พุทธวิธีการรักษาโรคด้วยโพชฌงค์ : ผลแห่งการปฏิบัติหรือมหัศจรรย์แห่งมนต์คาถา (ตอนที่ ๒)


“ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ” (อาโรคฺยปรมา ลาภา)

พุทธวิธีการรักษาโรคด้วยโพชฌงค์ :  ผลแห่งการปฏิบัติหรือมหัศจรรย์แห่งมนต์คาถา (ตอนที่ ๒)  [1]

 โพชฌงค์เกี่ยวข้องกับการรักษาโรคอย่างไร 

               ๑. โพชฌงค์ในทัศนะเป็นผลแห่งการปฏิบัติ

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)[8]  ได้กล่าวไว้ว่า หลักโพชฌงค์เป็นหลักปฏิบัติทั่วไป ไม่เฉพาะสำหรับผู้ป่วยเท่านั้น ถ้าวิเคราะห์ดูความหมายของศัพท์ก็จะเห็นว่า "โพชฌงค์" มาจากคำว่า โพชฺฌ กับ องฺค หรือ โพธิ กับ องค์ จึงแปลว่า องค์แห่งการตรัสรู้ พูดตามศัพท์ก็คือ องค์แห่งโพธิ (ญาณ) นั่นเอง หมายถึงองค์ประกอบ หรือหลักธรรมที่เป็นเครื่องประกอบของการตรัสรู้ หรือองค์ประกอบแห่งโพธิญาณ แสดงว่าหลักธรรมนี้สำคัญมาก เพราะเป็นธรรมที่จะช่วยให้เกิดการตรัสรู้ การตรัสรู้นั้นเป็นเรื่องของปัญญา คือ ความรู้ความเข้าใจขั้นที่จะทำให้การตรัสรู้นี้มีความหมายลึกซึ้งลงไป กล่าวคือ

ประการที่ ๑ รู้แจ้งความจริงของสิ่งทั้งหลายเห็นสว่างโล่งทั่วไปหมด ไม่มีจุดหมองจุดมัว เพราะความรู้นั้นชำระใจให้หมดกิเลส ให้บริสุทธิ์ด้วย เพราะฉะนั้น ปัญญาตรัสรู้นี้จึงหมายถึง ความรู้บริสุทธิ์ หรือความรู้ที่เป็นเหตุให้เกิดความบริสุทธิ์

ประการที่ ๒ ปัญญาที่ทำให้การตรัสรู้นี้ทำให้เกิดความตื่น คือเดิมนั้นมีความหลับอยู่ คือมัวเพลิน มัวประมาทอยู่ ไม่ลืมตาลืมใจดูความเป็นจริง และมีความหลงใหล เช่น มีความหมกมุ่นมัวเมา ยึดติดในสิ่งต่างๆ เมื่อปัญญารู้แจ้งความจริงตรัสรู้แล้ว ก็กลายเป็นผู้ตื่นขึ้น พ้นจากความหลับ ความประมาทมัวเมา ความยึดติดต่างๆ พูดสั้นๆว่า ตื่นขึ้นทั้งจากความหลับใหล และความหลงใหล

ประการที่ ๓ จากการที่บริสุทธิ์และตื่นขึ้นมานี้ ก็ทำให้จิตใจของผู้นั้น มีความเบิกบานผ่องใส ปลอดโปร่งโล่งเบา เป็นอิสระ อันนี้คือสภาพจิตที่ดีงาม ถ้าเรียกในสมัยปัจจุบันก็ว่า เป็นสุขภาพจิตที่ดีมากถ้าท่านผู้ใดก็ตาม ได้มีสุขภาพจิตอย่างนี้แล้ว แม้จะไม่ถึงขั้นหมดกิเลสโดยสิ้นเชิง ก็นับว่าเป็นผู้มีความสุขแล้ว ถ้าเป็นผู้ป่วยไข้ก็เรียกว่า มีสภาพจิตที่เหมือนกับไม่ได้ป่วย อย่างที่เรียกว่า กายป่วย แต่ใจไม่ป่วย หรือ ป่วยแต่กาย ใจไม่ป่วย ดังที่พระพุทธเจ้าเคยตรัสสอนท่านผู้สูงอายุ ท่านผู้เจ็บป่วยกระเสาะกระแสะ กระสับกระส่ายในวัยชรา ให้ทำใจว่า ถึงแม้กายของเราจะป่วย แต่ใจของเราจะไม่ป่วยด้วย ถ้าทำได้อย่างนี้ ก็จะเป็นจิตใจที่มีความสุข และก็จะช่วยผ่อนคลาย ห่างหายจากโรคนั้น หรืออย่างน้อยก็บรรเทาทุกขเวทนาที่เกิดจากโรคนั้นลงได้ อันนี้คือ การอธิบายความหมายของคำว่า โพชฌงค์ ที่แปลว่า องค์แห่งการตรัสรู้  

               โพชฌงค์ ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ทั้งหมดนำมาซึ่งคุณอันวิเศษ เมื่อพัฒนาเต็มที่จะมีอำนาจในการทำที่สุดแห่งทุกข์ในสังสารวัฏให้สิ้นไป   นี่คือคำกล่าวที่มีในพระไตรปิฎก ในที่นี้หมายความว่า วัฎจักรของการเกิดและการตายในเหล่าสัตว์ซึ่งประกอบด้วยสภาวธรรมของรูปและนามถึงความสิ้นสุดโดยสิ้นเชิง เมื่อโพชฌงค์เจริญเต็มที่แล้วจะนำผู้ปฏิบัติเข้าสู่พระนิพพาน ในที่นี้โพชฌงค์มีอุปการะแก่ความเข้มแข็งของจิตที่ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงของชีวิต นอกจากนี้ยังช่วยรักษาโรคร้ายทางร่างกายและจิตใจได้ด้วย   ทั้งนี้มิได้รับประกันว่าหากผู้ปฏิบัติเจริญกรรมฐานแล้วจะหายจากโรคทุกโรค แต่ก็เป็นไปได้ว่าการเจริญโพชฌงค์สามารถทำให้อาการป่วยทุเลาลงแม้แต่โรคที่ไม่อาจรักษาให้หายได้ โรคที่เมื่อบุคคลเจริญโพชฌงค์ด้วยการปฏิบัติแล้วสามารถทำให้อาการป่วยทุเลาลง พอยกตัวอย่างได้ดังนี้[9]

๑) โพชฌงค์ช่วยขจัดความป่วยทางจิต

               โรคทางจิตคือโรคที่เกิดจากความโลภ ความโกรธ ความหลง ความริษยา ความตระหนี่ ความท้อถอย เป็นต้น เมื่ออาการเหล่านี้ปรากฏขึ้นก็จะทำให้จิตใจไม่แจ่มใส คลุมเครือ ภาวะจิตเช่นนี้เป็นเหตุให้ร่างกายทรุดโทรม ผิวพรรณกลับหมองคล้ำ เมื่อจิตใจถูกครอบงำด้วยพลังในทางลบ เรากลายเป็นคนน่าเบื่อ ไม่มีความสุข และสุขภาพทรุดโทรมคล้ายกับการหายใจเอาอากาศที่มีสารพิษเข้าไป  ในทางตรงข้าม หากผู้ปฏิบัติพยายามอย่างแข็งขันในการเจริญสติ กำหนดรู้อารมณ์ให้คมชัดอยู่ทุกขณะ เป็นธรรมชาติอยู่เองที่จิตก็จะเกาะอยู่กับอารมณ์นั้นโดยไม่ฟุ้งซ่านหรือซัดส่าย สมาธิหรือความตั้งมั่นของจิตจะปรากฏขึ้น จากนั้นจิตจะสะอาดปราศจากนิวรณ์หรืออคติใด ๆ และแล้วปัญญาก็จะเริ่มเบ่งบาน เมื่อสภาวญาณเกิดขึ้นจิตจะบริสุทธิ์มากขึ้นราวกับได้หายใจเอาอากาศบริสุทธิ์อีกครั้ง หลังจากที่กลับจากเมืองใหญ่ที่มีความพลุกพล่านสติ วิริยะ และธัมมวิจยะ ก่อให้เกิดสมาธิและสภาวญาณตามลำดับ การเกิดสภาวญาณแต่ละขั้น เปรียบเสมือนการได้รับอากาศบริสุทธิ์เข้าไปในร่างกาย สภาวญาณที่ประจักษ์การเกิดดับของสภาวธรรมเป็นการเริ่มต้นของการปฏิบัติที่ดีและลึกซึ้ง อุเบกขาสัมโพชฌงค์ทำให้จิตมีความมั่นคงและสติมีความลึกซึ้งมากขึ้น การเกิดดับของอารมณ์มีความแจ่มชัด และผู้ปฏิบัติหมดความสงสัยในสภาวธรรมที่สามารถสัมผัสได้โดยตรง พลังปัญญาที่แรงกล้าขึ้นโดยฉับพลันนี้อาจทำให้รู้สึกว่าการปฏิบัติไม่ต้องใช้ความพยายามมากผู้ปฏิบัติอาจเข้าใจว่าไม่มีตัวตนหรือแม้แต่ผู้ที่ออกแรงพยายาม ปีติและความอิ่มใจเกิดเมื่อผู้ปฏิบัติ ประจักษ์ความบริสุทธิ์ของจิตด้วยตนเองรวมทั้งความลี้ลับของสัจจธรรมที่เผยออกขณะต่อขณะความสุขที่เปี่ยมล้นตามมาด้วยความสงบนิ่ง และจิตที่ปราศจากความสงสัยและวิตกกังวลในช่วงของความสงบนี้ จิตสามารถจะมองเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น  สมาธิยิ่งมั่นคงเมื่อปราศจากสิ่งรบกวน  ในการปฏิบัติที่ลึกซึ้งนี้ แม้ว่าปีติและความสุขที่ลึกซึ้งยังคงอยู่ ผู้ปฏิบัติจะมีสภาวจิตที่เป็นกลางอย่างแท้จริง ไม่ถูกพัดพาไปตามกระแสของกามคุณอารมณ์ นอกจากนี้อารมณ์ที่ไม่น่าพอใจก็ไม่รบกวนจิต ผู้ปฏิบัติจะไม่รู้สึกรังเกียจความเจ็บปวดหรือโหยหาสิ่งที่น่าพอใจใด ๆ

๒) ผลการเจริญโพชฌงค์ส่งผลต่อร่างกาย

โพชฌงค์ทั้ง ๗ มีผลต่อร่างกายเช่นเดียวกับจิตใจ เพราะกายกับจิตเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิด เมื่อจิตมีความบริสุทธิ์โดยมีโพชฌงค์ประคับประคองอยู่ ระบบการหมุนเวียนโลหิตจะทำงานได้ดีขึ้น เม็ดเลือดที่สร้างขึ้นใหม่จะมีความบริสุทธิ์และจะแทรกซึมไปตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ทำให้อวัยวะสะอาดร่างกายมีความคล่องแคล่ว ความสามารถในการรับรู้สูงขึ้น ผิวพรรณผ่องใส ผู้ปฏิบัติบางคนอาจรู้สึกว่ามีแสงออกจากร่างกายของตนเองจนทำให้สว่างไสวเวลากลางคืน จิตก็เช่นกันจะแจ่มใสมีศรัทธาเข้มแข็งเช่นเดียวกับสัทธาสัมปทาที่เกิดจากประสบการณ์โดยตรงของผู้ปฏิบัติ จิตจะเบาและคล่องแคล่วเช่นเดียวกับร่างกายที่บางครั้งรู้สึกเหมือนล่องลอยอยู่ในอากาศ บ่อยครั้งที่ร่างกายหายไปและผู้ปฏิบัติสามารถนั่งได้นานๆ โดยไม่รู้สึกเจ็บปวด 

พลังของโพชฌงค์จะส่งผลต่อความเจ็บป่วยเรื้อรัง เช่น วัณโรค โรคความดันโลหิตสูง โรคลำไส้ขด โรคทางเดินปัสสาวะ โรคหัวใจ มะเร็ง และอื่น ๆ โดยเฉพาะในการปฏิบัติในระดับลึกซึ้ง  แต่ผลเหล่านี้ไม่อาจเป็นที่รับประกันได้ หากผู้ปฏิบัติเข้มแข็ง อดทน กล้าหาญ ในการกำหนดสติที่อาการเจ็บปวดที่เกิดจากความเจ็บป่วย หรืออาการบาดเจ็บในอดีต ผู้ปฏิบัติอาจพบการเปลี่ยนแปลงอย่างน่าอัศจรรย์จากอาการเหล่านี้ ความพยายามอย่างไม่ลดละทำให้อะไรๆ เกิดขึ้นได้ การเจริญสติปัฏฐาน หรือการเจริญโพชฌงค์ อาจให้ผลดีค่อนข้างมาก โดยเฉพาะกับผู้ป่วยเป็นมะเร็ง มะเร็งเป็นโรคร้ายที่สร้างความเจ็บปวดให้แก่ร่างกายและจิตใจอย่างแสนสาหัส ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานกรรมฐานได้ก้าวหน้าสามารถทำอาการให้ทุเลาลงโดยการกำหนดสติที่ความเจ็บปวด ไม่ว่าจะรุนแรงเพียงใด    ผู้ปฏิบัติจะสามารถตายได้อย่างสงบ มีสติอย่างสมบูรณ์ กำหนดรู้ความเจ็บปวดอย่างเต็มที่ สมบูรณ์ และแม่นยำ ความตายเช่นนี้เป็นสิ่งที่ดีและประเสริฐ พ.ญ.รุจิราเป็นอีกท่านหนึ่งที่รับรองเรื่องการรักษาโรคมะเร็ง โดยได้เขียนไว้ในหลังสือเรื่อง  “โพชฌงค์ องค์ธรรมแห่งการตรัสรู้ พุทธวิธีเสริมสุขภาพและดูแลสุขภาพตนเองแบบองค์รวม ธรรมะประยุกต์สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง”   โดยได้เสนอสิ่งที่เรียกว่ายาชุดโพชฌงค์ (Treatment Protocol) ว่าประกอบไปด้วย

ยาชุดแรก  คือ สติ   ธรรมวิจัย  สมาธิ  ต้องให้ก่อน และให้ทันทีในช่วงแรกของการเจ็บป่วย

ยาชุดที่ ๒ คือ วิริยะ  ปิติ  ปัสสัทธิ  ต้องให้ตามมา เป็นตัวเสริม และบางส่วนจะเป็นผลจากการออกฤทธิ์ของยาชุดแรก

ยาชุดที่ ๓  คือ อุเบกขา เป็นตัวสุดท้ายที่ผู้ป่วยจะได้รับหากผลหากผลจากยา ๖ ตัวแรกทำงานได้ด้วยดี[10] 

จากที่กล่าวมาหากมองพุทธวิธีการรักษาสุขภาพด้วยโพชฌงค์โดยการปฏิบัติธรรมที่เรียกว่าการเจริญสติปัฏฐานก็ได้ชื่อว่าได้เจริญโพชฌงค์ด้วยเช่นกัน และเมื่อเจริญสติถึงระดับหนึ่งแล้วแน่นอนว่าก็ย่อมเกิดผลต่อสุขภาพนั่นคือสามารถรักษาโรคได้อย่างไม่ต้องสงสัย

๒. โพชฌงค์ในทัศนะเป็นความมหัศจรรย์แห่งมนต์คาถา

หากวิเคราะห์โพชฌงค์ที่มีต่อการรักษาสุขภาพโดยผ่านการกระทำพิธีกรรม คือการสวดมนต์ก็พอมีเหตุผลสนับสนุนได้ว่า มนุษย์เกือบทุกยุคทุกสมัย มีการท่องคาถาสวดมนต์ประกอบพิธีกรรมต่างๆ มนุษย์อาศัยภาษาและเสียงในการท่องมนต์ การสวดมนต์ในพระพุทธศาสนาเป็นภาษาบาลี ซึ่งมีความเก่าแก่หลายพันปี  โดยอาศัยการเปล่งเสียงเป็นภาษาพูดในแบบมุขปาฐะ (Oral Tradition) ซึ่งภาษาบาลีนี้ประกอบด้วยสระผสมผสานอยู่แทบทุกพยางค์  การเปล่งเสียงที่มีพยัญชนะครบสามารถกระตุ้นให้เกิดพลังได้[11]  พลังในที่นี้คือพลังสั่นสะเทือน คือ เสียงโอ โฮล (Whole)  กระตุ้นหัวใจ  เสียงออย จอย (Joy)  หรือ สวา หา ยะ กระตุ้นไต  เสียงอี ซี (She) กระตุ้นระบบขับถ่าย เช่น การให้เด็กเล็กปัสสาวะ มักจะบอกเด็กว่า ฉี่ๆ เป็นต้น นอกจากนี้ในภาษาบาลียังมีฐานกรณ์ หรือฐานเสียงอักขระทุกตัว เมื่อเกิดจากฐานใด เสียงก็จะไปกระตุ้นอวัยวะส่วนนั้นๆ การเปล่งเสียงในภาษาบาลีจึงมีพลังสั่นสะเทือน   ซึ่งในแง่โยคะแล้ว  สามารถกระตุ้นจักรทั้ง ๗ ในตัวเราได้ อาทิคำว่า “โอม” ถือเป็นคำศักดิ์สิทธิ์ (Secred word)  เพราะหากกล่าวคำนี้ออกมาด้วยเสียงสูงและไปต่ำ  ผู้กล่าวจะรู้สึกถึงพลังสั่นสะเทือนของเสียงนั้นๆ ไปตามจุดสำคัญของร่างกายนับแต่ก้นกบจนถึงลำคอ  และศรีษะ

ดร.ริชาร์ด เกอร์เบอร์ และแอนดรู ไวลด์ กล่าวถึงพลังสั่นสะเทือนที่มนุษย์ได้จากการท่องมนต์ และคาถาว่าเป็นยาวิเศษรักษาโรคได้  จากหนังสือเรื่อง Vibration Medicine กล่าวไว้ว่า โรคภัยที่ส่งผลต่อร่างกายในส่วนใดๆ หากได้รับพลังสั่นสะเทือนถือเป็นการเยียวยาต่ออวัยวะนั้นๆ ดร.แอนดรู ไวลด์ ได้เขียนหนังสือเรื่อง Spontaneous Healing และได้ร่วมทำวิจัยพร้อมกับ ดร.เกเฮนดริก ผู้เขียนเรื่อง Conscious Breathing ทั้งสองได้ข้อสรุปว่า ร่างกายเรามีแนวโน้มที่จะสามารถรักษาตัวเองได้ หากรู้จักใช้พลังกระตุ้นอวัยวะที่มีปัญหาในร่างกาย 

คำถามมีอยู่ว่า เมื่อเรากล่าวคำสรรเสริญสิ่งศักดิ์สิทธิ์และเคารพบูชาผู้ควรบูชาได้แก่ พระพุทธเจ้า และพระอรหันต์สาวกทั้งหลาย เหตุใดการกล่าวคาถาดังกล่าวจึงนำมาซึ่งความสุขสวัสดิ์ ปกป้องคุ้มครองผู้นั้นได้  อาจอธิบายได้ว่า การเปล่งวาจาที่เป็นสัจจธรรมออกมาเปรียบได้กับการเปล่งแสงสว่างที่ทรงคุณค่า การสวดมนต์จึงนำมาซึ่งความสว่างไสว สามารถปกป้องผู้กล่าว และสรรพสิ่งทั้งหลายได้ ทั้งนี้มีการวิจัยที่น่าจะพิจารณาเกี่ยวโยงกับประเด็นนี้คือ การมีผู้นำน้ำพระพุทธมนต์ไปวิเคราะห์ ว่าอณูของน้ำเป็นเช่นไร  ปรากฎว่าโมเลกุลของน้ำที่ได้รับเสียงสวดมนต์มีความสมบูรณ์สวยงาม ขณะที่น้ำที่ตั้งอยู่หน้าโทรทัศน์  และคอมพิวเตอร์ มีความบกพร่องของอณู  มีรูปร่างที่ไม่สมบูรณ์  ขาดประสิทธิภาพ คำอธิบายที่ได้จากทดลองนี้คือ อานุภาพของคาถาที่มีพลังหรือการสั่นสะเทือนของคาถาส่งให้อณูในน้ำปรับตัวสู่ภาวะที่สมบูรณ์ละเอียดอ่อนได้[12]

นอกจากนี้ข้อพิจารณาคือ ในบางครั้งผู้เปล่งบทสวดมนต์ก็ยังไม่เข้าใจในคำกล่าวดีนักแต่เหตุใดจึงสามารถมีประสิทธิผลได้  ทั้งนี้วิเคราะห์ได้ว่า มนุษย์มีความฉลาดยิ่งกว่าสมองคอมพิวเตอร์มนุษย์จะรวบรวมข้อมูลที่ได้รับอยู่ตลอดเวลาเหมือนข้อมูลที่ใส่ในคอมพิวเตอร์ ความแตกต่างของมนุษย์ในโลกนี้นอกจากครอบครัว เชื้อชาติ ฐานะ และการศึกษา ก็คือ การรับข้อมูลที่ต่างกันออกไป  การสวดมนต์ถือเป็นการใส่ข้อมูลที่ดีงามแก่ตัวเรา  เพราะเป็นการกล่าวถึงสัจจธรรม และเป็นคำที่กอปรด้วยพลังดังกล่าวแล้วข้างต้น  ทั้งนี้การใส่ข้อมูลที่มีประสิทธิภาพย่อมนำประโยชน์สุขแก่ตน ขณะเดียวกันหากใส่ข้อมูลที่ผิดพลาดย่อมนำความทุกข์ระทมแก่ผู้นั้นๆ ดังนั้นความฉลาดในการเลือกข้อมูลจึงมีความสำคัญยิ่งต่อความสุขสวัสดิ์ของมนุษย์

นอกจากนี้การสวดมนต์ภาวนา ถือเป็นทางไปสู่การบรรลุธรรม โดยอาศัยสมาธิเป็นพื้นฐานเพราะผู้สวดมนต์จะต้องท่องคาถาที่ยาก จึงต้องมีความตั้งใจมั่น การสวดมนต์อาศัยการมีสมาธิ จิตที่เป็นสมาธิ จิตที่จดจ่อแน่วแน่ และเป็นหนึ่งเดียวในปัจจุบัน ช่วยให้เกิดปัญญาเท่าทัน เข้าใจสรรพสิ่งตามเป็นจริง

หากพิจารณาจากหลักฐานในพระไตรปิฎกจะพบว่า   ในพระพุทธศาสนามีพิธีกรรมการรักษาโรคประกอบด้วย ๒ วิธี   คือ ๑. การสวดมนต์รักษา คือรตนสูตร  โพชฌังคสูตร  และคิริมานนทสูตร  ๒. การพรมน้ำมนต์เพื่อรักษาไข้  ซึ่งตัวอย่างของการฟังบทสวดโพชฌงค์แล้วหายอาพาธ ได้แก่ พระพุทธเจ้า พระมหากัสสปะ   และพระมหาโมคคัลลานะ ผู้ซึ่งอาพาธ เมื่อได้ฟังโพชฌงค์องค์ธรรมแห่งการตรัสรู้ ก็ได้หายจากอาพาธนั้นทันที พระคิริมานนท์อาพาธหนักได้ฟังสัญญา ๑๐ จากพระอานนท์ อาพาธก็สงบโดยพลัน  ซึ่งในสังยุตตนิกาย มหาวารวรรค  แสดงไว้ว่า

“สมัยหนึ่งพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่วัดเวฬุวัน  ได้ทราบข่าวว่าพระมหากัสสปะอาพาธ เลยเสด็จไปเยี่ยม เมื่อเสด็จไปถึงที่อยู่ของพระมหากัสสปะ ตรัสถามอาการว่า ดูก่อนกัสสปะยังพอทนได้ไหม พอยังอัตภาพให้เป็นไปได้ไหม ทุกขเวทนาผ่อนคลายลงหรือกำเริบขึ้น พอทุเลาแล้วหรือยัง ไม่กำเริบแล้วใช่ไหม?  พระมหากัสสปะกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์อดทนไม่ได้ ยังอัตภาพให้เป็นไปไม่ได้ ทุกขเวทนาของข้าพระองค์กำเริบหนักยังไม่คลายไป ความกำเริบย่อมปรากฏ  ความทุเลาไม่ปรากฏ เมื่อพระพุทธเจ้าได้ทรงทราบว่าอาการอาพาธของพระมหา   กัสสปะอยู่ในขั้นหนักหนาสาหัสจึงทรงแสดงโพชฌงค์อันเป็นองค์ธรรมแห่งการตรัสรู้แก่พระมหากัสสปะว่า ดูก่อนกัสสป  ะโพชฌงค์ ๗ เหล่านี้เรากล่าวไว้ชอบแล้ว อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง  เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน พระมหากัสสปะกราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า โพชฌงค์ดีนัก ข้าแต่พระสุคต โพชฌงค์ดีนัก  พระมหากัสสปะปลื้มใจ ชื่นชมภาษิตของพระพุทธเจ้า  พระมหากัสสปะหายจากอาพาธนั้น”

ในอนาถปิณฑิโกวาทสูตร อนาถปิณฑิกคฤหบดีไม่สบาย เป็นไข้หนัก จึงส่งคนไปกราบทูลพระพุทธเจ้าให้ทรงทราบและให้ถวายบังคมแทนตน กับส่งคนไปอาราธนาพระสารีบุตรให้ไปที่อยู่ของตน เพื่อเป็นการอนุเคราะห์ พระสารีบุตรรับนิมนต์แล้วก็ไปเยี่ยมไต่ถามโดยมีพระอานนท์ตามไปด้วย อนาถปิณฑิกคฤหบดีมีทุกขเวทนากล้า พระสารีบุตรจึงกล่าวธรรมสั่งสอน เช่น ท่านพึงสำเนียกว่า จักไม่ยึดถือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และวิญญาณของท่านจักไม่อาศัยตา หู จมูก ลิ้นกาย ใจ ฯลฯ อนาถปิณฑิกคฤหบดีได้ฟัง ก็ร้องไห้ พระอานนท์จึงถามว่า  ท่านยังติด ยังอาลัยอยู่หรือ อนาถปิณฑิกคฤหบดีตอบว่า มิได้ติด มิได้อาลัย แต่ไม่เคยได้ฟังธรรมิกถาอย่างนี้ เมื่อทราบว่าธรรมิกถาเช่นนี้ ไม่ได้แสดงแก่คฤหัสถ์ผู้นุ่งผ้าขาว แต่แสดงแก่บรรพชิต จึงขอร้องพระสารีบุตรให้แสดงแก่คฤหัสถ์บ้าง เพราะกุลบุตรที่มีกิเลสน้อยมีอยู่  จะเป็นผู้รู้ธรรมะได้  ไม่ได้ฟังก็จะเสื่อมจากธรรมะไป  ท่านแสดงเนื้อหา คือตัวหลักธรรม และธรรมะที่แสดงนั้นเป็นธรรมเกี่ยวกับปัญญา เป็นธรรมะชั้นสูง ซึ่งความจริงก็เป็นเรื่องของการทำใจให้สว่าง สะอาด ผ่องใสเป็นการรักษาใจ  เป็นธรรมดาว่ากายกับใจนั้น เป็นสิ่งที่อาศัยกันและกัน พอกายเจ็บป่วย ไม่สบาย คนทั่วไปก็มักจะพานจิตใจไม่สบาย เศร้าหมอง กระวนกระวาย กระสับกระส่ายไปด้วย เริ่มต้นตั้งแต่รับประทานอาหารไม่ได้ ร่างกายเศร้าหมอง ผิวพรรณซูบซีด เป็นสิ่งที่เนื่องอาศัยกันในทางตรงข้าม คือในทางที่ดี ถ้าจิตใจดี สบาย บางทีก็กลับมาช่วยกาย เช่น ในยามเจ็บป่วย  ถ้าจิตใจสบาย มีกำลังใจ ผ่องใส เบิกบาน โรคที่เป็นมากก็กลายเป็นน้อย หรือที่จะหายยาก  ก็หายง่ายขึ้น ยิ่งถ้ากำลังใจที่ดีนั้นมีมากถึงระดับหนึ่ง ก็ไม่เพียงแต่ทำให้โรคบรรเทาเท่านั้น แต่อาจจะช่วยบำบัดโรคไปด้วยเลย ทั้งนี้ก็อยู่ที่ว่า เราจะทำใจหรือรักษาใจของเราได้มากน้อยแค่ไหน พระพุทธเจ้าและพระมหาสาวกนั้น ท่านมีจิตใจที่พัฒนาให้ดีงามเต็มที่ มีสุขภาพด้านจิตที่สมบูรณ์แล้ว เมื่อถึงเวลาที่ต้องการก็จึงเรียกเอาด้านจิตมาช่วยด้านกายได้เต็มที่ ถ้าไม่เหลือวิสัยของเหตุปัจจัยก็เอาของดีที่มีในใจออกมารักษากายที่เป็นโรคให้หายไปได้

ส่วนการพรมน้ำมนต์เพื่อรักษาไข้ปรากฏในอรรถกถาธรรมบทดังนี้

“เมืองไพสาลีเมืองหลวงของเจ้าลิจฉวีทั้งหลาย มีพลเมืองมากมาย ได้ประสบทุพภิกขภัยและล้มตาย กลิ่นของซากศพเหม็นกระจายไปไกล พลเมืองถูกคุกคามโดยเชื้อโรคทางระบบหายใจ เจ้าลิจฉวีได้ทูลอาราธนาพระพุทธเจ้า เพื่อเสด็จเยือนพระนคร พระพุทธเจ้าทรงรับคำอาราธนาและได้เสด็จไปพร้อมกับพระสาวก ๕ รูป ไม่นานเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จถึงเขตเมืองไพสาลี ก็ได้เกิดฝนตกห่าใหญ่ พระพุทธองค์เสด็จเสด็จมาถึงในตอนเย็น พระพุทธองค์ตรัสให้พระอานนท์สวดรตนสูตรใน ๓ ด้านของกำแพงเมือง พระอานนท์เรียนรตนสูตรจากพระโอฐของพระพุทธเจ้า รับน้ำจากบาตรหินของพระพุทธเจ้า และไปยืนที่ประตูเมือง เมื่อพระอานนท์สวดว่า ยงฺกิญฺจิ และพรมน้ำมนต์ หยดน้ำที่พุ่งเข้าไปในอากาศแล้วตกลงมาถูกคนป่วยเหล่านั้น ความเจ็บป่วยของคนเหล่านั้นก็หายทันที”

               จากหลักฐานทั้งทางวิทยาศาสตร์และหลักฐานในพระไตรปิฎกจึงสามารถสรุปได้ว่า การสวดมนต์นั้นก็เป็นวิธีการหนึ่งที่ทำให้หายจากโรคได้เช่นกัน  แต่สิ่งสำคัญยิ่งก็คือการใช้กายนี้เพื่อเป็นเครื่องมือให้เข้าถึงธรรมะ ดังที่พุทธทาสภิกขุกล่าวไว้ว่า พระพุทธเจ้าเป็นสุดยอดของนักเศรษฐกิจ เป็นผู้ที่ทำสิ่งที่ไม่มีค่าให้มีค่าที่สุด สิ่งที่มีค่าน้อย ให้มีค่ามากโดยไม่ต้องทำลายทรัพยากรใดๆ ในโลก  พระพุทธองค์ประพฤติกลางดิน ตรัสรู้กลางดิน สอนกลางดิน อยู่กลางดิน ตายกลางดิน เรียกว่าอยู่อย่างธรรมชาติ ใช้ทรัพยากรน้อยที่สุด[13]  นี่คือพระบิดาแห่งเศรษฐศาสตร์ของโลก  จึงกล่าวได้ว่าร่างกายของมนุษย์เป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุด เมื่อมนุษย์ปฏิบัติต่อร่างกายอย่างถูกต้องโดยการพิจารณาร่างกายจนสามารถเห็นธรรมะได้  การมีชีวิตที่ดี  หรือมีสุขภาพที่ดี มิใช่เป้าหมาย(end) เพราะอาจจะทำให้คนลุ่มหลงในสุขภาพร่างกายได้ แต่เป็นเพียง (mean) คือเป็นเพียงเครื่องมือแห่งการปฏิบัติขัดเกลาตนเอง (จิตใจ) ให้เห็นธรรม นี่คือท่าทีที่สำคัญที่สุดของพระพุทธศาสนา

 

สรุป

พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมโดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ การรักษาโรคทางใจแก่ชาวโลก ทำให้พระพุทธองค์ทรงได้รับการสรรเสริญจากสาวกของพระองค์ว่าเป็นแพทย์ของชาวโลกทั้งมวล (สพฺพโลกติกิจฺฉโก) ซึ่งแนวคิดเรื่องสุขภาพนั้นปรากฎหลักฐานมากมายในพระไตรปิฎก  เช่นในอังคุตตรนิกาย กล่าวไว้ว่า  โรคในพุทธศาสนานั้น มี ๒ ชนิด  คือ ๑. โรคทางกาย  (กายิโก โรโค)  ๒.  โรคทางใจ (เจตสิโก โรโค) โทณปากสูตร ทรงแนะนำวิธีการป้องกันโรคอันเกิดจากการบริโภคอาหารที่มากเกินความจำเป็น แต่หลักการที่สำคัญเกี่ยวกับการป้องกัน และรักษาสุขภาพ คือ หลักโพชฌงค์ทั้ง ๗ ซึ่งเป็นองค์แห่งการรู้แจ้ง ซึ่งเป็นการบรรลุธรรมในพระพุทธศาสนา  พุทธศาสนิกชน หรือผู้สนใจในเรื่องสุขภาพ จึงควรเจริญสติที่ระลึกรู้เท่าทันสภาวธรรมปัจจุบันภายในกายกับจิต  มีปัญญาหยั่งเห็นสภาวธรรมตามความเป็นจริง มีความเพียรในการปฏิบัติธรรม มีปีติความอิ่มใจ มีปัสสัทธิสงบกาย สงบใจ มีสมาธิตั้งมั่นในสภาวธรรมปัจจุบัน และมีอุเบกขาวางเฉยโดยตามรู้สิ่งที่จิตรับรู้ได้สม่ำเสมอ เมื่อเป็นเช่นนั้นก็จะสามารถประสบความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรม เมื่อมีความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมแล้วก็ย่อมส่งผลต่อสุขภาพไปโดยปริยาย เนื่องจากจิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว เมื่อจิตดี กายย่อมจะดีด้วยเป็นธรรมดา  แต่อย่างไรก็ตาม แม้เพียงการสวดโพชฌังคปริตร ก็สามารถรักษโรคได้เช่นกัน เพราะการสวดมนต์คือสื่อของภาษา คาถาที่เปล่งออกมามีพลังในตัวเอง เพราะเป็นคำที่มีอักขระต่างๆ ยังให้เสียงที่เปล่งออกมาสะเทือนไปยังอวัยวะต่างๆ ในร่างกายและสามารถรักษาอวัยวะที่เจ็บป่วยได้  ด้วยพลังนี้ นอกจากนี้ความหมายของคาถายังเป็นสัจจธรรม มีอานุภาพในตัวเองเปรียบดังแสงสว่างที่เอื้อให้เห็นสรรพสิ่งได้  การสวดมนต์ย่อมยังผลต่อผู้สวดและมีผลต่อสรรพสิ่งที่เกี่ยวข้องดังได้พรรณามาแล้ว เพราะเป็นการรู้จักป้อนข้อมูลที่ดีแก่ตนเอง  มีพลานุภาพก่อให้เกิดพลังด้านบวกโดยรับข้อมูลจากคาถาต่างๆ ก็ย่อมส่งผลดีต่อสุขภาพได้เช่นกัน[14]  อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญที่สุดในเรื่องสุขภาพก็คือ การใช้ความเป็นผู้มีสุขภาพดีเป็นเครื่องมือในการฝึกหัดขัดเกลาตนเองให้สามารถบรรลุธรรมในทางพระพุทธศาสนาได้  ผู้เขียนเชื่ออย่างสนิทใจว่า พุทธวิธีการรักษาโรคด้วยโพชฌงค์นั้นหากปฏิบัติได้จริงสามารถเยียวยารักษาโรคได้อย่างแน่นอน แต่การสวดมนต์หรือเจริญพุทธมนต์นั้นจะช่วยได้ก็เพียงบรรเทา ดังคำกล่าวที่ว่า “สวดมนต์เป็นยาทา (บรรเทา) วิปัสสนาเป็นยาแก้”

บรรณานุกรม

โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  MCUTRAI VERSION ๑.๐ 

ปรีชา  เปี่ยมพงศ์สานต์,  ธัมมิกเศรษฐศาสตร์ : ปรัชญาเศรษฐศาสตร์สังคมของชาวพุทธ, กรุงเทพมหานคร: มิตรนราการพิมพ์, ๒๕๓๑

พ.ญ. รุจิรา. โพชฌงค์  องค์ธรรมแห่งการตรัสรู้ พุทธวิธีเสริมสุขภาพและดูแลสุขภาพตนเองแบบองค์รวม ธรรมะประยุกต์สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง.  ม.ป.ม.

พระกัมมัฏฐานาจริยะ อู บัณฑิตาภิวังสะ.  รู้แจ้งในชาตินี้.  กรุงเทพฯ :  สหธรรมิก.  ๒๕๔๙. 

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) . โพชฌงค์  พุทธวิธีเสริมสุขภาพ. กรุงเทพ ฯ : พิมพ์สวย. ๒๕๕๐.

พระสิงห์ทน นราสโภ. พลังรังษีธรรม . กรุงเทพฯ : ส.น.พ. โลกทิพย์, ๒๕๔๓ 

ฟูจิโมโต้  โนริยูกิ.  น้ำประจุพลังบำบัดโรค. พิมพ์ครั้งที่ ๒ . กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์รวมทรรศน์, ๒๕๔๗

รศ.จุฬาทิพย์ อุมะวิชนี.  ตำนานบทสวดมนต์และคำแปล. กรุงเทพฯ: วิทยาการพิมพ์. ๒๕๕๑ .  

 


[1]  อุทัย  สติมั่น   ป.ธ.๗, พธ.บ.(เศรษฐศาสตร์) รุ่น ๔๓, M.B.A. (การจัดการ), นิสิตปริญญาเอก รุ่น ๖ บัณฑิตวิทยาลัย มจร., อาจารย์ประจำ ม.ราชภัฏสวนดุสิต.

[2]  ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน ม.ม.  ๑๓/๒๑๖/๒๕๔, ขุ.ธ. ๒๕/๒๐๔/๙๖ (มาคัณฑิยสูตร)   

[3]  ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน ม.ม.  ๑๓/๓๔๔/๔๑๖- ๔๑๗ (โพธิราชกุมารสูตร)  

[4]   ดูรายละเอียดเพิ่มเติมในสํ.มู.  ๑๗/๑/๒  (นกุลปิตุสูตร)  

[5]   ดูรายละเอียดเพิ่มเติมในสํ.มหา. ๑๙/๕๑๑/๓๒๒ (ชราธัมมสูตร) 

[6]   ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน สํ.ส. ๑๕/๑๒๔/๑๔๕-๖ (โทณปากสูตร)  

[7] พระกัมมัฏฐานาจริยะ อู บัณฑิตาภิวังสะ.  รู้แจ้งในชาตินี้.  (กรุงเทพฯ : สหธรรมิก.  ๒๕๔๙ ).  หน้า  ๑๓๙ – ๒๕๑.

[8]  โปรดดูรายละเอียดใน พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) . โพชฌงค์  พุทธวิธีเสริมสุขภาพ. (กรุงเทพ ฯ :  พิมพ์สวย. ๒๕๕๐). หน้า ๖ - ๒๗.

[9] พระกัมมัฏฐานาจริยะ อู บัณฑิตาภิวังสะ.  รู้แจ้งในชาตินี้.  (กรุงเทพฯ : สหธรรมิก.  ๒๕๔๙). 

[10] พ.ญ. รุจิรา. โพชฌงค์  องค์ธรรมแห่งการตรัสรู้ พุทธวิธีเสริมสุขภาพและดูแลสุขภาพตนเองแบบองค์รวม ธรรมะประยุกต์สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง.  ม.ป.ม.

[11] พระสิงห์ทน นราสโภ. พลังรังษีธรรม . (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์โลกทิพย์, ๒๕๔๓) หน้า ๑๕.

[12] ฟูจิโมโต้  โนริยูกิ.  น้ำประจุพลังบำบัดโรค. (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์รวมทรรศน์, พิมพ์ครั้งที่ ๒, ๒๕๔๗) หน้า ๒๓.

[13] ปรีชา  เปี่ยมพงศ์สานต์, ธัมมิกเศรษฐศาสตร์ : ปรัชญาเศรษฐศาสตร์สังคมของชาวพุทธ,  (กรุงเทพมหานคร: มิตรนราการพิมพ์, ๒๕๓๑), หน้า ๘.

[14]   รศ.จุฬาทิพย์ อุมะวิชนี.  ตำนานบทสวดมนต์และคำแปล. (กรุงเทพฯ: วิทยาการพิมพ์. ๒๕๕๑ ).  หน้า ๑ – ๖.

 

คำสำคัญ (Tags): #การดูแลสุขภาพ
หมายเลขบันทึก: 323335เขียนเมื่อ 27 ธันวาคม 2009 00:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

สวัสดีค่ะ ไม่อยากมีโรคเหมือนกันค่ะ

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

ในวาระดิถีขึ้นปีใหม่ พ.ศ. ๒๕๕๓

ขอให้คุณศิษย์ตถาคตและครอบครัวมีความสุขดังบทบาลีที่ว่า เต อัตถลัทธา สุขิตา วิรุฬหา พุทธสาสเน อโรคา สุขิตา โหถะ สหสัพเพหิ ญาติภิ. ขอให้ครอบครัวของท่านพร้อมด้วยหมู่ญาติ จงประสบสุขในสิ่งที่ปรารถนา มีสุขภาวะที่สมบูรณ์ปราศจากโรคภัยและเจริญงอกงามไพบูลย์ในพุทธธรรมตลอดไป เทอญ.

นมัสการครับพระอาจารย์มหาเล ถือเป็นพรปีใหม่ที่ประเสริฐมากครับ ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัยจงบันดาลให้พระอาจารย์มีความสุข และเจริญรุ่งเรืองในพระพุทธศาสนาเช่นเดียวกันครับ

สวัสดีปีใหม่เช่นเดียวกันครับ ครูบันเทิง คงมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนมุมมองชีวิต เพื่อสร้างสรรค์สังคมช่วยกันนะครับ

แวะมาเรียนรู้กับอาจารย์ขอรับ..

เอวํ  โหตุ..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท