DSRR
มูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้ มูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้

เกี่ยวกับมูลนิธิ


        จังหวัดชายแดนภาคใต้มีความแตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ หลายประการ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทั้งด้านเศรษฐานะที่ด้อยกว่า การศึกษาขั้นพื้นฐานสายสามัญที่ต่ำกว่า การปกครองที่ไม่สอดคล้องกับคนในพื้นที่ที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรมและศาสนา นอกจากนี้ยังมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่เต็มไปด้วยความรุนแรงอันมีรากจากปัจจัยต่างๆ ข้างต้น ทั้งการกระทำของฝ่ายรัฐและฝ่ายต่อต้านหัวรุนแรงที่มีแนวคิดสุดโต่ง โดยมีประชาชนทุกเพศทุกวัยทุกศาสนาและทุกวัฒนธรรมตกเป็นเหยื่อ มีผู้ได้รับผลกระทบทวีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกวัน และส่งผลกระทบต่อโครงการสังคมทุกด้านทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สุขภาพ ตั้งแต่ระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน จนถึงระดับประเทศ

        การช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่มีความทุกข์ยากเดือดร้อนโดยไม่เลือกข้าง แบ่งขั้ว หรืออุดมการณ์ใดๆ แต่คำนึงถึงความเป็นมนุษย์เป็นสำคัญ จะก่อให้เกิดความรู้สึกที่ดีต่อกันและกัน เกิดความหวังและเป็นพลังแห่งการสมานฉันท์ ขณะนี้มีหลายกลุ่มที่กำลังพยายามบรรเทาความทุกข์จากความรุนแรง ทั้งจากองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ประกอบไปด้วย  นักวิชาการ แพทย์และเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุข องค์กรพัฒนาเอกชน สื่อมวลชน อาสาสมัคร ต่างกลุ่มต่างก็มีบทบาทหน้าที่แตกต่างกันออกไป ทำให้หลายครั้งการดำเนินงานไม่ประสานซึ่งกันและกันแม้โดยไม่ได้ตั้งใจให้เป็นเช่นนั้น

        สำหรับงานเยียวยาที่ดำเนินอยู่มีหลายรูปแบบทั้งระยะสั้นและระยะยาว ตั้งแต่การช่วยเหลือทางวัตถุ เช่น เงิน ของใช้ ที่อยู่อาศัย การช่วยเหลือโดยการฟื้นฟูสุขภาพทั้งทางร่างกาย จิตใจ และสังคม เช่น การสร้างอาชีพใหม่ การสร้างชุมชนให้เข้มแข็งโดยให้สถาบันต่างๆ ที่มีอยู่ในชุมชน เช่น วัด มัสยิด โรงเรียนปอเนาะ มีส่วนร่วมแทนที่จะคอยให้สถานการณ์เลวลง การจัดการข้อมูลเพื่อใช้ค้นหาติดตามผู้ได้รับผลกระทบ การจัดการความรู้และการวิจัยเพื่อให้ได้ความรู้ใหม่ในการปฏิบัติงาน งานที่ดำเนินอยู่นี้บ่อยครั้งมีความซ้ำซ้อน หรือในทางตรงกันข้าม คือตกหล่นหรือล่าช้า การดำเนินงานเหล่านี้ให้มีประสิทธิภาพต้องอาศัยข้อมูลที่เที่ยงตรง ทั้งในการค้นหาผู้ได้รับผลกระทบ ศึกษาผลลัพธ์ของการเยียวยา หรือติดตามประเมินเพื่อนป้อนข้อมูลกลับให้กับผู้กำหนดนโยบายและคนในพื้นที่

        งานเยียวยาหลากหลายประเภทเหล่านี้ ต้องอาศัยพลังกายพลังใจ และใช้เวลาที่คนทำงานเยียวยาหลายคนต้องเจียดออกจากงานประจำปกติ นอกจากนั้น งานเหล่านี้ต้องพึ่งเงินสนับสนุนซึ่งส่วนใหญ่มาจากหน่วยงานราชการหรือองค์กรกึ่งราชการซึ่งมีกฏระเบียบข้อบังคับ ที่เฉพาะเจาะจงกับโครงการ กิจกรรม หรืองานวิจัยบางประเภท การเสนอโครงการตามขั้นตอนที่ซับซ้อนจำเป็นต้องใช้เวลานาน และส่วนใหญ่ไม่สามารถสนับสนุนในระยะยาว บางกรณีเมื่อมีความประสงค์ที่จะพัฒนาต่อยอดงาน เช่น การตรวจสอบคุณภาพของงาน หรือการศึกษางานวิจัยเพื่อให้ได้ข้อมูลเพื่อประกอบการดำเนินงาน หรือต้องการสร้างความมั่นคงถาวรในระยะยาวให้กับงาน หรือแม้แต่การช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ในบางกรณีก็อาจไม่เข้ากับกฎระเบียบของหน่วยงานราชการหรือองค์กรที่เป็นแหล่งให้ทุน ซึ่งงานเหล่านี้หลายครั้งต้องการการตอบสนองที่รวดเร็วทันต่อเหตุการณ์โดยไม่ควรต้องรอการตัดสินจากคนนอกที่ไม่อยู่ในพื้นที่

        การมีองค์กรในรูปแบบมูลนิธิ ที่บริหารจัดการโดยคณะบุคคลที่มีความโปร่งใส และมีประสบการณ์จากการปฏิบัติงานในกระเด็นของการเยียวยาในพื้นที่ จะทำให้ขั้นตอนต่างๆ เหล่านี้คล่องตัวขึ้น และสามารถตอบสนองต่อความต้องการการช่วยเหลือของผู้ได้รับผลกระทบในจังหวัดชายแดนใต้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

หมายเลขบันทึก: 322881เขียนเมื่อ 25 ธันวาคม 2009 13:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 11:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท