Appreciative Inquiry - Chapter 4 (1)


..การตั้งคำถามเชิงสร้างสรรค์..

              วันพุธตอนเช้าในห้องประชุมที่ สคส. เป็นเวลาของการชุมนุมวงใหญ่ของ สคส. และภาคี  วาระหนึ่งของการประชุมคือ การหยิบหนังสือที่น่าสนใจมา 1 เล่ม แล้วแบ่งกันอ่าน-ตีความ-นำมาแลกเปลี่ยนกันในวงใหญ่  สำหรับวันพุธที่ 31 พ.ค. (เมื่อวานนี้) เป็นการตีความหนังสือชื่อ Appreciative Inquiry (โดย David Cooperrider และคณะ)  บทที่ 4  เรื่อง  Five Theories of Change Embedded in Appreciative Inquiry เขียนโดย Gervase R. Bushe Ph.D. ซึ่งประจำอยู่ที่ Simon Fraser University

              ก่อนที่จะมาแลกเปลี่ยนในที่ประชุม  แกบ (ผู้เขียนบล็อก) ได้อ่าน-แปล-ทำความเข้าใจกับเนื้อหา  บทนี้ถือว่าอ่านแล้วไม่ยากนัก ไม่เหมือนบทที่ 3 เรื่อง AI กับการก่อเกิดความเป็นองค์กร  ผู้เขียนบทที่ 4  เขียนเป็นลำดับและมีเรื่องเล่าจริงประกอบ ทำให้ได้ความที่ชัดเจนขึ้น  มีบางประเด็นที่อ่านแล้ว รู้สึกขัดๆ  แต่โชคดีได้คุยนอกรอบกับเพื่อนร่วมงานคือ น้องจ๋า และ คุณแอนน์ ทำให้ความที่ติดใจอยู่ใสขึ้น  คิดๆ ดู นี่เรากำลังทำ peer assist (กิจกรรมเพื่อนช่วยเพื่อน) อยู่นี่นา  วิธีการ km มาเนียนอยู่ในงานอีกแล้ว 

             และก่อนหน้านี้ ก็ได้ยินน้องจ๋า ซึ่งจะมาพูดให้ฟังในบทที่ 6  ได้อ่านบทที่ 6 แล้วก็ cross check ความเข้าใจกับเพื่อนว่าตรงกันไหม  ทำให้เห็นว่า น้องจ๋ากำลังใช้ peer assist เช่นกัน  แถมเป็นแบบ buddy ด้วย เพราะสอบทานกันค่อนข้างละเอียดทุกเม็ดเลย  ขอให้ตามติดกันให้ได้นะคะ

             ขอเริ่มเข้าเรื่อง บทที่ 4  หัวเรื่อง 5 แนวทางแห่งการเปลี่ยนแปลงของการตั้งคำถามเชิงสร้างสรรค์ ( AI ) 

* AI เป็นรูปแบบหนึ่งของ AR (action research) ที่เสริมด้วยทฤษฎี / ความคิด / ภาพลักษณ์ ใหม่ๆ เพื่อการพัฒนา


* หลักการของ AI คือ การรวบรวมเรื่องราวที่นับว่าดีสุดของผู้คน / สิ่งต่างๆ


* เมื่อ AI อยู่ในกระแสหรือเป็นแฟชั่น (ดั่ง KM ประสบอยู่ ณ ปัจจุบันนี้) มี กับดัก 2 ตัว ที่ต้องพึงระวัง มิฉะนั้น จะทำให้ตกหลุมได้ง่ายคือ
          - คำถามเชิงบวก : ถ้าหลงทาง จับทุกคำถามเชิงบวก มาจัดว่าเป็น AI ก็แสดงว่าตกเข้าไปอยู่ในหลุมของ QWL (Quality of Work Life), TQM (Total Quality Management), BPR (Business Process Reengineering) เรียบร้อยแล้ว
          - ใช้ appreciation (ชื่นชม โปรยคำหอม) ไปกับทุกเรื่อง โดยไม่ได้ดูความเหมาะสม ใช้แบบเฝือ พร่ำเพรื่อ จะตกอยู่ในลักษณะ มาเร็วก็ไปเร็ว เหมือนคลื่นกระทบฝั่ง

           ผู้เขียนเรื่องนี้ ต้องการบอกถึง 5 แนวทางที่ AI ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมได้อย่างไร โดยเสนอ 5 แนวทางแห่งการเปลี่ยนแปลง เพื่อการพัฒนา ที่จริงในต้นฉบับภาษาอังกฤษใช้ว่า Five Theories of Change embedded in Appreciative Inquiry แต่พออ่านดูเนื้อหาแล้ว ไม่อยากใช้คำว่า -ทฤษฎี- เพราะดูแข็งแรงเข้มข้นดั่งขุนผา บุกทะลวงเข้าไปแก้ไขได้ยาก สมัยนี้ น่าจะมีวิธีแยบยล พูดจาปรับเปลี่ยน-คล้อยตามกันได้บ้าง จะได้รู้สึกว่า อยู่กันอย่างสบาย-สบาย

           เอาไว้มาติดตามตอนต่อไปว่า 5 แนวทางนั้นคืออะไรบ้าง

           ส่วนผู้ที่สนใจตั้งแต่ต้น โปรดติดตามได้ที่ อ.วิจารณ์ ได้ตีความไว้ คือ บทที่ 1   บทที่ 2  บทที่ 3 (1)  บทที่ 3 (2)

หมายเลขบันทึก: 32736เขียนเมื่อ 1 มิถุนายน 2006 15:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 พฤษภาคม 2012 20:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท