วงน้ำ SHA ที่ท่าบ่อ
รพ.สมเด็จพระยุพราชท่าบ่อ จ.หนองคาย

สู่การปรับรูปแบบการดูแลเด็กคลอดก่อนกำหนดในตู้อบ


เหตุการณ์โดยสรุป

                แม่ของน้องใบเฟริ์น  มารดาครรภ์แรก อายุ 18 ปี  อายุครรภ์ 27 สัปดาห์ ฝากครรภ์ 4 ครั้ง 5 มิ.ย. 51  ให้ประวัติมีเลือดออกและเจ็บครรภ์คลอดก่อนมาประมาณ 8 ชั่วโมง ถึงห้องคลอดสูติแพทย์ให้การดูแลยับยั้งการเจ็บครรภ์ 1 วันแล้วมีเจ็บครรภ์ถี่ขึ้น ปากมดลูกเปิดและคลอดปกติ 6 มิ.ย. 51  น้ำหนักทารกแรกเกิด 1,050  กรัม กุมารแพทย์ให้การดูแลทารกในตู้อบโดยให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ งดให้นมและสังเกตการหายใจ

วันที่ 3 (9 มิ.ย. 51)  ทารกอาการดีขึ้น เริ่มให้นมทางสายยาง  ให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำต่อ 

20 มิ.ย. 51  ทารกหยุดหายใจต้องใส่ท่อช่วยหายใจและใช้เครื่องช่วยหายใจ

ถึงวันที่ 26  มิ.ย. 51  ทารกมีอาการดีขึ้นกุมารแพทย์พิจารณาถอดเครื่องช่วยหายใจ และให้ออกซิเจนในตู้อบ

ให้อาหารทางสายยางเริ่มให้ทางปาก

19 ก.ค. 51 เริ่มให้นมแม่ทางปากโดยการป้อนด้วยช้อน

20 ก.ค. 51 หยุดให้ออกซิเจน

1  ส.ค. 51 เริ่มหัดดูดนมแม่

14 ส.ค. 51 กุมารแพทย์พิจารณาให้ทดลองออกจากตู้อบโดยให้การดูแลในอุณหภูมิห้องปกติ

15 ส.ค. 51 กุมารแพทย์พิจารณาให้ออกจากตู้อบโดยให้การดูแลในอุณหภูมิห้องปกติ

16 ส.ค. 51 กุมารแพทย์พิจารณาให้กลับบ้านนัดติดตามอีก 2 สัปดาห์พยาบาลประสานกับทีมเยี่ยมบ้านให้การดูแลต่อเนื่อง และมีการโทรศัพท์ติดตามเยี่ยมให้คำแนะนำเป็นระยะ

รวมนอนพักรับการรักษาในโรงพยาบาล 71 วัน

 

เหตุเกิดระหว่างการดูแลที่พยาบาลสังเกตพบ 

 

                หลังคลอด 2 วัน แม่ของน้องใบเฟริ์นขอกลับไปพักที่บ้าน  กุมารแพทย์อนุญาตให้กลับได้เพราะยังไม่ให้กินนม  พยาบาลแนะนำให้กลับมาเยี่ยมลูกและสอนการบีบน้ำนมด้วยมือ ระหว่างการดูแล ทีมงานห้องคลอดได้พบว่า คนที่มาเยี่ยมเป็นพ่อของน้องใบเฟริ์น จึงได้แนะนำให้พาแม่ของน้องใบเฟริ์นมาด้วยเพราะ คุณหมอที่ดูแลเริ่มให้นมแม่ทางสายยางแล้ว

 

                ในช่วงเวรบ่ายของวันหนึ่งเวลาประมาณ 18.00 น. มีพยาบาลห้องคลอดพบ แม่ของน้องใบเฟริ์นนั่งร้องให้อยู่บนรถมอเตอร์ไซค์หน้าโอพีดี จึงมาเล่าให้กันฟัง พยาบาลคุยกับแม่น้องใบเฟริ์นและพบว่าแม่มีความกังวลเพราะต้องเลี้ยงหลานอายุ 4 ปีซึ่งเป็นลูกของพี่ชายที่เลี้ยงมาตั้งแต่เด็ก แม่น้องใบเฟริ์นบอกว่า “ถ้ามาอยู่เฝ้าลูกแล้วใครจะดูแลหลาน”  พยาบาลได้เล่าให้คุณหมอปุ้ยฟัง(กุมารแพทย์ที่ดูแล) หมอปุ้ยบอกว่า “ พรุ่งนี้บอกให้แม่น้องใบเฟริ์นรอปุ้ยด้วย บอกว่าหมอมีเรื่องอยากคุยด้วย”

 

                วันต่อมาแม่น้องใบเฟริ์นมารอพบคุณหมอ เวลา ประมาณ 9.00 น. คุณหมอปุ้ยมาและพูดกับแม่ได้ข้อตกลงแล้วจึงมาเล่าให้พยาบาลฟังว่าปุ้ยคุยและให้ทางเลือกกับเขาแล้วเขาตกลงที่จะอยู่ดูแลลูกช่วงกลางวัน  ปุ้ยบอกว่า “ลูกก็รัก หลานก็รัก หมอไม่ได้ให้เลือกคนไดคนหนึ่ง แต่ต้องแบ่งเวลา ช่วงนี้มาเยี่ยมลูกกลางวันแล้วตอนเย็นก็กลับไปดูแลหลานก็ได้”

พยาบาลคุยกับหมอตกหาแนวทางการดูแลพยาบาลห้องคลอดบอกว่า “ หมอปุ้ยเอาอย่างนี้แล้วกันพี่จะสอนและกระตุ้นให้แม่น้องใบเฟริ์นจับลูกบ่อยๆเพื่อเป็นการกระตุ้น”  หมอปุ้ยบอกว่า  “ ดีมากพี่ แล้วปุ้ยจะพยายามให้เด็กได้ดูดนมแม่เร็วๆ”

 

                หลังจากนั้นแม่น้องใบเฟริ์นมาเฝ้าลูกทุกวัน ถ้าวันไหนมีธุระมาไม่ได้จะบอกว่า “ ฝากด้วยนะคะหนูมีธุระ แล้วจะรีบกลับมา”  แม่น้องใบเฟริ์นเพิ่มเวลาในการเฝ้าลูกได้เรื่อยๆจนกระทั่งยอมนอนเฝ้าลูกตลอดวัน “หนูฝากหลานไว้กับยายแล้วค่ะ”  ก่อนกลับบ้านแม่น้องใบเฟริ์นให้ลูกดูดนมได้และมีความพร้อมในการดูแลลูก

 

ทีมงานห้องคลอดได้ส่งต่อให้ทีมชุมชนติดตามเยี่ยมบ้าน และมีการติดตามเยี่ยมทางโทรศัพท์ให้ความช่วยเหลือจน แม่น้องใบเฟริ์นสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวถึง 6 เดือน และกินนมแม่ต่อเนื่องถึง 1 ปี

 

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทีมงานสรุปได้ว่า แม่น้องใบเฟริ์น เป็นมารดาครรภ์แรก อายุ 18 ปี  อายุครรภ์ 27 สัปดาห์

ยังไม่มีความพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนบทบาทในการเป็นแม่  มีความกลัวและกังวลเนื่องจากลูกน้ำหนักน้อย ตัวเล็กมากไม่กล้าที่จะจับต้องและดูแล การดูแลของทีมพยาบาลร่วมกับกุมารแพทย์มีส่วนสำคัญในวางแผนการให้การพยาบาลโดยคำนึงถึงปัญหาและให้การพยาบาลแบบองค์รวมจะช่วยให้เกิดผลลัพธ์ที่สวยงามและเป็นแนวทางการจัดการดูแลและวางแผนสำหรับผู้ป่วยรายต่อไป

 

 

 เรื่องเล่าชาวห้องคลอด

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 322399เขียนเมื่อ 23 ธันวาคม 2009 14:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 12:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท