ศาสตราจารย์นายแพทย์อวย เกตุสิงห์ 1


ศาสตราจารย์นายแพทย์อวย เกตุสิงห์ 1

 ชีวประวัติ ศาสตราจารย์นายแพทย์อวย เกตุสิงห์     

                        

ศาสตราจารย์นายเเพทย์ อวย เหตุสิงห์

    ศาสตราจารย์นายแพทย์อวย เกตุสิงห์ ได้ รับการยกย่องและนับถืออย่างสูงจากบรรดาศิษย์ทั้งหลายว่าเป็นบรมครูและปูชนีย บุคคล ท่านเป็น ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาหลายแขนงในหลายสถาบันไม่ว่าจะเป็นแพทย์แผนปัจจุบัน แผนโบราณ พยาบาล เภสัชกรรม ทันตแพทย์ พลศึกษา กีฬา ศีลธรรมและสังคม จนมีลูกศิษย์อยู่ทั่วไป ท่านเป็นผู้มีอัจฉริยะผู้มีความริเริ่มหลากหลาย ประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องใช้ทางการแพทย์ และอุปกรณ์การทดสอบกำลัง มีงานศึกษา ค้นคว้าวิจัย เขียนบทความทางวิชาการ การศาสนา และความรู้ทั่วไปไว้อย่างมากมาย ตลอดจนมีงานส่งเสริมสังคมซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติเป็นอย่างยิ่ง

             อาจารย์ เกิดที่ตำบลรังสิต อำเภอรังสิต จังหวัดพระนคร เมื่อวันที่ ๓ กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๑ ตรงกับวันพฤหัสบดี ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีวอก เป็นบุตรคนที่สองของรองอำมาตย์เอก หลวงศรีนาวาพล (อู่ เกตุสิงห์) และนางลูกจันทร์ (งามเจริญ) ศรีนาวาพล มีพี่น้องรวม ๗ คน คือ

๑. นางเอื้อ เจียมประเสริฐ

๒. ศาสตราจารย์นายแพทย์อวย เกตุสิงห์

๓. นายออ เกตุสิงห์

๔. นางออมสุข มุกตะพันธ์

๕. นางสาวเอินศรี เกตุสิงห์

๖. นายแพทย์อัฐ เกตุสิงห์
๗. นางพนอศรี สุนทรานนท์

                 ท่าน ได้รับการหล่อหลอมอุปนิสัยในเชิงความดีงามทุกอย่างจากท่านบิดา ซึ่งเป็นอาจารย์คนแรกสำหรับภาษาไทย ภาษาอังกฤษ กวีนิพนธ์ ตั้งแต่ก่อนเข้าโรงเรียน และมีคุณยาย (เป้า งามเจริญ) เป็นครูเคหะศิลป์และผู้สอนให้รู้จักความเสียสละ กตัญญูรู้คุณ การมีภูมิหลังตั้งแต่เยาว์วัยมาดังนี้ ท่านจึงมีประวัติการศึกษาที่ดีเด่นโดยตลอด ท่านเริ่มเรียนที่โรงเรียนประถมจักวรรดิ ประถม ๑-๓ พ.ศ.๒๔๕๘-๒๔๖๐, มัธยม ๑-๕ พ.ศ.๒๔๖๑-๒๔๖๓ที่โรงเรียนมัธยมวัดบพิตรภิมุข (เพียง ๓ ปีท่านเรียนได้ ๕ ชั้น) ย้ายมาเรียนที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย พ.ศ. ๒๔๖๔-๒๔๖๘ ชั้นมัธยม ๖-๘ ,ชีวประวัติ ที่อาจารย์เขียนไว้เองนั้น กล่าวได้ว่าเรียนมัธยม ๘ อยู่ถึง ๓ ปี เพราะรอสอบชิงทันเล่าเรียนหลวงเพื่อไปศึกษาต่างประเทศ ปีแรกท่านสอบได้ที่ ๔ (มีทุน ๓ ทุน) ปีที่ ๒ สอบได้ที่ ๓ (มีทุน ๒ ทุน) ปีที่ ๓ สอบซ้ำอีกได้ที่ ๓ อาจารย์จึงเปลี่ยนความมุ่งหมายมาเรียนแพทย์ ผู้เขียนเห็นว่าถ้าท่านสอบชิงทุนได้คงเป็นนายพลไปนานแล้ว แต่เป็นโชคของโรงเรียนแพทย์ มากกว่าที่ได้บุคคลอย่างท่านมาเป็น "ครู"

               อาจารย์ เข้าเรียนเตรียมแพทย์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์เมื่ออายุ ๑๘ ปี (ทั้งที่เรียนมัธยม ๘ อยู่ถึง ๓ ปี ) ในพ.ศ. ๒๔๙๖-๒๔๗๐, ในปี พ.ศ.๒๔๗๐ เป็นนักเรียนผู้ช่วยอาจารย์ในแผนกเคมี ต่อมาเรียนที่คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๔๗๑-๒๔๗๕ ,โดยข้ามฟากมาเรียนที่ศิริราช เป็นนักเรียนผู้ช่วยอาจารย์ในแผนก สรีรวิทยา (สมัยนั้นรวมชีวเคมีและเภสัชวิทยาด้วย) ในขณะที่เรียนปี ๒,๓,๔ ได้รับทุนของพระยาอุเทนเทพโกสินทร์ สำหรับการสอบได้เป็นที่หนึ่ง ต่อมาได้ฟื้นฟูระบบนักเรียนผู้ช่วยขึ้นมาอีกหลายรุ่น

อาจารย์เรียนจบได้รับพระราชทานปริญญา พ.ศ. ๒๔๗๕ เมื่ออายุ ๒๔ ปี (สมัย นั้นเรียกเวชบัณฑิตย์ตรี ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นแพทย์ศาสตร์บัณฑิตย์) ได้รับรางวัลเหรียญทอง สำหรับการเรียนยอดเยี่ยมตลอดหลักสูตร และรางวัลเหรียญทองแดงสำหรับความเป็นเยี่ยมในวิชา สรีรวิทยา พยาธิวิทยา อายุรศาสตร์ ศัลยศาตร์ และสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา (สมัยนั้นมี ๖ แผนกวิชา อาจารย์ได้รับเหรียญ ๕ เหรียญ) ทั้งๆ ที่ได้คะแนนเป็นเยี่ยมในวิชาทางคลินิคทุกวิชาท่านก็ยังมาเป็นอาจารย์อยู่ใน ปรีคลินิค ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๖ หลังเรียนจบ โดยศาสตราจารย์อัลบริตตัน หัวหน้าแผนกสรีรวิทยาในสมัยนั้นเป็นผู้หันเหเข็มทิศวิชาชีพ

                เมื่อ รับราชการเป็นอาจารย์แล้ว ท่านก็ทำงานพร้อมกับศึกษาต่อในคณะแพทย์ศาสตร์และศิริราชพยาบาล และสอบได้ปริญญา แพทย์ศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตย์ใน พ.ศ. ๒๔๗๘ (อายุ ๒๗ ปี) เป็น พ.ด. คนที่ ๔ ของไทย โดยเสนอวิทยานิพนธ์เป็นภาษาอังกฤษเรื่อง "The Reaction of Pinchax - Pinchax Hamilton to Lethal Dose of igitalis" (ปฏิกิริยาของปลาหัวตะกั่วต่อขนาดตายของดิจดตาลิส)

               พ. ศ. ๒๔๗๙ (อายุ ๒๘ ปี) สอบได้ทุนอเล็กซานเดอร์ ฟอน ฮุมโบลท์ ไปเรียนเพิ่มเติมในวิชาสรีรวิทยา เภสัชวิทยา และเคมี ณ มหาวิทยาลัยฮัมเบิร์ก ประเทศเยอรมนี ท่านได้รับทุนทั้งประกาศนียบัตร โรคเมืองร้อนและปาราสิตวิทยา (จากสถาบันโรคเมืองร้อน) ใน พ.ศ. ๒๔๘๐ และใน พ.ศ. ๒๔๘๒ ได้รับปริญญาวิทยาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตย์ (Dr.rer.nat.) สาขาอินทรีย์เคมี ด้วยเกียรตินิยมดีมากอาจารย์ได้บันทึกไว้ว่า ศาสตราจารย์ ชลูบัฆ แห่งสถาบันเคมี ฮัมเบิร์กเป็นผู้เปิดทางแห่งวิชาชีพที่สอง คือ ทางเคมีและอินทรีย์เคมี

การรับราชการ (การประกอบอาชีพ) "ครู"

พ.ศ. ๒๔๗๖ อาจารย์ตรีแผนกสรีรวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ และศิริราชพยาบาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรมมหา วิทยาลัย กระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบัน)

พ.ศ. ๒๔๗๙ อาจารย์โท

พ.ศ. ๒๔๘๖ อาจารย์เอก แผนกสรีรวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ และศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข

พ.ศ. ๒๔๘๙ หัวหน้าแผนกสรีรวิทยา (ระยะนั้นยังรวมเภสัชวิทยา และชีวเคมีอยู่ด้วย)

พ.ศ. ๒๔๙๔ อาจารย์ชั้นพิเศษ

พ.ศ. ๒๔๙๕ ศาสตราจารย์

พ.ศ. ๒๕๐๘ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ สำนักนายกรัฐมนตรี

พ. ศ. ๒๕๐๙ หัวหน้าแผนกเภสัชวิทยาคณะแพทย์ศาสตร์ และศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ (ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๘ ได้แยกแผนก สรีรวิทยา เป็น ๓ แผนก คือ สรีรวิทยา เภสัชวิทยา และชีวเคมี อาจารย์ได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกเภสัชวิยา)

พ.ศ. ๒๕๑๑ เกษียณอายุราชการ ราชการทหาร

พ. ศ. ๒๔๘๖ นายทหารนอกกอง ยศเรือโทสังกัดกรมแพทย์ทหารเรือ กองทัพเรือ ปฏิบัติราชการที่โรงพยาบาลทหารเรือสัตหีบ พ.ศ. (๒๔๘๔-๒๔๘๕) บัตรทหารผ่านศึกเลขที่ ๒๕๙0/๒๕๑๘

หน้าที่พิเศษในทางราชการ

พ.ศ. ๒๔๘๓ - ๒๔๘๖ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์

พ. ศ. ๒๕๑๐ - ๒๕๑๑ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬาองค์การส่งเสริมกีฬาแห่งประเทศ ไทย หลังจากเกษียณอายุราชการแล้วท่านได้รับตำแหน่ง ผู้อำนวยการศูนย์ฯ

พ. ศ. ๒๕๑๖ เกษียณอายุครั้งที่ ๒ (อายุ ๖๕ ปี) ได้รับแต่งตั้งจากคณะกรรมการองค์การส่งเสริมการกีฬาแห่งแระเทศไทย เป็นที่ปรึกษาพิเศษของศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬา

กิจการลูกเสือ

พ.ศ. ๒๕๐๙-๒๕๑๘ กรรมการบริหาร คณะลูกเสือแห่งชาติ

พ.ศ. ๒๕๑๙ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาลูกเสือแห่งชาติ ผู้ตรวจการลูกเสือ

พ.ศ. ๒๕๑๙ ลูกเสือชาวบ้าน เลขที่ ๒๘๗ รุ่น ๙๙๗/๒/ช.ม. ๗๕

การสมรส

           ๘ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๘๖ สมรสกับแพทย์หญิงหม่อมราชวงศ์ ส่งศรี เกษมศรี (ต่อมาดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ หัวหน้าภาค วิชาสูติศาสตร์-นรีเวทวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล) ธิดาหม่อมเจ้าปฏิพัทธ เกษมศรี (อดีตเทศาภิบาลมณฑล ราชบุรี) และหม่อมเนื่อง (ปันยารชุน) เกษมศรี (ไม่มีบุตร) ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๙๘-๒๕๑๑ (อายุ ๔๗-๖๑ ปี) อาจารย์ได้ทุนต่างประเทศอีกหลายทุน เช่น เอ.ซี.เอ.,โคลอมโบ , รัฐบาลฝรั่งเศส , ไชน่าเมดิคัลบอร์ดแห่งนิวยอร์ค , ฮุมโบลท์ , เนชชะนั่ลสติติวท์ออฟเฮลท์ซ , ทุนของสถาบันเวชศาสตร์ประสิทธิภาพ (มหาวิทยาลัย เบอร์ลิน) การดูงานและการศึกษาในต่างประเทศในแต่ละครั้ง ท่านได้อะไรใหม่ ๆ มานำเสนอสำหรับโรงเรียนแพทย์ และการกีฬาของประเทศไทย ไม่ใช่ไปเพื่อความรู้ความชำนาญของตนเอง หลังจากเกษียณอายุราชการแล้ว อาจารย์หันเข็มไปทางกีฬาเวชศาสตร์ ก็ยังไปดูงาน และประชุมในต่างประเทศอีกหลายต่อหลายครั้ง นับได้ว่า อาจารย์เป็นผู้ใฝ่ใจการเรียนตลอดชีวิต

เกียรติพิเศษทางวิชาการที่ได้รับภายในประเทศและต่างประเทศ

๑. แพทยศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตย์กิตติมหาศักดิ์ (มหาวิทยาลัย แพทย์ศาสตร์-มหิดล)

๒. เภสัชศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตย์กิตติมหาศักดิ์ (มหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์มหิดล)

๓. ราชบัณฑิตย์ในราชศาสตร์ประยุกต์ หลังเกษียณอายุราชการ

๔. วิทยาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตย์ (ศึกษาศาสตร์) กิตติมศักดิ์ (มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์)

๕. ครุศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตย์กิตติมศักดิ์ (คณะครุศาสตร์จุฬ่าลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

๖. ศาสตราจารย์กิตติมศักดิ์ (คณะครุศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

๗. วิทยาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตย์กิตติมศักดิ์ (พลศึกษา) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (พ.ศ.๒๕๒๘ อายุ ๗๗ ปี)

๘. Fellow , member , guest professor , invited panellist , invited speaker , consultant ของสถาบันต่างประเทศไม่น้อยกว่า ๑๐ แห่ง

ราชการพิเศษและกิจกรรมพิเศษบางอย่าง

            กรรมการสภาวิจัยแห่งชาติสาขาแพทย์ , สาขาเคมีและเภสัช ; กรรมการฝ่ายแพทย์ในกรณีสวรรคตพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๘ , กรรมการแพทยสภา , กรรมการบัญญัติศัพท์ภาษาไทย (ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข) , กรรมการมหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ , อาจารย์พิเศษ (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) , มหาวิทยาลัยขอนแก่น , วิทยาลัยแพทย์ศาสตร์มงกุฏเกล้า) , อาจารย์ที่ปรึกษากลุ่มอาสามหาวิทยาลัยมหิดล , นายกสมาคมเวชศาสตร์แห่งประเทศไทย , นายกสมาคมไทย-เยอรมัน , นายกสมาคมอาศรมวัฒนธรรมไทย-ภารต , อุปนายกสมาคมนักวิ่งเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย , กรรมการวิจัยกิตติมศักดิ์ สหพันธ์กีฬาเวชศาสตร์แห่งเอเชียเป็นต้น ตำแหน่งต่าง ๆ เหล่านี้รวมกันแล้วไม่น้อยกว่า ๒๐ ตำแหน่ง

สัญญลักษณ์แห่งเกียรติยศสูงสุดสำหรับชีวิตราชการ

- เครื่องราชอิสริยาภรณ์ มหาวชิรมงกุฏ (อายุ ๕๘ ปี)

- มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (อายุ ๗๔ ปี)

สูงสุดสำหรับนักวิชาการและนักวิจัย

- เหรียญดุษฎีมาลาเข็มศิลปวิทยา (อายุ ๔๘ ปี)

สำหรับราชการในพระองค์

- ทุติจุลจอมเกล้าวิเศษ (อายุ ๖๒ ปี)

- อิสริยาภรณ์ชั้นสูง (ต่างประเทศ) สาธารณรัฐเยอรมันตะวันตก (อายุ ๖๒ ปี)

ลักษณะแห่งการเป็นผู้ให้

นอก จากอาจารย์จะเป็นผู้ให้ทางวิชาการจริยธรรม และในสังคมแก่ศิษย์ทั้งหลายแล้วท่านยังเป็นผู้ที่มีจิตใจเป็นกุศล ได้บริจาคโลหิตเป็นครั้งคราวแก่สภากาชาด ได้รับพระราชทานเข็มสละโลหิต ๗ ครั้ง จากสมเด็จฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๙ (อายุ ๕๘ ปี) และเมื่อครบรอบวันเกิด ๖๐ ปี อาจารย์ได้บริจาคโลหิตเป็นครั้งที่ ๑๗

ผล งานของอาจารย์นั้น อาจารย์ได้สร้างสรรค์ขึ้นในหลายสาขา ทั้งด้านวิชาการ งานวิจัย เสนอบทความ สารคดีความรู้ทั่วไปในทางสร้างสรรค์ กล่าวโดยย่อได้แก่

๑. งานนิพนธ์

          ใน ระหว่างที่อยู่ในราชการ อาจารย์มีผลการวิจัยและบทความที่เสนอในประเทศรวม ๔๒ เรื่อง มีรายงานบทความที่ตีพิมพ์ หรือเสนอในต่างประเทศ ๑๖ เรื่อง ซึ่งในจำนวนนี้ ๑๐ เรื่อง ได้นำ เสนอในที่ประชุมนานาชาติ ย่อเอกสารและบันทึกสั้นใน "สารศิริราช" ๔๕ เรื่อง เสนอศัพท์แพทย์อังกฤษ-ไทย ตีพิมพ์ในสารศิริราช ๕๐ เรื่อง รวมคำศัพท์ ๑๐,๖๐๐ คำ และธาตุ (รากศัพท์) ๔๗๓ คำ บทบรรณาธิการ เรื่องจูงใจ บันทึกประวัติเกี่ยวกับสถาบัน และบุคคลที่น่ารู้ ความเห็น ความรู้เบ็ดเตล็ด ๑๘๖ เรื่อง เรื่องเบ็ดเตล็ดอื่น ๆ เป็นบทความตีพิมพ์ในสารศิริราช ๖๓ เรื่อง บทความตีพิมพ์ในที่อื่น ๆ ๒๙ เรื่อง คำขวัญและข้อความสั้น ๆ ๓๑ เรื่อง รวมทั้งสิ้น ๑๒๓ เรื่อง

          งานนิพนธ์ของอาจารย์นั้นจะต้องมีข้อคิดของท่านแทรกด้วยเสมอ เช่นการศึกษาสมุนไพรที่ใช้รักษามาลาเรีย (รวม ทั้งในวาระที่ท่านปฏิบัติราชการในกองทัพเรือ แม้เพียงประมาณ ๑ ปี ) อาจารย์ได้ให้ข้อคิดไว้ว่า การศึกษาเรื่องยาต้านมาลาเรียจำต้องคำนึงด้วยว่าโรคนี้อาจหายเองได้ชั่วคราว (ไม่ใช่จากยา) ในการเสนอเรื่อง " โรคมอทำ" (latrogenic diseease) ท่านได้ให้ข้อคิดไว้ว่า แพทย์ทุกคนควรระลึกว่า ทุกครั้งที่เกิด "โรคหมอทำ" ขึ้นแพทย์มีส่วนรับผิดชอบด้วยไม่มากก็น้อยแล้วแต่กรณี

           เมื่อ อาจารย์อายุใกล้ครบ ๖๐ ปี แม้ว่าท่านจะเป็นหัวหน้าแผนกวิชาและใกล้เกษียณอายุราชการท่านก็ไป " อุดร" ในหน่วย ช่วยเหลือการแพทย์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พวกลูกศิษย์ฟังเรื่องผู้ป่วยบ่นเรื่อง "วิ้น" ก็เอามาพูดล้อกันเองสนุกสนาน แต่อาจารย์ทำการศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง และเขียนเรื่อง " อาการวิ้น-การศึกษาทางคลินิก" (ทั้ง ๆ ที่อาจารย์อยู่ในแผนกปรีคลินิก) ตีพิมพ์ในสารศิริราชบท บรรณการในสารศิริราชนั้นมีความหลากหลายสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อชาวศิริราชก็ คือ อาจารย์ทำให้ศิษย์ได้รู้จักผู้มีพระเดชพระคุณต่อศิริราช ท่านได้เขียนถึง "ทูลกระหม่อม" รอคคิเฟลเล่อร์มูลนิธิกับโรงเรียนแพทย์ หลักหินในความก้าวหน้าของศิริราช เช่น พระพุทธเจ้าหลวง, พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์, กรมพระยาชัยนาทนเรนทร, หม่อมเจ้าพูนศรีเกษม เกษมศรี, พระอาจวิทยาคม เป็นต้น

            อาจารย์ นิพนธ์ ชุด โดยพระยุคลบาท ไม่น้อย กว่า ๑๔-๑๕ เรื่องล้วนเป็นพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระบรมราชชนก ซึ่งชาวศิริราชควรยึดถือเป็นแบบฉบับ

            อาจารย์เขียนบทความภาษาอังกฤษเรื่อง "The Man who deserves a monument" ใน หนังสือฉลองครบรอบ ๕๐ ปี จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย กล่าวถึงหม่อมเจ้าพูนศรีเกษม เกษมศรี ผู้เริ่มประวัติศาสตร์ของสหศึกษาในตอนต้นของ พ.ศ. ๒๔๗๐ มีนักเรียนเตรียมแพทย์หญิง ๘ คน (หนึ่งในกลุ่มนี้ คือ ม.ร.ว.หญิงส่งศรี เกษมศรี) เรื่องนี้ไม่ได้มีใครกล่าวถึงเลยเป็นเวลานานถึง ๔๐ ปี

           หลัง จากอาจารย์เกษียณอายุราชการใน พ.ศ. ๒๕๑๑ งานนิพนธ์ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการกีฬาเวชศาสตร์มีทั้งรายงาน การบรรยาย ปาฐกถารับเชิญในการประชุมนานาชาติในต่างประเทศ เรื่องปาฐกถาในประเทศ ๑๔ เรื่อง บทความตีพิมพ์ในประเทศ ๗ เรื่อง เอสารบรรยายเผยแพร่ความรู้ เขียนในศูนย์วิทยาศาสตร์การพีฬาและการอบรมด้านวิชาการไม่น้อยกว่า ๑๕ เรื่อง เป็นที่ปรึกษาและผู้ควบคุมงานวิจัยและวิทยานิพนธ์ ครุศาสตร์ มหาบัณฑิต (พลศึกษา) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๒๑ เรื่อง ผลงานนี้รวมทั้งการสอนบรรยายแก่นิสิต อาจารย์ จึงได้รับการแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์ กิตติมศักดิ์ ของคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ

๒. ความเชี่ยวชาญในด้านภาษา

              ๒.๑ ภาษาไทย อาจารย์เป็นแพทย์ เป็นนักวิทยาศาสตร์ แต่ท่านก็เป็นผู้รู้ในภาษาไทยอย่างดีเยี่ยม ได้รับเชิญให้บรรยาย " เรื่องภาวะภาษาไทยในสายตาของผู้ใช้" ในการประชุมชุมนุมภาษาไทย ณ ห้องประชุม คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๐๓ อาจารย์ได้กล่าวถึงความวิปริตของภาษา ๖ ประการ

- ภาษาคลาดเคลื่อน เช่น ใช้กันสับสนระหว่าง คำ เรี่ยราย/เรี่ยไร

- ภาษาฟุ้งเฟ้อ ปัจจุบันนี้คงเทียบได้กับอภิมหาเศรษฐี อภิมหาอมตะนิรันดร์กาล

- ภาษากุดด้วน อาจารย์ จาน, กิโลกรัม โล

- ภาษาหย่อนสติ เช่น รายได้ทวีคูณขึ้นหลายสิบเท่า ธนาคารเลือด ธนาคารกระดูก ธนาคารนัยน์ตา

- ภาษาแผลง เช่น ดิฉัน อะฮั้น เวลานาน เวลา ยาว ขอบคุณอย่างมาก ขอบคุณอย่างสูง

- ภาษาหยาบคาย

                 ใน คำบรรยายเรื่อง "สมเด็จพระราชบิดาฯ กับด้านการค้นคว้าทางการแพทย์ของไทย " หน้าพระที่นั่ง ในวโรกาสเสด็จพระราชดำเนินเปิดสำนักงานมูลนิธิวิจัยประสาท ในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ โรงพยาบาลประสาท พญาไท เมื่อ ๑๖ มีนาคม ๒๕๐๗ นั้น แม้จะประกอบด้วยคำราชาศัพท์ค่อนข้างมาก แต่ก็ได้ความรื่นหูไม่ติดขัด เมื่ออาจารย์นิพนธ์เรื่องเป็นภาษาไทย ก็จะใช้ภาษาไทยล้วน ๆ และเขียนภาษาไทยทับศัพท์ภาษาอังกฤษอย่างถูกต้อง ท่านมำกจะติงพวกลุกศิษย์เสมอ ๆ เมื่อใช้ภาษาผิดพลาด และใช้ความ บกพร่องในภาษาไทยที่มีผู้ใช้ผิด ๆ เสมอ

          ๒.๒ ภาษาอังกฤษ อาจารย์เป็นผู้รู้ในภาษาอังกฤษอย่างดีเยี่ยม บทความที่ท่านเขียนเป็นภาษาอังกฤษนั้นฝรั่งแท้ ๆ ก็ยังชมเชย เมื่อนิตยสารโคโรเน็ทตีพิมพ์เรื่อง Medical Ambassador to Thailand ฉบับเดือน มี.ค. ๑๙๕๒ (พ.ศ. ๒๔๙๕) อาจารย์ก็เขียนประท้วงเป็นภาษาอังกฤษโดยทันที และตีพิมพ์ในสารศิริราชฉบับเดือน เม.ย. ๒๔๙๕ ว่าเป็น Super-imaginative report (ท่าน แปลเป็นภาษาไทยว่ารายงานแบบเพ้อเจ้อ) และได้ส่งให้ศาสตราจารย์อัลบริตตัน อดีตหัวหน้า แผนกสรีรวิทยาเมื่อสมัยอาจารย์เป็นนักเรียนแพทย์ ซึ่งท่านได้มีจดหมายชมเชยว่าอาจารย์เขียนได้เป็นอย่างดียิ่ง เมื่อมีผู้ถามอาจารย์ว่าเป็นนักเรียนเยอรมันทำไมจึงคล่องภาษาอังกฤษ ท่านตอบว่าเพราะสนใจและชอบก็เลยทำได้

            บทความภาษาอังกฤษเรื่อง Lord of Life of the Thais and His Subjecsts เฉลิมฉลองพระชนมายุครบ ๕ รอบ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเรื่อง Nehru as Father ที่อาจารย์ได้รับเชิญให้กล่าวที่อาศรมวัฒนธรรมไทย-ภารต เนื่องในวาระครบรอบวันเกิดปีที่ ๗๘ ของท่านเนห์รู เมื่อวันที่ ๑๔ พ.ย. ๒๕๑๐ ทั้งสอง เรื่องที่ยกตัวอย่างมานี้เป็นภาษาอังกฤษที่ไพเราะและตรึงใจอย่างมาก

           ๒.๓ ภาษาเยอรมัน ไม่น่าต้องสงสัยในเรี่องความเชี่ยวชาญในภาษาเยอรมันของอาจารย์ เพราะเพียงแต่ได้เรียน ๒ ปี อาจารย์ก็แต่งเรียงความภาษาเยอรมันประกวดทั่วโลก ได้รับรางวัลสำหรับประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๘ (อายุ ๒๗ ปี) และได้รับ "เห รียญฮุมโบลท์" และทุนพิเศษไปเรียนวิชาการสอนภาษาเยอรมันที่อคาเดมีเมืองนิวมิค ประเทศเยอรมันเป็นเวลา ๖ สัปดาห์ใน พ.ศ. ๒๔๘๐ ซึ่งช่วงนั้นอยู่ระหว่างการไปเรียนเพิ่มเติมที่มหาวิทยาลัย อัมเบอร์ก ดังได้กล่าว บทความภาษาเยอรมันที่ท่านได้เคยเขียนไว้นั้น นายกสมาคมนักเรียน เก่าไทยในเยอรมัน และเลขาธิการสมาคมไทยเยอรมันได้เขียนไว้ว่า "ขอแปลบางตอนเป็น ภาษาไทยอย่างกระท่อนกระแท่น เพราะไม่สามารถถอดความหมายที่ลึกซึ้งและเพราะพริ้งในภาษาเยอรมันออกเป็นภาษา ไทยได้อย่างสมบูรณ์" นอกจากความรู้อย่างดียิ่งในภาษาเยอรมันแล้ว ต้องกล่าวเพิ่มเติมไว้ด้วยว่า อาจารย์ได้ทำหน้าที่เสริมสร้างสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและประเทศเยอรมนี และระหว่างชาวไทยกับชาวเยอรมัน จนได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงจากประธานาธิบดีสาธารณรัฐเยอรมันตะวัน ตก

๓. กิจกรรมทางศาสนา

      อาจารย์ อุปสมบทครั้งแรก อายุ ๔๙ ปี (๗ ก.ค. - ๗ พ.ย. ๒๕๐๐ ) ที่วัดบวรนิเวศวิหาร สมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ พระพรหมมุนี (ผิน สุวจเถระ) และพระมงคลรัตนมุนี (แก้ว) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระธรรมวราภรณ์ (เจริญ สุวัฑโน) เป็นพระอนุศาสนาจารย์ สอบนักธรรมตรี (สนามวัด) ได้ที่ ๑ ในภาคพระวินัย แม้ขณะอยู่ในสมณเพศ ศึกษาธรรมะแต่อาจารย์ก็ยังเป็นห่วงในหน้าที่การงาน อาจารย์มีบันทึกสั่งงานไปให้แผนกสรีรวิทยาเป็นครั้งคราว

      อุปสมบท ครั้งที่สอง อายุ ๗๗ ปี เมื่อวันที่ ๒๗ ก.ค. ๒๕๒๘ ที่วัดบวรนิเวศวิหาร สมเด็จพระญาณสังวรเป็นอุปัชฌาย์ เจ้าคุณพระะรรมดิลกเป็นพระกรรมวาจาจารย์ วันที่ ๓๑ ก.ค. ๒๕๒๘ ไปจำพรรษาที่วัดป่าบ้านตาดจังหวัดอุดรธานี จนตลอดพรรษา ในการอบรมสั่งสอนของ "พระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน " อาจารย์กัมมัฎฐานชั้นยอด หลังออกพรรษาในวันที่ ๒๙ ต.ค. ไปรุกขมูล อยู่ในป่าภายในเขตวัดถ้ำกลองเพลในความดูแลของพระอาจารย์บุญเพ็งเป็นเวลา ๕ คืน วันที่ ๖ เดินทางกลับกรุงเทพฯ และทำพิธีลาสิกขาที่วัดบวรนิเวศวิหาร ในวันที่ ๘ พ.ย. โดยมีเจ้าคุณพระธรรมดิลกเป็นประธาน

         ใน การบวชครั้งที่สองนี้ ได้มีโอกาสศึกษาแบบพระธุดงค์กัมมัฏฐานโดยตรงกับพระอาจารย์มหาบัว ได้มีโอกาสปฏิบัติอย่าง อุกฤษฏ์ และต้องเหน็ดเหนื่อยตรากตรำมาก แต่ปรากฏอานิสงส์ หลังจากสึกออกมาแล้วสุขภาพซึ่งเสื่อมโทรมในต้นมี ๒๕๒๔ ได้กลับดีขึ้นอย่าชัดเจน

           ญาติมิตรและลูกศิษย์ก็ได้รับฟังบ่อย ๆ ว่าถ้ามีโอกาสจะบวชครั้งที่สาม และขอตายในผ้าเหลืองแต่อาจารย์ก็ไม่มีโอกาสเสียแล้ว

          อาจารย์ เขียนบทความเกี่ยวกับศาสนา และธรรมะไว้หลายเรื่อง ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๐๑ - ๒๕๑๑ มีทั้งปาฐกถา และตีพิมพ์ ๒๓ เรื่อง แต่ละเรื่องล้วนน่าอ่านเข้าใจง่ายชวนให้ติดตาม อาจารย์ศึกษาอย่างจริงจังในด้านศาสนา มีศรัทธาแก่กล้าและวิริยะเยี่ยมยอด ได้สลัก "พระพุทธบัณฑูรนิมิตร" เป็นพระพุทธรูปปางลีลา สูง ๓.๓๕ เมตร ที่หน้าผาวัดถ้ำกลองเพล อุดรธานี สำเร็จเมื่อวันที่ ๓ ก.ย. ๒๕๑๑ เมื่ออาจารย์อายุครบ ๖๐ ปี ท่านใช้เวลาเฉพาะวันหยุดราชการ ขับรถเองทั้งไปและกลับ ใช้เวลาแกะสลักอยู่ประมาณ ๙ เดือน ทั้งนี้แสดงถึงอัจฉริยะและความเพียรชอบในทางหนึ่งของท่าน เคยมีผู้ถามว่าทำไมจึงทำเป็น ท่านบอกว่ามีเพื่อนเยอรมันเป็นนักสลักหิน ช่วยแนะนำ เมื่อถามอาจารย์ว่าเอาเวลาที่ไหนไปฝึก ท่านบอกว่าเวลานั้นมีอยู่เสมอถ้ารู้จักหา

๔ งานเกี่ยวกับการศึกษา

            อาจารย์ได้ทำงานด้านการศึกษาไว้หลายด้าน บางด้านก็แปลกกว่าของใคร ๆ ทั้งนั้น กล่าวโดยย่อได้ดังนี้

           ๔. ๑ งานด้านสามัญศึกษ
า ได้ตั้งโรงเรียนสวนบัวขึ้นมาใน พ.ศ. ๒๕๐๑ เริ่มด้วยกิจการอนุบาลแล้วขยายขึ้นโดยลำดับ กิจการเจริญ และมั่นคงแข็งแรง อาจารย์มุ่งหมายให้การอบรมด้านศีลธรรม และวัฒนธรรม โรงเรียนมีกิจกรรมพิเศษหลายอย่าง เน้นเรื่องกิจการลูกเสือ และเนตรนารี ตัวท่านเองก็เข้ารับการอบรมขั้นผู้ช่วยผู้ฝึกสอนในประเทศ และไปรับการอบรมในต่างประเทศด้วย ในวงการลูกเสือแห่งชาติเป็นที่ทราบกันดีว่าอาจารย์ส่งเสริมในทุก ๆ ทาง

นอกจากนั้น ยังเน้นเรื่องพุทธศาสนา มีการบวชสามเณร และบวชผ้าขาว (บวชชีพราหมณ์) การจัดงานการกุศลตามกาลสมัย และการส่งเสริมการทำบุญของนักเรียน

             ๔.๒ งานด้านอุดมศึกษา ตลอดชีวิตราชการ ๓๕ ปี ได้อุทิศเวลาการเรียนการสอนให้แก่ศิริราชทั้งหมด และยังทำหน้าที่อาจารย์พิเศษได้แก่สถาบันอื่น หลังจากที่เกษียณอายุราชการแล้ว รวมทั้งหันความสนใจไปสู่กีฬา เวชศาสตร์ และพลศึกษา เป็นอาจารย์สอนให้แก่ภาควิชาพลศึกษาของคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า อาจารย์จึงมีลูกศิษย์ลูกหาในวงการกีฬา และพลศึกษาอีกด้วย

             ๔.๓ งานอาสาพัฒนาเกี่ยวกับการศึกษา บทบาท การพัฒนาชนบทโดยชาวมหาวิทยาลัยที่นักศึกษาคิดว่าไม่มีใครทำมาก่อนนั้น อาจารย์ก็เป็นผู้ดำเนินการมาก่อนตุลาคม ๒๕๑๖ เป็นไหน ๆ งานค่ายอาสาพัฒนาชนบท นำนักศึกษาช่วยสร้างโรงเรียนในถิ่นไกล ก็เริ่มโดยอาจารย์ ท่านต้องให้นักศึกษาฝึกหัดฝีมือก่อสร้างก่อนที่จะลงมือปฏิบัติจริง ๆ ท่านเป็นผู้ทำให้นักศึกษารู้จักการทำงานร่วมกัน ค่ายอาสาพัฒนาของมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ได้ เริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๐ และต่อมาก็เป็นค่ายอาสาฯ มหาวิทยาลัยมหิดล (ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๒) ได้ช่วยสร้างบุคลิกภาพและเจตคติแห่งความเป็นสาธารณชนให้แก่นักศึกษาชายหญิง ของมหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ที่มาสมทบนับจำนวนเป็นพันคน อาจารย์ได้ไปนอนกลางดินกินกลางทราย และร่วมงานกับนักศึกษาทุกค่าย แต่งเพลงปลุกใจ รวมทั้งเพลงประจำกลุ่ม อาสาชาวค่ายทุกรุ่นสามัคคีกลมเกลียวกันเป็นอันดี กล่าวได้อีกว่า ชาวค่ายอาสาฯ ไม่มีผู้ใดรังเกียจที่จะไปรับราชการต่างจังหวัด แม้ชาวค่ายหญิงหลายคนก็ยังอาสาไปทำงานในอำเภอที่ห่างไกลความเจริญ นับว่ากิจการกลุ่มอาสาฯ ได้มีส่วนช่วยพัฒนาบ้านเมืองด้วยแม้โดยส่วนน้อยก็ตาม

              ๔.๔ งานฟื้นฟูวิชาแพทย์ไทย ข้อนี้นับเป็นงานพิเศษสุดของอาจารย์ ท่านได้ปรารภไว้ตั้งแต่เมื่อมีอายุ ๖ รอบ เกี่ยวกับ "โครงการฟื้นฟูส่งเสริมการแพทย์อายุรเวท" ท่านคิดว่าในปัจจุบันการแพทย์ ไทย (ไทย เดิม) ได้เสื่อมโทรมลงมาก หมอแผนโบราณที่ดีมีแต่จะหมดไป หมอที่เกิดขึ้นใหม่ก็หาคนเก่งได้ยาก ถ้าปล่อยเช่นนี้ต่อไป ไม่ช้าการแพทย์ไทยเดิมซึ่งเป็นสมบัติอย่างหนึ่งของชาติก็จะสิ้นสูญไป สมุนไพรไทยก็จะรู้จักกันน้อยลง หลักการของท่านคือ ต้องการให้เป็น "หมอไทย" ป้องกันไม่ให้กลายเป็นแผนปัจจุบัน ให้ใช้ยาแบบไทย และให้ศึกษาสรรพคุณยาไทย อุดมคตินี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ทันสมัยเพราะในปัจจุบันนี้ "ประเทศ ที่เจริญแล้วหันมาสนใจ สรรพคุณและฤทธิ์ของสมุนไพรทั่วโลก" อาจารย์ได้ประกาศความตั้งใจที่จะฟื้นฟูวิชาแพทย์ไทย กระทรวงสาธารณสุขได้ให้ความสนับสนุนหลังจากที่ต่อสู้กับมรสุมทางการเมือง ผ่านมาเป็นผลสำเร็จ ขณะนี้อายุรเวทวิยาลัยฯ อยู่ในสภาพเสริมสร้างสถานภาพ อาจารย์เป็นผู้มีบารมีมาก จะคิดอะไรก็มีผู้ร่วมดำเนินการสนับสนุน หวังว่าแพทย์อายุรเวทของวิทยาลัยนี้จะสามารถทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ สมความมั่นหมายของอาจารย์

ความเป็นครู และความเป็นหัวหน้า

            ตลอด ชีวิตการทำงานของท่านศาสตราจารย์นายแพทย์ อวย เกตุสิงห์ นั้นไม่ว่าจะอยู่ในราชการหรือหลังจากเกษียณอายุแล้ว ท่านคงความเป็นครูอยู่ตลอดในด้านการสอน ท่านจะต้องคำนึง ว่ามีผู้เรียนเป็นระดับใด ควรสอนลึกซึ้งเพียงไร การสอนนักศึกษาท่านสอนแต่เพียงพอความต้องการ สั้นง่าย ไม่ต้องลงรายละเอียดมาก แต่ก็ได้ประโยชน์เพียงพอ ก่อนการบรรยาย ท่านจะเขียนหัวข้อสำคัญไว้ในกระดานดำก่อน (คงจะเชยสำหรับสมัยนี้) นักศึกษา ต้องมาแต่เช้า คัดลอกลงสมุดไว้ก่อน ต่างคนต่างทำกันเอง ไม่ต้องมี "ฝ่ายวิชาการ" มาทำให้อย่างสมัยนี้ พอ ๘.๐๐ น. ท่านเข้ามาบรรยาย นักศึกษาก็ไม่ต้องจดตามกันทุกคำ เพราะการคัดลอกไว้ก่อนก็ทำให้รู้เรื่องไปครึ่งหนึ่งแล้ว อาจารย์บอกว่า คนเราต้องลงมือทำเอง นัยน์ตาดู มือจด หัวคิดตาม พอฟังคำบรรยาย ก็ได้สัมผัสทางหู ก็จะได้ประโยชน์กว่าการได้ "Sheet" ไปง่าย ๆ และยังทำให้ทุกคนต้องมาเช้าให้ทันเวลา อาจารย์บอกว่าคนจะเป็นแพทย์ต้องหัดทำตัวให้ตรงต่อเวลา

              ถ้าสอน "พวก ครูน้อยในแผนก" ท่านจะให้ทำงานตั้งแต่เบื้องต้นขั้นต่ำสุด เพราะท่านบอกว่าถ้าทำงานตั้งแต่ระดับล่างไม่เป็น จะเป็น "นาย" เขาได้อย่างไร เมื่อเริ่มจะทำให้ "ครูน้อย" เป็นผู้บรรยาย แก่นักศึกษา ท่านก็ฟังบรรยายด้วย แต่เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้เริ่มสอนใหม่ ๆ รู้สึกประหม่า ท่านก็จะย่องมาตอนหลัง โดยที่ผู้สอนจะไม่ค่อยรู้ว่า อาจารย์ใหญ่แอบเข้ามาฟังเมื่อไร

              ความ ประหยัดของอาจารย์นั้นเป็นที่รู้กันดี การเลี้ยงปีใหม่แก่นักศึกษา ท่านเก็บเงินนักศึกษาคนละ ๑ บาท เพียงเพื่อให้สำนึกว่ามีส่วนในการจัดงาน พวกครูน้อยก็แล้วแต่จะให้ ไม่ต้องกะเกณฑ์ตามเปอร์เซนต์เงินเดือน อาหารมีข้าวราดแกง ใครกินเผ็ดไม่ได้ ก็มีไข่พะโล้ น้ำหวานเขียว-แดง โอเลี้ยง ชงกันเอง (น้ำหวานขวดไม่มี , แพงไป) ใช้กระทงใบตองแห้ง (ราคา ถูกมาก สมัยนี้คงไม่มีแล้ว) ขนาดเล็กเพราะถ้าขนาดใหญ่ตักอาหารไปกินไม่หมดเสียของ เลี้ยงเสร็จช่วยกันเก็บทำความสะอาดเรียบร้อย ไม่ต้องจ้างคนงานให้เสียเงิน นึกถึงงานเลี้ยงปีใหม่เดี๋ยวนี้หมดเปลืองกว่ามาก เตรียมงานกันโกลาหล แต่ก็สนุกเท่ากัน แพทย์รุ่นน้องในสมัยนั้นบอกว่าเห็นกระทงใบตองแห้งทีไร นึกถึงอาจารย์หมออวย ทุกที!

               อาจารย์ เป็นหัวหน้าที่ดี จัดการสมานสามัคคีในแผนกโดย "นำเที่ยว" เมื่อมีโอกาส ความเป็นนักกวีของท่านเป็นที่รู้กันดี ทั้งโคลงกลอน กวีนิพนธ์ ท่าน "นำ เที่ยว" ครั้งใดต้องได้บทนิราศไว้ทุกครั้ง ในเรื่องบทเพลงแม้จะไม่ได้แต่งทำนองเพลง แต่ก็นิพนธ์คำร้องไว้ ไม่ใช่น้อย เพลงหนึ่งที่รู้จักกันดีและยังร้องกันอยู่เสมอในศิริราช คือ "เพลงสรรเสริญศิริราช" คนรุ่นหลังนี้คงไม่คิดว่าอาจารย์ได้เป็นผู้ประพันธ์ เพลงปลุกใจเกี่ยวกับความสามัคคีในศิริราชก็มี เช่น เพลงศิริราชสามัคคี (ทำนองโอลด์แลงชัยน์) , เพลงศิริราชรวมกำลัง (ทำนองเขมรไล่ควาย) , เพลงศิริราชเฮฮา (ทำนองเงี้ยว) และเพลงสรีรศาสตร์สามัคคี (ทำนองช้างประสานงา) เพลงเหล่านี้อาจจะเสื่อมจากความทรงจำถ้า

หมายเลขบันทึก: 326720เขียนเมื่อ 10 มกราคม 2010 22:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 02:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • เพิ่มเติมภาพ ประกอบ จะดีมากเลยค่ะ
  • ได้เรียนรู้ดีมากค่ะ

                 

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท