ชีวิตที่พอเพียง : 31. บ้านนอกเข้ากรุง


• ผมน่าจะเดินทางมากรุงเทพราวๆ กลางเดือนเมษายน 2500   โดยทางรถไฟ มาลงที่สถานีรถไฟบางกอกน้อย   แล้วนั่งเรือจ้าง (เป็นเรือแจว) ข้ามฟากมาฝั่งท่าพระจันทร์   ลุงตำรวจพาผมขึ้นรถเมล์โดยมีกระเป๋าเดินทางใบโตขึ้นไปด้วย   ดูเด็กกระเป๋ารถเมล์จะตกใจไม่น้อย ที่มีคนหิ้วกระเป๋าใบโตขึ้นรถเมล์   ที่หมายของเราคือซอยพุทธโอสถ ตรงข้ามไปรษณีย์กลาง   เพื่อไปหาอาสมบูรณ์ที่บ้าน โดยผมถือจดหมายของพ่อฝากฝังให้อาช่วยดูแลผมด้วย   อาตกใจมากเพราะไม่คิดว่าอยู่ๆ ผมจะขอมาอยู่ด้วยเช่นนี้   ก็พาผมขึ้นรถไปส่งที่คลินิกชื่อ แพทยาศรม ที่เจริญผล   ที่นั่น มีอาตุ๊  พี่วิชา  และพี่วิรัช อาศัยอยู่แล้ว
• อาหมออนันต์กับอาสมบูรณ์มีลูก 4 คน เรียนอยู้โรงเรียนฝรั่งทั้งสิ้น   คือลูกชายเรียนที่อัสสัม   ท่านบอกว่าไปฝากอัสสัมไม่ได้หรอก เขาคงรับไม่ได้   ไปเรียนที่ปานะพันธุ์ก็แล้วกัน   สอนแนวเดียวกับอัสสัมและเซ็นคาเบรียล   ท่านพาผมไปสมัคร ทางโรงเรียนดูสมุดพกที่แสดงผลการเรียนของผมแล้วบอกรับ โดยเรียกเงินแป๊ะเจี๊ยะ 2,500 บาท ค่าเล่าเรียนเทอมแรก 650 บาท  เทอมที่สองและสาม เทอมละ 300 บาท   ดูท่านอาจารย์เรียว โรจน์เสรี อาจารย์ใหญ่ ที่เป็นฝรั่งที่พูดไทยชัด จะไม่ค่อยไว้ใจผมเท่าไรว่าจะมาเรียนกับเด็กชาวกรุงได้ทันหรือไม่  
• ก่อนหน้าจะไปสมัครที่โรงเรียนปานะพันธุ์วิทยา พี่วิรัชกับพี่วิชาคงจะเห่อน้องน่าดู   รีบพาไปซื้อรองเท้าหนัง   ว่าอยู่กรุงเทพต้องสวมรองเท้าหนัง   ยี่ห้อแบแรตราคา 170 บาท สีน้ำตาล   เป็นครั้งแรกที่ผมสวมรองเท้าหนัง   รุ่งขึ้นพี่วิชาซึ่งเรียนอยู่ที่คณะวิศว จุฬา ก็ชวนไปเที่ยวจุฬา   นับเป็นครั้งแรกที่ผมสวมรองเท้าหนังเดิน   พี่วิชาพาเดินเที่ยวทั่วจุฬา   ผมกลับมาเท้าพองยับเยิน เพราะรองเท้ากัด
• พอไปสมัครเข้าโรงเรียนปานะพันธุ์ จึงรู้ว่าเครื่องแบบนักเรียนเป็นกางเกงขาสั้นสีน้ำเงิน เสื้อขาว ปักอักษรย่อของโรงเรียนว่า ป.พ.  ข้างล่างจาก ป.พ. เป็นหมายเลขประจำต้วนักเรียน ผมจำได้คลับคล้ายคลับคลาว่า 1137   และรองเท้าสีดำ    ผมก็ต้องไปซื้อรองเท้าหนังใหม่อีกคู่หนึ่งที่เป็นสีดำ ยี่ห้อเดิมทรงเดิม   ลงท้ายผมต้องโดนรองเท้ารุมกัดถึงสองคู่
• ทางโรงเรียนมีรถรับส่งนักเรียนจากสถานีเล็กๆ ตรงสนามเป้า ไปส่งที่โรงเรียน ซึ่งอยู่ไกลมากที่ลาดพร้าวตอนเช้า 3 เที่ยว    เที่ยวเช้าสุดออกเวลา 7.00 น.   ผมมาขึ้นเที่ยวนี้ทุกวันเพราะเด็กไม่แน่น
• วันแรกพอเข้าชั้นเรียนเพื่อนนักเรียนเก่าก็กระเซ้าเพื่อนนักเรียนผู้หญิงที่เดินเข้าห้องทีหลังว่า “โอ้โฮไม่ได้เจอกันนานนมโตเป็นกอง”   โปรดลองเว้นวรรคต่างกันสองแบบดูนะครับ ว่าความหมายมันต่างกันแค่ไหน   นี่เป็นครั้งแรกที่ผมอยู่โรงเรียนแบบสหศึกษา ที่นักเรียนหญิงชายเรียนปนกัน   ผมไม่กล้าพูดกับเพื่อนผู้หญิงเลยตลอดปี  
• ผมตกใจมากที่เพื่อนๆ เรียกครูลับหลังว่าไอ้   ไอ้แป๊ด  ไอ้มหาเก่า  ไอ้มหาใหม่  แต่มีอยู่สองคนที่ไม่โดนเรียกไอ้ คือมาสเซ่อร์เรียว  กับมาสเซ่อร์มิน   ตามปกติต่อหน้าครูนักเรียนจะเรียกครูผู้ชายว่ามาสเซ่อร์    เรียกครูผู้หญิงว่ามิส  
• เพื่อนๆ กว่าครึ่งห้องเป็นทโมนทั้งนั้น   เอาแต่หวีผม และอวดกางเกงรัดรูป   คือเขาเป็นหนุ่มกันแล้ว
• ผมไม่ค่อยกล้าพูด เพราะเกรงทองแดงร่วง   ต้องค่อยๆ หัดพูด   ที่ยากคือการฝึกพูดให้ช้าและเสียงนุ่ม วรรณยุกต์ถูกต้อง  ผมใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 ปี จึงพูดภาษากลางได้อย่างเป็นธรรมชาติ

วิจารณ์ พานิช
๒๕ พค. ๔๙

หมายเลขบันทึก: 32447เขียนเมื่อ 31 พฤษภาคม 2006 13:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 มีนาคม 2012 22:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • ชอบอ่านมากครับ เข้าใจอะไรในอดีตชัดเจนขึ้น
  • ขอบคุณคุณหมอมากครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท