูกผักอินทรีย์ ซึ่งเป็นอุทาหรณ์ของ "ความรักชีวิตของตนเองและเพื่อนมนุษย์" หลังจากที่คลุกคลีชีวิตอยู่กับสารเคมีจนเกือบจะเอาชีวิตไม่รอด เพราะเป็นอาชีพที่ถ่ายทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษและสืบทอดกันมารู่นลูกรุ่นหลาน

            เกษตรกรที่เป็นวิทยากร "ผู้เล่า"

   ซึ่งการ ที่เกษตรกรคิดปรับเปลี่ยนวิถีอาชีพของตนเองนั้น เป็นผลมาจากความรับผิดชอบและสุขภาพ นอกจากนี้ "การไปศึกษาดูงาน" ก็เป็นจุดหักเหที่ทำให้เขาตัดสินใจเปลี่ยนจาก "การใช้สารเคมี" มาเป็น "ผักอินทรีย์" ซึ่งเป็นเทคนิคและวิธีการทำงานส่งเสริมการเกษตรรูปแบบหนึ่งในการปรับความคิดและกระตุ้นการตัดสินใจของเกษตรกรได้เป็นอย่างดี

     นิทรรศการตั้งอยู่ปากทางเข้าแปลงเรียนรู้ผักปลอดภัย

             ดูงานของจริงแปลงผักอินทรีย์

   แต่การทำงานดังกล่าวก็ต้องยอมรับข้อเท็จจริงว่า การปรับเปลี่ยนเกษตรกรนั้นยากลำมากมาก ๆ แต่การ "ปรับเปลี่ยนความคิดและวิธีการทำงานของเจ้าหน้าที่ยิ่งยากกว่านั้นนัก" ดิฉันจึงอยากจะชวนเพื่อน ๆ และพี่ ๆ ลงไปสัมผัสกับการทำงานของพื้นที่เพื่อจะได้รู้เนื้องานที่แท้จริงว่า "ตกลงแล้ว....วิชาของนักส่งเสริมการเกษตรต้องเรียนรู้และเป็นเรื่องอะไรบ้าง?"  โดยเฉพาะบุคลากรที่ทำหน้าที่เป็นเป็นผู้สนับสนุนหรือที่ปรึกษาควรเรียนรู้ "การจัดกระบวนการเพื่อให้เกษตรกรเรียนรู้เทคโนโลยี" ทั้งนี้เพราะในการติดตามนิเทศงานจะได้แก้ไขได้ตรงจุด

    หลังจากฟังเรื่องเล่าและดูของจริงก็มาร่วมกันสรุปบทเรียน

   ตำบลคลองพิไกร  จึงเป็นจุดเรียนรู้ที่สามารถนำมาใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนเพื่อให้เกษตรกรเรียนรู้เทคโนโลยีผักปลอดภัยจากสารพิษ  และเป็นสื่อการเรียนรู้ให้กับเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงานกับเกษตรกรในบทบาทของนักส่งเสริมการเกษตร  โดยเฉพาะการเรียนรู้เรื่อง "วิธีการทำงานส่งเสริมกับชุมชนได้ตรงความต้องการอย่างแท้จริง" สุดท้ายนี้ก็ขอเป็นกำลังใจให้กับเจ้าของพื้นที่และทีมงานในการปฏิบัติหน้าที่ที่มีต่อเจ้านายคือ เกษตรกร

     วันนี้สิ่งที่ท่านทำนั้น ... ยังไม่มีใครเห็น

     แต่วันนี้สิ่งที่ท่านทำนั้น ... ฟ้าดินและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ท่านเห็น

                                               ศิริวรรณ  หวังดี

                                              2 มิถุนายน 2549

                                   

หมายเลขบันทึก: 32929เขียนเมื่อ 2 มิถุนายน 2006 15:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
   ขอบพระคุณมากครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท