สัญญาจ้างที่ด้อยคุณภาพ


คำว่า คู่สัญญา นี้หมายถึงใครบ้าง ในทางกฎหมายคำว่า คู่ ไม่ได้หมายถึง สอง เพียงอย่างเดียวครับ บางครั้ง เช่น สาม หรือ ห้า หรือมากกว่า ซึ่งเป็นจำนวน คี่ ก็หมายถึงคู่ด้วยครับ เออ..เลยงงกันพอดี ผมก็งง แฮ...

กลับมาอีกครั้งตามคำมั่นครับ

แต่ต้องขออภัยที่สายไป สองวัน (ติดภารกิจครับ) ปกติจะมาวันอังคาร

 

สัญญาจ้างที่ด้อยคุณภาพ

ก่อนจะเข้าเรื่องสัญญาจ้างที่ด้อยคุณภาพ ผมขออนุญาตย้อนกลับไปเรื่อง ใช้วิกฤติให้เป็นโอกาส สักหน่อยนะครับ

คือ ความจริงที่ผมเขียนบันทึกเรี่อง ใช้วิกฤตให้เป็นโอกาส เพราะ พรรคพวกผมคนหนึ่งถูกสถาบันการเงินฟ้องร้องต่อศาล ผมดูเรื่องแล้วเห็นว่าก่อนจะถูกฟ้อง เขามีโอกาสและจังหวะที่ดีหลายครั้ง  แต่ไม่นำเอาโอกาสนั้นมาใช้ให้ยังประโยชน์ เป็นที่น่าเสียดายยิ่งที่ปล่อยให้ผ่านไป (แต่ขณะนี้ก็ยังมีหนทางแก้ไข และดำเนินการอยู่)

ด้วยเหตุนี้ ผมจึงนำเอาเรื่องการใช้วิกฤตให้เป็นโอกาส มาแบ่งปันให้รับทราบและเรียนรู้ เผื่อจะยังประโยชน์ให้ได้ การเกิดวิกฤตกับท่านใด ใช่ว่าในวิกฤตนั้นจะขาดโอกาสเอาเสียเลย หากเพียงให้รู้จักมองมุมอื่นดูบ้างก็จะมองเห็นได้ทุกท่านครับ ตัวอย่างเช่น คุณไก่ ชาว G2K ท่านพบกับวิกฤตบางอย่าง แต่ท่านก็สามารถมองเป็นโอกาสที่ได้พบปะชิดใกล้กับญาติทุกท่าน ทั้งยังได้ดูแลคุณพ่อของท่านมากขึ้น ได้พูดคุยกับพี่น้องมากขึ้น(ขอส่งกำลังใจให้คุณพ่อสุขภาพแข็งแรงไวๆนะครับคุณไก่)

 

เอาหละมาเข้าเรื่องกันครับ

คำว่าสัญญา ในที่นี้ผมหมายความถึง ข้อตกลง หรือเงื่อนไข ที่มุ่งมั่นต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลโดยชอบด้วยกฎหมาย เพื่อจะก่อ หรือสงวน หรือเปลี่ยนแปลง หรือโอน หรือระงับซึ่งสิทธิ

มีคำพูดประโยคหนึ่งที่มักใช้กันในแวดวงนักกฎหมาย คือสภาพบังคับ เช่นใช้คำว่า สัญญานี้ไม่มี สภาพบังคับ เอาเลย  เริ่มงงแล้วซินะ อิ.อิ...

เอ๊ะ...แล้วมันเกี่ยวกับสัญญาจ้างด้อยคุณภาพยังไงนะ สภาพบังคับที่ว่ามานี้ ผมก็งง แฮ..

อย่าไปสนใจสภาพบังคับเลยว่ามันคืออย่างไร ขอข้ามไปก่อนเดี๋ยวค่อยแวะ   

กลับมาสนใจเรื่องสัญญาก่อนดีกว่า

ผมเชื่อว่า ทุกท่านที่ผ่านฝน (ฤดู) มาเกิน ยี่สิบ ฝน ต้องพบและเกี่ยวข้องกับสัญญามาบ้างแล้ว โดยเฉพาะท่านที่มีโทรศัพท์มือถือใช้ ก็ต้องทำสัญญาขอเปิดใช้บริการทุกท่าน โดยต้องโทรไปขอเปิดใช้หมายเลขกับผู้ให้บริการก่อนถึงจะใช้ได้ คงจำกันได้นะครับ สัญญาที่จะอธิบายให้ทราบนี้มีทั้งรูปแบบที่เป็นลายลักษณ์อักษร และไม่เป็นลายลักษณ์อักษร (คือภาษากฎหมาย จะบอกว่าทำเป็นหนังสือกับไม่ต้องทำเป็นหนังสือ) บางท่านอาจสงสัยว่า ไม่ทำเป็นหนังสือแล้วจะเรียกสัญญาได้อย่างไร

เช่น  ท่านไปจองซื้อตั๋วรถประจำทางไปท่องเที่ยวทะเลที่จังหวัดพังงา และโทรสั่งจองห้องพักไว้  พร้อมชำระค่าเดินทางล่วงหน้า กับวางมัดจำค่าห้องพักเพื่อจะเดินทางไปตามกำหนด 

ตามวิธีการนี้เห็นหรือยังครับว่าจะมีสัญญาที่ไม่ได้ทำเป็นหนังสืออยู่ถึงสองสัญญา คือสัญญาจองซื้อตั๋วรถประจำทาง คู่สัญญาของท่านคือผู้ให้บริการเดินรถ เมื่อถึงกำหนดที่ท่านจะเดินทางผู้ให้บริการจะจัดรถให้ท่านได้เดินทาง จะไม่ให้ท่านเดินทางก็ถือว่าผิดสัญญา

ส่วนห้องพักท่านก็ได้ทำสัญญาจองโดยวางมัดจำไว้เมื่อท่านเดินทางไปถึงตามกำหนดเวลา ผู้ให้บริการก็จัดให้ท่านได้เข้าพัก หากผู้ให้บริการไม่จัดห้องพักให้ก็ถือว่าผิดสัญญา

ทั้งสองกรณีไม่ได้ทำเป็นหนังสือ หากผิดสัญญาก็สามารถใช้สิทธิเรียกร้องได้ตามกฎหมาย

พอเข้าใจบ้างแล้วนะครับว่า สัญญาเป็นอย่างไร ที่นี้กลับมาที่ สภาพบังคับของสัญญา คือ ในสัญญาทุกสัญญาต้องมีรูปแบบวิธีการกำหนดหน้าที่ให้คู่สัญญาต้องทำ หากไม่ทำหรือไม่ยินยอมกระทำคือผิดสัญญานั้นเอง ก็จะมีข้อบังคับที่ให้อำนาจหรือสิทธิอีกฝ่ายให้กระทำหรือไม่กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งได้ เช่นนี้คือสภาพบังคับ ผมพยายามให้ท่านเข้าใจสภาพบังคับของสัญญาเบื้องต้นเพื่อจะได้อ่านบทความนี้แล้วจะได้ทราบว่าทำไมผมถึงบอกว่า สัญญาจ้างที่ด้อยคุณภาพ เพราะสภาพบังคับของสัญญามีความสำคัญยิ่ง 

ที่จริงแล้วสภาพบังคับของสัญญามีอีกหลายรูปแบบมาก เช่น การปรับเป็นเงิน การริบ การโอนสิทธิ  การเข้าครอบครองแทน ฯลฯ เหล่านี้เป็นสภาพบังคับทั้งสิ้น คงจะงงนะ แฮ.. (มีแนวทางที่จะรู้มากขึ้นครับ  ให้แอบไปเรียกนิติศาสตร์ ม.รามฯ รับรองรู้แน่ มหาลัยอื่นไม่เกี่ยวนะ  เพราะผมจมจาก ม.ราม อิอิ..)

ทีนี้ก่อนไปต่อขอแวะอีกหน่อยนะ  

มีอีกอย่างที่จะทำความเข้าใจกัน คือคำว่า คู่สัญญา นี้หมายถึงใครบ้าง ในทางกฎหมายคำว่า คู่ ไม่ได้หมายถึง สอง เพียงอย่างเดียวครับ  บางครั้ง เช่น สาม หรือ ห้า หรือมากกว่า ซึ่งเป็นจำนวน คี่ ก็หมายถึงคู่ด้วยครับ   เออ..เลยงงกันพอดี   ผมก็งง แฮ...

อย่างนี้ครับสัญญาบางประเภทจะมีผู้เข้าร่วมทำสัญญามากกว่าสองฝ่าย เช่นสัญญาเช่าช่วง ก็จะประกอบด้วยผู้เกี่ยวข้องกับสัญญาอยู่ สามฝ่าย คือผู้ให้เช่า 1 ผู้เช่าเดิม 1 ผู้เช่าช่วง อีก 1 คือมีสามคน เข้ามาลงลายมือชื่อในสัญญาทั้งสามคน  เวลาสรุปท้ายสัญญาจะมีคำว่า คู่สัญญาทั้งสามได้อ่านเป็นที่เข้าใจแล้วจึงลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญ (เห็นยังครับ สาม เท่ากับ คี่ แต่เรียกว่า คู่)        ในความหมายของกฎหมายคำว่าคู่จึงหมายถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องกับสัญญา       อาจมีมากกว่าสองก็ได้ หายงง หรือยังครับ ผมหายแล้ว อิอิ..

 (เรื่องนี้ถ้าจะยาว หลับสักตื่นก่อนก็ได้นะไม่ว่ากัน แฮ..)

 

ไปต่อนะครับ

เมื่อประมาณ พฤษภาคม พ.ศ.2529 ท่าน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ได้สั่งปลด ท่าน พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก จากตำแหน่ง "ผู้บัญชาการทหารบก"  เรียกว่าสั่งปลดกันกลางอากาศเลย เพราะมีความไม่ลงตัวด้านการเมืองกอปรกับ ได้มีการลอยตัวค่าเงินบาท จาก 23 บาท เป็น  27  บาท (รายละเอียดอื่นหากสนใจลองค้นประวัติศาสตร์ช่วงนั้นดูครับ)

จากเหตุการณ์ลอยตัวค่าเงินบาทครั้งนี้ทำให้ ผมต้องรับทำคดีเกี่ยวกับ สัญญาจ้างก่อสร้างอาคารเรียน ของ กศน.(กรมการศึกษานอกโรงเรียน) โดย ท่านลูกความผมเป็นผู้ชนะการประกวดราคาค่ารับเหมาก่อสร้างอาคารที่กล่าว จำนวน 10 หลัง ซึ่งจะก่อสร้างในแต่ละอำเภอแต่ละจังหวัด หากจำไม่ผิดสมัยนั้นได้มีการเปิดประกวดราคาประมาณ สองร้อยกว่าอาคารทั่วประเทศ (ตัวเลขนี้ไม่ยืนยันนะครับ) ท่านลูกความของผม ได้ทำสัญญาจ้างก่อสร้างกับทาง กศน.ไปแล้ว 9 สัญญา คือทำในเดือน เมษายน 2529 และได้ทำเพิ่มอีก 1 สัญญา ในเดือน มิถุนายน 2529 อายุสัญญา 300 วันทุกสัญญา เมื่อทำสัญญาจ้างไปแล้ว ปัญหาเรื่องราคาวัสดุก่อสร้างก็ตามมาเมื่อประกาศลอยตัวค่าเงินบาท  บรรดาผู้รับเหมางานก่อสร้างก็ต่างเรียกร้องให้รัฐช่วยเหลือต้นทุนค่าก่อสร้างที่ผันแปร จึงได้มีการกำหนดค่า K ชดเชยให้กับผู้รับเหมาทั่วประเทศ ค่า Kนี้คือ ค่าคำนวณดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างที่เป็นตัวแปร ซึ่งภาษาอังกฤษใช้คำว่า Escalation Factors คือตามวิธีการจะมีหลักการคำนวณหาค่า K ของแต่ละสัญญาในแต่ละช่วงเวลา เพราะต้องนำเอาค่าแปรผันที่เกี่ยวข้องต่างๆมารวม ผู้รับเหมาเมื่อรับงานจากหน่วยงานราชการ หรือรัฐวิสาหกิจ ในสัญญาก็จะระบุให้ เป็นสัญญาจ้างแบบปรับราคาได้  เสมอ (คงเข้าใจค่า K แล้วนะครับ หากอธิบายมากไป เดี๋ยวผมงง...แฮ..)

เมื่อรัฐประกาศลอยตัวค่าเงินบาทแล้ว ก็กำหนดให้จ่ายค่า K ให้ผู้รับเหมาทั่วประเทศ ท่านลูกความผมก็ได้ด้วย แต่ได้ไม่ครบ (สงสัย..นะ เอ๊ะ..มันหายไปไหน อิ.อิ...)

อย่าคิดมากครับ ที่ได้ไม่ครบคือได้รับชดเชยค่า K เพียงสัญญาจ้าง ที่ทำในเดือนมิถุนายน 2529 สัญญาเดียว อีก 9 สัญญาไม่ได้ เพราะถือว่าทำก่อนการประกาศลอยตัวค่าเงินบาท

ท่านลูกความผมแจ้งความประสงค์ว่าจะยินยอมให้ปรับตามสัญญาดีกว่า เพราะจ่ายน้อยกว่า(ค่าปรับคือสภาพบังคับอย่างหนึ่งของสัญญาครับ) ท่านลูกความผมประเมินหากทำตามสัญญาทุกสัญญาจะขาดทุนรวมแล้วประมาณ ยี่สิบล้าน บาท  แต่ไม่แน่ใจว่าจะถูก คู่สัญญาดำเนินการอย่างไร 

เมื่อผมได้รับทราบความประสงค์ก็อธิบายในเบื้องต้นให้เข้าใจว่า

จริงอยู่ตามสัญญาจะถูกปรับและริบเงินค้ำประกันสัญญา แต่ความเสียหายจะไม่ยุติเพียงที่ว่ามา เพราะจะมีค่าจ้างส่วนเกินที่ คู่สัญญาต้องไปว่าจ้าง ผู้รับเหมารายอื่นมาก่อสร้างอาคารเรียนให้ตามแบบในสัญญาต่ออยู่ดี  คือถ้าคู่สัญญาไปว่าจ้างรายอื่นราคาสูงขึ้น ทางเราต้องรับผิดส่วนที่เกินจากสัญญาเดิม และยังอาจถูกขึ้นบัญชีดำ เป็นผู้รับเหมาที่ไม่สามารถเข้าประมูลงานของรัฐได้อีกต่อไปด้วย นอกจากนี้ก็ยังมีค่าเสียหายอื่นๆยังมองไม่เห็นอีกที่จะตามมา จึงได้แนะนำให้ติดต่อขอความช่วยเหลือไปยัง คณะกรรมการตรวจการจ้างของ กศน.ที่ดูแลควบคุมอยู่แต่ละสัญญาลองดูสักครั้ง  เช่นขอให้ช่วยเจรจากับต้นสังกัดให้เพิ่มค่า K โดยทำหนังสือชี้แจ้งไป ขณะเดียวกันผมก็ขอเอาสัญญาและแบบก่อสร้างมาศึกษาดู (ผมดูแบบก่อสร้างเป็นเพราะเรียนมาครับ) เจ็ดวันผ่านไปไม่ได้คำตอบใดๆ จากคู่สัญญา ส่วนผมได้ศึกษาสัญญาดูแล้วเห็นว่ายังมีทางออก คือผมเห็นว่าสัญญาจ้างยังมีข้อบกพร่องอยู่ในสาระสำคัญบางอย่างเกี่ยวกับค่างวดงานตามสัญญา ซึ่งแบ่งค่างวดงานก่อสร้างออกเป็น 10 งวดงาน ตรงส่วนนี้ครับที่ผมบอกไว้ว่าเป็น สัญญาจ้างที่ด้อยคุณภาพ ผมมีทางออกอย่างไร 

แวะพักดื่มกาแฟสักถ้วยก่อนก็ได้ครับ แฮ...

 

 ตามต่อนะครับ

ถือเป็นกรณีศึกษา เผื่อจะยังประโยชน์ต่อท่านบ้างในภายหน้าครับ

ขออธิบายรูปแบบของสัญญาจ้างก่อสร้างพอให้นึกเห็นภาพนะครับ

คือในสัญญาจะมีการระบุระยะเวลาการก่อสร้างเอาไว้ ในที่นี้กำหนดไว้ 300 วัน นอกจากนี้ก็ได้แบ่งจ่ายค่าจ้างเป็นงวดๆ โดยกำหนดตามสภาพของเนื้องาน รองนึกภาพบ้านสักหลังนะครับ ก่อนจะเป็นบ้าน จะต้องมีที่ดินที่จะปลูกบ้าน ที่ดินต้องปรับแต่งสภาพเสียก่อน เช่นหากเป็นพื้นที่ต่ำ ก็จะต้องถมดินเสียก่อน เมื่อเสร็จ จะก่อสร้าง ก็ต้องกำหนดผังบริเวณ กำหนดจุดที่จะตอกเข็มทำฐานราก ทำโครงสร้าง ทำพื้น ทำเสา ทำผนัง ทำประตู หน้าต่าง ทำบันได ทำหลังค่า ทำงานสุขาภิบาล ประปา ไฟฟ้า ทำสีตกแต่ง เนื้องานที่กล่าว จะถูกนำมาแบ่งกำหนดเป็นข้อตกลงการจ่ายค่าจ้างให้ผู้รับเหมาเป็นงวดๆไป เช่น

งวดที่ หนึ่ง ผู้ว่าจ้างจะจ่ายเงินให้ ผู้รับจ้างจำนวน ..................บาท เมื่อ ผู้รับจ้างได้ทำการถมดินให้ได้ตามแบบ และได้ปักผังบริเวณ แล้วเสร็จ

งวดที่ สอง ผู้ว่าจ้างจะจ่ายเงินให้ ผู้รับจ้างจำนวน ....................บาท เมื่อ ผู้รับจ้าง ได้ทำการตอกเสาเข็มตามแบบครบถ้วน และได้ทำการเทคอนกรีตฐานรากตามแบบแล้วเสร็จ

งวดที่..........ดังนี้เป็นต้น

เมื่อผมศึกษาสัญญาดู ตรงส่วนนี้ผมเห็นว่าเป็นทางออกได้แน่นอน จึงให้ ท่านลูกความของผมเข้าทำการก่อสร้างอาคารเรียนตามสัญญา เฉพาะฉบับที่ได้รับค่า K เท่านั้น แต่ผมกำหนดให้ทำการก่อสร้างอาคารเรียนให้เสร็จก่อนกำหนดในสัญญา โดยไม่ต้องขอเบิกค่าจ้างตามงวดงานในสัญญา คือก่อสร้างให้เสร็จ แล้วส่งมอบงานให้คณะกรรมการตรวจการจ้างครั้งเดียว ในระหว่างก่อสร้างมีคณะกรรมการตรวจการจ้าง มาตรวจงานก็ถ่ายรูปไว้เป็นหลักฐาน ปรากฎว่า ทำการก่อสร้างอาคารเสร็จตามแบบ ใช้เวลาเพียง 95 วันเท่านั้น 

ส่วนสัญญาที่เหลืออีก 9 สัญญา ผมให้ไปปักป้ายไว้ในพื้นที่จะทำการก่อสร้าง ว่าพื้นที่ก่อสร้างอาคารเรียน ตามสัญญาเลขที่ ....... ก่อสร้างโดย บริษัท .......... กำหนดก่อสร้างเสร็จ 300 วัน วันเริ่มสัญญา............... วันสิ้นสุดสัญญา............. แล้วไม่ทำอะไรเลย   เมื่อระยะเวลาผ่านไป 120 วัน ทางคณะกรรมการตรวจการจ้างได้มีหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญาทั้ง 9 สัญญา พร้อมกับแจ้งว่า ผู้รับจ้างทิ้งงาน และไม่จ่ายค่าจ้างตามสัญญาฉบับที่ก่อสร้างเสร็จ ขออายัดเงินค่าจ้างไว้เป็นค่าเสียหาย

ผมจึง ฟ้องเรียก ค่าจ้างตามสัญญาจาก กศน. เป็นคดีหนึ่ง  ทาง กศน.ก็มีท่านพนักงานอัยการทำหน้าที่เป็นทนายความแก้ต่าง  สิ่งที่ผมนำมาเป็นข้อเท็จจริงแสดงในศาล คือ หลักฐานจากการก่อสร้างต่างๆที่ให้เก็บรวบรวมไว้ขณะก่อสร้างตามสัญญา โดยเฉพาะตัวสัญญา ซึ่งสิ่งที่ผมนำสืบให้ศาลเห็นตาม คือ ไม่มีข้อกำหนดในสัญญาที่เป็นสาระสำคัญว่า ทางผู้รับจ้างจะต้องส่งงานเป็นงวดๆ ตามสัญญาถือเป็นสิทธิของผู้รับจ้างที่จะทำงานให้แล้วเสร็จโดยไม่รับค่าจ้างเป็นงวดๆ ในกรณีนี้ ผู้รับจ้างเลือกที่จะทำงานจนแล้วเสร็จจึงจะเบิกค่าจ้างเป็นครั้งเดียว สัญญาไม่มีสภาพบังคับว่าต้องส่งงานเป็นงวดๆ และปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้รับจ้างทำงานได้แล้วเสร็จเพียง 95 วัน คือเสร็จก่อนสัญญา ถึง 205วัน และได้นำสืบให้ศาลเห็นตามอีกว่า ผู้รับจ้างมีความสามารถจะก่อสร้างอาคารเรียน 9 อาคารที่เหลือได้เสร็จทันกำหนดในสัญญาได้ทั้ง 9 สัญญาการที่จำเลย บอกเลิกสัญญาทั้ง 9 ฉบับ ทั้งที่มีระยะเวลาคงเหลืออีก 180 วัน การที่คู่สัญญาจะอาศัยเหตุดังกล่าวไม่จ่ายค่าจ้างให้ นั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย  

และในระหว่างที่มีการสืบพยานกันก็มีเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้น

คือขณะที่ผมทำการถามค้านพยานจำเลย (การถามค้าน คือการที่ทนายความฝ่ายที่ไม่ได้อ้างพยานบุคคลผู้ที่กำลังเบิกความต่อศาลอยู่ในขณะนั้น ถามพยานภายหลังจากที่ทนายความฝ่ายที่อ้างพยานบุคคลผู้นั้นได้ถามพยานจบ ทนายความอีกฝ่ายจึงถามต่อ เรียกว่า ถามค้าน ยิ่งงงเลยนะ อิอิ..) คือเจ้าหน้าที่ของ กศน.ท่านหนึ่งซึ่งท่านเป็นประธานกรรมการตรวจการจ้างมาเบิกความ ก็ได้ยืนยันชัดว่า เป็นผู้ลงนามในหนังสือบอกเลิกสัญญา เพราะเห็นว่า ฝ่ายโจทก์ยังไม่ลงมือก่อสร้างอาคารเรียกในส่วนของสัญญาทั้ง 9 สัญญา เลย จากสภาพที่เห็นมั่นใจว่าฝ่ายโจทก์ทิ้งงาน เพราะเหลือเวลาอีก 180 วันเท่านั้น จึงบอกเลิกสัญญา แต่ขณะเดียวกันก็ตอบคำถามค้านยืนยันว่า อาคารที่ก่อสร้างเสร็จตามที่จำเลยถูกฟ้องเป็นคดีที่เบิกความนี้ ได้ตรวจรับงานไว้ถูกต้องแล้ว และก่อสร้างเสร็จในเวลา 95 วัน ทั้งไม่เคยเบิกเงินค่าจ้างตามงวดงานเลย

ผมได้ถามค้านต่อว่า ในสัญญามีสภาพบังคับให้ คู่สัญญาจะต้องเบิกเงินค่าจ้างเป็นงวดๆ หรือต้องส่งงานเป็นงวดๆ หรือไม่ พร้อมกับให้ดูสัญญาประกอบ พยานยืนยันว่าไม่มี ถือเป็นเรื่องของผู้รับจ้างที่จะไม่เบิกเงินค่าจ้างเป็นรายงวด  หรือจะขอเบิกที่ละหลายงวดก็ได้ แต่จะต้องทำงานให้เสร็จตามงวดที่ขอเบิก จึงจะอนุมัติจ่ายค่างจ้างให้ได้

ผลปรากฏว่าพยานปากนี้ ถูกศาลตำนิ และบอกว่า อันที่จริงทางรัฐบาลก็มีกรมอัยการอยู่ทั้งกรม พร้อมที่จะให้คำแนะนำได้ ทำไมไม่ปรึกษาเสียก่อนจะดำเนินการบอกเลิกสัญญากับโจทก์ และได้ถามพยานปากนี้ว่า ทราบหรือไม่ว่าสัญญาไม่ได้มีบังคับให้ต้องแบ่งส่งงานเป็นงวดๆโดยเคร่งครัด ก่อนจะบอกเลิกสัญญา ทำอย่างนี้ทางราชการอาจเสียหายได้ 

ผลปรากฎว่า คดีนี้ ศาลท่านได้กรุณาทำการไกล่เกลี่ยจนตกลงประนีประนอมยอมความกันได้ ทั้งที่ยังสืบพยานปากดังกล่าวยังไม่จบ โดยศาลท่านให้เลื่อนคดีไปเพื่อให้โอกาส เจรจากัน

ผลการเจรจาสามารถประนีประนอมกันได้ คือ ทางโจทก์ได้รับค่าจ้างตามสัญญาบวกค่า K เต็มจำนวน ส่วนอีก 9 สัญญา โจทก์ไม่ถูกดำเนินคดีและได้รับหลักประกันคืนครบทุกสัญญาทั้งยังคงสิทธิประมูลงานของทางราชการต่อไปได้

เหตุที่คดีนี้ ศาลกรุณาให้ทำการไกล่เกลี่ยในระหว่างที่ยังสืบพยานไม่เสร็จ ก็เพราะตามหลักฐานของโจทก์ในเบื้องต้นนั้น ศาลท่านน่าจะพิจารณาแล้วเห็นว่า สัญญา ที่ทำกันไม่มีสภาพบังคับว่า โจทก์จะต้องส่งมอบงานให้จำเลยเป็นงวดๆ ตามที่แบ่งงวดงานไว้ก็เพื่อควบคุมการเบิกจ่ายค่าจ้างเท่านั้น หากโจทก์จะไม่ขอรับค่าจ้างตามงวดที่กำหนดในสัญญา จำเลยก็ไม่อาจบังคับโจทก์ได้

ตรงส่วนของงวดงานในสัญญานี้ผมเห็นว่าทำให้สัญญาจ้างก่อสร้างที่ทางราชการใช้อยู่ในขณะนั้นยังเป็น สัญญาจ้างที่ด้อยคุณภาพ เนื่องจากขาดสภาพบังคับในเรื่องของงวดงาน จึงทำให้ผมมองเห็นช่องทางที่จะช่วยเหลือลูกความของผมได้

ด้วยประสบการณ์จากคดีนี้ ทุกครั้งที่ผมมีโอกาสร่างสัญญาจ้าง ก็จะกำหนดไว้ในสัญญาเสมอว่า ให้ถือเอาการแบ่งงวดงานที่กำหนดในสัญญา เป็นสาระสำคัญแห่งสัญญาที่คู่สัญญาต้องถือปฏิบัติต่อกันโดยเคร่งครัด และต้องส่งงวดงานต่อกันตามที่กำหนดไว้ เห็นหรือยังครับว่า ยุติธรรมคือศาสตร์ จริงๆนะจะบอกให้

คราวหน้าจะเล่าเรื่อง

การลงทุน ในพระราชบัญญัติอาคารชุด เพียง 350 บาท เพื่อทำเงิน  จำนวน 100,000.-บาท ชั่วข้ามคืน

หมายเลขบันทึก: 322602เขียนเมื่อ 24 ธันวาคม 2009 13:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

เขียนดีครับไม่งง ผมชอบอ่าน สนุกดีและได้ความรู้

ขอบคุณมากนะครับ

ขอขอบพระคุณที่ติดตามอ่านครับ ท่านบิเวอร์

ก็พยายามหาวิธีเขียนให้เข้าใจข้อกฎหมายแบบง่ายๆ

โดยหวังว่าบางท่านอาจนำไปปรับใช้ได้บ้างครับ

  • บันทึกนี้อ่านแล้ว งง ยังไม่เข้าใจว่าอะไรเป็นอะไร
  • เลยเม้นท์ไม่ได้
  • พรุ่งนี้จะกลับมาอ่านอีกครั้งค่ะ
  • ว่าจะรู้เรื่องไหม (อิอิ)

สวัสดีครับคุณครูมนัสนันท์

บันทึกนี้ผมประสงค์จะให้เข้าใจรูปแบบสัญญาอย่างง่ายๆ ลองคิดตามนะครับ

1.จะชี้ให้เห็นว่าการทำสัญญาจะต้องใช้บังคับกันได้ คือมีสภาพบังคับนั้นเอง

2.จะต้องอ่านและทำความเข้าใจสัญญาทุกฉบับก่อนที่เราจะลงชื่อว่าเราจะ   สามารถทำตามข้อที่บังคับให้ต้องทำตามที่ระบุในสัญญาได้หรือไม่

3.จะชี้ให้เห็นว่าสัญญาทุกสัญญาต่างฝ่ายต่างก็มีข้อได้และข้อเสีย ซึ่งจะต้องทราบเสียก่อนว่าข้อใดเราเสียเราจะยอมหรือไม่ และข้อใดเราได้เขาจะยอมหรือไม่ ซึ่งก็คือสภาพบังคับนั้นเอง เพียงแต่จะมีสภาพบังคับได้กับฝ่ายใดเท่านั้น

 

ส่วน คำว่า สภาพบังคับ ก็ดี หรือคำว่า คู่ ก็ดี เป็นเพียงส่วนที่ผมเสริมและแปลความหมายให้เข้าใจคำของกฎหมายเพิ่มเติม

ส่วนค่า K ท่านที่อยู่ในวงราชการและเคยเป็นกรรมการตรวจการจ้างก็จะพบกับคำนี้บ่อย บางท่านเรียกจนติดปากแต่ไม่เข้าใจที่มาที่ไปก็เลยเสริมเข้ามาเป็นเกร็ดควรรู้

จุดประสงค์ของการเล่าเรื่องนี้เพื่อเตือนให้รอบรู้และรอบครอบก่อนที่จะทำสัญญาต่างๆ เพราะปัจจุบันผู้บริโภคจำนวนมากละเลยการทำความเข้าใจ สัญญาที่ทำ หากไม่เข้าใจไม่รู้ก็ควรให้ผู้รู้ หรือนักกฎหมายชี้แจงให้เข้าใจ   ก่อนจะลงชื่อในสัญญา หากมีปัญหาพิพาทกันก็จะเปิดช่องให้อีกฝ่ายยิบยกมาเป็นข้อโต้แย้งกับเราได้ ดังเช่นกรณีเรื่องที่เล่ามา

คุณครูลองอ่านดูอีกครั้งตามหลักการที่ว่ามา หากไม่เข้าใจก็บอกนะครับผมยินดีชี้แจงจนกว่าคุณครูจะเข้าใจ และจะเป็นการช่วยให้ผมปรับปรุงบันทึกได้ด้วย

ขอขอบพระคุณครับ

  • อ่านแล้วเข้าใจดีมาก ตั้งใจไว้ว่าถ้ามีโอกาสทำสัญญาอะไรกับใครจะทำอย่างรอบคอบชนิดดิ้นไม่หลุดเลยหล่ะ...อิ.อิ
  • กลับมาแล้วนะ.....ประเดี๋ยวจะเล่าให้ฟังว่าไปไหนมา...ไปเยี่ยมได้นะ

สวัสดีครับคุณครูปริมปราง

ขอขอบพระคุณที่แวะมาส่งข่าว

ผมจะเป็นเด็กดี ตามไปเรียนครับ แฮ...

ดีใจที่บันทึกของผมจะยังประโยชน์กับคุณครู..อ่านก่อนลงนามทุกครั้งนะครับ

อ่านดูแล้วก็เข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง ยังงง ๆ อยู่ แต่ก็เขียนดี

อยากถามสักคำถามหนึ่งนะครับ

คือ เมื่อปี 49 มีผู้รับจ้าง รับจ้างทำงานให้อบต.แห่งหนึ่ง แต่ทำงานไม่เสร็จ อบต.แห่งนั้น จึงบอกเลิกสัญญาและยังไม่คืนหลักประกันสัญญาให้ผู้รับจ้าง จนถึงปัจจุบัน นี้ทางอบต.แห่งนั้นยังไม่แจ้งการริบหลักประกันสัญญาให้ทางธนาคารทราบ อยากรุ้ว่าทางอบต.จะยังคงรับหลักประกันได้หรือไม่นะครับ

สวัสดีค่ะคุณครูทนายฯ นักเรียนหลังห้อง ย้อนมาอ่านวิชาเก่าๆ ก็ห้องเรียนใหม่ยังไม่เปิด ... เงื่อนไขนี้ ใช้ได้กับ กรณี สัญญารัก ไหมคะ ;) ... ขอบคุณค่ะ ภาพโลกใบเล็ก งามอย่างแรงค่ะ

ปล. คุณครูมิต้องกลัวปูทวงหนี้หรอกนะคะ โปรดทำใจด้วยได้เอวิชาติดตามลูกและทวงหนี้ และยังไงหนี้นี้ มิสามารถเบี้ยวได้ ยังไงก็ต้องชำระ ๕ ๕ .. อิ่มอร่อยมื้อเที่ยงค่ะ

สวัสดีครับคุณวายุ 

ยินดีที่ได้รู้จักครับ

บันทึกเรื่องนี้ที่คุณวายุ อ่านแล้วบอกว่ายัง..งง.อยู่ ผมขออธิบายซ้ำอีกทีนะครับ

คือผมต้องการชี้ให้เห็นประเด็นที่ว่า การทำสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างนั้นโดยทั่วไปแล้วจะมีการกำหนดการจ่ายค่าจ้างเป็นรายงวดตามงวดงาน แต่แทบทุกสัญญาหากมองดีๆแล้วอาจตีความได้ว่า การจ่ายค่าจ้างและการแบ่งงวดงานนั้นมักกำหนดไว้ลอยๆ ไม่ได้มีความตอนใดกำหนดว่าจะต้องส่งมอบงานและรับค่าจ้างเป็นงวดๆโดยเคร่งครัด คดีที่ผมนำมาเป็นตัวอย่างนี้ทำให้ผู้รับจ้างไม่ต้องรับผิดเพราะการไม่ส่งมอบงานเป็นงวดๆ เมื่อผู้ว่าจ้างอาศัยเหตุนี้มาบอกเลิกสัญญาเลยเปิดช่องให้ผู้รับจ้างต่อสู้ได้ว่า ข้อสัญญาไม่ได้บังคับโดยเด็ดขาดว่าต้องส่งมอบงานเป็นงวดๆ ผู้รับจ้างสามารถส่งมอบงานทั้งหมดครั้งเดียว จึงไม่ผิดสัญญา  ฉะนั้นอย่าไปเอาเรื่องการตรวจงานในระหว่างก่อสร้างมาเป็นข้อวินิจฉัย เพราะการตรวจงานนั้นก็ต้องกระทำอยู่แล้วเป็นระยะๆ หากพบสิ่งที่ไม่ถูกต้องก็สามารถแจ้งให้ทำการแก้ไขได้อยู่แล้ว จากข้อคิดในคดีนี้ผมจึงแนะนำไว้ว่า ให้เติมคำว่าการส่งงานเป็นงวดๆให้ถือเป็นสาระสำคัญ คือผู้รับจ้างต้องปฏิบัติตามงวดงานเท่านั้น หวังว่าพอหายงงนะครับ

ที่นี้คำถามที่ถามมา

เกี่ยวกับหนังสือค้ำประกันที่นำมาเป็นหลักประกันสัญญาจ้าง ท่านสงสัยว่าจาก ปี 2549 จนวันนี้ ผู้ว่าจ้างยังไม่เรียกเงินหรือริบเงินตามหลักประกัน และยังทำได้อยู่หรือไม่

ผมขอตอบแบบกลางๆนะครับจะไม่ลงในรายละเอียด เพราะถ้าต้องลงในรายละเอียดไม่อาจจะตอบทางนี้ได้ (ยินดีตอบให้ทางอีเมลถ้าต้องการทราบให้ส่งคำถามไปที่อีเมลของผมครับ)

คำตอบครับ

ในเรื่องสัญญาจ้างก่อสร้างนี้ทางกฎหมายถือเป็นเรื่องของการจ้างทำของอย่างหนึ่ง หากกรณีที่มีการผิดสัญญากันขึ้นก็สามารถจะฟ้องร้องเรียกค่าจ้าง ค่าเสียหาย ค่าความชำรุดบกพร่อง หรือค่าอื่นๆได้ภายในกำหนดระยะเวลา 1 ปี 2 ปี 5 ปีและ 10 ปี คือมีอายุความการฟ้องร้องต่อศาลนะครับ ก็ต้องแล้วแต่กรณีว่าจะเรียกค่าอะไร อย่างกรณีที่ท่านถาม ผู้ว่าจ้างบอกเลิกสัญญาเพราะทำงานไม่เสร็จตามสัญญาหรืออะไรก็ตามแต่บรรดาค่าต่างๆที่ผู้ว่าจ้างหรือผู้รับจ้าง ต่างมีต่อกันนั้นก็จะต้องไปฟ้องร้องกันภายในกำหนดที่ผมว่ามาแล้ว แต่กรณีนี้ผมเข้าใจว่าที่ ผู้ว่าจ้าง ยังไม่เรียกร้องหรือริบเงินจากหลักประกันเพราะเป็นค่าเสียหายที่เกิดจากการผิดสัญญาจ้างจึงมีอายุความ 10 ปี นับถึงวันนี้ ทางผู้ว่าจ้างเขายังมีเวลาที่จะใช้สิทธิเรียกร้องอยู่ครับ เขาถึงยังไม่ดำเนินการใดๆ

ขอตอบเพียงเท่านี้นะครับ เพราะคำตอบอาจก่อความเสียหายต่อคู่สัญญาคุณวายุ คงเข้าใจนะครับที่ไม่อาจตอบได้มากกว่านี้

ขอบคุณที่สนใจเข้ามาอ่านบันทึกครับ

สวัสดีครับคุณ Ico32 poo ดำอันดามัน

ฮิ.ฮิ. บอกว่าไม่ทวงหนี้...อย่างนี้หละแถวบ้านเขาเรียกว่าทวงหนี้

แต่เหตุที่ยังไม่ชำระหนี้ เพราะเจ้าหนี้รายนี้ น่ารัก จะได้แวะมาบ่อยๆ....ฮา....

กรณีตามบันทึกนี้กับสัญญารัก ก็ใช้ได้ครับ เพราะการกำหนดให้ส่งความรักเป็นงวดๆและจ่ายค่าจ้างด้วยนี้สำคัญครับ....ฮิ.ฮิ....

ตอนนี้กำลังเขียนบันทึกโลกใบเล็กภาค 2 อยู่ครับ น่าจะนำลงบล็อกได้ไม่เกินวันเสาร์ คุณปูใช้กล้องอะไรอยู่ครับ

ขอบคุณครับที่แอบมานั้งหลับหลังห้องบ่อยๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท