ประวัติความเป็นมาคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์


ประวัติความเป็นมาคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ประวัติความเป็นมาคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์

 

โดยศูนย์ส่งเสริมการวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยี (ศสวท)

 

นับตั้งแต่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ย้ายนิสิตชั้นปีที่ 3 และ 4  หลักสูตรที่เกี่ยวข้องด้านการเกษตรจากคณะเกษตร คณะศึกษาศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จำนวนประมาณ 900 คน  มาเรียนที่วิทยาเขตกำแพงแสน ครั้งแรก  ตั้งแต่ภาคปลาย ปีการศึกษา 2522  โดยเปิดภาคการศึกษา  เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2522 และนับเป็นวันสถาปนาวิทยาเขตกำแพงแสนเป็นต้นมา ในช่วงเวลาดังกล่าวการจัดการเรียนการสอน  ณ วิทยาเขตกำแพงแสน นิสิตชั้นปีที่ 1 และ 2  จะเรียนวิชาพื้นฐานทั่วไป ณ วิทยาเขตบางเขนก่อน โดยมีคณาจารย์จากคณะมนุษยศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มาปฏิบัติงานประจำ ณ วิทยาเขตกำแพงแสน  ตั้งแต่เริ่มต้นวิทยาเขตกำแพงแสน ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์แสงสุรีย์  สินธุวณิก (คณะมนุษยศาสตร์)  อาจารย์สายตา  ภุมมะโสภณ (คณะวิทยาศาสตร์) อาจารย์ ดร.เกษร  ทวีเศษ (คณะวิทยาศาสตร์)  รองศาสตราจารย์นิตยา  เงินประเสริฐศรี (คณะสังคมศาสตร์) เพื่อให้บริการการเรียนการสอนรายวิชาพื้นฐานทั่วไปด้าน ภาษาอังกฤษ  คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ และมีคณาจารย์เดินทางมาสอน ณ วิทยาเขตกำแพงแสนแบบมาเช้า – เย็นกลับ หรือบางรายวิชาที่ไม่สามารถจัดการเรียนการสอน ณ วิทยาเขตกำแพงแสนได้ นิสิตจำเป็นต้องลงทะเบียนเรียน 2 วิทยาเขต และเป็นอุปสรรคหนึ่งในการจัดตารางสอน ณ วิทยาเขตกำแพงแสน มาโดยลำดับ   

ปีงบประมาณ 2525  วิทยาเขตกำแพงแสน  เริ่มเตรียมการเพื่อรองรับการพัฒนาศักยภาพด้านการเรียนการสอน หรือแผนการเคลื่อนย้ายนิสิตจากวิทยาเขตบางเขนในหลักสูตรเดิมที่มีเฉพาะ ชั้นปีที่ 3 และ 4  เพื่อให้มีนิสิตมาศึกษา ณ วิทยาเขตกำแพงแสนให้ครบทุกชั้นปี การเริ่มต้นดังกล่าวเป็นที่มาของการของบประมาณก่อสร้างอาคารปฏิบัติการกลาง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้สามารถจัดการเรียนการสอนวิชาพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ ภาษา  ได้รับจัดสรรงบประมาณ ค่าก่อสร้างในวงเงิน 22,635,140 บาท ระยะเวลาก่อสร้าง ประมาณ 3 ปี  ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อเดือนเมษายน 2527 และเริ่มใช้งานตั้งแต่ปีการศึกษา 2527 เป็นต้นมา โดยวิทยาเขตกำแพงแสน มอบให้คณะวิทยาศาสตร์ และคณะมนุษยศาสตร์ ดูแล และใช้ประโยชน์อาคารปฏิบัติการกลาง ซึ่งได้แก่ อาคาร 1 และ 2 คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน

ปีการศึกษา 2527 และ 2531 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อนุมัติแผนการย้ายนิสิต ชั้นปีที่ 2  จากหลักสูตรเดิมของคณะเกษตร และคณะศึกษาศาสตร์ มาศึกษา ณ วิทยาเขตกำแพงแสน เพิ่มเติม  และปีการศึกษา 2534  เริ่มย้ายนิสิตโควตาพิเศษ  ชั้นปีที่ 1 มาศึกษา ณ วิทยาเขตกำแพงแสน สำหรับคณะเกษตร และคณะศึกษาศาสตร์  ต่อมาในปีงบประมาณ  2532 – 2535 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สนับสนุนให้วิทยาเขตกำแพงแสน ได้รับอนุมัติงบประมาณก่อสร้างอาคารปฏิบัติการกลาง หลังที่ 2  วงเงินค่าก่อสร้าง 31,780,00 บาท ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี แล้วเสร็จ  30 กรกฎาคม พ.ศ. 2535   และตั้งแต่ปีการศึกษา2538 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อนุมัติแผนการเคลื่อนย้ายนิสิตชั้นปีที่ 1 คณะเกษตร คณะศึกษาศาสตร์ เฉพาะหลักสูตร วท.บ.(ศึกษาศาสตร์เกษตร) ทั้งหมด และชั้นปีที่ 2 ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มาศึกษาที่วิทยาเขตกำแพงแสน  ดังนั้นการให้บริการการเรียนการสอนรายวิชาพื้นฐานทั่วไปด้านมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ มีภาระงานเพิ่มขึ้น มหาวิทยาลัยได้พิจารณาจัดสรรอัตรากำลังสายวิชาการ และสายสนับสนุนและช่วยวิชาการเพิ่ม แต่ก็ไม่สามารถบริหารจัดการเรียนการสอนแบบเบ็ดเสร็จได้ทุกรายวิชา ปัญหาและอุปสรรคเดิมได้แก่ การจัดตารางเวลาสอนที่ต้องจัดให้อาจารย์ที่เดินทางจากวิทยาเขตบางเขน ในช่วงเวลา 9.00 – 16.00 น. และช่วงที่เหลือสำหรับอาจารย์ที่พักอาศัยประจำ ณ วิทยาเขตกำแพงแสน ซึ่งจำเป็นต้องสอนในช่วงเช้าก่อน 9.00 น.  และหลัง 16.00 น.  รวมถึงการที่นิสิตขอลงทะเบียนเรียน 2 วิทยาเขตเพิ่มจำนวนมากขึ้น

จากปัญหาและอุปสรรคในการจัดการเรียนการสอนดังกล่าว เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน กอปรกับช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงของการเสนอแผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษา ฉบับที่ 7 (พ.ศ.2535 – 2539) ศาสตราจารย์ ดร.สุจินต์  จินายน ดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีประจำวิทยาเขตกำแพงแสน ( วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2529 ถึง วันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2533)  จึงให้จัดทำแผนการจัดตั้งหน่วยงานระดับคณะ  ที่มีหน้าที่ในการจัดการเรียนการสอนรายวิชาพื้นฐานทั่วไปด้านต่าง ๆ แทนคณะมนุษยศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ และคณะศึกษาศาสตร์ (พลศึกษา)  โดยชื่อหน่วยงานที่จะนำเสนอแผนพัฒนาฯ ดังกล่าวพิจารณา ใช้ชื่อ คณะสารัตถศาสตร์ วิทยาลัยอุดมศึกษา คณะศิลปศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  ทั้งนี้เนื่องจากพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. 2511 ในขณะนั้น ไม่มีการกำหนดหน่วยงานระดับวิทยาเขต  ดังนั้นชื่อหน่วยงานที่จะนำเสนอแผน จะต้องไม่ซ้ำกับชื่อคณะเดิมที่มีอยู่  โดยสรุปมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จึงเสนอขอจัดตั้งหน่วยงานใหม่ตามแผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษา ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2535 – 2539) จำนวน 2 หน่วยงาน คือ

  1. โครงการจัดตั้งคณะศิลปศาสตร์
  2. โครงการจัดตั้งคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 

ดังนั้น กำเนิดคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ จงนับเป็นดำริของศาสตราจารย์ ดร.สุจินต์  จินายน รองอธิการบดีประจำวิทยาเขตกำแพงแสน  เพื่อที่จะพัฒนาวิทยาเขตกำแพงแสน ให้มีความเข้มแข็งและเป็นฐานในการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ณ วิทยาเขตกำแพงแสน การดำเนินการจัดตั้งมีการเตรียมการ และการสานต่อจากผู้บริหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยลำดับ ดังนี้   

2  พฤศจิกายน 2533  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีคำสั่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ 2218/2533 ลงวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2533 และคำสั่งที่ 2608/2533  ลงวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2533 แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการโครงการจัดตั้งคณะศิลปศาสตร์ โดยมีศาสตราจารย์ ดร.ธีระ  สูตะบุตร ดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและวิชาการในขณะนั้น เป็นประธาน และมีคณะกรรมการ เป็นผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ  ดังนี้

คณะเกษตร                    ผศ.ดร.บุญฤทธิ์   สายัมพล      รองคณบดีคณะเกษตร

                                         รศ.ดร.บัญญัติ  เศรษฐฐิติ         ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายการศึกษา  

คณะศึกษาศาสตร์         ผศ.ดร.ปราณี  โพธิสุข               ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการ

คณะสังคมศาสตร์          รศ.ดร.จำนงค์  อดิวัฒนสิทธิ์

คณะวิทยาศาสตร์          อ.ดร.เกษร  ทวีเศษ                    ผู้ช่วยคณบดีคณะวิทยาศาสตร์

คณะมนุษยศาสตร์         อ.ดร.พัชรประภา  อดุลวิทย์      

คณะวิศวกรรมศาสตร์   ผศ.ชนัก  โกมารกุล ณ นคร

โดยมี รศ.กรึก  นฤทุม  ผศ.แสงสุรีย์  สินธุวณิก รศ.อุดร  รัตนภักดิ์  รศ.ดร.สุพัฒน์  อรรถธรรม  เป็นกรรมการดำเนินการโครงการจัดตั้งคณะศิลปศาสตร์ เพื่อเตรียมการจัดทำโครงการจัดตั้งคณะศิลปศาสตร์ เสนอมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

17  ธันวาคม พ.ศ. 2533  คณะกรรมการดำเนินการโครงการจัดตั้งคณะศิลปศาสตร์ นำเสนอรายละเอียดตามแบบฟอร์มโครงการจัดตั้งหน่วยงานใหม่ เพื่อเสนอมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2533  และนำเสนอที่ประชุมคณบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในคราวประชุมครั้งที่ 20/2533 เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2533  และที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ใช้ชื่อคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Faculty of Arts and Technology) และตัดฝ่ายกิจการนิสิตออกจากการแบ่งส่วนราชการ

18  ธันวาคม พ.ศ. 2533    ทบวงมหาวิทยาลัย  มีหนังสือที่ ทม 0204/34094 ลงวันที่ 18 ธันวาคม 2533  แจ้งผลการพิจารณาโครงการใหม่ในแผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษา ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2535 – 2539) โดยสรุปว่าคณะอนุกรรมการกลั่นกรองแผนงาน/โครงการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา ได้พิจารณาโครงการจัดตั้งคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และคณะศิลปศาสตร์ที่กำแพงแสน และมีมติเห็นควรสนับสนุนการจัดตั้งคณะศิลปศาสตร์ โดยให้รวมงานในคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้าไว้ด้วย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการการสอนวิชาพื้นฐานทั้งทางด้านมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ที่วิทยาเขตกำแพงแสน สำหรับด้านการจัดการเรียนการสอนระดับบัณฑิตศึกษานั้น คณะอนุกรรมการฯ เห็นสมควรให้วิทยาเขตบางเขนสนับสนุนและจัดสรรทรัพยากรแก่วิทยาเขตกำแพงแสนอย่างเหมาะสมและเพียงพอที่จะดำเนินการได้ต่อไป

28  มกราคม พ.ศ. 2534   คณะกรรมการโครงการจัดตั้งคณะศิลปศาสตร์ แก้ไขรายละเอียดโครงการตามมติที่ประชุมคณบดีแล้ว  และนำเสนอที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2534 เมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2534  โดยที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยมีมติให้ใช้ชื่อคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ (Faculty of Liberal Arts and Science) และนำเสนอทบวงมหาวิทยาลัยต่อไป

6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2534  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีประกาศจัดตั้งสำนักงานโครงการจัดตั้งคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ เป็นหน่วยงานภายในสำนักงานอธิการบดี และมีคำสั่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่ 2366/2534 แต่งตั้งให้ รองศาสตราจารย์กรึก  นฤทุม เป็นผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์

10  กันยายน พ.ศ. 2535  คณะกรรมการทบวงมหาวิทยาลัย คราวประชุมครั้งที่ 7/2535 เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2535 พิจารณาเห็นชอบในหลักการให้จัดตั้งคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์  โดยให้มีการบริหารการเรียนการสอนเฉพาะระดับปริญญาตรี ส่วนระดับบัณฑิตศึกษาให้จัดไว้ในคณะต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องซึ่งมีอยู่เดิมและเพิ่มอาจารย์ให้ตามความเหมาะสม โดยมีการแบ่งส่วนราชการเป็นสำนักงานเลขานุการ ไม่มีการแบ่งส่วนราชการเป็นฝ่าย เนื่องจาก พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. 2511 ไม่เอื้อให้ทำได้ สำหรับชื่อคณะเห็นสมควรให้นำเสนอคณะอนุกรรมการพิจารณาบัญญัติศัพท์อุดมศึกษาพิจารณาความเหมาะสม 

17 พฤศจิกายน  พ.ศ. 2535  ทบวงมหาวิทยาลัย แจ้งว่าคณะอนุกรรมการพิจารณาบัญญัติศัพท์อุดมศึกษา คราวประชุมครั้งที่ 8/2535 เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2535 มีมติให้ใช้ชื่อคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ตามที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เสนอ

27  ธันวาคม พ.ศ. 2535  ทบวงมหาวิทยาลัย มีหนังสือที่ ทม 0204/32535 ลงวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2535 แจ้งว่ารัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย  พิจารณาอนุมัติโครงการเมื่อวันที่ 24  พฤศจิกายน พ.ศ. 2535 และวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2536 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดำเนินการจัดทำร่างประกาศทบวงมหาวิทยาลัย เรื่อง การแบ่งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมตารางเปรียบเทียบการแบ่งส่วนราชการเดิม และที่ขอจัดตั้งใหม่ให้ทบวงมหาวิทยาลัย  ต่อมาทบวงมหาวิทยาลัย มีหนังสือที่ ทม 0204/2537 ลงวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2536 นำเสนอร่างประกาศฯ ดังกล่าวให้สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

27  พฤษภาคม พ.ศ. 2536 สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี มีหนังสือที่ นร 0203/7172 ลงวันที่ 27 พฤษภาคม 2536 แจ้งมติคณะรัฐมนตรี คราวประชุมวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2536 ซึ่งพิจารณาเห็นชอบการจัดตั้งคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์  และร่างประกาศทบวงมหาวิทยาลัยฯ โดยให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา  สำหรับงบประมาณค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ให้สำนักงบประมาณพิจารณาจัดสรรงบประมาณให้ตามความเหมาะสมกับความจำเป็นและกำลังเงินงบประมาณแผ่นดินเป็นปี ๆ ไป

10 สิงหาคม พ.ศ. 2536   ทบวงมหาวิทยาลัย จัดทำประกาศทบวงมหาวิทยาลัย เรื่อง การแบ่งส่วนราชการในมหาวิทยาลัย (ฉบับที่2) พ.ศ. 2536 ลงวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2536 และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 110 ตอนที่ 121 ลงวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2536  ดังนั้นคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ได้รับอนุมัติจัดตั้งอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2536 นับเป็นหน่วยงานระดับคณะ ลำดับที่ 13 ในสังกัดมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  และเป็นคณะแรกที่ตั้งอย่างถูกต้องตามกฎหมายของวิทยาเขตกำแพงแสน 

7  ตุลาคม พ.ศ. 2536  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  มีคำสั่งที่ 2168/2536 เรื่อง แต่งตั้งให้รองศาสตราจารย์กรึก  นฤทุม  ดำรงตำแหน่ง ผู้รักษาการคณบดีคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์  ตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2536  เป็นต้นไปจนกว่าสภามหาวิทยาลัยจักแต่งตั้งคณบดี  ต่อมาสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีคำสั่งที่ 8/2537 ลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2537 แต่งตั้งให้รองศาสตราจารย์กรึก  นฤทุม  ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์  ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2537 เป็นต้นไป โดยมีวาระ 4 ปี นับเป็นคณบดีท่านแรกของคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์  

1 มีนาคม พ.ศ. 2537  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีคำสั่งที่ 374/2537 ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2537 แต่งตั้งผู้ช่วยศาสตราจารย์แสงสุรีย์  สินธุวณิก ดำรงตำแหน่งผู้รักษาการรองคณบดีคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2537  และ สภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีคำสั่งที่ 11/2537 ลงวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2537 แต่งตั้งผู้ช่วยศาสตราจารย์แสงสุรีย์  สินธุวณิก ดำรงตำแหน่งรองคณบดีคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์  ตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2537 เป็นต้นไป โดยสิ้นสุดวาระพร้อมคณบดี

   

โครงการจัดตั้งคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์  ได้รับอนุมัติให้ใช้อาคารปฏิบัติการกลาง (อาคาร 1 – 4) เป็นอาคารคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ตั้งแต่ได้รับการอนุมัติจัดตั้งตามประกาศแบ่งส่วนราชการของทบวงมหาวิทยาลัย ในวาระการของผู้ช่วยศาสตราจารย์พุม  ขำเกลี้ยง ซึ่งดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีประจำวิทยาเขตกำแพงแสน  และคณะวิทยาศาสตร์ บางเขน คณะมนุษยศาสตร์ บางเขน  มอบครุภัณฑ์การเรียนการสอนที่ใช้ประจำ ณ วิทยาเขตกำแพงแสน รวมถึงอาคารเก็บพัสดุทั่วไป และดำเนินการขออนุมัติมหาวิทยาลัยเพื่อตัดโอนอัตราลูกจ้างประจำ และอัตราข้าราชการสายวิชา และสายสนับสนุนและช่วยวิชาการ ซึ่งเป็นอัตราประจำ ณ วิทยาเขตกำแพงแสน รวมถึงอัตราเดิมที่สมัครใจปฏิบัติงานในสังกัดคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์  และได้รับพิจารณาจัดสรรเงินงบประมาณ ประจำปี 2535  และอนุเคราะห์สนับสนุนงบประมาณเงินรายได้ เพื่อจ้างลูกจ้างชั่วคราว 

ปีงบประมาณ 2535  คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ได้รับจัดสรรอัตรากำลัง ข้าราชการ ครั้งแรก จำนวน 10  อัตรา   ตำแหน่ง อาจารย์ รวม 6 อัตรา  และสายสนับสนุนฯ จำนวน 5 อัตรา โดยข้าราชการสายวิชาการ จำนวน 6 อัตรา บรรจุบุคคลเข้ารับราชการ ตำแหน่งแรก ได้แก่ อ.ดร.จารุพร  พงษ์ศิริเวทย์  (สาขาภาษาอังกฤษ)  และบรรจุ/รับโอน/ย้ายจากหน่วยงานอื่น ๆ จำนวน 5 อัตรา ดังนี้     

ผศ.ชูศรี   บัณฑิตวิไล                 สาขาภาษาอังกฤษ  

ผศ.ดร.ชานันก์   สุดสุข               สาขาคณิตศาสตร์ (รับโอนจากกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ)

ดร.สุกัญญา   มหาธีรานนท์      สาขาเคมี (โอนไปรับราชการคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)

อ.ดร.วิชชุพร  จันทร์ศรี               สาขาจุลชีววิทยา (รับย้ายจากสถาบันวิจัยและพัฒนาฯ)

รศ.ทัศน์วิไล  วัฒนายน              สาขาฟิสิกส์  (รับย้ายจากคณะวิทยาศาสตร์ บางเขน)

สำหรับบุคลากรสายสนับสนุนและช่วยวิชาการ 4  อัตราแรก ที่บรรจุ/รับโอน/ย้าย มาปฏิบัติงาน ได้แก่  น.ส.วิไล  แจ้งบุญ  น.ส.นันทมาศ  ลาวรรณา   น.ส.อารีรัตน์   สิชฌวัฒน์ และนางวรรณวิมล  ศรีประเสริฐศักดิ์

1  เมษายน พ.ศ. 2538 รองศาสตราจารย์กรึก  นฤทุม  ขอลาออกจากราชการและตำแหน่งคณบดีคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์  และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 

11 เมษายน พ.ศ. 2538  สภามหาวิทยาลัยมีคำสั่งแต่งตั้งให้ผู้ช่วยศาสตราจารย์แสงสุรีย์  สินธุวณิก ดำรงตำแหน่ง คณบดีคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2538  ถึง วันที่ 10 เมษายน  2542  นับเป็นคณบดีท่านที่  2   และได้รับอนุมัติแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ วาระที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2542  โดยมีวาระ 4 ปี  และเมื่อวันที่  31 มกราคม 2545  ได้ขอลาออกจากตำแหน่งคณบดี 

ปีการศึกษา 2539  คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ประสบปัญหาและอุปสรรคด้านการสรรหาบุคลากรสายวิชาเข้ารับราชการ เนื่องจากสาขาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ จัดเป็นสาขาวิชาขาดแคลน  กอปรกับคณาจารย์ประจำที่มีอยู่ มีภาระงานสอนวิชาพื้นฐานทั่วไป ความก้าวหน้าทางวิชาการขั้นสูง ไม่มีนิสิตในหลักสูตรการเรียนการสอนของตนเอง  ไม่มีการจัดการเรียนการสอนรายวิชาในระดับสาขาวิชาเอก ดังนั้น ผู้ช่วยศาสตราจารย์แสงสุรีย์  สินธุวณิก จึงประสานงานและขออนุมัติใช้หลักสูตร ศศ.บ.(ภาษาอังกฤษ) จากคณะมนุษยศาสตร์ และหลักสูตร วท.บ.(วิทยาศาสตร์ทั่วไป) จากคณะวิทยาศาสตร์  โดยเริ่มรับนิสิตใหม่ จำนวนหลักสูตรละ 30 คน เป็นปีแรก  และจบการศึกษา รุ่นที่ 1 รวมจำนวน 51 คน

 

25 เมษายน 2540  คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ดำเนินการบริหารจัดการมากว่า 3 ปี มีคณาจารย์ประจำปฏิบัติงานด้านการเรียนการสอน ตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง คือ การให้บริการการสอนรายวิชาพื้นฐานทั่วไปด้านภาษา สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์   คณาจารย์ ซึ่งคุ้นเคยกับการบริหารงานรูปแบบเดิม คือ  ภาควิชา   ผู้ช่วยศาสตราจารย์แสงสุรีย์  สินธุวณิก คณบดีในขณะนั้น จึงเสนอขออนุมัติมหาวิทยาลัย แบ่งส่วนราชการภายในด้านวิชาการ โดยเรียกใช้ชื่อ “สายวิชา” มีฐานะเทียบเท่าภาควิชา โดยที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งที่ 4/2540 เมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2540 มีมติเห็นชอบให้จัดแบ่ง โครงสร้างการบริหารงานวิชาการภายในเป็น 3 สายวิชา  คือ สายวิชาวิทยาศาสตร์  สายวิชาคณิตศาสตร์ สถิติ และคอมพิวเตอร์ และสายวิชาศิลปศาสตร์  

ปีการศึกษา 2541  สภามหาวิทยาลัยอนุมัติหลักสูตร วท.ม.(พฤกษ์เศรษฐกิจ)  เริ่มรับนิสิตตั้งแต่ภาคต้น ปีการศึกษา 2541 รวมจำนวน 11 คน และจบการศึกษา รุ่นแรก เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร ในปีการศึกษา 2544 จำนวน 5 คน 

18  กันยายน พ.ศ. 2543  คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ได้รับอนุมัติแผนโครงการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการวิจัยวิทยาศาสตร์พื้นฐาน (กำแพงแสน) โครงการใหม่ ตามแผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษา ฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2540 – 2545) และดำเนินการขออนุมัติจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการวิจัยวิทยาศาสตร์พื้นฐาน (กำแพงแสน) จากที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในการประชุมครั้งที่ 9/2543 เมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2543  ศูนย์ปฏิบัติการวิทยาศาสตร์พื้นฐาน (กำแพงแสน)  มีการดำเนินการสรรหาและแต่งตั้ง อาจารย์ชานันก์ สุดสุข ดำรงตำแหน่งหัวหน้าศูนย์ฯ  โดยมีการดำเนินงานได้ระยะหนึ่ง  และตำแหน่งหัวหน้าศูนย์ได้สิ้นสุดลงพร้อมวาระพร้อมคณบดี เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2545   

1  กุมภาพันธ์ 2545  -  20 พฤษภาคม 2545   มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แต่งตั้งให้ รองศาสตราจารย์ ดร.สมถวิล ธนะโสภณ  รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษา ประจำวิทยาเขตแพงแสน เป็นผู้รักษาการในตำแหน่งคณบดีคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์  ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2545 เป็นต้นไป จนกว่าจะดำเนินการสรรหาและแต่งตั้งคณบดีคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์

21 พฤษภาคม 2545 -  20 พฤษภาคม 2549  สภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แต่งตั้งรองศาสตราจารย์ ดร.คณพล  จุฑามณี ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ลำดับที่ 4  

ปีการศึกษา 2544  คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์  ขออนุมัติใช้หลักสูตร วท.บ.(วิทยาการคอมพิวเตอร์) จากคณะวิทยาศาสตร์ บางเขน และได้รับอนุมัติจากที่ประชุมคณบดี และที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  โดยเริ่มรับนิสิตใหม่ ตั้งแต่ภาคต้น ปีการศึกษา 2544 จำนวน 30 คน/ปี จบการศึกษา รุ่นแรก ปีการศึกษา 2547  จบการศึกษาแล้ว 5 รุ่น รวม 170 คน

ปีการศึกษา 2547  คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์  ได้รับอนุมัติหลักสูตรใหม่  จำนวน 2 หลักสูตร คือ  หลักสูตร  วท.บ.(วิทยาศาสตร์ชีวภาพ) หลักสูตรใหม่ พ.ศ. 2547 เริ่มรับนิสิตตั้งแต่ปีการศึกษา 2547 จำนวนรับ 50 คน/ปี   และ หลักสูตร วท.บ.(เทคโนโลยีสารสนเทศ) หลักสูตรใหม่ พ.ศ. 2547 เริ่มรับนิสิตภาคพิเศษ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2548  จำนวน 50 คน/ปี  และหลักสูตร วท.บ.(เทคโนโลยีสารสนเทศ) ได้อนุญาตให้วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติสกลนคร ใช้หลักสูตรในการผลิตบัณฑิต ตั้งแต่ปีการศึกษา 2547

ปีงบประมาณ 2546  คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ได้รับจัดสรรงบประมาณประจำปี เพื่อก่อสร้างอาคารปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ทั่วไป วงเงินค่าก่อสร้าง 9,243,590  บาท ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อ 30 เมษายน 2546        ปัจจุบันใช้เป็นที่ทำการ และพื้นที่การเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาเคมี และต่อเติมชั้น 3 เพื่อใช้เป็นห้องเรียนรวม  

ปีการศึกษา 2548  คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์  ขอใช้หลักสูตร ศศ.ม.(รัฐศาสตร์) เพื่อเปิดรับนิสิต ภาคพิเศษ โดยความร่วมมือระหว่างคณะสังคมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ จำนวนรับ 50 คน/ปี ปัจจุบันดำเนินการรับนิสิต รวม 5 รุ่น  จบการศึกษาแล้ว  3 รุ่น รวม 143 คน 

18 กรกฏาคม 2548  ได้รับข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการตรวจสอบการประกันคุณภาพ ซึ่งพิจารณาให้ความเห็นว่า ศูนย์ฯ ขาดความพร้อมทั้งด้านสถานที่ วัสดุ อุปกรณ์ และบุคลากร  เนื่องจากคณาจารย์ประจำที่มีอยู่มีภาระงานสอนในการให้บริการการสอนวิชาพื้นฐานทั่วไปแก่นิสิตคณะต่าง ณ วิทยาเขตกำแพงแสน  การผลิตบัณฑิตในหลักสูตรต่าง ๆ ของคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ตลอดจนงานวิจัย และการบริการวิชาการ  ควรชะลอการดำเนินงานไว้เพื่อมิให้มีผลต่อการตรวจสอบคุณภาพการศึกษาภายใน  ดังนั้นที่ประชุมคณะกรรมการประจำคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ คราวประชุมครั้งที่ 7/2548 เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2548 จึงมีมติให้ชะลอการดำเนินงานของศูนย์ไปก่อนจนกว่าจะมีความพร้อมและศักยภาพในการดำเนินงาน 

ปีการศึกษา 2549  คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ขอใช้หลักสูตร วท.บ.(เคมี) จากคณะวิทยาศาสตร์ บางเขน โดยเริ่มรับนิสิตตั้งแต่ภาคต้น ปีการศึกษา 2549 จำนวน 30 คน/ปี และงดรับนิสิตหลักสูตร วท.บ.(วิทยาศาสตร์ทั่วไป) เนื่องจากคณะวิทยาศาสตร์ บางเขน ปรับเปลี่ยนหลักสูตร วท.บ.(วิทยาศาสตร์ทั่วไป) เป็น หลักสูตร วท.บ.(วิทยาศาสตร์พื้นพิภพ)  ดังนั้น คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ รับและผลิตบัณฑิตหลักสูตร วท.บ.(วิทยาศาสตร์ทั่วไป) รวม 10 รุ่น จบการศึกษารุ่นที่ 10 ปีการศึกษา 2551 เป็นรุ่นสุดท้าย

ปีงบประมาณ 2549 – 2552 คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ได้รับจัดสรรงบประมาณโครงการก่อสร้างอาคารการเรียนรู้ คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ 1 หลัง  (อาคาร 9) วงเงินค่าก่อสร้าง 49,999,000 บาท ก่อสร้างแล้วเสร็จ และเริ่มใช้งานเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2551  โดยเป็นอาคารบริหาร และที่ทำการสำนักงานงานเลขานุการ ห้องสมุดคณะ  ที่ทำการส่วนงานจัดการศึกษา  อาคารที่ทำการและพื้นที่การจัดการเรียนการสอนของสายวิชาคณิตศาสตร์ สถิติ และคอมพิวเตอร์ สายวิชาศิลปศาสตร์  โครงการหลักสูตร วท.บ.(เทคโนโลยีสารสนเทศ) ภาคพิเศษ  วท.บ.(วิทยาการคอมพิวเตอร์) ภาคพิเศษ และต่อเติมชั้น 5 เพื่อเป็นที่ทำการ และห้องเรียนรวม และห้องเรียนของโครงการหลักสูตร ศศ.ม.(รัฐศาสตร์)  ภาคพิเศษ และ โครงการหลักสูตร ศศ.บ.(ภาษาอังกฤษ) ภาคพิเศษ

21 พฤษภาคม พ.ศ.2549    สภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แต่งตั้งผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชานันก์  สุดสุข ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ลำดับที่  5  โดยมีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี ตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2549 ถึงปัจจุบัน           

26  กุมภาพันธ์  พ.ศ. 2550 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชานันก์  สุดสุข คณบดีคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์  มีนโยบายปรับโครงสร้างการบริหารศูนย์ จึงแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนางานศูนย์ปฏิบัติการวิจัยวิทยาศาสตร์พื้นฐาน (กำแพงแสน) เพื่อให้ศูนย์มีการดำเนินงาน และกิจกรรมที่สามารถสร้างเครือข่ายความเข้มแข็งด้านการวิจัย การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการบริการวิชาการ และนำเสนอคณะกรรมการประจำคณะฯ คราวประชุมครั้งที่ 2/2550 เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2550 พิจารณาเห็นชอบให้นำเสนอมหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณาอนุมัติปรับโครงสร้างการดำเนินงานให้สอดคล้องตามนโยบายของคณะ โดยเปลี่ยนชื่อจากศูนย์ปฏิบัติการวิจัยวิทยาศาสตร์พื้นฐานกำแพงแสน  เป็นศูนย์ส่งเสริมการวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยี ให้ครอบคลุมการดำเนินงานของคณะ ซึ่งมีทั้งด้านศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ การวิจัยและการบริการวิชาการด้านต่าง ๆ ไม่เน้นเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐาน ที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในการประชุมครั้งที่ 3/2551 เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2551 มีมติอนุมัติให้เปลี่ยนชื่อจากศูนย์ปฏิบัติการวิจัยวิทยาศาสตร์พื้นฐานกำแพงแสน เป็นศูนย์ส่งเสริมการวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ โดยแบ่งส่วนราชการออกเป็น 3 งาน คือ งานบริหารและธุรการ งานส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัย งานบริการวิชาการและถ่ายทอดเทคโนโลยี 

ปีการศึกษา 2550  คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ได้รับอนุมัติใช้หลักสูตรเดิมของวิทยาเขตบางเขน  เพื่อรับนิสิตภาคปกติ และภาคพิเศษ  และหลักสูตรใหม่ คณะฯ ดังนี้

  • บธ.บ.(การจัดการ) จากคณะบริหารธุรกิจ เริ่มรับนิสิต ตั้งแต่ภาคต้น ปีการศึกษา 2550 จำนวนรับ 50 คน/ปี
  • วท.บ.(ฟิสิกส์) จากคณะวิทยาศาสตร์ เริ่มรับนิสิต ตั้งแต่ภาคต้น ปีการศึกษา 2550 จำนวนรับ 15 คน/ปี    
  • วท.บ.(วิทยาการคอมพิวเตอร์) ภาคพิเศษ จากคณะวิทยาศาสตร์ บางเขน เริ่มรับนิสิต ตั้งแต่ภาคต้น ปีการศึกษา 2550 จำนวนรับ 50 คน/ปี 
  • ศศ.บ.(ภาษาอังกฤษ) ภาคพิเศษ เริ่มรับรับนิสิต ตั้งแต่ภาคต้น ปีการศึกษา 2550 จำนวนรับ 80 คน/ปี 
  • วท.ม.(วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม) หลักสูตรใหม่ พ.ศ. 2550 คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ จำนวนรับ 15 คน/ปี
  • วท.ม.(วิทยาศาสตร์ชีวผลิตภัณฑ์)  หลักสูตรใหม่ พ.ศ. 2550 จำนวนรับ 10 คน/ปี   
  • ปร.ด.(วิทยาศาสตร์ชีวผลิตภัณฑ์)  หลักสูตรใหม่ พ.ศ. 2550 จำนวนรับ 12 คน/ปี

                    ปีการศึกษา 2551 คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมคณบดี คราวประชุมครั้งที่ 5/2552 เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2552 และที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย ครั้งที่ 5/2552 เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2552  ให้ใช้หลักสูตร วท.บ.(จุลชีววิทยา) คณะวิทยาศาสตร์ บางเขน  โดยเริ่มรับนิสิต ตั้งแต่ภาคต้น ปีการศึกษา 2552 จำนวนรับ 30 คน/ปี   

ปีงบประมาณ 2552  (1  ตุลาคม พ.ศ. 2551)  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชานันก์  สุดสุข มีนโยบายปรับโครงการการบริหารงานภายในจาก 5 หน่วยงานภายในเดิม  3 สายวิชา  1 ศูนย์  และสำนักงานเลขานุการ เพื่อให้การบริหารจัดการด้านวิชาการ มีความคล่องตัวมากขึ้นและเป็นไปตามนโยบายของคณบดี และความต้องการของบุคลากรภายใน โดยที่ประชุมคณะกรรมการประจำคณะฯ ครั้งที่ 11/2551 เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2551 และครั้งที่ 12/2551 วันที่ 24 พฤศจิกายน 2551  มีมติเห็นชอบให้ปรับโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการ เพิ่มเติม โดยให้มีการบริหารงานภายในตามประกาศคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ตั้งแต่

วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2551 จนกว่าจะได้รับอนุมัติปรับโครงสร้างจากมหาวิทยาลัยฯ  จำนวน 8 หน่วยงาน  ดังนี้

1.  โครงการจัดตั้งส่วนงานจัดการศึกษา  ยกฐานะงานบริการการศึกษา และงานเทคโนโลยีการศึกษาและสารสนเทศ  จากสำนักงานเลขานุการคณะ  โดยมีฐานะเทียบเท่าสำนักงานเลขานุการคณะ

  1. โครงการจัดตั้งสายวิชาเคมี  ยกฐานะสาขาวิชาเคมี จากสายวิชาวิทยาศาสตร์
  2. โครงการจัดตั้งสายวิชาฟิสิกส์  ยกฐานะสาขาวิชาฟิสิกส์ จากสายวิชาวิทยาศาสตร์
  3. โครงการจัดตั้งสายวิชาจุลชีววิทยา  ยกฐานะสาขาวิชาจุลชีววิทยา จากสายวิชาวิทยาศาสตร์
  4. โครงการจัดตั้งสายวิชาคอมพิวเตอร์  ยกฐานะสาขาวิชาคอมพิวเตอร์ และสาขาวิชาสถิติ จากสายวิชาคณิตศาสตร์ สถิติและคอมพิวเตอร์
  5. โครงการจัดตั้งสายวิชาสังคมศาสตร์  ยกฐานะสาขาวิชาสังคมศาสตร์ จากสายวิชาศิลปศาสตร์
  6. โครงการจัดตั้งสายวิชาบริหารธุรกิจและเศรษฐศาสตร์  ยกฐานะสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ จากสายวิชาศิลป
หมายเลขบันทึก: 326714เขียนเมื่อ 10 มกราคม 2010 22:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 00:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ได้ข้อมูลละเอียดมากเลยครับ ต่อไปนิสิตสนใจจะให้มาอ่านบันทึกพี่นะครับ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท