โรงเรียนชาวนาระดับอุดมศึกษา (12) คัดสรรพันธุ์ข้าว


...การคัดพันธุ์ข้าวจากรวง จากแปลงนา และจากข้าวกล้อง...

๑๒ คัดสรรพันธุ์ข้าว

     กล่าวกันว่าตั้งแต่ดั้งเดิม การคัดพันธุ์ข้าวเป็นความรู้เก่าแก่ที่ชาวนาสั่งสมและถ่ายทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ จากรุ่นสู่รุ่น   เดิมทีเดียวชาวนาทำนาเป็นวิถีชีวิต จะคัดพันธุ์ข้าวที่เป็นไปตามความต้องการบริโภค นิยมบริโภคข้าวพันธุ์ไหนก็ปลูกข้าวพันธุ์นั้น ข้าวบางสายพันธุ์ก็ปลูกไว้สำหรับการเลี้ยงสัตว์ ข้าวเหนียวปลูกไว้สำหรับการแปรรูปอาหาร

     ในอดีตชาวนาจึงปลูกข้าวพันธุ์พื้นบ้าน ใช้วิธีการปลูกดำ ซึ่งใช้เมล็ดพันธุ์จำนวนไม่มากนัก แต่ในปัจจุบัน วิธีการทำนาเปลี่ยนแปลงไปมาก ข้าวพันธุ์พื้นบ้านที่เคยปลูก ก็ไม่สามารถที่จะตอบสนองต่อการทำนาแบบสมัยใหม่ ชาวนาจึงเปลี่ยนพันธุ์ข้าวกันตามที่มีการส่งเสริม ซึ่งส่วนใหญ่นิยมซื้อพันธุ์ข้าวปลูก แทนจะคัดพันธุ์เก็บไว้ใช้เอง

     มูลนิธิข้าวขวัญจึงใคร่จะรื้อฟื้นการคัดพันธุ์ข้าว และสนับสนุนให้นักเรียนชาวนาเรียนรู้วิธีการคัดพันธุ์ข้าว เพื่อให้นักเรียนชาวนามีพันธุ์ข้าวเก็บไว้ปลูกในฤดูกาลถัดไป

     ศาสตร์ของการคัดพันธุ์ข้าว เน้นไปที่การปฏิบัติ นักเรียนชาวนาจึงต้องเรียนรู้เรื่องเทคนิคการคัดพันธุ์ข้าว โดยจะย้อนไปศึกษาเรียนรู้จากความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นดั้งเดิมที่มีอยู่และที่เคยทำกัน ซึ่งก็คือการคัดเลือกข้าวจากแปลงนาที่ไม่มีโรค ไม่มีแมลงมารบกวน ไม่มีข้าวพันธุ์อื่นขึ้นปะปน มีการคัดเลือกเก็บรวงที่สมบูรณ์ไว้สำหรับทำพันธุ์

     วิธีการดั้งเดิมที่กล่าวมามีทั้งข้อดีและข้อด้อย ส่วนข้อด้อยนั้นพบว่า ยังไม่สามารถแก้ปัญหาบางปัญหาเกี่ยวกับเรื่องคุณภาพของเมล็ดข้าวได้ อาทิเช่น ปัญหาท้องไข่ ความมันวาว เมล็ดร้าว เมล็ดบิวเบี้ยว และ ข้าวปน เป็นต้น

     เมื่อพบข้อด้อยหลายประการ มูลนิธิข้าวขวัญจึงพยายามจะแก้ไขปัญหาต่างๆ โดยได้ลองผิดลองถูกมาเรื่อยๆ จนกระทั่งปี พ. ศ. 2538 ได้ค้นพบจากการศึกษาทดลองเทคนิคใหม่ เทคนิคที่จะกล่าวถึงนี้คือ เทคนิคการคัดพันธุ์ข้าวกล้อง ซึ่งนักเรียนชาวนาจะได้เรียนรู้เรื่องของการคัดพันธุ์ข้าวจากรวง จากแปลงนา และจากข้าวกล้อง

     เทคนิคในแต่ละอย่างจะช่วยทำให้นักเรียนชาวนาได้สายพันธุ์ข้าวที่มีความบริสุทธิ์ มีความสม่ำเสมอทั้งคุณภาพและรสชาติการหุงต้ม สามารถเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น ทั้งนี้มีเงื่อนไขไว้ว่า จะต้องปลูกข้าวโดยไม่ใช้สารเคมีใดๆเลย

     การคัดพันธุ์ทั้ง ๓ รูปแบบ จะมีรายละเอียดเป็นเช่นไร นักเรียนชาวนาหลายคนต่างตื่นเต้นที่จะเรียนรู้กันแล้ว อย่างนั้นแล้ว...จึงใคร่ขอกล่าวถึงการคัดพันธุ์ข้าวจากรวงเป็นเรื่องแรก

     การคัดพันธุ์ข้าวจากรวง โดยเกี่ยวพันธุ์ข้าวที่ต้องการในแปลงนา เลือกต้นที่ห่างจากพันธุ์อื่นๆ ๑ – ๒ เมตร ตามปริมาณที่ต้องการ นำมาผึ่งแดด ๒ – ๓ แดด จากนั้นจึงนำมาเลือกคัดรวงที่มีลักษณะใหญ่ ยาว เมล็ดสมบูรณ์ ไม่มีร่องรอยของแมลงและโรครบกวน แล้วจึงนำรวงมานวดรวมกัน ตากแดดไว้อีกสักแดดสองแดด สุดท้ายก็เก็บใส่ถุงไว้เพื่อเตรียมนำไปขยายพันธุ์ต่อ

         

ภาพที่ ๔๗ รวงข้าวที่ได้รับการคัดเลือก    ภาพที่ ๔๘ นักเรียนชาวนาคัดพันธุ์ข้าวจากรวง

     ส่วนอีกรูปแบบหนึ่ง เป็นการคัดพันธุ์ข้าวจากแปลงนา ก่อนอื่นนักเรียนชาวนาจะต้องจัดเตรียมแปลงนาสำหรับปลูกข้าวพันธุ์ที่คัดไว้โดยเฉพาะ นักเรียนชาวนาไม่ควรปลูกข้าวพันธุ์ที่คัดในแปลงเดียวกับข้าวพันธุ์อื่นๆ เกรงว่าจะเกิดการปนกัน

     ต่อมาในระหว่างที่ข้าวกำลังเจริญเติบโต จงสังเกตในแปลงด้วย ถ้ามีข้าวพันธุ์อื่นโตปนขึ้นมาก็ให้ถอนทิ้งด้วย รวมทั้งในระหว่างที่ข้าวกำลังออกรวงก็ให้สังเกตรวงด้วย รวงใดที่มีลักษณะไม่ตรงตามพันธุ์ที่ต้องการก็ให้ถอนทิ้ง พอถึงการเก็บเกี่ยว ให้เกี่ยวรวงที่อยู่ห่างจากขอบแปลงข้างละ ๑ เมตร แม้กระทั่งการเก็บเกี่ยวก็ยังต้องคำนึงถึงการปะปนกับข้าวพันธุ์อื่นๆ ตลอดจนการนำข้าวไปนวดไปตาก ควรทำความสะอาดเครื่องมืออุปกรณ์และสถานที่ด้วย

     อย่างไรก็ดี การคัดพันธุ์ข้าวจากแปลงนาสักฤดูสองฤดูของการปลูกข้าว จะทำให้นักเรียนชาวนาสามารถรักษาคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ดีไว้ได้ และยังอาจจะได้ข้าวสายพันธุ์ใหม่ในระหว่างการคัดเลือกก็ได้

     เรื่องรูปแบบสุดท้าย เป็นการคัดพันธุ์ข้าวจากข้าวกล้อง ด้วยเหตุที่จะนำข้าวเปลือกมาแปลงเป็นข้าวกล้อง สามารถแกะด้วยมือ หรือจะเลือกใช้เทคโนโลยีอย่างเครื่องสีข้าวกล้องกะเทาะเปลือก ทั้ง ๒ วิธีมีรายละเอียดและขั้นตอน นักเรียนชาวนาจะต้องเตรียมเมล็ดข้าวเปลือกพันธุ์ หากเลือกวิธีแกะให้เตรียมไว้ประมาณครึ่งกิโลกรัม ส่วนเลือกวิธีกะเทาะด้วยเครื่องสีข้าวกล้อง ให้เตรียมไว้ประมาณ ๑ – ๒ กิโลกรัม แต่ก่อนที่จะแกะหรือกะเทาะ ควรฝัดให้เมล็ดลีบออกเสียก่อน ก่อนจะแกะหรือจะนำข้าวใส่เครื่องสี

     นักเรียนชาวนาที่แกะเปลือกข้าวด้วยมือ ขอให้แกะจากด้านหางของเมล็ดข้าว ทั้งนี้ก็เพื่อไม่ให้จมูกข้าวถูกทำลาย แล้วคัดเลือกเอาข้าวกล้องเมล็ดสมบูรณ์ตรงตามสายพันธุ์ เมล็ดต้องมีความมันวาว ไม่เป็นโรค ไม่เป็นท้องไข่หรือท้องปลาซิว คัดให้ได้ประมาณ ๑๐๐ เมล็ด แล้วนำไปเพาะเป็นต้นกล้า

       

ภาพที่ ๔๙ – ๕๐ นักเรียนชาวนาคัดพันธุ์ข้าว ด้วยการแกะเปลือกด้วยมือทีละเมล็ด

     ส่วนนักเรียนชาวนาที่นำข้าวใส่ลงในเครื่องสีแล้ว พอสีเสร็จแล้ว ให้นำมาฝัดอีกรอบหนึ่ง แล้วจึงเลือกข้าวกล้องเมล็ดสมบูรณ์ และนำไปเพาะเป็นต้นกล้า

     เมื่อผ่านกระบวนการต่างๆจนได้ข้าวกล้องแล้ว ต่อมานักเรียนชาวนาจะมาเรียนรู้วิธีการเพาะกล้าจากข้าวกล้อง จะเพาะในถุงพลาสติก หรือจะเพาะในกระถาง หรือจะเพาะในแปลงนา ทั้ง ๓ วิธีมีรายละเอียดพอสมควร

     เพาะกล้าจากข้าวกล้องในถุงพลาสติก นำเมล็ดข้าวกล้องใส่ในถุงพลาสติกแบบซิป ใส่น้ำสะอาดลงในถุง อัตราส่วน ๒ ใน ๓ แล้ววันที่ ๒ ของการแช่จะเห็นหน่อข้าวงอกออกมาจากเมล็ดบริเวณจมูกข้าว ควรเปลี่ยนถ่ายน้ำทุก ๒ วัน ทิ้งระยะเวลานานประมาณสัปดาห์หลังจากที่แช่น้ำแล้ว จะสังเกตเห็นรากและต้นข้าวงอกออกจากเมล็ดข้าว จึงสามารถนำเอาเมล็ดที่งอกไปเพาะในแปลงกล้าต่อไป

     เพาะกล้าข้าวกล้องในกระถาง เหมือนกับการเพาะถั่วงอก นำแกลบดำใส่ในกระถาง ๓ ใน ๔ ส่วน เกลี่ยแกลบดำให้เสมอ แล้วนำเมล็ดข้าวที่คัดไว้มาเพาะ โรยเมล็ดข้าวเฉลี่ยให้สม่ำเสมอ นำแกลบดำมาโรยทับให้หนาประมาณ ๑ – ๒ เซนติเมตร หากมีเมล็ดข้าวจำนวนมาก ก็ให้โรยเป็นชั้นๆ ประมาณ ๑ – ๒ ชั้น สลับกับแกลบดำ แล้วจึงพรมน้ำให้มีความชื้นพอประมาณ ให้นำกระถางวางลงบนถาดรอง ซึ่งใส่น้ำลงไปในถาดรองเพื่อป้องกันมดเข้าทำลายเมล็ดข้าว และควรหมั่นรักษาความชุ่มชื้นในช่วง ๓ วัน เมล็ดข้าวจะมีรากงอกออกมา จึงสามารถนำเมล็ดที่งอกไปเพาะในแปลงกล้าต่อไป

        

ภาพที่ ๕๑ - ๕๒ การเพาะข้าวกล้องในกระถาง

     เพาะกล้าข้าวกล้องในแปลงนา ให้เตรียมแปลงเช่นเดียวกับการเตรียมแปลงตกกล้าทั่วไป ปรับเทือกให้เรียบสม่ำเสมอ โรยแกลบดำหนา ประมาณ ๑ นิ้ว ให้ทั่วทั้งแปลง แล้วโรยเมล็ดข้าวกล้องที่คัดแล้วให้ทั่วทั้งแปลง และโรยแกลบดำทับลงไปอีกครั้งหนึ่งหนา ประมาณ ๑ เซนติเมตร รดน้ำให้ชุ่มทั้งแปลง ควรจะทำร่องรอบๆแปลงเพาะ เพื่อป้องกันมดเข้าทำลายเมล็ดข้าว ภายหลังจากการเพาะประมาณ ๒๕ วัน จึงจะสามารถถอนกล้าไปปักดำได้ตามปกติ

     

ภาพที่ ๕๓ การเตรียมเทือก               ภาพที่ ๕๔ การโรยแกลบดำ

   

ภาพที่ ๕๕ การหว่านข้าวกล้อง     ภาพที่ ๕๖ ข้าวที่งอกแล้ว ๗ วัน

 

หมายเลขบันทึก: 32850เขียนเมื่อ 2 มิถุนายน 2006 10:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 พฤษภาคม 2012 00:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท