ศูนย์ประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยากับบทบาทในการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทย


ผมคิดว่า ชีวิตปัจจุบันมีความเสี่ยงเรื่องการใช้ยา การมีศูนย์ชีวสมมูลของยาสามัญแห่งนี้ ก็จะสามารถทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มกับประชาชน ทำให้คนไทยได้รับยาที่มีคุณภาพที่ได้มาตรฐาน ซึ่งก็สอดคล้องกับพันธกิจด้านการวิจัยของมหาวิทยาลัย ที่มุ่งการวิจัยประยุกต์ พัฒนาระบบบริการด้านสาธารณสุข เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทยในอนาคตครับ

         โจทย์ในการทำงานของผมเกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนก็คือ ประชาชนต้องได้รับประโยชน์สูงสุด ผมคิดว่า ศูนย์ทดสอบชีวสมมูลของยาสามัญ จะเป็นศูนย์ประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยาที่ได้มาตรฐาน สร้างความมั่นใจให้กับประชาชนได้ใช้ยาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึงและเพียงพอในราคาประหยัด  ผมคิดว่าศูนย์นี้จะเป็นเครื่องมือที่จะช่วยส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตยาภายในประเทศให้เจริญก้าวหน้าตามนโยบายแห่งชาติด้านยาและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกับต่างประเทศด้วย ซึ่งจะเป็นการสร้างรายได้ให้กับประเทศอย่างมหาศาล

         ผมอยากจะเล่าให้ฟังว่า มหาวิทยาลัยได้รับงบประมาณผูกพัน 3 ปีจากรัฐบาลมากว่า 59 ล้านบาท โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เลือกให้มหาวิทยาลัยนเรศวรเป็น 1 ใน 5 ศูนย์ที่จะพัฒนาให้เป็น “ศูนย์ชีวสมมูลต้นแบบ” ความจริงแล้วเราได้ตั้งศูนย์ทดสอบชีวสมมูลของยาสามัญ  (Bioequivalence Test Center) มากว่า 5 ปีจนเป็นที่ยอมรับแก่ลูกค้า ทั้งที่เป็นบริษัทยาภายในและต่างชาติ จากความสามารถทางด้านเคมีวิเคราะห์ การมีผลงานวิชาการที่เป็นที่ยอมรับในระดับประเทศและนานาชาติ  ซึ่งผมต้องขอบคุณผู้ริเริ่มโครงการมาก่อน คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์มนุพัศ โลหิตนาวี  และอาจารย์อรรัตน์  โลหิตนาวี  คณะเภสัชศาสตร์  รวมทั้งทีมอาจารย์ของเราหลาย ๆ ท่านที่จบปริญญาเอกก็เข้ามาร่วมทำโครงการนี้และขยายไปดีขึ้น 

         สำหรับเรื่องการทำชีวสมมูลเป็นหัวใจสำคัญที่ต้องใช้ความรู้ความสามารถทางเภสัชศาสตร์ ทางวิทยาศาสตร์อย่างมาก ใช้เวลามาก ใช้เทคโนโลยีสูง และจำเป็นต้องใช้อาสาสมัครที่ไม่ใช่ผู้ป่วยเข้ามารับโครงการฯ   เพราะว่าแต่ละสูตรของตัวยาค่อนข้างมีความซับซ้อน  เพื่อทดสอบว่ามีการดูดซึมการกระจายตัวการออกฤทธิ์ของยาเป็นไปตามจุดประสงค์ของสูตรตำรับยาที่เราต้องการ  ส่วนใหญ่จะเป็นยาที่รักษาโรคหัวใจ ความดันโลหิต หรือยาที่มีอันตรายสูง  ผมคิดว่าโครงการนี้ทำให้ภาคเอกชนที่เค้าจะมียาเข้ามาจดทะเบียนใหม่เพื่อจะขายในท้องตลาด  ทำให้ยามีราคาต่ำลง  และทำให้คุณภาพของยาได้มาตรฐานมากขึ้น  

         สำหรับงบประมาณที่มหาวิทยาลัยได้รับก็จะมาพัฒนาในเรื่องของห้องปฏิบัติการสำหรับการวิเคราะห์และทางคลินิก  การจัดหาอุปกรณ์และเครื่องมือวิทยาศาสตร์ต่างๆ ที่มีมาตรฐานระดับสากลและสามารถรับงานได้มากขึ้น  ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างความพร้อมและรองรับการขยายตัวของศูนย์ฯ   ซึ่งจะเป็นทั้งแหล่งให้ความรู้และทักษะการศึกษาวิจัยทางด้านชีวสมมูล เภสัชจลนศาสตร์ และเคมีวิเคราะห์แก่นิสิตระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา  ตลอดจนนักวิจัยจากองค์กรและหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภายในและต่างประเทศ  

         ผมคิดว่า  ชีวิตปัจจุบันมีความเสี่ยงเรื่องการใช้ยา  การมีศูนย์ชีวสมมูลของยาสามัญแห่งนี้ ก็จะสามารถทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มกับประชาชน ทำให้คนไทยได้รับยาที่มีคุณภาพที่ได้มาตรฐาน  ซึ่งก็สอดคล้องกับพันธกิจด้านการวิจัยของมหาวิทยาลัย  ที่มุ่งการวิจัยประยุกต์ พัฒนาระบบบริการด้านสาธารณสุข  เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทยในอนาคตครับ

         รศ.ดร.มณฑล  สงวนเสริมศรี

ม.นเรศวรสัมพันธ์ : คอลัมน์ “อธิการบดีสนทนา”
ประจำเดือนพฤษภาคม  2549

หมายเลขบันทึก: 32314เขียนเมื่อ 1 มิถุนายน 2006 11:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤษภาคม 2012 14:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • ขอให้กำลังใจท่านอธิการเขียนบันทึกความรู้ดีๆ ผ่านบล็อกให้พวกเราชาวมอนอได้รับทราบอีกครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท