แหล่งทองเที่ยวที่น่าสนใจ


รอยพระบาทในหลวง หนึ่งเดียวในเมืองไทยที่ จ.เชียงราย
บทความ เกร็ดความรู้ เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ที่น่าสนใจ
“รอยพระบาทในหลวง”หนึ่งเดียวในเมืองไทยที่ จ.เชียงราย

"รอยพระบาทในหลวง" หนึ่งเดียวในเมืองไทยที่ จ.เชียงราย

รอยประทับพระบาทบนปูนปลาสเตอร์หนึ่งเดียวในเมืองไทยที่ค่ายเม็งราย มหาราช อ.เมือง จ.เชียงราย

“ขอเป็นฐาน รองบาท ราชวงศ์ ด้วยจำนง จงรัก และภักดี”

นี่คือข้อความที่เขียนไว้ที่ฐานของรอยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พ่อหลวงของคนไทย แห่งค่ายเม็งรายมหาราช ซึ่งถือเป็นรอยพระบาทในหลวงหนึ่งเดียวในเมืองไทย
       
       สำหรับที่มาของการก่อกำเนิดรอยพระบาทในหลวงแห่งนี้ คงต้องย้อนไปในอดีต ยุคที่เมืองไทยยังคงมีความขัดแย้งทางแนวคิดทางการเมืองอย่างชัดเจน
       
       ครั้งนั้นบน ดอยพญาพิภักดิ์ บนพื้นที่ดอยยาว-ดอยผาหม่น ใน อ.เทิง จ.เชียงราย นับเป็นพื้นที่สีแดงที่มีการรบพุ่งกันระหว่างฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งทางรัฐบาลก็ได้ส่งกองกำลังไปปราบปรามเรื่อยมาตั้งแต่ พ.ศ.2510 จนในปีพ.ศ. 2524 พ.ท. วิโรจน์ ทองมิตร ผบ.ร. 17 พัน 3 ได้นำกำลัง(พัน ร. 473) เข้าปฏิบัติการในพื้นที่ดอยยาว-ดอยผาหม่น ตามแผนการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ จนเกิดเป็นยุทธการยึดเนิน 1188 บนดอยดอย พญาพิภักดิ์ ขึ้น ยังผลให้สามารถปราบปรามคอมมิวนิสต์ในพื้นที่นั้นได้สำเร็จในที่สุด

แต่ว่าเหตุการณ์ในครั้งนั้นก็ต้องสูญเสียเหล่าทหารหาญที่พลีชีพเพื่อปกป้องอธิปไตยไปจำนวนมาก โดยอัฐิของทหารส่วนหนึ่งได้ถูกนำมาบรรจุไว้ในอนุสาวรีย์ผู้เสียสละที่ค่ายเม็งรายมหาราช จ.เชียงราย
       
       และเพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่เหล่าทหารหาญ ในวันที่ 27 ก.พ. 2525 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จไปเยี่ยมเยียนเหล่าทหารหาญ และราษฎร ณ ฐานปฏิบัติการดอยพญาพิภักดิ์ บนดอยยาว โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาพระราชทานประทับ“รอยพระบาท”ของพระองค์ลงบนแผ่นปูนปลาสเตอร์ที่ทางทหารได้เตรียมไว้ เพื่อเป็นดังขวัญกำลังใจแก่ทหารหาญที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเสียสละ
       
       ในปัจจุบันนี้รอยพระบาทบนปูนปลาสเตอร์นั้นได้ถูกนำมาเก็บไว้ที่ศาลารอยพระบาท ณ ค่ายเม็งรายมหาราช อ.เมือง จ.เชียงราย โดยเดิมทีนั้นรอยพระบาทของในหลวงนั้นจะเป็นที่รู้กันในหมู่ทหารค่ายเม็งรายฯ แต่เมื่อทหารเปลี่ยนนโยบายจาก “เขตทหารห้ามเข้า” มาเป็น “เขตทหารยินดีต้อนรับ” เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าไปเที่ยวชมสถานที่ท่องเที่ยวและรู้จักวิถีชีวิตในรั้วสีเขียว
       
       เรื่องราวของ“รอยพระบาทในหลวง”ที่ถือได้ว่ามีหนึ่งเดียวในเมืองไทยก็มีคนเดินทางไปชมและสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคลมากขึ้น ซึ่งนอกจากจะมี“รอยพระบาทในหลวง” ให้สักการะแล้ว ในเขตค่ายฯเม็งรายและบริเวณใกล้เคียง ก็ยังมีจุดต่างๆให้เลือกเที่ยวชมและทำกิจกรรมกันมากมาย ไม่ว่าจะเป็น วัดพระธาตุดอยทอง ที่มีพระธาตุดอยทอง สีทองเหลืองอร่าม สำหรับพระธาตุองค์นี้ต้องขึ้นดอยเล็กๆไป โดยบนนั้นนอกจากพระธาตุดอยทองแล้ว ยังมีเสาสะดือเมืองที่แปลกกว่าที่ไหนๆ คือมีถึง 108 ต้น และยังมีจุดชมวิวที่สามารถมองเห็นบางส่วนของเชียงรายได้อย่างสวยงาม

สะดือเมืองที่วัดดอยทองแปลกกว่าที่ไหนๆเพราะมีถึง 108 ต้น

ส่วนจุดท่องเที่ยวในค่ายเม็งรายฯ ก็มี กาดไม้ ที่มีงานไม้และวัสดุอุปกรณ์ทางการเกษตรขายแก่คนที่ผ่านไป-มา โครงการสวนกำกึ๊ดหลวง ซึ่งเป็นโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ
       
       และแน่นอนว่าในค่ายทหารก็จะต้องมีกิจกรรมแนวผจญภัยแบบทหารให้นักท่องเที่ยวได้พิสูจน์ในความสามารถ โดยในค่ายเม็งรายฯ เนื่องจากมีพื้นที่กว้างใหญ่อยู่ติดน้ำใกล้เขา ก็เลยมีกิจกรรมให้ทำหลายอย่างไม่ว่าจะเป็น ขี่ม้า ยิงปืนพายเรือ ตกปลา กระโดดหอ รวมไปถึงสนามกอล์ฟ ซึ่งสำหรับผู้ที่สนใจหากมีไปเชียงรายและมีโอกาสผ่านไปทางค่ายก็น่าจะหาเวลาไปชมและสักการะ “รอยพระบาทในหลวง” หนึ่งเดียวในเมืองไทยเพื่อความเป็นสิริมงคล ส่วนใครที่ติดใจในสถานที่อยากจะทำกิจกรรม เที่ยวชม และค้างคืนก็สามารถทำได้ เพราะที่ค่ายเม็งรายฯมีที่พักสะดวกสบายในราคาประหยัดให้เลือกพักอีกด้วย

       * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
       ค่ายเม็งรายมหาราช ตั้งอยู่ที่ อ.เมือง จ.เชียงราย โดยอยู่ตรง 4 แยกตลาดเด่นห้า สำหรับผู้ที่จะไปเที่ยวและพักที่ค่ายฯหรือจะเข้าไปเที่ยวทำกิจกรรมในค่ายฯ เนื่องจากเป็นเขตพื้นที่ทหาร ควรทำการติดต่อก่อนที่ โทร. 0-5360-0902 ต่อ 3807
        
       สำหรับรอยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 นั้น ทางกรมศิลปากร ร่วมกับกองทัพบก และองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย มีแผนจะย้ายศาลารอยพระบาทจากที่เก่าไปอยู่ ณ ยอดดอยโหยด ค่ายเม็งรายมหาราช ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการปรับพื้นที่บนยอดดอย


ที่มา: www.manager.co.th

หมายเลขบันทึก: 325727เขียนเมื่อ 7 มกราคม 2010 21:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มีนาคม 2012 13:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท