กฤษณะ ระวิโรจน์
ว่าที่ร้อยตรี กฤษณะ อ๊อฟ ระวิโรจน์

ฮีต12


ที่มา  http://www.lib.ubu.ac.th/html/report/ubontraditional/ubontradition.htm

เดือนอ้าย 
 บุญเข้ากรรมหรือบุญเดือนอ้าย

 

 

 

          เป็นประเพณีการเข้ากรรมหรือปริวาสกรรมของพระภิกษุ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของพระภิกษุสงฆ์ จะเริ่มประมาณเดือนมกราคมของทุกปี
สาเหตุ
         การที่มีการเข้าปริวาสกรรมมีสาเหตุ 2 ประการ คือ
           1. พระภิกษุประพฤติผิดวินัยข้อสังฆาทิเสส เข้าปริวาสกรรมเพื่อให้พ้นจากอาบัติ
           2. เข้าปริวาสกรรมเพื่อปฏิบัติขันติธรรม บำเพ็ญจิตใจให้บริสุทธิ์ และตามคอง 14 สำหรับภิกษุสงฆ์
พระภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสสแล้วต้องเข้ากรรม "สังฆาทิเสส" เป็นชื่ออาบัติหนัก หมวดหนึ่งรองจากปาราชิก (อาบัติหนักที่สุด)
ศีลหมวดสังฆาทิเสสมีทั้งหมด 13 ข้อ ดังนี้ ( บุญเกิด พิมพ์วรเมธากุล, 2544 : 3-4)
          1. ปล่อยน้ำอสุจิด้วยความจงใจ (เว้นแต่หลับฝันไป)
          2. มีจิตกำหนัดแล้วจับ จูบ ลูบ คลำ กอดรัด จับมือ ลูบผม หรืออวัยวะส่วนใดของสตรีเพศ
          3. มีจิตกำหนัด แล้วพูดเกี้ยวพาราสี สตรีเหมือนดังหนุ่มเกี้ยวหญิงสาว
          4. มีจิตกำหนัดแล้วกล่าวถึงคุณในการบำเรอกามให้แก่ตนให้สตรีฟัง
          5. เป็นพ่อสื่อชักนำให้ชายหญิงรักใคร่ หรือเพื่อเสพกาม
          6. สร้างที่อยู่อาศัยของตนเอง (สร้างกุฏิ) มีความยาวเกิน 12 คืบ ( 6 ศอก) ความกว้างเกิน 7 คืบ (3 ศอกครึ่ง)
          7. ถ้าจะสร้างวิหารใหญ่ต้องเป็นสถานที่ได้รับอนุญาต จากผู้เข้าเป็นเจ้าของและไม่มีผู้ใดจองไว้ หรือถ้าจะไปตัดฟันต้นไม้มาสร้างเองต้องขออนุญาตให้ถูกต้อง อย่าไปลักขโมยไม้เขามาสร้าง
          8. กล่าวฟ้องภิกษุอื่นที่ไม่มีความผิด ด้วยข้อหาอาบัติที่มีโทษขึ้นปาราชิกด้วยความโกรธ หรือโดยเจตนากลั่นแกล้ง
          9. กล่าวฟ้องภิกษุอื่นด้วยเลศนัย เช่นอ้างว่าเห็นคลับคล้าย คลับคลา
          10. พยายามทำลายความสามัคคีของหมู่สงฆ์โดยยุยงให้สงฆ์แตกกันซึ่งเรียกว่าก่อให้เกิด "สังฆเภท"
          11. พูดเข้าข้างภิกษุที่กระทำผิด สงฆ์ว่ากล่าวตักเตือนแล้วยังไม่เชื่อฟัง
          12. ภิกษุหัวดื้อ ไม่ยอมให้ใครว่ากล่าวตักเตือน หรือแม้ถูกตักเตือนแล้วก็ไม่เชื่อฟัง
          13. เป็นภิกษุแต่ประพฤติตนไม่สมควรกับเพศบรรพชิตทำให้คฤหัสดิ์ดูถูก
พิธีกรรม
         ภิกษุที่จะเข้ากรรมจะต้องจัดแจง สถานที่ให้สะอาด หาน้ำกินน้ำใช้ไว้ให้เพียงพอที่จะเข้ากรรม ที่พักจะทำเป็นกระท่อมเล็กๆ ตกแต่งบริเวณสถานที่ให้สะอาด โดยปกติวัดที่เหมาะในการเข้าอยู่ปริวาสกรรมนั้นเป็นวัดที่เงียบ สงบ ไม่มีภิกษุสัญจรไปมาและผู้คนไม่พลุกพล่าน เป็นวัดที่มีภิกษุ อาศัยอยู่จำนวนไม่มากนัก
         พระภิกษุต้องอาบัติสังฆาทิเสส ข้อใดข้อหนึ่งแล้วปกปิดไว้จะต้องอยู่ปริวาส (การอยู่ค้างคืน) และต้องประพฤติวัตร (การปฏิบัติการจำศีล)ภิกษุที่จะเข้ากรรมต้องห่มผ้าเฉลียงบ่าเข้าไปหาพระสงฆ์ กราบ พระเถระแล้วกล่าวคำขอปริวาสกับสงฆ์ อยู่ปริวาสครบกำหนดแล้ว ขอมานัต ตามอาบัติที่ต้องโทษ และมีภิกษุอีกรูปหนึ่งสวดประกาศให้มานัต แล้วภิกษุต้องอาบัติสังฆาทิเสส ต้องประพฤติมานัตอีก 6 คืน เมื่อครบ 6 คืน แล้วขออัปราน (การเรียกเข้าหรือการรีบกลับเข้าหมู่) เมื่อสงฆ์ให้อัปรานแล้ว ถือว่าได้ออกกรรมเป็นผู้บริสุทธิ์แล้ว สำหรับพุทธสาสนิกชนนำข้าวปลาอาหารไปถวายภิกษุผู้เข้าอยู่ปริวาสกรรมและถวายจตุปัจจัยไทยทาน จนกว่าท่านจะออกจากกรรม แล้วก็จัดให้มีการฟังเทศน์ ตลอดวัน
สรุปสาระสำคัญในการเข้าปริวาสกรรม (บุญเกิด พิมพ์วรเมธากุล, 2544 : 6-7)
1. ภิกษุผู้ต้องอาบัติหมวดสังฆาทิเสส เท่านั้นจึงต้องเข้าอยู่ปริวาสกรรมเพื่อชำระตนให้กลับเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์
2. ขั้นตอนการเข้าอยู่ปริวาสกรรมมี 3 ขั้นตอน ดังนี้
          ขั้นตอนที่ 1 ให้ภิกษุที่รู้ตัวว่าตนเองต้องอาบัติ ขอเข้าอยู่ปริวาสกรรมจากสงฆ์แล้วประพฤติวัตรต่างๆเป็นการทำโทษตนเองเท่ากับจำนวนวันที่ปกปิดความผิดนั้นๆไว้
          ขั้นตอนที่ 2 ขอมานัตจากสงฆ์ แล้วประพฤติมานัต 6 คืน
          ขั้นตอนที่ 3 เมื่อประพฤติมานัตครบ 6 คืน แล้วขออัปรานจากสงฆ์ เมื่อสงฆ์ให้อัปราน แล้วก็ถือว่าได้กลับเป็นภิกษุผู้มีศีลบริสุทธิ์
กำหนดการปฏิบัติธรรมฤดูหนาว ปี 2545-2546
สำนักปฏิบัติธรรมประจำอำเภอเขมราฐ วัดพิธโสภาราม ตำบลแก้งเหนือ อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี
วันที่ 20-28 ธ.ค 2545 ณ วัดยางกระเดา บ้านยางกระเดา ตำบลท่าเมือง อำเภอดอนมดแดง จังหวัดอุบลราชธานี

 

 

 

 

 

เดือนยี่
บุญคูนลาน


พิธีกรรมวันทำบุญ

    เป็นการทำบุญเพื่อรับขวัญข้าว เมื่อถึงเดือนยี่ หรือเดือนที่ 1 คือเดือนมกราคม ของทุกปี หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ ชาวบ้านจะขนเอามัดรวงข้าวที่เกี่ยวเสร็จแล้ว นั้นไปกองรวมกันไว้ที่ลานเก็บข้าวด้วยมีความเชื่อว่าข้าวนั้นเป็นพืชเลี้ยงชีวิตที่มีเทพารักษา เทพองค์นั้นมีนามว่า "แม่โพสพ" ซึ่งเป็นขวัญข้าวที่เลี้ยงมนุษย์มา การทำบุญมีพระสวดมนต์เย็น ฉันเช้าเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ข้าวเปลือก เมื่อพระฉันเช้าแล้วก็ทำพิธีสู่ขวัญข้าว และผูกข้อต่อแขนกันในหมู่ชาวบ้านผู้ร่วมพิธี


ชาวบ้านนำข้าวเปลือกมากองรวมกัน

มูลเหตุที่ทำ
        เนื่องมาจากชาวนาเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว จะหาบฟ่อนข้าวมารวมกันไว้ที่ลานนวดข้าว แล้วนำมาวางกองเรียงกันให้สูงขึ้นเรียก คูณลาน ชาวนาที่ทำนาได้ผลเมือต้องการจะทำบุญบำเพ็ญกุศลให้ทาน ก็จะสัดขึ้นที่ลานเป็นสถานที่ทำบุญทำทาน โดยมีญาติพี่น้องมาทำบุญ นิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์
ปะพรมน้ำมนต์ ขึงด้ายสายสิญจน์ รอบกองข้าว เมื่อพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์แล้ว ถวายอาหาร บิณฑบาตร เสร์จแล้วจึงเลี้ยงคนที่มาในงาน
       มีเรื่องเล่าว่า พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า กัสสปะ มีชาวบ้านสองพี่น้องทำนาร่วมกัน เมื่อข้าวเป็นน้ำนมน้องชายอยากทำข้าวมธุปายาส ถวายแด่พระสงฆ์มีพระกัสสปะเป็นประธานชวนพี่ชาย แต่พี่ชายไม่ยอมจึงแบ่งนากันทำ พอน้องได้กรรมสิทธิ์ในที่นาแล้ว ก็เอาข้าวในนาของตนทำทานถึง 9 ครั้ง คือเวลาข้าวเป็นน้ำนม 1 ครั้งเป็นข้าวเม่า 1 ครั้ง เก็บเกี่ยวข้าว 1 ครั้ง จักตอกมัดหนึ่งครั้ง มัดฟ่อนครั้งหนึ่ง กองในลานครั้งหนึ่ง ทำเป็นลอมครั้งหนึ่ง เวลาฟาดครั้งหนึ่ง ขนใส่ยุ้งฉาง การถวายทานทุกครั้ง น้องชายปรารถนาเป็นพระอรหันต์ ครั้นมาถึงศาสนาพระโคดมน้องชายได้เกิดเป็นพราหมณ์ นามว่าโกญทัญญะได้ออกบวชเป็นพระภิกษุองค์แรก ได้สำเร็จพระอรหันต์เป็นองค์แรกได้รับฐานันดรศักดิ์ที่รัตตัญญู ส่วนพี่ชายได้ถวายข้าวในนาข้าวเพียงครั้งเดียวคือในเวลาทำนาแล้วตั้งปณิธานขอให้สำเร็จเป็นอริยบุคคล
          ครั้นมาถึงศาสนาพระโคดมได้มาเกิดเป็นสุภัททปริพาชกบวชในพระพุทธศาสนา แต่ไม่มีโอกาสได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า พระองค์ดับขันธ์ปรินิพพาน ได้เข้าไปทูลถามความสงสัยกับพระองค์ภายในม่าน เวลาจนเทศน์ได้สำเร็จเป็นอนาคามีเป็นอริยบุคคลองค์สุดท้าย เพราะถวายข้าวเป็นทานมีอานิสงฆ์มากจึงถือเป็นประเพณีมาจนทุกวันนี้

 

 

 

พิธีกรรม
       
ในการทำบุญคูณลาน จะต้องจัดเตรียมสถานที่ทำบุญที่ลานนวดข้าวของตน การนำข้าวที่นวดแล้วมากองขึ้นให้สูงเรียกว่า คูณลาน จากนั้นนิมนต์พระภิกษุสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ จัดน้ำอบ น้ำหอมไว้ประพรมขึงด้ายสายสิญจน์รอบกองข้าวเมื่อพระภิกษุสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์จบแล้วถวายภัตตาหารเพลแก่พระภิกษุสงฆ์ จากนั้นนำข้าวปลาอาหาร มาเลี้ยงญาติพี่น้อง ผู้มาร่วมทำบุญ พระสงฆ์ฉันเสร็จก็จะประพรมน้ำพุทธมนต์ให้กองข้าว ให้เจ้าภาพและทุกคนที่มาในงาน เสร็จแล้วก็จะให้พรและกลับวัด เจ้าภาพก็จะนำน้ำพระพุทธมนต์ที่เหลือไปประพรมให้แก่วัว ควาย ตลอดจนเครื่องมือในการทำนาเพื่อความเป็นสิริมงคล
        ในปัจจุบันนี้ บุญคูณลานค่อยๆเลือนหายไป เนื่องจากไม่ค่อยมีผู้สนใจประพฤติ ปฏิบัติกัน ประกอบกับในทุกวันนี้ชาวนาไม่มีลานนวดข้าวเหมือนเก่าก่อน เมื่อเกี่ยวข้าวเสร็จ และมัดข้าวเป็นฟ่อนๆ แล้วจะขนมารวมกันไว้ ณ ที่ที่หนึ่งของนา โดยไม่มีลานนวดข้าว หลังจากนั้นก็ใช้เครื่องสีข้าวมาสีเมล็ดข้าวเปลือกออกจากฟางลงใส่ในกระสอบและในปัจจุบันยิ่งมีการใช้รถไถนา เครื่องสีข้าว เป็นส่วนมากจึงทำให้ประเพณีคูณลานนี้เลือนหายไป แต่ก็มีบางหมู่บ้านบางแห่งที่ยังรวมกันทำบุญโดยนำข้าวเปลือกมา กองรวมกัน เรียก "กุ้มข้าวใหญ่" ซึ่งจะเรียกว่าบุญกุ้มข้าวใหญ่ แทนการทำบุญคูณลาน ซึ่งนับว่าเป็นการประยุกต์ใช้ "ฮีตสิบสอง คองสิบสี่" ให้เหมาะกับกาลสมัย

เดือนสาม
บุญข้าวจี่

 

 

 

         ในวันเพ็ญเดือนสามให้ทำบุญข้าวจี่และบุญมาฆบูชา เริ่มพิธีทำบุญข้าวจี่ในตอนเช้า โดยใช้ข้าวเหนียวปั้นเป็นก้อน ขนาดเท่ากำปั้นแล้วใช้ไม้ไผ่ที่เหลากลมๆ เสียบตรงกลาง ตามยาวของปั้นข้าวเหนียวแล้วนำไปปิ้งพอเกรียมแล้วชุบด้วยไข่ ย่างไฟจนสุก แล้วใส่ภาชนะไปตั้งใว้ในศาลาวัด นิมนต์พระมาให้ศีลให้พร แล้วเอาข้าวจี่ใส่บาตรนำถวายแด่พระสงฆ์ พร้อมด้วยอาหารอื่นๆ เมื่อพระฉันเสร็จแล้วมีการแสดงพระธรรมเทศนา ตอนเย็นมีการเวียนเทียนมาฆบูชาฟังเทศน์ที่วัด
มูลเหตุที่ทำ
         เนื่องจากในเดือนสาม อากาศของภูมิภาคอีสาน กำลังอยู่ในฤดูหนาว ในตอนเช้าผู้คนจะใช้ฟืนก่อไฟผิงแก้หนาวเมื่อฟืนถูกไฟเผาเป็นถ่าน ชาวบ้านจะเอาข้าวเหนียวมาปั้นเป็นก้อนกลม โรยเกลือวางไว้บนเตาไฟ เราเรียกว่า ข้าวจี่
        มีเรื่องเล่าในพระธรรมบทว่า มีหญิงคนหนึ่งชื่อนางปุณณทาสี เป็นคนยากจนต้องไปเป็นทาสีรับใช้ของเศรษฐีคนหนึ่งในกรุงราชคฤห์ วันหนึ่งเศรษฐีให้นางไปซ้อมข้าว นางซ้อมตลอดวันก็ไม่หมด ตกตอนเย็นนางก็จุดไฟซ้อมต่อไป ได้รับความเหน็ดเหนื่อยเป็นอันมาก พอถึงตอนเช้ามานางก็เอารำทำเป็นแป้งจี่ เผาไฟให้สุกแล้วใส่ไว้ในผ้าของตนเดินไปตักน้ำปรารถนาจะบริโภคด้วยตนเอง ครั้นถึงกลางทางได้พบพระศาสดาเกิดความเลื่อมใส คิดว่าเราเป็นคนยากจนในชาตินี้ ก็เพราะมิได้ทำบุญไว้แต่ปางก่อนและชาตินี้เราก็ยังไม่เคยทำบุญเลย เมื่อคิดเช่นนั้นแล้วนางก็น้อมเอาข้าวแป้งจี่นั้นเข้าไปถวายแด่พระศาสดา พระองค์ทรงรับแล้ว และนางคิดอีกว่าพระศาสดาคงไม่เสวย พราะอาหารเศร้าหมอง เมื่อพระศาสดาทรงทราบวารจิตของนางเช่นนั้น พระองค์จึงประทับเสวยต่อหน้าของนาง ครั้นเสวยเสร็จแล้วก็ตรัสอนุโมทนากถาโปรดนางจนสำเร็จโสดาปัตติผล เป็นอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา กาลํ กตฺวา ครั้นนางทำกาลกิริยาแล้วก็ได้ไปเกิดบนดาวดึงส์สวรรค์เสวยทิพย์สมบัติ อยู่ในวิมานทองอันผุดผ่องโสภา มีนางฟ้าแวดล้อมเป็นยศบริวาร ดังนั้น ชาวนาเมื่อเก็บเกี่ยวแล้วจึงพากันทำบุญข้าวจี่ เพราะถือว่าการถวายข้าวจี่มีอานิสงฆ์มาก

 

 

 

พิธีกรรม
        พอถึงวันทำบุญข้าวจี่ซึ่งมักจะเป็นวันเพ็ญเดือนสาม ทุกครัวเรือนในหมู่บ้านจัดเตรียมข้าวจี่ แล้วนิมนต์พระสงฆ์มารวมกันที่ศาลาโรงธรรมญาติโยมจะมาพร้อมกันแล้วอาราธนาศีล ว่าคำถวายข้าวจี่เส็จแล้วเอาข้าวจี่ไปใส่บาตร พระสงฆ์สวดมนต์จบแล้ว ญาติโยมยกอาหารคาวหวานไปถวายพระฉันเสร็จแล้วอนุมโทนาเป็นการเสร็จพิธีถวายข้าวจี่ ในปัจจุบันชาวบ้านนอกจากจะทำบุญข้าวจี่แล้วยังทำบุญมาฆบูชา เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาอีกวันหนึ่ง วันมาฆบูลานี้ตรงกับวันเพ็ญเดือนสาม เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในพระทูทธศาสนา 4 ประการคือ
        1. เป็นวันเพ็ญเดือนสาม ดวงจันทร์เสยวมาฆฤกษ์
        2. พระสงฆ์ จำนวน 1,250 รูป มาประชุมกันที่เวฬุวันมหาวิหารโดยมิได้นัดหมายกันล่วงหน้า
        3. พระสงฆ์ที่มาประชุมครั้งนี้นล้วนเป็น เอหิภิกขุอุปสัมปทา (ภิกษุที่พระพุทธเจ้าบวชให้)
        4. ท่านเหล่านั้นเป็นพระอรหันต์
คำถวายข้าวจี่ (สำนวนของมหาอานิสงฆ์ 108 กัณฑ์ โดย จอม บุญตาเพศ ป.)
        นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสัมฺพุทฺธสฺส ( 3 หน)
        สทา ชาครมานานํ อโหรตฺตานุสิกฺขินํ
        นิพฺพานํ อธิมุตฺตานํ อฎฐํ คจฉนฺติ อาสวาติ ฯ
วันมาฆบูชา
       วันมาฆบูชา เป็นวันสำคัญวันหนึ่งของพุทธศานาคือ เป็นวันที่พระบรมศาสดาทรงกระทำวิสุทธิปาฎิโมกข์ ทรงแสดงพระโอวาทปาฏิโมกข์ในท่ามกลางพระอรหันต์ 1250 องค์
       นับตั้งแต่วันที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธะในวันเพ็ญเดือน 6 ต่อจากนั้นพระองค์ได้เสด็จเทศนาสั่งสอนผู้ควรสั่งสอนเป็นลำดับมา ครั้งแรกทรงเทศนาโปรดเบญจะวคีย์ทั้ง 5 ให้มีความเชื่อความเลื่อมใสแล้วขอบวชแล้วสำเร็จเป็นพระอรหันต์ ต่อมาเมื่อมีพระอรหันตสาวกเกิดขึ้นในโลกรวม 60 องค์ พระองค์ก็ส่งไปประกาศพระศาสนา ส่วนพระองค์ก็เสด็จตรงไปยังอุรุเวลาเสนานิคม มุ่งจะแสดงธรรมแก่ชฏิล 1,003 คน และชฏิลเหล่านั้นยอมรับนับถือ บวชเป็นภิกษุ ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด แล้วเสด็จเข้าสู่พระนครราชคฤห์พร้อมด้วยพระอรหันต์อดีตชฏิล
       พระเจ้าพิมพิสารทรงทราบ จึงพร้อมด้วยราชบริวารออกไปเฝ้า ณ พระราชเวฬุวัน ทรงสดับพระธรรมเทศนา มีพระทัยเลื่อมใส ทรงถวายพระราชเวฬุวันเป็นวัดแรกในพระพุทธศาสนาพร้อมด้วยพระสงฆ์ พระเวฬุวันนี้เป็นวัดแรกในพระพุทธศาสนาเรียกว่า เวฬุวันมหาวิหาร หรือวัดเวฬุวันในสมัยที่ประทับอยู่ ณ พระเวฬุวันนั้น มีนักบวชอีกพวกหนึ่งที่เรียกว่าปริพาชก จำนวน 250 คน มีหัวหน้าอุปติสสะ และโกลิตะเข้าไปเฝ้ามีความเลื่อมใส บวชเป็นภิกษุและได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์
       วันที่พระสารีบุตรสำเร็จเป็นพระอรหันต์นั้น ตรงกับวันมาฆบุรณมี คือเดือน 3 กลางเดือน วันเพ็ญเดือน 3 นี้ตามลัทธิศาสนาพราหมณ์ ถือว่าเป็นวันสำคัญ เป็นวันลอยบาปคือวันศิวราตรี วันแห่งพระศิวะหรือพระอิศวร เมื่อถึงวันนั้น เวลากลางคืนพากันลงอาบน้ำดำเกล้าสะสนานให้ตนบริสุทธิ์สะอาดด้วยประการทั้งปวง ถือว่าได้ลอยปาปไปตามกระแสน้ำแล้วหมดบาปไปคราวหนึ่ง ถึงปีก็ทำใหม่ เป็นการกระทำประจำปี
      พระอรหันต์ 1000 รูป อดีตชฏิล และพระอรหันต์อีก 250 รูปอดีตปริพาชก ยังอยู่ในสำนักของพระองค์ ณ พระเวฬุวันมหาวิหารนั้น ต่างปรารภร่วมกันว่า วันนี้เป็นวันสำคัญของศาสนาพราหมณ์คือเป็นวันลอยปาป พระบรมศาสดาของเราควรจะทำอย่างไรบ้าง จึงพร้อมกันไปเฝ้าพระบรมศาสดาในที่เฉพาะพระพักตร์ โดยที่พระองค์มิได้รับสั่งให้เข้าเฝ้า พระองค์ทรงถือเอาเหตุนั้น จึงทรงกระทำปาริสุทธิอุโบสถ ทรงแสดงโอวาทปาฎิโมกข์ในท่ามกลางพระอรหัจต์ 1250 รูป เรียกวันมหาสันนิบาตประชุมใหญ่นั้นว่า จาตุรงคสันนิบาต การประชุมประกอบด้วยองค์ 4 คือ
       1. พระสงฆ์ 1250 รูปนั้น ล้วนบวชเฉพาะจากพระองค์ ที่เรียกว่า เอหิภิกขุอุปสัมปทา
       2. พระสงฆ์ 1250 รูปนั้น ล้วนเป็นพระอรหันต์ทั้งสิ้น
       3. พระอรหันต์ 1250 รูปมาเฝ้าพระองค์ โดยพระองค์มิได้รับสั่งให้เฝ้า
       4. วันนั้นเป็นวันมาฆบุรณมี คือเดือน 3 กลางเดือน
        พระองค์ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ ซึ่งจัดว่าเป็นวันประดิษฐานพระพุทธศาสนา คือวางหลักแห่งการปฏิบัติ วางหลักแห่งการประกาศพระศาสนา โอวาทปาฏิโมกข์นั้นไม่ใช่ภิกขุปาฏิโมกข์ ดังที่ภิกษุสวดกันทุกวันนี้ โอวาทปาฏิโมกข์ เป็นโอวาทคำสั่งสอนที่วางหลักแห่งความประพฤติเป็นส่วนธรรมะ มิใช่วินัย
       โอวาทปาฏิโมกข์มีพระบาลี ดังที่ยกขึ้นเป็นหัวข้อเทศนาว่า "ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา" แปลว่า ขันติความอดใจ คือความอดทนเป็น   ตบะคือเป็นธรรมเผาผลาญกิเลสอย่างยิ่ง หมายความว่า คนเรายังมีกิเลสทำใจให้เร่าร้อน ถ้าไม่เผากิเลสจะทำให้เร่าร้อนยิ่งขึ้น การเผากิเลสนั้นจะเผาด้วยไฟเทียน ด้วยไฟฟ้าหรือไฟอะไรๆ ไม่ได้ทั้งสิ้น ต้องเผาด้วนขันติคือความอดทนเมื่อมีความอดทนแล้ว ก็สามารถเผาผลาญกิเลสตัณหาให้สงบไปหรือให้หมดไป หรือแม้การทำงาน การประกาศพระศาสนาก็ต้องอาศัยความอดทน ถ้าไม่มีน้ำอดน้ำทนทำไม่ได้ เพราะจะต้องประสบกับอุปสรรคต่างๆเช่นบุคคลในลัทธิอื่นบ้าง ศานาอื่นซึ่งมีอยู่ก่อน ซึ่งฝังอยู่ในใจของชนทั้งหลายบ้าง ถ้ามีความอดทนแล้ว ก็สามารถฟันฝ่าอุปสรรค บรรลุถึงเป้าหมายได้แน่โดยมิต้องสงสัย ลังเลใจแต่อย่างใด
       และว่า "นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา" แปลว่า ท่านผู้รู้ทั้งหลายสรรเสริญว่าพระนิพพานเป็นธรรมสูงยิ่ง หมายความว่า นิพพานะ คือความดับกิเลสได้หมดสิ้น กิเลสที่ดับได้แล้วทุกอย่างไม่กลับฟื้นขึ้นอีก ถ้าจะเปรียบด้วยคนตายก็คือตายแน่ไม่ใช่สลบ ซึ่งไม่มีโอกาสจะฟื้นขึ้นมาอีก ผู้ถึงนิพพานไม่เกิด แก่ เจ็บ ตายอีกต่อไป ที่เรียกว่าไม่ต้องวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏ ดับกิเลส เป็นที่สุดแห่งทุกข์ เป็นที่สุดแห่งการปฏิบัติ ผลแห่งการปฏิบัติในพระพุทธศาสนาซึ่งสูงที่สุดคือนิพพาน
       และว่า "น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี สมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺโต" ผู้ที่ได้ชื่อว่าบรรพชิตและสมณะนั้น ต้องสงบระงับไม่เบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อน จึงชื่อว่าเป็นสมณะ ถึงจะบวชและปฏิญาณตนว่าเป็นสมณะ ถ้ายังเบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อนอยู่ ก็ไม่ชื่อว่าสมณะ ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต
         และว่า   สพฺพปาปสฺส อกรณํ
                      การไม่ทำความชั่วทั้งปวง
                      กุสลสฺสูปสมฺปทา
                      การอบรมกุศลคือคุณความดีทั้งปวง
                      สจิตฺตปริโยทปนํ
                      ความทำจิตของตนให้ผ่องใส
                      เอตํ พุทฺธานสาสนํ
                 ทั้ง 3 ข้อนี้เป็นหัวใจแห่งพระพุทธศาสนา

        และพระองค์ตรัสต่อไปว่า "บรรพชิตต้องไม่พูดกระทบกระทั่งผู้อื่นให้เกิดความโกรธ ความเกลียดชังเดือดร้อน ไม่เบียดเบียนผู้อื่นด้วยกายหรือด้วยประการใดๆ เว้นข้อที่พระองค์ห้าม ทำตามข้อที่พระองค์ทรงอนุญาต บริโภคอาหารเพื่อจะยังอัตภาพให้เป็นไปเพียงเพื่อจะได้อยู่ปฏิบัติกิจให้ผ่านไปโดยชอบ ยินดีในเสนาสนะคือที่อยู่อาศัยที่สงัด พยายามอบรมจิตของตนให้สงบระงับปราศจากกิเลสไปตามกำลังของความปฏิบัติ" นี้เป็นคำสอนในพุทธศาสนา และปฏิปทาแห่งบรรพชิตในพุทธศาสนา
       ในวันมาฆบูชานี้ ชาวบ้านจะไปทำบุญตักบาตรในตอนเช้าสมาทานศีล ฟังพระธรรมเทศนา และตอนกลางคืนจะมีการนำดอกไม้ ธูปเทียนไปเวียนเทียนที่วัด
คำบูชาพระวันมาฆบูชา
        อชฺชยํ มาฆปุณฺณมี สมฺปตฺตา มาฆนกฺขนฺเตน ปุณฺณจนฺโท ยุตฺโต ตถาคโต อรหฺ สมฺมาสมฺพุทฺโธ จาตุรงฺคิเก สาวกสนฺนิปาเต โอวาทปาติโมกฺขํ อุทฺทิสิ ตทาหิ อฑฺฒเตรสานิ ภิกฺขุสตานิ สพฺเพสํเยว ขีณาสวานํ สพฺเพเต เอหิภิกฺขุกา สพฺเพปิ เต อนามนฺติตาว ภควโต สนฺติกํ อาคตา เวฬุวเน กลนฺทกนิวาเป
        มาฆปุณฺณมิยํ วฑฺฒมานกฉายาย ตสฺมิญฺจิ สนฺนิปาเต ภควา วิสุทฺธุโปสถํ อกาสิ อยํ อมฺหากํ ภควโต เอโกเยว สาวกสันฺนิปาโต อโหสิ จาตุรงฺคิโก อฑฺฒเตรสานิ ภิกฺขุสตานิ สพฺเพสํเยว ขีณาสวานํ มยนฺทานิ อิมํ มาฆปุณฺณมี นกฺขตฺตสมยํ ตกฺกาลสทิสํ สมฺปตุตา จิรปรินิพฺพุฒมฺปิ ตํ ภควนฺตํ อนุสฺสรมานา อิมสฺมึ ตสฺส ภควโต สกฺขิภูเต เจติเย อิเมหิ ทีปธูปปุปฺผาทิสกฺกาเรหิ ตํ ภควนฺตํ ตานิ จ อฑฺฒเตรสานิ ภิกฺขุสตานิ อภิปูชยาม สาธุ โน ภนฺเต ภควา สาวกสงฺโฆ สุจิรปรินิพฺพฺโตปิ คุเณหิ ธรมาโน อิเม สกฺกาเร ทุคฺคตปณฺณาการภูเต ปฏิคฺคณฺหาตุ อมฺหากํ ทีฆรตฺตํ หิตาย สุขาย

 

เดือนสี่
บุญพระเหวด

มูลเหตุที่ทำ
          มีเรื่องเล่าในหนังสือเทศน์มาลัยหมื่นมาลัยแสน ว่าครั้งหนึ่งพระมาลัยเถระได้ขึ้นไปไหว้พระธาตุเกษแก้วจุฬามณีบน สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ได้ไปพบปะสนทนากับพระศรีอารียเมตตรัยผู้ที่จะมาเป็น พระพุทธเจ้า ในอนาคต เมื่อพระศรีอาริยเมตตรัย ได้สั่งความมากับพระมาลัยเถระว่าถ้ามนุษย์อยากจะพบศาสนาของ พระองค์ จะต้องปฏิบัติตน ดังนี้
        1. จงอย่า ฆ่า  ตี บิดา มารดา และสมณพราหมณาจารย์
        2. จงอย่าทำร้ายพระพุทธเจ้า และยุยงให้สงฆ์แตกกัน
        3. ให้ตั้งใจฟังเทศน์เรื่องพระเวสสันดรให้จบในวันเดียว
      

 

 

         เป็นบุญที่ทำเกี่ยวกับเรื่องของพระเวสสันดร เป็นบุญที่จัดทำขึ้นในเดือนสี่ เป็นประจำของทุกปี เมื่อฟังแล้วจงนำเอาไปประพฤติ ปฏิบัติตาม จะได้เกิดประสบพบศาสนาของตน เมื่อพระมาลัยเถระกลับมาถึงแล้วก็แจ้งเรื่องให้หมู่มนุษย์ทั้งหลายทราบ แล้วหมู่มนุษย์ปราถนาจะพบศาสนา พระศรีอริยเมตตรัย จึงพากันทำบุญฟังเทศน์ บุญพระเหวด มาจนถึงทุกวันนี้
พิธีกรรม
        วัดใดจะทำบุญพระเวส พระสงฆ์จะต้องจัดแบ่งหนังสือออกเป็นกัณฑ์กะให้พอดีกับพระเณรในวัด และจำนวนพระที่นิมนต์มาจากวัดต่างๆ ปลูกปะรำไว้สำหรับพระเณร หรือญาติโยมบ้านอื่นที่มาทำบุญจะได้นั่ง ประดับตกแต่งศาลาโรงธรรมด้วยดอกไม้และประดับด้วยพวงมาลัยกับธงทิว และจัดหาดอกไม้, เทียน พันธูปไว้บูชา
คาถาพัน  ขึงด้ายสายสิญจน์และตั้งหม้อน้ำมนต์ พอวันรวม หรือวันเริ่ม (วันโฮม) พระภิกษุ สามเณรและญาติโยมทั้งบ้านเราและบ้านอื่นมารวมกัน พอถึงบ่าย 3 โมงเศษ ตีกลองโฮม (หมายถึงตีกลองเรียกให้มาประชุมรวมกัน) เจ้าบ้านจะแต่งผู้ที่มีความรู้และฉลาดให้ไปนิมนต์พระอุปคุต แล้วสมมติผู้ที่เป็นที่เคารพและเป็นที่นับถือ ให้แต่งตัวเป็นพระเวสสันดรและนางมัทรีไปอยู่ในป่า แล้วก็จะจัดขบวนแห่ออกไปเชื้อเชิญพระเวสเข้ามาเมือง แต่บางแห่งก็จะแห่ต้นไม้ที่ประดับประดาด้วยเงินและสิ่งของต่างๆ เช่น ไม้ขีดไฟ เทียน และสิ่งอื่นๆ อีกหลายอย่าง แล้วก็จัดขบวนแห่ซึ่งมีฆ้อง กลองยาวเป็นดนตรีแห่นำเข้าสู่วัด เมื่อถึงวัดก็นิมนต์พระนักเทศน์เสียงดีขึ้นประรำที่จัดไว้ให้พระท่านนักเทศน์ การแห่บุญพระเวสหรือบุญมหาชาตินี้โดยมากจะแห่ในเวลาย่ำค่ำเป็นต้นไป และแห่กันหลายๆ ขบวนแล้วแต่ผู้ที่จะทำบุญสุนทาน ตามชนบทภาคอีสานจะเรียกในการแห่นี้ว่า "แห่กัณฑ์หลอน" จะมีทำกันในเดือนสี่ ซึ่งเรียกว่าบุญเดือน 4

 

 

 

"แห่พระเหวดเข้าเมือง"
         หลังจากเชิญพระอุปคุตเสร็จแล้วก็จะถึงพิธีแห่พระเหวดเข้าเมือง ซึ่งจะเป็นเวลาประมาณ 16.00 - 17.00 น. ของวันโฮมนั่นเอง
จุดเริ่มต้นแห
        มักจะเป็นบริเวณป่าใกล้ หมู่บ้าน เพราะมีความเชื่อและสมมุติกันว่า ตอนนั้นพระเหวด (หรือพระเวสสันดร) อยู่ที่ป่าหิมพานต์พร้อมทั้งนางมัดซี(พระนางมัทรี) ชาวบ้านชาวเมืองเห็นคุณความดีจึงพร้อมใจกันมาแห่พระเหวดให้กลับเข้าไปครองเมืองดังเดิม หลังจากที่ถูกขับออกจากเมืองนานถึง 7 ปี
"พิธีกรรมก่อนแห่"่
       พอถึงเวลาจะเริ่มแห่ ผู้เป็นประธานจะพาญาติโยม (ที่มาพร้อมกันในบริเวณชายป่าที่ถูกสมมุติให้เป็นป่าหิมพานต์) ไหว้พระรับศีลและฟังเทศน์ การเทศน์ ณ จุดนี้เป็นการเทศน์เชิญพระเหวดเข้าเมือง เมื่อฟังเทศน์จบแล้วก็จะลั่นฆ้องแล้วจัดขบวนแห่ดังนี้ อันดับแรกเป็นคานหามหรือเสลี่ยงสำหรับวางพระพุทธรูป (ซึ่งสมมุติว่าเป็นพระเวสสันดร) ตามด้วยเสลี่ยงหามพระภิกษุที่เป็นเจ้าอธิการวัดของหมู่บ้าน จากนั้นก็เป็นคนหามฆ้องตามด้วยขบวนกลองยาว ส่วนญาติโยมที่มาร่วมชบวนแห่พะเหวดก็จะพากันถือดอกไม้นานาชนิดซึ่งได้จากป่า (ส่วนมากเป็นดอกพะยอมเพราะกลิ่นหอมดี) และมืออีกข้างหนึ่งจะช่วยกันถือผ้าพะเหวด ซึ่งมีความยาวตั้งแต่ 50 วา ขึ้นไป และที่ผ้าพระเหวดก็จะมีรูปวาดเรื่องราวของพระเวสสันดรชาดกตั้งแต่กัณฑ์ที่ 1 ถึงกัณฑ์ที่ 13 ขบวนแห่พระเหวดเข้าเมืองจะเดินผ่านหมู่บ้านเข้าสู่วัดแล้วแห่เวียนขวา รอบศาลาโรงธรรมที่จะเป็นสถานที่ใช้ในการเทศน์สามรอบ จากนั้นจึงนำพระพุทธรูปขึ้นตั้งไว้ในศาลาโรงธรรม ญาติโยมที่เก็บดอกไม้มาจากป่าเช่น ดอกพะยอม (ดอกกันเกรา)ดอกจิก (ดอกเต็ง) ดอดฮัง(ดอกรัง) ดอกจาน ฯลฯ ก็จะนำดอกไม้ไปว่างไว้ข้างๆ ธรรมาสน์ที่จะใช้เทศน์ แล้วขึงผ้าพะเหวดรอบศาลาโรงธรรม
"เทศน์มาลัยหมื่นมาลัยแสน"
       หลังจากแห่พระเหวดเข้าเมืองแล้วญาติโยมจะพากันกลับบ้านเรือนของตน รับประทานอาหารเย็นพร้อมทั้งเลี้ยงดูญาติพี่น้องที่เดินทางมาร่วมทำบุญ เวลาประมาณหนึ่งทุ่มเศษ ๆ ทางวัดจะตี "กลองโฮม" เป็นสัญญาณบอกให้ชาวบ้านรู้ว่าถึงเวลา "ลงวัด" ครั้นหลังจากเวลารับประทานอาหารมื้อเย็นเรียบร้อยแล้ว ญาติโยมจะพากันมารวมกันที่ศาลาโรงธรรมซึ่งจะเป็นเวลาประมาณสองทุ่ม (20.00 น.) การมารวมกันครั้งนี้เรียกว่า "ลงวัด" คือมารวมกันที่วัดเพื่อร่วมกันทำพิธีไหว้พระสวดมนต์ พระภิกษุสงฆ์สวดพระปริตมงคล หลังจากสวดมนต์จบก็จะมีการ "เทศน์มาไลยหมื่นมาไลยแสน (ซึ่งเป็นการเทศน์ที่กล่าวถึงประวัติในชาติปางก่อนของพระเวสสันดร) หลังจากฟังเทศน์มาไลยหมื่นมาไลยแสนจบก็จะมีมหรสพ เช่น หมอลำ ภาพยนตร์ ให้ชมจนถึงสว่าง

 

 

 

 

"แห่ข้าวพันก้อน"
       เวลาประมาณ 04.00 น. (ตีสี่) ของวันบุญพะเหวด (เทศน์มหาชาติ) ญาติโยมคนเฒ่าคนแก่จะนำปั้นข้าวเหนียวก้อนเล็กๆ ขนาดเท่าหัวแม่มือหรือจะขนาดเท่านิ้วกอ้ยก็ได้จำนวนหนึ่งพันก้อน ซึ่งเท่ากับหนึ่งพันพระคาถาในเรื่องราวของพระเวสสันดรชาดก ใส่ถาดจากบ้านเรือนของตนออกแห่จากหมู่บ้านเข้ามาที่ศาลาโรงธรรม เวียนรอบศาลาโรงธธรรมสามรอบ แล้วจึงนำข้าวพันก้อนเหล่านั้นไปใส่ไว้ในกรวยไม้ไผ่ที่หลักทุงไซยทั้งแปดทิศและใส่ไว้ในตะกร้าที่วางอยู่บนศาลา ตามจุดมี ทุงโซ และเสดกะสัดเมื่อแห่ข้าวพันก้อนเสร็จแล้วก็จะมีการเทศน์สังกาศ คือการเทศน์บอกปีศักราช เมื่อจบสังกาศก็จะหยุดพักให้ญาติโยมกลับไปบ้านเรือนของตน นำข้าวปลาอาหารมาใส่บาตรจังหัน หลังจากพระฉันจังหันเสร็จแล้วจึงจะเริ่มเทศน์พะเหวดโดยเริ่มจากกัณฑ์ทศพร ไปจนถึงนครกัณฑ์รวมสิบสามกัณฑ์ ซึ่งจะใช้เวลาตลอดทั้งวันจนถึงค่ำ และมีความเชื่อกันว่าหากใครฟังเทศน์เรื่องพระเวสสันดรจบ ผู้นั้นจะได้รับอานิสงฆ์มาก
"แห่กัณฑ์หลอน"
       คำ "หลอน" เป็นภาษาถิ่นไทอีสาน แปลว่า "แอบมาหา หรือลักลอบไปหา โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า"
กัณฑ์หลอน คือกัณฑ์เทศน์พิเศษนอกเหนือจากกัณฑ์เทศน์ใน "บุนพะเหวด" ซึ่งมีเพียง 13 กัณฑ์ และแต่ละกัณฑ์จะมีเจ้าภาพเป็นเจ้าของกัณฑ์นั้นๆ อยู่แล้ว กัณฑ์หลอน จึงเป็นกัณฑ์เทศน์ที่ไม่ได้จองไว้ก่อน แต่จะเป็นกัณฑ์เทศน์ที่ชาวบ้านแต่ละคุ้มร่วมกันจัดขึ้นในวันที่มีการเทศน์พะเหวดนั่นเอง โดยผู้มีศรัทธาจะตั้งกัณฑ์หลอนไว้ที่บ้านของตนแล้วบอกกล่าวพี่น้องที่มีบ้านเรือนอยู่ในคุ้มนั้นๆ จัดหาปัจจัยไทยทานต่างๆ เท่าทีมีจิตศรัทธาหาได้ ซึ่งส่วนมากจะใช้กระบุงหรือกระจาดไม้ไผ่ หรืออาจจะเป็นถังน้ำพลาสติก ใส่ข้าวสารลงไปปร

คำสำคัญ (Tags): #ร้อยเอ็ด7
หมายเลขบันทึก: 322321เขียนเมื่อ 23 ธันวาคม 2009 10:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 20:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท