เกาะปันหยี ชุมชนนี้ปลอดภัย


เริ่มต้นให้ปลอดภัยจากนานาภัย ด้วยใจ และแผนเตรียมความพร้อมโดยชุมชน

 

เกาะปันหยี ชุมชนนี้ปลอดภัย

เริ่มต้นให้ปลอดภัยจากนานาภัย ด้วยใจ และแผนเตรียมความพร้อมโดยชุมชน              

บ้านเกาะปันหยี สัญลักษณ์สำคัญทางการท่องเที่ยวที่หลายคนรู้จัก และสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้ กับคนในชุมชน และจังหวัดพังงา ในฐานะของชุมชนลอยน้ำ แห่งเดียวในประเทศไทย  เกาะๆเล็กๆแห่งนี้ในเนื้อที่เพียงไม่กี่ตารางเมตร กลับเต็มไปด้วยผู้คน กว่า 1,400 คน ไม่รวมนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมเยียนในแต่ละวัน อีกกว่า 1,000 คน ทำให้หลายคนอดคิดไม่ได้ว่า ชุมชนที่หนาแน่น มีบ้านเรือนที่ปลูกติดกัน ที่ตั้งตระหง่านโดดเดี่ยวกลางทะเล  มีทะเลล้อมรอบ เดินทางโดยทางเรือได้อย่างเดียวเช่นนี้ หากเกิดเหตุการณ์ร้ายๆขึ้น อาทิเช่น ไฟไหม้ พายุ  หรือกรณีคลื่นยักษ์สึนามิ จะเป็นอย่างไร  และเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ใช่ว่าไม่เคยเกิด แต่มีการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน จากไฟไหม้  ชุมชนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ถึงขนาดไม่กล้าเสียบปรั๊กไฟตู้เย็น เพราะนักท่องเที่ยวกลัว สึนามิ ที่ผ่านมา

คนกลุ่มเล็กๆกลุ่มหนึ่งในชุมชนเกาะปันหยี  จึงไม่เพียงคิดเท่านั้น แต่พยายามหาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วย โดยได้มีโอกาสได้หารือกับมูลนิธิรักษ์ไทย จนแกนนำได้รับการพัฒนาศักยภาพจากมูลนิธิฯในการทำแผนเตรียมความพร้อม รับมือพิบัติโดยชุมชน เครื่องมือดังกล่าวจึงนำไปสู่การรู้จักชุมชนตนเองในอีกแง่มุมหนึ่งอย่างถ่องแท้ และไม่มีใครรวบรวมข้อมูลแบบนี้มาก่อนเลย  ปันหยีที่สวยงาม แต่เมื่อเกิดภัยอัคคีภัย ไม่มีใครมาช่วยได้ มีความเสี่ยงต่อภัยพายุในช่วงมรสุม เพราะอยู่กลางทะเลไม่มีกำบัง  สึนามิ คนจะขึ้นฝั่งทันได้อย่างไร  อุบัติเหตุทางทะเล เพราะเรือจำนวนมาก และจุดเสี่ยงต่างบริเวณเกาะ ทั้งหมดจึงเป็นประเด็นที่ทีมต้องขบคิดและหาแนวทางป้องกัน และบรรเทาให้เบาบางลงหากเมื่อเกิดภัยต่างๆ สิ่งเหล่านี้จึงถูกพัฒนารวบรวมเป็นข้อมูลที่ใช้ประโยชน์ต่อชุมชนโดยเรียกว่า คู่มือชุมชนเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติ บ้านเกาะปันหยี (Work Book) โดยมูลนิธิรักษ์ไทยเป็นผู้ให้คำแนะนำ

และจากแผนในคู่มือดังกล่าว จึงทำให้ชุมชนต้องมีคณะทำงานที่รับผิดชอบเรื่องดังกล่าว หากจะให้บรรลุวัตถุประสงค์ เพราะชุมชนได้ตระหนักแล้วว่า ชุมชนเท่านั้นที่จะสามารถช่วยเหลือคนในชุมชนตนเองได้ จริง จึงเกิด คณะทำงานเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติชุมชน บ้านเกาะปันหยี ขึ้น โดยมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนต่างๆของคนในชุมชน รวมแม้กระทั่งกลุ่มผู้สูงอายุ และเยาวชน  ทำหน้าที่เฝ้าระวัง ช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุ ให้ความรู้ ประชาสัมพันธ์ ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และพัฒนาศักยภาพของทีมอย่างต่อเนื่อง ตามแผนการทำงานที่ได้ร่วมกันคิดกันขึ้นมา ในคู่มือฯ ซึ่งในแผนมูลนิธิรักษ์ไทยได้สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพให้กับทีมไม่ว่าจะเป็นการอบรมการกู้ชีพกู้ภัย การปฐมพยาบาลเบื้องต้น การให้ความรู้เรื่องภัยพิบัติต่างๆแก่คนในชุมชน และสิ่งจำเป็นเบื้องต้น เพื่อให้ทีมสามารถดำเนินงานได้ อาทิวิทยุสื่อสาร อุปกรณ์เสียงตามสาย ไซเรนสัญญาณเตือนภัยแบบมือหมุน ชุดเครื่องสูบน้ำสำหรับดับเพลิงเคลื่อนที่

จากการหารือวงน้ำชากาแฟ กับกลุ่มคนเล็กๆ เพียงไม่กี่นาที ณ ร้านน้ำชา บ้านเกาะปันหยีช่วงเดือนตุลาคม ปี2549 เริมจากความตั้งใจ มุ่งมั่นที่จะช่วยคนในชุมชนให้ปลอดภัย ไม่มีการสูญเสียจากภัยอันตรายต่างๆ โดยมิได้หวังสิ่งใดตอบแทน ไม่มีเงินเดือน ไม่มีรายได้ใดๆ บางครั้งถูกมองเป็นตัวตลกในสายตาของคนในชุมชน ในตอนแรก ทุกคนก็ไม่ย่อท้อ ยังปฏิบัติตามภารกิจที่ตั้งปณิธานต่อเนื่อง จนวันนี้ เขาเหล่านั้นได้ช่วยเหลือคนในชุมชนคนแล้วคนเล่า จนขยายผลไปสู่การช่วยเหลือนักท่องเที่ยวผู้มาเยือน และชุมชนใกล้เคียง จนเป็นที่รู้จักและชื่นชมของคนในชุมชน และสร้างให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีต่อการท่องเที่ยวของบ้านเกาะปันหยี จนกลุ่มสามารถได้รับการสนับสนุนการทำงานจากองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะปันหยี  จากศูนย์นเรนทรโรงพยาบาลจังหวัดพังงา เป็นชุมชนต้นแบบที่กระทรวงสาธารณสุขให้การยอมรับ

และบ้านเกาะปันหยี นอกจากจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ยังเป็นที่ผู้คนยังต้องการไปเยี่ยมชมเช่นเดิม แต่วันนี้คนในชุมชนบ้านเกาะปันหยี ได้มีความปลอดภัยและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และพร้อมสำหรับภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้น ที่มีการจัดการโดยชุมชนเรียบร้อยแล้ว

 

โดย เสกสรร มูลนิธิรักษ์ไทย

หมายเลขบันทึก: 329128เขียนเมื่อ 19 มกราคม 2010 11:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 17:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท