รายงานการจัดการความรู้


โครงการรู้รักษ์สิ่งแวดล้อม ตามรอยเท้าพ่อ อยู่อย่างพอเพียง

การจัดการความรู้ในสถานศึกษา

1.  ความหมายของการจัดการความรู้

ในสังคมเศรษฐกิจฐานความรู้  (Knowledge-base Society and Economy)  ภายใต้ กระแสโลกาภิวัฒน์  (Globalization)  มีผลกระทบถึงการจัดการศึกษาในระดับโรงเรียนที่ต้องตอบสนองผลิตผู้เรียนให้มีคุณภาพ  ได้มาตรฐานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว   และต่อเนื่องประกอบกับวัฒนธรรมของชาติไทยที่เป็นผู้มีความเป็นอยู่เรียบง่าย  เช่น  สังคมเกษตรกรรมมีความเอื้ออาทรสูง  มีน้ำใจโอบอ้อมอารี  โรงเรียนต้องอยู่ท่ามกลางภาวการณ์เปลี่ยนแปลงพร้อมกับเป็นความหวังของสังคม  ในการถ่ายทอดวัฒนธรรมจากรุ่นบรรพบุรุษถึงเยาวชนรุ่นต่อไป  ให้ปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ได้อย่างมีคุณภาพ  การศึกษาในปัจจุบันจะต้องปรับเปลี่ยนไปทิศทางใด   จึงได้มีการกำหนดแนวนโยบายแห่งรัฐในการวางแนวทางให้โรงเรียนพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง  โดยกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี  พ.ศ.2546  มาตรา  11  มีสาระสำคัญกำหนดให้  ส่วนราชการพัฒนาความรู้ในส่วนราชการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอ โดยต้องรับรู้ข้อมูลข่าวสารและสามารถประมวลผลความรู้ในด้านต่าง ๆ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติราชการได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว และเหมาะสมกับสถานการณ์ รวมทั้งต้องส่งเสริมและพัฒนาความรู้ความสามารถสร้างวิสัยทัศน์และปรับเปลี่ยนทัศนคติของข้าราชการในสังกัดให้เป็นบุคลากรที่มีประสิทธิภาพและมีการเรียนรู้ร่วมกัน    ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติราชการของส่วนราชการให้สอดคล้องกับการบริหารราชการให้เกิดผลสัมฤทธิ์ 

ในส่วนของสถานศึกษาบุคลากรทางการศึกษาไม่ว่าจะเป็นครู  ผู้บริหารสถานศึกษา ตลอดจนผู้บริหารการศึกษา จะต้องสนใจในด้านข้อมูลข่าวสาร  ซึ่งเป็นความรู้ที่มาจากแหล่งต่าง ๆ โดยที่ผู้ที่มีข้อมูลข่าวสารมากก็จะกลายเป็นผู้ที่มีความทันสมัย อยู่ในยุคของสังคมฐานความรู้ คือการใช้ความรู้เป็นเครื่องมือในการตัดสินใจ และปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพ เพราะความรู้เกิดจากปัญญา  การค้นหา  ศึกษาค้นคว้า มีการวิเคราะห์วิจัย  เพื่อให้ได้องค์ความรู้ที่แท้จริง เชื่อถือได้  สามารถนำไปปฏิบัติได้  บุคลากรทางการศึกษาจึงเป็นผู้มีความรู้ และรู้จักแสวงหาความรู้จนได้เป็นผู้ชำนาญการหรือเชี่ยวชาญ   จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่บุคลากรทางการศึกษาต้องมีความสามารถและทักษะในการจัดการความรู้

 “การจัดการความรู้ (Knowledge  Management)” เป็นกระบวนการของการสร้างคุณค่าจากทรัพย์สินที่จับต้องไม่ได้ขององค์กร คือ ทุนทางปัญญา  รวมทั้งทุนมนุษย์ ทุนทางโครงสร้าง และทุนความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล    ซึ่งมีผู้ให้ความหมายของการจัดการความรู้ดังนี้

             วิจารณ์  พานิช ( 2548 : 63) กล่าวว่า  การจัดการความรู้เป็นการเรียนรู้แบบใหม่ที่เรียนจากการปฏิบัติเป็นตัวนำ เป็นตัวเดินเรื่อง ไม่ใช่แค่เรียนจากครูหรือตำรา ตำรานั้นเป็นการเรียนรู้แบบเก่า ซึ่งเน้นเรียนรู้แบบเก่า และเน้นเรียนทฤษฏี ขณะที่การเรียนรู้ แบบ KM  ก็เป็นทฤษฏีแต่ว่าเน้นที่การเรียนรู้แบบปฏิบัติ เพราะการปฏิบัติทำให้เกิดประสบการณ์ การจัดการความรู้ไม่ใช่เรื่องของคนๆ เดียวเป็นเรื่องของคนหลายคนที่ทำงานร่วมกัน เพราะฉะนั้นเวลาปฏิบัติแต่ละคนจะมีประสบการณ์ไม่เหมือนกัน เมื่อนำมาแลกเปลี่ยนกันแล้ว อาจเห็นส่วนที่เหมือนกัน ซึ่งจะเป็นการยืนยันว่าเข้าใจตรงกันเมื่อเอาแลกเปลี่ยนกันมากๆ จะทำให้ยกระดับความรู้ความเข้าใจขึ้นไปอีกจะเห็นว่าการจัดการความรู้เราจะเน้นที่การเรียนรู้จากการปฏิบัติ แล้วก็เน้นตัวความรู้ที่เป็นความรู้ใจคนหรือที่เรียกว่า Tacit Knowledge ทั้งนี้ ความรู้จากเอกสารตำรา หรือที่เรียกว่า Explicit Knowledge นั้นก็สำคัญ เพียงแต่ว่าเรามักจะละเลยความรู้ที่อยู่ในคน

             เกรียงศักดิ์  เจริญวงศ์ศักดิ์ (2547 : 63) กล่าวว่า การจัดการความรู้ คือความรู้เกิดจากการประมวลสังเคราะห์ และจำแนกแยกแยะสารสนเทศ เพื่อนำไปสู่การตีความและทำความเข้าใจกับสารสนเทศ เหล่านั้นจนกลายเป็นความรู้ ซึ่งความรู้นี้ครอบคลุมทั้งส่วนของความรู้โดยนัย (Tacit Knowledge) ที่ซ่อนอยู่ในความคิดของพนักงาน และที่ฝังตัวอยู่ในองค์กรกับความรู้แจ้งชัด (Explicit Knowledge) ที่ปรากฏในเอกสารที่บันทึกหรือรายงานต่างๆ ขององค์กร การจัดการความรู้ทั้งสองประเภทนี้ ให้เป็นระบบระเบียบ เพื่อให้คนที่ต้องการเข้าถึงได้ง่าย และดึงออกมาใช้งานได้ โดยสะดวกการจัดการความรู้จะเกิดขึ้นในระดับทีมงาน หรือระดับกลุ่มในองค์กรที่ต้องการปฏิสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกแต่ละคน เพราะการจัดการความรู้จะเกิดขึ้นได้ ต่อเมื่อมีการปฏิสัมพันธ์ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างทีม ซึ่งอาจเป็นปฏิสัมพันธ์บนเครือข่าย Cyber Space หรืออาจผ่านการพบปะพูดคุยกันต่อหน้าก็ได้

             ศุภามนต์  ศุภกานต์ (2547: 28-29) กล่าวว่าการจัดการความรู้เป็นเรื่องของการที่องค์กรหนึ่งจะสกัดคุณค่าจากทรัพย์สินทางปัญญาของคนออกมาให้ประโยชน์อย่างสูงสุดได้อย่างไรจุดสำคัญสำหรับการริเริ่มเกี่ยวกับ KM คือ ความรู้ที่ถือว่ามีค่าสำหรับองค์กรมักจะเกี่ยวข้องกับประสบการณ์ ทัศนคติและพฤติกรรมของบุคคลเป็นส่วนใหญ่

                 บุญดี  บุญญากิจ และคนอื่นๆ (2547: 3 ก) กล่าวว่าการจัดการความรู้เป็นกระบวนการในการนำความรู้ที่มีอยู่ หรือเรียนรู้มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อองค์กร โดยผ่านกระบวนการต่างๆเช่น การสร้าง รวบรวม แลกเปลี่ยน และใช้ความรู้ เป็นต้น

             อาภรณ์ ภู่วิทยพันธุ์ (2549 : ก) กล่าวว่า การจัดการความรู้ (Knowledge Management) เป็นกระบวนการที่สำคัญที่จะทำให้คนรู้จักหาความรู้ และนำความรู้มาใช้ในการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นระบบ การจัดการความรู้จำเป็นต้องมีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง (Continuous Learning) อยู่ตลอดเวลา เพราะการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องจะทำให้เป็นคน ที่มีโลกทัศน์และวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล รู้ว่าควรทำอะไรไม่ควรทำอะไรในช่วงเวลาไหน รับรู้ถึงข้อดีข้อเสียจากการเลือกปฏิบัติในแนวทางใดทางหนึ่ง ซึ่งความสามารถต่างๆ เหล่านี้เองที่จะสะท้อนถึงคุณค่า (Value) ของตัวคุณที่คุณเองในฐานะของพนักงานอาจไม่เห็นผลชัดเจนในช่วงเวลานี้ แต่หากคุณเติบโตก้าวหน้าเป็นผู้บริหารแล้วล่ะก็ ความสามารถต่างๆ นี้จะทำให้คุณมีข้อได้เปรียบเหนือกว่า คนอื่น และนั่นก็หมายความว่าคุณจะมีผลการปฏิบัติงานที่ดี และมีศักยภาพในการทำงานในตำแหน่งงานที่สูงขึ้นต่อไป

             ประชุม  โพธิกุล และวารินทร์  สินสูงสุด (2548: 4) กล่าวว่าการจัดการความรู้ในสถานศึกษา มีหลักของการจัดการความรู้มี 2 ส่วน ส่วนหนึ่งสถานศึกษาตระหนักดีว่าความสำคัญขององค์การคือ รู้ว่าองค์การรู้อะไร สถานศึกษาทุกแห่งมี การเก็บ เข้าถึง และส่งมอบความรู้อยู่แล้วโดยการจัดความรู้มาแบ่งปัน และส่งมอบจากสถานศึกษาสู่ผู้เรียนในอีกส่วนหนึ่งเป็นการจัดการที่อำนวยประโยชน์ของความรู้แก่ครู และบุคลากรทางการศึกษา การจัดการความรู้ของสถานศึกษาจึงเป็นการเสาะหา ค้นพบ จับความรู้มาเก็บ กลั่นกรอง จัดเตรียมแบ่งปันและใช้ความรู้ทั่วทั้งองค์การสามารถร่วมแรงร่วมใจ แบ่งปันและใช้ความรู้ในทุกส่วนของสถานศึกษาจึงเป็นการใช้ความรู้อย่างมีประสิทธิผล

             สรุปได้ว่า การจัดการความรู้ Knowledge Management (KM) หมายถึง การรวบรวมความรู้สู่การปฏิบัติ (Tacit Knowledge) ซึ่งเป็นความรู้ที่เกิดจาก การเรียนรู้ เจตคติในงาน ประสบการณ์การทำงาน และพฤติกรรมการทำงานของแต่ละบุคคล ซึ่งปฏิบัติงานเรื่องเดียวกันหรือคนละเรื่องแล้วประชุมหรือสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากกันและกัน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ เมื่อรวบรวมแล้วก็มีการนำความรู้ที่ได้มาสังเคราะห์ วิเคราะห์ (Analysis) หรือจัดระบบใหม่ เพื่อสร้างเป็นองค์ความรู้ใหม่ ยอมรับข้อดีและจุดที่เป็นปัญหาของกันและกัน มีการจัดเก็บข้อสรุปทั้งมวลอย่างเป็นระบบเพื่อนำไปสู่การยอมรับในกฎกติกาขององค์กรที่ทุกคนยอมรับ แล้วนำมาเผยแพร่ความรู้เพื่อให้เกิดการต่อยอดความรู้หรือสร้างประโยชน์จากความรู้และนำไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและองค์กร รวมทั้งเป็นแบบอย่างต่อหน่วยงานอื่น อันจะยังประโยชน์ใน วงการวิชาการและงานการศึกษาต่อไป

2.  ขั้นตอนของการจัดการความรู้ในสถานศึกษา

          ขั้นตอนการจัดการความรู้ในสถานศึกษา  มีขั้นตอน  6  ขั้นตอน  ดังนี้

1.  ปรับวัฒนธรรมองค์กรให้เหมาะสมในการจัดการความรู้ (Culture Change)

1.1  เปลี่ยนแปลงค่านิยมและพฤติกรรมของผู้บริหาร ครู และบุคลากรให้เป็นผู้ยึดแนวการทำงานที่เปิดรับ และพร้อมจะสร้างสรรค์งานใหม่ ๆ พร้อมเป็นผู้แบ่งปันความรู้ซึ่งกันและกัน                        

1.2  สร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงาน มีมุมมองผู้บริหาร เพื่อนร่วมงาน และผู้ใต้บังคับบัญชาในเชิงบวก                                                                                                                

1.3  นำนวัตกรรมใหม่ ๆ มาใช้ ร่วมกัน หาทางออกหากขัดต่อระเบียบข้อบังคับ                                

1.4  สร้างโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการทำงาน และให้โอกาสทีมงานด้วยความสมัครใจ             

1.5  ปลูกฝังแนวคิดที่เอื้อต่อการทำงาน เช่น ความตั้งใจจริง การเอาชนะอุปสรรค การทำงานให้ผลออกมาดีที่สุด ความซื่อสัตย์สุจริต ยึดมั่นในความถูกต้อง ความดีงาม ฯลฯ  

 

ขั้นตอนการปรับเปลี่ยนค่านิยมในสถานศึกษา 

          เพื่อให้การจัดการความรู้บรรลุผลสำเร็จ ค่านิยมและพฤติกรรมการทำงานของครูและบุคลากรในสถานศึกษาควร จะต้องเปลี่ยนแปลงใหม่ โดยยึดขั้นตอนในการเปลี่ยนแปลงดังนี้

ขั้นที่ 1 ผู้บริหารสถานศึกษาแถลงค่านิยมสร้างสรรค์และจรรยาบรรณของข้าราชาการ เพื่อสร้างค่านิยมและพฤติกรรมทำงานใหม่ โดยเน้นที่ ความขยัน อดทน ความรับผิดชอบ ความซื่อสัตย์ สุจริต รักษาเกียรติของอาชีพและมุ่งมั่น อุตสาหะ ในการทำงานให้มีคุณภาพ                                            

ขั้นที่ 2 เปลี่ยนความเชื่อและทัศนคติของข้าราชการใหม่ โดยเน้นที่ความรู้ ความสามารถจริยธรรมและคุณธรรม รณรงค์ ในการสร้างระบบการทำงานใหม่ เน้นวัฒนธรรมการประเมิน การทำงานเป็นทีม การทำงานตามมาตรฐานคุณภาพ โดย ยึดความรู้ความสามารถและผลงานเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา ความดี ความชอบ โดยมีผู้บริหารเป็นแบบอย่างที่ดี                                                               

ขั้นที่  3  สร้างบรรยากาศและสภาพแวดล้อมของการทำงานในสถานศึกษาให้เป็นมิตร                   

ขั้นที่  4  ปรับปรุงกระบวนการให้ขวัญกำลังใจ รางวัล และการลงโทษโดยดำเนินการด้วยความ รวดเร็ว ปรับปรุง กระบวน การทางวินัยให้เกิดผลในทางปฏิบัติเพื่อใช้เป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพในการส่งเสริมคนดี และป้องกันไม่ให้คนไม่ดี ไม่ซื่อสัตย์ไม่ให้ก้าวหน้าด้วยการฉกชิงผลประโยชน์ของผู้อื่น

2.  สื่อสารสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการความรู้ (Communication)

2.1  สื่อสารให้ความรู้ความเข้าใจเบื้องต้น เช่น ความหมาย ความสำคัญ องค์ประกอบ ประโยชน์ของการจัดการความรู้                                                                                              

2.2  สื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการ ขั้นตอนในการจัดการความรู้ตลอดจนเครื่องมือที่จะใช้ในการจัดการความรู้                                                                                    

2.3  สื่อสารถึงบทบาทหน้าที่คณะทำงาน และผู้เกี่ยวข้องในการจัดการความรู้                              

2.4  สื่อสารเกี่ยวกับเป้าหมายของการจัดการความรู้ ตลอดจนความยาก และปัญหาที่อาจจะพบในการจัดการความรู้

3.  กระบวนการและเครื่องมือในการจัดการความรู้ (Process and Tools) เครื่องมือที่ใช้ในการจัดการความรู้ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ถ้าเป็นการจัดการความรู้ประเภทชัดแจ้ง (Explicit Knowledge) มักจะใช้สื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT) ส่วนเครื่องมือที่ใช้ในการจัดการความรู้ประเภทฝังลึก (Tacit Knowledge) มักจะเป็นกระบวนการที่สามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และแบ่งปันได้ เช่น

3.1  ประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการร่วมกัน                                                                

3.2  สอนงาน (Coaching)                                                                                        

3.3  เรียนรู้โดยการปฏิบัติ (Action Learning)                                                               

3.4  จัดชุมชนนักปฏิบัติ (Community of Practice)

 4.  เรียนรู้ (Learning) เพื่อสร้างความรู้ต่อยอด ซึ่งมีวิธีการต่าง ๆ ที่หลากหลาย สำหรับข้อเสนอแนะในครั้งนี้ เป็นการเรียนรู้โดยการจัดชุมชนนักปฏิบัติ (CoP) มีกระบวนการขั้นตอนดังนี้

4.1  การกำหนดเป้าหมาย (Desired State) ซึ่งเป็นความต้องการในการจัดการความรู้ เพื่อตอบคำถามจะจัดการความรู้ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์                                                                      

4.2  สรรหาผู้ปฏิบัติงานที่เป็นเลิศ (Best Practice) เข้าร่วมแลกเปลี่ยนแบ่งปันประสบการณ์ สมาชิกทุกคนที่เข้าร่วมเวทีต้องเป็นตัวจริง คือเป็นผู้ปฏิบัติงานในเรื่องนั้น ๆ ที่ประสบความสำเร็จ เป็นที่ยอมรับ เป็นแบบอย่างที่ดี และมาจากความแตกต่าง หลากหลาย จึงจะเกิดพลัง                              

4.3  ค้นหาความรู้ฝังลึกในตัวผู้ปฏิบัติ ซึ่งเขามีวิธีการปฏิบัติอย่างไร จึงประสบผลสำเร็จ ผ่านเทคนิคการเล่าเรื่อง (Story telling) โดยใช้กระบวนการสกัดขุมความรู้ (Knowledge Assets) เป็นรายบุคคล แล้วหลอมรวมวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศของทุกคนให้เป็นแก่นความรู้ (Core Competence)            

4.4  สร้างความรู้ ที่กระจัดกระจายอยู่มากมายมารวมไว้ เพื่อจัดทำเนื้อหาให้เหมาะสม และตรงกับความต้องการของผู้ใช้ โดยจัดทำเป็นฐานข้อมูลต่าง ๆ ตามความเหมาะสม                                

4.5  เลือกและกลั่นกรอง (Refine) โดยสรรหาเลือกความรู้ที่เป็นประโยชน์ และโดดเด่น ซึ่งอาจจะนำไปเทียบเคียงทฤษฎี หลักการ หรือแนวคิดที่มีบันทึกไว้                                                          

4.6  เผยแพร่ความรู้ (Knowledge Distribution) กิจกรรมนี้ นำการจัดการที่เป็นระบบแล้วเผยแพร่แก่นักปฏิบัติที่มีความต้องการจะนำองค์ความรู้ที่ได้จากการจัดการความรู้ไปใช้ประโยชน์       

4.7  นำความรู้ไปใช้ประโยชน์ (Use) เป็นกิจกรรมที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะเมื่อมีการจัดการความรู้แล้วไม่นำไปใช้ประโยชน์ก็ไม่บังเกิดผลใด ๆ ทำให้เกิดความสูญเปล่าในการจัดการความรู้ 4.8  นำความรู้ที่ได้มา และผ่านการนำไปใช้แล้วว่าเกิดประโยชน์จริง มาเก็บไว้ในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยเฉพาะอินเทอร์เน็ต อินทราเน็ต ไว้เป็นแหล่งความรู้ (Knowledge Assets) เพื่อให้เกิดพลังในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้                                                                                               

4.9  ตรวจสอบ (Monitor) เป็นการทบทวนดูว่าทุกขั้นตอนของการจัดกระบวนการความรู้ มีขั้นตอนใดที่จะต้องปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ขั้นตอนใดมีความเหมาะสมดีแล้ว

5.  การวัดผลการจัดการความรู้ (Meausurement) การวัดผลจะทำให้เราได้รู้ว่าการจัดการความรู้ของเรา สามารถก่อให้เกิดการพัฒนาได้อย่างเป็นรูปธรรมจริงหรือไม่ ซึ่งจำเป็นจะต้องจัดทำตัวชี้วัดให้สอดคล้องกับสิ่งที่เราตั้งเป้าหมายไว้ อย่างน้อยที่สุด 3 ประการ คือ เกิดการพัฒนาคน พัฒนางาน และพัฒนาองค์กร

6.  การยอมรับและให้รางวัล (Recognition and Rewards) ในการจัดการความรู้ให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้นั้น จะต้องมีสิ่งกระตุ้น ผลักดันให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การพิจารณาเรื่องการยอมรับ และให้รางวัล ก็เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญ ความสอดคล้อง และความเต็มใจถ่ายทอดร่วมกับผู้อื่น ซึ่งแต่ละองค์กรต้องพิจารณาตามความเหมาะสม เช่น

 3.  การจัดการความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมของโรงเรียนหนองกี่พิทยาคม

          จากขั้นตอนการจัดการความรู้ดังกล่าวข้างต้น  สามารถสรุปการจัดการความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมของโรงเรียนหนองกี่พิทยาคมได้  6  ประเด็นหลัก  ได้แก่

ประเด็นหลักที่  1  โรงเรียนมีการดำเนินงานตามแนวพระราชดำริการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพ                                                                                                 ประเด็นหลักที่ 2  โรงเรียนมีกระบวนการบริหารที่ส่งเสริมและสนับสนุนการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม                                                                                                                    

ประเด็นหลักที่3  โรงเรียนมีการบูรณาการหลักสูตร  การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตของนักเรียน และชุมชน                                                                                                                             

ป­­­­ระเด็นหลักที่ 4  โรงเรียนมีกิจกรรมที่เชื่อมโยง และเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน และมีการขยายเครือข่ายการดำเนินงานเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง       

ประเด็นหลักที่ 5  โรงเรียนมีการรักษา และส่งเสริม วัฒนธรรมประเพณี และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เชื่อมโยงกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมได้อย่างชัดเจน                                            

ประเด็นหลักที่ 6  นักเรียน บุคลากร และชุมชน มีจิตสำนึก และพฤติกรรมในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำเนินชีวิตได้อย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม                                                                                     

โดยในแต่ละประเด็นมีรายละเอียดในการดำเนินงาน  ดังนี้                                               

ประเด็นหลักที่1     โรงเรียนมีการดำเนินงานตามแนวพระราชดำริการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพ

             ในการดำเนินงานตามแนวพระราชดำริการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโรงเรียนมีการรณรงค์ปลูกจิตสำนึก  โดยจัดกิจกรรมและรูปแบบการรณรงค์อย่างหลากหลาย ได้แก่

1. การจัดอบรม

จัดการอบรมแก่นักเรียนโรงเรียนหนองกี่พิทยาคม นักเรียนจากโรงเรียนเครือข่าย ผู้ปกครอง และชุมชน ดังต่อไปนี้

          1.1 กิจกรรมเข้าค่ายรู้รักษ์ พิทักษ์สิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินการ โดยมีรายละเอียดพอสังเขป ดังนี้

               1.1.1 โครงการรู้รักษ์ พิทักษ์ สิ่งแวดล้อม จัดขึ้นเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2551 ณ โรงเรียนหนองกี่พิทยาคม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปลูกจิตสำนึก สร้างทัศนคติ และให้ความรู้ ในการลดการใช้พลังงานไฟฟ้า และน้ำมันเชื้อเพลิง ลด ละ เลิก การใช้ขยะที่ย่อยสลายยาก บูรณาการภูมิปัญญาท้องถิ่นตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง และขยายเครือข่ายแก่เพื่อนนักเรียน ผู้ปกครอง ชุมชน และสังคมต่อไป                                                                                                                                    1.1.2 มีผู้เข้าร่วมโครงการเป็นนักเรียนจากตัวแทนห้องเรียนเข้ารับการอบรม 300 คน นักเรียนที่เป็นวิทยากรพี่เลี้ยง 18 คน ครู 30 คน ตัวแทนผู้ปกครองและ ชุมชน 15 คน  รวมทั้งสิ้น จำนวน  363 คน สรุปผลการดำเนินโครงการอยู่ในระดับ ดีมาก

         1.2 กิจกรรมเข้าค่ายอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินการ โดยมีรายละเอียดพอสังเขป ดังนี้

               1.2.1 โครงการอนุรักษ์ พลังงานและสิ่งแวดล้อม จัดขึ้นเมื่อวันที่ 23- 25 มกราคม 2552  ณ โรงเรียนหนองกี่พิทยาคม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปลูกจิตสำนึก สร้างความตระหนัก ให้ความรู้และขยายเครือข่ายให้กับนักเรียนโรงเรียนใกล้เคียง เพื่อนำความรู้ไปขยายผลต่อแก่เพื่อนนักเรียน ผู้ปกครอง และชุมชน                                                                                                                       1.2.2 ผู้เข้าร่วมโครงการเป็นนักเรียนจากโรงเรียนเครือข่าย ได้แก่ โรงเรียนไตรคาม 10 คน  โรงเรียนบ้านโคกสะอาด  11 คน โรงเรียนอนุบาลหนองกี่ 10 คน โรงเรียนบ้านหนองกี่สุขสำราญ 10 คน โรงเรียนหนองกี่ประชาสามัคคี 10 คน โรงเรียนหนองกี่พิทยาคม 46 คน นักเรียนที่เป็นวิทยากร 49 คน  ครู และวิทยากรภายนอก รวม 12 คน รวมทั้งสิ้น 158 คน สรุปผลการดำเนินโครงงานอยู่ในระดับดีมาก

2. การจัดป้ายนิเทศ

          โรงเรียนมีการณรงค์ ปลูกจิตสำนึกโดยการติดป้ายนิเทศคำสอนของพ่อเกี่ยวหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง การอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมตามจุดต่าง ๆ ให้เห็นอย่างชัดเจน รวมทั้งป้ายนิเทศในกิจกรรมต่าง ๆ ที่โรงเรียนจัดขึ้น

3. การรณรงค์สัญจร

โรงเรียนจัดให้มีการประชุมเครือข่ายผู้ปกครองจากทุกหมู่บ้านโดยมีวัดเป็นศูนย์กลางการประชุม ตามโครงการ สามประสาน บ้าน วัด โรงเรียน เพื่อรณรงค์ ปลูกจิตสำนึก แลกเปลี่ยนเรียนรู้  แจกเอกสารความรู้ พูดคุยกับผู้ปกครอง เกี่ยวกับการแก้ปัญหาของนักเรียนในชุมชน การประหยัดพลังงาน การจัดการขยะมูลฝอย และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้านต่าง ๆ โดยยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และปฏิบัติกิจกรรมการอนุรักษ์พลังงานสิ่งแวดล้อม ร่วมกับผู้ปกครองและชุมชน

 4. การรณรงค์บูรณาการ

มีการรณรงค์โดยบูรณาการ กับกิจกรรมต่าง ๆ  เช่น การอบรมหน้าเสาธง เสียงตามสายในเวลาพักกลางวัน การประชุมนักเรียน ครู ผู้ปกครอง ตลอดจนจัดริ้วขบวน ป้ายนิเทศ ในกิจกรรมวันสำคัญต่าง ๆ เช่น วันลอยกระทง วันแห่เทียนเข้าพรรษา เป็นต้น

5. การรณรงค์โดยครูเป็นแบบอย่างที่ดี 

          ผู้บริหาร ครู และบุคลากรในโรงเรียน ร่วมใจกันสร้างจิตสำนึก และปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างที่ดีในการอนุรักษ์ทรัพยากร และสิ่งแวดล้อมแก่นักเรียน และชุมชน เช่น การเปลี่ยนจากใช้รถยนต์ รถจักรยานยนต์ เป็นรถจักรยาน การใช้ และผลิตน้ำหมักชีวภาพแทนน้ำยาล้างห้องน้ำ และน้ำยาล้างจาน การพกขวดน้ำส่วนตัว การใช้ถุงผ้า เป็นต้น

มิติการดำเนินงาน 1

         ด้านการจัดการทรัพยากร และสิ่งของเครื่องใช้ (ขยะ) สามารถเป็นแบบอย่าง ในการใช้ทรัพยากรและสิ่งของเครื่องใช้อย่างประหยัด คุ้มค่า ตามแนวพระราชดำริให้แก่ชุมชน ในการนำไปปฏิบัติ โรงเรียนจัดกิจกรรม โดยน้อมนำแนวพระราชดำริหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงบูรณาการกับหลักการจัดการขยะ 5 R คือ Reduce Reuse Repair Reject และ Recycle โดยโรงเรียนให้ความสำคัญในการลดปริมาณขยะเป็นอันดับต้น มีการใช้ประโยชน์จากวัสดุ อุปกรณ์ และทรัพยากรต่าง ๆ อย่างคุ้มค่า มีการแยกขยะ ลดการใช้โฟม และพลาสติก ส่งเสริมการบริโภค และการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยจัดกิจกรรมต่าง ๆ ตามระบบ 5 R ดังนี้

1. Reduce: การลดปริมาณขยะเป็นการลดขยะที่จะทิ้งให้เหลือน้อยที่สุด โดยเลือกซื้อสิ่งของเครื่องใช้ที่บรรจุหีบห่อน้อย อายุการใช้งานนาน โรงเรียนมีการจัดกิจกรรมเพื่อลดปริมาณขยะ ดังนี้

            1.1. กิจกรรมยืดอกพกขวด มีการดำเนินกิจกรรม ดังนี้                                                                                        

1.1.1 ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับผลเสียที่เกิดจากพลาสติก                                                                      

1.1.2 จัดจุดบริการน้ำดื่ม 9 จุด เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักเรียนอย่างทั่วถึง ทั้งบนอาคารเรียน บริเวณโรงอาหาร และบริเวณโรงเรียน                                                                                       

1.1.3 รณรงค์ให้นักเรียนพกขวดน้ำ โดยการประชาสัมพันธ์หน้าเสาธงหลังเคารพธงชาติ สอดแทรกในคาบสอน กิจกรรมต่าง ๆ และติดป้ายรณรงค์ จากผลการดำเนินงานทำให้นักเรียนพกขวดน้ำประจำตัวแทนการซื้อน้ำดื่ม

จากผลการดำเนินกิจกรรม สามารถรณรงค์ให้นักเรียนพกขวดน้ำประจำตัว เพื่อลดปริมาณขยะประเภทขวดพลาสติก  และปลอดภัยจากโรคติดต่อ มีนักเรียนส่วนใหญ่พกขวดน้ำประจำตัว โดยในช่วงเดือนกรกฎาคม 2551 ถึงเดือนมิถุนายน 2552 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 18.25 เป็น ร้อยละ 38.97 ลดจำนวนขวดพลาสติกได้วันละ 728 ใบ รวมแล้วสามารถลดขวดพลาสติกได้ประมาณ 101,873 ใบ

            1.2. กิจกรรมฉันรักถุงผ้า มีการดำเนินกิจกรรมดังนี้

1.2.1 รณรงค์ให้ใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก ให้ความรู้เกี่ยวกับผลเสียที่เกิดจากการใช้ถุงพลาสติก         

1.2.2 สำรวจขนาดและสีของถุงผ้าที่นักเรียนพอใจ                                                           

1.2.3 ให้นักเรียนออกแบบสัญลักษณ์บนถุงผ้าส่งเข้าประกวด                                               

1.2

หมายเลขบันทึก: 322351เขียนเมื่อ 23 ธันวาคม 2009 11:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 18:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อาจารย์คะ ข้อมูลอาจารย์เยอะมาก ขอบคุณนะคะที่นำข้อมูลมาใหความรู้ เยอะมาก ๆ เลยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท